ต้องยอมรับว่าเพิ่งจะรู้จักคำว่า "โปเจียม" มาเมื่อไม่นานนี้เอง แต่เกิดความรู้สึกสงสัยว่าคำที่ดูเหมือนเป็นคำจากภาษาจีนจะไปเกี่ยวกับราชสำนักได้อย่างไร
เมื่อเปิดหาความหมายคำว่า โปเจียม ใน
พจนานุกรมไทย-ไทยของอ.เปลื้อง ณ นคร เห็นคำอธิบายว่า
โปเจียม น. เข็มติดอกเสี้อกรรมการตรวจตัดสินในการประกวดเครื่องลายคราม ซึ่งเล่นกันมากในรัชกาล ที่ ๕
ระเบียบ, กำหนด.ในเพจวิกิพีเดีย
ลำดับโปเจียมแห่งราชอาณาจักรไทย อธิบายไว้ว่า
ลำดับโปเจียมแห่งราชอาณาจักรไทย หรือ ธรรมเนียมที่พระราชวงศ์ทรงดำเนินเป็นลำดับกัน เป็นลำดับการเสด็จพระราชดำเนินหรือพระดำเนินก่อนหลังกันตามฐานะในพระราชวงศ์ คำว่า "โปเจียม" นั้น สันนิษฐานว่ามาจากภาษาจีน แปลว่า ลำดับก่อนหลังกัน
ก็เลยลองนึกว่า คำๆนี้น่าจะมาจากคำไหนของภาษาจีนหนอ

ถ้าวิเคราะห์โดยการถอดเสียงและอิงตามความหมายที่ใช้ในบริบทว่าลำดับเวลาเดิน แล้ว คิดมั่วๆแบบไม่มีหลักฐานอะไรอ้างอิงเลย ว่าน่าจะมาจากคำว่า 补占(Simplified Chinese)/補佔(Traditional Chinese) (จีนกลาง: ปู่ จั้น) (จีนแต้จิ๋ว: โป๊ว เจียม) เป็นการนำคำกริยาสองคำมารวมกัน คือ
โป๊ว แปลว่า ทดแทนก็ได้ แปลว่า ซ่อมเสื้อผ้าก็ได้ ให้ภาพว่า เติมเต็มส่วนที่ขาดไปนั่นเอง[fill;mend;patch;repair]เจียม แปลว่า จอง, ครอบครอง [occupy;seize;take]น่าคิดตรงที่ว่า มีปรากฏคำว่า 补位 และ 占位 ในภาษาจีน ที่แปลว่า "แทนที่" และ "จองที่" ตามลำดับ ดังนั้น คำว่า "โปเจียม" ก็น่าจะเป็นการนำคำที่มีความหมายใกล้เคียงกันมาซ้อนกัน กลายเป็นคำซ้อน
ขอใช้คำว่า มโน ละกัน ตัวปิ่นเองก็มโนการเข้าแถวตามลำดับ ถ้าเริ่มเดินจะเป็นการ เดิน ตาม เดิน ตาม คือ คนใหม่จะมาแทนที่คนเก่าที่เดินไปก่อนแล้ว
มันก็เหมือนจะเข้าทีนะคะว่า คำว่า "โปเจียม" อาจจะมาจากรูปคำ 补占(Simplified Chinese)/補佔(Traditional Chinese) ในภาษาจีน
แต่พอปิ่นเอาคำว่า "โปเจียม" ไปค้นหาผลที่เป็นภาษาจีน กลับไม่พบว่ามีการใช้สองคำนี้ซ้อนกันในภาษาจีนเลย ทีนี้ละ ก็เริ่มไม่แน่ใจว่า ตัวเองวิเคราะห์ถูกหรือเปล่า
จำได้ว่าเคยทำรายการวิเคราะห์ประวัติคำยืมภาษาจีนในภาษาไทยบางคำที่ไม่มีใช้ในภาษาจีนปัจจุบัน แต่เหลืออยู่แค่ ภาษาพูด(Dialect) แต้จิ๋วเท่านั้น เนื่องจาก ภาษาจีนแต้จิ๋ว มีเพียงภาษาพูด ไม่มีภาษาเขียน การสืบทอดภาษาจึงเป็นไปอย่างท่องจำ คือถ่ายทอดจากรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่ง ภาษาจีนแต้จิ๋วจึงถือได้ว่าเป็นภาษาท้องถิ่นภาษาหนึ่งที่ยังมีลักษณะของภาษาจีนโบราณติดอยู่เยอะ รวมถึงการใช้อักษรจีนโบราณที่เป็นภาษาพูด เมื่อยุคหนึ่ง ชาวจีนแต้จิ๋วอพยพมาที่ประเทศไทยย่อมนำภาษาของตนเองเข้ามาด้วย พอใช้ไปนานๆเกิดการเปลี่ยนแปลงด้านความหมายและเสียง พอจะมาสืบหาต้นตอของคำก็ยิ่งยากเข้าไปใหญ่
แต่ถ้าเปลี่ยนเป็นอีกคำหนึ่งซึ่งการออกเสียงก็สอดคล้องกับคำว่า "โปเจียม" คือ 补渐(Simplified Chinese)/補漸(Traditional Chinese) (จีนกลาง: ปู่ เจี้ยน) (จีนแต้จิ๋ว: โป๊ว เจียม) แปลว่า ค่อยๆแทนที่ เพราะคำว่า 渐(เจียม) แปลว่า ทยอย/ค่อยๆ แต่คำว่า 渐(เจียม) คำนี้ ต้องบอกตามตรงว่า เป็นคำที่มีลักษณะค่อนไปข้างภาษาเขียนมากกว่าภาษาพูด คือ ไม่ค่อยจะตรงกับลักษณะของภาษาจีนแต้จิ๋วที่เป็นภาษาพูด เนื่องจาก ความหมายของ
ค่อยๆ,ทยอย ในภาษาจีนแต้จิ๋วมีคำอื่นที่ใช้อยู่เป็นประจำ
ทั้งนี้ ตัวปิ่นเองก็ไม่ได้ศึกษาภาษาจีนโบราณ เพียงแต่อาศัยว่ารู้ภาษาจีนบ้าง เอาความรู้เท่าที่มีมาวิเคราะห์หาความเป็นไปได้เท่านั้น ข้อสันนิฐานเบิ้องต้นจึงไม่มีหลักฐานไรๆมาสนับสนุนได้เลย
อีกประการหนึ่งคือ แม้ว่าคำยืมภาษาจีนที่ปรากฏในภาษาไทย เป็นภาษาจีนแต้จิ๋วเสียส่วนใหญ่ แต่แท้จริงแล้ว ยังมีภาษาจีนถิ่นอื่นที่มีบทบาทเป็นคำยืมเช่นเดียวกัน เช่น ภาษาจีนถิ่นไหหลำ ถิ่นฮกเกี้ยน เป็นต้น ซึ่ง ปิ่นไม่มีความรู้ในภาษาถิ่นอื่นๆที่กล่าวมา การวิเคราะห์คำว่า "โปเจียม" โดยตั้งสมมติฐานว่ามาจากภาษาจีนแต้จิ๋วนั้น อาจจะผิดตั้งแต่แรกเลยก็เป็นได้
ดังนั้นจึงอยากทราบว่า เริ่มปรากฏคำว่า "โปเจียม" เป็นครั้งแรกในเอกสารประวัติศาสตร์เมื่อไหร่คะ