เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2 3 ... 6
  พิมพ์  
อ่าน: 24453 ซัวเถาในความทรงจำ
ปิ่น
ชมพูพาน
***
ตอบ: 172


 เมื่อ 02 ก.ค. 15, 20:51

สืบเนื่องจากไปโม้ไว้ที่กระทู้ขนมชาวจีนฯ ไว้ซะเยอะ มีสมาชิกแนะนำให้มาเปิดอีกกระทู้หนึ่ง อย่างน้อยก็เพื่อไม่ให้เรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกับขนมของปิ่นไปทำให้กระทู้นู่นเสียสาระไป

ทั้งนี้ เรื่องที่จะเล่าในกระทู้นี้จะอยู่ในช่วง ค.ศ. 1993-1999 โดยประมาณค่ะ ที่ซัวเถา ไม่ใช่ที่อื่น เป็นประสบการณ์ของตัวเองค่ะ หากท่านใดมีเรื่องเล่าสนุกๆก็เชิญร่วมแจมได้เลยนะคะ

ดังนั้น เรื่องแรกที่จะพูดถึง...

มาจะกล่าวบทไป ถึงคราวที่ข้าพเจ้ายังเด็ก น่าจะไม่เกิน ๙ ขวบ ตอนนั้นที่บ้านยังใช้น้ำบาดาล หรืออาจจะใช้น้ำบาดาลมาโดยตลอดก็ได้ แต่ปิ่นไม่รู้เอง เอาเป็นว่า ความเข้าใจว่าใช้น้ำบาดาลคือตอนนั้นไม่มีก๊อกน้ำใช้ บ้านไหนๆก็ไม่มีก๊อก แล้วจะเอาน้ำจากที่ไหนมาใช้ละ??? ฮืม

ถ้าเวนิสตะวันออกอย่างบางกอก สัญจรทางน้ำ บ้านอยู่ริมน้ำ ย่อมเอาน้ำจากแม่น้ำลำคลองมาใช้ประโยชน์ค่ะ แล้วคนที่ซัวเถาเขาทำยังไงคะ?ฮืม

ึคำตอบคือ ขุดบ่อน้ำ ค่ะ  ส่วนมากแล้ว บ่อน้ำจะขุดไว้ใกล้กับลานซักผ้า เพื่อให้ง่ายต่อการซักผ้า บ่อน้ำบ้างก็ขุดไว้หน้าบ้าน บางบ้านก็ขุดไว้ในบ้าน คือ บ้านแบบเมืองจีนโบราณ พอก้าวพ้นประตูใหญ่จะเจอลานสี่เหลี่ยมที่ใช้ประกอบกิจกรรมต่างๆ ส่วนที่เป็นห้องพักหรือโถงจะยกสูงขึ้นไปอีกขั้น

บ่อน้ำจะเป็นทรงกลม หรือทรงสี่เหลี่ยมก็ได้ค่ะ โดยต้องมีถังน้ำเล็กๆใบหนึ่งผูกเชือกวางไว้ข้างๆ เพื่อใช้หย่อนลงไปตักน้ำขึ้นมาใช้นั่นเอง

ตอนปิ่นยังเด็ก ที่บ้านมีบ่อน้ำสี่เหลี่ยม ข้างนอกทำจากหินอ่อน ข้างในเคลือบกระเบื้องสีขาว เป็นบ่อใหญ่มากพอควรในสายตาของเด็ก ทีนี้ที่บ้านเด็กก็เยอะ มันก็เกิดเหตุการณ์น้องชายของปิ่นกับลูกของลุงอีกคนตกลงไปในบ่อน้ำ ต้องให้ผู้ใหญ่มีช่วยอยู่หลายครั้ง จะเห็นได้ว่า บ่อน้ำในบ้านก็อันตรายมากเหมือนกัน โดยเฉพาะบ้านที่มีเด็กเล็ก

จำได้ว่า เคยไปอยู่บ้านของยาย บ่อน้ำแห้ง น้ำไม่ไหล จำเป็นต้องพึ่งพาอุปกรณ์พิเศษ ไม่แน่ใจว่าเรียกว่าอะไร แต่เป็นอุปกรณ์ที่เหมือนเครื่องปั๊มน้ำบาดาลแบบใช้มือ ตอนเด็กเล่นสนุกดีค่ะ โยกคันยกขึ้นแล้วกระโดดกดลงเพื่อปั๊มน้ำ น้ำจะไหลไปตามสายยางลงไปในถังที่รองไว้

