เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1]
  พิมพ์  
อ่าน: 5540 จดหมายตอบโต้ระหว่างม.จ.อากาศดำเกิงและพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงศ์
ปิ่น
ชมพูพาน
***
ตอบ: 172


 เมื่อ 28 มิ.ย. 15, 09:35

วันอาทิตย์ อากาศดีๆ ตื่นเช้ามาลองจัดหนังสือก็เจอเข้ากับหนังสือ "รวมเรื่องสั่น เรื่องแปล บาทวิจารณ์ และชีวิต หม่อมเจ้าอากาศดำเกิงกับงานประพันธ์"

หนังสือเรื่อง ละครแห่งชีวิตนั้น ดิฉันได้สัมผัสหนังสือเมื่อปี ๒๕๕๓ ในชั้นเรียนวิชาวิวัฒนาการวรรณกรรมไทย มีหนังสือบังคับที่พวกเราต้องเรียนและต้องอ่าน หลังจากนั้นก็ต้องศึกษาเพิ่มเติมเพื่อเขียนเปเปอร์ในเทอมปลาย ดิฉันก็เลยได้มาเจอหนังสือเล่มเล็กนี้

ภายในก็จะมีหลายหัวข้อ แต่วันนี้จะเลือกลง บทวิจารณ์ "ละครแห่งชีวิต" ของพระองค์จุลจักรพงศ์ และจดหมายตอบโต้ของทั้งสองท่าน มาลง เพราะรู้สึกว่าท่านเจ้าเรือนได้เคยลงบางตอนไว้ในกระทู้ "เจ้าชายนักประพันธ์ หม่อมเจ้าอากาศดำเกิงแล้ว http://www.reurnthai.com/index.php?topic=1477.30 ดิฉันก็เลยจะพิมพ์ลงฉบับเต็มไว้

นี่คือจุดเริ่มต้นของการตอบโต้ที่ดุเดือดเผ็ดมันไม่แพ้ยุคนี้ค่ะ บทวิจารณ์ของพระองค์จุลฯ
วิจารณ์เรื่อง "ละครแห่งชีวิต" ของ ม.จ.อากาศดำเกิง

หนังสือภาษาไทยเรื่องนี้ ได้ออกมานานแล้ว และข้าพเจ้าได้ข่าวว่า มีผู้เอาใจใส่อ่านเป็นอันมาก บางคนก็กล่าวติเตียนเสียอย่างรุนแรง บ้างตื่นเต้นชทเชยเสียจนเกินไป ตามความเห็นของข้าพเจ้า หนังสือเล่มนี้ไม่สมควรจะได้รับอย่างใดอย่างหนึ่งโดยรุนแรงถึงเพียงนั้น ส่วนข้าพเจ้าเองนั้นเมื่อได้ยินข่าวเรื่องหนังสือเล่มนี้มาจากคนอื่นๆแล้ว ทำให้ใคร่จะอยากอ่านเป็นอย่างยิ่ง แต่หนังสือเล่มนี้เพิ่งจะตกมาถึงมือข้าพเจ้าเมื่อเร็วๆนี้ เมื่อได้อ่านดูแล้ว ข้าพเจ้าอดรู้สึกมิได้ว่าควรน่าจะฐกสู่กันฟังและวิจารณ์ดูบ้าง แม้แต่ออกจะล่าช้าไปเสียบ้างก็ตาม เฉพาะอย่างยิ่งควรนำลงในหน้ากระดาษของ "สามัคคีสาร" ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ตามความจำของข้าพเจ้า ผู้แต่ง (ม.จ. อากาศดำเกิง) ได้เคยมีเรื่องลงแล้วหลายครั้ง

ชื่อของเรื่องนั้น ตามที่ข้าพเจ้าได้แปลเป็นอังกฤษ (The World's a Stage) ว่าตามสำเนียงอังกฤษแล้วข้าพเจ้ารู้สึกดูจะคมคายดีกว่า "ละครแห่งชีวิต" ซึ่งแปลตรงๆเป็นภาษาอังกฤษได้ ๒ วิธี แต่ดูไม่สู้จะเหมาะเจาะทั้ง ๒ อย่าง (Life's Play or Life's Drama) แต่ข้าพเจ้าเชื่อแน่ว่า เมื่อได้ตั้งชื่อหนังสือว่าอย่างนั้น ผู้แต่งได้คิดถึงถ้อยคำของท่านกวีผู้เรืองนาม คือ เชคสเปียร์ ซึ่งอยู่ในเรื่อง "ตามใจท่าน" บทละครเรื่องนี้ ได้แปลเป็นภาษาไทยแล้วอย่างดียิ่ง คือ พระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๖ และผู้แต่งอาจจะนำบทตอนนี้มาใช้เป็นนามหนังสือได้อย่างดี

มีอีกข้อซึ่งข้าพเจ้าจะต้องบ่น คือ การใช้วิธีอุทิศหนังสือให้แก่บุคคล ๒ คน พร้อมๆกัน การทำเช่นนี้เป็นของยากอย่างยิ่ง เพราะจะหาคน ๒ คน ให้เข้าคู่กันได้อย่างเหมาะเจาะนั้นลำบาก โดยมากถ้าคนแต่งทำเช่นนั้นก็มักอุทิศให้แก่ "บิดามารดาของข้าพเจ้า" และบางทีเราก็อาจจะพบหนังสือซึ่งผู้แต่งได้อุทิศให้แก่มิตรของตน ๒ คน พร้อมๆกัน แต่มิตตร ๒ คนนั้น มักจะมีฐานะหรือยศศักดิ์เสมอเหมือนกัน แต่การที่จะนำ ทูลกระหม่อมสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์ฯ ไปเข้าคู่กับสตรีสาวผู้หนึ่งซึ่งแม้ผู้นั้นจะเป็นคนดีวิเศษเท่าใดก็ตาม ข้าพเจ้าพูดได้แต่ว่าออกจะทำให้ขมขื่นกลืนไม่ลง ทางที่ดีคือต้องเอาอย่างคนอังกฤษตัวสมมติ ที่คนโดยมากเห็นว่าเหมือนคนอังกฤษจริงๆ หยิบแว่นตาข้างเดียวอันจะเว้นมีเสียไม่ได้ ใส่ขอบตาและร้องว่า "อย่างนี้ใช้ไม่ได้

