เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 41 42 [43] 44 45 ... 60
  พิมพ์  
อ่าน: 142489 พระองค์เจ้าปฤษฎางค์-ชีวิตลับที่ทรงเผยไม่ตลอด
ศรีสรรเพชญ์
พาลี
****
ตอบ: 205



ความคิดเห็นที่ 630  เมื่อ 08 ส.ค. 15, 18:20

ผมไม่ทราบว่าคุณหมอเพ็ญชมพูจะแกะตัวอักษรต่อให้ครบทุกหน้าไหวไหม

เดิมทีตั้งใจว่าจะแกะตัวอักษรทั้งสามหน้า แต่เมื่อมาพิจารณาดูแล้ว จดหมายทั้งหมดมีถึง ๒๙ + ๕ หน้า คงจะเหลือกำลังที่แกะตัวอักษรได้ทุกหน้า แลเมื่อเห็นความที่คุณนวรัตนถอดออกมา การถอดความลักษณะนี้น่าจะมีประโยชน์มากกว่า สำหรับจดหมายหน้า ๑ ที่แกะอักษรมานั้น อย่างน้อยก็มีประโยชน์เป็นตัวอย่างให้เห็นสำนวนของท่านที่เยิ่นเย้อเสียเหลือเกิน

หน้านี้จบลงพร้อมทิ้งข้อสงสัยว่าใครคือเจ้าปาน เจ้าปานคือใครคุณหมอเพ็ญชมพูอาจจะหาเจอได้

นั่นน่ะสิ เจ้าปานคือใคร  ฮืม

ผมอยากจะขอเสริมในเรื่องของ 'เจ้าปาน' ในซึ่งหลายๆท่านในที่นี้สงสัยว่าคือใคร พอดีผมได้อ่านบทความเรื่อง '"อุบัติเหตุ" ของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์' ซึ่งตีพิมพ์ในศิลปวัฒนธรรมปีที่ ๓๕ ฉบับที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๕๗ จึงสรุปได้ว่า 'เจ้าปาน' คือหม่อมเจ้าปาน พระโอรสของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าลดาวัลย์ กรมหมื่นภูมินทรภักดี และเป็นพระเชษฐาของพระอัครชายาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมขุนสุทธาสินีนาฏครับ

ผู้เขียนสรุปว่าเรื่องของ 'เจ้าปาน' นี้เป็น 'อุบัติเหตุ' ของพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ โดยได้อ้างอิงจากพระราชหัตถเลขาที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานให้พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ ลงวันที่ ๒๔ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๓๐ วึ่งมีความตำหนิพระองค์เจ้าปฤษฎางค์เรื่องเจ้าปานอย่างรุนแรงครับ โดยมีความว่า



                                                                                                                                   พระที่นั่งจักรกรีมหาปราสาท
                                                                                                               วันพุธ ขึ้น ๔ ค่ำ เดือน ๗ ปีกุนนพศก ศักราช ๑๒๙๔

