เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 51 52 [53] 54 55 ... 60
  พิมพ์  
อ่าน: 141852 พระองค์เจ้าปฤษฎางค์-ชีวิตลับที่ทรงเผยไม่ตลอด
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 780  เมื่อ 28 ส.ค. 15, 07:40

ท่านที่อ่านกระทู้มาถึงตอนนี้ ขอให้ได้รับความปรารถนาของท่านด้วยนะครับ ขอให้ถือความรู้ที่ได้อ่านมาเป็นภาษิตสอนใจ ให้เข้าใจในความไม่เที่ยงแท้ของทุกสรรพสิ่งในโลก และสามารถดำรงสติ ดำรงตน ให้มีความสุขความเจริญต่อไปในปกติชีวิต ซึ่งอยู่ภายใต้กฏพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง-ความไม่เที่ยงแท้แน่นอน ทุกขัง-ความเศร้าโศกเสียใจ ไม่พอใจ และอนัตตา-ควบคุมให้เกิดไม่ได้ ไม่ให้เกิดขึ้นก็ไม่ได้ เกิดแล้วให้อยู่ถาวรไม่ได้ หรือเกิดแล้วให้พ้นไปโดยเร็วก็ไม่ได้เช่นกัน


บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 781  เมื่อ 28 ส.ค. 15, 10:28

ในบั้นปลายชีวิตของพระองค์ท่าน มีข้อมูลหนึ่งกล่าวว่าท่านเสด็จไปประทับที่ญี่ปุ่น และสิ้นพระชนม์ที่นั่น

พระองค์ท่านก็ทรงผูกสัมพันธ์กับพระองค์เจ้ารพีฯ  หลังจากนั้นไม่นานก็เสด็จไปประทับที่ประเทศญี่ปุ่น  
และสิ้นพระชนม์ที่นั่นในปี พศ ๒๔๗๘ เมื่อมีพระชนมายุได้  ๘๔ ชันษา

เรียบเรียงจากต้นฉบับภาษาอังกฤษเว็บไซต์

http://www.geocities.ws/RainForest/Vines/8769/Prisdang.htm


ยังสงสัยอยู่ว่า ท่านเสด็จไปประทับที่ญี่ปุ่นได้อย่างไร ในเมื่ออัตคัดขัดสนทรัพย์ถึงเพียงนั้น  ฮืม
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 782  เมื่อ 28 ส.ค. 15, 10:41

ในข้อเขียนภาษาฝรั่งนี้  เรียกกรมหลวงราชบุรีฯ ว่า rebellious brother   ของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6
ท่านไปต่อต้านพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ยังไงแบบไหนกันคะ
มั่วรึเปล่า


บันทึกการเข้า
Anna
องคต
*****
ตอบ: 552


ความคิดเห็นที่ 783  เมื่อ 28 ส.ค. 15, 11:44

อ่านพบในหนังสือ 'ชีวิตเหมือนฝัน' ซึ่งเป็นประวัติของคุณหญิงมณี สิริวรสาร
คุณหญิงเล่าว่าเมื่อเล็กๆอาศัยอยู่ในตรอกวัดตะเคียน เพื่อนบ้านฝั่งตรงข้ามคือพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ซึ่งเป็นชายชราโดดเดี่ยว
บันทึกการเข้า
สาคร
อสุรผัด
*
ตอบ: 18


ความคิดเห็นที่ 784  เมื่อ 28 ส.ค. 15, 13:57

งานชิ้นหลังนี้พระองค์ท่านกลับเข้ารูปเข้ารอย
สมกับเป็นอดีตมหาเถระใหญ่ของลังกาจริงๆ ครับ
บันทึกการเข้า
hobo
พาลี
****
ตอบ: 324


ความคิดเห็นที่ 785  เมื่อ 28 ส.ค. 15, 14:11

จำได้ลางเลือนว่าพระยาอนุมานราชธนเคยไปเจอท่านที่ตำหนักกรมหลวงราชบุรี ส่วนที่กรมหลวงราชบุรีมีปัญหากับ ร.6 น่าจะเป็นเรื่องคดีพญาระกา ท่านตำหนิกรมหลวงราชบุรีว่าเป็นเหตุให้พระพุทธเจ้าหลวงมาด่วนสวรรคต นอกจากนี้ท่านยังว่ากรมหลวงราชบุรีเรื่องให้ท้ายศิษย์ และความเหลวแหลกทั้งเรื่องส่วนตัวและเรื่องบริหารราชการแผ่นดิน ผมเองอ่านแล้วยังงงๆ ว่ากรมหลวงราชบุรีเป็นอย่างไรกันแน่ครับ
บันทึกการเข้า
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 786  เมื่อ 28 ส.ค. 15, 19:45

