เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 13 14 [15] 16 17 ... 49
  พิมพ์  
อ่าน: 71005 ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 210  เมื่อ 26 ต.ค. 15, 19:39

อาจจะมีข้อสังเกตว่า มีชื่อสัตว์ (ที่มักจะกล่าวถึงชื่อแบบคล้องจองกัน) ตกหล่นไป

ก็เป็นสัตว์อีกหลายชนิดที่พบในพื้นที่ห่างจากระยะประมาณที่ผมได้กล่าวถึงครับ  ก็มีเข่น นกกก นกยูง นกถึดทือ โขลงช้างป่า งูหลาม สมเสร็จ (ผมเรียกว่าตัวสามกีบ) เก้งธรรมดา เก้งหม้อ กวาง เสือไฟ เสือปลา เสือโคร่ง (ลายพาดกลอน) ระทิงข้อ(เท้า)ขาวและข้อ(เท้า)เหลือง หมูป่า ตะกวด ลิงลม ....








บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 211  เมื่อ 26 ต.ค. 15, 19:58

แล้วก็มีสัตว์ที่สำคัญที่ผู้คนให้ความสนใจมากๆ   คือ มหิงสา  หรือที่ชาวบ้านเขาเรียกว่า ควายเพลิด  ซึ่งพบในพื้นที่บ้านเกริงไกร  แล้วซึ่งก็เป็นเหตุที่ทำให้คณะของผมถูกคณะของ จนท.ป่าไม้ติดตามด้วยความระมัดระวังอยู่เดือนนึง (เท่าที่รู้)  ด้วยเกรงว่าคณะของผมเป็นคณะนักล่าสัตว์ป่า  จนกลายเป็นว่าผมต้องออกไปตามพบพวกเขาที่ทับเสลา (ที่ทำการในปัจจุบัน) เพื่อบอกเล่าว่าเราเป็นใคร? เข้าป่ามาทำอะไร?

พบกันแล้วก็ได้เห็นภาพที่น่ากลัวนะครับ เขาใช้ปืนยิงเร็วแบบอัตโนมัติและกึ่งอัตโนมัติในคณะที่ติดตามคณะของผม      สภาพของพื้นที่ๆมีทั้ง ผกค. มีนักล่าสัตว์  มีไอ้เสือเอาวา  มีหน่วยจรยุทธไม่ทราบฝ่าย ฯลฯ เหล่านี้  เหตุการณ์อันมิคาดฝันก็จึงอาจเกิดขึ้นได้ด้วยการตัดสินใจและการขยับที่ผิดที่ผิดเวลาเพียงนิดเดียว 
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 212  เมื่อ 27 ต.ค. 15, 18:51

ก็เพิ่งจะเข้าใจจากนั้นไม่นานว่า ด้วยเหตุใดจึงต้องมีคนเดินคู่ไปกับช้าง แม้ว่าจะมีควาญช้างนั่งอยู้่บนหัวช้างแล้วก็ตาม
[/u]

ขออนุญาตเข้าใจด้วยคนได้ไหมคะอาจารย์ ว่าด้วยเหตุใด ฮืม

ว่าจะไปเล่ารวมอยู่ในกระทู้ตั้งใหม่เรื่องทำงานร่วมกับช้างครับ
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 213  เมื่อ 27 ต.ค. 15, 19:32

พื้นที่ตอนล่างของห้วยขาแข้งนั้น เนื่องจากว่าเป็นส่วนของลำห้วยช่วงที่ใกล้จะบรรจบกับแม่น้ำ (แควใหญ่) พลังการกัดเซาะของน้ำไหลจึงปรับเปลี่ยนไปจากการกัดเซาะหนักไปลงไปทางลึก เป็นการกัดเซาะหนักออกไปในทางราบ (ซึ่งเป็นธรรมชาติตามปกติ)  ทำให้กลายเป็นพื้นที่หุบห้วยกว้างมากกว่าที่จะเป็นหุบห้วยแบบ V shape ในพื้นที่ตอนต้นน้ำ 

