naitang
|
ความคิดเห็นที่ 705 เมื่อ 04 เม.ย. 16, 19:16
|
|
สำนวน บ่นเป็นหมีกินผึ้ง นั้น ผมเข้าใจว่ามีความหมายในเชิงของการพูดกล่าวออกไปโดยผู้พูดไม่ได้เห็นภาพ หรือเรื่องราว หรือความเป็นมาเป็นไปของเรื่องที่กำลังพูดถึงนั้น ทำนองว่าพูดไปเรื่อย บ่นไปเรื่อย ไร้สาระ ไร้เป้าหมาย
ข้อเท็จจริงพื้นฐานก็มีอยู่ว่า เมื่อหมีขึ้นไปลุยกับรังผึ้งนั้น ผึ้งก็จะแตกรังกรูกันออกมาช่วยกันต่อยหมี แต่หมีมีขนยาว ผึ้งทำอะไรไม่ได้ หมีมีจุดอ่อนอยู่จุดเดียวคือ ตา ดังนั้น หมีก็จะหลับตายื่นมือออกไปควานรังผึ้งเอามาใส่ปากกินโดยไม่ต้องมอง ก็หลับหูหลับตากินนั้นแหละ
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
naitang
|
ความคิดเห็นที่ 706 เมื่อ 04 เม.ย. 16, 19:39
|
|
พรานไพร นักเดินป่า และผู้ที่มีอาชีพต้องเข้าไปในป่าดงตัวจริงทั้งหลายนั้น รู้กันเป็นพื้นฐานอยู่ว่า เมื่อจ๊ะเอ๋กับหมีแบบเผชิญหน้าจังๆ วิธีการหนึ่งที่พอจะเอาตัวรอดได้ก็คือ คว้ากิ่งไม้เล็กๆ แกว่งไกวรบกวนที่บริเวณตาของมัน มันจะหลับตา ทำไปก็หาทางหนีไป แต่อย่าวิ่งลงเนินนะครับ มันลงได้เร็วกว่าเรามากนัก จากนั้นก็ดวงใครดวงมันละครับ
โชคดีอยู่อย่างหนึ่งก็ตรงที่หมีมันมักจะไม่ตามไล่เป็นระยะทางไกล จะว่าไปมันก็แค่ตะเพิดเราให้ไปให้พ้น เพราะว่ามันก็ตกใจเหมือนกัน จะโชคร้ายก็ตรงที่ในช่วงปลายหนาวต้นร้อน มักจะพบมันอยู่เป็นคู่ เมื่อจ๊ะเอ๋กับมัน มีปืนก็เหนี่ยวไปเลย จะขึ้นฟ้า หรือตัวมันก็ได้ ขนกับหนังมันหนา ก็เพียงจะเจ็บมากหรือน้อยเท่านั้น ส่วนเรารีบหันหลังกลับแล้วโกยให้เร็ว ตัวหนึ่งมันต้องไล่เราแน่ๆ หากโชคไม่ดีก็เจอ 2 ตัวช่วยกันตะเพิดเรา ซึ่งผมไม่มีคำตอบว่าจะได้ผลเป็นหมู่หรือจ่า (อย่าสะดุดล้มก็แล้วกันนะครับ)
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
naitang
|
ความคิดเห็นที่ 707 เมื่อ 04 เม.ย. 16, 20:13
|
|
การเดินในป่านั้น ทั้งคนเละสัตว์ต่างก็พยายามจะเดินบนทางที่เรียบ ก็คือไม่มีตอไม้ ไม่มีกิ่งไม้ที่จะทำให้เราสะดุด ด่านสัตว์มันถึงเตียนและเป็นทางขาวเห็นได้ชัด สำหรับในป่าที่แห้ง ก็ดูโปร่ง โล่งเตียน แต่หากเป็นป่าชื้น เส้นทางด่านพวกนี้ก็มักจะมีเรือนยอดของไม้ระดับกลางปกคลุมอยู่เป็นจุดๆ ต้องเดินมุดเอา นี่แหละครับ จุดจ๊ะเอ๋กับหมีและช้าง มันก็มักจะยืนเงียบๆอยู่อีกด้านหนึ่งของพุ่มยอดไม้ มันก็ไม่เห็นเรา เราก็ไม่เห็นมัน