เรื่องที่ว่า ในกรมราชบุรีฯ มีปัญหากับรัชกาลที่ ๖ น่าจะเป็นความเข้าใจผิดของท่านผู้บันทึก
สำหรับเรื่องคดีพญาระกา  ถ้าอ่านกันให้ตลอดจะเห็นว่า รัชกาลที่ ๖ ทรงพยายามที่จะนำเสด็จในกรมฯ เข้าเฝ้ารัชกาลที่ ๕ เพื่อขอพระราชทานอภัยโทษ  แต่ในกรมก็ไม่กล้าเฝ้าฯ จนเสด็จสวรรคต
นอกจากนั้นในประวัติต้นรัชกาลที่ ๖ ยังความในพระราชบันทึกว่า เมื่อรู้แน่แล้วว่า พระอาการรัชกาลที่ ๕ หนักมากคาดว่าจะไม่สามารถดำรงพระชนม์ชีพต่อไปได้  เสด็จในกรมหลวงนครไชยศรี
ได้ขอพระราชทานเรียกทหารมาจุกช่องล้อมวงตามพระราชประเพณี  เมื่อในกรมราชบุรีเห็นทหารมาล้อมพระราชวังดุสิต  ก็รีบเข้าเฝ้ากราบทูลว่า ในกรมนครไชยศรีจะเป็นกบฏ  เรื่องนี้เป็นเครื่องยืนยันว่า
เจ้านายพี่น้องสองพระองค์ต่างเป็นขมิ้นกับปูน  แต่ในขณะเดียวกันก็แย่งกันรักรัชกาลที่ ๖  ซึ่งในประวัติต้นรัชกาลที่ ๖ ก็ทรงพระราชบันทึกไว้ว่า

“กรมราชบุรีนั้นทิ้งไว้ลอยๆ ไม่ให้ทำราชการนั้นไม่เหมาะ  เพราะมีผู้ที่นิยมนับถือกรมราชบุรีอยู่มาก,  เห็นว่าเปนผู้ที่มีความรู้เก่งต่างๆ, และถ้าทิ้งไว้ให้อยู่ลอยๆ  ผู้ที่ไม่รู้ความจริงว่ากรมราชบุรีรักฉันแท้ๆ  ก็อาจที่เข้าใจผิดคิดเห็นไปว่ากรมราชบุรีอยู่ในจำพวกที่แค้นและ “แอนตี้” รัฐบาล  และกรมราชบุรีเองหรือก็เปนผู้ที่มีปัญญามากกว่ามีสติ,  เมื่อเกิดโทโษขึ้นมาแล้วมักไม่ใคร่จะระวัง,  พูดหรือทำอะไรอย่างรุนแรงเกินกว่าที่ควร  เช่นในเรื่องคดี “พญาระกา” ในปลายรัชกาลที่ ๕ นั้นเปนตัวอย่าง,  จึ่งรู้สึกว่าถ้าหาตำแหน่งราชการให้ท่านเสียจะดีกว่า"

นอกจากนั้นยังพบความในพระราชหัตถเลขาที่พระราชทานไปยังสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงพิษณุโลกอีกว่า ก่อนที่จะเกิดกบฏ ร.ศ. ๑๓๐ นั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาราชวังสัน (ฉ่าง  แสง - ชูโต) ผู้บัญชาการกรมเรือกลและป้อม  กระทรวงทหารเรือ  ซึ่งเป็นผู้ที่ทรงคุ้นเคยมาแต่ครั้งเสด็จไปทรงศึกษาที่ประเทศอังกฤษไปเจรจาทาบทามพระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหมื่นราชบุรีดิเรกฤทธิ์ต่อมาอีกหลายคราว  ดังที่ทรงบรรยายไว้ในพระราชหัตถเลขาที่พระราชทานไปยังนายพลเอก สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ เสนาธิการทหารบก และทำการแทนเสนาบดีกระทรวงกระลาโหม  เมื่อวันที่  ๖  มีนาคม  ร.ศ. ๑๓๐ (พ.ศ. ๒๔๕๔) ว่า