 รูปแรก   บ้านแบบแต้จิ๋ว
 รูปที่สอง  บ่อน้ำแต้จิ๋ว
 รูปที่สาม  อุปกรณ์พิเศษ เครื่องปั๊มน้ำ




บันทึกการเข้า
ปิ่น
ชมพูพาน
***
ตอบ: 172


ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 02 ก.ค. 15, 21:09

มีรูปมาให้ดูค่ะ กลับไปเยี่ยมบ้านเมื่อหลายปีมาแล้ว

หมู่บ้านนี้เป็นบ้านเก่าที่เคยอยู่ช่วงก่อน ค.ศ. 1995 เป็นหมู่บ้านโบราณ อายุคงจะเป็นร้อยปีได้แล้ว ได้ยินผู้ใหญ่บอกว่า ตอนญี่ปุ่นเข้ามาช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ ก็มาที่หมู่บ้านด้วย

อาม่า เล่าว่า ตอนอาม่าเป็นเด็ก ญี่ปุ่นเขาก็มา และจะเกณฑ์พวกหนุ่มๆไปใช้แรงงาน อาม่าเป็นเด็กอายุประมาณ ๑๒ อาม่าก็ไปแทนพ่อของอาม่า ไปช่วยพวกญี่ปุ่นถือของเล็กๆน้อยๆ ญี่ปุ่นเขาเห็นว่าเป็นเด็ก ก็ไม่ได้ดุร้ายอะไรอย่างที่เห็นในทีวี

รูปแรก เป็นร้านขายของ บ้านจะเจาะด้านหน้าเป็นช่องใหญ่ เวลาเปิดร้านก็เอาแผ่นไม้ออก ปิดร้านก็เอาแผ่นไม้ปิด ประตูทางเข้าบ้านอยู่ด้านขวาของช่องใหญ่ๆค่ะ
รูปที่สอง เป็นซอยในหมู่บ้าน มีบ้านคนตั้งอยู่สองข้างยาวเป็นแนว
รูปที่สาม  อันนี้น่าจะเคยเป็นโรงงิ้ว หรือสถานที่จัดแสดงกลางแจ้งมาก่อนค่ะ

หมู่บ้านโบราณพวกนี้ เดี๋ยวนี้แทบจะไม่มีคนอาศัยอยู่แล้ว แต่ก็ไม่มีการบูรณะแต่อย่างใด คงจะผุพังไปตามกาลเวลาและถูกทุบทิ้งในอีกไม่ช้าค่ะ




บันทึกการเข้า
Anna
องคต
*****
ตอบ: 552


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 02 ก.ค. 15, 22:12

สืบเนื่องจากไปโม้ไว้ที่กระทู้ขนมชาวจีนฯ ไว้ซะเยอะ มีสมาชิกแนะนำให้มาเปิดอีกกระทู้หนึ่ง

โอว์!คุณปิ่นช่างใจดีแท้ ขอปุ๊บก็ได้ปั๊บ จัดให้โดยพลัน ขอบคุณค่ะ ยิงฟันยิ้ม 
บันทึกการเข้า
ประกอบ
สุครีพ
******
ตอบ: 1342


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 03 ก.ค. 15, 04:08

ไอ้แผ่นๆ ที่ปิดหน้าปิดตานี่เอาออกก็ได้นะครับ ไม่เห็นต้องปิดเลย  ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า

วิรุศฑ์ษมาศร์ อัฐน์อังการจณ์
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 03 ก.ค. 15, 07:59

ดูโรงงิ้วกลางแจ้ง แผ่นหินมีสลักปี 1972 ไว้ด้วย ไม่รู้ว่ายุคนั้น Red Grard ยังคงอยู่ไหม  ตกใจ
บันทึกการเข้า
walai
มัจฉานุ
**
ตอบ: 64