จะด้วยเพราะอะไรก็ไม่รู้ เหตุการณ์จ๊ะเอ๋ที่เกิดขึ้นมักจะเป็นลักษณะของ พอเราเริ่มจะมุดพุ่มไม้ มันก็โผล่ออกมา และซึ่งส่วนมากก็จะเป็นลักษณะของการตกใจทั้งสองฝ่าย ต่างก็หันหลังกลับแล้วโกยไปตั้งหลักดูสถานการณ์ต่อไป
ครั้งหนึ่งในป่าแม่วงก์นี้แหละ หลังจากช้างป่าตัวหนึ่ง (สีดอ) เป่าแตรแล้วก็หันหลังโกย มันคงนึกขึ้นได้ว่า เฮ้ย ตัวใหญ่กว่าเยอะ กลัวไปทำไม จึงหันหลังกลับแล้วเดินเร็วทะลุพุ่มยอดไม้ออกมา แล้วก็หยุดยืนดูเรา จะด้วยอะไรก็มิรู้ได้ มันก็ค่อยๆเดินเหนียมๆออกไป พอมันหายพ้นสายตาเราไป เราก็เดินทำงานของเราต่อไป
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
naitang
|
ความคิดเห็นที่ 708 เมื่อ 05 เม.ย. 16, 19:17
|
|
จากเรื่องหมีก็มาเรื่องเสือ เรื่องเสือลำบากจะเข้าแคมป์ก็เกิดขึ้นที่ป่านี้ ซึ่งก็ได้เล่าไปแล้ว
หมีกับเสือในป่าแม่วงก์นี้หากินอยู่ในพื้นที่เดียวกัน ทุกวันช่วงเช้าที่ผมเดินทำงานในห้วย จะต้องได้เห็นรอยเท้าของเสือใหม่ๆที่เดินเลาะห้วย แล้วก็รอยเล็บของหมีที่มันลับเล็บ (?) ตามโคนต้นไม้ใหญ่ (ต้นยาง ต้นมะค่าโมง) ซึ่งจากร่องรอยก็บอกได้ว่ามันนิยมมาเพ่นพ่านอยู่ในพื้นที่ในช่วงเวลาเช้าไก่โห่
หลายครั้งได้พบรอยเท้าเสือที่กล่าวได้ว่าเกือบจะใหม่เอี่ยม ที่ใช้คำบรรบายกันว่า น้ำในอุ้งตีนยังขุ่นอยู่เลย ซึ่งก็คือน้ำในรอยเท้านั้นยังขุ่นยังไม่ตกตะกอน แต่ที่พบค่อนข้างจะบ่อยครั้งมาก ก็เป็นลักษณะของรอยเท้าที่ยังไม่มีใบไม้หล่นลงมาปกคลุม ก็คือน่าจะเป็นรอยค่อนข้างใหม่ วันหรือสองวันมาแล้ว และก็ที่พบเป็นประจำก็คือรอยเท้าเก่าที่แห้งและมีใบไม้ใบหญ้าหล่นมาปิดทับ
รอยเท้าที่พบในลักษณะที่กล่าวถึงนี้ มันก็น่ากลัวสำหรับผู้ที่ไม่คุ้นเคย ครับ..แสดงว่ามันมีตัวตนเพ่นพ่านอยู่ในถิ่นนี้ เราคงจะต้องเพิ่มการระวังตัวให้มากกว่าปรกติสักหน่อย
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
naitang
|
ความคิดเห็นที่ 709 เมื่อ 05 เม.ย. 16, 19:43
|
|
แล้วจะระวังอย่างไร ก็ไม่มีอะไรมากไปกว่าการเพิ่มความสังเกตสิ่งแวดล้อมรอบๆตัว พิจารณารอยนั้นว่าไปทางใหน เลี่ยงหรือพยายามที่จะเดินแยกจากรอยเท้านั้น พยายามอยู่ในบริเวณหรือจุดที่โล่งโปร่ง ไม่ไปเดินเฉียดไปเดินเลาะอยู่ใกล้จุดที่มีลักษณะเป็นพุ่มไม้ แหงนดูนกดูไม้บ้าง (ดูอาการของมัน) ฟังเสียงบ้าง เหล่านี้เป็นต้น
