เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 2 3 [4] 5 6
  พิมพ์  
อ่าน: 32642 ฟันเฟืองปิศาจ ฟรานซ์ สแตงเกล
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 45  เมื่อ 22 พ.ค. 15, 21:22

มีการใช้คำขวัญหรูๆ ติดอยู่ตามประตูต่างๆ เช่นทำงานให้อิสรภาพ(Work gives freedom)

คำขวัญนี้ในภาษาเยอรมันเขียนว่า Arbeit macht frei ปรากฏอยู่ที่ค่ายนรกของนาซีหลาย ๆ แห่ง รวมทั้งบนประตูหน้าค่ายเอาชวิตซ์ที่คุณปู่ออสการ์ทำงานอยู่ด้วย


บันทึกการเข้า
Methawaj
อสุรผัด
*
ตอบ: 9


ความคิดเห็นที่ 46  เมื่อ 25 พ.ค. 15, 17:19

มาเช็คชื่อ รออาจารย์มาให้ความรู้ต่อครับ... ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
ประกอบ
สุครีพ
******
ตอบ: 1342


ความคิดเห็นที่ 47  เมื่อ 25 พ.ค. 15, 18:55

แว่บไปสองสามวันโดนตามซะแล้ว  วันนี้มาดูกระบวนการขั้นตอนสำหรับจัดการนักโทษที่เทรบลิงกากันหน่อย กระบวนการต่างๆ เป็นวิทยาศาสตร์และมีเหตุผลรองรับ


ขบวนรถไฟบรรทุกชาวยิวจะนำนักโทษมาส่งแต่ละขบวนจะมีตู้สินค้าที่อัดแน่นด้วยนักโทษ 50-60 ตู้ซึ่งจะมีนักโทษรวมประมาณ 6-7000 คนมาจอดที่สถานีรถไฟหมู่บ้านเทรบลิงกาก่อน เนื่องจากจำนวนนักโทษ 6-7000 คนในแต่ละขบวนมากเกินกว่าที่ทางค่ายจะจัดการได้ทั้งหมดในครั้งเดียว ต้องค่อยๆ ทยอดจัดการเป็นส่วนๆ ตู้สินค้า 20 ตู้จะถูกเคลื่นย้ายไปยังสถานีรถไฟของค่าย ส่วนที่เหลือรออยู่ที่สถานีรถไฟของหมู่บ้าน


เมื่อขบวนรถไฟส่วนแยกมาถึงสถานีของค่าย การ์ดและผู้คุม SS จะสั่งให้นักโทษลงจากรถ จากนั้นนายทหารต้อนรับจะหลอกนักโทษว่าพวกเค้าถูกส่งมาค่ายชั่วคราวเพื่อรอการส่งต่อ และเพื่อป้องกันโรคระบาด นัโทษที่มาจะต้องอาบน้ำและเสื้อผ้าจะต้องถูกฆ่าเชื้อก่อน ทรัพย์สินมีค่าที่นักโทษพกมาจะถูกเก็บไว้ให้และจะส่งคืนหลังอาบน้ำเสร็จ จากนั้นนักโทษจะถูกแยกไปยังอาคารสำหรับเปลื้อเสื้อผ้า ผู้ชายไปอาคารทางขวาผู้หญิงและเด็กไปอาคารทางซ้าย นักโทษจะต้องวิ่งไป บรรดาผู้คุมจะบังคับให้วิ่งเพื่อต้องการให้นักโทษเหนื่อยและหายใจแรงและต้องสูดอากาศเยอะๆ ซึ่งจะมีผลดีเวลารมแก็ส เมื่อถึงอาคารเปลื้องเสื้อผ้า นักโทษจะต้องเปลือยกาย ผู้หญิงจะถูกกร้อนผมเพื่อนำผมไปใช้ต่อไป จากนั้นนักโทษจะต้องวิ่งต่อไปยังห้องอาบน้ำซึ่งไม่มีน้ำ ผู้หญิงจะถูกต้อนไปห้องอาบน้ำก่อนส่วนผู้ชายต้องเปลือยกายรออยู่ในอาคารจนกว่าการประหารผู้หญิงและเด็กจะเสร็จสิ้น  เมื่อนักโทษเข้าไปในห้อง ประตูห้องจะถูกล็อค เครื่องยนต์ด้านนอกเริ่มทำงานปล่อยแก็สคาร์บอนมอนอกไซด์เข้าไปในห้อง หลังจากประมาณ 30 นาทีนักโทษส่วนใหญ่จะเสียชีวิต  ศพจะถูกเคลื่อนย้ายไปกำจัดซึ่งในระยะแรกใช้การฝัง แต่ต่อมาใช้การเผาในหลุมขนาดใหญ่   การที่ต้องประหารผู้หญิงและเด็กก่อนไม่ใช่ด้วยมนุษยธรรมแต่อย่างใด แต่เพราะผู้หญิงมีไขมันในร่างกายมากกว่า เป็นเชื้อเพลิงที่ดีกว่าจึงเหมาะที่จะเอาศะไว้ด้านในหลุมเพื่อให้ไขมันในศพเ็นเชื้อเพลิงเผาศพผู้ชายที่เผาไหม้ยากกว่า


