เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 45 46 [47] 48 49 ... 60
  พิมพ์  
อ่าน: 142600 พระองค์เจ้าปฤษฎางค์-ชีวิตลับที่ทรงเผยไม่ตลอด
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 690  เมื่อ 16 ส.ค. 15, 07:12

สัจธรรมก็คือ ไม่มีผู้ใดจะทราบประวัติของผู้ใด มากไปกว่าผู้นั้น

พระองค์เจ้าปฤศฤางค์ท่านออกหนังสือพระประวัติมา หวังให้คนอ่านเชื่อท่าน ซึ่งส่วนใหญ่อ่านแล้วก็ไม่ได้นึกอะไรมากไปกว่าความนัยที่ท่านรำพันไว้
ลองดูภาคผนวก ที่ท่านมาแถมให้
เรื่องแรกนี้เป็นข้อความในหนังสือกล่าวดุษฎีองค์ท่าน ในโอกาสที่ทรงได้รับการสถาปนาจากหม่อมเจ้าขึ้นเป็นพระองค์เจ้า จัดทำโดยข้าราชการสถานทูตผู้เป็นผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา ถ้อยความไม่ได้พิศดารอะไรผมจึงตัดทิ้งไป เอาที่เฉพาะลงพระนามและลงนามท้ายหนังสือดังกล่าว


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 691  เมื่อ 16 ส.ค. 15, 07:23

ถาดที่ทำด้วยเงินกาไหล่ทองลงยานี้ มีค่าสูงนักทั้งด้านรูปธรรมและนามธรรม ในความรู้สึกนั้นคงจะทรงปลื้มปิติ ภาคภูมิใจกับของขวัญชิ้นนี้มาก เสมือนเป็นประกาศนียบัตร์รับรองคุณค่าของพระองค์ท่าน ซึ่งต่อมา คุณค่าของพระองค์ก็หายไป ดังถูกพระยารมาปล้น ด้วยข้อกล่าวหา(ถูกปล่อยข่าว)ว่าเป็นลูกหนึ้เขา คล้ายกับท่านจะไม่ยอมรับข้อกล่าวหานี้ แต่ไปโทษใครต่อใครไม่ทราบโดยไม่ลืมชูตัวท่านเอง ในท้ายข้อความข้างล่าง


บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12601



ความคิดเห็นที่ 692  เมื่อ 16 ส.ค. 15, 08:48

ความภูมิใจของพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ซึ่งบรรจุในรัตนเจฎีย์

๑. พระบรมธาตุที่ได้ปาฏิหารย์มาปรากฏในท่ามกลางที่ประชุมครั้งเมื่ออุปสมบท
๒. พระบรมธาตุที่ได้มาจากประเทศอินเดีย
๓. ชิ้นบาตรดินเผาที่รัฐบาลอินเดียขุดได้ในพระสถูปโบราณ
๔. เหรียญตรา เครื่องราชอิสริยาภรณ์ทั้งไทยและต่างประเทศ รางวัลที่เคยได้รับ พระสุพรรณบัตร สัญญาบัตร ประกาศนียบัตร เครื่องแบบทหารและพลเรือน แก้วแหวนเงินทองของพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ และของมีค่าอื่น ๆ ที่ทายกทายิการ่วมถวายอีกหลายรายการ

http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2009/07/K8075368/K8075368.html#34



บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12601



ความคิดเห็นที่ 693  เมื่อ 16 ส.ค. 15, 09:21


เพื่อคืนดีกับพระเจ้าอยู่หัว เพราะต่างก็กริ้วโกรธซึ่งกันและกัน

เรื่องนี้มีร่องรอยอยู่ในพระประวัติพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ ซึ่งเป็นตอนหนึ่งจากงานเขียนเรื่อง "วังท่าพระ กรมช่างสิปป์หมู่และเรื่องพิศดารอื่น ๆ"  ของ ดร.สุเมธ ชุมสาย ณ อยุธยา ซึ่งพิมพ์อยู่ในหนังสือที่ระลึกงานฌาปนกิจศพ หม่อมราชวงศ์หญิงทวีลาภา ปูรณะสุคนธ (ชุมสาย) ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม กรุงเทพมหานคร วันเสาร์ที่ ๒๖ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๒๘

เรื่องพระธาตุ

ที่ได้เสด็จไปลังกาอย่างกะทันหัน เหตุเนื่องมาจากมีผู้กล่าวร้าย ทำให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเคืองพระราชหฤทัยในบางเรื่อง และก่อนเสด็จได้ถวายหนังสือกราบบังคมทูลอย่างรุนแรงโดยฝากสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธุวงศ์ฯ เข้าไป ในหนังสือนั้นกล่าวหาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่า มิได้ทรงรักษาสัญญาที่ได้พระราชทานไว้ ฯลฯ และลงท้ายว่าชาติหน้าจะขอไม่มาเกิดร่วมวงศ์ตระกูลอีก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระพิโรธมาก ถึงกับรับสั่งว่า "ตราบใดที่แผ่นดินนี้เปนของพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จะไม่ให้พระองค์เจ้าปฤษฎางค์เข้ามาเหยียบอีก"

อย่างไรก็ดีหลังจากนั้น พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ก็ได้เสียพระทัยมาก และได้ขอพระราชทานเข้าเฝ้าเมื่อเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่สองโดยเสด็จผ่านมายังลังกา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ไม่ทรงยอมให้เข้าเฝ้า เป็นอันว่าหมดโอกาสจนสิ้นรัชกาล อนึ่งเรื่องที่สำคัญที่สุดในระหว่างที่ทรงผนวชอยู่ที่ลังกาก็คือได้เสด็จตระเวนอินเดีย และได้พบฝรั่งขุดเจอพระบรมสารีริกธาตุ ที่เมืองกบิลพัสดุ์ จึงได้จัดแจงให้รัฐบาลอังกฤษถวายมายังพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งในที่สุดได้ประดิษฐานไว้บนพระบรมบรรพต อันที่จริงในเรื่องนี้นั้นพระเจ้าอยู่หัวกำลังจะทรงคืนดีและพระราชทานอภัยโทษให้อยู่แล้ว แต่ก็มิไยมีผู้ใส่ร้ายหาว่ายักยอกพระบรมสารีริกธาตุไว้เองก่อน อังกฤษถวายมายังกรุงสยาม ต้องทรงตกระกำลำบากจนสิ้นพระชนม์


