เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 [2] 3 4 ... 49
  พิมพ์  
อ่าน: 70741 ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
Jalito
องคต
*****
ตอบ: 478


ความคิดเห็นที่ 15  เมื่อ 08 ส.ค. 15, 19:20

สภาพการเดินทางตามลำแควใหญ่ในคห.13 เป็นการเดินทางก่อนสร้างเขื่อนเจ้าเณรหรือเขื่อนศรีนครินร์ ที่เริ่มก่อสร้างในปี ๒๕๑๖
ไม่แน่ใจว่าตอนนี้น้ำตกเอราวัณยังอยู่หรือหายไปแล้ว เคยไปทีนี่กับกลุ่มเพื่อนนักเรียนเมื่อปี ๒๕๑๐ ก็ไปลงเรือที่บ้านลาดหญ้านี่แหละครับ
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 16  เมื่อ 08 ส.ค. 15, 19:30

กลับมาที่ บ.ลาดหญ้า เพื่อเตรียมการเดินทางไปปากลำขาแข้ง

เรื่องแรกคือการหาเรือ และซึ่งจำเป็นจะต้องเป็นเรือหางยาว  ซึ่งมีปัญหาและอุปสรรคอยู่ 2 เรื่อง ได้แก่ ขนาดของเรือ และนายท้ายเรือที่รู้จักเกาะแก่งต่างๆเหนือเขตตัว อ.ศรีสวัสดิ์ ขึ้นไป    

ขนาดของเรือที่ว่าเป็นปัญหาก็คือ เรือหางเกือบทั้งหมดจะเป็นเรือหางขนาดใหญ่  ขนาดใหญ่แค่ใหนนะหรือครับ ก็ขนาดที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล 6 สูบในการขับเคลื่อน ต้องมีหางเสือช่วยในการบังคับเรือ  (ลำที่ผมใช้อยู่นั้นใช้เครื่องยนต์ขนาด 90 แรงม้าที่ใช้กับรถลากไม้ซุงห้วแตงโม_รถเบ๊นซ์)  เรือหางขนาด 4 สูบก็มีครับ แต่มักจะเรือส่วนตัว ไม่รับจ้างใดๆ  

ครับ ก็หนีไม่พ้นที่จะต้องเป็นเรือหางขนาดเขื่องๆเลยทีเดียว  ลองนึกภาพขนาดของเรือที่สามารถเอาถังน้ำมันเหล็กขนาด 200 ลิตร 2 ถังวางไว้แบบขวางลำเรือที่ด้านหน้าเก้าอี้นั่งของนายทางเรือ
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 17  เมื่อ 08 ส.ค. 15, 20:01

สภาพการเดินทางตามลำแควใหญ่ในคห.13 เป็นการเดินทางก่อนสร้างเขื่อนเจ้าเณรหรือเขื่อนศรีนครินร์ ที่เริ่มก่อสร้างในปี ๒๕๑๖
ไม่แน่ใจว่าตอนนี้น้ำตกเอราวัณยังอยู่หรือหายไปแล้ว เคยไปทีนี่กับกลุ่มเพื่อนนักเรียนเมื่อปี ๒๕๑๐ ก็ไปลงเรือที่บ้านลาดหญ้านี่แหละครับ

น้ำตกเอราวัณยังคงอยู่เป็นปรกติดีอยู่ครับ 

น้ำตกเอราวัณนั้น เดิมเรียกกันว่าน้ำตกตาม่องล่าย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งทางด้านต้นน้ำของห้วยตาม่องล่าย   เรือที่จะขึ้นล่องแควใหญ่ทั้งหลายจะให้ความเคารพกับห้วยนี้ คือต้องให้ความระวังกับน้ำป่าไหลที่หลากไหลลงมาอย่างพรวดพราดโผล่มาทางปากห้วยนี้ 
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 18  เมื่อ 08 ส.ค. 15, 20:33