เมื่อประกอบกับดินตื้นๆที่รองรับด้วยดานหินปูนที่อยู่ไม่ลึก ป่าจึงเป็นพวกป่าแห้งๆ เป็นป่าเบ็ญจพรรณ หรือเป็นป่าดิบแล้ง ต้นไม้ส่วนมากจะมีขนาดไม่ใหญ่ (คือไม่เกินขนาดโอบรอบได้) ต้นไม้ขนาดใหญ่ที่เห็นเป็นหลักก็มี ต้นไทร ต้นมะค่าโมง และต้นยาง ต้นไม้ทั้งสามชนิดนี้มักจะพบเห็นว่ามีกระเช้าสีดาและรังผึ้งหลวงเกาะอยู่ แล้วก็ยังมีกล้วยไม้ป่าบางชนิดด้วย

นอกจากป่าในลักษณะดังกล่าวแล้ว ก็มีดงป่าไผ่หนาม (ชัดป่าไผ่) ที่เดินผ่าไปลำบากมาก  มีไผ่ที่เรียกว่าไม้บงที่ขึ้นทั้งในลักษณะเป็นกอใหญ่แซมอยู่บริเวณชายป่าไม้จริง  มีไผ่ที่เรียกว่าไผ่รวกขึ้นกระจัดกระจายในที่ๆมีหินโผล่เยอะๆและมีดินแห้งๆ  มีไผ่ที่เรียกว่าไม้ไร่   แล้วก็มีไผ่ที่เรียกว่าไผ่หก ซึ่งขึ้นในพื้นที่ชื้นตามร่องห้วยแยก มีลำต้นส่วนโคนขนาดโคนขาของเรา มีหน่ออ่อนๆสูงขนาดเอว ฟันกันเหนื่อยกว่าจะตัดมันออกมาได้ แถมหนักมากขนาดแบบคนเดียวเกือบจะไม่ไหว   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 214  เมื่อ 27 ต.ค. 15, 19:42

เมื่อเดินสูงขึ้นไปบนตลิ่งห้วย ไปจนถึงขอบของหุบ ก็อาจพบส่วนที่เป็นพื้นที่ๆโล่งๆคล้ายสนามหญ้า มีพวกต้นไม้ผล (มะกอกป่า มะขามป้อม และที่ไม่รู้จักชื่ออีก) อยู่ชายขอบที่สัตว์กีบมาเก็บผลกิน  เนื้อที่สนามหญ้านี้ก็คงอยู่ที่ประมาณ 10+ ไร่
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 215  เมื่อ 28 ต.ค. 15, 22:38

พอจะเห็นสภาพทางภูมิประเทศและป่าไม้แล้วนะครับ    ก็เล่ามาเพื่อจะเอารายชื่อสัตว์ที่ได้กล่าวถึงมาก่อนหน้าแล้วนั้นใส่เข้าไป  เพื่อทำให้เป็นป่าที่มีชีวิต คือมีทั้งพืชและสัตว์ แถมด้วยคนที่เดินท่อมๆอยู่ในพื้นที่  ซึ่งทั้งสัตว์และคนต่างก็ทำมาหาเลี้ยงชีวิตไปตามวิถีของระบบนิเวศน์

ก่อนจะต่อเรื่องไป  ยังมีอีกสภาพหนึ่งที่เรามักจะคิดไม่ถึง คือ เมื่อเราเห็นว่ามีแม่น้ำสายใหญ่ และห้วยขนาดใหญ่อยู่ในพื้นที่ เราก็มักจะนึกว่า พื้นที่ผืนป่านั้นจะมีความชุ่มชื้น เป็นป่าที่มีเรือนยอดของต้นไม้ใหญ่ปกคลุมปิดบังแสงแดด คล้ายกับเรากางร่มกันแดด จึงเป็นป่าที่ร่มเย็นสบาย   แท้จริงแล้ว สภาพป่าแบบที่กล่าวถึงนี้จะพบอยู่ทางภาคใต้ซึ่งเป็นพื้นที่ๆมีความชื้นสูงและฝนตกชุก และยังพบได้ตลอดทิวเขาตะนาวศรี  แต่พอลงจากทิวเขาตะนาวศรีเข้าสู่ที่ราบลอนคลื่น ก็จะเป็นพื้นที่ค่อนข้างแห้งเป็นส่วนมาก คงเหลือผืนป่าที่มีระดับความชื้นสูงไม่มากแห่งนัก