สงสัยอยู่เหมือนกันว่า ตรง ชาติหน้าจะขอไม่มาเกิดร่วมวงศ์ตระกูลอีก อยู่ตรงไหนในหนังสือหนอ หาไม่เจอ  ฮืม
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 694  เมื่อ 16 ส.ค. 15, 10:29

อ้างถึง
แต่ก็มิไยมีผู้ใส่ร้ายหาว่ายักยอกพระบรมสารีริกธาตุไว้เองก่อน อังกฤษถวายมายังกรุงสยาม
ตรงนี้อาจารย์สุเมธพลาดเสียแล้ว

เจ้าพระยายมราชท่านเป็นผู้แทนพระองค์ไปรับมอบพระบรมสารีริกธาตุจากรัฐบาลอังกฤษที่อินเดีย จึงได้พบพระภิกษุพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ที่นั่น ซึ่งท่านก็ได้เล่าเรื่องราวเอาคะแนนว่า ท่านทรงทราบเรื่องที่อังกฤษพบผอบพระบรมสารีริกธาตุที่โบราณสถานกรุงกบิลพัสดุ์ ก็รีบมาดู และท่านทรงเป็นผู้แนะนำให้รัฐบาลอังกฤษถวายพระเจ้าอยู่หัวเองนะ จะบอกให้ แต่ตอนนั้นเขายังไม่ได้ตกปากรับคำ ท่านเลยอาศัยทีเผลอ หยิบองค์หนึ่งใส่ย่ามไว้ คิดในใจว่า หากว่าอังกฤษไม่ให้ จะได้มีองค์ที่ท่านหยิบมานั้นทูลเกล้าถวายพระเจ้าอยู่หัว

เรื่องนี้ท่านกะได้หลายคะแนนจากพระเจ้าอยู่หัวทีเดียว
แต่โชคร้าย เจ้าพระยายมราชท่านเป็นมหาบาเรียนเก่า ได้ฟังเช่นนั้นเข้าก็เลยทูลว่า นั่นเป็นอทินนาทาน และเป็นอทินนาทานใหญ่ซะด้วยถึงขั้นปาราชิก คือขาดจากการเป็นพระภิกษุแล้วแม้ตัวจะครองผ้าเหลืองอยู่ก็ตาม จะแก้ตัวอย่างใดมิได้เลย และแล้ว เจ้าพระยายมราชก็ทำหนังสือกราบบังคมทูลมายังพระเจ้าอยู่หัว

ไม่เห็นพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ท่านแก้ตัวที่ไหนอย่างไร ว่าท่านถูกใส่ร้ายเรื่องนี้ เช่่นอ้างว่า ข้าหลวงอังกฤษถวายท่าน แต่ถูกเจ้าพระยายมราชใส่ร้ายหาว่ายักยอกเขามาเป็นต้น แต่ท่านอาจจะเล่าให้ลูกหลานฟังทำนองเดียวกับที่ ม.จ.ฉวีวาด เล่าให้ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ผู้เยาว์ฟังก็ได้
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 695  เมื่อ 16 ส.ค. 15, 10:52

ท่านมิได้ทรงอธิบายชี้แจงต่อข้อกล่าวหาอะไรของท่านเลย นอกจากกล่าวว่าท่านเป็นคนดีอย่างนั้นอย่างนี้เท่านั้นเอง ดังโคลงบทนี้
เห็นจะต้องเชิญท่านอาจารย์เทาชมพูมาขยายความอีกแล้ว



คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 696  เมื่อ 16 ส.ค. 15, 11:32

      พูดตามภาษาชาววัดหน่อยก็ต้องบอกว่าพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ท่านเป็นคนที่ "บุญมี แต่กรรมบัง"    จะเป็นเพราะมีพระโรคทางอารมณ์เรื้อรังอยู่   หรือว่าเป็นพระนิสัยที่ไม่รอบคอบ หรืออย่างไรก็ตาม     ทำให้การตัดสินพระทัยในเรื่องสำคัญๆผิดพลาดอยู่หลายเรื่อง เป็นเหตุให้ท่านลอยพ้นจากก้นเหวขึ้นมาไม่ได้สักที    แม้แต่จะเจอเรื่องที่เป็นโชคยิ่งใหญ่หลายครั้งหลายคราวก็ตาม
      เรื่องพระบรมสารีริกธาตุที่ท่านแอบหยิบใส่ย่ามมา เป็นความคิดที่ประมาท และผิดพลาดร้ายแรง   ท่านอาจจะเล็งในแง่ที่ว่า ถ้าอังกฤษยึกยักไม่ยอมส่งมาถวายพระเจ้าอยู่หัว  ก็เป็นเรื่องน่าเสียดายหนักหนาที่พลัดหลุดมือสยามไป    ท่านจะต้องกอบกู้เอามาให้ได้      และจะเป็นความดีความชอบของท่านด้วย
      แต่ความคิดเช่นนี้ผู้ใหญ่ที่มีวุฒิภาวะเขาไม่ทำกันแน่นอน     ลองนึกดูว่า หากทำได้จริงๆ ลักลอบถวายส่งถึงพระหัตถ์ได้จริงๆไม่มีอุปสรรค    สยามจะปกปิดพระบรมสารีริกธาตุจากนานาประเทศได้อย่างไร      สิ่งนี้ไม่ใช่ของส่วนพระองค์ที่ถวายพระเจ้าอยู่หัวแล้วพระองค์ท่านจะทรงเก็บเอาไว้ในห้องเห็นได้แต่พระองค์เดียว   แต่เป็นสิ่งที่คนทั้งประเทศต้องรับรู้เพื่อเอาไว้เคารพบูชา
       ถ้าเจ้าพระยายมราชไม่ขวางเอาไว้เสียก่อน  พระบารมีและพระเกียรติคุณของพระเจ้าอยู่หัวจะต้องถูกนำมาเสี่ยงต่ออังกฤษและนานาประเทศอย่างมาก  เป็นเรื่องกระอักกระอ่วนกลืนไม่เข้าคายไม่ออก   จะเก็บซ่อนก็ไม่ได้ จะเอาไปคืนอังกฤษก็อื้อฉาว    ต้องเป็นเรื่องหนักพระราชหฤทัยไปอีกนาน
      พระองค์เจ้าปฤษฎางค์คงจะมองเพียงว่าเป็นเจตนาดีของท่าน    เมื่อกลับกลายเป็นร้าย  แทนที่จะโทษความไม่รอบคอบของท่าน   ท่านก็เลือกคำตอบง่ายๆว่าท่านถูกใส่ร้าย
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 697  เมื่อ 16 ส.ค. 15, 11:42