“กรมราชบุรีได้ตอบพระยาราชวังสรรค์ว่า การที่จะพระองค์ท่านเข้ารับราชการในตำแหน่งน่าที่สำคัญใดๆ อีก  ท่านเห็นว่าไม่เปนการสมควร  ดูจะเปนทางให้คนกล่าวได้ว่า ความเห็นของฉันกับทูลกระหม่อมไม่ตรงกัน  เปนเหมือนหนึ่งฉันไม่นับถือพ่อ  กรมราชบุรีจึงไม่รับตำแหน่งใด  ฉันก็งดการชักชวนไว้อีกครั้งหนึ่ง  ต่อมาฉันได้เตือนให้พระยาราชวังสวรรค์ไปทาบทามอีก  คราวนี้พระยาราชวังสรรค์กลับมารายงานว่า กรมราชบุรีได้ตอบเปนคำถามว่า ถ้าพระองค์ท่านเข้ารับราชการอีกแล้ว  การงานแพนกโรงสีและแพนกค้าข้าวของท่าน  จะรับรองได้ฤาว่าท่านจะไม่เสียหาย  ฉันรับสารภาพว่าเอฉันได้ยินคำตอบเช่นนี้  ฉันมีความขุ่นเคืองกรมราชบุรีอยู่บ้าง  ถึงแก่ได้ออกปากว่า ฉนี้ฤาเปนผู้ที่รักชาติบ้านเมือง  แต่ผลประโยชน์ส่วนตัวยังไม่ยอมสละให้แล้ว  พระยาราชวังสรรค์รับว่าจะไปพูดจาเกลี้ยกล่อมอีก  แล้วก็ได้พยายามต่อๆ มา  แลพระยาราชวังสรรค์ได้ขอแรงเจ้าพระยายมราช ให้ไปช่วยพูดจากับกรมราชบุรีด้วยอีกส่วนหนึ่ง  ลงตอนปลายกรมราชบุรีอ่อนลงแล้ว  จึงว่าถ้าจะมีผู้รับเช่าโรงสี  กรมราชบุรีจะยอมเข้ารับราชการ  พระยาราชวังสรรค์จึงได้ไปพูดกับนายฉลองนัยนารถ ๆ ตอบรับรองว่าจะรับเช่าโรงสีของกรมราชบุรี  แลกรมราชบุรีขอสัจจอีกข้อหนึ่งว่า ถ้าท่านออกจากราชการจะกลับไปทำโรงสีอีกแล้ว  ให้ได้ทำ  นายฉลองก็ยอมรับตามนี้  พระยาราชวังสรรค์ได้นำข่าวอันนี้มาเล่าให้ฟังเมื่อวันที่  ๑๗  กุมภาพันธ์  และยังได้คาดคั้นนายฉลองในเรื่องนี้เมื่อพบกันที่สนามจันทร์นี้อีก  เมื่อฉันได้ทราบความเช่นนั้นแล้วจึงได้เตรียมไว้ว่า จะเรียกกรมราชบุรีมาพูดจาโดยตนเอง  เพื่อฟังความเห็นว่าจะพอพระทัยในตำแหน่งใด  ก็ยังมิทันได้จัดการไปตามความคิด  มาเกิดเหตุร้าย ขึ้นเสียก่อน”

ภายหลังการจับกุมกลุ่มกบฏ ร.ศ. ๑๓๐ แล้ว  หม่อมเจ้าพูนพิศมัยดิศกุลทรงบันทึกไว้ใน "พระราชวงศ์จักรี" ว่า

