เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1]
  พิมพ์  
อ่าน: 6915 แท่งอะไรในมือขุนนาง
han_bing
นิลพัท
*******
ตอบ: 1622



 เมื่อ 15 พ.ค. 15, 07:27

แท่งอะไรในมือขุนนาง

มีท่านผู้อ่านสงสัยว่าเวลาดูละครเรื่องนางพญาบูเช็กเทียน ขุนนางเวลาเข้าเฝ้ามักจะมีแท่งไม้แบนๆติดมือเข้ามาในท้องพระโรงเสมอ แท่งที่ว่านั้นคือแท่งอะไร แต่ทำไมละครในสมัยราชวงศ์ชิงขุนนางเข้าเฝ้าไม่ยักกะมี

ภาพจากละครเรื่องบูเช็คเทียนที่ฟานปิงปิงแสดง


บันทึกการเข้า
han_bing
นิลพัท
*******
ตอบ: 1622



ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 15 พ.ค. 15, 07:31

แท่งไม้นี้เรียกว่า ฮู้ (笏) เรียกเต็มเป็นทางการคือ “เฉาฮู้” (朝笏)แปลว่าแผ่นฮู้ว่าราชการ ลักษณะเป็นวัตถุแบนยาวทำจากหยก งาช้าง หรือไม้ไผ่แล้วแต่ฐานะของขุนนางที่ถือ ระดับต่ำก็ถือแผ่นไม้ไผ่ ระดับสูงก็ถือของมีค่าขึ้นไป หน้าที่การใช้งาน ฟังแล้วอาจจะตกใจ คือใช้เป็นสมุดจดรายงาน กล่าวคือ เวลาเข้าเฝ้าจะต้องกราบทูลเรื่องราวต่างๆ ขุนนางเหล่านี้จะต้องมีแผ่นฮู้บอกตำแหน่งถือติดมือเข้าเฝ้าด้วย นอกจากจะเพื่อบอกยศในเวลาเดียวกันยังใช้เป็นสมุดจดเวลากราบทูลเรื่องต่างๆ โดยขุนนางจะเขียนเรื่องต่างๆโดยย่อไว้ด้านในแผ่นฮู้ด้านที่หันเข้าหาตัว เวลากราบทูลเรื่องใด ก็อ่านไปเรื่อยๆ เหตุที่ไม่ใช้กระดาษเพราะดั้งเดิมประเทศจีนยังไม่ได้ประดิษฐ์กระดาษ จึงใช้วัสดุอื่นๆแทนกระดาษ ไปๆมาๆแม้มีกระดาษแล้วก็ใช้กันเรื่อยมาด้วยความเคยชิน

แท่งฮู้ทำจากไม้ไผ่


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
han_bing
นิลพัท
*******
ตอบ: 1622



ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 15 พ.ค. 15, 07:33

แผ่นฮู้นี้แต่เดิมไม่ได้กำหนดขั้นไว้ แต่ในสมัยราชวงศ์ถังมีข้อกำหนดไว้ว่า ข้าราชการระดับห้าขึ้นไปจะสามารถใช้แผ่นฮู้ทำจากงาช้างได้ ข้าราชการระดับหกลงมาใช้ได้เฉพาะแผ่นฮู้ทำจากไม้ไผ่ ในสมัยราชวงศ์หมิงจะเริ่มจำกัดผู้ใช้แผ่นป้ายนี้ให้น้อยลง กล่าวคือ ข้าราชการระดับห้าขึ้นไปเท่านั้นที่จะมีแผ่นฮู้ทำจากงาช้างใช้ ข้าราชการระดับห้าลงไปไม่มีสิทธิใช่แผ่นฮู้ มีการบันทึกไว้ในหนังสือหลี่จี้ (礼记) ว่าแผ่นฮู้นี้จะมีขนาด ๒ ฉื้อ (ประมาณ ๑ ในสามเมตร) ๖ นิ้ว (สั้นกว่าหน่วยวัดนิ้วในปัจจุบัน)