ในตอนเริ่มต้นอุตสาหกรรมประหารชีวิต  นักโทษ 20 ตู้รถไฟจะใช้เวลากำจัดทั้งหมดประมาณ 3-4 ชั่วโมง แต่เมื่อบรรดาผู้คุมมีประสบการณ์มากขึ้น กระบวนการกำจัดลดลงเหลือแค่ประมาณ 1 -2 ชั่วโมงเท่านั้น


ภาพนี้ถ่ายเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 1942 โดย  Hubert Pfoch ทหารเยอรมันเชื้อสายออสเตรียขณะกำลังเดินทางไปแนวรบตะวันออกที่สถานีรถไฟ Siedlce ปลายทางรถไฟขบวนนี้คือเทรบลิงกา


บันทึกการเข้า

วิรุศฑ์ษมาศร์ อัฐน์อังการจณ์
ประกอบ
สุครีพ
******
ตอบ: 1342


ความคิดเห็นที่ 48  เมื่อ 25 พ.ค. 15, 19:22

ในขณะที่กระบวนการฆ่ากำลังดำเนินไป นักโทษแรงงานประมาณ 50 คนก็กำลังจัดการเก็บกวาดบนตู้รถไฟที่ขนนักโทษมา ศพของนักโทษที่เสียชีวิตระหว่างการเดินทางและสิ่งสกปรกต่างๆ จะถูกเก็บกวาดออกไป ตู้รถไฟทั้ง 20 ตู้จะถูกเคลื่อนย้ายออกไปเพื่อรองรับอีก 20 ตู้ที่รออยู่ที่สถานีรถไฟของหมู่บ้าน  ทีมนักโทษแรงงานอีก 50 คนจัดการกับบรรดาทรัพย์สินของมีค่าที่เหยื่อนำมาโดยขนไปยังอาคารสำหรับแยกของโดยทีมนักโทษอีกประมาณ 100 คน ซึ่งที่นี่เสื้อผ้าของนักโทษตรวจหาสิ่งของมีค่าที่ซ่อนไว้  พาสปอร์ตหรือบัตรประจำตัวของเหยื่อจะถูกทำลาย ตราสัญลักษณ์ชาวยิวที่ถูกบังคับให้ติดไว้บนเสื้อผ้าจะถูกเลาะออกไป  ส่วนทีมนักโทษอีกชุดในพื้นที่สังหารจะตรวจศะของเหยื่อเพื่อหาฟันทองก่อนขนศพไปเผา