เมื่อมีการจับกุมกลุ่มผู้ก่อเหตุไม่สงบที่รู้จักกันในชื่อ “กบฏ ร.ศ. ๑๓๐” ในวันที่ ๑ มีนาคม  พ.ศ. ๒๔๕๔ แล้ว   ถัดมาอีกเพียง ๒ – ๓ วันพระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหมื่นราชบุรีดิเรกฤทธิ์ก็ได้เสด็จไปเฝ้าพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระพระดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยซึ่งตามเสด็จพระราชดำเนินไปประทับที่จังหวัดนครปฐมตามหน้าที่  เมื่อเสด็จถึงบังกะโลที่ประทับ  ทรงพระดำเนิน   
“ตรงเข้าไปเฝ้าเสด็จพ่อแล้วทูลว่า “หม่อมฉันมาให้ทรงจับในหน้าที่ราชการ” I came to be arrest by your authority as the Minister of Interior.  เสด็จพ่อตรัสถามว่า “ทำไมกัน”  ท่านตอบว่า เพราะพวกขบถมันจะตั้งหม่อมฉันเป็นเปรสิเดนต์คนแรก”  เสด็จพ่อทรงพระสรวลแล้วตรัสว่า “คิดมาก”,  ไปเฝ้าพระเจ้าอยู่หัวด้วยกันเถิด”  แล้วก็พากันเสด็จไปสนามจันทร์อีก.  เสด็จพ่อทรงเล่าภายหลังว่า พระเจ้าอยู่หัวทรงกอดกรมราชบุรีแล้วตรัสว่า “ทั้งนี้เพราะเจ้าพี่ไม่ทรงทำงานกันเท่านั้นเอง”  แล้วก็เลยโปรดเกล้าฯ ให้กรมราชบุรีทรงเป็นเสนาบดีกระทรวงเกษตราธิหารต่อมา”

และเมื่อในกรมราชบุรีทรงขอลาพักราชการไปรักษาพระองค์ที่กรุงปารีส  ประเทศฝรั่งเศส  หม่อมเจ้าพูนพิศมัย  ดิศกุล ทรงเล่าไว้ในพระราชวงศ์จักรีว่า “ไปพบพระโรคมากเกินกว่าที่จะทรงใช้เงินที่กะไปได้  จึงทรงสั่งพระยามโนปกรณ์ ให้จัดการหาเงินของพระองค์ท่านส่งไปให้ทัน  ถ้าหายังไม่ได้ก็ให้กราบทูลจำนองที่วังของท่านหรือขอพระราชทานยืมส่งไปให้ได้  ครั้นพระยามโนฯ กราบบังคมทูล  ก็มีพระราชดำรัสว่า “ไม่มีปัญหา, ฉันถวายเอง””



บันทึกการเข้า
hobo
พาลี
****
ตอบ: 324


ความคิดเห็นที่ 787  เมื่อ 29 ส.ค. 15, 06:52

อาจารย์เข้ามาไขปริศนาแล้ว ขอบพระคุณครับ
บันทึกการเข้า
Naris
องคต
*****
ตอบ: 421


ความคิดเห็นที่ 788  เมื่อ 31 ส.ค. 15, 11:29

เรื่องนี้สำหรับผมก็น่าสนใจมากครับ เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับกรมหลวงราชบุรี ในแง่มุมอื่นๆ ที่นักเรียนกฎหมายไม่ค่อยได้ทราบกัน 

ประวัติของพระองค์ท่านในเวปพิพิธภัณฑ์ศาลไทย ก็กล่าวไว้แต่เพียงว่า

"...ในราววันที่ 20 เมษายน ร.ศ. 129 (พ.ศ. 2453) กรมหลวงราชบุรีฯ ทรงทำหนังสือกราบบังคมทูลว่าประชวรมีอาการปวดพระเศียรเป็นกำลังรู้สึกว่าในสมองเผ็ดร้อนเหมือนหนึ่งโรยพริกไทยระหว่างมันสมองกับกระดูก คิดและจำอะไรไม่ได้ทั้งสิ้น ทำงานแม้แต่นิดหน่อยก็เหนื่อย หมอไรเตอร์ตรวจพระอาการแล้วว่าต้องหยุดการทำงานพักรักษาพระองค์ เมื่อเป็นเช่นนี้รู้สึกว่าจะทำงานสนองพระเดชพระคุณไม่ได้ จึงขอกราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่งเสนาบดีเพื่อเปิดโอกาสให้ทรงเลือกสรรผู้อื่นเข้ารับหน้าที่ต่อไป ต่อมาในปี พ.ศ. 2462 กรมหลวงราชบุรีฯ ซึ่งย้ายไปดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการ ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน ร.ศ. 131 (พ.ศ. 2455) ได้ประชวรด้วยโรควัณโรคที่พระวักกะ จึงเสด็จไปที่กรุงปารีสเพื่อรักษาพระองค์ แต่พระอาการก็ไม่ทุเลา ครั้นวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2463 ก็สิ้นพระชนม์ที่กรุงปารีสนั่นเอง พระชนมายุเรียงปีได้ 47 พรรษา อันนำความโศกเศร้าเสียใจมาสู่วงการนักกฎหมายไทยยิ่งนัก..."
http://www.museum.coj.go.th/SpPerson/rapee.html