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 03 ก.ค. 15, 08:22

สืบเนื่องจากไปโม้ไว้ที่กระทู้ขนมชาวจีนฯ ไว้ซะเยอะ มีสมาชิกแนะนำให้มาเปิดอีกกระทู้หนึ่ง

โอว์!คุณปิ่นช่างใจดีแท้ ขอปุ๊บก็ได้ปั๊บ จัดให้โดยพลัน ขอบคุณค่ะ ยิงฟันยิ้ม 
                                                                                   
                  คุณปิ่นเล่าเรื่องได้เห็นภาพ  ขอร่วมติดตามอ่านต่อไปนะคะ  เรื่องไม้กั้นร้านขายของ  อ่านแล้วนึกถึงชุมชนตรอกช่างนาคที่เคยอยู่ตอนเด็กๆ มีร้านขายของชาวจีนใช้ไม้กั้น
หน้าร้าน เช้าขึ้นก็มายกไม้ออก เพื่อให้ลูกค้าเดินเข้าไปในร้านได้เลยค่ะ
       
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 03 ก.ค. 15, 08:58



ไม้กั้นมีเขียนตัวเลขกำกับไว้ดัวย เดาว่าคงเพื่อความสะดวกในการเรียงลำดับเวลาใส่ไม้ แต่นาน ๆ ไป ก็ใส่ตามใจชอบเห็นเรียงลำดับตัวเลขอยู่แค่ ๒ แผ่นแรก  一 (หนึ่ง) 二 (สอง) แล้วไป  四 (สี่) กระโดดไป  九 (เก้า) แล้วค่อยมา 三 (สาม)  ยิงฟันยิ้ม

ป.ล. มีคนรู้จักชื่อเล่นว่า ผิน มาจากตัวจีนว่า เดาว่าชื่อคุณปิ่น ก็น่ามาจากตัวนี้เหมือนกัน
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 03 ก.ค. 15, 09:48

กระทู้นี้ทำให้ต้องกลับไปค้นว่าซัวเถาอยู่ตรงไหนของแผ่นดินใหญ่
ได้คำตอบจากคุณวิกี้ว่า

ซัวเถา หรือ ซ่านโถว ในภาษาจีนกลาง (Shantou 汕頭 汕头)เป็นหนึ่งในจังหวัดของจีนที่ตั้งอยู่ในมณฑลกวางตุ้ง มีเนื้อที่ 234 ตารางกิโลเมตร ประชากร 4,846,400 คน
นื่องจากติดกับจังหวัดแต้จิ๋ว จึงใช้ภาษาแต้จิ๋วปัจจุบันเรียกว่า เตี่ยซัวอ่วยหรือ ฉาวซ่านฮว่าหรือ แต่จิวอ่วย หรือแปะอ่วย เป็นภาษาพูด มีระดับเสียงดนตรี8เสียง (ภาษาไทยมีแค่ 5) ในภาษาจีนกลาง (潮汕话) เป็นภาษาท้องถิ่น และใช้ภาษาจีนกลางเป็นภาษาราชการ เนื่องจากเป็นจังหวัดหนึ่งในมณฑลกวางตุ้ง จึงสามารถใช้ภาษากวางตุ้งได้ในการติดต่อสื่อสาร หรือทำธุรกิจ และนับเป็นหนึ่งในชาวแต้จิ๋ว ปัจจุบันเรียก เตี่ยซัวนังหรือฉาวซ่านเหริน ในภาษาจีนกลาง (潮汕人)


บันทึกการเข้า
ปิ่น
ชมพูพาน
***
ตอบ: 172


ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 03 ก.ค. 15, 10:00



ไม้กั้นมีเขียนตัวเลขกำกับไว้ดัวย เดาว่าคงเพื่อความสะดวกในการเรียงลำดับเวลาใส่ไม้ แต่นาน ๆ ไป ก็ใส่ตามใจชอบเห็นเรียงลำดับตัวเลขอยู่แค่ ๒ แผ่นแรก  一 (หนึ่ง) 二 (สอง) แล้วไป  四 (สี่) กระโดดไป  九 (เก้า) แล้วค่อยมา 三 (สาม)  ยิงฟันยิ้ม