สำหรับพื้นที่ใน จ.กาญจนบุรี   พื้นที่ทั้งสองฝั่งของแควใหญ่และแควน้อย รวมทั้งของห้วยสาขาที่มีขนาดใหญ่ (เช่น ห้วยขาแข้ง ห้วยเขย่ง ห้วยบ้องตี้) เมื่อขึ้นฝั่งพ้นจากลำน้ำแล้ว กลายเป็นที่ๆแล้งไม่มีน้ำ    ครับ..ทำงานอยู่กับน้ำ แต่เมื่อขึ้นฝั่งแล้วขาดน้ำกินน้ำใช้   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 216  เมื่อ 28 ต.ค. 15, 22:55

สัตว์ป่าในห้วยขาแข้งเกือบทั้งหมดในสมัยที่ผมเดินทำงานนั้น ล้วนแต่ไม่กลัวคน เจอะเจอกันก็ยืนจ้องมองกัน เป็นสิ่งดีๆที่ผมได้มีโอกาสสัมผัสและมีความประทับใจมาก  เป็นที่ๆเราจะเดินหลบสัตว์ เพื่อจะได้ไม่ทำให้เขาตกใจ และจะได้แอบสังเกตเขา  ขนาดนั่งทานข้าวกันในห้วย ก็ยังมีสัตว์มายืนเมียงเรา มากไปกว่านั้นก็ยังมีแบบเดินข้ามห้วยไปไม่ห่างจากที่เรานั่งทานข้าวกันมากนัก

จะค่อยๆพยายามเล่าเรื่องของสัตว์แต่ละชนิดไปนะครับ
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 217  เมื่อ 29 ต.ค. 15, 18:46

..ในน้ำมีปลา..

ห้วยขาแข้งเป็นห้วยน้ำไหลเกือบตลอดทั้งปี (running stream) มิใช่ไหลตามช่วงเวลา/ฤดูกาลของปี (intermittent stream) มีทั้งเกาะแก่งและวังน้ำเหมือนกับแม่น้ำแคว แต่เป็นแบบย่อส่วนทั้งในเชิงของขนาดและความรุนแรง  น้ำลึกตามแก่งก็ประมาณระดับหัวเข่า น้ำลึกในวังน้ำก็ประมาณเกือบๆท่วมหัว  บางช่วงก็มีน้ำใส บางช่วงก็น้ำขุ่น

ในบริเวณที่เป็นวังมีน้ำใสนั้น จะเห็นฝูงปลาต่างชนิดกันว่ายสวนทางกัน 3-4 ระดับเลยทีเดียว เป็นปลาเกล็ดสีขาวสะท้อนแสงทั้งนั้น   กล่าวได้ว่ามีปลาชุกชุมมากจริงๆ    ซึ่งสาเหตุที่มีปลาชุกชุมก็น่าจะมาจาก 2 เรื่อง คือ เรื่องแรก..ชาวกะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่ในพื้นที่นั้นไม่นิยมจับปลา ที่จริงแล้วผมก็ไม่เคยเห็นอุปกรณ์ดักหรือจับปลา (ไซ ตุ้ม...อะไรพวกนี้) หรือเบ็ดตกปลา หรือตะครัดดักปลา(ตาข่าย)ตามบ้านกะเหรี่ยงในพื้นที่นี้เลย    เรื่องที่สอง..มันเป็นพื้นที่ห่างไกลจากชุมชนเมือง เป็นพื้นที่ๆมีผู้คนอาศัยอยู่เป็นจำนวนน้อยมาก และผู้คนในพื้นที่ก็ใช้ชีวิตอยู่อย่างเพียงพอกับของที่มีและที่หามาได้ด้วยวิธีการแบบธรรมชาติ   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 218  เมื่อ 29 ต.ค. 15, 19:06

อาจจะเกิดข้อสงสัยแล้วว่า แล้วกะเหรี่ยงไม่กินปลากันหรือไร  เขาก็กินปลากันครับ แล้วก็มีทั้งแบบต้ม แบบเผา และแบบแอบ (หมกไฟ) ไม่มีเพียงแบบทอดในน้ำมันเท่านั้นเอง (ไม่มีน้ำมันมากพอสำหรับการทอด)  อ้อ..แล้วก็ไม่มีแบบนึ่งอีกด้วย (ไม่มีอุปกรณ์สำหรับการนึ่ง)