เมื่อท่านได้อ่านมาจนเพียงนี้ ท่านคงจะรู้สึกว่าข้าพเจ้าก็คงอยู่ในจำพวกที่ติหนังสือเล่มนี้เสียอย่างปรักปรำ โดยที่มิได้เห็นว่ามีอะไรดีเสียเลย หาได้เป็นจริงดังนั้นไม่ ข้าพเจ้าได้ปล่อยเรื่องที่หนักอกอยู่อย่างมากไป ๒ เรื่องแล้ว คือ ชื่อเรื่องและการอุทิศคู่ ดังนั้นจะหันไปทางการ "ชม" เสียบ้าง ข้าพเจ้ารู้สึกว่าผู้แต่งได้นิพนธ์เรื่องนี้ขึ้นโดยน้ำใจจริง แปลกกว่าหนังสืออื่นๆ โดยมากที่ข้าพเจ้าได้อ่านเป็นภาษาไทยในเร็วๆนี้ ข้าพเจ้าเห็นว่าผู้แต่งสมควรได้รับความชมเชยเป็นพิเศษ ในการที่มิได้นิพนธ์หนังสือเริงรมย์ โดยเพียงแต่แปลมาจากภาษาอังกฤษดัวที่ได้เคยมีผู้ทำมาแล้วโดยมาก และหนังสือภาษาอังกฤษเดิมนั้น โดยมากก็ไม่ดีเลย และเหมาะสำหรับตะกร้าทิ้งกระดาษมากกว่า (ข้อนี้เห็นได้ว่าน่าจะเป็นสมัยนิยม เพราะพบข้อเขียนทำนองเดียวกันในคำนำ "จดหมายจางวางหร่ำ"ว่า จดหมายจางวางหร่ำ เป็นหนังสือที่เจ้าของเขียนเพื่อจะลงทวีปัญญาในระยะนั้น แต่แรกตั้งใจจะใช้ต้นฉบับหนังสือฝรั่งนำมาแปลๆลงไปเพื่อให้แล้วเร็วทันกำหนดที่หนังสือจะออก แต่เมื่อเห็นว่าถ้าตามอย่างฝรั่งล้วนๆ ผู้อ่านภาษาไทยจะไม่ "ซึม" ก็ได้ดัดข้อความให้เป็นไทยๆ ในที่สุดกลายเป็นเขียนเองแทบทั้งฉบับ กล่าวได้แต่ว่าความคิดเดิมมาจากฝรั่ง)แต่นี่ ม.จ. อากาศฯ ได้ทรงใช้วิธีใหม่ คือ ทรงผูกเรื่องขึ้นด้วยองค์เอง การทำของใหม่ๆนั้นเป็นของยาก ต้องระวังมาก เพราะมักจะมีหลุมบ่อขวางทางอยู่เสมอ


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
ปิ่น
ชมพูพาน
***
ตอบ: 172


ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 28 มิ.ย. 15, 09:56

ข้าพเจ้าชอบตอนที่บรรยายถึงสถานที่ต่างๆตลอดเล่ม ข้าพเจ้ารู้สึกจับใจมากเมื่อได้อ่านถึงชีวิตอันคับแค้นเศร้าโศกของตัวพระเอก (ผู้แต่งเองใช่ไหม?) เมื่อยังเยาว์อยู่ ตอนที่พระเอกไม่สามารถจะตามบิดามารดาและพี่น้องไปเที่ยวงานฤดูหนาวเพราะถูกห้าม แต่ภายหลังคนเลี้ยงผู้ใจดีก็ได้พาไปจนได้ แต่แน่ละไม่สามารถจะไปอย่างหรูหรา ตอนนี้ข้าพเจ้ารู้สึกเป็นตอนที่น่าฟังจับใจ เป็นการนิพนธ์บรรยายความรู้สึกที่จัดได้ว่าอยู่ในขั้นสูง ส่วนการที่ม.จ.อากาศฯ ทรงเป็นเดือดเป็นร้อนถึงการที่นักเรียนไทยในอังกฤษอดอยากยากจนมีเงินใช้จ่ายน้อยและบ่นถึงเงินเดือน ๗ ปอนด์ ข้าพเจ้าเชื่อว่าตอนนี้บรรดาเพือนนักเรียนอังกฤษทั้งหลายซึ่งยังอยู่ที่นี่คงจะเห็นด้วยและเอออวยกันเป็นแน่

ตอนที่ทรงแต่งดีอีก ก็คือ เมื่อได้เล่าถึงเด็กอีกคนหนึ่งได้ถูกโบย โดยทีมิได้มีความผิดเลย ความจริงพระเอกนั้นเองเป็นผู้ทำผิด แต่กระนั้นเพื่อนของพระเอกยังได้ยอมให้ตนถูกโบย โดยไม่เผยความจริงเลย ทำให้พระเอกบังเกิดความรู้สึกเป็นครั้งแรกว่าโลกนี้มีคนดีมรใจโอบอ้อมอารีถึงคนอื่นบ้างแทนที่จะคิดถึงแต่ตนเอง และทรงลงเอยโดยประโยคเดียวว่า "ในโลกนี้มีคนอย่างประดิษฐ์ (นั่นคือนามของมิตรผู้นั้น) ซึ่งข้าพเจ้าเห็นว่าเข้าทีมากและจนบัดนี้สังเกตว่ายังมิได้มีผู้ใดใช้วิธีนี้มากนัก ในบรรดานักแต่งไทย

การที่ทรงบรรยายอย่างละเอียด และตรงกับความจริง ถึงความสกปรกโสโครกของเมืองท่าเรือ เช่น โกลำโบ และ ปอร์ตเสด และความชั่วช้าคดโกงของคนพื้นเมืองที่มักจะมาคอยมุงกวนคนโดยสารอยู่ตามท่าเรือ ก็ทรงทำได้อย่างดีตรงกับความจริงการที่ทรงชมเชยนายร้อยเอก และนางแอนดรูส ผู้สำนักอยู่ ณ เมืองเบ็กสะฮิลล์ ก็ทำโดยใจจริงแท้ๆ และทำให้เห็นได้ว่าผู้แต่งทรงรู้จักรำลึกถึงบุญคุณของคนอื่นๆ ได้ดีอย่างน่าชมยิ่ง

การที่ผู้แต่ง พาผู้อ่านท่องเที่ยวไปตามเมืองหลวงต่างๆของทวีปยุโรป และเมืองใหญ่ๆ ในอเมริกา ย่อมจะเป็นการให้ความรู้และเพลิดเพลินแก่ผู้อ่านซึ่งมิดได้มีโอกาสเช่นเดียวกัน ที่จะได้ไปเห็นสถานที่เหล่านี้ ย่อมเป็นการกระทำอันควรได้รับการสรรเสริญ

ข้อดีๆต่างๆเหล่านี้ เป็นที่พอใจแก่ข้าพเจ้าเป็นอันมาก และเห็นว่าผู้แต่งควรได้รับความชมเชยอย่างเต็มที่ ท่านได้เปิดหนทางซึ่งคนอื่นๆ ควรจะเดินตามต้องขอยอมรับว่าทรงทำดีมาก