               ถึง พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ ด้วยเธอจดหมายขอเงินเดือน ซึ่งได้มาแต่เดิมเดือนละ ๒ ชั่ง ที่เจ้าพนักงานจะงดเสียนั้นได้ทราบแล้ว
               ซึ่งเธอว่าเงินรายนี้ ฉันได้ให้เปนทาน เพื่อจะให้เปนคำยกยองแลให้สงสารนั้น ฉันไม่ได้ตั้งใจจะให้เปนทานเช่นที่ว่านั้นเลย ได้ให้เพราะมีความรักแลสงสารว่าได้คุ้นเคยเล่นมาด้วยกันแต่ก่อนอย่างหนึ่ง เพราะหมายว่าจะได้ใช้การงานอย่างหนึ่งเท่านั้น ก็เปนความจริงอยู่ว่า เงินรายนี้ถ้าฉันคิดจะให้เธอต่อไปอีกก็ให้ได้ แต่บัดนี้ไม่คิดว่าจะให้เพราะเหตุการที่มี ซึ่งจะว่าต่อไปฃ้างล่างนี้
               ฉันเห็นว่าเปนการจำเปนที่ฉันจะต้องพูดเสียให้ปรากฏชัด เพราะฉันเคยถูกท่านพวกที่มีสิตปัญญาเปนมนุษยแท้มิใช้วัว ได้ดูถูกฉันมามากนักแล้ว คือเรื่องเจ้าปานที่ทำการในปัปลิกเวิก(Public Work กรมโยธาธิการ-ศรีสรรเพชญ์)ความจริงตามที่ได้มาฉเพาะหน้าฉันทั้งสิ้น แลความคิดฉันประการใดนั้น เปนดังนี้
               เดิมเจ้าสาย(พระอัครชายา หม่อมเจ้าสาย-ศรีสรรเพชญ์)บอกว่า เจ้าปานว่า เธอชอบว่า "จะไปอยู่เปล่าๆ ทำไม มาทำการด้วยกันเถิด แต่ครั้นจะกราบทูลเองก็เกรงพระองค์สวัสดิโสภณจะเปนเกินท่านไป ให้รับสั่งออกมาแต่ข้างในเถิด" ดังนี้
               ฉันเข้าใจเอาเองว่า การที่เธอชวนเจ้าปานนี้ เห็นจะจริง เพราะตัวเจ้าปานก็เปนคนทำการงานได้อยู่บ้าง แลเธอจะมีความปารถนาอีกอย่างหนึ่ง ที่จะเอาดีต่อเจ้าสาย เพราะจำนำของไม่ได้เอาของไว้ ให้เงินไปแล้วไม่คิดเอาดอกเบี้ย จะสงเคราะห์เจ้าปานแทนดอกเบี้ยด้วย แต่เพราะเธอเคยเห็นตัวอย่างที่กรมหลวงเอาเจ้าเพิ่ม(หม่อมเจ้าเพิ่ม ลดาวัลย์-ศรีสรรเพชญ์)ไปใช้ สวัสดิโสภณเคยติเตียนว่าทำความผิดหัวเสียต่างๆ ถ้าเธอจะพูดเองก็จะเปนคนเสียคนไปอีกคนหนึ่ง จึ่งให้คำสั่งไปเสียแต่ฃ้างใน เธอจะได้พูดได้ว่า ไม่อยากคบค้า แต่เปนการจำเปน เพราะขัดรับสั่งไม่ได้ เพราะฉันเข้าใขว่าการที่เธอเอาเงินไปนี้ เธอได้ปิดไม่ให้ใครรู้ ความคิดอันนี้ใช่จะคิดเห็นภายหลัง ได้คิดเห็นแต่แรก แลได้พูดดังนี้แล้ว จึ่งได้จดหมายถึงเธอ ความแจ้งอยู่ในหนังสือ ฉบับที่ ๑๖/๔๙ ป,ฎ,๒ นั้นแล้ว