ตามมาด้วย  อ้าว..แล้วเขาจับปลากันอย่างไร    ก็มีอยู่สามวิธีด้วยกัน ได้แก่ การวิดปลา..(วิดน้ำออกจากแอ่งให้แห้งพอที่จะจับปลาได้) ซึ่งเกือบทั้งหมดจะทำในบริเวณที่เป็นแอ่งน้ำตามแก่งต่างๆ เมื่อระดับน้ำในห้วยลดลง  วิธีที่สอง..การฟันปลา  วิธีการนี้เป็นการหาปลาตอนกลางคืน โดยเขาจะใช้คบเพลิงที่ทำจากกระบอกไม้ไผ่ เดินส่องไปตามริมห้วย เมื่อพบปลาก็จะใช้มีดฟันเอา  และวิธีที่สาม..การงัดก้อนหินตามพื้นท้องห้วย จับปลาที่ซ่อนหลบซ่อนอยู่ใต้ก้อนหินนั้น       
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 219  เมื่อ 29 ต.ค. 15, 19:31

วิธีการแรก จะได้ปลาตัวเล็กๆ รวมทั้งปูตัวเล็กๆ  แล้วเอาไปทำแอบกินกัน   ทำไม่ยากและก็ง่ายมาก ส่วนผสมก็ไม่มีอะไรมากไปกว่าเกลือ พริก และผักที่หาได้จากริมห้วย (เช่น ผักกูด) เอามาห่อใบตองแล้วก็หมกขี้เถ้าร้อนๆใต้กองฟืนบริเวณสามขาที่ตั้งหม้อหุงข้าว

วิธีการที่สอง จะได้ปลาตัวใหญ่หน่อย ก็มักจะเป็นขนาดฝ่ามือขึ้นไป  ปลาที่ได้ทั้งหมดจะเป็นพวกปลาที่มีเกล็ดขาววาวและมีทรงคล้ายปลาตะเพียน (ปลาตะเพียน ปลาขาว ปลาตะโกก..)   ได้มาแล้วก็เอามาทำกินในสองเมนูง่ายๆ คือต้มใส่เกลือ ซดน้ำ กับเสียบไม้ย่างให้สุกและแห้งพอประมาณ แล้วแกะเอาเนื้อมาตำน้ำพริก

วิธีการที่สาม จะได้พวกปลากั้ง ลักษณะตัวคล้ายปลาช่อน มีหัวโต และซึ่งที่ปลายครีบหลังและปลายหางจะมีสีแดง    อาจจะได้ปลาดุกห้วยและปลากดห้วย (ปลากดหมู ?)   แต่กะเหรี่ยงไม่นิยมปลาหนัง ก็เลยเหลือแต่ปลากั้งที่จะเอาไปต้มหรือเสียบไม้ปิ้ง ทำเป็นเมนูต้มหรือน้ำพริก 
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 220  เมื่อ 29 ต.ค. 15, 19:46

แต่สำหรับทีมผมนั้น วิธีการแรก จะไม่ใช้เลย ยกเว้นแต่เมื่ออดอยากแล้วไปพบว่ามีลูกอ๊อดของเขียดแลวหรือกบทูตอยู่ในแอ่งน้ำนั้นๆ  ซึ่งตัวมันนั้น เมื่อแก่ได้ที่ เริ่มมีขาโผล่ให้เห็นออกมา มันก็จะมีขนาดประมาณนิ้วหัวแม่โป้ง  ท้องใสจนเห็นใส้เป็นขดสีดำ   จับได้ไม่กี่สิบตัว ผ่าท้องบ้าง ไม่ผ่าบ้าง ก็พอหม้อแกงต้มยำน้ำใสแบบโฮกอือ จะเหลืออะไรล่ะครับ หากมีเหล้าก็ต้องเป็นได้เมากันแน่

     
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 221  เมื่อ 29 ต.ค. 15, 20:16

