เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 55 56 [57] 58 59 60
  พิมพ์  
อ่าน: 141853 พระองค์เจ้าปฤษฎางค์-ชีวิตลับที่ทรงเผยไม่ตลอด
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 840  เมื่อ 26 ธ.ค. 15, 07:06

พี่ศรีนี้คือพี่สะใภ้หม้ายของพระยาสุรศักดิ์มนตรี เพื่อนร่วมน้ำสาบานในวัดพระแก้วของพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ เมื่อพระยาสุนทรสงครามเจ้าเมืองสุพรรณบุรีอดีตสามีของพี่ศรีถึงแก่กรรม พี่ศรีจึงมาอยู่ที่บ้านสี่พระยาของพระยาสุรศักดิ์

ส่วนพระองค์เจ้าปฤษฎางค์เมื่อกลับมาจากยุโรปใหม่ๆไม่มีบ้าน และไปอยู่เรือนแพเพื่อดูแลรักษามารดาที่ป่วยหนัก หม่อมตลับภรรยาของท่านได้ไปอาศัยอยู่กับคุณหญิงไร ภรรยาของพระยาสุรศักดิ์มนตรี หรืออาจจะถูกชวนให้อยู่เป็นเพื่อนระหว่างสามีไปราชการสงครามก็ได้ จึงเป็นโอกาสที่ทำให้พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ได้พบกับคุณหญิงศรี จนสนิทสนมโดยทรงอ้างว่าเป็นแค่เพื่อนน้ำสบถ แต่คนทั่วไปลือกันว่าความสัมพันธ์ของทั้งคู่เป็นยิ่งกว่านั้น แต่ท่านทรงปฏิเสธเสียงแข็งว่ารสนิยมท่านชอบสาวเด็กๆ ไม่ชอบหญิงมีอายุแก่กว่าท่าน

การเข้ามาติดพันพี่สะใภ้ทำให้พระยาสุรศักดิ์ไม่พอใจแน่นอน เพราะพระยาสุรศักดิ์และพี่ศรีมีปัญหากันด้วยเรื่องมรดก และพี่ศรียังมีปัญหาเรื่องเงินรายได้แผ่นดินที่พระยาสุนทรสงครามส่งหลวงไม่ครบก่อนถึงแก่กรรม ภรรยายังจะต้องรับผิดอยู่และมีคำสั่งให้เข้าวัง แต่พี่ศรีปฏิเสธ พระยาสุรศักดิ์กลับจากจากสงครามได้ทราบความตรงนี้แล้วจึงเดือดร้อนไปด้วย
 
ส่วนความสัมพันธิ์ระหว่างพระองค์เจ้าปฤษฎางค์กับหม่อมตลับนั้น คงขาดจากกันไป เพราะในหนังสือที่วางถวายสมเด็จเจ้าฟ้าทรงกราบทูลว่า “เมียตัวเอง เมื่อกลับเป็นศัตรูแล้ว ก็ได้เห็นฤทธิ์แล้วว่ายิ่งกว่าห่าลงบ้าน”
ไม่ทราบว่าหม่อมตลับอาละวาดบ้านแตกเพราะภรรยาเด็กของท่าน หรือเพราะพี่ศรี
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 841  เมื่อ 27 ธ.ค. 15, 07:01

พระองค์เจ้าปฤษฎางค์เคยลงทุนทำธุรกิจเพื่อหาทางใช้หนี้ เช่นไปบุกเบิกสำรวจสินแร่จะทำเหมืองดีบุก พอเห็นว่าน่าจะลงทุนทำได้ ขอพระราชทานสัมประทานขึ้นไปเรื่องก็เงียบ เงินที่ลงทุนไปแล้วก็สูญเปล่า แต่ยังไม่เข็ด ขอพระราชทานยืมเงินทำทุนค้าขายขึ้นไปอีก ก็ไม่โปรดเกล้าอะไรลงมา หนี้จึงยิ่งเพิ่มพูนขึ้น
 