               การที่รู้แล้วว่า เธอทำอุบายดังนี้แล้ว ยังจดหมายไปนั้น เพราะคิดเห็นว่า ถ้าจะไม่สั่งไป เธอจะเห็นว่าฉันกลัวความติเตียนของคนที่ถือประมัถมหายุติธรรม (วึ่งฉันเห็นว่า เปนการเหลือเกินจนกลายเปนอวดดีไป) จนไม่อาจสั่งได้อย่างหนึ่ง กับคิดอีกอย่างหนึ่งว่า ถ้าบางทีเจ้าปานจะได้ทำการมีผลประโยชน์แลเปนคุณแก่ราชการ จะมาฃาดไปเพราะฉันไม่สั่ง ก็ดูเปนที่น่าสงสารแลเสียการ เปนไม่ได้การเพราะค่าที่เปนพี่น้องกับเมียฉัน ฉันจึ่งได้พูดไปยืดยาวตามความในหนังสือฉบับนั้น แต่เจ้าปานไม่ได้บอกว่าจะทำการอะไร ถามก็ไม่ได้ความ แลไม่ได้สั่งให้ไปสอบถามอีก เฃ้าใจว่าเธอทำการอยู่แต่โทรเลข แลไปรสนีย์ จึ่งเดาไปว่าจะเปนการโทรเลขฤาไปรสนีย์อะไรโดยไม่ได้ระวังจะให้เปนการแม่นยำ เพราะยังไม่ได้รู้ได้เห็นในเรื่องความคิดปับลิกเวิกเลย
               ครั้นเมื่อได้รับหนังสือตอบ เธอรับตามคำที่เจ้าปานอ้างว่าเคยเปนคนชอบพอกัน แต่ที่ชวนนั้นชวนจะให้ทำการในปับลิกเวิก มิใช่ในการโทรเลขอลไปรสนีย์ ฉันจึ่งทรายว่าได้คิดการปับลิกเวิก แต่ยังเข้าใจว่า ไม่ได้สั่งเฃ้ามา จึ่งได้ตอบชี้แจงไปว่า การที่ว่า เจ้าปานว่า เธอชวนให้ทำการในโทรเลขแลไปรสนีย์นั้น ฉันเดาเอาเอง ความแจ้งอยู่ในหนังสือฉบับที่ ๑๒๓-๔๙ ป,ฎ, ๓ นั้นแล้ว
               ครั้นวันนี้ ฉันได้พบกับสวัสดิโสภณ จึ่งทราบว่าความคิดเรื่องปัปลิกเวิกนั้น ได้สั่งให้โสณ(พระองค์เจ้าโสณบัณฑิต ทรงว่าการกรมโยธาธิการขณะนั้น-ศรีสรรเพชญ์)แต่ก่อนงานเมรุ แต่โสณจะส่งมาแล้วฤายัง ฉันยังไม่ทราบจนเดี๋ยวนี้ เพราะหนังสือมาสุมกันอยู่มาก ยังไม่ได้ค้น เธอจะคิดเห็นว่า "การที่ความคิดนี้มาลอบหายไป เพราะไม่มีประโยชน์อันใดที่จะเปนเปอซอนแนลของฉัน เธอจึ่งต้องคิดมาชวนเจ้าปานที่เปนพี่น้องฃองเมียฉัน ทำการเปนสินบนฉัน เห็นเปนประโยชน์จะได้กับตัว จึ่งได้ตกลง" นั้น ความคิดอันนี้ ถึงว่าเปนการเดา ก็เปนที่น่าจะเห็นสมตามความคิดที่คนบางคนได้คิดเห็นว่า ใจฉันเปนเช่นนี้ ซึ่งฉันขอปฏิเสธ แลอ้างพยานในการทั้งปวงเปนอันมากที่ได้ทำมาแล้ว ถ้าผู้ที่มีปัญญาใจเปนกลางๆ พิจารณา คงจะเห็นได้ว่าความจริงเปนอย่างไร เพราะฉนั้นฉันถือว่า ความคิดอันนี้ เปนความคิดหมิ่นประมาทฉันแท้ แต่ยังเปนการที่คิดเดาอยู่บ้าง
