เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 6 7 [8] 9 10 ... 49
  พิมพ์  
อ่าน: 70756 ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15
Anna
องคต
*****
ตอบ: 552


ความคิดเห็นที่ 105  เมื่อ 07 ก.ย. 15, 20:09

กลับลงมาที่พื้นที่ตั้งแคมป์   ต่างคนก็ไปสาละวนอยู่กับการกางเต็นท์ของตนเอง จัดถุงนอน ผ้าห่ม ฯลฯ จัดให้พอนอนข้ามคืนแรกไปได้   สำหรับพื้นที่ส่วนกลางก็ใช้วิธีเอาผ้าใบปูเพื่อใช้วางสิ่งของ นั่งล้อมวงกินข้าว และนั่งพูดคุยหารือกัน    หาขอนไม้แห้งแล้วจุดให้เป็นกองไฟสำหรับความอบอุ่นในยามค่ำคืนและหุงหาอาหาร    จุดตะเกียงเจ้าพายุ   จุดตะเกียงรั้ว (เอาไปแขวนที่ชายเขตบริเวณที่ตั้งแคมป์) 

ดูวุ่นวายดีนะครับ   สาละวนช่วยกันในเรื่องส่วนรวม เจียดเวลาเท่าที่จะพอมีไปจัดการเรื่องส่วนตน

ติดตามมาตั้งแต่ต้น ขอสารภาพว่าอ่านข้ามๆในช่วงที่อาจารย์เอ่ยถึงเรื่องพิกัด แผนที่ มาตราส่วนอะไรพวกนี้ เพราะไม่เข้าใจค่ะ แต่ชอบฟังอาจารย์เล่าเรื่องการดำเนินชีวิตในป่า เหมือนกำลังฟังนิทานผจญภัยเลยค่ะ
แล้วเรื่องน้ำดื่มล่ะคะ ที่ถามเพราะไม่เชื่อว่าน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติจะสะอาดพอที่จะดื่มได้ เหมือนอย่างในหนัง ตัวละครที่เป็นชาวกรุงไปเดินป่า แล้ววักน้ำจากลำธารขึ้นมาดื่ม คนไม่เคยดื่มน้ำแบบนั้น มิท้องเสียหรือคะ ถ้าเป็นชาวป่าก็แล้วไป เพราะเข้าใจว่าเคยชินมาตั้งแต่เกิด
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 106  เมื่อ 07 ก.ย. 15, 20:30

เช้าวันรุ่งขึ้น หัวหน้าใหญ่เห็นว่า นำคณะผมมาส่งถึงที่แล้ว ทุกอย่างน่าจะ OK ผมน่าจะลุยต่อไปได้  ก็เลยเอาเรือกลับไปเมืองกาญจน์เพื่อไปนำอีกหน่วยหนึ่งเข้าไปสู่พื้นที่ น่าจะเป็นแถบพื้นที่รอยต่อ จ.นครสวรรค์ พิจิตร เพชรบูรณ์  บอกว่าอีกประมาณ 15 วันจะมารับ  

สนุกละครับ รู้อยู่แต่ต้นแล้วว่าสภาพการณ์จะเป็นเช่นนี้ แต่ผมและคณะก็มิได้คิดว่าจะเกิดได้เร็วปานนี้  หนักไปกว่านั้นครับ เมื่อกลับมาอีกรอบหนึ่ง คณะของผมเหลือคนที่มาจากกรมฯรวม 3 คนเท่านั้น  
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 107  เมื่อ 08 ก.ย. 15, 18:58

เรื่องน้ำดื่มนี้  ที่จริงได้เขียนลงไปแล้วว่า หลังจากก่อกองไฟได้ สิ่งแรกที่ทำก็คือต้มน้ำครับ แต่ก็ลบข้อความนี้ออก เพราะคิดว่าเรื่องน้ำกินน้ำใช้นั้นคงจะเล่าแทรกไป  แต่ก็ดีครับ แล้วก็ดีใจอีกด้วยที่ให้ความสนใจกับเรื่องในรายละเอียดเล็กๆน้อยๆ   

