เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 30 31 [32] 33 34 ... 49
  พิมพ์  
อ่าน: 70736 ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 465  เมื่อ 19 ม.ค. 16, 19:56

เกลือทะเลมีคุณค่ามากกว่าเกลือที่ได้มาจากหินเกลือมากมาย  เกลือทะเลได้มาจากการทำให้น้ำที่เป็นส่วนประกอบของน้ำทะเลระเหยไป คงเหลือสารประกอบที่เป็นแร่ตกตะกอนสะสมกันเป็นชั้นๆ   พื้นดินของนาเกลือจึงอุดมไปด้วยสารประกอบของธาตุ เหล็ก แม็กนีเซียม ส่วนกลางๆจะเป็นพวกสารประกอบโซเดียม (เกลือแกง)  ส่วนชั้นบนๆก็จะเป็นสารประกอบของโปแตสเซียม (อาทิ KCl_ปุยโปแตส) แคลเซียม (อาทิ CaSO4_ยิบซั่ม) โซเดียม และพวกธาตุ เช่น ฟอสฟอรัส ไอโอดีน..

ครับ จะทำโป่งเทียมก็น่าจะใช้เกลือทะเลนะครับ และก็ควรเป็นเกลือที่ไม่ผสมไอโอดีนเพิ่มเติมอีกด้วย
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 466  เมื่อ 20 ม.ค. 16, 18:30

เดินข้ามทุ่งมะกอก ลงห้วย เดินลงตามลำห้วยไปบรรจบกับห้วยองก์ทั่ง แล้วก็จะถึง บ.องก์ทั่ง  หมู่บ้านนี้เป็นหมู่บ้านเล็กๆ ไม่กี่หลังคาเรือน แต่เป็นหมู่บ้านที่มีความเป็นระเบียบและสะอาด ชาวบ้านดูจะรักใคร่กลมเกลียวกันดี เห็นได้จากตามเส้นทางเข้าหมู่บ้านนั้นมีการตัดกิ่งไม้ใบหญ้าจนโปร่งและราบเรียบ

ผมนอนอยู่ในพื้นที่ของหมู่บ้านนี้อยู่ 2 คืน  ทั้งทำงานและหาข้อมูลสำหรับการตัดสินใจว่าจะใช้เส้นทางใดกลับมายังปากลำขาแข้ง คือ เดินย้อน หรือลุยไปข้างหน้าลัดเลาะไปตามแควใหญ่    ซึ่งการเดินย้อนกลับทางเดิมนั้น เราก็ไม่น่าจะได้ข้อมูลใหม่ใดๆเพื่มเติม   

ครับ..ในสมัยที่ผมทำงานนั้น กล่าวได้อย่างไม่น่าผิดเพี้ยนเลยว่า พื้นที่เหล่านั้นเกือบจะไม่เคยมีนักสำรวจในสาขาวิชาการใดๆ หรือแม้กระทั่ง จนท.บ้านเมืองใดๆย่างกรายเข้าไปเลย      งานในความรับผิดชอบของตัวผมจึงเป็นทั้ง exploration และ expedition    ผมสนุกกับงานที่ทำก็เพราะเหตุดังที่กล่าวมานี้แหละครับ  แล้วก็ทำให้เข้าใจลึกซึ้งถึงคำว่า บริสุทธิ์ หรือ Virgin   ว่า..มันเป็นความสวยงามและทุกสิ่งทุกอย่างเคลื่อนไหวอย่างเป็นไปตามธรรมชาติ เป็นไปตามกฎเกณฑ์และเงื่อนไขของธรรมชาติ   ภาษิตของไทยก็ว่าไว้ในทำนองเปรียบเทียบว่า สะอาดบริสุทิธิ์ยังกับผ้าขาวที่พับไว้     
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 467  เมื่อ 20 ม.ค. 16, 18:40

ทุกฤดูกาลสำรวจหรือทุกครั้งที่มีโอกาส ตัวผมเองจะต้องกำหนดเส้นทางเดินสำรวจเข้าไปในพื้นที่ที่ยังไม่มีผู้ใดเข้าไปถึง ชาวบ้านที่ผมจ้างทำงานอยู่ในคณะสำรวจก็ชอบ เพราะเขาก็จะได้เห็นอะไรใหม่ๆ แถมผู้นำทาง (ตัวผม) ก็มีทั้งเข็มทิศและแผนที่ ก็ไม่น่าที่จะเกิดการหลงป่าเลย   แต่เอาเข้าจริงๆก็หลุดเหมือนกัน     หลงน่ะไม่มีอะไรน่ากลัวหรอกครับ อาจจะตื่นเต้นนิดหน่อย   ใจเย็นๆครับ แล้วจะเล่าวิธีการให้   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 468  เมื่อ 21 ม.ค. 16, 18:40