บันทึกการเข้า
han_bing
นิลพัท
*******
ตอบ: 1622



ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 15 พ.ค. 15, 07:34

ปรกติแล้วข้าราชการคนหนึ่งจะมีแผ่นฮู้ติดตัวได้ ๑ แผ่น แต่ว่าถ้าเกิดงานหลวงยุ่งมาก เรื่องที่ต้องถวายรายงานเยอะ จะใช้ ๑ แผ่นก็ไม่พอ ทางการอนุญาตให้มีมากกว่า ๑ แผ่นได้ โดยใส่แผ่นฮู้สำรองไว้ที่กระเป้ด้านหลังเรียกว่า “กระเป๋าฮู้” หรือ “ฮู้หนัง” (笏囊) จะทูลเกล้าถวายรายงานเรื่องใดก็ค่อยๆหยิบขึ้นมาจากเป้สะพายหลัง คนที่เริ่มการใช้เป้ฮู้นี้เป็นข้าราชการผู้ชราสมัยราชวงศ์ถังนามว่าจางจิ่วหลิง (张九龄) จุดประสงค์คือเพื่อผ่อนแรงแบกเอกสารประดามีไม่ต้องหอบเต็มมือ แต่ภายหลังข้าราชการท่านอื่นเห็นแล้วรู้สึกชอบใจ ดูเอกสารเยอะดี แสดงถึงความขยัน ดังนั้นเลยพกกันบ้าง

เป้ใส่ฮู้นี้บางคนพกไว้เพื่อโก้ แต่บางคนพกไว้เพราะเอกสารเยอะจริงๆ จนในที่สุดพกไม่ไหว เลยต้องให้มีเลขาแบกตาม นึกภาพไม่ออกให้นึกถึงภาพข้าราชการผู้ใหญ่มีเลขานุการหิ้วเอกสารตามเจ้านายของตนนั้นแล

ภาพการ์ตูนคนแบกระเป๋าใส่ฮู้


บันทึกการเข้า
han_bing
นิลพัท
*******
ตอบ: 1622



ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 15 พ.ค. 15, 07:40

ธรรมเนียมการถือแผ่นฮู้ที่มีมานับพันปีถูกยกเลิกไปในสมัยราชวงศ์ชิง มีข้อสันนิษฐานว่าในสมัยราชวงศ์ชิงขุนนางชาวแมนจูล้วนขี่ม้าเป็นนิจ จะเข้าเฝ้าทีแบกแผ่นป้ายติดตามไปทีย่อมไม่สะดวก ดังนั้นก็อย่าใช้เสียเลย นั่งอ่านเอกสารจากกระดาษพับยาวเข้าเฝ้าดูง่ายกว่า

ด้วยเหตุนี้แลไซร้เวลาเราดูละครสมัยราชวงศ์ชิงจึงไม่มีแผ่นป้ายบนมือแต่อย่างใด แต่ขณะละครสมัยราชวงศ์ถังทุกคนล้วนถือกันถ้วนหน้า

ภาพการเข้าเฝ้าแบบราชวงศ์ชิงจากละครเรื่องเจินหวนจ้วน


บันทึกการเข้า
han_bing
นิลพัท
*******
ตอบ: 1622



ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 15 พ.ค. 15, 07:42

ทุกวันนี้ถ้าถามว่ามีที่ใดยังใช้อยู่ คำตอบคือมี ในจีนก็เป็นนักบวชลัทธิเต๋าใช้ถือเวลาประกอบพิธีของลัทธิ ในญี่ปุ่นก็ใช้โดยผู้ประกอบพิธีของศาสนาชินโต

ถือว่าถ้าไปญี่ปุ่นและจีนหากได้ร่วมชมพิธีของลัทธิเต๋ากับชินโต นับว่าได้ดูการใช้แผ่นฮู้ของจริงได้โดยไม่ต้องดูผ่านละครย้อนยุคเลยทีเดียว

ภาพนักบวชชินโตที่ญี่ปุ่น

ภาพแผ่นฮู้สมัยราชวงศ์หมิงและวิธีการถือ




บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 15 พ.ค. 15, 15:03

โน้ตบุ๊กประจำกายขุนนางจีน "ฮู่ป่าน"