คิดว่าผมเคยเล่าไว้ในกระทู้ของเรือนไทยว่า  ผู้ที่เริ่มเรียกน้ำตกตาม่องล่ายว่าน้ำตกเอราวัณ คือ แพทย์ประจำตำบลท่านหนึ่งชื่อ สนั่น พงษ์โชติ   ซึ่งจำได้เลาๆว่าก็เพราะท่านต้องนั่งรอให้น้ำหลากจากปากห้วยนี้ให้สงบเสียก่อนที่จะเดินทางต่อไปได้   และท่านผู้นี้ก็คือผู้ที่เล่าเรื่องราวของป่า (ช่วงเวลาหนึ่งคืนกับแสงสว่างหนึ่งดวงตะเกียง) ที่เป็นข้อมูลพื้นฐานของบทประพันธ์เรื่อง "ล่องไพร" อันโด่งดังของน้อย อินทนนท์ หรือ มาลัย ชูพินิจ

ผมได้มีโอกาสนั่งสนทนากับท่านหลายครั้ง จะว่าไปก็เกือบจะทุกครั้งที่กลับออกจากป่ามา ที่ห้องแถวบ้านของท่านบ้าง ที่ห้องแถวเช่าของคณะสำรวจของผมบ้าง อยู่ใกล้ๆกันในตลาดลาดหญ้านั้นเอง  ก็คุยและเปลี่ยนเรื่องป่าๆที่ได้ประสบพบกันมา ผมได้เรียนรู้หลากหลายเรื่องป่าๆจากท่านผู้นี้ ครับ
 
บันทึกการเข้า
Jalito
องคต
*****
ตอบ: 478


ความคิดเห็นที่ 19  เมื่อ 08 ส.ค. 15, 21:36

ขอบคุณครับอาจารย์naitang
ตอนนั้นเป็นการเยือนบ้านลาดหญ้าเป็นครั้งแรก ก็ยังไม่ทราบว่าสมรภูมิลาดหญ้าอยู่ตรงไหน พวกเราทุกคนก็พนมมือคารวะวิญญาณวีรชนที่นั่น ถ้าพวกท่านยันกองทัพอริราชศัตรูไว้ไม่อยู่ที่จุดนั้น อาจมีชาวโยเดียกลุ่มใหม่ในประเทศเพื่อนบ้าน กรุงเทพมหานครอมรรัตนโกสินทร์จะมีสภาพยังไงไม่ทราบได้
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 20  เมื่อ 09 ส.ค. 15, 19:17

แม้จะมีเรืออยู่หลายลำ แต่ลำที่มีนายท้ายเรือมือดีๆที่รู้จักเกาะแก่งต่างๆในแม่นำแควใหญ่เหนือตัว อ.ศรีสวัสดิ์ขึ้นไปนั้น มีน้อยลำมาก  ซึ่งเกือบทั้งหมดของบรรดาเรือน้อยลำเหล่านี้ ก็จะรับงานไม่เหนือขึ้นไปจาก บ.นาสวน (คิดว่าปัจจุบันนี้เป็น ต.นาสวน ไปแล้ว) และก็มักจะเป็นงานเฉพาะช่วงเวลาหนึ่งของงานบุญวัดถ้ำเขาองจุก ที่มีพระพุทธรูปองค์ใหญ่ประดิษฐานอยู่ในถ้ำ