ส่วนในบทความ "มุมมองสองวัย" ของ อ. บวรศักดิ์ อุวรรณโณ อาจารย์ผม ท่านก็เขียนไว้เพียงว่า
"...เมื่อสิ้นรัชกาลที่ ๕ แล้ว ได้เสด็จกลับเข้ารับราชการอีกครั้ง แต่ก็มิได้ทรงรับราชการในกระทรวงยุติธรรมอีก หากแต่ได้ทรงรับราชการในตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการในรัชกาลที่ ๖ ซึ่งทรงสามารถบริหารราชการในกระทรวงนั้นได้เป็นอย่างดี มีผลแห่งพระกรณียกิจปรากฏอยู่หลายประการ..."
http://dailynews.co.th/article/340922
แต่เหตุใดจึงได้ย้าย "ข้ามห้วย" เช่นนั้น ไม่เคยมีที่ได้ชี้แจงไว้เลยครับ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 789  เมื่อ 01 ก.ย. 15, 08:10

คุณๆคงจำได้ว่า ผมเคยเขียนกระทู้เรื่อง “คดีพระปรีชากลการ มโหฬารงานสร้างทางการเมือง” ซึ่งตอนท้ายได้กล่าวถึงบทบาทของพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ในขณะที่ท่านทรงเป็นอัครราชทูตไทย ที่กรุงปารีส แล้วปรากฏแม่แฟนนี บุตรีของกงสุลน๊อกซ์ผู้เป็นภรรยาหม้ายของพระปรีชากลการ จำเลยในคดีคอรรัปชั่นกิจการเหมืองทองที่กบินทร์บุรีจนต้องโทษประหารชีวิตไปแล้ว แต่ทรัพย์สินส่วนใหญ่ได้ถูกยักย้ายถ่ายเทมาอยู่เมืองนอกภายใต้อำนาจสั่งจ่ายของฝรั่งที่เกี่ยวข้อง ซึ่งนางแฟนนีได้พยายามติดตามมาทวงแต่ไร้ผล จึงต้องการให้สถานทูตสยามช่วยบีบ โดยทูลท่านทูตว่า “หากได้เงินมาแล้วจะได้เอามาแบ่งกัน”

พระองค์เจ้าปฤศฎางค์ ทรงเห็นเป็นโอกาสที่รัฐบาลสยามจะได้ทรัพย์สินที่ถูกพระปรีชาฉ้อไปกลับคืนมาบ้าง จึงทรงเอาเป็นธุระ มีหนังสือไปยังนายมาเลบเพื่อสอบถามในเบื้องต้น ซึ่งนายมาแลบก็ตอบบ่ายเบี่ยงให้ไปถามนายซิกก์ๆยอมรับ แต่จะชำระเงินคืนกันที่กรุงเทพ จึงทรงรายงานเรื่องนี้ไปกราบทูลกรมหมื่นเทววงศ์วโรปการ  เสนาบดีกระทรวงต่างประเทศ และทรงได้รับหนังสือตอบกลับ แจ้งว่าพระเจ้าอยู่หัวไม่ทรงมีพระประสงค์ที่จะให้คู่กรณีย์ไปชำระความกันที่กรุงเทพ ขอให้จบเรื่องเสียที่ปารีส ทำนองว่าทรงไม่ติดพระทัยกับเงินจำนวนนี้

ก่อนหน้าที่จะทราบพระราชประสงค์ข้างต้น นายซิกก์ได้เดินทางมาเฝ้าที่สถานทูต น่าจะทรงตรัสว่าที่ทรงมาเกี่ยวข้องเรื่องนี้ ก็เพราะสงสารเด็กๆด้วย ถ้านางแฟนนีหมดเงิน ชีวิตจะลูกๆก็จะลำบาก  ถ้านายซิกก์ยอมใช้หนี้ ก็อาจจะทรงมีกระกรุณาพระราชทานเงินให้บ้าง  นายซิกก์เลยเสียงอ่อยๆ ว่าเป็นใครก็ต้องคิดเช่นนั้นเหมือนกัน
 
แต่เมือได้รับหนังสือตอบข้างต้นแล้ว จึงได้ปรึกษาว่าถ้าจะให้จบกันที่ปารีสแล้วจะต้องทำอย่างไร นายซิกก์ก็ยืนยันจะไปจ่ายที่กรุงเทพ เมื่อเป็นดังนี้พระองค์เจ้าปฤศฎางค์ก็ทรงมีหนังสือรายงานไปว่า นางแฟนนีจะเดินทางไปกรุงเทพ ส่วนบุตรของพระปรีชาจะให้เรียนที่นั่น ไม่นำกลับไปด้วย