ยิ่งเครียด พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ยิ่งทรงประสาทหลอนไปว่าพระยาสุรศักดิ์พยายามจะลอบทำร้ายท่าน หรือเพ็ททูลให้พระเจ้าอยู่หัวลงโทษท่าน ท่านจึงคิดจะหนีภัยไปบวช
แต่การที่มีหนี้สินล้นพ้นตัวทำให้ท่านทรงบวชไม่ได้อยู่ดี พระองค์เจ้าปฤษฎางค์จึงเผยตัวตนแท้จริงของท่านออกมาว่า เลยคิดจะหาภรรยารวยๆ เพื่อจะเอาเงินภรรยามาลงทุนต่อ
เรื่องนี้มิได้เป็นแค่ความคิด แต่พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ได้ลงมือเกี้ยวญาติผู้หญิงคนหนึ่งของพี่ศรี โดยมีพี่ศรีนั่นแหละเป็นแม่สื่อแม่ชักให้ จนใกล้สำเร็จมีแลกเปลี่ยนสิ่งของพยานรักกันแล้ว เรื่องอื้อฉาวของท่านกับพี่ศรีที่ลือกันหึ่งในวังก็มาเข้าหูผู้หญิงเข้า แผนการร้ายของพระองค์เจ้าปฤษฎางค์จึงไม่สำเร็จ

ความลับที่เปิดออกมาเรื่องนี้ ทำให้เห็นว่า พระองค์เจ้าปฤษฎางค์และพี่ศรีคงคบกัน เพราะเงินของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นตัวล่อ เมื่อถึงจุดหนึ่งต่างฝ่ายต่างรู้ว่า เงินนั้นไม่มีแล้ว ก็ร่วมมือกันจะหาเงินจากผู้อิ่นต่อไป

เมื่อหมดหนทางใช้หนี้แล้ว พี่ศรีจึงต้องหนีราชภัย ส่วนตัวท่านตอนแรกก็มีแผนจะหนีตามกันไปด้วย  บังเอิญว่ามีกำหนดการเสด็จเยือนญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการของพระเจ้าน้องยาเธอ สมเด็จเจ้าฟ้าภาณุรังสี และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ท่านตามเสด็จไปด้วยในฐานะที่ปรึกษา พระองค์เจ้าปฤษฎางค์จึงทรงวางแผนใหม่ โดยจะหนีลงจากเรือที่เซี่ยงไฮ้ในเที่ยวเสด็จกลับจากญี่ปุ่น โดยนัดแนะกับพี่ศรีไว้ให้ไปพบกันที่ฮ่องกง
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 842  เมื่อ 27 ธ.ค. 15, 07:06

พ.ศ.๒๔๓๔   วันที่ ๓๑ พฤษภาคม มีรายงานมายังกรุงเทพว่า พระนโรดมเตรียมบ้านให้พระองค์เจ้าปฤษฏางค์พำนักในกรุงพนมเปญ
พ.ศ.๒๔๓๕   วันที่ ๑๖ สิงหาคม ปรากฏหนังสือของกรมหลวงเทววงศ์ เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ กราบบังคมทูลตอบพระราชหัตถเลขา เรื่องอังกฤษได้จ้างพระองค์เจ้าปฤษฏางค์ที่เมืองเประ ในมลายู
พ.ศ.๒๔๓๘   วันที่ ๑ กรกฎาคม พระองค์เจ้าปฤษฎางค์จะไปภูเก็ตแล้วไม่ได้ไป ให้พี่ศรี ภรรยาไปแทน เจ้าเมืองจะจับแต่ทางกรุงเทพไม่เห็นด้วย
พ.ศ.๒๔๓๙   วันที่ ๕ พฤศจิกายน พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ออกบวชที่ลังกา
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 843  เมื่อ 27 ธ.ค. 15, 07:08

เมื่อเรือออกจากโยโกฮามาแล้วสมเด็จเจ้าฟ้าทรงประชวรมาก ต้องเสด็จเข้าโรงพยาบาลทันทีที่เรือถึงเซี่ยงไฮ้ เมื่อพระอาการค่อยทุเลาลงแล้ว พระองค์เจ้าปฤษฎางค์จึงทิ้งหนังสือทูลลาออกและลาบวชไว้ มิได้ตามเสด็จกลับกรุงเทพ

หลังจากนั้นจึงเกิดข่าวลือในเมืองไทยว่า มีผู้พบเห็นพระองค์เจ้าปฤษฎางค์กับสตรีสูงศักดิ์ขึ้นเรือจากฮ่องกงไปลงที่ไซ่ง่อน หลายเดือนหลังจากนั้นจึงมีรายงานเป็นทางราชการของสยามว่าพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ไปอยู่กรุงพนมเปญ เพื่อรับราชการในสมเด็จพระนโรดมสีสุวัติ กษัตริย์เขมรเมืองขึ้นของฝรั่งเศส

พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ทรงเขียนไว้ในหนังสือพระประวัติโดยกล่าวว่าไปเที่ยวเขมร แล้วกลับมาอยู่ไซ่ง่อน ๖ เดือนเพื่อรอหนังสืออนุญาตให้บวช แต่เมื่อไม่ได้ก็ทรงลงเรือไปสิงคโปรและปีนัง แล้วอยู่ที่นั่นกับภรรยาโดยไม่เอ่ยชื่อว่าเป็นใคร แต่มีรายงานจากข้าหลวงจังหวัดภาคใต้ว่า พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ไปรับราชการกับรัฐบาลอาณานิคมมลายูของอังกฤษที่เปรัค(เประ)และอยู่กินกับพี่ศรี

ทั้งสองมีชีวิตร่วมกันโดยเปิดเผยได้ประมาณสี่ปีก็ลาจาก ไม่มีใครทราบชะตากรรมของพี่ศรีก่อนที่จะหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์ จากนั้นพระองค์เจ้าปฤษฎางค์จึงทรงตัดสินใจเดินทางไปบวชที่โคลอมโบ เมืองหลวงของศรีลังกาในปัจจุบัน
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 844  เมื่อ 28 ธ.ค. 15, 07:01

ไม่กี่ปีพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ก็เป็นพระเกจิอาจารย์ดัง ทรงเห็นว่าพระภิกษุสงฆ์ในลังกามีมากถึง ๔ นิกาย และมีความประพฤติไม่ค่อยจะเรียบร้อยเท่าใด จึงทรงมีหนังสือมาขอให้พระสงฆ์ไทยส่งอุปัชฌาย์ธรรมยุติไปบวชให้ใหม่ มีพระสงฆ์ของลังกามาผ่านพิธีอุปสมบทแบบสยามกันมากมาย ถือเป็นความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่อีกครั้งหนึ่งของท่าน คราวที่พระเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาศยุโรป แล้วเรือพระที่นั่งแวะพักเติมเชื้อเพลิงที่โคลัมโบ พระชินวรวงศ์ได้มีส่วนระดมทายกทายิกาชาวลังกามารับเสด็จ  แม้ท่านเองจะไม่มีโอกาสได้เข้าเฝ้า แต่ก็เกือบได้กลับสยาม เมื่อมีข่าวว่าพระเจ้าอยู่หัวจะโปรดเกล้าให้ท่านกลับไปช่วยงานกรมหมื่นวชิรญาณวโรรส เจ้าคณะใหญ่ธรรมยุติ

ขณะรอข่าวดี พระชินวรวงศ์ได้เสด็จจาริกไปยังอินเดียและพม่า ระหว่างนั้นทรงได้ข่าวว่าอังกฤษค้นพบพระบรมอัฐิธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรากโบราญสถานเมืองกบิลพัศดุ์  ท่านจึงรีบเสด็จไปที่นั่น เขาได้นำพระบรมอัฐิธาตุที่พบทั้งหมดมาให้ดู ท่านทรงแนะนำว่ารัฐบาลอังกฤษควรที่จะถวายแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ แต่เมื่อเขาเผลอ ท่านได้แอบหยิบพระบรมอัฐิธาตุองค์หนึ่งใส่ย่าม กะจะเอาไว้ถวายพระเจ้าอยู่หัวเอง ถ้าหากรัฐบาลอังกฤษไม่เห็นด้วย

ปรากฏว่าอุปราชอังกฤษแห่งอินเดียเห็นด้วยกับความคิดดังกล่าว และให้ราชทูตที่กรุงเทพทำหนังสือแจ้งมาทางกระทรวงต่างประเทศ พระเจ้าอยู่หัวทรงแต่งตั้งพระยาสุขุมนัยวินิต (เจ้าพระยายมราช)ให้เป็นข้าหลวงไปรับพระบรมอัฐิธาตุ เมื่อทั้งสองพบกัน พระชินวรวงศ์ทรงคุยอวดสิ่งที่ท่านกระทำลงไปหวังจะได้รับคำสรรเสริญ กลับโดนอดีตมหาเปรียญ ๓ ประโยคยืนยันว่า ท่านต้องอาบัติปาราชิก ขาดจากความเป็นพระแล้วตั้งแต่หยิบของมีค่าที่เจ้าของมิได้ให้เอามาเป็นของตน แม้พระชินวรวงศ์จะยกข้อแก้ตัวต่างๆ แต่เรื่องนี้คณะสงฆ์ทางกรุงเทพมีความเห็นเช่นเดียวกับท่านข้าหลวง โอกาสที่จะมีพระบรมราชานุญาตให้กลับสยามในเพศบรรพชิตจึงอันตรธานไป
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 845  เมื่อ 29 ธ.ค. 15, 06:52