เงื่อนไขที่ต้องตัดสินใจอีกประการหนึ่ง ก็คือ หากไม่เดินย้อนกลับทางเดิม ซี่งเป็นการเดินตามห้วย   ก็จะต้องเป็นการเดินข้ามเขาสูงหนึ่งลูก ซึ่งจะไม่มีแหล่งน้ำสำหรับทั้งคนและช้าง จะแวะลงแม่น้ำแควใหญ่ก็ไม่ได้เพราะมีหน้าผาสูงชันเดินลงไม่ได้   หรือก็จะต้องข้ามแควใหญ่ไปเดินอีกฝั่งแม่น้ำ แล้วข้ามกลับมายังฝั่งปากห้วยขาแข้งอีกทีหนึ่ง

เดินขึ้นเขาก็ไม่สนุก จะข้ามน้ำก็ดูจะมีอันตรายมาก น้ำไหลแรงแถมลึกเพียงใดก็ไม่รู้อีกด้วย

ในที่สุดก็ตัดสินใจว่าไปทางขึ้นเขา  ขึ้นไปยังไม่ถึงหนึ่งในสี่ของทางเลย ก็จ๊ะเอ๋กับดงหนาม ขนาดช้างหนังหนาๆยังไม่สู้เลย แล้วเราจะไปเหลืออะไร แทนที่จะให้ช้างบุกผ่าดงไปเป็นทางสำหรับให้เราเดิน ก็กลับทางกัน เป็นฝ่ายคนต้องช่วยกันตัดเถาหนามและแกะเถาหนามที่เกี่ยวติดกับหนังช้าง 
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 469  เมื่อ 21 ม.ค. 16, 19:00

จนถึงวันนี้ผมก็ยังไม่รู้ชื่อของเถาหนามนั้น   

ต้นของมันเป็นประเภทไม้เลื้อยที่มีลำต้นเป็นทรงสี่เหลียม ที่มุมของเหลี่ยมที่อยู่ฝั่งครงข้ามกัน จะมีหนามที่ลู่ไปในทางเดียวกัน  ครับ จะดึงไปหน้าไปหลังก็ติดทั้งนั้น แกะลำบากน่าดูเลยทีเดียว  แรกๆช้างก็เดินนำดีๆ ต่อมาก็หยุดไม่ยอมเดินต่อไไป   เราก็ต้องไปแกะเถาหนามที่มันติดอยู่กับหนังช้าง ทั้งแถบหูของมัน และตามข้างลำตัว  ขณะแกะหนามให้ช้าง คนก็โดนเข้าไปด้วย ในที่สุดก็ต้องตัดสินใจเดินย้อนกลับไปหาทางลงแม่น้ำเพื่อข้ามดีกว่า

แล้วจะข้ามตรงจุดใหนจึงจะดี จึงจะปลอดภัย ไม่ถูกน้ำพัด ข้าวของไม่เสียหาย   แถมค่อนข้างเสี่ยงมากเพราะเป็นการข้าม 2 ครั้ง   

ทิ้งเวลาให้คิดสักเล็กน้อยนะครับ
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 470  เมื่อ 23 ม.ค. 16, 18:47

สุภาษิตทั้งไทยทั้งเทศกล่าวเหมือนกันว่า น้ำนิ่งไหลลึก - still waters run deep  เป็นหลักที่ต้องยึดถือไว้เป็นอันดับแรก  เพราะว่าที่บริเวณน้ำค่อนข้างนิ่งๆนั้น เป็นบริเวณที่เป็นวังน้ำ น้ำจะลึกมากกว่าบริเวณที่มีน้ำไหล

หลักที่สองนี้ ไม่ต้องบอกก็รู้ คือหาบริเวณที่ลำน้ำแคบ  แต่บริเวณที่แคบน้ำก็จะไหลแรง และหากแคบมากเกินไป ก็จะเป็นพื้นที่ของแก่ง ซึ่งก็ดีตรงที่น้ำจะตื้น แต่ก็อันตรายมากที่น้ำไหลแรงจนเราอาจจะทานไม่ไหว