โคลงที่ท่านนวรัตนให้การบ้านครูทำ   คำง่ายแต่เข้าใจยาก เพราะความคิดท่านก็วกวนซ้ำไปซ้ำมา   นอกจากนี้ยังเกี่ยวเนื่องกับโคลงก่อนหน้านี้อีกด้วย เลยไม่ค่อยกระจ่างว่าหมายถึงอะไร
สรุปว่าท่านพูดถึงเพื่อนที่ดีและชั่ว  ส่วนเรื่องต่างๆ จะดีจะร้ายยังไงท่านตัดสินของท่านได้เอง   เพื่อนเลวแม้ให้โทษทัณฑ์ท่าน ท่านก็จะไม่เอนเอียงไป  ยังคงรักษาธรรมะเอาไว้

ความคิดท่านออกมาในรูปหวาดระแวงหลงผิดว่ามีแต่คนรอบข้างใส่ร้าย คิดร้าย ทำร้าย  หรืออย่างเบาที่สุดก็คือตีตัวออกห่างไม่มาดูดำดูดี  ทั้งๆในความเป็นจริง เราเห็นจากข้อเท็จจริงว่า ท่านก็ตกลงไปอยู่กับคนเหล่านั้น หนึ่งคือเจ้าพระยาสุรศักดิ์นี่แหละไม่ใช่ใคร ก็แสดงว่าในความเป็นจริง  คนรอบๆตัวท่านก็ไม่ได้เลวร้ายอย่างที่คิด
คุณหมอ CVT หรือคุณหมอ SILA เข้ามาอ่าน คงพอมองเห็นอาการทำนองนี้มาบ้างนะคะ
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12601



ความคิดเห็นที่ 698  เมื่อ 16 ส.ค. 15, 12:55

อาจารย์ชัยอนันต์ สมุทวณิช  เขียนถึงพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ ว่า

พระองค์เจ้าปฤษฎางค์เริ่มชะตาตกหลังจากที่ได้กราบบังคมทูลถวายความเห็นจัดการเปลี่ยนแปลงราชการแผ่นดิน ในพระประวัติได้ทรงแต่งโคลงแสดงความคับแค้นพระหฤทัยเรื่องเพื่อนว่าถูก “ฝูง” เพื่อนลอบถีบหกขะเมนทั้งยืนโดยไม่รู้ตัว อย่างไรก็ดี ผู้ซึ่งเป็นเพื่อนใกล้ชิดก็ได้มีจดหมายขอโทษไปถึงพระองค์ท่านภายหลังที่ได้ทรงผนวชที่ศรีลังกาแล้ว

ความคิดที่ว่า พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ชะตาตกเหตุเพราะเรื่องถวายบังคมทูลความเห็น ร.ศ. ๑๐๓ และพระองค์ถูกเพื่อน ๆ คิดร้ายจริง ยังวนเวียนอยู่ในเน็ตอยู่จนทุกวันนี้
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 699  เมื่อ 16 ส.ค. 15, 15:58

     พูดตามภาษาชาววัดหน่อยก็ต้องบอกว่าพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ท่านเป็นคนที่ "บุญมี แต่กรรมบัง"    จะเป็นเพราะมีพระโรคทางอารมณ์เรื้อรังอยู่   หรือว่าเป็นพระนิสัยที่ไม่รอบคอบ หรืออย่างไรก็ตาม     ทำให้การตัดสินพระทัยในเรื่องสำคัญๆผิดพลาดอยู่หลายเรื่อง เป็นเหตุให้ท่านลอยพ้นจากก้นเหวขึ้นมาไม่ได้สักที    แม้แต่จะเจอเรื่องที่เป็นโชคยิ่งใหญ่หลายครั้งหลายคราวก็ตาม
      เรื่องพระบรมสารีริกธาตุที่ท่านแอบหยิบใส่ย่ามมา เป็นความคิดที่ประมาท และผิดพลาดร้ายแรง   ท่านอาจจะเล็งในแง่ที่ว่า ถ้าอังกฤษยึกยักไม่ยอมส่งมาถวายพระเจ้าอยู่หัว  ก็เป็นเรื่องน่าเสียดายหนักหนาที่พลัดหลุดมือสยามไป    ท่านจะต้องกอบกู้เอามาให้ได้      และจะเป็นความดีความชอบของท่านด้วย
      แต่ความคิดเช่นนี้ผู้ใหญ่ที่มีวุฒิภาวะเขาไม่ทำกันแน่นอน     ลองนึกดูว่า หากทำได้จริงๆ ลักลอบถวายส่งถึงพระหัตถ์ได้จริงๆไม่มีอุปสรรค    สยามจะปกปิดพระบรมสารีริกธาตุจากนานาประเทศได้อย่างไร      สิ่งนี้ไม่ใช่ของส่วนพระองค์ที่ถวายพระเจ้าอยู่หัวแล้วพระองค์ท่านจะทรงเก็บเอาไว้ในห้องเห็นได้แต่พระองค์เดียว   แต่เป็นสิ่งที่คนทั้งประเทศต้องรับรู้เพื่อเอาไว้เคารพบูชา
       ถ้าเจ้าพระยายมราชไม่ขวางเอาไว้เสียก่อน  พระบารมีและพระเกียรติคุณของพระเจ้าอยู่หัวจะต้องถูกนำมาเสี่ยงต่ออังกฤษและนานาประเทศอย่างมาก  เป็นเรื่องกระอักกระอ่วนกลืนไม่เข้าคายไม่ออก   จะเก็บซ่อนก็ไม่ได้ จะเอาไปคืนอังกฤษก็อื้อฉาว    ต้องเป็นเรื่องหนักพระราชหฤทัยไปอีกนาน
      พระองค์เจ้าปฤษฎางค์คงจะมองเพียงว่าเป็นเจตนาดีของท่าน    เมื่อกลับกลายเป็นร้าย  แทนที่จะโทษความไม่รอบคอบของท่าน   ท่านก็เลือกคำตอบง่ายๆว่าท่านถูกใส่ร้าย