               ยังมีการที่ปรากฏชัดคือ หนังสือที่เธอมีไปถึงสวัสดิโสภณ ภายหลังหนังสือที่มีไปมากับฉัน เธอได้พูดจาตรงกันฃ้ามกับหนังสือที่มีถึงฉันว่า เธอได้คุ้นเคยชอบพอกับเจ้าปานมามาก ความปรากฏในหนังสือเธอ ลงวันอาทิตย์ แรม ๒ ค่ำ เดือน ๖ นั้นแล้ว ส่วนหนังสือที่มีไปถึงสวัสดิโสภณ เธอว่าเธอไม่ได้คุ้นเคยชอบพอกับเจ้าปานเลย เจ้าปานไปหาเธอขอทำการในกรมโทรเลขแลไปรสนีย์ เธออ้างหนังสือฉันเปนพยาน เธอไม่เห็นว่า เจ้าปานจะทำการอะไรในกรมโทรเลขแลไปรสนีย์ได้ เธอจึ่งตอบฉันมาตามจริงว่า เธอเห็นทำการอะไรในกรมโทรเลขแลไปรสนีย์ไม่ได้ แต่เธอสงสัยว่าฉันแต่งให้เจ้าปานไปหา เธอจึ่งได้ยอมรับจะให้ทำการในปัปลิกเวิก
               ความที่เธอพูดในหนังสือฉบับหนึ่งว่า ชอบพอกับเจ้าปาน ฉบับหนึ่งว่า ไม่เคยชอบกันนี้ คงจะเปนการเท็จฃ้างหนึ่ง แต่จะเท็จฃ้างไหนไม่ทราบ ถ้าเท็จฃ้างหนังสือถึงฉันแล้วก็เปนบาปมากขึ้น เพราะโทษโกหกพระเจ้าอยู่หัวมีอยู่ในกฎหมายอีกโสตหนึ่ง
               ส่วนที่ว่าเจ้าปานไปขอทำการในโทรเลขแลไปรสนีย์ อ้างเอาหนังสือฉันเปนพยานนั้น ฉันขอรับว่าเปนคำฉันพูดเองแท้ แต่ไม่ได้ตั้งใจจะพูดให้เปนคำมั่นคงว่า กรมใดด้วยซึ่งจะเอาไปเปนพยานในการที่ให้เจ้าปานไปพูดนั้นไม่ได้ แต่เจ้าปานจะไปพูดเช่นนั้นฤาไม่ ฉันไม่เถียงแทน
               ในข้อท้ายที่เธอสงสัยว่า ฉันแต่งให้เจ้าปานไปนั้น เปนการเลวทรามน่าอายยิ่งนัก ถ้าฉันจะสงเคราะห์เจ้าปานแล้ว พระบิดาเธอกับพระบิดาเจ้าปานวาศนาผิดกันอย่างไรนักหนา เพียงแต่กรมขุนกับกรมหมื่น มารดาเธอเป็นราชนิกุล ของเจ้าปานไม่ได้เปน แต่มันก็หม่อมชั้นเดียวกัน จะตั้งให้เปนพระองค์เจ้าเหมือนตัวเธอ ฤาจะให้เงินเดือนเดือนละ ๒ ชั่งเช่นเธอจะไม่ได้ทีเดียวฤา
               คนที่บ้าๆ ฟุ้ง หัวเราะ ฉันไม่กลัวนักดอก คำที่พูดนี้เปนพยานให้เห็นว่า เธอมีความคิดเห็นอยู่เสมอว่า ฉันเปนคนชั่วช้าทุกประการดังนี้  
               เพราะฉนั้น การที่ฉันยอมให้เงินเดือนเก่า ซึ่งฉันให้ด้วยความรักความคุ้นเคยกันอย่างไรได้ ด้วยเห็นกันไม่เปนผู้เปนคนอย่างนี้ จะรักอะไรกันลงฅอ ส่วนราชการที่ฉันอ้างว่า หมายจะได้ใช้อีกอย่างหนึ่งนั้น บัดนี้เธอก็ได้รับการตำแหน่ง ได้ถึงปีละ ๕๐ ชั่ง ก็เปนสิ้นเฃตรกันแล้ว ยังอยู่แต่จะให้เพราะรักกัน เมื่อความรักกันมีไม่ได้แล้ว ฉันก็ไม่ให้ ได้สั่งให้คลังงดเสียแล้ว
                                                                                    