แม่น้ำแควใหญ่ส่วนเหนือจาก บ.นาสวน ขึ้นไปนี้ มีแก่งที่อันตรายอยู่หลายแก่งมาก  แก่งสุดท้ายที่เรือหางขนาดเครื่อง 6 สูบ สามารถผ่านไปได้ก็คือ แก่งยาว ซึ่งอยู่ก่อนถึงปากลำขาแข้งประมาณ 1 กม. ต่อจากปากลำขาแข้งขึ้นไปจะต้องใช้เรือขนาดเล็กลง เป็นเรือหางขนาดเครื่อง 4 สูบ (ขนาดเล็กกว่าที่เห็นกันในแม่น้ำเจ้าพระยาในปัจจุบันเล็กน้อย) บวกกับฝีมือของนายท้ายและความชำนาญอย่างสูง ด่านแรกที่ต้องผ่านก็คือ แก่งหินตั้ง อยู่เหนือขึ้นไปจากปากลำห้วยขาแข้งประมาณสัก 1.5 กม. ซึ่งมีเรือน้อยลำนักที่จะกล้าผ่านขึ้นไป    ผ่านแก่งนี้ไปไม่ไกลก็มีแก่งอีกมากมาย  ในฤดูแล้งจึงถึงต้องใช้เรือขนาดเล็ก ขนาดนั่ง 3-4 คน เท่านั้น

ก็ด้วยสภาพอันตรายดังกล่าวนี้ เจ้าของเรือก็จึงไม่ค่อยกล้าที่จะเสี่ยงเสียเรือจากการที่เรือกระแทกหินในแก่ง แตก และจมลง   ทำให้หาเช่าเรือได้ยาก
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 21  เมื่อ 09 ส.ค. 15, 19:29

ชาวบ้านที่ใช้แควใหญ่เป็นเส้นทางคมนาคมสัญจรไปมาหาสู่กัน จะเรียกส่วนของแควใหญ่ที่อยู่เหนือขึ้นไปจาก บ.นาสวน ว่า "ขาแข้ง-แก่งยาว" แล้วก็เกือบจะไม่มีผู้ใดอยากจะเสี่ยงไปทำมาหากินในพื้นที่เหนือจาก บ.นาสวน ขึ้นไป  และเกือบจะทุกคนต่างก็กลัวการขึ้น-ล่องผ่านแก่งยาวกันทั้งนั้น
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 22  เมื่อ 09 ส.ค. 15, 20:16

เมื่อได้เรือพร้อมนายท้ายมือดีที่พร้อมเสี่ยงและพร้อมสู้ด้วยกัน ก็เริ่มเดินทางกันได้

เที่ยวแรกในการเดินทางไปห้วยขาแข้งของผม เกิดขึ้นในช่วงเกือบจะปลายเดือนพฤศจิกายน  ออกจาก บ.ลาดหญ้าประมาณ 8 โมงเช้า ถึงปากลำขาแข้งเวลาประมาณ 4 หรือ 5 โมงเย็น

สถานที่แรกที่ผ่านก็คือ ท่ากระดาน ที่บนฝั่งเป็นที่ตั้งวัดลาดหญ้าเก่า เป็นแหล่งที่พบพระเครื่องท่ากระดาน เนื้อชินแดง เกศคด   เป็นพื้นที่สนามรบใหญ่สมัยสงครามเก้าทัพ  มีเขาชนไก่เป็น landmark  มีลำตะเพิน (ห้วย) เป็นแหล่งน้ำกินน้ำใช้

สำหรับนักนิยมพระเครื่องทรงยอดเกศคดนี้ ผมเคยเห็นแขวนอยู่บนคอชาวมอญที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ปากนกแก้ว (เขตพม่า) บนเส้นทางคมนาคมสายเดิมระหว่าง อ.สังขละบุรี - ด่านเจดีย์สามองค์  ซึ่งเขาบอกว่าพบอยู่ในพม่า เป็นเนื้อดิน สีอิฐ ก็คงจะเป็นพระเก่าเพราะเนื้อแห้งเหมือนอิฐเก่า   

 
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 23  เมื่อ 10 ส.ค. 15, 18:23

