เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 8 9 [10] 11 12 ... 49
  พิมพ์  
อ่าน: 70729 ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 135  เมื่อ 14 ก.ย. 15, 19:11

เรื่องกัญชา แล้วก็มาเรื่องยาฝิ่น

กัญชาและฝิ่นถูกจัดว่าเป็นยาเสพติด ซึ่งแม้อาการเมื่อขาดยาจะมีความรุนแรงต่างกัน แต่ทั้งคู่ก็ทำให้เกิดสภาพจิตใจและการกระทำในด้านไม่ดีได้พอๆกัน   หากพวกชาวบ้านซึ่งสูบกัญชาและฝิ่น ไม่สามารถหาซื้อได้จะด้วยสาเหตุใดก็ตาม พื้นที่นี้คงน่ากลัวเอาทีเดียว

พอเดินทำงานจริงๆ ก็ไม่เห็นคนที่ติดฝิ่นและกัญชาอย่างจริงจังจริงๆเลย ได้สัมผัสแต่สภาพว่า หากมีก็ต้องขอให้ได้เสพ หากไม่มีก็แล้วไป การเสพในพื้นที่นี้มีแต่แบบสูบหมูและตีกล้อง ไม่มีแบบทิ้งดิ่งหรือฉีดเข้าเส้นดังที่ผมเคยเห็นในพื้นที่แควน้อย
 
อ้าว..แล้วมันเป็นไปได้อย่างไรที่ไม่มีคนติดฝิ่นหรือกัญชาอย่างจริงๆจังๆ  คุณหมอทั้งหลายจะทราบเรื่องนี้ดีครับ มันเกี่ยวกับ curative medicine ที่เป็นยาสามัญที่สามารถซื้อขายได้ในช่วงเวลานั้น และเกี่ยวกับอาการติดยาที่เกิดจากทางสองแพร่ง (clinical dilemmas ??)   

กราบขออภัยคุณหมอทุกๆท่านครับ ที่ได้อุตริข้ามไปใช้ศัพท์ทางการแพทย์  ผมมิได้มีความรู้ลึกซึ้งใดๆกับคำศัพท์ทั้งสองนี้  เพียงแต่ต้องการจะสื่อว่าอะไรมันเป็นอะไรที่ผมมิอาจจะสาธยายได้   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 136  เมื่อ 14 ก.ย. 15, 20:02

เพื่อเป็นองค์ความรู้ในส่วนที่คงจะมีน้อยคนได้สัมผัสของจริง จึงจะขอเติมให้กับสมาชิกทุกท่านครับ  และซึ่งก็เนื่องจากมันเป็นเรื่องในอดีตที่ไม่สามารถกระทำกันได้ในปัจจุบันอีกแล้ว 

สมัยนั้น ค่าแรงงานต่อวัน คือ 20 บาท   ฝิ่น 1 ตัวราคา 5-15 บาท     
ฝิ่น 1 ตัว มาจากการเอาฝิ่นน้ำหนัก 1 ตำลึง ก็ขนาดประมาณก้อนสบู่ มาแบ่งออกเป็น 4 ส่วน คือสี่กั๊ก แต่ละกั๊กก็จะแบ่งปั้นออกมาได้เป็น 15 ตัว (เม็ดขนาดประมาณถั่วดำ)  ต้นทุนในพื้นที่ชายเขาเขต อ.บ้านไร่ อุทัยธานี ก็ตำลึงละ 180 บาท เอามาแบ่งเป็นตัวได้ 60 ตัว ขายตัวละ 5-15 บาท ได้กำไร ??  เห็นใหมครับว่าก็จึงต้องมีคนค้ายาแน่นอน

แล้วทำไมต้นทางจึงต้องที่ อ.บ้านไร่  ก็เพราะบนถนนพหลโยธินที่ บ.สลกบาตร อ.ขาณุวรลักษณ์ มีด่านถาวรทำการตรวจเข้ม เส้นทางเดินฝิ่นก็เลยต้องหลบไปอยู่ชายเขาทางตะวันตก (ตั้งแต่เขต จ.ตาก กำแพงเพชร นครสวรรค์ ผ่านอ่างทอง สุพรรณบุรี และกาญจนบุรี ต่อไปได้ถึงราชบุรี เพชรบุรี ประจวบฯ...)