ป.ล. มีคนรู้จักชื่อเล่นว่า ผิน มาจากตัวจีนว่า เดาว่าชื่อคุณปิ่น ก็น่ามาจากตัวนี้เหมือนกัน

อาจารย์เพ็ญ... จินตนาการล้ำเลิศค่ะ แต่เสียดายด้วยนะคะ คิดว่าข้อสันนิฐานน่าจะผิดค่ะ

ตัวเลขจีนที่ปรากฏคิดว่าเด็กๆน่าจะมาเขียนเล่นมากกว่า เพราะในหมู่เด็กๆ มีอีกอย่างที่ชอบเล่นกันมาก คือเล่นครูกับนักเรียน สมัยปิ่นเด็กๆก็ชอบเล่นครูนักเรียนเหมือนกัน เห็นที่ไหนมีกระดาน มีแผ่นไม้ใหญ่พอให้ปลอมตัวเป็นครูก็สนุกแล้ว ประตูที่บ้านนี่ไม่เว้นค่ะ เต็มไปด้วยรอยชอล์คค่ะ ชอล์คก็หาซื้อง่ายมากถึงมากที่สุด ยิ่งเล่นสนุกกันเข้าไปใหญ่ค่ะ

กระโดดยางอย่างที่เด็กไทยชอบเล่น เด็กผู้หญิงจีนก็เล่นกันเยอะค่ะ เล่นทุกวัน เดี๋ยวสงสัยต้องเล่าเรื่องเล่นๆตอนเด็กๆให้ฟังว่า เด็กจีนสมัยนั้นเล่นอะไรกัน
บันทึกการเข้า
ปิ่น
ชมพูพาน
***
ตอบ: 172


ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 03 ก.ค. 15, 10:16

กระทู้นี้ทำให้ต้องกลับไปค้นว่าซัวเถาอยู่ตรงไหนของแผ่นดินใหญ่
ได้คำตอบจากคุณวิกี้ว่า

ซัวเถา หรือ ซ่านโถว ในภาษาจีนกลาง (Shantou 汕頭 汕头)เป็นหนึ่งในจังหวัดของจีนที่ตั้งอยู่ในมณฑลกวางตุ้ง มีเนื้อที่ 234 ตารางกิโลเมตร ประชากร 4,846,400 คน
นื่องจากติดกับจังหวัดแต้จิ๋ว จึงใช้ภาษาแต้จิ๋วปัจจุบันเรียกว่า เตี่ยซัวอ่วยหรือ ฉาวซ่านฮว่าหรือ แต่จิวอ่วย หรือแปะอ่วย เป็นภาษาพูด มีระดับเสียงดนตรี8เสียง (ภาษาไทยมีแค่ 5) ในภาษาจีนกลาง (潮汕话) เป็นภาษาท้องถิ่น และใช้ภาษาจีนกลางเป็นภาษาราชการ เนื่องจากเป็นจังหวัดหนึ่งในมณฑลกวางตุ้ง จึงสามารถใช้ภาษากวางตุ้งได้ในการติดต่อสื่อสาร หรือทำธุรกิจ และนับเป็นหนึ่งในชาวแต้จิ๋ว ปัจจุบันเรียก เตี่ยซัวนังหรือฉาวซ่านเหริน ในภาษาจีนกลาง (潮汕人)

ขอบคุณอาจารย์เทาชมพูค่ะ แต่จะขอขยายบางข้อนะคะ

1.แต้จิ๋ว กับ ซัวเถา เป็นจังหวัดที่อยู่ติดกันค่ะ โดยปกติเมื่อพูดถึงวัฒนธรรมของแถบนี้ คนจีนจะเรียกว่า วัฒนธรรมเตี่ยซัว (潮汕文化)อันเป็นการรวมเอาคำแรกของสองจังหวัดเข้าด้วยกันค่ะ

2. แปะอ่วย ในความหมายของคนแต้จิ๋ว เขาจะหมายถึง ภาษาจีนกวางตุ้ง ที่พูดกันที่ กวางเจา ฝอซัน เซินเจิ้น ฮ่องกง ค่ะ ไม่ใช่ภาษาแต้จิ๋วค่ะ