จากท่ากระดานขึ้นไปก็ไล่เรียงผ่านสถานที่ทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวกับการโยธาทัพของทั้งไทยและพม่า เช่น บ้านเก่า แก่งแคบ ซึ่งน่าจะเป็นบริเวณหนึ่งที่กองทัพพม่าซึ่งเดินลัดจากแม่น้ำแควน้อย จากบริเวณ บ.ลุ่มสุ่ม บ.สุ้มสุ่ย มาตามช่องเขาผ่าน บ.ทับศิลา เลาะเชิงเขามาโผล่แควใหญ่ แถวๆ บ.ท่าทุ่งนา (ที่มีเขื่อนท่าทุ่งนาสร้างอยู่) ข้ามแม่น้ำแควใหญ่เรียบร้อยก็มาพักรวบรวมพลอยู่ที่แถว บ.ท่ามะนาว  ก่อนที่จะโยธาทัพไปยังเขาชนไก่ (land mark) ข้ามลำตะเพิน (พื้นที่ บ.วังด้ง) แล้วเข้าสู่สนามรบทุ่งลาดหญ้า 

บรรยายมายังกับตาเห็นและมีข้อมูลเต็มเพียบ  แท้จริงแล้วเป็นมโนของผมที่ฝังอยู่ในใจมานานแล้ว เป็นภาพที่เกิดขึ้นในใจของผมจากการที่ผมสำรวจอยู่ในพื้นที่นี้หลายปี เป็นภาพที่ผมมโนว่า หากตัวผมเป็นนายทหารที่ต้องโยธาทัพมาลุยกับกองทัพไทย ผมจะใช้เส้นทางใด เนื่องจากมีทั้งช้าง ทั้งม้า ทั้งไพร่พลกำลังคน จึงจำเป็นจะต้องมีแหล่งน้ำที่พอเพียง และระยะทางที่จะต้องไม่ไกลเกินไปกว่าที่ช้างและม้าจะอดน้ำได้ รวมทั้งจะต้องมีแหล่งอาหารทั้งสำหรับคนและสัตว์ที่ใช้ในการโยธาทัพครั้งนั้น

ผมทราบว่า มีบันทึกเรื่องราวมากมายเกี่ยวกับการรบที่ทุ่งลาดหญ้านี้ จึงขอความกรุณาจากท่านผู้รู้และที่สันทัดกรณีทั้งหลายได้ช่วยกรุณาเล่าเรื่องที่ถูกต้องด้วยครับ
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 24  เมื่อ 10 ส.ค. 15, 18:42

จากนั้นก็ไปถึงปากห้วยตาม่องล่าย (ห้วยน้ำตกเอราวัณ)  เลยจากบริเวณนี้ไปไม่ไกล เส้นทางรถไป อ.ศรีสวัสดิ์ ก็จะหักขวาขึ้นเขาตับเต่า ก็สูงชัน สลับซับซ้อน น่ากลัวดี   ทุกวันนี้ก็ยังมีอุบัติเหตุรถแหกโค้งและตกเขาอยู่เสมอๆ     ส่วนเส้นทางเรือก็จะเข้าสู่บ้านเจ้าเณร บ.ม่องคอย บ.หม่องกะแทะ ? บ้านเรือนก็จะเว้นระยะอยู่ห่างกันออกไปมากขึ้น ผ่านปากห้วยแม่ละมุ่นทางขวามือ แล้วก็เข้าสู่เขต อ.ศรีสวัสดิ์

จำไม่ได้แล้วครับว่าเรือต้องผ่านกี่แก่ง จำได้แต่ชื่อแก่งรูแย้ เท่านั้นครับ   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 25  เมื่อ 10 ส.ค. 15, 19:05

อีกพักใหญ่ๆก็ บ.ท่าสนุ่น (อ.ศรีสวัสดิ์) ซึ่งก็เป็น outpost ที่สำคัญอีกหนึ่งสถานที่ (โดยเฉพาะเพื่อการข่าวในสมัยช่วงต่อระหว่างอยุธยาตอนปลายกับรัตนโกสินทร์ตอนต้น) เพราะว่าเหนือจากพื้นที่นี้ขึ้นไป ก็เกือบจะกล่าวได้ว่าจะไม่มีผู้ใดเดินลัดจากแม่น้ำแควน้อยมายังแม่น้ำแควใหญ่
 