                                                                                         (พระบรมนามาภิธัย) สยามินทร์"


โดยสรุปก็คือพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ พยายามให้เจ้าปานได้เข้ารับราชการในกรมโยธาธิการ เพื่อเป็นการตอบแทนหม่อมเจ้าสายที่ "จำนำของไม่ได้เอาของไว้ ให้เงินไปแล้วไม่คิดเอาดอกเบี้ย" แต่กลับทรงใช้อุบายต่างๆปิดบังบิดเบือนและเขียนหนังสือเป็นความเท็จ รวมถึงยังสงสัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวว่าทรงส่งเจ้าปานไปสอบถาม ทำให้พระองค์กริ้วและทรงงดพระราชทานเงินเดือนส่วนพระองค์ ๒ ชั่งนับแต่นั้น

นอกจากนี้เดิมพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯทรงตั้งพระทัยจะพระราชทานตึกภูมินิเทศทหารหน้าที่ท่าพระ ให้เป็นที่ประทับของพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ให้สมกับที่ได้เลื่อนเป็นพระองค์เจ้า ซึ่งตอนนั้นไม่มีที่อยู่ต้องไปประทับบนแพ แต่หลังจากพระราชหัตถเลขาฉบับนี้ออกมา วันรุ่งขึ้นคือ ๒๕ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๓๐ รัชกาลที่ ๕ ทรงมีพระราชหัตถเลขาพระราชทานให้กรมหลวงเทววงศ์วโรปการ โปรดเกล้าฯให้งดพระราชทานตึกภูมินิเทศทหารหน้าให้พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ ด้วยทรงเห็นว่าไม่เป็นการสมควรอีกต่อไปครับ
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 631  เมื่อ 08 ส.ค. 15, 18:27

แอบติดตามกระทู้นี้เงียบๆมาตลอดครับ สงสัยมาตั้งแต่บทนำจากกระทู้ใน pantip แล้วครับ

อ้างถึง
เรียนยังไม่ถึง๓ปีดี (เพราะเข้าหลังเพื่อนไป๑เทอม) สามารถสอบไล่ได้ตามหลักสูตร ได้รับประกาศนียบัตร (ตอนนั้นยังไม่เรียกว่าปริญญา)ให้เป็นวิศวกรโยธา และได้รับรางวัลพิเศษที่ท่านนายกรัฐมนตรี วิลเลียม แกลดสตัน เป็นประธานในพิธีมอบ แบบกวาดเรียบเพียงคนเดียว จนหนังสือพิมพ์ Times ต้องลงเป็นข่าว รางวัลเหล่านั้นคือ

-The Freake Price for practical work in engineering
-The Silver Medal given by the Society for the Encouragement of the Fine Arts   Manufactures and Commerce
-Speacial Certificate of Honour, the first prizes in the arts of construction manufacturing art, land surveying and leveling, drawing.
-Certificate for Mathematics
- Certificate for Geometrical drawing.

ในสุนทรพจน์หลังจากนั้น ท่านนายกรัฐมนตรีถึงกับออกปากว่า ไม่เคยเห็นการแสดงออกถึงความรู้สึกที่งใจของบรรดานักศึกษาในที่ประชุมอย่างนี้มาก่อนเลย เมื่อท่านคณบดีได้ประกาศให้สุภาพบุรุษหนุ่มผู้หนึ่งขึ้นมาปรากฏกายบนเวที  สุภาพบุรุษผู้ที่จากประเทศอันไกลโพ้นส่วนหนึ่งของโลกมาเพื่อรับการศึกษาในประเทศแห่งนี้  แล้วเพื่อนนักศึกษาได้โห่ร้องแสดงความชื่นชมยินดีด้วย อย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย จากการที่สุภาพบุรุษผู้นี้ได้แสดงความสามารถอันน่าพรั่นพรึงในการผูกขาดรางวัลต่างๆอย่างไม่มีใครสู้ จนท่านต้องยื่นมือออกไปหลายครั้งมากเพื่อมอบให้… ถึงตอนนี้ที่ประชุมได้ตบมือเกรียวกราวขึ้นอีกครั้งหนึ่ง

ปัญหาคือ
1. รางวัลที่ได้ นอกจาก Freake Prize ซึ่งหาข้อมูลไม่ได้ว่ามีความเป็นมาอย่างไร ที่เป็นรางวัลก็เห็นจะเป็นเหรียญเงินจาก the Society for the Encouragement of the Fine Arts   Manufactures and Commerce ซึ่งฟังชื่อแล้วไม่เหมือนจะเกี่ยวกับการเรียนโดยตรง และดูเหมือนเหรียญเงินจะเป็นรางวัลชั้นรองหรือเปล่าครับ นอนจากนั้นก็ได้เกียรตินิยมในอีก 3 วิชา ส่วนสองรายการสุดท้ายไม่น่าจะเป็นรางวัล แค่บอกว่าสอบผ่านวิชาเหล่านั้น
2. ผมค้นข่าวใน archive ของหนังสือพิมพ์ในอังกฤษจาก http://www.britishnewspaperarchive.co.uk/search ไม่พบข่าวเกี่ยวกับ Prisdang หรือ Choomsai ก่อนปี 1879 เลย
3. William E. Gladstone เป็นนายกรัฐมนตรีของอังกฤษครั้งแรก 1868-1874 ครั้งที่สอง 1880-1885 ช่วงที่พระองค์เจ้าปฤษฎางค์จบการศึกษา Gladstone ไม่ได้เป็นนายกฯ ครับ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 632  เมื่อ 08 ส.ค. 15, 19:05