พระชินวรวงศ์ยังคงได้รับการยอมรับนับถือจากพุทธศาสนิกชนในลังกา และได้สร้างวัตถุสถานในวัดทีปทุตตมาราม วัดสยามซึ่งทรงพัฒนาจากวัดเก่าในโคลัมโบ จนสวยงามเป็นระเบียบเรียบร้อย เป็นสถานที่ๆนักท่องเที่ยวจะต้องไปเยือน เป็นที่พอใจของข้าหลวงอังกฤษผู้ปกครองเมืองลังกามาก

เมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินประพาสยุโรปครั้งที่สอง เรือพระที่นั่งแวะโคลัมโบ พระชินวรวงศ์ใช้อุบายจะให้ข้าหลวงอังกฤษเป็นผู้นำพระองค์เข้าเฝ้า พระเจ้าอยู่หัวทรงรู้ทัน จึงทรงปฏิเสธอย่างสุภาพว่าพระองค์เจ้าปฤษฎางค์เป็นคนไทย สามารถเข้าเฝ้าได้เองอยู่แล้วโดยไม่ต้องให้ข้าหลวงอังกฤษนำเข้าเฝ้า ซึ่งพระชินวรวงศ์ทรงทราบดีว่านั่นแปลว่าจะต้องเข้าเผ้าในฐานะฆราวาสจึงไม่ไป

โอกาสสุดท้ายที่จะได้ทรงคืนดีกับพระเจ้าอยู่หัวก็พลาดไปอีกอย่างน่าเสียดาย
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 846  เมื่อ 29 ธ.ค. 15, 07:10

พระรูปหุ่นขี้ผึ้ง "พระชินวรวงศ์" หรือพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ ในพิธีสมโภช ซึ่งจัดขึ้นเพื่อเป็นการฉลองก่อนที่คณะจาริกบุญ จะเดินทางนำพระรูปหุ่นขี้ผึ้ง พระชินวรวงศ์ ไปถวายและประดิษฐาน ณ วัดทีปทุตตมาราม “วัดไทย” ในนครโคลัมโบ ประเทศศรีลังกา วันที่ 17 – 21 สิงหาคม พ.ศ. 2556 ในโอกาสฉลอง 260 ปี สยามวงศ์ และพระราชวโรกาสที่ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จะเสด็จพระราชดำเนิน ในวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ดร. สุเมธ ชุมสาย กล่าวว่า พระชินวรวงศ์ เป็นบุคคลที่มีความสำคัญ ต่อประวัติศาสตร์ไทย ต่อพระพุทธศาสนาไทย-ศรีลังกา แต่ที่สำคัญอย่างยิ่ง คือการที่พระองค์เป็นผู้ค้นพบ พระบรมสารีริกธาตุองค์สำคัญของไทย นับเป็นการค้นพบครั้งเดียวของโลก ที่มีหลักฐานจารึกไว้อย่างชัดเจน ซึ่งคนไทย ชาวพุทธทุกคน ควรทราบและศึกษา


https://www.facebook.com/media/set/?set=a.465539030210539.1073741861.145381495559629&type=1


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
Koratian
พาลี
****
ตอบ: 329


ความคิดเห็นที่ 847  เมื่อ 29 ธ.ค. 15, 16:09

 รูดซิบปาก ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 848  เมื่อ 30 ธ.ค. 15, 06:49

พระชินวรวงศ์เสด็จกลับมาสยามเพื่อถวายพระเพลิงพระบรมศพพระพุทธเจ้าหลวง แต่ไม่มีใครยินดีจะเสวนากับท่านในฐานะสงฆ์ ในที่สุดก็ทรงถูกสังคมบีบบังคับให้สึกจากสมณเพศ หลายท่านรับปากจะช่วยทั้งในเรื่องที่อยู่และงาน แต่ก็ดูเหมือนว่าไม่ตลอดรอดฝั่งสักราย รวมทั้งเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีผู้ที่ท่านปักใจว่าเป็นศัตรูคอยปองร้าย ก็ยังเคยรับพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ไปอยู่ด้วยกันที่บ้าน  ท่านก็ร้อนรนอยู่กับใครไม่ได้สักคน พระยาอนุมานราชธนเขียนเล่าในหนังสือฟื้นความหลังว่า “ตอนหลังนี้ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์มีพระทัยฉุนเฉียว ทรงเกลียดไม่เลือกหน้าว่าใคร หน้าบ้านของท่านตอนนั้น มีป้ายเขียนไว้ว่า “ห้ามหมา ห้ามคนเข้า”