ด้วยที่สัตว์ที่กล่าวถึงนี้ ในไทยเราไม่ได้เป็นพวกที่โจมตีมนุษย์ เว้นแต่เฉพาะเมื่อจวนตัวและป้องกันตัว และโดยที่สัตว์ทั่วไปจะนิยมหลบหลีกไปให้พ้นมากกว่าที่จะเผชิญหน้า เราก็ใช้ประโยชน์จากจุดนี้ในการไล่ให้มันหลบไป ซึ่งก็คือการส่งเสียง การทำเสียงดัง ตีเกราะเคาะไม้ไปเรื่อย เพียงเสียงฆ้อนต่อยหินในขณะทำงานของผม หรือเสียงคุยหยอกล้อกัน รวมทั้งกลิ่นบุหรี่ สัตว์มันก็หลบหลีกแล้วครับ
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
naitang
|
ความคิดเห็นที่ 710 เมื่อ 05 เม.ย. 16, 21:01
|
|
ด้วยความที่คุ้นกับสภาพเดินตามรอยเท้าเสือมามาก วันหนึ่ง ผมกับคู่หูอีก 2 คน เดินทำงานอยู่ในห้วย ก็เดินตามรอยเท้าเสือขนาดประมาณฝ่ามือในสภาพที่น้ำในอุ้งเท้ายังขุ่นๆอยู่ ก็ไม่ได้คิดอะไรมากเลย ระวังตัวจามปรกติ จนมีชาวบ้านสองสามคนเดินอยู่บนสันเนินของห้วยตะโกนถามลงมาในทำนองเตือนว่า เจอผู้ใหญ่กับกำนันใหม ผมก็ตอบไปว่าเจอ
ก็เดินทำงานไปเรื่องๆจนบ่ายๆ ก็ได้ยินเสียงช้างป่ากำลังหักกิ่งไม้ เป็นเสียงของหลายตัวอยู่ ใจสู้อยู่ก็ค่อยๆเดินทำงานต่อไป กลุ่มช้างไม่สนใจเสียงของเราเลย มันเงียบฟังอยู่เป็นเวลาสั้นๆ แล้วก็เก็บรูดใบไม้กินต่อ ถึงจุดนี้ เราเองพิจารณาดูแล้วว่า ถ้าจะไม่ดีแน่ อันตรายเกินไปแล้ว ก็เลยต้องหันหลังกลับ เดินย่องเงียบกลับแคมป์
จนกระทั่งเย็นกลับมาที่พัก ซึ่งก็มีชาวบ้านกลุ่มนั้นมาพักอยู่ใกล้ๆ ผมเกิดเอะใจก็ไปถามชาวบ้านเขาว่า ที่เห็นนั้น กำนันกับผู้ใหญ่ทั้งสองเลยหรือ ได้รับคำตอบว่า ใช่ พอถามขนาดเท้าดูก็รู้เลยว่ามีกำนันเดินตามหลังผมมาจริงๆ ขนาดใหญ่กว่าที่ผมเดินตามไป (จากรอยก็ประมาณกันว่าราว 7 ศอก) เป็นอันว่า ผมเดินตามตัวหนึ่งไป ก็มีอีกตัวหนึ่งเดินตามผมมา ผมเดินตามรอยอยู่ประมาณครึ่งชั่วโมงก่อนที่ชาวบ้านจะตะโกนถาม แต่ที่มันเดินตามเรานั้น ผมไม่รู้ว่านานเท่าได
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
    
ตอบ: 33421
ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม
|
ความคิดเห็นที่ 711 เมื่อ 05 เม.ย. 16, 21:35
|
|
สรุปว่า หมีไม่ได้ทำเสียงงึมงำขณะแย่งน้ำผึ้งจากผึ่ง แต่เสียงนั้นน่าจะเป็นเสียงหึ่งๆของผึ้งที่พยายามจะช่วงชิงสมบัติกลับคืน
ทำไมเรียกตรงๆว่าเสือว่าช้าง ไม่ได้ล่ะคะ มีเคล็ดอะไรหรือ?