เดิมนั้นก็คิดว่าจะกล่าวถึงแต่เพียงความมีชีวิตชีวาของพื้นที่เท่านั้น    คุณ Anna ได้กระตุกให้ผมคิดได้ว่า คงจะต้องเล่าถึงลึกลงไปถึงรายละเอียดในบางเรื่องว่า จะทำอย่างไรและควรทำอย่างไร   

ครับผม ผมก็คงจะต้องขออนุญาตขยายขอบเขตของเรื่องราว โดยจะเล่าครอบคลุมไปถึงเรื่องของ survival ในบางเรื่องด้วย
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 108  เมื่อ 09 ก.ย. 15, 19:23

ท่านที่เรียนจบมาในสาขาเคมีจะทราบดีว่า ด้วยลักษณะการจับตัวกันของไฮโดรเจนกับอ็อกซิเจนที่มีลักษณะจำเพาะ  ได้ทำให้น้ำมีคุณสมบัติเป็นตัวทำละลาย (solvent) ของธรรมชาติที่ดีที่สุด โดยเฉพาะปฏิกริยากับสารประกอบทางอินทรีย์เคมี   ทำให้สิ่งมีชีวิตทั้งหลายในโลกจึงต้องการน้ำในการดำรงชีวิต และน้ำก็เป็นบ้านของสิ่งมีชีวิตอีกหลากหลาย   นอกจากนั้น น้ำยังมีความสามารถในการอุ้มพาพลังรูปต่างๆของธรรมชาติ นำไปทำให้เกิดการทำลายหรือเกิดการสร้างสรรใดๆก็ได้ 

น้ำที่เราพบในธรรมชาติทั้งหลายที่ไหลซึมออกมาจากพื้นที่ป่าดงจนรวมตัวกันกลายเป็นห้วยและแม่น้ำลำคลองทั้งหลายนั้น จึงมิใช่น้ำบริสุทธิ์ มีทั้งสารเคมีที่ละลายอยู่ในน้ำ ทั้งตะกอนแขวนลอย ตะกอนดินทราย และสิ่งมีชีวิตขนาดจุลชีพ   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 109  เมื่อ 09 ก.ย. 15, 19:43

จะทำอย่างไรดีครับ

เอาเรื่องง่ายก่อนนะครับ (แต่ดำเนินการทีหลัง)   หลักสำคัญก็คือ น้ำทั้งหลายที่จะผ่านคอลงไปยังกระเพาะของเรา จะต้องเป็นน้ำต้มสุกเท่านั้น และต้องเป็นแบบสุกๆด้วย (คือเดือดพล่านอย่างน้อยสองสามนาที) การต้มน้ำจะช่วยฆ่าหรือจำกัดการเจริญเติบโตของหลากหลายสิ่งมีชีวิตที่จะทำให้เราเจ็บป่วย

ในสมัยนั้น ได้มีอุปกรณ์ทำน้ำสอาดแบบพกพาแล้วนะครับ เป็นของทำจากเยอรมัน ลักษณะคร่าวๆก็คล้ายกับสูบจักรยานที่ใช้สูบน้ำแล้วอัดดันไปผ่านใส้กรองเซอรามิกส์ (ขนาดรูพรุนก็น่าจะอยู่แถวๆ 5-10 ไมครอน) เมื่อได้น้ำที่กรองได้มาแล้ว ก็เอาคลอรีนเม็ดใส่ลงไป   

คิดว่าพอจะไว้ใจในความสอาดและบริสุทธิ์ได้ใหมครับ??  ดื่มกินได้สนิทใจใหมครับ??
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 110  เมื่อ 09 ก.ย. 15, 20:23

สภาพจริงก็คือ กว่าจะกรองน้ำออกมาได้ 1 ลิตร ต้องใช้เวลาค่อนข้างนาน น้ำที่กรองออกมานั้นยังคงมีกลิ่นเหมือนเดิม แม้จะเบาบางกว่ามากก็ตาม  และที่อาจจะแย่ลงไปอีกก็คือ เมื่อกลิ่นนั้นได้ผสมกับกลิ่นของคลอรีนเม็ดที่ใส่ลงไป   

