เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 22 23 [24] 25 26 ... 49
  พิมพ์  
อ่าน: 71086 ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 345  เมื่อ 13 ธ.ค. 15, 18:38

ช่วงทำงานอยู่ในห้วยขาแข้งนี้ ผมได้กะรอกป่ามาตัวหนึ่ง ตั้งชื่อให้เขาว่า รอก

เช้าวันหนึ่ง กำลังนั่งทานอาหารเช้าอยู่เพื่อเตรียมตัวเดินทางทำงาน  ก็เห็นกะรอกน้อยตัวหนึ่งไต่อยู่บนต้นไผ่ลำหนึ่งที่โน้มเอียงลงมา ปลายเกือบจรดดิน มันเดินไต่แบบไม่ทุกข์ร้อนต้องระวังตัวใดๆเลย ด้วยความที่เป็นคนมีพื้นรักสัตว์ ก็เดินเข้าไปเขย่ากิ่งไผ่ มันก็หยุดนิ่ง เลยโน้มไผ่ลงมาพอที่จะจับมันๆได้  ครับมันก็ยอมให้จับตัวโดยดี ไม่กัดหรือทำอาการขัดขืนใดๆ  ช่วงนั้นอากาศหนาวมาก ตอนเช้าอุณหภูมิลงไปแถวๆ 4 - 7 องศา มันจะหนาวหรือไม่ก็ไม่ทราบ แต่มันก็ยอมอยู่นิ่งๆในอุ้งมือของผม ยังกับเคยเป็นเพื่อนสนิทกันมาในภพก่อนๆ น่ารักมากจริงๆ

พออกเดินทำงาน ผมก็เอาเขาใส่กระเป๋าเสื้อแจ๊คเก็ตฟีลด์ (เสื้้อหนาวแบบทหาร) เขาก็นอนซุกอยู่ในกระเป๋าอย่างนั้น พอหยุดเดิน เขาก็โผล่หัวออกมา พอคุ้นกันหลายวันมากกว่านั้น เขาก็จะออกมาเดินไต่อยู่บนไหล่เสื้อหนาว ปีนดมไรผมข้างหู หรือฉี่รดบนไหล่เสื้อ วิ่งไปวิ่งมาอยู่บนไหล่นั่นแหละ พอออกเดินเขาก็จะเข้าซุกตัวอยู่ในกระเป๋าเสื้อ    ตอนนอนก็นอนด้วยกัน ช่วงแรกๆเขาก็จะหาที่ซุกในถุงนอน ช่วงหลังๆก็ไปซุกอยู่ที่ปลายถุงนอน ก็คงจะเป็นเพราะไม่ต้องคอยหนีการขยับตัวของผม      
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 346  เมื่อ 13 ธ.ค. 15, 18:53

ขอบคุณครับ

กลัวจะเบื่อกันเพราะเรื่องเดินช้า แต่ก็นึกเสียว่า เพราะชีวิตในป่าเขาเป็นแบบ slow life อยู่แล้ว รายละเอียดจึงมีมากตามไปด้วย ซึ่งมีมากพอที่จะเล่าให้ได้ทั้งสภาพและสภาวะแวดล้อมต่างๆ และรวมถึงที่เรา(มนุษย์)คิด และที่เขา(สัตว์)คิด    ก็คงจะพอที่ทำให้จินตนาการได้ถึงภาพในอดีตเมื่อกว่า 40 มาแล้วได้บ้างครับ
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 347  เมื่อ 13 ธ.ค. 15, 19:11

เจ้ารอกตัวนี้เข้าออกป่าขาแข้งกับผมตลอดปีที่ทำงานอยู่นั้น  และอยู่กับผมต่อมาอีกประมาณ 12 ปี เขาจึงได้เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งที่บริเวณหน้าท้อง (ก้อน cysts สีดำ ขนาดประมาณเกือบหัวแม่มือ) ซึ่งเป็นโรคในหมู่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทั้่งหลาย   