สำหรับวิธีการที่สอง การฟันปลานั้น  ทีมของผมใช้บ่อยมาก  แต่ต่างไปจากแบบของพวกกะเหรี่ยงที่เดินตามริมน้ำ   แบบของพวกผมคือ เดินลุยไปในน้ำเลย คนหนึ่งหิ้วตะเกียงเจ้าพายุเดินนำหน้าช้าๆ ค่อยๆย่างไป อีกสองสามคน+ไฟฉาย เดินตามไปยังตำแหน่งที่เห็นปลา มือถือมีดให้มั่นพร้อมฟันอยู่ใต้ผิวน้ำ ใช้ไฟฉายส่องตัวปลา เห็นแก้มเหงือกปลาพะงาบๆ ครีบยังไหวโบกอยู่  เงื้อมมีดเข้าไปฟัดหัวฉับเลย ปลามันไม่ขยับหนีไปใหนก็เพราะมันหลับอยู่ครับ  สักชั่วโมงสองชั่วโมงก็ได้มากพอกินไปสองสามมื้อทีเดียว    ก็แปลกอยู่ประการหนึ่ง คือ ไม่เคยได้ปลาหนังเลย หรือพวกปลาหนังชอบซ่อนอยู่ตามหลืบ

ดูง่ายดีครับ แต่ก็มีอันตรายพอได้อยู่เหมือนกัน   จะฟันเอาหัวงูก็หลายครั้งอยู่พอควรเลยทีเดียว  งูมันก็ชอบซ่อนตัวอยู่ตามหลืบหินด้านผนังห้วย โผล่ให้เห็นมาแต่หัว ดูคล้ายกับพวกปลากั้ง  ไม่รู้ว่างูมันหลับหรือมันตื่นอยู่   รู้แต่ว่ามันเป็นหน้าที่ๆเราที่จะต้องหลบหลีกมัน   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 222  เมื่อ 30 ต.ค. 15, 17:42

ส่วนวิธีการที่สาม งัดหินออกมาดูนั้น ผมก็งัดดูไปตามประสาความอยากรู้ว่ามีปลาหรือไม่เท่านั้น  ปลากั้งก็ไม่นิยมจับมาเป็นอาหาร ตัวมันผอมไม่สมส่วนกับหัวที่โตของมัน แถมยังมีคำขู่ของชาวพรานไพรผนวกไว้อีกด้วยว่า กินปลากั้งแล้วจะหัวสั่นหัวคลอน    ผมคิดว่า ชื่อดั้งเดิมของมันคงจะเรียกกันว่า ปลาก้าง เพราะมีเนื้อไม่มาก
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 223  เมื่อ 30 ต.ค. 15, 18:26

อีกวิธีการจับปลาบที่มีการกระทำที่บริเวณปากห้วยขาแข้ง คือ การระเบิดปลา ก็ทำโดยคนจากถิ่นเมืองที่เข้ามาทำไม้ในพื้นที่   

วิธีการระเบิดปลานั้น ดูจะเป็นวิธีการที่นิยมกระทำโดยคนจากต่างถิ่น ผมได้พบเห็นในทุกแม่น้ำในภาคเหนือและภาคตะวันตก โดยเฉพาะในบริเวณที่เป็นวังน้ำที่มีน้ำลึกประมาณท่วมหัวคน  ใช้คนสองคนและมีทั้งการใช้เรือและใช้แพไม้ไผ่

ปลาที่ได้จากการระเบิดจะมีลำใส้และแตก กินไม่อร่อยหรอกครับ เพราะว่าปลาจะมีรสขมเพราะดีปลาแตกกระจาย  การระเบิดปลานี้เป็นสิ่งที่ไม่พึงกระทำอย่างเด็ดขาด เพราะว่าปลาและสัตว์น้ำทั้งหลายในบริเวณที่ระเบิดจะตายหมด ซึ่งหมายความว่า ในวังน้ำนั้นเกือบจะไม่หลงเหลือสัตว์ใดๆเลย ยิ่งหากหย่อนระเบิดกันทุกวังน้ำ ก็หมายความว่า ทั้งห้วยนั้นก็จะไม่มีปลาเหลือให้กินอีกต่อไป    นอกจากนั้นแล้วเมื่อปลาตายลอยขึ้นมา ก็ยังตามจับปลาที่หงายท้องลอยไปตามน้ำไม่ค่อยจะทันอีกด้วย 