แต่ข้าพเจ้าเกราว่าการ ชมเชย จะต้องยุติแต่เพียงนี้ และข้าพเจ้าก็อยากจะให้วิจารณ์ฉยัยนี้ลงเอยแต่เพียงนี้เหมือนกัน แต่เนื่องที่ข้าพเจ้าหวังดีต่ออนาคตในชีวิตนิพนธ์ของ ม.จ. อากาศฯ และหวังดีต่อมหาชน ดังนั้นจะยังยุติไม่ได้ หนังสือเล่มนี้ควรได้รับการสรรเสริญ แต่ก็ควรจะถูกติด้วยเหมือนกัน มีข้อดีก็หลายข้อ แต่มีข้อเสียที่เห็นได้อย่างชัดเจนก็มาก ข้อเสียอันสำคัญก็คือ ข้าพเจ้าออกจะสงสัยว่า ท่านผู้แต่งอยากจะ "อวดฉลาด" มากเกินไปสักหน่อย การกระทำเช่นนี้เป็นของผิดอย่างร้ายแรง นิสิตของมหาวิทยาลัย อ๊อกสฟอร์ดและเคมบริดช์ มักจะพยายามทำเช่นนั้น เมื่อเข้าสอบไล่ครั้งสุดท้าย และเมื่อผลของการสอบไล่ออกมาแล้ว มักจะแปลกใจที่เห็นว่าตนกลับสอบได้ชั้นตรี แทนชั้นเอกดังที่ได้หวังไว้ การสร้างอะไรขึ้นมา ซึ่งจะให้เป็นของแปลกกว่าที่ใครๆเคยทำเสียเลยนั้น เป็นของยากหนักหนา นอกจากผู้นั้นจะเป็นปราชญ์โดยกำเนิด แม้ข้าพเจ้าจะมีความนับถือ ม.จ.อากาศฯ เท่าใดก็ดี ไม่สามารถจะถวายเกียรติยศว่าทรงเป็นปราชญ์โดยกำเนิดได้ ม.จ. อากาศฯ ทรงพยายามจะทำให้หนังสือของท่านเป็นหนังสือแปลกและอย่างใหม่ โดยที่เป็นทั้งเรื่องเริงรมย์และเรื่องจริง ผลของการกระทำครั้งนี้ก็ลงรูปเดียวกับ พยายามจะทำของอันแปลกในทางศิลปโดยศิลปินผู้มีความสามารถปานกลาง คือผลไม่ดีเลย และทำความลำบากให้ผู้วิจารณ์ด้วย เพราะผู้วิจารณ์ไม่สามารถจะตกลงใจได้ว่าจะตัดสินหนังสือนี้ว่าเป็นเรื่องจริงหรือเรื่องสมมติ
บันทึกการเข้า
ปิ่น
ชมพูพาน
***
ตอบ: 172


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 28 มิ.ย. 15, 10:15

เมื่อพระเอก หรือที่จะขออนุญาตเรียกว่าตัว "ข้าพเจ้า" ของเรื่องนี้ เป็นผู้มีนามว่า "นายวิสูตร์" ข้าพเจ้าต้องถือว่าเป็นตัวละครสมมติขึ้น ถ้าดังนั้น คนจริงๆ เช่นพระองค์เจ้าจรูญฯ พระยาจำนงค์ฯ (ผู้เคยเป็นอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว) หม่อมเจ้าวรรณไวทยากรฯ และพระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกร ไปทำอะไรอยู่ในระหว่างหน้ากระดาษเหล่านั้น จริงอยู่ ชาวยุโรปได้เคยแต่งหนังสือเรื่องเริงรมย์ และนำคำจริงๆเข้าไปปนกับคนสมมติบ้างเหมือนกัน แต่ถ้าคนจริงๆเหล่านั้นยังมีชีวิตอยู่หรือเพิ่งสิ้นชีพไปไม่นาน ก็มักจะมาเกี่ยวข้องในหนังสือเริงรมย์เหล่านั้นเพียงเล็กน้อย มักจะมาเป็นคล้ายๆ "ม่านหลัง" ของละครทำให้เรื่องราวดูคล้ายจริงขึ้น คนจริงๆ ถ้าถูกนำเข้าเล่นเป็นตัวละครในหนังสือเริงรมย์มักจะเป็นคนที่สิ้นชีพนานมาแล้ว ดังนั้นแม้จะให้ทำอะไรก็ดี ก็ไม่มีลูกหลานญาติพี่น้องมาเสียใจและโทมนัสได้

แต่ถึงกระนั้นเมื่อผู้แต่งมีประสงค์จะให้คนจริงๆนั้นพูด ก็มักจะค้นคว้าศึกษาเสียอย่างมากมายก่อน เพื่อที่จะให้คำพูดนั้นคล้ายคลึงกับความจริง ซึ่งคนนั้นๆ อาจจะพูดได้จริงๆ ดังนั้น แม้พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ จะไม่เคยตรัสว่า "รัฐ" คือ ข้าพเจ้า (L'etat, c'est moi) ก็จริง แต่ก็เป็นถ้อยคำที่พระเจ้าแผ่นดินพระองค์นั้นอาจจะตรัสได้

ข้าพเจ้าคงจะถูกเถียงว่า นักแต่งที่มีชื่อเสียงเรืองนามมาแล้วทั้งฝรั่งเศสและอังกฤษ ได้เคยจัดให้คนจริงๆ กระทำสิ่งต่างๆ ในหนังสือเริงรมย์ ซึ่งคนเหล่านั้นเมื่อยังมีชีวิตคงจะไม่ทำเป็นแน่ ข้าพเจ้าอาจจะถูกเถียงโดยใช้นามอันสำคัญ เช่น ดูมาส์ (Dumas) หรือ วอลเตอร์ สกอตต์ (Walter Scott) แต่ข้าพเจ้าก็ต้องโต้ว่า ท่านทั้งสองนี้ได้ถูกนักประวัติศาสตร์หัวเราะเยาะมาหลายปีแล้วว่า นิพนธ์ไม่ตรงกับความจริง นอกจากใช้นามจริงๆแล้ว ท่านดุ๊คแห่งบักคิงแฮม ของดูมาส์ หรือพระเจ้าริชาร์ดที่ ๑ ของวอลเตอร์ สกอตต์ ก็เป็นแต่เพียงตัวสมมติ เช่น ฟอลสะตาฟ ของเชคสเปียร์ หรือ ตาร์ตูฟ โมลิแอร์

การที่จะจับให้หม่อมเจ้าวรรณไวทยากรรับสั่งข้อความที่ท่านไม่น่าจะสั่งได้เลยเมื่อทรงพบกับวิสูตร์ ข้าพเจ้าเห็ฯว่าเป็นการกระทำอันไม่สมควร ถ้าวิสูตร์เป็นคนสมมติแล้ว ถ้าอย่างนั้นหม่อมเจ้าวรรรฯก็เป็นคนสมมติด้วยซิ ข้าพเจ้าทราบดีว่าท่านมิได้เป็นดังนั้น และข้าราชการที่สถานทูตคงจะรับรองได้ว่าท่านเป็นคนจริงๆอย่างแน่แท้

การที่จะปรักปรำพระยาจำนงค์ฯ อย่างรุนแรงเพราะมิได้ช่วยเหลือวิสูตร์ซึ่งไม่มีตัวตนเลยนั้น เป็นการกระทำอันยุติธรมมหรือ ข้าพเจ้าขออนุญาตลอกเอาถ้อยคำในหนังสือมาบ้างเล็กน้อย

"ข้าพเจ้าเป็นคนไทย แต่เมื่อข้าพเจ้าไปถึงประเทศญี่ปุ่น เป็นการประหลาดมากที่สถานทุตไม่ประสงค์จะรับข้าพเจ้า หรือช่วยเหลือข้าพเจ้าเลย พระยาจำนงค์ฯซึ่งเป็นอััครราชทูตในครั้งนั้น "ปิดประตู" และไม่ปรารถนาจะให้ข้าพเจ้าเข้าไปเกี่ยวข้องกับสถานทูตแต่อย่างใด ราวกับว่าข้าพเจ้าเป็นคนถูกเนรเทศ" นี่เป็นถ้อยคำปรักปรำอย่างรุนแรงเป็นแน่แท้ ดังนั้นวิสูตร์เป็นแต่เพียงตัวสมมติ แล้วก็ออกจะเป็นการปรักปรำพระยาจำนงค์ อย่างรุนแรงเกินไปละกระมัง
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 28 มิ.ย. 15, 10:29