เมื่อผนวกกับเรื่องการเข้าสูพื้นที่และการเดินทางในพื้นที่ดังที่ผมเล่าในกระทู้นี้  ก็จะเห็นว่าการปราบปรามของทางราชการมีข้อจำกัดอย่างมากจริงๆ   
บันทึกการเข้า
Anna
องคต
*****
ตอบ: 552


ความคิดเห็นที่ 137  เมื่อ 14 ก.ย. 15, 20:05

อาจารย์คะ กระทู้นี้ท่าจะไม่สั้นดังที่อาจารย์เกริ่นไว้ซะแล้วซีคะ เพราะพออ่านๆไปคำถามก็ผุดขึ้นมาเป็นระยะ มีเรื่องอยากจะรู้ อยากจะถามอีกเพียบบบบ ยิงฟันยิ้ม  แต่ที่ยังไม่ถาม เพราะเกรงจะเป็นขัดจังหวะการเล่า  
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 138  เมื่อ 14 ก.ย. 15, 21:00

ครับ  เดิมก็ว่าจะเป็นเรื่องของ ธรรมชาติกับสายลมและแสงแดด  เขียนไปๆก็เห็นว่า มีเรื่องที่ผู้คนรุ่นหลังน่าจะได้รับรู้กันว่า ก่อนจะเป็นรูปธรรมและนามธรรมที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบันนี้ มันมีสภาพและเรื่องราวต่างๆเกี่ยวกับตัวมันอย่างไร

อยากจะทราบเรื่องใดเพิ่มเติมก็ถามมาเลยครับ  แต่ก็จะขออนุญาตไม่ลงลึกหรือไม่ตอบในเชิงของรายละเอียดในบางเรื่อง เพราะไม่แน่ใจว่ามันจะเป็นอันตรายในมุมกลับที่มีผลกระทบต่อสังคมหรือไม่
บันทึกการเข้า
Anna
องคต
*****
ตอบ: 552


ความคิดเห็นที่ 139  เมื่อ 15 ก.ย. 15, 15:37

ฝูงค่างที่หดหายไปครั้งละหลายตัว ก็มาจากเสียงของชะนีร้องผิดเวลานี้แหละครับ    คงจะขยายความในภายหลังนะครับ

ฝูงลิงก็ทำให้ชะนีร้องเหมือนกันครับ  แต่ดูเหมือนว่าชะนีจะรีบหนีไปให้ไกลเสียโดยเร็ว ก็คงจะเพาะฝูงลิงมากันครั้งละเป็นสิบๆ จึงมีความอันตรายที่จะอยู่ใกล้ๆ  (ชะนีนั้น นิยมอยู่เดี่ยวๆ แต่ในก็มีความเป็นกลุ่มในพื้นที่เดียวกัน)

คิดว่าอาจารย์คงจะลืมไปแล้ว เลยมาเตือนน่ะค่ะ ว่ายังไม่ได้ขยายความตรงนี้เลยค่ะ  ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 140  เมื่อ 15 ก.ย. 15, 18:56

ไม่ลืมหรอกครับ ก็ว่าจะไปเล่าเอาตอนทำงานในขาแข้งตอนเหนือและในป่าแม่วงก์   เพราะว่าจะมีค่างอาศัยอยู่ค่อนข้างมากในพื้นที่นั้น (โดยเฉพาะในป่าแม่วงก์)  ก็เลยขอขยายความเสียเลยดังนี้ครับ