ขอบคุณท่านทั้งสองมากครับที่นำข้อมูลระดับตะปูตอกฝาโลงมายืนยัน เราคงชัดแจ้งในเรื่องที่ท่านโดนยึดบ้านพระราชทานคืน ไม่ใช่เพราะเงินราชการกรมไปรษณีย์ที่ท่านผันเอาไปซ่อมบ้านเป็นหลัก

ข้อมูลของคุณม้าก็ทำเอาผมหงายเงิบไปทีเดียว ตกลงท่านคงประสาทมานานตั้งแต่สมัยหนุ่มๆแล้ว
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 633  เมื่อ 08 ส.ค. 15, 19:07

อ้างถึง
คนที่บ้าๆ ฟุ้ง หัวเราะ ฉันไม่กลัวนักดอก

นี่ก็ชัด
บันทึกการเข้า
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 634  เมื่อ 08 ส.ค. 15, 19:49

ตามอ่านเรื่องพระองค์เจ้าปฤษฎางค์มาเป็นลำดับ  ดูเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีกับพระองค์เจ้าปฤษฎางค์นี้จะเป็นึู่กรรมกันจริงๆ
เพราะปรากฏความในพระราชหัตถเลขาที่รัชกาลที่ ๖ ทรงตอบคำกราบบังคมทูลของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงพืษณุโลกประชานาถ เรื่องรัฐมนตรีสภา  เมื่อวันที่  ๓๐  เมษายน  พ.ศ. ๒๔๖๐ มีความตอนหนึ่งว่า

"ถ้าจะมีรายใหญ่อีกรายหนึ่งก็คงเปนเจ้าพระยาสุรศักดิ์  ซึ่งในเวลานี้เอาพระยาอิศรพันธ์, พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ไปเลี้ยงไว้,"  

ในขณะเดียวกันนก็ทรงกล่าวถึงเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี ว่า
"ส่วนเจ้าพระยาสุรศักดิ์ถึงจะเอาเข้าในรัฐมนตรีสภา,  ก็คงไม่ตัดหนวดแกได้,  เพราะเปนนิไสยของแกที่ต้องแขวะโลก,  ถ้าแกเข้าไปรีๆ ขวางๆ ที่ในรัฐมนตรี  แขวะกับสภานายกแล้วถ้าแกแพ้  หนวดก็จะยิ่งยาวขึ้นเปนแน่แท้."
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 635  เมื่อ 08 ส.ค. 15, 20:07

ให้คุณม้าดูในประเด็นนี้ก่อน

อ้างถึง
3. William E. Gladstone เป็นนายกรัฐมนตรีของอังกฤษครั้งแรก 1868-1874 ครั้งที่สอง 1880-1885 ช่วงที่พระองค์เจ้าปฤษฎางค์จบการศึกษา Gladstone ไม่ได้เป็นนายกฯ ครับ


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 636  เมื่อ 08 ส.ค. 15, 20:18

ท่านทรงเขียนไว้เองว่าดังนี้ครับ


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 637  เมื่อ 08 ส.ค. 15, 20:43