ค่ายเทรบลิงกาเริ่มต้นกำจัดนักโทษชาวยิวในวันที่ 23 กรกฏาคม 1942 โดยนักโทษชุดแรกเป็นนักโทษยิวจากเก็ตโต้ในกรุงวอร์ซอ เมืองหลวงของโปแลนด์ จนถึงปลายเดือนกันยายน 1942  นักโทษประมาณ 366,000 คนถูกกำจัดที่นี่ โดยส่วนใหญ่เป็นชาวยิวโปแลนด์จากวอร์ซอและพื้นที่รอบๆ  นอกจากนี้ยังมีนักโทษจากเขต Radom 337,000 คนและจากเขต Lublin อีกประมาณ 35,000 ถูกสังหารในช่วงฤดูหนาวปี 1942-1943 ระหว่างพฤศจิกายน 1942 จนถึง มกราคม 1943 นักโทษอีกราว 107,000 จากเขต Bialystok ถูกส่งมากำจัดที่เทรบลิงกา


นักโทษยิวจากนอกโปแลนด์ก็ถูกกำจัดเช่นกัน นักโทษยิวจากสโลวาเกียประมาณ 7,000 คนถูกส่งมาที่นี่ และยังมียาวยิวจากกรีซ บัลกาเรีย มาซีโดเนีย และยูโกสลาเวียถูกส่งมากำจัดด้วยเช่นกัน นอกจากชาวยิวแล้ว ยังมีพวกยิปซีอีกประมาณสองพันคน รวมๆ แล้วมนักโทษราว 900,000 คนถูกกำจัดที่นี่


ค่ายดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพจนประมาณเดือนเมษายน 1943 ปริมาณนักโทษที่ถูกส่งมามีน้อยลงเรื่อยๆ เพราะชาวยิวในโปแลนด์และรอบๆ ถูกกำจัดไปเกือบหมดแล้ว  และชาวยิวจากที่อื่นๆ ในยุโรปถูกส่งไปกำจัดที่ค่ายมรณะอื่นๆ ที่เคลื่อนย้ายนักโทษได้สะดวกกว่า


ภาพหินอนุสรณ์สถานบริวเวณที่เคยเป็นที่เผาศพนักโทษที่เทรบลิงกา


บันทึกการเข้า

วิรุศฑ์ษมาศร์ อัฐน์อังการจณ์
ประกอบ
สุครีพ
******
ตอบ: 1342


ความคิดเห็นที่ 49  เมื่อ 26 พ.ค. 15, 20:25

อย่างที่เคยบอกไปว่าสแตงเกลสั่งให้ปรับปรุงสถานีรถไฟของค่ายให้ดูเหมือนสถานีรถไฟจริงๆ ที่มีกิจกรรมต่างๆ เพื่อหลอกนักโทษ แต่แล้ว รอง ผบ. ค่ายเคิร์ท ฟรานซ์ ก็สังเกตเห็นว่า สถานีรถไฟแห่งนี้ไม่มีนาฬิกา จึงสั่งให้ช่างไม้ทำนาฬิกาปลอมๆ ขึ้นมา บอกเวลาไว้ที่ 3 นาฬิกา ทำให้สถานีรถไฟดูสมจริงขึ้น


เคิร์ท ฟรานซ์ผู้นี้เป็นศิษย์เก่า T-4 เช่นกัน ไต่เต้าขึ้นมาจากชั้นประทวนตำแหน่งกุ๊กจนเป็นรอง ผบ. ค่ายเทรบลิงกา ได้รับสมญาว่าตุ๊กตาเพราะหน้าอ่อน แต่นอกจากหน้าแล้ว อย่างอื่นไม่อ่อนเลยโดยเฉพาะใจ หน้าที่หลักของเคิร์ท ฟรานซ์คือบังคับบัญชาพวกการ์ดชาวยูเครน เคิร์ท ฟรานซ์เป็นพวกซาดิสต์โรคจิตอีกคนในค่าย  นอกจากสนุกสนานกับการสำเร็จโทษยิงทิ้งนักโทษเป็นประจำแล้ว เคิร์ทยังเลี้ยงหมาพันธุ์เซนต์ เบอร์นาร์ดไว้ตัวหนึ่งชื่อเจ้าบาร์รี่  เจ้าบาร์รี่ถูกฝึกให้กัดนักโทษ โดยจ้องกัดเฉพาะที่ลับของนักโทษชาย และขย้ำบั้นท้ายนักโทษด้วย  เมื่อพบนักโทษชายที่เป็นเหยื่อ เคิร์ทจะสั่งให้เจ้าหมาร่างยักษ์กัดที่เป้านักโทษ ขยุ้มอวัยวะชิ้นนั้นออกมา  จากนั้นค่อยสำเร็จโทษนักโทษที่ทุกข์ทรมานด้วยปืน