ไปเจอข้อความที่ท่านเขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้มาครับ ข้าหลวงในที่นี้คือเจ้าพระยายมราชนั่นเอง ท่านกล่าวทำนองว่าเป็นเรื่องของการตีความ คือท่านเจ้าคุณว่าท่านผิดเพราะฉลาด แต่ท่านว่าท่านไม่ผิดเพราะโง่

ราวกับว่าพระบรมสารีริกธาตุนั้นไม่มีค่างวดอะไร


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 700  เมื่อ 16 ส.ค. 15, 16:16



ข้างบนนี้ท่านประชด
ท่านถือว่าท่านเป็นคนดำเนินงานมาตั้งแต่ต้น   นับตั้งแต่ยื่นหนังสือให้ไวซรอยหรืออุปราชชาวอังกฤษแห่งอินเดียถวายพระบรมสารีริกธาตุแก่พระเจ้าแผ่นดินสยาม    และพระองค์ท่านจะทรงแจกให้ประเทศอื่นๆด้วยก็ได้      ทางไวซรอยก็ทำตามที่ท่านแนะแนวมาแต่แรก    ส่วนทางสยามก็จัดข้าหลวงออกไปรับพระบรมสารีริกธาตุมาประดิษฐานในกรุงเทพ    ทั้งข้าหลวงใหญ่อังกฤษและข้าหลวงสยามก็ได้พบปะเจรจาตกลงกันตามไอเดียริเริ่มของพระองค์เจ้าปฤษฎางค์
แต่ความดีทั้งหมดกลับไปตกอยู่กับข้าหลวงสยาม ซึ่งฉลาดพอจะเอาความดีใส่ตัว ทั้งๆไม่ได้คิดอ่านทำอะไรเลยสักอย่าง  และพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ผู้ซื่อไม่รู้เท่าทัน ก็ทำคุณบูชาโทษไป  ไม่ได้อะไรขึ้นมาเลย  

การตีความเรื่องใหญ่หลายๆเรื่องในชีวิตของพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ออกมาในรูปซ้ำๆกัน คือทุกอย่างท่านไม่ได้เป็นคนผิด  ไม่ได้กระทำความผิดใดๆ  ท่านยังมีออนเนอร์ มีความจงรักภักดี ซื่อสัตย์สุจริต  ตั้งใจทำเพื่อชาติบ้านเมืองและพระมหากษัตริย์     แต่ท่านมีศัตรูมากมายหลายคน คอยใส่ร้ายกลั่นแกล้งราวีมาตั้งแต่แรก   ทำให้คุณความดีของท่านกลายเป็นโทษไปเสียหมด

คนรุ่นหลังอ่านแล้วก็เห็นใจไปตามๆกัน
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 701  เมื่อ 16 ส.ค. 15, 18:44

ตามข้อเท็จจริง อังกฤษได้มีหนังสือแจ้งเจตนาที่จะทูลเกล้าถวายพระบรมสารีริกธาตุมาแล้ว จึงโปรดเกล้าให้พระยาสุขุมนัยวินิต ซึ่งต่อมาก็คือเจ้าพระยายมราชเป็นข้าหลวงออกไปรับ ไม่ใช่ว่าข้าหลวงไปเจรจากันแล้วอังกฤษจึงมอบให้หามิได้

ตามรอยพิสูจน์พระบรมสารีริกธาตุ จากกบิลพัสดุ์สู่บรมบรรพต
Life Style กรุงเทพธุรกิจ
 วันที่ 23 พฤศจิกายน 2555

โดย : เพ็ญนภา หงษ์ทอง

http://www.bangkokbiznews.com/…/ตามรอยพิสูจน์พระบรมสารีริกธ…

ย้อนรอยความเป็นมาของพระบรมสารีริกธาตุ กับกระบวนการพิสูจน์ความจริงในยุครัชกาลที่ 5 อันเนื่องจากงานสักการะภูเขาทองในปีนี้

เช้าตรู่วันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ผ้าแดงผืนใหญ่ถูกแห่ขึ้นห่มองค์ภูเขาทอง เป็นสัญลักษณ์ว่าอีก ๓ วันข้างหน้า งานสักการะพระบรมสารีริกธาตุประจำปีจะถูกจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ ณ บรมบรรพต หรือ ภูเขาทอง สัญลักษณ์เด่นตระการของวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร ที่อยู่คู่กับราชธานีแห่งนี้มานับแต่สมัยรัชกาลที่ ๕

สำหรับชาวพุทธส่วนใหญ่ งานสมโภชน์ที่จัดขึ้นในช่วงกลางเดือน ๑๒ ของทุกปีเช่นนี้ หมายถึงช่วงเวลาสำคัญที่จะได้เข้าร่วมพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ในการสักการะพระบรมสารีริกธาตุที่บรรจุอยู่ในองค์เจดีย์ภูเขาทอง เปรียบประดุจการได้ทำการถวายสักการะพระพุทธองค์ต่อหน้าพระพักตร์อย่างใกล้ชิด