อีกเรื่องหนึ่ง ก็คือ เรื่องของใส้กรองตันบ่อยมากๆ 

ผมเลิกเบิกมาใช้หลังจากที่ได้ลองเมื่อครั้งสำรวจอยู่แถว บ.ผาจุก บ.ผาเลือด จ.อุตรดิตถ์    แล้วหันกลับมาใช้ความรู้จากวิชา Sedimentation ที่เรียนมาทั้งเทอม ผนวกกับภูมิปัญญาดั้งเดิมของคนไทย 
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 111  เมื่อ 09 ก.ย. 15, 20:54

ดังนี้ครับ

แต่ดั้งเดิมนั้น เราจะใช้วิธีตักน้ำใส่ตุ่ม ทิ้งไว้ให้ตกตะกอนจนใสแล้วจึงค่อยตักออกมาใช้  แต่หากต้องการใช้ค่อนข้างด่วน ก็จะใช้สารส้มกวนน้ำในตุ่ม น้ำก็จะใสเร็วขึ้น  คงเคยสังเกตนะครับว่า บรรดาบ้านเรือนคนไทยที่เป็นเรือนแพหรือตั้งอยู่บนตลิ่งริมน้ำจะมีตุ่มน้ำเสมอ ทั้งๆที่มีน้ำอยู่ใกล้ชิดติดตัว

ผมแบกตุ่มเข้าป่าไม่ได้ มีก้อนสารส้มก็ไม่มีตุ่มให้แกว่ง  จึงใช้ถังพลาสติกขนาด  20 ลิตร ตักน้ำเทใส่ลงไป ตั้งทิ้งไว้นิ่งๆประมาณครึ่งชั่วโมง แล้วจึงค่อยๆเทน้ำออกมาใสกาน้ำเอามาต้มเพื่อใช้ดื่ม  หรือเอาไปใช้ในการหุงข้าวและทำอาหาร 

น้ำในภาชนะที่ตั้งอยู่นิ่งๆประมาณ 20 นาที จะทำให้ตะกอนดินทรายขนาดประมาณ 5-10 ไมครอน (fine silt sized particle) ตกตะกอนลงไปจนเกือบหมด มีความใสจนเห็นได้ชัด  แต่ทั้งนี้ก็จะต้องเลือกตักน้ำจากจุดที่เหมาะสมด้วย เพราะว่าหากน้ำนั้นอุดมไปด้วยเศษพืช ความขุ่นก็จะยังคงอยู่
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 112  เมื่อ 10 ก.ย. 15, 17:50

ต้องขอแก้ตัวเลขนิดหน่อยนะครับ มัวแต่ปรับแต่งประโยคและทำให้พลาด  แก้เป็นดังนี้ครับ

น้ำในภาชนะที่ตั้งอยู่นิ่งๆประมาณ 20 นาทีนั้น จะทำให้ตะกอนขนาดประมาณ 20-30 ตกตะกอนไปจนเกือบจะหมด มีความใสจนเห็นได้ชัด เหลือเป็นตะกอนขนาดประมาณ 5-10 ไมครอนลอยอยู่ 

ก็ถือว่าเป็นน้ำที่พอนำมาใช้ได้ดื่มและทำอาหารได้อย่างดีแล้วครับ  ทั้งนี้ก็ต้องอย่าลืมว่า ต้องต้มให้เดือดสุดๆเสียก่อน
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 113  เมื่อ 10 ก.ย. 15, 18:27

สำหรับจุดที่เลือกตักน้ำมาใช้นั้น พิจารณาดังนี้ครับ

ควรตักจากบริเวณทึ่น้ำที่ไหลริน มิใช่ไหลกราก   น้ำไหลกรากมีพลังสูงจึงอุ้มตะกอนอยู่ในตัวไว้มากกว่าน้ำไหลรินที่มีพลังต่ำกว่า

หากเป็นแอ่งน้ำนิ่งหรือไหลซึม ก็ควรขุดบ่อทรายและใช้น้ำในบ่อทราย

หากน้ำหมดขณะเดินหรือหลงป่า  กรณีเป็นป่าใหญ่ที่มีไม้ยาง ไม้มะค่า ต้นไทร เหล่านี้ ก็พอจะหาน้ำกินได้จากเถาวัลย์น้ำ ซึ่งจะดื่มคาต้นก็ได้
หรือจะตัดให้ขาดเป็นท่อน (ขนากยาวประมาณ 1 ม.) ก็ได้  ทั้งนี้จะต้องตัดส่วนล่างก่อนจะตัดส่วนบน ได้น้ำไหลโจ๊กเลยครับ