เอกสารที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้จบลงที่ตรงนั้น ทำให้เราไม่ทราบว่าเรื่องราวจะเป็นไปอย่างไร แต่แฟนนีนั้นกลับไปสยามแน่นอน และผมก็ไปสรุปด้วยว่า รวมทั้งลูกๆของพระปรีชาด้วย

http://www.reurnthai.com/index.php?topic=6242.300


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 790  เมื่อ 01 ก.ย. 15, 08:12

ในหนังสือพระประวัติ ทรงเขียนไว้มีข้อความให้เข้าใจเรื่องราวต่อมาได้ แต่ได้อย่างไร เชิญตีความกันเพื่อให้ประเทืองปัญญา


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 791  เมื่อ 08 ก.ย. 15, 15:50

กระทู้หยุดนิ่งอยู่หลายวัน    เคราะห์ดีปักหมุดไว้เลยไม่ตกหน้า
ระหว่างรอเจ้าของกระทู้มาสานต่อ   ก็เกิดสงสัยเรื่อยเปื่อยว่า ในบั้นปลายชีวิตอันยากไร้และโดดเดี่ยวของพระองค์เจ้าปฤษฎางค์  ท่านไม่มีพี่น้องที่พอจะพึ่งพิงได้บ้างหรือ    ในเมื่อราชสกุลชุมสายก็มีลูกหลานสืบเชื้อสายต่อมาจนทุกวันนี้  ก็น่าจะมีพระญาติพระวงศ์อยู่ในปลายรัชกาลที่ 6 ต่อกับรัชกาลที่ 7 บ้าง
ได้ความมาว่า ท่านเป็นโอรสองค์สุดท้าย   เจ้าพี่เท่าที่จะพอค้นประวัติได้ ก็สิ้นชีพิตักษัยกันไป ตั้งแต่ปลายรัชกาลที่ 6  เช่น
หม่อมเจ้ามลิวรรณ ชุมสาย หรือ มาลีวัณ ซึ่งต่างหม่อมแม่กัน สิ้นไปเมื่อ 25 กันยายน พ.ศ. 2467

ส่วนเจ้าพี่ที่ร่วมหม่อมมารดา  คือ
หม่อมเจ้าระเบียบ ชุมสาย  สิ้นชีพิตักษัย  22 พฤษภาคม พ.ศ. 2450)
หม่อมเจ้าอรุณ ชุมสาย (ช.)  ไม่ทราบวันเดือนปี
หม่อมเจ้าจำรัส ชุมสาย (ญ.)  ไม่ทราบวันเดือนปี
หม่อมเจ้าประภา ชุมสาย หรือ ปุก  สิ้นเมื่อ พ.ศ. 2455)
หม่อมเจ้าเจริญ ชุมสาย องค์นี้สิ้นไปก่อนนานมาก
เสวกเอก หม่อมเจ้าประวิช ชุมสาย หรือ ต๋ง สิ้นเมื่อ  19 กันยายน พ.ศ. 2468

ก็เหลือแต่หลานๆระดับหม่อมราชวงศ์  ซึ่งอาจจะห่างออกไป 
บันทึกการเข้า
sirinawadee
ชมพูพาน
***
ตอบ: 101


ความคิดเห็นที่ 792  เมื่อ 10 ก.ย. 15, 12:19

ในหนังสือชีวิตเหมือนฝันของคุณหญฺิงมณี สิริวรสาร เล่าว่า ตอนคุณหญิงเด็ก ๆ เป็นเพื่อนบ้านกับพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ มีบรรยายรายละเอียดการเป็นอยู่ของพระองค์ท่านไว้นิดหน่อยค่ะ คืนนี้จะส่งการบ้านนะคะ
บันทึกการเข้า
sirinawadee
ชมพูพาน
***
ตอบ: 101