หลักที่สาม คือ เราต้องข้ามทะแยง มิใช่ตัดตรงขวางลำน้ำ

หลักที่สี่ คือ ทำตัวให้เบา  ซึ่งก็คือปลดสัมภาระออกจากตัวให้ได้มากที่สุด แล้วเทินหัวหรือลอยมันตามเราไป

ทั้งสี่หลักนี้ คงจะเป็นมาตรฐานที่ทุกคนพอจะรู้อยู่บ้าง   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 471  เมื่อ 23 ม.ค. 16, 19:27

ในการปฏิบัติจริง  คงจะต้องรู้อะไรเพิ่มเติมอีกสักหน่อย

เรื่องแรก ณ บริเวณที่แม่น้ำไหลเป็นเส้นตรง ระดับน้ำจะลึกที่สุดที่ประมาณกลางลำน้ำ   แต่หากเป็นบริเวณที่เป็นคุ้งน้ำ น้ำลึกจะอยู่ที่บริเวณฝั่งที่มีตลิ่งสูงชัน น้ำตื้นจะอยู่ฝั่งที่เป็นชายหาด

เรื่องที่สอง บริเวณใดที่น้ำไหลเอื่อยๆหรือดูนิ่ง พื้นท้องน้ำจะค่อนข้างเรียบ และมักจะเป็นดินทรายหรือโคลน แต่ก็อาจจะมีขอนไม้ นอนขวางอยู่ติดท้องน้ำ   แต่หากบริเวณใดเห็นผิวน้ำไหลเป็นริ้ว แสดงว่าน้ำค่อนข้างจะตื้น พื้นท้องน้ำจะเป็นพวกกรวดขนาดใหญ่ (cobble)   และหากเห็นผิวน้ำไหลเป็นรอนคลื่น ก็แสดงว่าใต้ท้องน้ำจะเป็นหินก้อนโตๆ (boulder)

เรื่องที่สาม ที่บริเวณหัวแก่งน้ำจะค่อนข้างตื้น พื้นท้องน้ำจะเป็นพวกกรวดก้อนขนาดใหญ่   ในบริเวณที่เป็นแก่ง น้ำจะไหลแรงมาก พื้นท้องน้ำจะเป็นโขดหินหิน    ที่ปลายแก่งน้ำจะลึก อาจมีกระแสน้ำวน หรือน้ำม้วนตัวกลับ     
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 472  เมื่อ 23 ม.ค. 16, 19:42

พิจารณาหลักคิดและข้อมูลที่พอมีแล้ว ก็คงนึกในใจได้แล้วว่าควรจะเลือกข้ามน้ำตรงบริเวณใหนถึงจะดี
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 473  เมื่อ 25 ม.ค. 16, 18:07

ผมกับคณะเลือกข้ามที่หัวแก่ง แม้ว่าน้ำอาจจะแรงไปบ้าง แต่ก็เพราะน้ำจะตื้นกว่าที่อื่น พื้นท้องน้ำมักจะเป็นหินก้อนใหญ่รูปทรงมน

ก็เดินย้อนเหนือน้ำขึ้นไปเลือกจุดลงน้ำ คะเนเอาว่าจากจุดลงน้ำนี้ ไม่ว่าจะค่อยๆเดิน หรือจะเขย่งเกงกอย หรือจะต้องลอยคอก็ตาม เราจะไปถึงอีกฝั่งหนึ่งได้ ณ จุดก่อนที่จะเข้าพื้นที่น้ำเริ่มเชี่ยวก่อนลงแก่ง

ว่าแล้วต่างคนต่างก็ปลดสัมภาระใส่บนแหย่งหลังช้างทั้งสองตัวที่ใช้บรรทุกเข้าของของคณะสำรวจ  ให้ช้างเดินลงน้ำข้ามไปก่อน เพื่อประเมินสภาพต่างๆ เมื่อไปถึงอีกฝั่งหนึ่งแล้ว ก็ให้ควาญช้างเดินตามน้ำลงไปอีกหน่อย แยกกันยืนห่างกันเพื่อช่วยรับคนที่ข้ามไปถีง
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 474  เมื่อ 25 ม.ค. 16, 18:24