ภายในก็จะมีหลายหัวข้อ แต่วันนี้จะเลือกลง บทวิจารณ์ "ละครแห่งชีวิต" ของพระองค์จุลจักรพงศ์ และจดหมายตอบโต้ของทั้งสองท่าน มาลง เพราะรู้สึกว่าท่านเจ้าเรือนได้เคยลงบางตอนไว้ในกระทู้ "เจ้าชายนักประพันธ์ หม่อมเจ้าอากาศดำเกิงแล้ว http://www.reurnthai.com/index.php?topic=1477.30 ดิฉันก็เลยจะพิมพ์ลงฉบับเต็มไว้

ช่วยแก้ไขลิงก์ให้คุณปิ่น

http://www.reurnthai.com/index.php?topic=1477.30

บันทึกการเข้า
ปิ่น
ชมพูพาน
***
ตอบ: 172


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 28 มิ.ย. 15, 10:31

ถ้าวิสูตร์ ซึ่งพระยาจำนงค์ ได้ละเลยไม่ช่วยเหลือ คือ ท่านผู้แต่งเอง ถ้าดังนั้นทำไมเราได้ยินแต่ความผิดของพระยาจำนงค์ ถึงทีเหตุการณ์บางอย่างในชีวิตของผู้แต่งเองบางเรื่อง ทำไมไม่เห็นวิสูตร์ได้กระทำสิ่งเหล่านั้นบ้างเล่า อย่างนี้เรียกว่ายุติธรรมหรือ

แต่ถ้าวิสูตร์ไม่มีตัวตน อย่างนั้นการที่จะปรักปรำพระยาจำนงค์ว่าละเลยคนที่ไม่มีตัวจริง ก็แปลว่าด่า พระยาจำนงค์ว่าไม่ได้ทำผิดอะไรเลย ข้าพเจ้าอยากจะขอออกตัวในที่นี้ว่า ไม่เคยเป็นเพื่อนกับพระยาจำรงค์ เป็นแต่เคยพบและจับมือกับท่านครั้งหนึ่งที่กรุงปารีส ก่อนถึงแก่กรรมไม่กี่วัน การที่ข้าพเจ้าเขียนท้วงนี้ เพราะเห็นกับความยุติธรรม ความสุภาพ และการกระทำอย่างนักกีฬาโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเกี่ยวข้องกับคนที่ตายไปแล้ว

การที่จะถือสิทธิของผู้แต่งประวัติ ถึงเวลาจะด่าก็ด่าไม่ว่าใคร ด่าเสียอย่างเต็มที่ เพื่อประโยชน์ของมหาชนนั้นเป็นการกระทำที่ไม่ผิด ถ้ามีคนกล้าทำเช่นนั้นมากๆฏ้จะยิ่งดี แต่ตนเอง อย่าแอบอยู่หลังหน้ากากของการสมมติสิ และอย่าเล่นกล้ากล่าวนามจริงๆถึงแต่คนบางคนที่ตนไม่ชอบและไม่กลัว

น่าเสียดายที่ความพยายามอย่างเต็มใจของ ม.จ.อากาศฯ จะมาเสียหายไปโดยการกระทำผิดพลาดไปอย่างแรงเช่นนี้ แต่อย่างไรก็ดี เราควรจะชม ม.จ.อากาศฯ ที่ทรงใช้พระนามจริงว่าเป็นผู้แต่ง แต่เป็ที่น่าเสียดายที่ถึงเวลาจะปรักปรำบิดา หรือสหายแล้ว ม.จ. อากาศฯก็ใช้นามแฝงปิดบังเสียให้กลายเป็นคนสมมติไป  แต่คนอื่นๆที่ท่านเกลียดแล้ว ท่านปล่อยนามจริงๆ ออกมาให้มหาชยพลอยเกลียดไปด้วย ถ้ามหาชนมีสิทธิที่จะทราบว่าพระยาจำนงค์ฯเป็นราชทูตชนิดใดแล้ว มหาชนก้มีสิทธิที่จะทราบว่าตัวละครอื่นๆนั้นเป็นใครจริงๆด้วย แต่บางทีผู้แต่งทำการแต่งจริงกับเล่นผสมเช่นนี้ เพื่อจะให้เป็นของแปลก ข้าพเจ้าได้ท้วงแล้วว่าการทำของแปลกนั้นทั้งยากทั้งอันตราย

ข้าพเจ้าเสียใจที่ได้เห็นว่าผู้แต่งไม่สามารถจะละทิ้งวิธีนิพนธ์อย่างนักแปลชั้นเลวที่แปลไม่สู้จะเป็นคือ พูดถึงอวัยวะของสตรีเป็นต้องใช้ราชาศัพท์ ทำไมถึงต้องทำกันอย่างหน้ารำคาญเช่นนั้นหนอ อีกประการหนึ่ง แม้ว่าตอนบรรยายถึงเมืองและภูมิประเทศ จะนิพนธ์ดีก็จริง แต่พอถึงสตรีสิ ทุกๆคนมีดวงหน้ารูปไข่ ช่างน่าเบื่อจริงๆ

แม้ในเรื่องเริงรมย์ที่สมมติขึ้น ผู้แต่งควรจะจัดให้ตัวละครทำอะไรที่น่าจะเป็นได้ การที่นักเรียนไทยที่เคยมาอยู่อังกฤษเพียง ๑ ปี จะเป็นผู้ส่งข่าวของหนังสือพิมพ์ "ไทม์ส" และในไม่ช้าเป็นผู้วิจารณ์ละครพูดของหนังสือพิมพ์ "ไทมส์" นั้นออกจะหนักมือไปสักหน่อยกระมัง? อยากทราบว่าถ้าเจ้าของหนังสือพิมพ์ "ไทมส์" ได้ยินเข้า เขาจะว่ากระไร

ข้าพเจ้าได้อ่านหนังสือพิมพ์ "ไทมส์" มาเสมอๆ นานแล้ว แต่ไม่เคยปรากฏเลยว่ามีผู้เขียนประจำซึ่งใช้นามแฝงชนิด "บ๊อบบี้" เช่นเดียวกับวิสูตร์ ก่อนจะแต่งถึงความภายในของหนังสือพิมพ์ ม.จ. อากาศฯ ควรจะทำพระองค์ให้คุ้นเคยแต่เพียงกับหน้ากระดาษของหนังสือพิมพ์เสียก่อนจะดี
บันทึกการเข้า
ปิ่น
ชมพูพาน
***
ตอบ: 172


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 28 มิ.ย. 15, 10:38

ข้อที่เสียที่สุดก็คือ วิธีผสมนี้แหละ ทำให้หนังสือนี้คล้ายๆกับยุโรปยุคกลาง พยายามจะเป็นสองอย่างพร้อมๆกัน คือ คริสตศาสนาจักร และโรมันอาณาจักร และผลที่สุดเลยเป็นดังที่นักแต่งสมัยนั้นเขาเรียกว่าสัตว์ร้ายอันมีสองศีรษะ หายใจออกมาเป็นความยุ่งเหยิง หนังสือจะเป็นได้แต่เรื่องจริงหรือเรื่องสมมติ จะเป็นทั้งสองอย่างพร้อมๆกันไม่ได้ แต่ถึงกระนั้นก็เป็นหนังสือที่ควรอ่าน เพราะนอกจากข้อผิดสำคัญนี้แล้ว นับว่าเป็นการก้าวหน้าอย่างหนึ่งสำหรับอักษรศาสตร์ไทย น่าเสียดายที่ ม.จ. อากาศฯ เลี้ยวทางผิด และทำให้งานอันน่าจะเป็นชิ้นสำคัญกลับกลายเป็นเสียไปดังนี้