ความคิดเห็นที่ 793  เมื่อ 12 ก.ย. 15, 00:19

มาแล้วค่ะ

จากหนังสือชิวิตเหมือนฝัน คุณหญิงมณี สิริวรสาร

        ในซอยแพรกบ้านในนั้น บ้านของเราเป็นบ้านหลังสุดท้าย หลังบ้านของเราติดกับวัดตะเคียน ส่วนในซอยนั้นมีบ้านอีกหลายหลัง แต่เพื่อนบ้านที่อยู่ใกล้ที่สุดกับเราคือบ้านตรงข้าม ซึ่งเป็นวังของพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ชุมสาย คนที่อยู่ในตรอกนี้ต่างรู้จักพระองค์ดีทุกคน เพราะท่านเป็นเจ้านายที่แปลกประหลาดพิสดารไม่ซ้ำแบบใครเลย ท่านรู้จักกับคุณพ่อดี แล้วตอนเช้ามืดท่านมักเสด็จมาที่ระเบียงและร้องตะโกนคุยกับคุณพ่อเสียงดังลั่นข้ามฟากถนนมา ทำให้ผู้ที่เดินไปเดินมาอยู่บนถนนได้ยินเรื่องราวที่ท่านคุย ซึ่งเรื่องที่ตรัสนั้นล้วนเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการเมืองทั้งสิ้น

   ในเวลานั้นพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ฯ มีพระชันษาเจ็ดสิบกว่าปีแล้ว แต่ท่านยังทรงว่องไง คล่องแคล่ว แข็งแรง เวลาเสด็จนอกวังทรงแต่งชุดสากลสีครีม สวมหมวกปานามา ไว้หนวดทรงแพะ และทรงถือไม้เท้า เวลาเสด็จไปไหนทุกคนต้องมองท่านด้วยความแปลกใจ เพราะท่านไม่เหมือนคนอื่น หน้าวังของท่านนั้นติดประกาศไว้หลายแผ่น เป็นข้อความเกี่ยวกับการเมืองทั้งสิ้น ทำให้คนต้องหยุดอ่านเสมอ
บันทึกการเข้า
sirinawadee
ชมพูพาน
***
ตอบ: 101


ความคิดเห็นที่ 794  เมื่อ 12 ก.ย. 15, 00:21

ต่อค่ะ

        สมัยที่ท่านยังหนุ่มนั้นเคยมีตำแหน่งสำคัญในราชการ ทรงเป็นทูตไทยองค์แรกประจำสถานทูตไทยที่กรุงลอนดอน และทรงเป็นผู้ดำเนินการซื้อสถานทูตไทยที่ No. 21 Ashburn Place ด้วย ท่านเป็นคนรอบรู้ เคยเสด็จไปบวชเป็นพระสงฆ์ที่ศรีลังกา ทรงพระปรีชาญาณในด้านศาสนาพุทธ และที่สำคัญ ทรงเป็นนักประชาธิปไตยอย่างแรงกล้า ไม่โปรดให้ใครแสดงอำนาจหรือใช้อภิสิทธิ์เหนือคนอื่นๆ ผู้ที่ท่านประฌามส่วนมากเป็นเจ้านายชั้นสูงที่มีตำแหน่งเป็นเสนาบดีในสมัยนั้น แต่เพราะพระองค์ทรงพระชรามากแล้วว ใคร ๆ ก็คิดว่าทรงมีพระสติฟั่นเฟือน เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองจึงมิได้เอาเรื่อง ปล่อยให้ทรงเขียนประกาศติดหน้าตำหนักแสดงความรู้สึกของพระองค์ได้โดยไม่จับกุมแต่อย่างใด

   พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ฯ ตรัสภาษาอังกฤษได้ดี แม่จึงมักเดินไปคุยกับท่านตอนเย็นอย่างน้อยเดือนละครั้งสองครั้งเสมอ บางทีดิฉันก็ตามไปด้วย แม่เลื่อมใสและศรัทธาท่านมาก ชมเชยให้คุณพ่อฟังเสมอว่า ทรงพระปรีชารอบรู้วิชาการต่าง ๆ มีพระสติปัญญาก้าวหน้า มีความคิดเห็นล้ำยุค และทรงเป็นนักประชาธิปไตยที่แท้จริงด้วย เพราะทรงพระประสงค์ที่จะเห็นคนจนและคนสามัญทั่วไปมีโอกาสเท่าเทียมกันทุกคน ดิฉันเองคิดว่า หากเป็นสมัยนี้ท่านคงต้องลาออกจากการเป็นเจ้า และสมัครเป็นผู้แทนราษฎรเป็นแน่
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 51 52 [53] 54 55 ... 60
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.983 วินาที กับ 20 คำสั่ง