ก็อาจจะมีความสงสัยว่าด้วยเหตุใดจึงมีค่างเยอะในพื้นที่นั้น    ข้อสังเกตเปรียบเทียบของผมก็คือ มีลักษณะของผืนป่าที่แตกต่างกัน  ป่าในพื้นที่ช่วงล่างของห้วยขาแข้งหนักไปทางแห้งและแล้ง เป็นป่าที่มีหินปูนรองรับอยู่ ดินจึงเป็นพวกอุดมไปด้วยธาตุแคลเซียม (บวกกับแมกนีเซียม) ต้นไม้ที่ขึ้นเป็นพวกรากตื้น แม้จะมีต้นไม้เกิดอย่างหนาแน่นแต่ทรงพุ่มของเรือนยอดไม่กว้างมาก จึงเป็นป่าแบบป่าโปร่ง แสงแดดสามารถส่องลงถึงพื้นดินได้      ในขณะที่ห้วยขาแข้งส่วนบนหรือส่วนต้นห้วยเป็นป่าที่รองรับด้วยหินตะกอนหลายชนิด ทำให้ได้ดินที่มีแร่ดิน (clay minerals) หลากหลาย ผืนดินจึงอุดมไปด้วยแร่ธาตุและมีความชุ่มชื้นสูง (จากความสามารถของแร่ดินสองสามชนิดที่มีความสามารถในการจับธาตุที่มีประโยชน์ไว้กับตัว และอุ้มน้ำไว้จนทำให้มันบวมพองตัวได้)  จึงเป็นป่าแบบมีไม้ใหญ่ทรงชะลูดที่หนาแน่นที่มีทรงพุ่มของเรือนยอดกว้างและซ้อนกันไปมา แดดส่องลงมาถึงพื้นดินได้ค่อนข้างน้อย   ใบไม้เยอะ ยอดไม้เยอะ แถมมีลูกไม้เยอะ จึงทำให้ค่างซึ่งเป็นสัตว์ที่ค่อนข้างจะเลือกอาหารและนิยมกินใบอ่อน ยอดไม้ และผล มารวมอยู่กันเยอะ มีหลายฝูงมากๆเลยครับ 
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 141  เมื่อ 15 ก.ย. 15, 19:17

ค่างอยู่กันเป็นฝูง แต่ละฝูงมีมากกว่า 10 ตัว  ไม่ค่อยจะนิยมย้ายพื้นที่หากินมากนัก คือ วนเวียนกลับมาหากินในพื้นที่เดิม เมื่อใดที่มีผลไม้สุกก็จะปักหลักอยู่กินกันจนพื้นที่นั้นคละคลุ้งไปด้วยกลิ่นมูลของมัน ก็ให้บังเอิญที่ลูกไม้หลายๆอย่างที่มันชอบมักจะอยู่ในหุบห้วย โดยเฉพาะมีลูกไม้อย่างหนึ่งที่มันชอบมาก ก็คือ ลูกของต้นร่มม้า  เราจึงไม่ค่อยพบค่างในป่าที่แห้งและในพื้นที่ๆเป็นสันเขา 
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 142  เมื่อ 15 ก.ย. 15, 19:52

นั่นคืออุปนิสัยของค่าง   คราวนี้มาดูเรื่องของคน

ชาวบ้านไทยแต่โบราณมีความเชื่อกันอย่างหนึ่งว่า ยาอายุวัฒนะที่หาได้ยากยิ่งอย่างหนึ่งนั้นก็คือ ส่วนผสมของกระเพาะค่างเดือนห้า กระเพาะเม่น และอีกกระเพาะหนึ่ง (จำไม่ได้ นึกไม่ออกแล้วครับ คิดว่าเป็นของตัวนิ่มหรือตังอ้น ??)   