แล้วก็ได้เห็นภาพที่น่ารักของช้าง และสิ่งที่น้อยคนจะได้รู้

ช้างเขาก็มีความกลัวเหมือนเรา พอเดินลงถึงชายน้ำ เขาก็จะค่อยๆก้าวเดิน เอางวงแตะพื้นดินนำหน้าไปก่อนที่จะเหยียบ(ลงน้ำหนักเท้า)ลงไป ก็เพื่อประเมินว่าพื้นมั่นคงดีพอใหม  เขาก็จะใช้งวงทำเช่นนี้ในขณะที่เดินไปเมื่อลงไปอยู่ในน้ำแล้วเช่นกัน  แต่กระทำในน้ำนั้นก็เพื่อหยั่งความลึกและสภาพผิวพื้นท้องน้ำ

ภาพที่น่ารักจะเกิดขึ้นเมื่อน้ำที่เขาเดินลุยลงไปนั้นเริ่มลึกถึงระดับประมาณห้วเข่า หรือระดับน้ำใกล้แตะพุงเขานั่นแหละ ลักษณะตัวของช้างก็จะเปลี่ยนไป คือเขาจะเริ่มพองลม เราจะเห็นท้องเขาใหญ่ขึ้นและพองกลมขึ้น  อารมณ์ของเขาเองก็จะเปลี่ยนไป จากที่ดูจะเครียดๆ ก็กลายเป็นดูร่าเริง ชูงวงพ่นอากาศ ไม่สนใจอีกต่อไปว่าน้ำจะลึกหรือพื้นท้องน้ำจะเป็นอย่างไร     
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 475  เมื่อ 25 ม.ค. 16, 18:48

ช้างหมดเรื่องลุ้นไปแล้ว แต่คนกำลังเริ่มลุ้นว่า..ช้างจะเล่นน้ำหรือไม่   ควาญช้างจะบังคับช้างอยู่หรือไม่   โธ่ ก็เดินมาเหนื่อยๆ ช้างก็จะขออาบน้ำสักตั้งจะเป็นอย่างไรเนาะ

ควาญเริ่มเสียงหลงเมื่อน้ำเริ่มถึงระดับท้องช้าง เลยระดับรักแร้แดงขึ้นมา เพราะช้างจะงอขาทรุดตัวลงไปให้ทั้งตัวอยู่ในน้ำ  ซึ่งหากจะเพียงเท่านี้ก็พอทน เพราะข้าวของเครื่องใช้ก็จะเพียงแต่เปียกชุ่มน้ำ แต่ช้างก็เป็นสัตว์ขี้เล่นอยู่พอสมควรทีเดียว เขาก็จะตะแคงตัวนอนแช่น้ำ คราวนี้ซิครับที่จะแย่ เพราะข้าวของเครื่องใช้ที่บรรทุกอยู่บนแหย่ง จะหลุดลอยหายไปเลย เหมือนกับการเทกระจาด

โชคดีที่ช้างทั้งสองตัวของคณะผมพอจะเชื่อฟังควาญของเขา มันก็เลยทำเพียงแต่จุ่มตัวให้มิดน้ำแต่ไม่ตะแคงตัวนอน กระนั้นก็ตาม ควาญเองก็ต้องยืนอยู่บนหัวช้าง แล้วคอยเลี้ยงตัวไม่ให้ตกลงไปในน้ำ ควาญตกน้ำเมื่อใดก็เมื่อนั้นแลที่จะได้เห็นข้าวของทั้งหลายหลุดตกน้ำอันตรธารหายไป   คนที่ซวย(ขออภัยทีหากเป็นคำไม่สุภาพนัก แต่มันให้อารมณ์ดี) ก็คือผม ก็ "ของหลวงตกน้ำไม่ไหลตกไฟไม่ไหม้" นี่ครับ
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 476  เมื่อ 25 ม.ค. 16, 19:04

ข้ามน้ำครั้งแรกก็แบบหนึ่ง พอข้ามกลับก็อีกแบบหนึ่ง ขาข้ามกลับนี้ น้ำก็ลึกแถวๆเหนืออกพอๆกัน  แต่หากหลุดก็จะไหลไปเข้าแก่งยาว อันนี้เจ็บตัวแน่ๆ    ช้างกลับทำตัวดี ว่านอนสอนง่ายเอาทีเดียว เหตุผลก็ไม่มีอะไรมากไปกว่าเขาได้กลับบ้าน(ถิ่นที่เขารู้จัก)
บันทึกการเข้า
Anna
องคต
*****
ตอบ: 552