ชักจะได้กลิ่นตุๆ  ไม่ค่อยดี ตกใจ

พอจะรู้จักพิธีมอบรางวัลของมหาวิทยาลัยในอเมริกา ซึ่งแต่ละแห่งคงมีแบบแผนไม่แตกต่างจากกันนัก    เขาทำกันเป็นการภายในมหาวิทยาลัย คือเป็นรางวัล (จะเหรียญหรือประกาศนียบัตรก็ตาม) มอบให้โดยอธิการบดีของมหาวิทยาลัย      ไม่เอาคนภายนอก แม้แต่ผู้ว่าราชการรัฐ(governor) มามอบ
ชื่อรางวัลนั้นจะชัดเจนอยู่ในตัว คือเป็นรางวัลของมหาวิทยาลัย   สมมุติว่ารางวัลนั้นมีชื่อพิเศษแยกออกไป เช่นตั้งชื่อตามชื่อศิษย์เก่าดีเด่น หรือตามชื่อประธานมูลนิธิหรืออะไรที่ก่อตั้งรางวัลนี้ขึ้น ชื่อเหรียญหรือรางวัลก็จะออกมาเป็นชื่อคน
แต่ไม่รู้จักชื่อรางวัลที่เป็นชื่อสมาคมอะไรต่างๆ แต่มามอบให้โดยมหาวิทยาลัย

แต่ไม่ทราบว่าทางอังกฤษเขามีธรรมเนียมแตกต่างไปจากนี้หรือเปล่า  เช่นเป็นรางวัลในมหาวิทยาลัย แต่คนมอบก็เป็นถึงนายกรัฐมนตรีเสียด้วย 
 ต้องถามดร.เจ้าประกอบเทพ ณ ปางฟ้า (อีกชื่อพิมพ์ยากเหลือเกินค่ะ ขอข้ามไปก่อน)
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 638  เมื่อ 08 ส.ค. 15, 21:05

หาไม่เจอว่า Freake prize คืออะไร อยู่ไหน   ไม่มีประวัติหรือการเอ่ยถึงในกูเกิ้ล  แต่ถ้าตัด e ท้ายคำว่า Freake ออกซะตัวหนึ่ง
ก็ดูจะสอดคล้องกับพระนิสัยและพฤติกรรมในตอนก่อเหตุยุ่งเหยิงนี้อยู่มาก
ส่วนอีกรางวัลที่ได้จาก Society for the encouragement of the Fine Arts, Manufactures and Commerce นั้น ค้นเจอแต่   Royal Society for the encouragement of Arts, Manufactures and Commerce บอกว่าก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1754 
ข้างล่างนี้เป็นบันทึกที่บอกว่า เอามาจากข่าวใน Times 
หนังสือพิมพ์ระดับนี้ ไม่ลงชื่อสมาคมผิดอยู่แล้ว    ถ้าไทมส์ลงชื่อได้ถูก  พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ไม่น่าจะคัดลอกมาผิด รางวัลของท่านเองแท้ๆ



ใครอยากอ่านเกี่ยวกับสมาคมนี้เชิญได้ที่เว็บนี้ค่ะ
ช่วยบอกทีได้ไหมว่าที่นี่เขาให้รางวัล หรือให้ทุน
https://www.thersa.org/about-us/
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 639  เมื่อ 08 ส.ค. 15, 21:23

fellowship

a. The financial grant made to a fellow in a college or university.
b. The status or position of one who is awarded such a grant.
 
แปลว่าให้รางวัลเป็นทุน(ทำโครงการ)หรือเปล่าครับ
บันทึกการเข้า
ศรีสรรเพชญ์
พาลี
****
ตอบ: 205



ความคิดเห็นที่ 640  เมื่อ 08 ส.ค. 15, 21:25

ที่ได้ตั้งใจไว้แต่เดิม คิดการฉลองพระเดชพระคุณและความดีความชอบต่างๆ ก็ไม่มีโอกาสที่จะหาได้ ความคิดที่จะจัดการเป็น(อ่านไม่ออก) ให้เป็นประโยชน์ต่อแผ่นดินก็สลายหมดแต่ครั้งเจ้าปาน-พระองค์สวัสดิ์ ที่สุดจนจะบำรุงญาติพี่น้อง และทำศพมารดาและพี่ที่ยังค้างอยู่ ก็ไม่เห็นช่องที่จะทำได้ จึงต้องกราบถวายบังคมลา