แต่หากเป็นป่าโปร่ง  ก็จะต้องใช้วิธีขุดบ่อในท้องห้วย เลือกขุดด้านที่มีตลิ่งสูง และเลือกบริเวณเช่นที่มีต้นไผ่ขนาดใหญ่สมบูรณ์ หรือบริเวณที่เห็นต้นไม้บางชนิด เช่น ค้างคาวดำ ขนุนดิน เป็นต้น
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 114  เมื่อ 10 ก.ย. 15, 19:01

กลับมาต่อเรื่องที่ปากลำขาแข้ง

คืนแรกก็อีหลุกขลุกขลักไปตามเรื่อง กางเต็นท์นอนได้สำเร็จเพียงสองเต็นท์ ที่เหลือก็นอนรวมกันบนผืนผ้าใบโล่งโจ้ง รวมทั้งผมด้วย    เมื่อไฟขอนไม้มอดเมื่อประมาณตีสาม (เพราะน้ำค้างแรง)  ทุกคนก็เริ่มกระดุกกระดิกตัวเพราะความหนาวเย็น ไม่นานนักประมาณตีสี่กว่าๆ ก็มีคนเริ่มลุกนั่ง เริ่มลุกเดินไปติดไฟใหม่ เอากาน้ำตั้งเพื่อต้มน้ำ แล้วทุกคนก็ตื่นมา   ไม่มีกาแฟ มีแต่ใบชาใส่ลงไปในกาน้ำต้มมันเลย กลบกลิ่นน้ำดีครับ  หุงข้าวด้วยหม้อหูใช้วิธีแบบขัดแตะเช็ดน้ำ ทำให้ได้น้ำข้าวมาดื่มแทนกาแฟได้คนละแก้วครึ่งแก้ว ใส่เกลือทะเลเม็ดลงไปเล็กน้อยก็จะได้รสเค็มปะแล่มๆ อร่อยดีแถมมีวิตามินและเกลือแร่อีกด้วย     

พอเริ่มสว่างก็ได้มีโอกาสสัมผัสและสดชื่นกับอากาศเย็นๆ รู้สึกได้ถึงความสอาดแบบ non pollute จริงๆ 
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 115  เมื่อ 10 ก.ย. 15, 19:24

ด้วยว่าปากลำห้วยขาแข้งล้อมรอบไปด้วยทิวขุนเขาสูงตระหง่าน พอแสงแดดเริ่มฉายแสงรำไร  ก็เริ่มได้ยินเสียงชะนีส่งเสียงคุยกันดังก้องไปทั่ว ประมาณ 30 นาทีหรือน้อยกว่าก็เงียบสงบลง   พอแสงแดดเริ่มสว่างสดใส ก็เห็นนกแก้วบินเกาะกลุ่มกันเป็นฝูงจากป่าเขาฝั่งตรงกันข้าม  พร้อมเสียงร้องคุยกันจ้อกแจ้กจอแจ  ก็เห็นอยู่สองสามฝูงๆละประมาณ 10-20 ตัวครับ  บินไปในทิศทางเดียวกัน คือเข้าสู่พื้นที่ห้วยขาแข้ง ภาพนี้คงมิได้บอกอะไรมากไปกว่าการมีแหล่งอาหารที่สมบูรณ์ในป่าห้วยขาแข้ง   แล้วก็ยังมีเสียงที่สอดแทรกเข้ามาเป็นระยะๆ ก็คือเสียงของไก่ป่า   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 116  เมื่อ 11 ก.ย. 15, 19:22

เรื่องเกี่ยวกับสัตว์ต่างๆที่จะเล่าต่อจากนี้ไป  เป็นเรื่องผมที่ได้ประสบพบจริงในช่วงการทำงาน และเป็นความรอบรู้พื้นบ้านของชาวบ้าน ชาวป่าชาวดงและพรานไพร ที่ใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่ป่าดงพงไพร  ซึ่งคงจะมีความแตกต่างไปจากที่มีอยู่ในตำราต่างๆ
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 117  เมื่อ 11 ก.ย. 15, 19:49