ผมเห็นที่ใหนก็ต้องขอร้องและพยายามอธิบายความเสียหายถาวรที่จะเกิดขึ้น ก็ได้ผลอยู่พอสมควรเลยทีเดียว ซึ่งก็อาจจะเป็นเพราะเราเป็นราชการ หรือไม่เขาก็เข้าใจสิ่งที่เราอธิบาย     ตัวอย่างหนึ่งที่มักจะยกขึ้นมากล่าวถึงก็คือ เรื่องของพวกนักระเบิดปลาที่ชอบแกล้งกัน คือใช้เท้าถีบก้นคนหย่อนหรือโยนระเบิดให้ตกลงไปในน้ำพร้อมกับระเบิดที่โยนลงไป  ดูจะเป็นการแกล้งกันที่รุนแรงนะครับ ที่จริงแล้วก็ไม่หนักหนาสาหัสเพียงใด ด้วยว่าแท่งระเบิดที่ใช้และบรรจุในกระบอกไม้ไผ่นั้น ไม่ทำให้เกิดแรงอัดที่รุนแรงกับตับไตใส้พุงของคนมากนัก   เพราะใช้แท่งระเบิดท่อนสั้นๆที่ตัดแบ่งออกมาใช้   สมัยนี้ไม่มีแล้วครับ
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 224  เมื่อ 30 ต.ค. 15, 19:03

เนื่องจากลักษณะงาน (สำรวจทำแผนที่ธรณีฯ) ของพวกผม ทำให้วิธีการทำงานต้องเคลื่อนที่ต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ใกล้ๆกับลักษณะค่ำใหนนอนนั่น  ผมจึงไม่มี base camp  จะนอนซ้ำที่เดิมก็ไม่มากไปกว่า 3 วัน แล้วก็ย้ายแคมป์ต่อไป  เมื่อใดที่จะเดินออกห่างจากห้วยหลัก ก็จะเข้าไปในบริเวณที่ๆเกือบจะไม่มีแหล่งน้ำ ซึ่งนั่นก็หมายความว่า แหล่งอาหารจะจำกัดมาก   ก็ต้องมีการเตรียมสะเบียงอยู่พอควรเลยทีเดียว

เมื่อประกอบกับในห้วยขาแข้งนั้น ความต่างของอุณหภูมิระหว่างเย็นกับอบอุ่นนั้น ห่างกันมาก  ช่วงเช้ามืด (ตีสาม ตีสี่) ปรอทลงไปถึง 4 องศาได้เลยทีเดียว ปรกติก็จะอยู่แถวๆ 7-10 องศา  พอเห็นแสงอาทิตย์รำไรใต้ทิวสันเขา อุณหภูมิก็จะสูงขึ้นพอที่จะเริ่มกิจกรรมต่างๆได้อย่างคล่องตัว   พอตกประมาณบ่าย 3 โมง แสงอาทิตย์เริ่มถูกบังด้วยสันเขา เท่านั้นเอง..ความเย็นก็เริ่มเยือน แล้วยังเย็นลงอย่างรวดเร็วอีกด้วย    ช่วยกันตั้งแคมป์เสร็จก็อาบน้ำไม่ไหวแล้วครับ ไม่สะบายแน่ๆ   ก็เลยเป็นเรื่องปรกติที่จะฮัมเพลง 7 วันอาบน้ำหนเดียว 

ที่จริงก็เพียง 3-4 วันเท่านั้น ผมก็จะหยุดตั้งแคมป์แบบไม่ย้ายที่สัก 2-3 คืน ก่อนที่จะย้ายแคมป์เดินต่อไป   มิใช่หยุดทำงานนอนพักนะครับ แต่เป็นการหยุดด้วยหลายวัตถุประสงค์ คือ ซักผ้า (เพื่อลบรอยแผนที่บนผ้าแผ่นหลังเสื้อ)  ทำความสะอาดร่างกาย (ด้วยเหม็นสะสมกันมาหลายวัน) รวบรวมและประมวลข้อมูล (วิเคราะห์แล้วแผนว่าจะเดินไปทางใหนที่จะได้ข้อมูลมากที่สุดต่อไป) เดินสำรวจเก็บรายละเอียดเพิ่มเติมรอบๆพื้นที่แคมป์ (วงรัศมีระหว่าง 5-10 กม.)   แล้วก็ตรวจสะเบียง เตรียมและสะสมสะเบียงสำหรับการเดินต่อไป   
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 13 14 [15] 16 17 ... 49
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.068 วินาที กับ 19 คำสั่ง