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
naitang
|
ความคิดเห็นที่ 712 เมื่อ 06 เม.ย. 16, 19:00
|
|
ที่เรียกกันว่ากำนันกับผู้ใหญ่นั้น มิได้มีเรื่องของความเชื่อถือหรือการถือเคล็ดใดๆมาเกี่ยวข้องด้วยเลยครับ เป็นเพียงการใช้สรรพนามเพื่อเรียกขานในลักษณะเพื่อการหยอกล้อกันเท่านั้น แต่ก็เป็นสรรพนามที่ใช้ได้อย่างเหมาะเจาะกับเจ้าของนามที่เราใช้เรียกเขานั้น
เสือเป็นสัตว์ที่มีเขตอาณา ในสารคดีที่เราได้เห็นกันบ่อยๆนั้น แม้เราจะเห็นเสืออยู่กันเป็นกลุ่ม นั่นเป็นเสือในทุ่งของอัฟริกา แต่ในที่อื่นๆเช่นในไซบีเรียและในอินเดีย เราจะเห็นภาพของมันเดินท่อมๆอยู่เดี่ยวๆตัวเดียว ซึ่งหมายความว่า รอยเท้าเสือที่เราเห็นเป็นประจำทุกวันในพื้นที่รอบๆตัวเรานั้น มันก็น่าจะเป็นเสือตัวเดียวกันที่เดินเพ่นพ่านแสวงหาอาหารอยู่ในพื้นที่นั้น ก็เลยเรียกกันว่ากำนัน รอยเท้าของมันอาจจะดูเล็กบ้าง ใหญ่บ้าง คล้ายกับว่าไม่ใช่ตัวเดียวกัน ที่เป็นเช่นนั้นก็เนื่องมาจากพื้นดินที่มันเดินเหยียบ
แต่เมื่อเกิดเห็นสองหรือสามรอยเท้าที่ต่างกันในพื้นที่เดียวกัน ในช่วงเวลาใกล้กัน ก็น่าจะเป็นรอยของลูกเสือกับแม่เสือ พวกรอยขนาดย่อมที่พบนี้ หากดูผิวเผินก็อาจจะเห็นว่าเป็นของเสือขนาด 4-5 ศอก แต่หากพิจารณาร่วมไปกับองค์ประกอบอื่น (เช่น น้ำหนักกด แนวของการเดิน) ก็จะพอบอกได้ว่าเป็นเสือเด็ก ครับ..เสือเด็กมันก็มีตีนโต ไม่ต่างไปจากสุนัขเด็กของสายพันธุ์ใหญ่ที่ก็จะมีตีนโตเช่นกัน
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
naitang
|
ความคิดเห็นที่ 713 เมื่อ 06 เม.ย. 16, 19:32
|
|
ที่ผมได้เล่าเรื่องเสือลำบากจะเข้าแคมป์นั้น เสือลำบากตัวนั้น ชาวบ้านเขาบอกว่ามันถูกยิงจากจุดที่เดินลึกเข้าไปประมาณ 3-4 วัน แต่จากการตามรอย ปรากฎว่ามันกำลังมาอยู่ในบริเวณที่ผมทำงานอยู่ (เรื่องแบบนี้ชาวบ้านเขากระจายข่าวสารให้ได้รับรู้กันทั่วไป)
พอรู้ข่าวสารเราก็ระวัง อีกค่ำคืนต่อไปมันก็มาเยี่ยมเยียนใกล้ๆแคมป์เรา เล่นเอาสุนัขหางจุกก้นเข้ามานั่งรวมอยู่กันคน วัวควายที่ใช้เทียมเกวียนของชาวบ้านที่มาพักอยู่ใกล้กับที่พักของคณะผม ต่างก็ยืนหันหลังชนแคมป์หันหน้าออกไป หายใจดังฟืดฟาดกันใหญ่ ฝ่ายคนต่างก็จ้องเขม็งไปในทิศที่สัตว์มันยื่นจมูกดมฟุดฟิด คืนนั้น เล่นเอาเราต้องตั้งเวรยามผลัดกันนั่งตลอดทั้งคืน เสียวไส้ดีเหมือนกันครับ
รุ่งขึ้นอีกวันหนึ่ง พวกชาวบ้านที่ตามรอยก็บอกว่ามันตายแล้ว ความสุขของเราก็เลยได้กลับคืนมา
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
naitang
|
ความคิดเห็นที่ 714 เมื่อ 06 เม.ย. 16, 19:52
|
|
สอบถามชาวบ้านถึงเรื่องราวของเสือตัวนี้ ก็ได้ความว่า ไม่ได้เป็นเรื่องของการไปล่าเสือหรอก เป็นเรื่องของการจ๊ะเอ๋ในขณะที่กำลังหาของป่า