ชะนี เป็นสัตว์ที่ส่งเสียงร้องโหยหวนในเวลาเช้า โดยเฉพาะในช่วงประมาณเวลาเริ่มแดดรำไร  เสียงของมันดังมาก ได้ยินเป็นระยะทางไกลมาก จากอีกฝั่งหุบเขาเลยทีเดียว
   
เสียงชะนีร้องในตอนเช้าเป็นเรื่องปรกติ แต่หากเป็นการร้องในช่วงเวลาอื่น โดยเฉพาะในช่วงสายแก่ๆหรือช่วงบ่ายอ่อนๆ  จะเป็นการบ่งบอกว่ากำลังพบกับเรื่องผิดปรกติ   หากเป็นเสียงร้องของชะนีเพียงตัวสองตัว ก็จะบ่งบอกว่าได้พบสัตว์อื่นเข้ามาในพื้นที่หากิน  แต่หากเป็นเสียงร้องของชะนีหลายๆตัว จะบ่งบอกถึงการถูกบุกรุก โดยเฉพาะจากฝูงค่างที่เข้ามาหากินในพื้นที่
 
ในพื้นที่ของห้วยขาแข้งตอนล่างไม่พบว่ามีชะนีมากนัก แต่จะมีมากในหุบเขาของแม่น้ำแควใหญ่  อีกพื้นที่หนึ่งที่พบชะนีมากได้แก่ในพื้นที่ของห้วยขาแข้งตอนเหนือและในป่าแม่วงก์
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 118  เมื่อ 11 ก.ย. 15, 20:32

ฝูงค่างที่หดหายไปครั้งละหลายตัว ก็มาจากเสียงของชะนีร้องผิดเวลานี้แหละครับ    คงจะขยายความในภายหลังนะครับ

ฝูงลิงก็ทำให้ชะนีร้องเหมือนกันครับ  แต่ดูเหมือนว่าชะนีจะรีบหนีไปให้ไกลเสียโดยเร็ว ก็คงจะเพาะฝูงลิงมากันครั้งละเป็นสิบๆ จึงมีความอันตรายที่จะอยู่ใกล้ๆ  (ชะนีนั้น นิยมอยู่เดี่ยวๆ แต่ในก็มีความเป็นกลุ่มในพื้นที่เดียวกัน)
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 119  เมื่อ 12 ก.ย. 15, 19:07

พอเรือที่เช่าเหมามาของหัวหน้าใหญ่ หันหัวออกจากที่พักมุ่งกลับเมืองกาญจน์  ผมและพรรพวกอีกสองสามคนก็ขึ้นบ้านชาวบ้านหลังเดี่ยวที่ตั้งอยู่ที่ปากลำขาแข้งหลังนั้น  ก็เพื่อทำความรู้จักซึ่งกันและกัน   ประกอบกับที่เป็นครั้งแรกในการเข้าพื้นที่ จึงต้องหาข้อมูลและเตรียมการในบางเรื่องสำหรับการเดินสำรวจในครั้งต่อๆไป ตลอดทั้งปีสำรวจ ในพื้นที่ตลอดลำห้วย
   เรื่องของข้อมูลก็มีอาทิ สภาพของห้วยและน้ำห้วย สภาพป่าและความทุรกันดารของมัน  ผู้คนและหมู่บ้าน เส้นทางการติดต่อกับโลกภายนอก (เมือง) และอันตรายมีเรื่องใดบ้าง
   เรื่องของการเตรียมการก็ตั้งอยู่บนข้อมูลที่ได้รับรู้ หลักๆก็คือ เรื่องของคนนำทางและคนงานรายวัน สัตว์ต่าง (ไว้ขนสัมภาระ) ที่จะต้องใช้ในช่วงการเดินสำรวจ และการแก้ปัญหาข้อจำกัดต่างๆที่มี   
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 6 7 [8] 9 10 ... 49
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.082 วินาที กับ 19 คำสั่ง