ฮู่ป่าน(笏板) หรือแผ่นป้ายเตือนความจำของเหล่าขุนนางจีนสมัยโบราณ เทียบได้กับสมุดจดบันทึกที่ต้องถือพกติดตัวไปทุกครั้งที่มีการเรียกเข้าประชุม ถวายรายงานเหตุบ้านการเมืองต่าง ๆ ต่อเบื้องพระพักตร์ฮ่องเต้ในพระราชวัง ซึ่งเหล่าขุนนางทั้งหลายจะใช้สองมือยกแผ่น "ฮู่ป่าน" นี้ขึ้นสูงระดับหน้าตอนถวายรายงาน โดยบนแผ่นป้ายนี้อาจมีการเขียนบันทึกเนื้อหาที่ต้องการจะกราบทูล และเมื่อกราบทูลเสร็จเรียบร้อยแล้วก็จะเก็บเหน็บไว้ที่เอว ซึ่งรวมถึงใช้จดบันทึกพระราชประสงค์ หรือพระราชดำรัสต่าง ๆ ของฮ่องเต้ เปรียบเสมือนแผ่นป้ายกันลืมชิ้นสำคัญของเหล่าขุนนางจีนนั่นเอง

ตามหนังสือจีนโบราณ "หลี่จี้"  礼记 มีบันทึกไว้ว่า ขนาดของแผ่นป้าย "ฮู่ป่าน" นี้ มีความยาว ๒ ฟุต ๖ นิ้ว กว้าง ๓ นิ้ว แต่เนื่องจากหน่วยวัดสมัยโบราณ จะมีขนาดเล็กหรือสั้นกว่าเมื่อเทียบกับปัจจุบัน คือ ๑ ฟุตโบราณจะเท่ากับ ๑๙.๗ เซนติเมตรในปัจจุบัน ดังนั้นความยาวดังกล่าวที่ว่า ๒ ฟุต ๖ นิ้ว จึงมีความยาวประมาณ ๕๑.๒๒ เซนติเมตร ซึ่งการถือฮู่ป่านนี้จะมีใช้เฉพาะสำหรับผู้มียศฐาบรรดาศักดิ์เท่านั้น คนทั่วไปไม่สามารถถือครองนับเป็นความผิดฐานละเมิด

"หลี่จี้" เป็นหนังสือเก่าแก่โบราณของจีน จึงคาดการณ์ได้ว่า น่าจะมีการใช้ ฮู่ป่าน ก่อนยุคสมัยชุนชิว ราวราชวงศ์ซาง (๑๗๑๑-๑๐๖๖ ปีก่อนค.ศ.) หรือราชวงศ์โจวตะวันตก (๑๐๖๖-๗๗๑ปีก่อนค.ศ.) ซึ่งในอดีตนับตั้งแต่ฮ่องเต้ลงมาจนถึงขุนนางต่างมีธรรมเนียมกำหนดถือครองฮู่ป่าน โดยอาศัยความต่างในเรื่องของวัสดุที่ใช้ทำเป็นตัวกำหนดความต่างของสถานะบรรดาศักดิ์ คือ ฮ่องเต้จะถือ "ฮู่หยก" เชื้อพระวงศ์องค์ชายถือ "ฮู่งาช้าง" และเหล่าขุนนางผู้ทรงความรู้ผ่านการสอบคัดเลือกแล้วนั้น ถือฮู่ที่ทำจากหนวดปลาฉลาม ซึ่งต่อมาในรัชสมัยฮ่องเต้อู่เต๋อปีที่สี่ ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์ถัง (ครองราชย์ ค.ศ. ๖๑๘-๖๒๗) มีพระราชกำหนดว่า ขุนนางตั้งแต่ระดับห้าขึ้นไปจะใช้ ฮู่ที่ทำจากงาช้าง ตั้งแต่ระดับหกลงไปให้เป็นฮู่ที่ทำจากไม้ไผ่ ต่อมาในสมัยราชวงศ์หมิงได้มีการเปลี่ยนแปลงข้อกำหนดนี้เป็นว่า ขุนนางตั้งแต่ระดับห้าขึ้นไปยังคงใช้ฮู่งาช้าง แต่ระดับห้าลงไปนั้นไม่ต้องมี และพอถึงสมัยราชวงศ์ชิง เนื่องจากมีความต่างในเรื่องของขนบธรรมเนียบประเพณี ข้อกำหนดดังกล่าวเกี่ยวกับฮู่ป่านจึงได้ถูกยกเลิก ไม่มีการถือใช้อีกต่อไป แต่ยังมีคนที่นิยมชมชอบหามีเก็บไว้เป็นของสะสม