เส้นทางเชื่องระหว่าแควใหญ่กับแควน้อยที่ออกจาก อ.ศรีสวัสดิ์ คือ เดินทางขึ้นช่องเขาที่ช่องแคบ แล้วก็เดินในพื้นที่ค่อนข้างราบไปอีกสักสองสามชั่วโมง ก็จะข้ามช่องเขาลงไปยังแอ่งกะทะ (หรือหุบเขา) ที่เรียกว่า หนันยะ (แหล่งผลิตโลหะเงินเก่า) เดินไปทางทิศเหนือสักพักก็ตัดลงเขาไปตามห้วยดิโส ก็จะลงสู่แม่น้ำแควน้อย
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 26  เมื่อ 10 ส.ค. 15, 19:18

นั่งเรือจาก บ.ลาดหญ้า ถึง อ.ศรีสวัสดิ์ ก็ใช้เวลาไปครึ่งค่อนวันแล้วครับ   

ช่วงระยะต่อจากศรีสวัสดิ์ขึ้นไปจนไปถึง บ.นาสวนนั้น จะกล่าวว่าไม่มีผู้คนออกมาหักล้างถางพงทำมาหากินก็คงพอจะได้ครับ 
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 27  เมื่อ 10 ส.ค. 15, 19:49

ใกล้จะถึงปากลำห้วยขาแข้งแล้วครับ  แต่ก็จะของเว้นวรรคนิดเดียวเพื่อไปขยายความเรื่องเรือหางที่วิ่งในแควใหญ่นี้ในสมัยโน้น

กติกาสำคัญแรกๆของชาวเรือทั้งในแควใหญ่และแควน้อย ก็คือ เรือขาขึ้นให้กอดโค้งด้านใน (ชิดชายหาด) ส่วนเรือขาล่องนั้นให้ตีโค้งในวงกว้าง    สำหรับกรณีลำน้ำทางตรงให้วิ่งชิดขวา - แซงซ้าย (ซึ่งเป็นกติกาสากลตามปรกติ) 

กติกาสำคัญสำหรับผู้โดยสาร คือ หากไม่รู้จักเส้นทาง ก็ให้นั่งนิ่งๆไม่ต้องโยกตัวในลักษณะเป็นการขืนเรือเมื่อเรือเอียง และไม่ต้องโยกตัวเพื่อช่วยเอียงเรือเมื่อเรือเข้าโค้ง
บันทึกการเข้า
Jalito
องคต
*****
ตอบ: 478


ความคิดเห็นที่ 28  เมื่อ 10 ส.ค. 15, 21:05

เปิดแผนที่ภูมิประเทศของกรมแผนที่ทหาร พบว่าน้ำตกเอราวัณอยู่ด้านใต้ Srinakharin Dam 5 กม.วัดตามลำน้ำแควใหญ่ คือตอนแรกคิดว่าตัวน้ำตกจมอยู่ในอ่างไปแล้ว เพราะไม่ค่อยมีใครพูดถึงน้ำตกนี้เท่าไหร่  ส่วนปากห้วยขาแข้ง เหนือบ้านนาสวน มองว่าจมอยูใต้อ่างไปแล้ว อันนี้ดูจากแผนที่น่ะครับ
บันทึกการเข้า
puyum
พาลี
****
ตอบ: 245


ความคิดเห็นที่ 29  เมื่อ 10 ส.ค. 15, 21:52

ติดตามมาถึงตอนนี้ก็เริ่มมึนๆแล้วครับ คงเมาเรือที่วิ่งผ่านเกาะแก่งมามาก
จะให้ดี ใครช่วยหาแผนทีมาแปะให้ด้วยคงดีขึ้น จะได้มีแรงตามตอนขึ้นฝั่งครับ
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 [2] 3 4 ... 49
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.085 วินาที กับ 19 คำสั่ง