หนังสือชีวิตเหมือนฝันโดยคุณหญิงมณี สิริวรสาร กล่าวถึงพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ว่า “…คนในซอยแพรกบ้านในนั้นรู้จักท่านดีทุกคน เพราะเป็นเจ้านายที่แปลกประหลาดพิสดารไม่ซ้ำแบบใครเลย ตอนเช้ามืดท่านมักเสด็จมาที่ระเบียงและร้องตะโกนคุยกับคุณพ่อเสียงดังลั่นข้ามฟากถนนมา ทำให้ผู้ที่เดินไปเดินมาอยู่บนถนนได้ยินเรื่องราวที่ท่านคุย ซึ่งเรื่องที่ตรัสนั้นล้วนเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการเมืองทั้งสิ้น
   
ในเวลานั้นพระองค์เจ้าปฤษฎางค์มีพระชันษาเจ็ดสิบกว่าปีแล้ว แต่ท่านยังทรงว่องไง คล่องแคล่ว แข็งแรง เวลาเสด็จนอกวัง(ผมใช้คำว่าบ้านตามท่าน)ทรงแต่งชุดสากลสีครีม สวมหมวกปานามา ไว้หนวดทรงแพะ และทรงถือไม้เท้า เวลาเสด็จไปไหนทุกคนต้องมองท่านด้วยความแปลกใจ เพราะท่านไม่เหมือนคนอื่น หน้าวังของท่านนั้นติดประกาศไว้หลายแผ่น เป็นข้อความเกี่ยวกับการเมืองทั้งสิ้น ทำให้คนต้องหยุดอ่านเสมอ….ผู้ที่ท่านประฌามส่วนมากเป็นเจ้านายชั้นสูงที่มีตำแหน่งเป็นเสนาบดีในสมัยนั้น แต่เพราะทรงพระชรามากแล้ว ใครๆ ก็คิดว่าทรงมีพระสติฟั่นเฟือน…..”
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 849  เมื่อ 31 ธ.ค. 15, 08:44

พ.ศ. ๒๔๕๔ วันที่ ๑๑ มีนาคม พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ลาสิขา ณ วัดสวนพลู บางรัก
พ.ศ. ๒๔๖๖ วันที่ ๖ มิถุนายน เริ่มรับราชการใหม่ที่กระทรวงต่างประเทศ
พ.ศ. ๒๔๖๗ ทรงถูกทางราชการเลิกจ้างเพราะงบประมาณแผ่นดินขาดดุลย์
พ.ศ. ๒๔๖๗ วันที่ ๒๔ กันยายน ทรงพิมพ์หนังสือพระประวัติ จำหน่ายเฉพาะผู้ต้องการ
พ.ศ. ๒๔๖๘ ประชวรหนักไปอยู่โรงพยาบาลครั้งแรก
พ.ศ. ๒๔๖๙ ประชวรหนักไปอยู่โรงพยาบาลครั้งที่สอง เท่าที่มีผู้บันทึก
พ.ศ. ๒๔๗๘ วันที่ ๑๖ มีนาคม พระองค์เจ้าปฤษฎางค์สิ้นชีพิตักษัย เมื่อพระชนม์ ๘๔ ชนษา


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 850  เมื่อ 31 ธ.ค. 15, 08:54

สัจธรรมก็คือ ไม่มีใครจะทราบประวัติของบุคคลใด มากไปกว่าบุคคลนั้น

ภาษิตบทหนึ่งกล่าวว่า บุคคลมีสามตัวตน  ตัวตนแรกเพื่อเปิดเผยให้สังคมรู้จัก ตัวตนที่สองให้ทราบกันภายในครอบครัว และตัวตนที่สามปกปิดไว้เฉพาะตนเอง