แต่อีกหลายคนวาระอันสำคัญนี้หมายถึงความสงสัยในความจริงแท้ของพระบรมสารีริกธาตุย้อนกลับมาให้คิดถึงอีกครั้ง จะเชื่อได้อย่างไรว่าสิ่งที่ชาวพุทธกระทำการมหาสักการะด้วยศรัทธาอันตั้งมั่นนั้น คือสิ่งที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นส่วนหนึ่งของพระสรีระของพระพุทธองค์อย่างแท้จริง ซึ่งความสงสัยนี้เคยถูกทำให้จางหายไปจากใจคนในอดีต ด้วยกระบวนการการพิสูจน์ความจริงว่าด้วยพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ดำเนินการขึ้น เพื่อตอบคำถามของทั้งชาวไทยและชาวโลกในยุคสมัยของพระองค์

ความสงสัยในความแท้หรือเทียมของพระบรมสารีริกธาตุนี้ ดังขึ้นนับแต่วันที่ ๒๗ สิงหาคม ร.ศ. ๑๑๗ (ตรงกับ พ.ศ. ๒๔๔๑) เมื่อ ยอช เครฟวิล ราชทูต และกงสุลแห่งประเทศอังกฤษ มีจดหมายในนามรัฐบาลอินเดีย ทูลมายังพระเจ้าน้องยาเธอกรมหลวงเทวะวงษวโรประการ เสนาบดีกระทรวงต่างประเทศของสยาม ณ ขณะนั้น ความตอนหนึ่งว่า

“...ท่อนอัฐิและอังคารที่พบปะขึ้นนี้ ปรากฏว่าเป็นของพระสมณโคดมพุทธศากยมุณี...สิ่งของอื่นๆ ทั้งหลายที่พบขึ้นด้วยกันนั้น ก็เป็นสิ่งที่ชอบใจของผู้ศึกษาชาวยุโรป...ส่วนพระพุทธสารีริกธาตุ ซึ่งเป็นอัฐิและอังคารนั้น เป็นของนับถือศักดิ์สิทธิ์ของพุทธศาสนิกชน เหตุฉะนั้นรัฐบาลอินเดียจึงมีความประสงค์จะทูลเกล้าถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้ากรุงสยาม อันเป็นบรมกษัตริย์ ซึ่งนับถือพระพุทธศาสนาอยู่พระองค์เดียวทุกวันนี้ เพื่อจะได้ทรงจำแนกแก่ผู้ที่ควรได้รับรักษาไว้” (จากสำเนาคำแปลจดหมาย, เอกสาร ร.๕ แฟ้ม ศ.๑๑ หมายเลข ๑๒/๑๑ หอจดหมายเหตุแห่งชาติ)
“พระพุทธสารีริกธาตุ” ที่ ยอช เครฟวิล อ้างถึงในจดหมายคือ “พระอัฐิและอังคาร” ที่ วิลเลียม แคลกตันซ์ เปปเป ชาวอังกฤษ ขุดพบในต้น ร.ศ. ๑๑๖ ใต้พื้นดินในบริเวณที่เรียกว่า ปิปราห์วะ โกต (Piparahawa Kot) แควันบัสติ ซึ่งในอดีตถือว่าอยู่ในเขตกรุงกบิลพัสดุ์ และมีการพิสูจน์จากรัฐบาลอินเดียและอังกฤษ ซึ่งเป็นเจ้าอาณานิคมของอินเดีย แล้วว่าเป็น “อัฐิของสมเด็จพระผู้ทรงพระภาคสัมมาสัมพุทธเจ้า”

จดหมายฉบับนี้ก่อให้เกิดความตื่นตัวในราชสำนักแห่งสยามอย่างยิ่งว่า ควรจะมีทีท่าอย่างไรในการตอบกลับรัฐบาลอินเดีย

“การที่จะพึงกล่าวมีอยู่แต่สองอย่าง คือจะรับเชื่อถือหรือไม่รับโดยไม่เชื่อถือเท่านี้...ถ้ารับ จำต้องระวังการที่นักปราชญ์ในประเทศอื่นจะกล่าวคำโต้แย้งว่า พระธาตุรายนี้มิใช่พระบรมสารีริกธาตุโดยแท้ ถ้าหากว่าเขาหาเหตุผลประจักษ์แก่ตาชาวโลกได้ว่ามิใช่พระบรมสารีริกธาตุโดยแท้ ความเสื่อมเสียในข้อที่หลงเชื่อสิ่งที่ไม่เป็นจริงก็จะบังเกิดขึ้น ถ้าหากว่าไม่รับ ก็จำเป็นจะต้องทรงชี้แจงเหตุผลให้ประจักษ์แก่ตาชาวโลกว่าไม่ควรเชื่ออัฐิรายนี้ว่าเป็นพระบรมสารีริกธาตุโดยเหตุใด ถ้าไม่ชี้แจงได้เช่นนั้นพวกนับถือศาสนาในเมืองอื่น คือ เมืองลังกา และเมืองพม่า พากันลงเนื้อเชื่อถือได้ไปไว้ในเมืองนั้นๆ ความเสื่อมเสียพระเกียรติยศก็จะมี เป็นการยากมีอยู่ทั้งสองฝ่ายฉะนี้” ส่วนหนึ่งของจดหมายที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งดำรงตำแหน่งเสนาบดีว่าการมหาดไทย เขียนกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ลงวันที่ ๒๑ ตุลาคม ร.ศ. ๑๑๗ (พ.ศ.๒๔๔๑) แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า เดิมพันในการเชื่อหรือไม่เชื่อในความจริงแท้แห่งพระบรมสารีริกธาตุครั้งนี้ยิ่งใหญ่และสำคัญต่อราชสำนักสยามนัก