ผมจึงได้ความรู้ว่า มันเป็นกติกาว่า ผู้ใดไปทำให้เกิดเสือลำบาก ผู้นั้นมีหน้าที่จะต้องจัดการให้จบเรื่อง เพราะว่าในขณะที่เสือลำบากยังอยู่ ชาวบ้านจะกลัวไม่กล้าออกไปทำงาน ผู้ที่ไปทำเรื่องนั้น เดิมก็อาจจะเดินเข้าป่าเดี่ยวๆ แต่พอทำให้เกิดเสือลำบาก ก็กลัวเหมือนกัน ไปตามหาเสือลำบากก็ต้องหาพรรคพวกไปด้วยกันหลายคน ซึ่งก็มีเรื่องให้ต้องคิดเหมือนกัน เพราะจะมีอาสาสมัครหลายคนเกินพอเลยทีเดียว
ก็มิใช่เรื่องอะไรมากหรอกครับ เป็นเรื่องของการแบ่งปันผลประโยชน์ที่จะได้จากตัวเสือนั้น
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
naitang
|
ความคิดเห็นที่ 715 เมื่อ 07 เม.ย. 16, 18:33
|
|
ในสมัยนั้น ในขณะที่ค่าจ้างแรงงานยังเพียงวันละ 20-25 บาท ชิ้นส่วนของเสือทั้งตัวที่แยกส่วนขายจะมีมีราคาในหลักหมื่น++
หนังเสือทั้งผืนตั้งแต่หัวจรดปลายหางและหัวกะโหลก เป็นความต้องการของหมู่ผู้มีอันจะกิน เกจิอาจารย์ทางไสยศาสตร์ต้องการเขี้ยว ฟัน และหนัง กระดูกเป็นที่ต้องการของร้านขายยาแผนโบราณ ส่วนเท้าที่เรียกว่า อุ้งตีนเสือ นั้น ก็เป็นที่ต้องการของผู้ที่นิยมทางคาถาอาคม
ที่แปลกและอาจจะไม่ค่อยจะทราบกันก็คือ น้ำมันเสือ ก่อนๆโน้นก็เอาไปใช้เป็นน้ำมันจุดตะเกียงหรือตะไล (แล้วใช้ครอบแก้วที่ตัดมาจากส่วนคอขวดครอบ) สำหรับการตีฝิ่น (นอนสูบฝิ่น) ของนักสูบที่มีระดับ บ้างก็เอาใส่ตลับเล็กๆ เอาไว้ทาไก่ชน (หน้า โคนปีก เดือย) ซึ่งเชื่อกันว่าจะทำให้ไก่คู่ชนกลัว
สำหรับเนื้อเสือนั้น เป็นหนึ่งในเนื้อสัตว์สิบอย่างที่ห้ามพระฉัน ก็เลยไม่มีผู้ใดนำมาทำอาหารกินกัน
ผมก็ยังสงสัยอยู่ว่า เศษซากเนื้อที่ทิ้งไว้แล้วจะมีสัตว์ชนิดใดกล้าเข้ามาแทะกิน
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
naitang
|
ความคิดเห็นที่ 716 เมื่อ 07 เม.ย. 16, 19:17
|
|
เล่าเรื่องห้วยขาแข้งซึ่งน่าจะเกี่ยวกับสัตว์หลากหลายชนิดมากมาย กลับกลายเป็นว่า ดูเหมือนว่าจะมีสัตว์ในป่าแม่วงก์ชุกชุมกว่าในห้วยขาแข้ง
ภาพมันเป็นเช่่นนั้นจริงๆครับ ทั้งๆที่ห้วยขาแข้งเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ป่าแม่วงก์เป็นอุทยานแห่งชาติ (ในช่วงเวลาหลัง) ซึ่งหากตัวผมจะสรุปว่า ป่าขาแข้งเป็นป่าแบบเปิดโล่งกระจาย และป่าแม่วงก์เป็นป่าแบบอัดรวมกันอยู่ ก็น่าจะเป็นภาพที่ไม่ผิดเพี้ยนมากนัก ครับ..เข้าป่าขาแข้ง ต้องใช้เวลานานกว่าจะได้เห็นภาพความมีชีวิตของผืนป่าทั้งหมดในองค์รวม ต่างกับป่าแม่วงก์ที่ใช้เวลาเพียงสองสามวันก็พอจะเห็นความมีชีวิตของป่าได้แล้ว
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
naitang
|
ความคิดเห็นที่ 717 เมื่อ 07 เม.ย. 16, 19:40
|
|
ผมเคยเฉียดเข้าไปในพื้นที่ป่าแม่วงก์ในระยะหลัง ได้เห็นภาพความชุ่มชื้นของป่าเปลี่ยนไปมากๆ เปรียบได้ดังผมของคนๆหนึ่งที่เคยดกดำ ต่อมาเกิดผมร่วงจนเห็นได้ชัด สิงสาราสัตว์คงจะหายไปเยอะและมีน้อยลงไปจนกลายเป็นผืนป่าที่ไม่น่ากลัวอีกต่อไป ป่านี้เป็นบ้านที่สำคัญของพวกนกหัวโตทั้งหลาย (นกกก นกแกง ฯลฯ) ผมเดินป่ามามากก็ไม่เคยเห็นนกเหล่านี้ชุกชุมมากเท่าที่พบในป่านี้ รวมทั้งเสือ หมี ค่าง ชะนี พวกสัตว์ที่ใช้กรงเล็บตะปบ (เสือปลา เสือไฟ ฯลฯ) นกต่างๆ.....