เคิร์ท ฟรานซ์เป็นผบ.ค่ายเทรบลิงกาต่อจากสแตงเกล รอดชีวิตจากสงคราม จนกระทั่งปี 1959 เคิร์ท ฟรานซ์ถูกเปิดโปงและถูกดำเนินคดีข้อหาอาชญากรสงครามมีส่วนร่วมฆ่าคนมากกว่า 300,000 คน แม้จะอ้างว่าตลอดเวลาตนไม่เคยฆ่าใครและเคยทำร้ายนักโทษหนเดียวแต่ศาลไม่เชื่อ  ถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิต มีหลักฐานชิ้นหนึ่งคืออัลบั้มรูประหว่างที่เคิร์ท ฟรานซ์อยู่ที่เทรบลิงกา เขียนไว้ว่า เป็นปีที่ดีที่สุดในชีวิต  เคิร์ท ฟรานซ์ถูกปล่อยตัวออกจากเรือนจำในปี 1993 เพราะปัญหาสุขภาพ และตายในปี 1998


ภาพเคิร์ท ฟรานซ์กับเจ้าบาร์รี่



คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า

วิรุศฑ์ษมาศร์ อัฐน์อังการจณ์
ประกอบ
สุครีพ
******
ตอบ: 1342


ความคิดเห็นที่ 50  เมื่อ 27 พ.ค. 15, 16:16

เทบลิงกาก็เหมือนค่ายนาซีอื่นๆ คือมีสภาพและเงื่อนไขให้คนที่มีสัญชาตญาณโหด ดิบ เถื่อน บ้าอำนาจ และเข่นฆ่าผู้คนได้โดยไม่มีความผิด สามารถแสดงสัญชาตญาณดิบเถื่อนเหล่านั้นที่ในชีวิตปกติไม่สามารทำได้ต่อนักโทษได้โดยไม่มีจำกัด


การ์ด SS ที่ชื่นชอบฆ่านักโทษเด็กมากที่สุดคงไม่มีใครเกิด เซป หรือ Josef Hirtreiter ที่บ่อยครั้งไม่สามารถรั้งรอที่จะฆ่าเด็กๆ ที่ห้องแก็สได้ ก็จะจับขาเด็กๆ วัยเพยงแค่ขวบหรือสองขวบที่เพิ่งมาถึง ดึงออกจากอกพ่อแม่ แล้วฟาดหัวเด็กเข้ากับตู้รถไฟให้ตาย เซปเป็นผู้คุมที่เทรบลิงกาคนแรกที่ถูกดำเนินคดีหลังสงครามในปี 1951 และถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิต แต่ถูกปล่อยตัวออกมาเนื่องจากสุขภาพแย่ในปี 1977 และตายในอีก 6 เดือนต่อมา


การ์ดชาวยูเครน ฟีโอดอร์ ฟีโดเรนโกเป็นอีกคนที่ชอบใช้แส้เฆี่ยนตีนักโทษที่กำลังวิ่งไปที่ห้องแก็ส ใครวิ่งไม่ไหวนั่งลงขอความเมตตาจะถูกยิงทิ้ง  หลังสงครามฟีโดเรนโกสามารถหลบหนีไปใช้ชีวิตในสหรัฐจนกระทั่งถูกเปิดโปงและถูกถอนสัญชาติ ถูกส่งตัวไปโซเวียตในปี 1984 และถูกประหารชีวิตด้วยการยิงเป้าในข้อหาทรยศต่อชาติเมื่อปี 1987