3. ภาษาจีนกลางเป็นภาษาราชการค่ะ แต่ความจริงก็คือ รุ่นพ่อหรือรุ่นปู่ย่ามีอีกจำนวนมากที่พูดภาษาจีนกลางไม่ได้ บางคนอ่านหนังสือไม่ออก เราเรียกคนเหล่านี้ว่า 文盲 literally คือ บอดด้านวรรณกรรม  illiteracy นั่นเองค่ะ ภาษาจีนกลางของคนแต้จิ๋วส่วนใหญ่จะมีสำเนียงแต้จิ๋วติดอยู่มาก

4. หลายๆคนเข้าใจว่า มณฑลกวางตุ้ง น่าจะพูดภาษากวางตุ้งได้ อันที่จริง ไม่ใช่นะคะ มณฑลกวางตุ้งเองก็มีภาษาถิ่นหลายภาษา สองภาษาที่ปิ่นรู้จักคือ กวางตุ้ง และ แต้จิ๋ว ซึ่งการออกเสียงไม่มีความใกล้เคียงกันเลย เรียกว่าคนละภาษาเลยก็ว่าได้ แต่ในอดีต ยุคที่ซีรีย์ทีวีบีเฟื่องฟูมากๆ ก็จะมีฉายที่ทีวีทุกวัน พอเราได้ฟังทุกวันก็พอจะฟังออก พูดได้บ้างนิดหน่อย คนที่ไปทำงานในจังหวัดที่ใช้ภาษากวางตุ้ง อย่างที่กวางเจา เซินเจิ้น ก็จะได้ภาษากวางตุ้งมาโดยปริยาย จำได้ว่าตอนเด็ก เคยมีญาติของคุณตาที่เขาแต่งงานไปที่ฮ่องกงตั้งแต่ยังสาว แล้วเขากลับมาเยี่ยมคุณทวดก็พาหลานสาวเขามาด้วย อายุก็รุ่นเดียวกับปิ่นนี่แหละ เขาพูดจีนกลางไม่ได้นะคะ การรณรงค์เรียนภาษาจีนกลางที่ฮ่องกง เกิดขึ้นหลังจากที่อังกฤษคืนฮ่องกงให้กับประเทศจีน เมื่อสองสามปีก่อน ได้ไปเที่ยวฮ่องกง ไปเจอกับคุณน้าที่เป็นหลานสาวของคุณตา เธอเกิดและโตที่ฮ่องกง เป็นอาจารย์สอนมหาวิทยาลัยอยู่ที่นั่น แต่คุณน้าก็พูดภาษาจีนกลางไม่ได้ การสนทนาก็เลยต้องสนทนาด้วยภาษาอังกฤษไปอย่างทุลักทุเลพอควรค่ะ

บันทึกการเข้า
ปิ่น
ชมพูพาน
***
ตอบ: 172


ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 03 ก.ค. 15, 10:24

ตอบ คุณประกอบ ค่ะ      อย่าเลยดีกว่าค่ะ เขินเอง ถ้าเป็นภาพหมู่ยังไม่เท่าไหร่ นี่ภาพเดี่ยว ถ้ามีรูปที่เป็นฉากหลังเฉยๆคงเอามาลง ไว้ไปหารูปตอนเด็กที่ถ่ายที่จีน อาจจะพอมีบ้าง จะเอามาลงให้ดูค่ะ

ตอบ คุณหนุ่มสยาม ค่ะ  ไม่แน่ใจว่า เรดการ์ด ในความรู้สึกของคนต่างชาติเป็นอย่างไรบ้าง เพราะเท่าที่เรียนประวัติศาสตร์ตะวันออกมา มีความรู้สึกว่า Red Guard เป็นคำที่สื่อถึงความรุนแรงในระบอบ ค.ม.น. แต่ในยุค 1990 เป็นต้นไปนั้น คำๆนี้แทบจะไม่มีความหมายเลย นอกเสียจาก ต้องผูกผ้าพันคอสีแดงเวลาเข้าแถววันจันทร์ก็เท่านั้นเอง โรงเรียนไทยเวลาเข้าเรียนต้องร้องเพลงชาติ สวดมนต์ ของโรงเรียนปิ่นจะเป็นลักษณะ ร้องเพลงงชาติ อ่านบทเกี่ยวกับรักชาติ รักพรรค ค.ม.น. อะไรเทือกนี้ เราก็ท่องๆไปตามประสาเด็ก ได้ยินคำว่า 党(dang) อันสื่อถึง พรรค ค.ม.น. อยู่ทุกวันจนชินหู แต่ก็ไม่รู้ว่ามันหมายถึงอะไร หมายความว่าอะไร เพราะไกลตัวเรามาก และไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันเลย
บันทึกการเข้า
ปิ่น
ชมพูพาน
***
ตอบ: 172


ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 03 ก.ค. 15, 10:34

ไว้ช่วงบ่ายจะมาเล่าเรื่อง "รองเท้าแลกลูกโป่ง" ที่ทำให้รองเท้าของหลายๆคนในบ้านหายมาแล้ว
บันทึกการเข้า
tita
พาลี
****
ตอบ: 253


ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 03 ก.ค. 15, 10:54


ขอนั่งฟังด้วยคนค่ะ

/นอกเรื่อง งานเขียนภาษาไทยของคุณปิ่นไม่มีที่ติเลยนะคะ  สมกับที่เอกภาษาไทย  ไม่น่าเชื่อเลยว่าเริ่มเรียนมา 10 ปี  ทั้งที่ภาษาไทยเป็นภาษาที่ยากมาก 
บันทึกการเข้า
ปิ่น
ชมพูพาน
***
ตอบ: 172


ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 03 ก.ค. 15, 12:19

ขอบคุณ คุณtita ค่ะ... ใครบอกว่าภาษาไทยเรียนง่ายนี่ ปิ่นต้องเถียงสุดใจขาดดิ้นเลย ถ้าจะเรียนผิวเผินอาจจะง่ายจริง เรียนให้ลึกแล้ว มันไม่ได้หมูๆขี้ๆนะคะ อันที่จริง บางทีเบลอๆ ภาษาไทยปิ่นอาจจะติดรูปคำแบบจีนมา แต่คนอ่านอาจจะไม่รู้มากกว่า

ก่อนจะเล่าเรื่อง รองเท้าแลกลูกโป่ง อยากจะเล่าอีกเรื่องที่ไม่ได้ประสบโดยตรง แต่อาม่าเล่าให้ฟังอีกที

ไม่แน่ใจว่าเริ่มเมื่อไหร่ คลับคล้ายคลับคลาว่าอาจจะคุยเล่นกับอาม่า หรือ อาจจะไปอ่านหนังสือมา เกี่ยวกับเรื่อง "การโค่นล้มระบอบเจ้าของที่ดิน" ของสังคมศักดินาจีนช่วงการเปลี่ยนผ่านการปกครอง ที่เรียกว่า "การปฏิวัติทางวัฒนธรรม" หรือ 文化大革命 ที่เกิดขึ้นใน ค.ศ. 1966 เมื่อพรรค ค.ม.น. ประกาศโค้นล้มโลกเก่า ทรัพยากรกลายเป็นของส่วนรวม พวกเจ้าของที่ดินซึ่งเคยเป็นบุคคลที่ร่ำรวย มั่งคั่ง มีที่ดินในครอบครองมากมาย มีรายได้จากการเก็บค่าเช่าพวกชาวนาเช่าที่ ชนชั้นชาวนาในขณะนั้นเป็นชนชั้นที่ถูกกดขี่ ถูกเอารัดเอาเปรียบจากเจ้าของที่ดิน เมื่อพรรค ค.ม.น. ประกาศออกมาแบบนั้น พวกเจ้าของที่ดินก็ซวย เพราะถูกชาวนาบุกเข้าบ้านไปทำลายข้าวของ ทำร้ายร่างกาย เป็นต้น

ปิ่นไม่แน่ใจว่าเป็นหนังสือเรื่อง Moment in Peking ผลงานชิ้นโบว์แดงของอาจารย์ Lin Yutang หรือเปล่า เพราะนานมากจนจำไม่ได้ว่าอ่านจากเรื่องอะไร ท่านใดที่สนใจนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ช่วงเปลี่ยนผ่านการปกครองสามารถหาอ่านได้ มีเป็นภาษาอังกฤษค่ะ