การพิสูจน์ทราบความจริงแท้แห่งองค์พระบรมสารีริกธาตุ เริ่มขึ้นนับแต่วันที่จดหมายจากยอช เครฟวิล เดินทางถึงราชสำนักสยาม ไปจนถึงวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ร.ศ. ๑๑๗ ที่ กรมหลวงเทวะวงษวโรประการ มีจดหมายตอบกลับไปยังยอช เครฟวิล ว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาสุขุมนัยวินิต ข้าหลวงมณฑลนครศรีธรรมราชเป็นผู้ออกไปรับพระบรมสารีริกธาตุนั้น โดยจะเริ่มออกเดินทางในเดือนธันวาคมทันที ชัดเจนว่าสยามประเทศมีข้อยุติแล้วว่า มีความเชื่อถือในพระบรมสารีริกธาตุนั้นว่าเป็นขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างไม่มีทางปฏิเสธว่าไม่ใช่

เอกสารหลักฐานทางประวัติสาสตร์ ในหอจดหมายเหตุแห่งชาติแสดงให้เห็นว่า ในกระบวนการวินิจฉัยของราชสำนักสยามนั้น ไม่เพียงแต่จะเป็นการพิจารณาจากหลักฐานเอกสารที่รัฐบาลอินเดียทำสำเนาส่งมา ซึ่งทางอินเดียและอังกฤษเองก็มีกระบวนการพิสูจน์ที่ละเอียดยิ่ง แต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯ ให้มีพระชินวรวงศ์ ภิกษุ (อดีตพระองค์เจ้าปฤษฎางค์) ซึ่งจาริกแสวงบุญอยู่แถบประเทศศรีลังกาและอินเดียในขณะนั้น เดินทางไปตรวจสอบหลักฐานถึงถิ่นที่ค้นพบ โดยเฉพาะจารึกโบราณ อันเป็นหลักฐานสำคัญที่ระบุว่า พระอัฐิธาตุที่พบเป็นของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

หลักฐานทุกอย่างที่ได้รับจากรัฐบาลอินเดีย และจากพระชินวรวงษ์ ถูกนำสู่ที่ประชุมเสนาบดี ซึ่งหลายท่านเชี่ยวชาญทั้งทางพุทธประวัติ ภาษาอังกฤษ ภาษาบาลี รวมไปถึงความสามารถในการวิเคราะห์อักษรพราหมี ซึ่งเป็นอักษรโบราณสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช นำโดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ซึ่งขณะนั้นดำรงพระอิสริยยศเป็น พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส เพื่อถกเถียง แลกเปลี่ยนความเห็น และตรวจสอบหลักฐานร่วมกันอย่างละเอียด

ย้อนกลับสู่ปิปราห์วะ โกต ยุคต้น ร.ศ. ๑๑๖ เมื่อมิสเตอร์เปปเป ขุดพบพระบรมสารีริกธาตุ เขาได้พบสิ่งของมากมาย และได้บันทึกการค้นพบนั้นลงพิมพ์ในวารสารรายเดือนของ “รอยัลเอเซียติก โซไซอตี้” ลงวันที่ ๑๕ กรกฏาคม ค.ศ.๑๘๙๘ (ร.ศ. ๑๑๗, พ.ศ. ๒๔๔๑) ซึ่งมีคำแปลบันทึกอยู่ในเอกสาร ร.๕ แฟ้ม ศ.๑๑ หมายเลข ๒/๑๑ แผนกเอกสารสำคัญ กองจดหมายเหตุแห่งชาติ สรุปได้ว่า มีหีบศิลาทำจากหินทรายขนาดใหญ่ ๑ ใบ ในหีบศิลาพบภาชนะ ๕ ชิ้น ประกอบด้วย ผอบศิลา ๒, ตลับศิลา ๒, หม้อศิลา ๑, และชามแก้วมีฝาเป็นรูปปลาที่มือถือ ๑ ในภาชนะเหล่านั้นมี “อัฐิหลายท่อน” พลอยจารนัยหลายอย่าง แผ่นทองคำทำเป็นรูปดาวและสี่เหลี่ยม กับที่ตีพิมพ์รูปราชสีห์ ซึ่งมีการพิสูจน์ภายหลังว่าเป็นสิ่งที่เรียกว่าสากยสิงหะ ที่สำคัญคือตามรอบของฝาผอบใบที่ ๑ มีคำจารึกเป็นอักษรพราหมี อันเป็นภาษาที่มีใช้ในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช (พ.ศ.๒๔๐- พ.ศ.๓๑๐) อยู่ด้วย

ในขณะที่ฝ่ายรัฐบาลอินเดียและรัฐบาลอังกฤษ เทียบเคียงสิ่งของที่เปปเปพบ กับสิ่งของที่มีการพบกันก่อนหน้านั้น ซึ่งได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีความเกี่ยวพันกับวิถีของชาวพุทธสมัยพระเจ้าอโศก อีกทั้งมีการแปลอักษรพราหมีที่จารึกรอบฝาผอบใบที่ ๑ เป็นภาษาบาลี และภาษาอังกฤษ ราชสำนักสยามสร้างความมั่นใจให้ตนเองด้วยการให้พระชินวรวงษ์ คัดลอกจารึกอักษรพราหมี ส่งกลับมายังดินแดนสยาม เพื่อให้กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส ทำการศึกษาเทียบเคียงกับอักษรพราหมีที่ปรากฏในจารึกอโศก ที่ขุดค้นพบก่อนหน้านั้นโดยตรง ซึ่งกรมหมื่นวชิรญาณวโรรส สรุปความได้ว่า

“นี้ ที่บรรจุพระสรีระของพระผู้มีพระภาคพระพุทธเจ้า ของศากยพี่น้องผู้ชายผู้มีเกียรติงาม พร้อมทั้งพี่น้องผู้หญิง พร้อมทั้งลูกเมีย”

ในขณะที่ฝ่ายอินเดีย เมื่อแปลมาเป็นภาษาอังกฤษ และถอดความเป็นภาษาไทยอีกครั้งหนึ่งได้ความว่า “อัฐซึ่งฝังเก็บไว้นี้ เป็นอัฐิของสมเด็จพระผู้ทรงพระภาคสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นส่วนของผู้มีเกียรติคุณ อันเป็นภาดาและภคินี กับทั้งบุตรและบุตรสะใภ้ แห่งวงศ์สกยราช”