แต่ถึงอย่างนั้น อย่าได้ทรงท้อพระทัย เราทุกๆคนเรียนจากการพลาดพลั้ง ถ้าถือเป็นตัวอย่าง ภายหน้าได้แล้วอาจกลับเป็นประโยชน์ หนังสือนี้แสดงให้เห็นได้ว่าท่าน เชี่ยวชาญในการผูกเรื่องสมมติ ม.จ.อากาศฯ ต้องทรงลองนิพนธ์ใหม่อีก

ประเทศฝรั่งเศส
๑๖ สิงหาคม ๒๔๗๓


จบแล้วค่ะ กว่าจะพิมพ์บทวิจาร์ของพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์จบนี่ร่วมชั่วโมง ขอพักก่อน ไว้จะมาต่อ หม่อมเจ้าอากาศฯ รับสั่งตอบวิจารณ์ของพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์
บันทึกการเข้า
ปิ่น
ชมพูพาน
***
ตอบ: 172


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 28 มิ.ย. 15, 10:42

ภายในก็จะมีหลายหัวข้อ แต่วันนี้จะเลือกลง บทวิจารณ์ "ละครแห่งชีวิต" ของพระองค์จุลจักรพงศ์ และจดหมายตอบโต้ของทั้งสองท่าน มาลง เพราะรู้สึกว่าท่านเจ้าเรือนได้เคยลงบางตอนไว้ในกระทู้ "เจ้าชายนักประพันธ์ หม่อมเจ้าอากาศดำเกิงแล้ว http://www.reurnthai.com/index.php?topic=1477.30 ดิฉันก็เลยจะพิมพ์ลงฉบับเต็มไว้

ช่วยแก้ไขลิงก์ให้คุณปิ่น

http://www.reurnthai.com/index.php?topic=1477.30



ขอบพระคุณคุณเพ็ญค่ะ หากจะกรุณาช่วยแก่ตัวสะกด พระนามของ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ จาก ศ์ เป็น ษ์ จะเป็นพระคุณค่ะ บังเอิญพิมพ์ผิดตั้งแต่แรกแล้วเลยผิดมาเรื่อยๆ
บันทึกการเข้า
ปิ่น
ชมพูพาน
***
ตอบ: 172


ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 28 มิ.ย. 15, 15:57

สวัสดีช่วงบ่ายค่อนไปเป็นเย็นมากกว่าค่ะ มาต่อบทตอบโต้ของท่านชายอากาศดำเกิงนะคะ

หม่อมเจ้าอากาศฯ
รับสั่งตอบวิจารณ์
ของพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์


ข้าพเจ้าอดรู้สึกขันไม่ได้ เมื่อได้อ่านคำวิจารณ์ของพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ติชมหนังสือเล่มหนึ่งของข้าพเจ้าซึ่งให้นามว่า "ละครแห่งชีวิต" ข้อวิจารณ์ตลอดเรื่องมีแต่เรื่องไม่เป็นสาระไร้เดียงสาอย่างทารก ประกอบด้วยคำกล่าวหาอย่างผิดๆ และแถมความโม้เย่อหยิ่ง

คราวแรกข้าพเจ้าคิดว่าไม่มีประโยชน์อันใดที่จะไปตอบของเช่นนั้น แต่บรรดาเพื่อนของข้าพเจ้าได้ขยั้นขยอให้ข้าพเจ้ากล่าวขวัญต่อสู้ป้องกันงานชิ้นหนึ่งซึ่งเหล่ามิตรสหายได้ถือว่าเป็นงานอันมีเกียรติอย่างสูงยิ่ง ที่ข้าพเจ้าได้เคยทำมาในชีวิตของข้าพเจ้า ดังนั้นท่านก็รู้แล้วว่าการทำตามใจเพื่อนคงเป็นการกระทำอันสุขุมยิ่งขึ้น หรือช่วยให้ความเขลาลดน้อยลง เพราะเราจะอยู่โดยไม่มีเพื่อนไม่ได้

เขาได้เคยกล่าวกันไว้ว่า ซึ่งผู้ยกตนเองว่าเป็นนักวิจารณ์วรรณคดีนั้นเกิดมาเพื่อรื้อทำลายของออกเป็นชิ้นๆ พวกนี้มิได้เห็นอะไรในธรรมชาติของมนุษย์นอกจากความผิด ดีแต่เห็นตนเองสำคัญนั่นแหละเป็นลัทธิที่ร้ายกาจที่พวกนี้ดำรงชีวิตบูชาอยู่

ข้าพเจ้าพยายามที่จะบอกอย่างแจ่มแจ้งให้ท่านฟังว่าข้าพเจ้ารู้สึกอย่างไนกับ คำวิจารณ์นั้น ดูช่างคล้ายกับการวางยาเบื่อสุนัขตามถนนอย่างที่คนได้จัดยัดสตริคนินเข้าไปในก้อนเนื้อซึ่งน่ากิน แล้วก็คอยจนกว่าเจ้าตัวเจ้ากรรมที่ได้เร่ร่อนอยู่ แวะเข้ามากินจากมือเช่นนั้น ข้าพเจ้าต้องยอมรับว่านั่นเป็นอุทาหรณ์ซึ่งไม่สู้งามนัก แต่ข้าพเจ้าไม่คิดว่าจะหาอุทาหรณ์ใดมาเปรียบเทียบได้เหมาะไปกว่าที่ได้ยกมาแล้ว

เสด็จนักวิจารณ์ ของข้าพเจ้าไม่ทรงโปรดชื่อเรื่องของหนังสือที่ข้าพเจ้าแต่ง ดังนั้นพระองค์จึงรับสั่งว่าได้แปลให้ใหม่ แน่ละเป็นของแน่นอนที่ชื่อใหม่นี้จะต้องดีกว่าชื่อเดิม เรื่องนี้ทำให้ข้าพเจ้างงที่จะเข้าใจว่าทำไมพระองค์จึงไม่ทรงแต่งเสียทั้งเล่มให้ข้าพเจ้าเสียเลย ข้าพเจ้าจะได้ยินดีต้อนรับเป็นของขวัญ "ละครแห่งชีวิต" ไม่ได้หมายถึงละครของชีวิต (Life's Play) หรือ (Life's Drama) ท่านถามคนกลางถนนเขาจะตอบอย่างเดียวกับข้าพเจ้า การแปลสำนวนจากภาษาหนึ่งมาเป็นอีกภาษาหนึ่ง ถ้าแปลตัวตรงตามตัวแล้วไม่ใช่เป็นสิ่งที่ถูกเสมอไป เป็นสิ่งที่มักจะผิดและทำให้กลายเป็นถ้อยคำบัดซบอยู่ตลอดเวลา
บันทึกการเข้า
ปิ่น
ชมพูพาน
***
ตอบ: 172


ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 28 มิ.ย. 15, 16:14

โอ้ เสด็จพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์เอ๋ย หม่อมฉันได้แต่งหนังสืออีกเล่ม ๑ เสร็จแล้ว ตามภาษาไทยเรียกว่า "ผิวเหลืองหรือผิวขาว" แต่เมื่อใดพระองค์จะทรงติแล้วหม่อมฉันคาดว่าพระองค์จะมีความหมายถึง "ผิวเหลืองหรือผิวขาว" (Yellow Skin or White Skin) แต่ก็ไม่ใช่ ตามภาษาอังกฤษควรเป็น "ตะวันออกหรือตะวันตก" (East or West) ต่างหาก โปรดอย่าทรงลืมเสียนะพะยะค่ะ!