เขานอนอยู่ในกรงก็ยังถูกหนูกัดที่หาง ผมก็ต้องพาไปหาสัตวแพทย์ ทำการตัดหางส่วนที่ถูกหนูกัดทิ้งไป เหลืออยู่ประมาณ 7-8 ซม. กลายเป็นกะรอกหางด้วน  เขาเป็นตัวเมีย อยู่กับผู้หญิงคนไหนก็ไม่กัด แต่แสดงอาการหึงหวงมากกับภรรยาผม ขู่และจะกัดอย่างเดียว  ตอนแก่ๆนั้นน่าสงสาร เพราะฟันเขางอกออกมาจนกุด ไม่พอที่จะแทะกินได้ตามปรกติ ผมต้องหาผลไม้อ่อนๆนิ่มๆให้เขาจนกระทั่งเสียชีวิตไป  เขาชอบให้ผมเม้มปากแล้วย้ำเบาๆที่หูของเขา ชอบให้ผมใช้จมูกเขี่ยเล่นที่พุงของเขา  ครับ เป็นการทักทายกันเมื่อพบกันหลังจากกลับจากทำงาน

ยังจำภาพ ยังนึกถึงเขาตลอดมาจนทุกวันนี้ ครับ   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 348  เมื่อ 13 ธ.ค. 15, 19:44

กะรอกนี้มิใช่อาหารของชาวบ้านป่า ตัวมันเล็ก ไม่อยู่นิ่ง จับ(ยิง)ยาก ได้มาเพียงตัวเดียวก็ไม่พอกินกันทั้งครอบครัว   แต่มันก็เป็นอาหารของพรานสมัครเล่น ที่ใช้ปืนยาวลูกกระสุนขนาดเล็ก (ลูกกรด) ซึ่งจะต้องทำให้ได้อย่างน้อยก็ 4 ตัว จึงจะพอนำมาทำอาหารกินกัน

ขนฟูของกระอกทำให้ดูว่าตัวมันใหญ่  เมื่อเอามาทำกินนั้น  เขาจะชุบน้ำทั้งตัวให้เปียก แล้วนำไปเผาบนไฟแรงๆ ขนก็จะไหม้ดำเกรียม จากนั้นก็ขูดขนที่ไหม้ พร้อมไปกับล้างทำความสะอาดผิว  ผ่าท้องเอาตับไตใส้พุงทิ้งไป ตัดหางทิ้งไป(เพราะมีแต่หนังหุ้มกระดูก) จากนั้นก็เอาไปผัดเผ็ด ไม่เอาไปทำอาหารแบบแกงกัน ก็เพราะคงจะความหาเนื้อในน้ำแกงไม่เจอ

ผัดเผ็ดก็ไม่ได้อร่อยจากรสเนื้อหรอกครับ เนื้อน้อยและก็ติดกระดูก ความอร่อยมาจากรสเครื่องปรุงเสียมากกว่า   กินแก้อดกันเท่านั้นแหละ   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 349  เมื่อ 14 ธ.ค. 15, 18:24

สำหรับพญากะรอกดำนั้น ไม่เคยเห็นว่ามีการจับมาทำอาหาร อาจจะเป็นเพราะว่ามันนิยมปีนป่ายอยู่สูงมาก แถมไม่ค่อนอยู่นิ่ง จึงยิงยาก
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 350  เมื่อ 14 ธ.ค. 15, 18:52

สัตว์อื่นที่มีรูปทรงแบบสัตว์ฟันแทะที่ได้กล่าวถึงมา  ก็มีสัตว์ที่เราเรียกชื่อมันแบบนึกใด้ในทันใดเมื่อพบเห็นมันว่า อีเห็น ซึ่งบ้างก็เรียกให้สุภาพว่า นางเห็น หรือไม่ก็ เห็น สั้นๆคำเดียว   

มีอยู่หลายชนิด พบในทุกป่าที่ไม่แห้งแล้ง โดยเฉพาะในผืนป่าใหญ่ที่มีเรือนยอด(ต้น)ไม้ครบทั้งระดับสูง ระดับกลาง ระดับต่ำ และพืชคลุมดิน     ซึ่งเท่าที่ผมได้สัมผัสมา เห็นว่าค่อนข้างมีจะชุกชุมในผืนป่าใหญ่ทั้งสองฝั่งแม่น้ำแควใหญ่ตั้งแต่เหนือปากลำห้วยขาแข้งขึ้นไป    ส่วนสำหรับในห้วยขาแข้งนั้น พบว่ามีสัตว์พวกนี้ตลอดลำห้วย แต่ก็ดูจะชุกชุมอยู่ในพื้นที่ใกล้ปากลำขาแข้ง       

สัตว์กลุ่มพวกนี้ก็มี เห็นข้างลาย เห็นอ้ม เห็นแผง (หางปล้อง) ชะมด หมูหรึ่ง หมาหรึ่ง   ทุกชนิดหากินกลางคืนทั้งนั้น และก็มีทั้งพวกหนักกินผลไม้ และพวกหนักกินสัตว์ตัวเล็ก ก็ตั้งแต่จิ้งหรีด เรไร ใส้เดือน กิ้งกือ ไปจนถึงไก่
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 351  เมื่อ 14 ธ.ค. 15, 19:07