อ่านตรงนี้แล้วเทียบกับพระราชหัตถเลขาของรัชกาลที่ ๕ ที่ผมเอามาลง แล้วจากที่อ่านๆมาว่าพระองค์น่าจะประชวรเป็น delusional disorder รู้สึกเหมือนว่าพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ท่านจะหวาดระแวงคิดว่าพระองค์เจ้าสวัสดิโสภณทรงใส่ความท่านรึเปล่าครับ ในเรื่องที่ว่าเขียนหนังสือเรื่องเจ้าปานฉบับที่ให้พระองค์สวัสดิโสภณกับรัชกาลที่ ๕ ไม่ตรงกัน ไม่งั้นท่านคงจะไม่เขียนในจดหมายว่า 'ครั้งเจ้าปาน-พระองค์สวัสดิ์' เลยอยากถามว่าพอจะมีหลักฐานที่ระบุถึงความขัดแย้งระหว่างพระองค์เจ้าปฤษฎางค์กับพระองค์สวัสดิ์มั้ยครับ ขอบคุณครับ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 641  เมื่อ 08 ส.ค. 15, 21:52

ในพระประวัติมีหลายตอนที่กล่าวถึงความสนิทสนมของทั้งสองพระองค์ ต้องพรุ่งนี้จึงจะเอามาลงให้ครับ ไม่น่าที่จะขัดแย้งกัน นอกจากหนังสือกราบบังคมทูลที่เข้าชื่อกันทูลเกล้าถวาย พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ท่านว่าเป็นฝีมือของพระองค์เจ้าสวัสดิ์ นักเรียนกฏหมาย ไม่ใช่ท่าน ทำนองว่าพระเจ้าอยู่หัวทรงเข้าพระทัยผิดแต่พระองค์เจ้าสวัสดิ์ไม่ออกรับให้
บันทึกการเข้า
Anna
องคต
*****
ตอบ: 552


ความคิดเห็นที่ 642  เมื่อ 08 ส.ค. 15, 23:28

ดิฉันย้อนกลับไปอ่านพระประวัติของท่านอีกครั้งตามลิ้งค์ของอาจารย์นวรัตนใน ค.ห.3 พบว่าในตอนที่บันทึกประวัติตัวเองนั้นท่านอายุเจ็ดสิบสองแล้ว อาจเป็นได้ว่าตอนนั้นความจำของท่านเลอะเลือนแล้ว จำผิดๆถูกๆเรื่องชื่อรางวัล ชื่อคนมอบรางวัล 
ดิฉันสันนิษฐานเอาจากประสบการณ์ที่เคยคุยกับผู้สูงวัยน่ะค่ะ คุณตาท่านหนึ่งซึ่งเป็นญาติผู้ใหญ่ของเพื่อนท่านชอบเล่าเรื่องสมัยก่อนให้ฟัง บางทีเรื่องเดียวกันแต่พอเล่าซ้ำไปซ้ำมาข้อมูลชักไม่เหมือนเดิม ทราบว่าท่านไม่ได้ตั้งใจบิดเบือนแต่เป็นเพราะเลอะเลือน
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 643  เมื่อ 09 ส.ค. 15, 06:33

ผมคิดว่า ท่านอาจารย์เทาชมพูหมายถึงความที่ EXTRACT FROM THE TIMES น่ะครับ

EXTRACT มีความหมายว่าย่อ สะกัดความมา ไม่ได้เอาของเดิมมาทั้งดุ้น ไมทราบว่าท่านกระทำด้วยตนเองหรือเอามาจากใคร ทำไมต้องย่อต้องสะกัด เอาต้นฉบับมาลงโดยไม่ตัดทอนไม่ดีกว่าหรือ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 644  เมื่อ 09 ส.ค. 15, 07:10

ภาพที่พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ถ่ายที่ Crystal Palace สมัยไปเรียนที่อังกฤษใหม่ๆ


บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 41 42 [43] 44 45 ... 60
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.071 วินาที กับ 19 คำสั่ง