อิวาน มาเชนโก การ์ดยูเครนที่ทำหน้าที่ในห้องแก็ส หนุ่มผมสั้นสีทองตาสีเทาท่าทางอ่อนโยน พร้อมจะใช้ท่อแก็สยาวฟาดหน้านักโทษคนใดก็ตามที่บังอาจมองหน้า มีความสุขกับการทรมานนักโทษทั้งนักโทษที่ถูกส่งมาตายและนักโทษแรงงานที่ทำหน้าที่เคลื่อนย้ายศพ  สนุกกับการตัดหูเหล่านักโทษแรงงาน บางครั้งอิวานจับนักโทษหญิงมาผ่าท้องทั้งเป็น และบังคับนักโทษชายให้ร่วมเพศกับศพนั้นก่อนที่จะสังหารทั้งหมด อิวานได้รับสมญาว่า Ivan the Terrible ส่วนชะตากรรมของอิวานจอมโหดคนนี้หลังสงครามไม่เป็นที่แน่ชัด หลักฐานหลายชิ้นบ่งชี้ว่าอิวานผู้นี้ ในภายหลังอาจจะเป็นอิวาน เดมจานจุค หรือ (John Demjanjuk) แต่พิสูจน์ไม่ได้และเจ้าตัวปฏิเสธ เดมจานจุคตายในปี 2012



ภาพแรก เซปคือนาซีคนขวาสุดในภาพ  ภาพที่สอง ฟีโดเรนโก และภาพที่สามเชื่อว่าคืออิวานจอมโหด


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ


บันทึกการเข้า

วิรุศฑ์ษมาศร์ อัฐน์อังการจณ์
ประกอบ
สุครีพ
******
ตอบ: 1342


ความคิดเห็นที่ 51  เมื่อ 28 พ.ค. 15, 01:30

แม้จะถูกปกปิดไว้เป็นความลับสุดยอด เร่องของค่ายมรณะเทรบลิงกาก็ไม่ใช่ว่าจะไม่เป็นที่รับรู้กันในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2


แจนเคียล เวียนิค (Jankiel Wiernik) ชาวยิวโปแลนด์อายุ 53 ปีแล้วตอนที่ถูกส่งมาที่เทรบลิงกาในเดือนสิงหาคม 1942 แทนที่จะถูกสังหารทันทีที่มาถึง เวียนิคถูกเลือกให้เป็นนักโทษแรงงาน ทำหน้าที่ย้ายศำจากห้องแก็สไปยังหลุมฝัง(ต่อมาภายหลังการกำจัดศพเปลี่ยนมาเป็นเผาแทน)  เวียนิคได้เป็นพยานเห็นความรุนแรงป่าเถื่อนที่นักโทษถูกกระทำหลายครั้ง  ได้เห็นเด็กๆ ที่ถูกพรากออกจากอกแม่แล้วสังหาร  เห็นเด็กๆ ที่ถูกโยนลงไปในกองไฟทั้งเป็น เห็นเด็กที่ยืนเท้าเปล่ารอคอยความตายบนพื้นที่เย็นเป็นน้ำแข็งในหน้าหนาว และได้เห็นความกล้าหาญของนักโทษหญิงคนหนึ่งที่แย่งปืนจากการ์ดแล้วก็ยิงการ์ด 2 คนก่อนที่ตัวจะถูกสำเร็จโทษ


เนื่องจากมีฝีมือทางช่างไม้ เวียนิคจึงถูกย้ายไปเป็นช่างไม้ในค่าย ทำหน้าที่ก่อสร้างอาคารต่างๆ ในค่าย ได้มีโอกาสเดินทางระหว่างส่วนต่างๆ ของค่าย ทำให้ได้ทำหน้าที่เป็นตัวกลางประสานงานในการลุกฮือของคนงานค่ายในปี 1943 และหลบหนีออกมาจากเทรบลิงกาในการจราจลนั้น  สามารถหนีไปจนถึงวอร์ซอ ได้รับความช่วยเหลือจากนายจ้างเก่า จนอยู่รอดมาได้จนหลังสงครามเพราะหน้าตาที่ดูเป็นอารยัน 