เมื่อเดินป่าส่องไฟในเวลากลางคืน สัตว์ที่พบบ่อยครั้งมากที่สุด ก็จะเป็นพวกอีเห็นนี้แหละครับ  เมื่อใดที่ไฟส่องไปแล้วเห็นตาคู่หนึ่งใสเขียวนวล หันหน้าจ้องมองเรา และตาคู่นั้นมีระยะห่างกันประมาณสองสามนิ้วมือ ก็มักจะเป็นพวกมันนี้แหละ  แล้วก็ดูว่ามันไม่ค่อยจะกลัวเราเอาเลย จ้องแล้วก็เดินไต่ไม้ไปเรื่อยๆ ไม่พรวดพลาดหนีไป     ช่วงเวลาที่มันขยับหันข้างให้เรานี้ก็คือช่วงที่เราจะสามารถจำแนกได้ว่า จริงๆแล้วมันเป็นตัวอะไร

  (ที่ขีดเส้นใต้ไว้นั้น เพื่อกันลืมของตัวผม ก็เพื่อขยายความออกไปอีกหน่อยครับ)   

 
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 352  เมื่อ 14 ธ.ค. 15, 19:33

ชนิดที่ถูกเอามาเป็นอาหารมากที่สุด ได้แก่ อีเห็นข้างลาย กับ อีเห็นอ้ม ซึ่งผมก็ไม่แน่ใจนักว่า มันจะเป็นตัวเดียวกันหรือไม่  ตามข้อมูลที่หาได้ในคุณกูเพื่อการสอบทานนั้น ก็ว่าเป็นชนิดเดียวกัน    แต่ที่ผมเคยเห็นนั้น ที่เขาเรียกว่า อีเห็นข้างลายนั้น ก็มีลายจริงๆ  ส่วนที่เขาเรียกว่า อีเห็นอ้มนั้น มันมีสีขนนวลไม่มีลาย 

สำหรับอีเห็นชนิดอื่น (เห็นแผงหางปล้อง) นั้น กลิ่นตัวแรงมาก ในระดับฉุนเลยทีเดียว  แม้กระทั่งเนื้อก็ยังขิ่วขนาดใช้เครื่องแกงกลบไม่ลงไม่หมดเลย
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 353  เมื่อ 14 ธ.ค. 15, 19:41

ชะมดนั้น ชาวบ้านหวังจะจับเป็นมากกว่าจับตาย เพราะว่าตัวมันมีราคา แถมไคลของตัวมันก็มีราคาสูงจัดอีกด้วย   ชะมดคงมีหลายพันธุ์ แต่พันธุ์ที่ร้านขายยาแผนโบราณเอามาเลี้ยงไว้นั้น เรียกกันว่า ชะมดเช็ด    มันก็จะเดินวนไปวนมาในกรงขนาดไม่ใหญ่นัก เดินเอาข้างตัวสีกับลูกกรง   พอเช้าขึ้นมาทุกวัน เจ้าของก็จะเอาไม้ไผ่ (เหลาเป็นทรงรูปพายของเรือ) ขูดที่ลูกรงแต่ละเส้น ปาดไคลนั้นกับตลับ เก็บสะสมไว้ เมื่อได้มากพอก็เอามาสะตุเพื่อใช้ทำยาหรือเครื่องหอมต่อไป
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 354  เมื่อ 14 ธ.ค. 15, 20:23

เขียนถึงสัตว์พวกนี้ มีข้อผิดพลาดได้มากครับ  เพราะสัตว์กลุ่มนี้มีหลากหลายสายพันธุ์ และในแต่ละพื้นที่แต่ละภาคก็ดูจะมีความต่างไปตามสภาพสิ่งแวดล้อมที่ต่างกันอีกด้วย แถมมันยังมีชื่อแซ่ที่เรียกขานต่างกันไปในแต่ละถิ่น   กรณีเช่น เห็นแผงหางปล้อง ที่ผมเรียกมันนี้

สัตว์ตัวนี้ ผมได้เคยพบเห็นเพียงครั้งเดียว และก็ในช่วงเวลาที่แปลกมาก คือ ช่วงบ่ายแก่ๆ เดินเรียงแถวกันมา 4-5 ตัวในพื้นที่แห้งของท้องห้วยขาแข้ง ซึ่งก็น่าจะเป็นเรื่องแปลกอีก เพราะมันน่าจะนิยมอยู่เป็นเอกเทศ (?)   