เมื่อนำข้อความของจารึกโบราณนั้นมาพิจารณาเทียบเคียงกับเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ หลังจากที่พระพุทธองค์เสด็จดับขันธปรินิพพาน ณ กรุงกุสินารา และเหล่ามัลลกษัตริย์ร่วมกันถวายพระเพลิงแล้ว โทณพราหมณ์ได้ทำหน้าที่แบ่งพระบรมสารรีริกธาตุออกเป็น ๘ ส่วน เพื่อให้บรรดากษัตริย์ที่เดินทางมาจากที่ต่างๆ เพื่อเข้าร่วมงานพระบรมศพ ได้อัญเชิญไปประดิษฐาน ณ เมืองของตน ให้ชาวเมืองได้สักการะบูชา

พระบรมสารีริกธาตุ ๑ ใน ๘ ส่วนนั้น ถูกแบ่งให้กับกษัตริย์สักยราช (ศักยราช) พระญาติวงศ์ของพระพุทธองค์เพื่อให้อัญเชิญไปยังกรุงกบิลพัสดุ์ ประกอบหลักฐานอื่นๆ ที่ทางอินเดียส่งมาให้ ความสงสัยของราชสำนักสยามในความจริงแท้แห่งพระบรมสารีริกธาตุที่รัฐบาลอินเดียทูลเกล้าฯ ถวาย ก็เป็นอันสิ้นสุดลง

๑๖ กุมภาพันธ์ ร.ศ.๑๑๗ (การนับรัตนโกสินทร์ศกใช้เดือนเมษายนเป็นเดือนแรก และเดือนมีนาคมเป็นเดือนสุดท้ายของปี เมื่อเทียบกับปัจจุบันจึงเป็นเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๔๒) พระยาสุขุมนัยวินิต เดินทางถึงโกรักบุรี และเข้ารับมอบพระบรมสารีริกธาตุจากข้าหลวงใหญ่เมืองโกรักบุรี เชิญบรรจุในพระเจดีย์กะไหล่ทองคำ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานมาจากกรุงสยาม และเดินทางกลับถึงรัฐสยามในวันที่ ๒ มีนาคม ขึ้นฝั่งที่เมืองตรัง จากตรัง พระบรมสารีริกธาตุได้รับการอัญเชิญต่อไปยังพระวิหารเกาะพระสุมทรเจดีย์ ในวันที่ ๑๖ มีนาคม ซึ่งพระบรมสารีริกธาตุในพระเจดีย์กะไหล่ทองคำจะได้รับการประดิษฐานบนบุษบก เพื่อรอฤกษ์เคลื่อนไปประดิษฐานที่บรมบรรพตต่อไป

๒๓ พฤษภาคม ร.ศ. ๑๑๘ (ตรงกับ พ.ศ. ๒๔๔๒) พระสงฆ์ ๘ รูป พร้อมเจ้าพนักงานกรมภูษามาลา กรมราชบัณฑิต กรมสังฆการี เดินทางไปอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุที่วิหารเกาะพระสุมทรเจดีย์ เมืองสมุทรปราการ ขึ้นรถไฟขบวนพิเศษ ประดับประดาด้วยดอกไม้ ธงทิว จากสถานีรถไฟตำบลวัวลำพอง (หัวลำโพง) ขบวนแห่อย่างยิ่งใหญ่ของพระบรมวงศานุวงศ์ นำโดยพระเจ้าลูกยาเธอ กรมขุนนครราชสีมา พระสงฆ์ และเหล่าทายก ทายิกา ได้ร่วมกันอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุมาตามถนนเจริญกรุง ถนนวรจักร และ ถนนบำรุงเมือง มุ่งหน้าสู่พระบรมบรรพต เพื่อบรรจุลงประดิษฐาน ณ ใจกลางพระเจดีย์ ให้พุทธศาสนิกชนได้กระทำการถวายสักการะอย่างใกล้ชิดจนถึงปัจจุบัน เป็นปีที่ ๑๑๓

แม้กระบวนการและขั้นตอนในการพิสูจน์ความจริงแท้แห่งพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯ ให้ดำเนินการขึ้นนี้ จะยังไม่สามารถสร้างความกระจ่างให้กับอีกหลายคำถามได้ เช่น อัฐิในภาชนะทั้ง ๕ ใบ ที่เปปเปขุดพบเป็นของพระพุทธองค์ทั้งหมด หรือเฉพาะอัฐิที่อยู่ในผอบใบที่มีอักษรโบราณจารึกอยู่ หากเป็นพระบรมสารีริกธาตุทั้งหมด แล้วเหตุใดจึงบรรจุแยกผอบกัน เป็นต้น ซึ่งเป็นคำถามรัชกาลที่ ๕ ทรงถามขึ้นในที่ประชุมเสนบดีในครั้งนั้น และยังไม่มีหลักฐานแสดงเหตุผลได้

แต่สิ่งหนึ่งที่ชัดเจนคืออัฐิที่ค้นพบที่อินเดีย และประดิษฐาน ณ บรมบรรพต แห่งวัดสระเกศฯ ในปัจจุบันนี้ได้รับการยืนยันด้วยหลักฐานทางประวัติศาสตร์แลัวว่าครั้งหนึ่งเคยเป็นส่วนหนึ่งของพระสรีระแห่งพระพุทธองค์อย่างไม่ต้องสังสัย ข้อสรุปนี้ น่าจะทำให้ความคลางแคลงใจของพุทธศาสนิกชนรุ่นใหม่จางหายไปและเข้าร่วมงานนมัสการพระบรมสารีริกธาตุประจำปี พ.ศ. ๒๕๕๕ ในวันที่ ๒๔ พฤศจิกายนนี้ ได้ด้วยศรัทธาอันตั้งมั่นยิ่งขึ้น