ในอดีตที่ผ่านมา คนส่วนใหญ่จึงได้ทราบเรื่องราวของพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ตามความในหนังสือพระประวัติ กระทู้นี้ได้เปิดตัวตนที่สองและสามจากนิพนธ์ของท่านเองในหนังสือทูลลาออกจากราชการ และจากเอกสารที่เกี่ยวข้องกับท่านที่มีให้สาธารณะชนค้นหาได้ในหอจดหมายเหตุแห่งชาติ

พระนามปฤษฎางค์นั้นแปลว่าหลัง ก็คือหลัง จึงทำให้ท่านออกมายืนแถวหน้าไม่ได้นาน
ชีวิตทนทุกข์นานมาก เพราะพระชนมายุยืนถึง ๘๔ ชนษา กว่าจะสิ้นชีพิตักษัยในวันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๔๗๘ 

สุดท้าย อยากจะเล่าว่า สาส์นสมเด็จ ฉบับลงวันที่ ๔ มีนาคม ๒๔๗๙ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเขียนทูล สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ ความตอนหนึ่งว่า “…พระศพพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ที่เขาให้ใส่โกศหุ้มผ้าขาวไม่มีประกอบนั้นดูก็สมควร เพราะเธอมีระแวงผิดมาแต่ก่อน”   

เรื่องราวชีวิตดังนิยายของพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ ยามขึ้นเป็นพลุ ยามตกเป็นกะลา พิสูจน์สัจธรรมของกฏพระไตรลักษณ์ถึงความไม่เที่ยงแท้แน่นอนของทุกสรรพสิ่ง ปุถุชนควรถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท อย่าหลงระเริงคิดว่าความสุขความเจริญที่มีอยู่เป็นอยู่นั้นจะถาวร 
หวังว่า เรื่องทั้งหมดของพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ที่ผมนำเสนอมานี้ คงให้อนุสติแก่ผู้ติดตามอ่านตามควร   

สิ้นปี ๒๕๕๘ พอดีเลยครับ เอวัง
บันทึกการเข้า
rubylondon
อสุรผัด
*
ตอบ: 1


ความคิดเห็นที่ 851  เมื่อ 15 ม.ค. 16, 17:36

สวัสดีค่ะ
ขอบคุณอาจารย์ทุกๆท่านที่มาให้ความรู้ค่ะอ่านสนุกมากๆและได้ความรู้มากจนหยุดไม่ได้
ถ้าตอนเรียนหนังสือขยันแบบนี้คงได้เกียรตินิยมไปแล้วค่ะ

เพิ่งเคยเข้ามาเว็บนี้ครั้งแรกเลยค่ะ ปกติอ่านในพันทิปบ้าง
เรื่องพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ ดิฉันอ่านแล้วกลับคิดต่างออกไป คือ
ถ้าจะมีข้อเสียก็คือเรื่องการใช้เงิน ซึ่งก็อาจจะอยู่ในวิสัยที่ชายหนุ่ม หน้าที่การงานดี แต่ก่อนไม่มีและกลับมามีมากเลยสุรุ่ยสุร่าย
ใช้เก่งแต่หาไม่เก่งซึ่งเป็นข้อเสียเฉพาะคนใช้เงินเกินตัว เป็นได้ไหมคะ
และส่วนที่กลัวจะโดนพระราชอาญามากจนหนี ดิฉันก็ว่าเป็นไปได้นะคะโดยไม่ต้องมี delusion

ที่ดิฉันสงสัยคือ
1. ทำไมถ้าท่านจะคบกับคุณหญิงศรีจึงผิด ทำไมต้องมีคนเดือดร้อนห้ามปราม ในเมื่อเป็นหม้าย (เพราะหม่อมน้อยมารดาท่านก็เป็นหม้ายและมีสามีใหม่ ซึ่งก็น่าจะเป็นเรื่องธรรมดาในสมัยก่อน)
2. อ่านผ่านๆว่า หม่อมน้อย ร่ำรวยมาก รับจำนำเครื่องเพชรของเจ้านาย ทำไมถึงไม่เหลือเงินทำศพเลย (จะเป็นเพราะท่านเอาไปใช้หมด?)