ชื่อเรียกของมันเท่าที่ผมพอจะรู้และเคยได้ยิน ก็มีตั้งแต่ เห็นหางปล้อง เห็นแผง เห็นแผงหางปล้อง เสือแผง ชะมดแผง ชะมดแผงหางปล้อง หมูสัง (?) ...(คงมีชื่ออื่นอีก)  จนปัจจุบันนี้ชื่อที่ถูกต้องทางการของมันคือชื่อใหน ผมก็ยังไม่รู้ หรือว่ามันมีความต่าง (variety) กันในแต่ละชื่อ

หรือกรณีชื่อเรียก เห็นหอม เห็นอ้ม เห็นข้างลาย และอีเห็น (ทั่วๆไป) ก็เช่นกัน
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 355  เมื่อ 14 ธ.ค. 15, 21:05

อีเห็นเป็นสัตว์ที่เข้ามาหากินในพื้นที่ชายป่าใกล้บ้านคน เป็นสัตว์แมวขโมยชนิดหนึ่ง (ไก่เลี้ยงของชาวบ้านดูจะเป็นอาหารที่มันชอบ) เป็นสัตว์ที่ชาวบ้านคุ้น หาตัวได้ไม่ยากนัก แถมเอามาทำอาหารก็อร่อยพอได้เลยทีเดียว  ได้มาก็เอามาชุบน้ำให้เปียกทั้งตัว เผาไฟ ขูดขนให้เกลี้ยง ล้างน้ำให้สอาด ผ่าท้อง แล้วก็เอาไปย่างให้เนื้อพองฟู (พอเริ่มสุก) แล้วก็เอามาทำอาหารกิน

ด้วยเหตุที่เล่ามานี้ การเดินส่องสัตว์ของชาวบ้านในเวลากลางคืนในพื้นที่ชายป่าข้างๆหมู่บ้านจึงเป็นเรื่องปรกติ  ในทำนองเดียวกัน การเดินลึกเข้าไปในป่าเพื่อส่องอีเห็นและสัตว์อื่นๆก็เกิดขึ้นเป็นปรกติได้เช่นกัน  ด้วยความที่เป็นป่าในละแวกหมู่บ้านนี้เอง ชาวบ้านหลายคนก็จะนั่งพักหรือพักงีบพิงอยู่ขอนไม้หรือในร่องของรากต้นไม้ใหญ่ (โดยเฉพาะต้นมะค่าโมง) โดยไม่ปลดไฟฉายที่คาดไว้บนหัวออก 

ผลที่ตามมาก็คือ มักจะมีกรณีชาวบ้านที่ออกไปส่องสัตว์เช่นกัน พอดึกเข้าก็คงจะเริ่มตาลาย เมื่อไฟที่ส่องออกไปกระทบเข้ากับกรวยหัวไฟฉาย สะท้อนออกมา เห็นว่าเป็นตาสัตว์ ก็ยิงเข้าไปเลย จะเหลืออะไรล่ะครับ   เหตุการณ์เช่นนี้เกิดค่อนข้างจะบ่อยมาก    ผมได้ยินเรื่องทำนองนี้ในทุกป่าและในทุกพื้นที่ๆเข้าไปทำงาน 
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 356  เมื่อ 15 ธ.ค. 15, 18:44

สำหรับเรื่องระยะห่างของตาที่ได้กล่าวถึงใน คห.351 นั้น ก็เพื่อเป็นการจำแนกในเบื้องต้นว่าเป็นสัตว์ใหญ่หรือสัตว์เล็ก ซึ่งจะสังเกตควบคู่ไปกับสีสะท้อนของดวงตา ซึ่งมีหลักง่ายๆสำหรับการวินิจฉัยแรกสุดอยู่ว่า พวกสัตว์ที่ตากระทบแสงไฟแล้วแววออกมาเป็นสีแดง จะเป็นพวกสัตว์ประเภทกินเนื้อ (มิใช่ 100% หรอกนะครับ) และสัตว์ที่ตาแววออกมาเป็นสีในโทนสีเขียวอ่อน จะเป็นสัตว์พวกประเภทกินพืช (ก็มิใช่ 100% เช่นกันนะครับ)