ในปี 1944 ด้วยการสนับสนุนจากกลุ่มยิวใต้ดินในวอร์ซอ เวียนิคได้เขียนเล่าเรื่องราวที่ตนพบเห็นที่เทรบลิงกา ในหนังสือชื่อ A Year in Treblinka เล่าเรื่องราวประสบการณ์ที่ได้พบเห็น แม้บางเรื่องถูกตั้งข้อสงสัย เช่นจำนวนนักโทษที่ถูกยัดเข้าไปในห้องแก็สแคบๆ ดูจะมากเกินจริง หรือเรื่องเล่าว่าเมื่อไปขนศพนักโทษ บางศพแขนขาหลุดออกจากร่าง  แต่ก็มีส่วนที่น่าสะเทอนใจมากมายเช่นศพแม่ที่อยู่ในท่ามีกำลังปกป้องลูก หรือศะชาวยิวในห้องแก็สที่ตายในท่ายืนเพราะความคับแคบของห้องและนักโทษจำนวนมากที่ถูกสังหาร


หนังสือของเวียนิคได้รับการพิมพ์และถูกแปลเป็นภาษาอังกฤษพิมพ์ในอังกฤษและอเมริกา หลังสงครามเวียนิคย้ายไปอิสราเอลและต่อมาอพยพไปอยู่อิสราเอล เวียนิคมีโอกาสให้การเป็นพยานในการดำเนินคดีนาซีหลายตนรวมถึงอดอล์ฟ ไอชมันน์ด้วย เวียนิคที่ทนทุกข์กับอาการบาดเจ็บในใจจากความรู้สึกผิดที่รอดชีวิตมาได้  เวียนิคเสียชีวิตในปี 1972 เมื่ออายุ 83 ปี


ใครสนใจอ่าน A Year in Treblinka สามารถไปตามอ่านได้ที่  http://www.zchor.org/treblink/wiernik.htm


ภาพแจนเคียล เวียนิค


บันทึกการเข้า

วิรุศฑ์ษมาศร์ อัฐน์อังการจณ์
ประกอบ
สุครีพ
******
ตอบ: 1342


ความคิดเห็นที่ 52  เมื่อ 28 พ.ค. 15, 18:33

ในเรื่องเล่าของแจนเคียล เวียนิค มีเรื่องของหญิงเยอรมันผู้หนึ่งและบุตรชายสองคนที่บังเอิญขึ้นรถไฟผิดขบวน


ในการขนนักโทษมาที่เทรบลิงกานั้น ถ้าเป็นนักโทษยิวโปแลนด์ที่ถูกส่งมาจากเก็ตโตต่างๆ จะถูกขนมาทางตู้สินค้าที่ใช้ขนสัตว์  แต่สำหรับนักโทษจากที่อื่นๆ เช่นจากบัลกาเรีย ฮอลแลนด์ หรือเยอรมันเองมักจะมาโดยตู้โดยสารธรรมดา นักโทษเหล่านี้มักจะมีฐานะดี และด้รับอนุญาตให้ขนทรัพย์สินที่ต้องการมาด้วยได้ ไม่ว่าจะเป็นอาหาร หรือข้าวของอื่นๆ แต่ไม่ว่าจะอย่างไร ภายในเวลาไม่เกิน 2 ชั่วโมง นักโทษเหล่านี้ก็จะกลายเป็นอดีตไป