ก็ด้วยเหตุผลว่า ค่างเดือนห้าจะไม่ลงดิน จะกินแต่ยอดไม้ ก็ว่าทุกยอดของแต่ละต้นไม้นั้นล้วนเป็นยาทั้งนั้น    ส่วนเม่นนั้น ก็จะกินแต่รากไม้ ก็ว่ารากของแต่ละชนิดต้นไม้นั้นล้วนแต่เป็นยาทั้งนั้น

สำหรับค่างนั้น พบกันอยู่สองชนิด คือ ค่างเทา กับ ค่างแว่น 
และซึ่งเม่นนั้นก็พบอยู่สองชนิดเช่นกัน คือ เม่นใหญ่ (ต้วใหญ่ ขนกลมยาว) กับเม่นหางพวง (กะเหรี่ยงเรียกว่า ชะบา ตัวเล็ก ขนออกไปทางแบนและมีขนแข็งที่หาง)
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 143  เมื่อ 15 ก.ย. 15, 20:05

ตำรายาอายุวัฒนะของคุณตั้งตรงกับของเจ้ายอดศึก

เจ้ายอดศึกเล่าถึงตำรับยาบำรุงร่างกายแบบไทใหญ่โบราณที่นำเอาส่วนประกอบสำคัญ ๔ อย่าง อันได้แก่ แสนดอก แสนหมาก แสนหัว แสนใบ มาประชุมรวมกันปรุงเป็นยาวิเศษซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

“แสนดอก” คือ “น้ำผึ้ง” เพราะผึ้งสะสมน้ำหวานจากดอกไม้เป็นแสนมารวบรวมไว้

“แสนหมาก” หมายถึง “อีก้าง” อีก้างเป็นลิงชนิดหนึ่งกินผลไม้นานานับแสนชนิดซะทั่วป่า ทางไทยเรียกว่า “ค่าง” คนไทใหญ่จะใช้กระเพาะค่างมาตากแห้งบดให้เป็นผงไว้ผสมตัวยา

“แสนหัว” หมายถึงตัว “เม่น” ที่มีขนแหลม ๆ ทิ่มฉึกใส่เด็กเมื่อไหร่เป็นอันร้องไห้แง บางทีสาว ๆ เคย ใช้ขนเม่นทำปิ่นปักมวยผมก็มี เจ้ายอดศึกบอกว่าที่เรียกแสนหัวก็เพราะตัวเม่นจะคอยขุดหาคุ้ยกินรากไม้หัวไม้นานาสารพัด นี่ก็ใช้กระเพาะเม่นตากแห้งบดเป็นผงเช่นกัน

อย่างสุดท้ายคือ “แสนใบ” อันหมายถึงตัวเยิงที่เจ้ายอดศึกอธิบายว่า หมายถึงแพะป่า แพะภูเขา เมื่อมาสืบเสาะจากทางไทยแล้ว คนไทยภาคกลางโบราณและไทยภาคใต้มีตัว “เยือง” อันหมายถึงตัว “เลียงผา” ซึ่งก็คือสัตว์ชนิดเดียวกับตัวเยิงของไทใหญ่ เจ้ายอดศึกบอกว่าคนไทใหญ่แต่โบราณจะใช้กระเพาะตัวเยิงตากแห้งบดเป็นผง และนำสี่ส่วนประกอบนี้มาผสมให้เข้ากันแล้วปั้นเป็นก้อนยาลูกกลอน โดยมีแสนดอก (น้ำผึ้ง) ทำหน้าที่เป็นน้ำน้อก (น้ำผสม) ใช้กินบำรุงร่างกาย แก้โรคภัยไข้เจ็บได้หลากหลายนานา ทั้งยังใช้บำรุงปอดแก้โรคปอด บำรุงตับแก้โรคตับ แก้คัน บำรุง เลือด บำรุงร่างกาย ชะลอความแก่ และเจ้ายังบอกด้วยว่าถ้าไม่ทำเป็นยาลูกกลอนจะใช้แสนหมาก แสนหัว แสนใบผสมกันดองในแสนดอก (น้ำผึ้ง) ตากแดดกินก็ได้ คนโบราณไทใหญ่เรียกยาสูตรนี้ว่า “หญ้าแสนยา” ฟังดูแล้วเหมือนจะเป็นยาครอบจักรวาลเลยก็ว่าได้ เพราะเจ้าบอกว่าที่ได้ชื่อนี้มาเนื่องจาก “โรคทุกชนิดแสนโรค จะป่วยเจ็บอย่างไร ยาตัวนี้รักษาให้หายได้”