ข้าพเจ้าชอบวิธีที่เสด็จนักวิจารณ์ของข้าพเจ้าได้ทรงยกบทเรีนเชคสเปียร์ขึ้นมากล่าว พระองค์ทรงบอกท่านทั้งหลายว่า ความว่า "โลกนี้คือละคร" ("All the world's a stage") อยู่ในบทละครของเชคสเปียร์ เรื่อง "ตามใจท่าน"("As You Like It") ข้าพเจ้าเห็นว่าเสด็จนักวิจารณ์ควรเปิดหนังสือเรียนดูอีกครั้งหนึ่งเพื่อให้แน่ว่าถ้อยคำ "โลกนี้คือเวทีละคร" อยู่จริงๆในเรื่อง "ตามใจท่าน" หรือในเรื่อง "เวนิสวานิช" ("The Merchant of Venice")

พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ไม่ทรงโปรดความคิดของข้าพเจ้าในการที่อุทิศหนังสือแก่บุคคลร่วมกัน เพราะว่าการทำเช่นนี้ทำให้พระองค์ทรงรู้สึกอึดอัดและทำให้โอษฐ์ของพระองค์ขมขื่นกลืนไม่ลง ท่านทั้งหลายไม่คิดดอกหรือว่า เป็นการยุติธรรม? ข้าพเจ้าไม่มีสิทธิ์ที่จะอุทิศหนังสือที่ดีที่สุดของข้าพเจ้าให้ผู้อุปการะที่มีบุญคุณใหญ่ยิ่ง และเพื่อนรักที่สุด นี่แหละคือหลักที่พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ได้ทรงวิจารณ์และติหนังสือของข้าพเจ้า

เสด็จนักวิจารณ์ของข้าพเจ้าได้ทรงแถลงกับท่านว่าข้าพเจ้า "กำลังพยายามที่จะเป็นคนฉลาด" เป็นธรรมดาอยู่เองที่จะต้องพยายามที่จะฉลาดเพื่อจะแต่งหนังสือตั้ง ๓๖๐ กว่าหน้า ข้าพเจ้าไม่มีใจจะปฏิเสธความจริงนี้ ข้าพเจ้าเข้าใจว่าพระองค์จุลจักรพงษ์เป็นนักศึกษาผู้เชี่ยวชาญ และหวังว่าพระองค์คงจะพยายามฉลาด วันหนึ่งทรงแต่งหนังสือเพื่อให้บุคคลในสมัยของพระองค์ได้มีโอกาสรับการศึกษา

เพื่อเห็นแก่ความยุติธรรม ความงดงาม และความประพฤติอย่างนักกีฬา เสด็จนักวิจารณ์ของข้าพเจ้าได้ทรงจับปากกาซึ่งขึ้นชื่อลืมนาม แต่งเรื่องป้องกันอย่างแกล้วกล้าชื่อเสียงอันงามของพระยาจำนงค์ อัครราชทูตประจำกรุงโตเกียวผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ข้าพเจ้าอยู่ในประเทศญี่ปุ่น ๔ เดือน รู้จักพระยาจำนงค์ฯ พอที่จะรู้ว่าเจ้าคุณเป็นคนอย่างไร เสด็จนักวิจารณ์ของข้าพเจ้าไม่เคยสมาคมกับเจ้าคุณเลย เพียงแต่ได้จับมือกันเบาๆครั้งเดียวที่ปารีส ข้าพเจ้าขอชมเชยความองอาจและกล้าหาญของพระองค์อย่างเต็มใจ ที่ได้ช่วยป้องกันคนซึ่งพระองค์ไม่รู้จัก ถึงอย่างไรก็ดี พระยาจำนงค์ฯ ได้ถึงแก่กรรมเสียแล้ว และหนังสือของข้าพเจ้าก็ได้ออกสู่โลกเพียงสองวันก่อนที่เจ้าคุณถึงแก่กรรม มันช้าเสียแล้วที่จะไปแก้ไขอย่างหนึ่งอย่างใด ข้าพเจ้ารู้สึกเสียใจอย่างสุดซึ้ง
บันทึกการเข้า
ปิ่น
ชมพูพาน
***
ตอบ: 172


ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 28 มิ.ย. 15, 16:43

ข้าพเจ้าแต่งหนังสือเพื่อเห็นแก่ความยุติธรรม ความสุภาพ และการกระทำอย่างนักกีฬาเหมือนกัน ถ้าพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์อยากจะทรงทราบ ข้าพเจ้าต้องการให้นักเรียนไทยทุกคนที่อยู่ต่างประเทศเมื่อได้อ่าน "ละครแห่งชีวิต" แล้วจะได้รู้จักที่ทางต่างๆที่ตนได้ไปถึง และรู้จักบุคคลที่เป็นตัวแทนชาติของตนด้วยว่าเป็นคนชนิดไร การทำเช่นนี้คงไม่เป็นความผิดทางอาชญาแน่นอน ข้าพเจ้าเชื่อแน่ว่า เรื่องที่ข้าพเจ้าแต่งนั้นได้กระทำไปอย่างซื่อสัตย์ยิ่ง ข้าพเจ้าไม่มีใจร้ายต่อพระยาจำนงค์ฯเลย เหตุผลที่ข้าพเจ้ามีแต่เรื่องบกพร่องของพระยาจำนงค์ฯนั้นมาแต่งขึ้นนั้น ก็เพราะข้าพเจ้าต้องการที่จะทำประโยชน์

เสด็จนักวิจารณ์สู้อุตสาห์กล่าวว่าหนังสือของข้าพเจ้าใช้ไม่ได้ และหาว่าข้าพเจ้าเดินผิดทาง จึงเป็นเหตุให้งานที่สมควรได้รับความเชิดชูกลับเสียหาย บางทีพระองค์อาจจะกล่าวถูกก็ได้ แต่ "ละครแห่งชีวิต" ได้พิมพ์ออกจำหน่ายในประเทศสยามสองครั้งแล้ว และครั้งที่ ๓ ก็กำลังจะออกอยู่ในไม่ช้า ขายได้ถึงสี่พันเล่มในท้องตลาด เป็นสถิติใหม่ของการขายหนังสือในประเทศสยาม ดีกว่าสถิติเก่ามากมายตั้งพันกว่าเล่ม ถ้าหนังสือใช้ไม่ได้แล้ว ข้าพเจ้าก็พอใจอย่างเต็มที่ อย่างน้อยข้าพเจ้าก็ยังได้รับความปลอบใจ และข้าพเจ้าสามารถกล่าวได้คล้ายๆกับเชคสเปียร์แต่เพี้ยนกันเล็กน้อย คือ ท่านได้กล่าวว่า "การจากกัน แม้นำความโศก ก็เป็นความโศกอย่างหวาน" แต่ข้าพเจ้าก็พูดได้สำหรับเรื่องของข้าพเจ้าว่า "ความไม่สำเร็จเป็นความโศกอย่างหวาน"

พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ทรงกล่าวว่าข้าพเจ้าเขลาไม่รู้ละเอียดถึงเรื่องอันเป็นโครงสำคัญของหนังสือข้าพเจ้า คือ การจัดพิมพ์หนังสือ เป็นการน่าสงสารมากที่เสด็จนักวิจารณ์ของข้าพเจ้าไม่แถลงให้พวกเราทราบว่าพระองค์เองทรงเข้าพระทัยหรือเปล่าว่า หนังสือพิมพ์คืออะไร ข้าพเจ้าอยากแนะนำให้พระองค์อ่านหนังสือของเซอร์ฟิลิป กิบส์ แล้วพระองค์จะทรงรู้สึกว่าข้าพเจ้าไม่เขลาอย่างที่พระองค์ได้คิดไว้

ก่อนที่จะจบ ข้าพเจ้าจะไม่ลืมที่จะขอบพระทัยพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์อย่างเต็มอกเต็มใจที่ได้ทรงพอพระทัยในบทรำพันภาพต่างๆ ตลอดเรื่องของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าหวังว่าพระองค์คงจะได้กล่าวเช่นนั้นโดยซื่อสัตย์จริงๆ


จบแล้วค่ะ จดหมายตอบโต้ ท่านทั้งหลายมีความเห็นอย่างไรบ้าง เชิญแสดงความเห็นได้อย่างกว้างขวางนะคะ ส่วนตัวดิฉัน ออกจะมีความรู้สึกว่า... ท่านชายอากาศฯ ท่านออกจะตอบโต้ด้วยอารมณ์โกรธมากไปเสียหน่อย ทำให้แทนที่จะได้อธิบาย แก้ต่างข้อกล่าวหาที่พระองค์จุลจักรพงษ์ได้ทรงวิจารณ์ไว้ ก็มัวแต่มาแขวะซะเยอะ บางประเด็นที่พระองค์จุลฯยก ท่านชายอากาศฯก็ไม่ได้ตอบข้อสงสัย อันที่จริง ชื่อเรื่องว่า "ละครแห่งชีวิต" ดิฉันว่าก็ไม่ได้เสียหายอะไร ตรงกับเนื้อหาของหนังสือดี การอุทิศหนังสือคู่นั้น ไม่แน่ใจว่ายุคแรกนั้นอุทิศไว้อย่างไร รู้แต่ว่าได้อุทิศให้ มาเรีย วันซินี คนหนึ่ง เพราะหนังสือเล่มที่ดิฉันได้มา เป็นหนังสือพิมพ์ใหม่แล้ว ข้อติอีกข้อที่ท่านชายอากาศฯกล่าวถึงชื่อบุคคลจริงในทางเสียหายนั้น อันที่จริงจะเลี่ยงก็เลี่ยงได้ โดยการใส่นามสมมติ แต่ใช้เหตุการณ์จริงก็ย่อมได้ ข้อนี้ท่านชายก็ตอบว่า ท่านรู้ว่าพระยาจำนงค์เป็นคนเช่นไรมากกว่าพระองค์จุลฯ โดยอธิบายว่า เพราะต้องการให้นักเรียนไทยที่ไปต่างแดนรู้ว่าจะต้องพบกับคนชนิดไร... ข้อนี้ ดิฉันเห็นว่า การออกนามพระยาจำนงค์ ซึ่งอาจจะเคยทำไม่ดีกับท่านชายนั้น ก็น่าจะเป็นการประจาน ส่วนข้อถกที่ว่า พระองค์จุลฯออกรับแทนพระยาจำนงค์ฯนั้น ข้อนั้น ดิฉันก็ไม่ได้สงสัยอะไร เพราะเป็นธรรมดาที่คนจะเลือกปฏิบัติต่อผู้ที่มีฐานะแตกต่างกันอย่างแตกต่างนั่นเอง ซึ่งข้อเท็จจริงจะเป็นอย่างไร บัดนี้ก็ไม่มีใครรู้แล้ว และผู้เกี่ยวข้องก็ได้ล่วงลับไปหมดแล้ว จึงไม่ขอพูดต่อ

มีจดหมายตอบโต้จากพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์อีกหนึ่งฉบับค่ะ ไว้จะมาพิมพ์ต่อให้ภายหลังค่ะ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 02 ก.ค. 15, 09:14

ช่วงนี้งานเยอะ ถ้าพอมีเวลาว่างเมื่อไรจะมาวิจารณ์ซ้อนวิจารณ์ให้ฟังกันค่ะ
บันทึกการเข้า
ปิ่น
ชมพูพาน
***
ตอบ: 172


ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 02 ก.ค. 15, 09:46

ช่วงนี้งานเยอะ ถ้าพอมีเวลาว่างเมื่อไรจะมาวิจารณ์ซ้อนวิจารณ์ให้ฟังกันค่ะ

ปิ่นก็ยังติดบทวิจารณ์อยู่อีกสองครั้งจากพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ค่ะ พิมพ์ทีใช้เวลาค่อนข้างนาน ต้องรอช่วงว่างก่อน
บันทึกการเข้า
ปิ่น
ชมพูพาน
***
ตอบ: 172


ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 02 ก.ค. 15, 20:02

จดหมายตอบ ม.จ. อากาศดำเกิง ของ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์

เนื่องด้วย ม.จ. อากาศดำเกิงได้ทรงรู้สึกว่าท่านจำเป็นจะต้องต้านทานคำติชมหนังสือ "ละครแห่งชีวิต" และในคำตอบได้ทรงก้าวร้าวมาทางข้าพเจ้าบ้าง ข้าพเจ้าจึงจำเป็นต้องโต้ตอบโดยมีหนังสือไปถึงหนังสือพิมพ์ต่างๆฉบับ ได้มีหนังสือพิมพ์นำลงคือ

ภาษาไทย
บางกอกการเมือง ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๔๗๓
กรุงเทพฯเดลิเมล์ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๔๗๓
ไทยใหม่           ๒๘ กุมภาพันธ์ และ ๒ มีนาคม ๒๔๗๓
หนังสือพิมพ์ไทย  ๑ มีนาคม ๒๔๗๓
ศรีกรุง              ๒ มีนาคม ๒๔๗๓

ภาษาอังกฤษ
บางกอกไตมส์  ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๔๗๓
บางกอกเดลิเมล์  ๒ มีนาคม ๒๔๗๓

จดหมายตอบ ม.จ. อากาศดำเกิงฯ
แจ้งความไปยัง ท่านบรรณาธิการ......ทราบ
     ข้าพเจ้ามีความยินดีเป็นอันมาก ถ้าท่านจะกรุณานำจดหมายนี้ลงในหนังกระดาษ หนังสือพิมพ์ของท่าน
ในหนังสือ "สามัคคีสาร" เล่มที่ ๘ ตอนที่ ๓ ข้าพเจ้าได้ลงถ้อยคำติชมหนังสือ "ละครแห่งชีวิต" ฝีพระโอษฐ์หม่อมเจ้าอากาศดำเกิง ที่ได้ออกจำหน่ายแพร่หลายอยู่ในกรุงสาม ข้าพเจ้าออกความเห็นของข้าพเจ้าโดยใจจริง และหวังว่าการที่ข้าพเจ้าเริ่มต้นฉะนั้น อาจจะมีผู้อื่นคิดจับปากกาเขียนคำติชมหนังสือต่าง ๆ ต่อไป ข้าพเจ้าเข้าใจว่าในกรุงเทพเวลานี้ ไม่มีหนังสือพิมพ์ฉบับใดที่มีคำติชมหนังสือต่าง ๆ ไว้ประจำ ถ้าข้าพเจ้าเข้าใจผิดไป ก็ขอโทษที่ข้าพเจ้าเห็นว่าเป็นของขาดไปมาก เพราะที่เมืองเราก็มีหนังสืออกจำหน่ายอยู่เสมอ ๆ หลายประเภท การสร้าง การเขียนรูปหรือการประพันธ์ ถ้าไม่มีการติชมแล้วก็ยากที่จะหวังให้ผู้กระทำดีขึ้นได้ นี่ก็คือที่ข้าพเจ้าได้ตั้งใจทำ คือ ชมในสิ่งที่ควรชม