 แหล่งข้อมูล
- จดหมายเหตุเรื่องพระสารีริกธาตุ เอกสาร ร.๕ แฟ้ม ศ.๑๑ หมายเลข ๒/๑๑, ๓/๑๑, ๑๒/๑๑ และ ๑๓/๑๑ แผนกเอกสารสำคัญ กองจดหมายเหตุแห่งชาติ
- ประวัติวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร และจดหมายเหตุเรื่องพระสารีริกธาติเมืองกบิลพัสดุ์ คณะรัฐมนตรีพิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพสมเด็จพระอริยวงศาคตฐาน (อยู่ ญาโณทโย) สมเด็จพระสังฆราช, ๒๐ พศจิกายน ๒๕๐๘
- บามิยัน ดินแดนประวัติศาสตร์อันรุ่งเรืองและมืดมนยาวนานแห่งพระพุทธศาสนา, พระวิจิตรธรรมาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร), ธันวาคม ๒๕๕๕
 กราบขอบพระคุณ พระพรหมสิทธิ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร และ พระมหาพิศุทธิ์ วิสุทฺโธ วัดสระเกศฯ สำหรับคำแนะนำและการอำนวยความสะดวกด้านข้อมูลและภาพประกอบ

ภาพทั้งหมด : เอื้อเฟื้อโดยวัดสระเกศ ซึ่งสำเนาจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติอีกครั้งหนึ่ง

บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 702  เมื่อ 16 ส.ค. 15, 19:10

อ้างถึง
หลักฐานทุกอย่างที่ได้รับจากรัฐบาลอินเดีย และจากพระชินวรวงษ์ ถูกนำสู่ที่ประชุมเสนาบดี ซึ่งหลายท่านเชี่ยวชาญทั้งทางพุทธประวัติ ภาษาอังกฤษ ภาษาบาลี รวมไปถึงความสามารถในการวิเคราะห์อักษรพราหมี ซึ่งเป็นอักษรโบราณสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช นำโดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ซึ่งขณะนั้นดำรงพระอิสริยยศเป็น พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส เพื่อถกเถียง แลกเปลี่ยนความเห็น และตรวจสอบหลักฐานร่วมกันอย่างละเอียด

ความในหนังสือพระประวัติตรงกับท่อนนี้ในบทความ ซึ่งก่อนหน้านั้น ผมตีความหมายของคำว่าให้กลับเข้ามาช่วยสมณกิจ ไปอีกอย่างหนึ่ง แล้วเลยสับสนไปใหญ่
ที่จริงแล้ว ทรงได้รับพระมหากรุณาพระราชทานอภัยหลังจากที่ทรงบวชเป็นพระภิกษุแล้ว และให้กลับเข้ามาช่วยงานโดยองค์ท่านเองยังคงอยู่ที่ในต่างประเทศนั่นแหละ มิได้เข้ามาในกรุงเทพ


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 703  เมื่อ 16 ส.ค. 15, 19:37

เป็นอันว่า พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ทรงสูญเสียวโรกาสอันดีที่จะได้กลับมาเป็นข้าพระบาทอีกครั้ง เพราะเรื่องที่ทรงคิดเอาเองว่าเป็นคุณ กลับกลายเป็นโทษมหันต์จากคำให้การกึ่งสารภาพของท่านเอง ต่อท่านข้าหลวงผู้ตรงเผง ทั้งคุณธรรมและจริยธรรม


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 704  เมื่อ 17 ส.ค. 15, 08:15

อาจารย์ชัยอนันต์ สมุทวณิช เขียนถึงพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ ว่า

พระองค์เจ้าปฤษฎางค์เริ่มชะตาตกหลังจากที่ได้กราบบังคมทูลถวายความเห็นจัดการเปลี่ยนแปลงราชการแผ่นดิน ในพระประวัติได้ทรงแต่งโคลงแสดงความคับแค้นพระหฤทัยเรื่องเพื่อนว่าถูก “ฝูง” เพื่อนลอบถีบหกขะเมนทั้งยืนโดยไม่รู้ตัว อย่างไรก็ดี ผู้ซึ่งเป็นเพื่อนใกล้ชิดก็ได้มีจดหมายขอโทษไปถึงพระองค์ท่านภายหลังที่ได้ทรงผนวชที่ศรีลังกาแล้ว


ความคิดที่ว่า พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ชะตาตกเหตุเพราะเรื่องถวายบังคมทูลความเห็น ร.ศ. ๑๐๓ และพระองค์ถูกเพื่อน ๆ คิดร้ายจริง ยังวนเวียนอยู่ในเน็ตอยู่จนทุกวันนี้
[/size]

ผู้ที่เขียนหนังสือไปขอโทษพระภิกษุ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ที่ลังกานั้น ผมยังไม่เคยเห็นหลักฐาน หากมี ก็น่าจะเป็นเพื่อนคนนี้คนหนึ่งละ พระยาพิพัฒน์กับท่านคงรู้จักกันมาแต่คราวที่ทรงเป็นทูตในยุโรป และเมื่อท่านกลับมากรุงเทพจริงๆแล้ว จึงอนุเคราะห์บ้านที่สี่พระยาให้ท่านอยู่อาศัยได้ แต่ท่านไม่โปรดบ้านนั้นเสียเอง
เรื่องนี้พระยาพิพัฒน์ท่านคงมีหนังสือขอโทษไปถวาย เรื่องเงินที่เรี่ยไรกันจะส่งไปถวายท่านเป็นปัจจัยสำหรับการเดินทางกลับ แต่แล้วก็ไม่ได้ทำตามนั้น หากเรื่องนี้ยังไม่เคลียรกันก่อนล่วงหน้า เห็นทีว่าพระองค์เจ้าปฤษฎางค์คงจะไม่ยอมไปอยู่บ้านพระยาพิพัฒน์

ส่วนเงินที่เรี่ยไรมาแล้ว พระยาพิพัฒน์เอาไปทำอย่างไรก็ไม่แจ้ง เจ้านายหลายองค์ก็ตรัสว่าได้ให้เงินพระยาพิพัฒน์ไปแล้ว เรื่องนี้จึงยังเป็นปริศนาอยู่



บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 45 46 [47] 48 49 ... 60
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.104 วินาที กับ 19 คำสั่ง