ตอนหนึ่งจาก อยู่ไม่(ยอม)ตายอย่างไทใหญ่ โดย นิพัทธ์พร เพ็งแก้ว
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 144  เมื่อ 15 ก.ย. 15, 20:41

เรื่องของกระเพาะสัตว์ที่เล่ามานั้น ก็พอรับได้ว่าพอมีเหตุผลที่จะรับฟังได้   แต่พอมาถึงเรื่องที่ว่า ค่างทั้งตัวนั้นเป็นยา (เช่นเดียวกับสัตว์อีกหลากหลายชนิดที่เราได้รู้ได้เห็นกัน) ซึ่งหลายท่านคงจะเห็นว่ามันก็ออกจะมากไปหน่อยแล้วนั้น   ในชีวิตจริงๆนั้นมันมีความเชื่อไปถึงระดับที่ว่า แม้กระทั่งอุจจาระของค่างก็ยังเป็นยาวิเศษ  

แกงค่างก็ต้องใส่ขี้ค่าง แล้วก็ต้องกินด้วยมือ ก็เพื่อว่า หลังจากล้างมือหลังกินข้าวแล้วก็ยังสามารถเอามือขึ้นมาดมกลิ่นหอมของขี้ค่างได้   ผมใช้คำว่ากลิ่นหอมของขี้ค่าง ครับก็เป็นดังนั้นจริงๆ      มื้อแรก (หากรู้) ก็จะกระดากปากกระดากมือพิลึก แต่หากไม่รู้ก็อาจจะ enjoy ได้เลย และมื้อหลังๆต่อมา ก็อาจต้องถามว่าใส่ขี้ค่างด้วยหรือเปล่า
    
ที่เล่ามานี้เป็นเรื่องจริงครับ ลองสอบถามผู้เฒ่าผู้แก่ทั้งหลายที่อยู่ตลอดแนวพื้นที่ติดชายเขาด้านตะวันตกของไทยตั้งแต่นครสวรรค์ไปจนถึงกาญจนบุรีได้  

ครับหุบร่มม้าที่มีกลิ่นขี้ค่างจึงหอมตลบอบอวน ดึงดูดให้คนเข้าไปจัดการเอามันมาเป็นอาหารและยาอายุวัฒนะ  

ค่างก็เลยถูกตั้งใจตามล่ามากกว่าสัตว์อื่นๆอีกหลายชนิด  
บันทึกการเข้า
PATAMA.M
อสุรผัด
*
ตอบ: 11


ความคิดเห็นที่ 145  เมื่อ 17 ก.ย. 15, 10:37


ผีกองกอย ซึ่งเป็นผีป่าที่เชื่อกันว่า จะดูดเลือดจากหัวแม่เท้าของผู้ที่สัญจรในป่าในเวลานอนหลับ มีรูปร่างคล้ายลิง ก็คือ ค่างที่แก่และไม่สามารถขึ้นต้นไม้ได้นั่นเอง ซึ่งค่างเหล่านี้มักมีร่างกายที่อ้วนแผละและมีเขี้ยวโง้งออกจากปากเห็นได้ชัดเจน ทำให้มีหน้าตาที่น่าเกลียดน่ากลัว


ในแถบป่านี้มีมั้ยคะ หรือเป็นเรื่องเล่าสู่กันฟัง  ยิ้มกว้างๆ

บันทึกการเข้า
Arpharazon
อสุรผัด
*
ตอบ: 2


ความคิดเห็นที่ 146  เมื่อ 17 ก.ย. 15, 14:16

...ติดตามอย่างสนใจครับอาจารย์...
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 147  เมื่อ 17 ก.ย. 15, 18:08