อาทิตย์นี้ ข้าพเจ้าได้รับหนังสือพิมพ์จากกรุงเทพฯ หลายฉบับล้วนเต็มไปด้วยผู้เขียนเรื่องเกี่ยวกับคำติชมของข้าพเจ้านี้ ทำให้ข้าพเจ้าประหลาดใจและมีความยินดีที่มีผู้เอาใจใส่ในถ้อยคำอันเล็กน้อยของข้าพเจ้าถึงเพียงนี้ ท่านอากาศฯเองได้ทรงเขียนข้อความแก้ตัวอย่างยืดยาว ซึ่งข้าพเจ้าได้อ่านในภาษาอังกฤษและทรงหาว่าข้าพเจ้าติท่านเป็นทำนองเด็ก การที่ท่านกริ้วนี้ข้าพเจ้าหาได้โกรธตอบไม่ ข้าพเจ้ามิได้หวังว่าท่านจะทรงเชื่อถ้อยคำติชมของข้าพเจ้า แปลกแต่ว่า ในการแก้ตัวของพระองค์ท่านนั้น ไม่ทรงเอ่ยถึงข้อติสำคัญของข้าพเจ้า คือ ที่ทรงทำให้ "ละครแห่งชีวิต" บางทีก็เป็นเรื่องจริง บางทีก็เป็นเรื่องแต่งขึ้น แล้วแต่เหมาะแก่ผู้แต่งบทใด ซึ่งตามความเห็นของข้าพเจ้า เป็นวิธีที่ผิด เช่น "ไกลบ้าน" เป็นต้น เป็นเรื่องที่จริง ถ้าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าทรงพระราชนิพนธ์ใช้พระนามแฝง และเอาเรื่องที่ทรงคิดขึ้นมาปนแล้วก็จะเป็นหนังสือดีไม่ได้ ดีงที่เป็นอยู่บัดนี้

แต่มีสิ่งหนึ่งที่ข้าพเจ้าจะนิ่งไม่ตอบเสียไม่ได้ ท่านอากาศรับสั่งว่า "ข้าพเจ้าชอบวิธีที่ท่านผู้ติชมยกเอาถ้อยคำเชคสเปียร์มาขู่ ท่านบอกว่า "All the world's a stage" นั้นมาจากเรื่อง "ตามใจท่าน" ชองเชคสเปียร์ ข้าพเจ้าขอแนะนำให้ท่านไปดูหนังสืออีกทีหนึ่ง จะได้รู้แน่ว่าความ "All the world's a stage" นี้มาจาก "ตามใจท่าน" แน่หรือมาจาก "เวนิสวานิช" นี่ข้าพเจ้าเรียกว่า เป็นการรับโดยวิธีรุก แต่ข้อสำคัญก็คือ เป็นการที่จะทำให้คนหมู่มากเห็นว่าข้าพเจ้าไร้ความรู้ ดังนั้นจำเป็นต้องแก้ ละครพูด ๒ เรื่อง ของเชคสเปียร์นี้ที่อังกฤษนับว่าเป็นเรื่องที่มีคนรู้จักแพร่หลายมาก จนใคร ๆ พากันเก็บเอาถ้อยความใช้เป็นสุภาษิตเปรียบเทียบของต่างๆ จนน่าเบื่อ ถ้าข้าพเจ้าไม่รู้จกละคร ๒ เรื่องนี้ดีถึงแม้ได้มาอยู่อังกฤษตั้ง ๑๐ ปีแล้วก็จริง ความรู้ของข้าพเจ้าก็ต้องอ่อนเบาเป็นกำลัง ดังนั้น ข้าพเจ้าไม่สามารถที่จะปล่อยให้มหาชนเจ้าใจผิด และคิดว่า ข้าพเจ้าไม่รู้จักละคร ๒ เรื่องนี้ดี ข้าพเจ้าขอกล่าวว่า เชคสเปียร์เปรียบละครกับโลกในละคร ๒ เรื่อง คือ

ในเรื่อง เวนิสวานิช องก์ ๑ ฉากที่ ๑

Antonio - I hold the world but as the world, Cratiano; A stage where every man must play a part, And mine a sad one

Cratiano - Let me play the fool;

ในเรื่อง ตามใจท่าน องก์ที่ ๒ ฉากที่ ๗

Jacques - All the world's a stage, And all the men and women merely players.

ข้าพเจ้าใช้คำแปลพระราชนิพนธ์ รัชกาลที่ ๖ ทั้ง ๒ เรื่อง ดังนั้นใคร  ก็ต้องเห็นได้ทันทีว่า จ้าพเจ้าเอาความมาจากในองก์ ๒ ฉากที่ ๗ นั้น ฝรั่งเขาว่า การเรียนนิดหน่อยเป็นของที่น่าจะมีอันตรายนี่เป็นของที่จริงมาก ยิ่งเมื่อเรานึกถึงผู้ที่ได้เรียนนิดหน่อยแล้วหลงไปว่ามีความรู้มาก แต่ที่จริงเราควรจะปล่อยให้เขามีความสุขอยู่ในความหลงของเขา แต่เมื่อท่านเหล่านี้มาพยายามทำให้คนอื่นดูกลายเป็นคนโง่ไปด้วยแล้ว คนอื่นเขาก็ยอมนิ่งอยู่ไม่ได้ ข้าพเจ้าขอกล่าวเตือนท่านอื่น ๆ ที่จะหาความข้าพเจ้าต่อไปภายหน้าด้วย ข้าพเจ้ามีความระมัดระวังอย่างยิ่ง เวลาที่ข้าพเจ้าคัดเอาคำของกวีต่าง ๆ มาเปรียบเทียบเป็นต้องแน่ใจเสียก่อนว่ามาจากไหนจึงใช้ หายอมใช้ผิด ๆ ถูก ๆ ไปไม่ ถ้าไม่ทราบก็ยอมรับว่าไม่ทราบ ไม่เห็นเป็นเรื่องน่าอายอะไร แม้จนวันตาย ไม่ว่าข้าพเจ้าจะสนใจเท่าใด ของที่ข้าพเจ้าไม่ได้เคยเรียนย่อมมีมากกว่าของที่เคยเรียนเสมอ และคงมีคนที่มีความรู้มากกว่ามาชี้หนทางให้อยู่ตลอ
บันทึกการเข้า
ปิ่น
ชมพูพาน
***
ตอบ: 172


ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 02 ก.ค. 15, 20:04

เอาละ ทีนี้เราก็เห็นแล้วว่า พระองค์จุลฯท่านมานิ่มๆ แต่เจ็บ โดยเฉพาะคนที่ท่านว่าถึง ลองได้อ่านแล้วคงจะรู้สึกหายใจไม่ทั่วท้อง ไว้มาพิมพ์ต่อเมื่อว่างนะคะ
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.085 วินาที กับ 20 คำสั่ง