ในอดีต "ฮู่ป่าน" นอกจากใช้เป็นเครื่องมือช่วยจำจดเรื่องราว น้อมรับพระบรมราชโองการจากฮ่องเต้ของเหล่าขุนนางจีนแล้ว การยกแผ่นฮู่ป่านขึ้นบังหน้าเวลากราบทูล ยังใช้เป็นเครื่องหมายแสดงถึงการนอบน้อมคารวะ เจียมเนื้อเจียมตัวของเหล่าขุนนาง ที่มิบังอาจสบเบื้องพระพักตร์ฮ่องเต้โดยตรงได้นั่นเอง

จาก เก่าเล่าไปใหม่บอกมา โดย วังฟ้า 羅勇府
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 15 พ.ค. 15, 15:13

สงสัยว่าการเขียนลงบนฮู้ หรือฮู่ป่าน  ใช้อะไร หมึกกับพู่กันหรือ 
การเขียนบนแผ่นงาช้าง  อาจจะเขียนด้วยหมึกได้ แต่เขียนลงบนแผ่นหยกนี่สิ เขียนยังไงคะ
ส่วนที่ทำจากหนวดปลาฉลาม นึกไม่ออก   เขาหมายถึงครีบปลาฉลามหรือเปล่า?

ในเมื่อเตรียมมาจากบ้านก็พอเข้าใจว่าเขียนมาเสร็จสรรพแล้ว   แต่ถ้าต้องจดเพิ่มเติม ขุนนางต้องพกหมึกกับพู่กันมาด้วยไหม  ใส่อะไรมามันถึงไม่หกเลอะเทอะ
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 15 พ.ค. 15, 15:36

ส่วนที่ทำจากหนวดปลาฉลาม นึกไม่ออก   เขาหมายถึงครีบปลาฉลามหรือเปล่า?
เดาว่าต้นฉบับเขียนผิด น่าจะเป็น "หนังปลาฉลาม" ไปค้นอีกเว็บหนึ่งได้ข้อมูลดังนี้

ใน หลี่จี้ บท อวี้เจ่า บันทึกไว้ว่า "ฮ่องเต้ใช้ฮู่หยก พวกอ๋องเจ้าแคว้นใช้ฮู่งาช้าง ขุนนางใหญ่ใช้ฮู่ไม้ไผ่ประดับหนังปลาฉลาม ทหารใช้ฮู่ไม้ไผ่และประดับขอบฮู่ด้วยงาช้าง " (笏:天子以球玉;诸侯以象;大夫以鱼须文竹;士竹本,象可也。)

จากบทความเรื่อง (หนังจีน) สงสัยจังว่า...เขาถืออะไรน่ะ? โดย pageom-in-the-shadow


บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 15 พ.ค. 15, 15:48

ในญี่ปุ่นก็ใช้โดยผู้ประกอบพิธีของศาสนาชินโต

ในญี่ปุ่นเขียนแบบเดียวกับจีน คือ แต่อ่านว่า ชะคุ しゃく


บันทึกการเข้า
Naris
องคต
*****
ตอบ: 421


ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 15 พ.ค. 15, 15:51

นั่นสิครับอาจารย์ ถ้าสมัยนี้มีปากกายังพอจะนึกออก แต่ในสมัยนั้น ในขณะยืนเข้าเฝ้าต่อให้ถือฮู่ป่านด้วยมือข้างเดียว แล้วหยิบพู่กันขึ้นมาด้วยมืออีกข้าง ไหนจะขวดหมึกอีก แล้วจะเขียนกันอย่างไรครับ

เป็นไปได้ไหมครับว่า ประโยชน์หลักจริงๆ คือการใช้เป็นเหมือนสมุดกล่าวรายงานสมัยนี้  

ภาพจาก http://www.thaichamber.org

ส่วนประโยชน์ด้านการเขียน นึกภาพไม่ออกจริงๆครับ
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 15 พ.ค. 15, 15:54

ประมาณนี้  ยิงฟันยิ้ม

ภาพจาก งิ้วดอทคอม


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.046 วินาที กับ 19 คำสั่ง