เมื่อวานนี้ผมไปงานครับ เลยไม่ได้เขียนอะไร    วันนี้ขอต่อเรื่องเดิมก่อนนะครับ แล้วจึงจะไปเรื่องค่างกับผีกองกอย
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 148  เมื่อ 17 ก.ย. 15, 18:40

ค่างใช้ชีวิตอยู่บนต้นไม้เกือบตลอดเวลา เกือบจะไม่ลงดินเลย  เมื่อเห็นสิ่งที่อาจจะเป็นอันตรายเดินผ่านมา ค่างจะใช้วิธีนั่งแอบอยู่บนง่ามกิ่งไม้ (และกอดต้นไม้ไว้) โดยเฉพาะ ณ จุดที่มีใบไม้บังสายตาระหว่างตัวค่างกับสิ่งอันตรายที่เดินผ่านมา    เมื่อใดที่ได้เกิดการสบตากันขึ้น ค่างก็จะรีบกระโดดไปแอบหลบ ณ อีกที่แห่งหนึ่ง ซึ่งอาจจะเป็นต้นไม้เดียวกัน หรือไปอีกต้นไม้หนึ่งหรืออีกสองสามต้นก็ได้   

เท่าที่เคยเห็นมาในป่านะครับ   เมื่อต้องหนีภัย  ลิงจะใช้วิธีวิ่งไต่ไปบนกิ่งไม้ ใช้วิธีกระโดดจากกิ่งหนึ่งไปยังอีกกิ่งหนึ่ง และใช้วิธีรูดตัวลงพื้นดิน และวิ่งมุดตัวไปใต้พุ่มไม้ที่รกรุงรัง  ชะนีจะใช้วิธีห้อยโหนกิ่งไม้ แกว่งโยนตัวไปตามกิ่งไม้ต่างๆ     ค่างจะใช้วิธีไต่ขึ้นที่สูงแล้วกระโดดไปยังกิ่งไม้อื่นๆและระหว่างต้นไม้ต่างๆ

วิธีการหนีภัยของสัตว์เหล่านี้  ได้กลายเป็นจุดอ่อนที่ใช้ในการตามล่าของคน
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 149  เมื่อ 17 ก.ย. 15, 19:09

คงพอจะเห็นภาพแล้วนะครับว่า ด้วยเหตุใดจึงได้ลูกของมันมาเลี้ยงมาขายกัน   

การยิงสัตว์เหล่านี้ ชาวบ้านพรานไพรจะใช้ปืนลูกซอง (twelve gauge rifle) และใช้ลูกปราย (เช่น เบอร์ 4 , SG) ไม่มีการใช้ปืนลูกเดี่ยว (ปืนยาวยิงครั้งละนัด)  ทั้งนี้เพราะจะเป็นการยิงในขณะที่มันกำลังห้อยโหนกระโดดข้ามต้นไม้แต่ละต้น คือยิงขณะมันลอยอยู่กลางอากาศ เม็ดลูกปืนเป็นสิบเป็นร้อยเม็ดแผ่กระจายอยู่ พลาดยาก เหี้ยมนะครับ แล้วก็ไม่รู้หรอกว่ามันมีลูกเกาะติดอกอยู่หรือไม่    ผมรู้สึกสลดหดหู่ใจอย่างมากกับเรื่องนี้ เคยเห็นทั้งแบบตายทั้งแม่ทั้งลูก แม่ตายก่อนแล้วลูกจึงค่อยๆตายตามเพราะทนบาดแผลไม่ไหว แม่ตายลูกรอดแต่ก็ถูกหมาที่ตามมากัดตายทีหลัง

สองจิตสองใจว่าจะเขียนเรื่องเหล่านี้ในกระทู้นี้ดีหรือไม่  แต่ก็คิดว่า เพื่อเป็นองค์ความรู้ของคนรุ่นหลังว่าแต่เก่าก่อนนั้นอะไรมันเป็นอะไรกันมาบ้าง   

บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 8 9 [10] 11 12 ... 49
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.054 วินาที กับ 19 คำสั่ง