ขอบคุณค่ะ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 852  เมื่อ 15 ม.ค. 16, 19:24

ขอบคุณสำหรับคำถามประเทืองปัญญานะครับ

อ้างถึง
เพิ่งเคยเข้ามาเว็บนี้ครั้งแรกเลยค่ะ ปกติอ่านในพันทิปบ้าง
เรื่องพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ ดิฉันอ่านแล้วกลับคิดต่างออกไป คือ
ถ้าจะมีข้อเสียก็คือเรื่องการใช้เงิน ซึ่งก็อาจจะอยู่ในวิสัยที่ชายหนุ่ม หน้าที่การงานดี แต่ก่อนไม่มีและกลับมามีมากเลยสุรุ่ยสุร่าย
ใช้เก่งแต่หาไม่เก่งซึ่งเป็นข้อเสียเฉพาะคนใช้เงินเกินตัว เป็นได้ไหมคะ
และส่วนที่กลัวจะโดนพระราชอาญามากจนหนี ดิฉันก็ว่าเป็นไปได้นะคะโดยไม่ต้องมี delusion

เรื่องอาการของโรค delusion นี้ ผมในฐานะผู้เขียนไม่ได้มีการตั้งธงมาก่อน แต่ขณะเมื่อเขียนไปคิดไป ประกอบกับความเห็นของท่านอื่นๆ จึงเอะใจว่าท่านคงมีสภาพจิตไม่ปกติแน่แล้ว เพราะคนดีๆเขาคงไม่คิดไม่เขียนหนังสือกราบทูลสมเด็จเจ้าฟ้าแบบนั้น เช่นย้ำแล้วย้ำอีกว่าเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีจะทำร้ายท่านจนท่านต้องหนี ทั้งๆที่ในพระประวัติที่ทรงเขียนเอง หลังจากเสด็จกลับเมืองไทยและลาสิกขาแล้ว ท่านยังไปอาศัยบ้านของเจ้าพระยาสุรศักดิ์ระยะหนึ่ง ตามคำเชิญชวนของท่านผู้นั้นด้วยซ้ำ

การที่ท่านหนี จะว่าหนีเพราะกลัวจะโดนพระราชอาญาคนดีๆเขาคงไม่ทำ หากพิจารณาพระมหากรุณาธิคุณ การลงโทษพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ก่อนหน้าก็มิใช่จะเอาเป็นเอาตาย
แต่อย่างว่าแหละ คนปกติๆก็คงไม่ทำผิดให้พระเจ้าอยู่หัวทรงกริ้วขนาดนั้นอยู่ดี
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 853  เมื่อ 15 ม.ค. 16, 19:35

อ้างถึง
1. ทำไมถ้าท่านจะคบกับคุณหญิงศรีจึงผิด ทำไมต้องมีคนเดือดร้อนห้ามปราม ในเมื่อเป็นหม้าย (เพราะหม่อมน้อยมารดาท่านก็เป็นหม้ายและมีสามีใหม่ ซึ่งก็น่าจะเป็นเรื่องธรรมดาในสมัยก่อน)

ท่านผิดเพราะ ๑ ท่านมีภรรยา(หลวง)อยู่แล้ว หม่อมตลับคือคนที่เดือดร้อนเห็นๆ และยังพวกหม่อมเล็กๆที่ท่านเลี้ยงไว้ที่แพอีกสองสามคน ถึงจะไม่มีปากมีเสียงแต่ก็คงจะไม่มีความสุขในเรื่องนี้
               ๒ คุณหญิงศรี เป็นคนมีมรดก ถึงแม้ยังไม่ชัดเจนว่าจะแบ่งกันอย่างไรกับน้องชายของอดีตสามี และยังมีภาระที่ต้องรับผิดในคดีที่สามีผู้วายชนม์ได้ก่อไว้ ยังไม่เด็ดขาดว่าจะต้องชำระเงินคืนพระคลังเท่าไหร่ อย่างไร การไปคบหากับพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ ซึ่งก็น่าจะรู้ๆกันอยู่ว่าใช้เงินมือเติบและมีหนี้สิน ผู้เกี่ยวข้องก็คงจะเบรกๆไว้บ้างแน่นอน
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 854  เมื่อ 15 ม.ค. 16, 19:37

อ้างถึง
2. อ่านผ่านๆว่า หม่อมน้อย ร่ำรวยมาก รับจำนำเครื่องเพชรของเจ้านาย ทำไมถึงไม่เหลือเงินทำศพเลย (จะเป็นเพราะท่านเอาไปใช้หมด?)

อันนี้ผมไม่ทราบเหมือนกันครับ
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 55 56 [57] 58 59 60
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.083 วินาที กับ 19 คำสั่ง