เนื้อเรื่องเล่าว่า พระเอกเป็นลูกชายของขุนนางคนหนึ่ง ตัวนางเอกนั้นแต่งงานกับพระเอก เป็นคนใจบุญ ทำบุญสร้างโรงทานอยู่บ่อยๆ เมื่อสงครามเกิดขึ้น ได้รับผลกระทบจนต้องหนีไปที่อื่น ระหว่างที่ขึ้นรถม้าหลบหนีไปร่วมกับชาวบ้านอื่นๆก็มีคนมาดักปล้นพวกเศรษฐี กับ เจ้าของที่ดิน พอจะมาปล้นรถของบ้านพระเอก พระเอกก็ออกตัวว่า ตัวเองเป็นใคร คนในรถเป็นใคร บ้านของเขาเป็นขุนนางก็จริง แต่บ้านของเขาไม่เคยทารุณชาวนาในปกครอง ภรรยาของเขาเองก็ทำบุญ เปิดโรงทานอยู่บ่อยๆ ถามไปถึงไหนใครๆก็รู้ว่า บ้านเขาเป็นคนดี พูดอยู่นาน ทางโจรถึงยอมปล่อยไปได้ คือ ความสุขสบาย เจริญรุ่งเรืองที่เคยมีมา เมื่อถึงคราวตกอับ จะต้องเสียศักดิ์ศรีอ้อนวอนก็ต้องทำ (พอนึกมาถึงตรงนี้ รู้สึกว่าไม่ใช่เรื่อง Moment in Peking แต่อาจจะไม่ใช่ช่วงใกล้ๆนี้ด้วย)

แต่เรื่องที่สอดคล้องกับประวัติศาสตร์ช่วงโค่นล้มโลกเก่าตามนโยบายของพรรค ค.ม.น.นั้น ปิ่นก็ถามอาม่าว่า "อาม่า แล้วพวกเจ้าของที่ดินที่เขาเป็นคนดีละ พวกชาวบ้านเขาก็ทำร้ายเขาเหรอ" อาม่าเล่าว่า มีคนรู้จักอยู่บ้านหนึ่ง บ้านเขาเป็นชนชั้นเจ้าของที่ดินนี่แหละ พวกชาวบ้านบุกเข้าไปในบ้าน ทั้งปล้นข้าวของ ทั้งทำร้ายคนในบ้าน มีอาม่าแก่ๆที่เป็นแม่ของเจ้าของบ้านก็ถูกจิกหัวออกมาตบจนหน้าระบม สุดท้ายก็คงจะบ้านแตกสาแหรกขาดนั่นแหละ พวกผู้ชายก็ถูกพรรค ค.ม.น. จับไป ที่บ้านเหลือแต่คนแก่ ผู้หญิงและเด็ก ซึ่งต่อมายากจนและอนาถามาก

เราฟังแล้วก็รู้สึกสะเทือนใจว่า เขาทำได้อย่างไร ในเมื่อบ้านนั้นเป็นบ้านที่ทำบุญช่วยเหลือคนจนอยู่บ่อย แถมอาม่าคนนั้นก็ยังแก่แล้ว ทำไมต้องเข้าไปทำร้ายเขาแบบนั้น มันจึงเป็นเรื่องที่ฟังมาแล้วจำได้ตลอด ว่า คนที่ถูกกดขี่มานาน เมื่อถึงคราวที่ได้ลืมตาอ้าปากก็จะตอกกลับยังไม่ยั้งคิด ไม่ได้มองที่ตัวบุคคล ไม่ได้มองที่เหตุผล ไม่ได้มองที่ความดี แต่ยึดภาพรวมแล้วมาทำตามใจชอบ น่าสะเทือนใจมากๆ

 



บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 03 ก.ค. 15, 12:49

打碎旧世界  创立新世界
ทำลายโลกเก่า  สร้างโลกใหม่


เรื่องนี้คงต้องอ่านกระทู้  จุดเริ่มต้นแห่งการปฏิวัติวัฒนธรรมจีน - ความเก่าเหมือนละคร แล้วย้อนดูตัว ของคุณหาญปิงประกอบ
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2 3 ... 6
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.064 วินาที กับ 20 คำสั่ง