ความคิดเห็นที่ 477  เมื่อ 26 ม.ค. 16, 13:11

แล้วก็ได้เห็นภาพที่น่ารักของช้าง และสิ่งที่น้อยคนจะได้รู้

ช้างเขาก็มีความกลัวเหมือนเรา พอเดินลงถึงชายน้ำ เขาก็จะค่อยๆก้าวเดิน เอางวงแตะพื้นดินนำหน้าไปก่อนที่จะเหยียบ(ลงน้ำหนักเท้า)ลงไป ก็เพื่อประเมินว่าพื้นมั่นคงดีพอใหม  เขาก็จะใช้งวงทำเช่นนี้ในขณะที่เดินไปเมื่อลงไปอยู่ในน้ำแล้วเช่นกัน  แต่กระทำในน้ำนั้นก็เพื่อหยั่งความลึกและสภาพผิวพื้นท้องน้ำ

ภาพที่น่ารักจะเกิดขึ้นเมื่อน้ำที่เขาเดินลุยลงไปนั้นเริ่มลึกถึงระดับประมาณห้วเข่า หรือระดับน้ำใกล้แตะพุงเขานั่นแหละ ลักษณะตัวของช้างก็จะเปลี่ยนไป คือเขาจะเริ่มพองลม เราจะเห็นท้องเขาใหญ่ขึ้นและพองกลมขึ้น  อารมณ์ของเขาเองก็จะเปลี่ยนไป จากที่ดูจะเครียดๆ ก็กลายเป็นดูร่าเริง ชูงวงพ่นอากาศ ไม่สนใจอีกต่อไปว่าน้ำจะลึกหรือพื้นท้องน้ำจะเป็นอย่างไร     

อาจารย์บรรยายจนเห็นภาพปรากฏอยู่ตรงหน้า เห็นช้างเคลื่อนไหวอย่างน่ารักเลยละค่ะ
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 478  เมื่อ 27 ม.ค. 16, 17:35

ครับ ช้างมีความน่ารักอยู่ในตัวของเขามาก ควบคู่ไปกับความน่ากลัวที่มีแฝงอยู่
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 479  เมื่อ 27 ม.ค. 16, 18:07

ช้างข้ามน้ำได้ไม่ยาก แต่คนนะซีครับที่เสียวใส้หน่อย คะเนดูจากระดับน้ำที่ท้องช้างแล้ว น้ำลึกสุดก็ประมาณชายโครง ลึกในระดับที่ไม่ใช่เป็นการเดินข้ามแบบลุยน้ำธรรมดาๆเสียแล้ว คงต้องหาวิธีเดินไปโดยไม่ให้ล้ม มิฉะนั้นก็จะต้องหลุดลอยตามน้ำลงผ่านแก่งไป  ควาญช้างนั้นจะไปยืนอยู่อีกฝั่งเพื่อเป็นจุดเป้าหมายที่จะต้องพยายามไปให้ถึง ณ จุดนั้น

พอลงน้ำไปจริงๆ พื้นท้องน้ำเป็นพวกหินก้อนใหญ่ ใช้วิธีเดินสืบเท้าไปไม่ได้เสียแล้ว ต้องใช้วิธีใช้เท้าถีบให้ลอยตัวเล็กน้อยบังคับให้ไปในทิศทางที่ต้องการ เพราะว่าหากจะใช้วิธีเดินเหยียบไปบนก้อนหิน ก็มีโอกาสที่จะพลาดไปขัดร่อง ข้อเท้าแพลงได้ง่ายๆ  ลุยแล้วก็ต้องไปเลย ไปเร็วอย่างเดียว หยุดหรือย้อนกลับไม่ได้แล้ว ตายเอาดาบหน้าอย่างเดียว   

มีการนัดกันล่วงหน้าแล้วว่า ผู้ใดหลุดลอยลงแก่งไป ให้พยายามลอยคอพยุงตัวอย่างเดียว อย่าพยายามว่ายให้มาก จะหมดแรง แล้วก็หาทางคัดหางให้ไปขึจากน้ำบนฝั่งที่เราจะข้ามไปนั่นแหละ จะไปตามหากันเอง
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 30 31 [32] 33 34 ... 49
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.066 วินาที กับ 19 คำสั่ง