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
naitang
|
ความคิดเห็นที่ 718 เมื่อ 07 เม.ย. 16, 19:58
|
|
ด้วยขัอมูลที่เล่ามานี้ อาจจะมีหลายท่านเห็นว่าการสร้างเขื่อนแม่วงก์น่าจะมีผลกระทบในทางลบเป็นอย่างยิ่ง มันก็มีในอีกมุมหนึ่งเหมือนกันว่า หากแต่ก่อนนั้นเป็นป่าที่มีความชุ่มชื้นสมบูรณ์ได้ขนาดนั้น แต่สภาพลดลงจนอยู่ในสภาพดังเห็นในปัจจุบัน หากมีแหล่งน้ำช่วยเติมน้ำเข้าไปในระบบของธรรมชาติ (replenish) มันก็อาจจะเป็นสิ่งที่ดีก็ได้ หลักการอนุรักษ์ก็มิใช่มีแต่เรื่องของ protection เท่านั้น มันก็มีมาตรการอื่นๆอีกเช่น restoration, integration, etc.
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
naitang
|
ความคิดเห็นที่ 719 เมื่อ 08 เม.ย. 16, 19:18
|
|
ผมมีโอกาสผ่านเข้าไปห้วยขาแข้งอีกครั้งหนึ่ง หลังจาก 20 ปีผ่านไป บ.ไก่เกียง ได้ถูกย้ายลึกเข้าไปในห้วยแถวจุดสูงสุดของระดับกักเก็บน้ำของเขื่องเจ้าเณร บ.เกริงไกร ก็ย้ายลึกเข้าไปอีกหน่อย เพื่อรักษาความรู้สึกทาง isolation ของผู้คนของทั้งสองหมู่บ้าน บ.องก์ทั่ง หายไป เหลือเป็นแพอยู่สองสามหลัง ควาญช้างของผมคนหนึ่งไปเป็น ผญบ.นาสวน
เจ้าของบ้านที่ปลูกบ้านอยู่ที่ปากลำห้วย ก็เปลี่ยนมาอยู่บนเรือนแพ เปลี่ยนอาชีพมาเป็นทำท่าปลา รับซื้อปลาที่เรียกว่า ไอ้ตือ ที่ชาวบ้านตกเบ็ดได้ รวบรวมขายให้กับพ่อค้าที่มารับซื้อต่อ
ไอ้ตือ คือปลาอะไรครับ ? ก็คือปลากรายนั่นเอง ตัวยาวประมาณ 1 เมตร จับได้ด้วยวิธีการตกเบ็ด (เท่านั้น ?) สาเหตุที่ต้องใช้วิธีตกเบ็ดก็เพราะว่า มันอาศัยอยู่ตามขอนไม้/ตอไม้ที่จมอยู่ใต้น้ำ ตกได้ไม่ง่ายนักและก็ไม่ยากจนเกินไป พื้นที่อยู่อาศัยปลากรายที่เป็นแหล่งสำคัญก็คือพื้นที่ขอบอ่างเก็บน้ำที่เป็นบริเวณน้ำไหลเข้าอ่างนั่นเอง
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
|