ก่อนจะลืม... การส่องสัตว์นั้นจะกระทำกันในเดือนมืดหรือในช่วงเวลาที่ดวงจันทร์ยังไม่ขึ้นมาส่องแสงนะครับ ในคืนวันที่มีดวงจันทร์ส่องแสงสว่างไสวหรือในช่วงเวลาที่ดวงจันทร์ส่องแสง จะไม่มีการออกไปส่องสัตว์กัน  เหตุผลง่ายๆก็คือ สัตว์มันเห็นเราอย่างชัดเจน มันจึงเลี่ยงหนีไป  ในขณะที่เรามองไม่เห็นมัน ...ก็มันเป็นสัตว์หากินในเวลากลางคืน แต่เราเป็นพวกหากินในเวลากลางวันใช่ใหมครับ   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 357  เมื่อ 15 ธ.ค. 15, 18:54

คราวนี้ เมื่อเอาเรื่องการยิงผิดที่คิดว่าคนเป็นสัตว์มาพิจารณาดู   

ก็คงจะพอเห็นภาพรวมๆแล้วนะครับ ...คนเดินส่องสัตว์จนจันทร์สว่างแจ้ง ก็หาที่นั่งงีบ อีกคนหนึ่งส่องไฟมาเห็นแสงวาวคล้ายตาสัตว์ แถมแสงแววนั้นยังอยู่ในระดับความสูงของสัตว์ (เพราะคนนั่งเอนอยู่) กำลังจะหมดช่วงเวลาส่องสัตว์พอดี เข้าแก็บเลย จะเป็นโชคดีที่เป็นโชคร้ายอะไรได้ปานนั้นละครับ
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 358  เมื่อ 15 ธ.ค. 15, 19:21

หมาหริ่ง(หรึ่ง) และหมูหริ่ง(หรึ่ง) นั้น ผมเคยเห็นตัวมันเพียงครั้งเดียว เป็นตัวหมูหริ่ง ชาวบ้านเขายิงมาด้วยเหตุง่ายๆ คือ ไม่เคยเห็น ไม่รู้จัก ก็เลยยิงมาดู  ก็เป็นวิถีอย่างหนึ่งของชีวิตชาวป่า เป็นวิถีที่ไม่ค่อยจะสุนทรีย์กับสัตว์ร่วมโลกเลยนะครับ

ผมมักจะกล่าวถึงหมาหริ่งและหมูหริ่งว่า พวกปากหมาตีนหมูกับพวกปากหมูตีนหมา      พวกปากหมาตีนหมูนั้นหมายถึงหมาหริ่ง ซึ่งจริงๆแล้วปากหมาตีนหมูตรงกับตัวกระจง     ส่วนพวกปากหมูตีนหมานั้นหมายถึงหมูหริ่งซึ่งมีจมูกคล้ายหมู     
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 359  เมื่อ 15 ธ.ค. 15, 19:48

ก่อนจะขยับไปยังสัตว์ใหญ่ ขอไปยังตัว ET ประจำป่า

ลิงลม หรือ นางอาย  ซึ่งมีทั้งความน่ารักและอัปลักษณ์อยู่พร้อมๆกัน  เขาเป็นสัตว์หากินกลางคืน ประเภทเคลื่อนที่เชื่องช้าเอามากๆ แต่ความช้าของมันก็มิได้ทำให้เราพบตัวมันได้ง่ายๆ   

ขนของตัวมันมีสีขี้เถ้ากลมกลือนไปอย่างดีกับสีของเปลือกต้นไม้  ตัวมันใหญ่ขนาดประมาณกล่องกระดาษเช็ดหน้า แล้วก็ชอบเกาะกับต้นไม้ต้นขนาดพอๆกับตัวมัน  ไม่หันหน้าสู้ไฟฉาย มีแต่ก้มหน้าหลบแสง   แต่เราก็มีโอกาสส่องไฟเห็นหน้าของมัน  ก็จะเห็นตากลมโตสีแดง ตามด้วยการเคลื่อนไหวแบบเนิบๆเพื่อหลบแสง  เมื่อจะเข้าจับตัวมัน มันจะค่อยๆอ้าปากช้าๆ คล้ายกับจะทำการเปล่งเสียงออกมา แต่ไม่มีเสียงใดๆออกมา ทำท่าคล้ายกับจะกัดแต่ก็ไม่ทันงับ เพราะมือของเราที่จับขยับไปที่ใหม่เสียก่อน

ก็ตัว ET นั่นเองครับ   
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 22 23 [24] 25 26 ... 49
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.044 วินาที กับ 19 คำสั่ง