ในขบวนรถหนึ่งที่ขนชาวยิวเยอรมันซึ่งส่วนใหญ่เป็นทหารผ่านศึกเยอรมันในสงครามโลกครั้งแรก มีผู้หญิงเยอรมันแท้คนหนึ่ง หน้าตาดีผมสีทอง เดินทางพร้อมลูกชาย 2 คน บังเอิญขึ้นรถไฟผิดขบวน หลงมาจนถึงเทรบลิงกา จนกระทั่งเหล่าการ์ดสั่งให้ผู้ที่เดินทางมาถึงถอดเสื้อผ้าออก เธอจึงแสดงตัวว่าเป็นคนเยอรมัน พร้อมยื่นเอกสารให้ดู  ไม่เพียงแต่มีเอกสาร เธอยังยืนยันด้วยว่าลูกชายทั้งสองของเธอไม่ได้ขลิบแบบยิวด้วย ทั้งสามต่างตกอกตกใจกับบรรยากาศน่ากลัวรอบตัว ลูกชายทั้งสองสั่นเทาด้วยความกลัว ส่วนแม่ก็น้ำตานองหน้าพยายามปลอบโยนลูกทั้งสอง


แต่เนื่องจากทั้งสามได้เห็นมากเกินไป  ค่ายมรณะเป็นความลับสุดยอดแม้แต่สำหรับคนเยอรมันเอง ถ้าปล่อยเธอออกไปเธออาจไปเล่าให้คนอื่นฟังถึงสิ่งที่พบเจอได้  ดังนั้นแม้จะเป็นคนเยอรมัน อารยันแท้ๆ ก็ไม่สามารถปล่อยออกไปได้ ทั้งสามจึงประสบชะตากรรมเช่นเดียวกันกับนักโทษยิว  ต้องหายสาบสูญไปเป็นกองเถ้าถ่าน


ในบรรดาชาวยิวที่ถูกสังหารที่เทรบลิงกา มีพอลลิน โรซ่าและมารีน้องสาวของซิกมันด์ ฟรอยด์ เจ้าของทฤษฏีจิตวิเคราะห์ที่โด่งดังรวมอยู่ด้วย ทั้งคู่อยู่ในวัย 80 กว่าแล้ว เมื่อถูกส่งจากเวียนนามาที่เทรบลิงกาซึ่งทั้งสามเข้าใจว่าเป็นค่ายแรงงาน หนึ่งในสามเดินเข้าไปหาเคิร์ท ฟรานซ์เพื่อบอกว่า เนื่องจากเธอทั้งสามแก่มากแล้วแถมยังสุขภาพไม่ดี ดังนั้นขอความกรุณาให้ฟรานซ์ช่วยหางานที่เบาๆ หน่อยให้คนแก่เช่นเธอ  เคิร์ท ฟรานซ์หัวเราะแล้วบอกว่า ต้องมีเรื่องเข้าใจอะไรผิดแน่ๆ พวกเธอน่าจะถูกส่งมาเพราะความผิดพลาด ไม่ต้องเป็นห่วง เดี๋ยวจะส่งทั้งสามกลับไปที่เวียนนาด้วยรถไฟขบวนแรกแน่ๆ แต่ขอให้ทั้งสามอาบน้ำให้เสร็จก่อน


ซิกมันด์ ฟรอยด์มีน้องสาว 4 คน ทั้งหมดอยู่ในวัย 80 กว่าแล้วเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 เริ่มต้น พอลลิน โรซ่าและมารีถูกกำจัดที่เทรบลิงกา ส่วนน้องสาวอีกคนอดอลฟินถูกกำจัดที่ค่ายอื่น ภาพล่างคือคุณย่าทั้ง 4


บันทึกการเข้า

วิรุศฑ์ษมาศร์ อัฐน์อังการจณ์
ประกอบ
สุครีพ
******
ตอบ: 1342


ความคิดเห็นที่ 53  เมื่อ 29 พ.ค. 15, 17:29

แล้วท่ามกลางความทารุณกรรมต่างๆ ในค่าย  สแตงเกลในฐานะผู้บัญชาการของค่ายไปอยู่ตรงไหนหรือทำอะไร  สแตงเกลเองมีส่วนเกี่ยวข้องหรือลงมือทำทารุณกรรมนักโทษมากแค่ไหน?


ในเรื่องเล่าของเวียนิค อ้างถึงเหตุการณ์หนึ่งที่เค้าถูกเฆี่ยนด้วยแส้ม้าจากนายทหาร SSยศร้อยเอกคหนึ่งที่เค้าไม่ทราบชื่อ  ในเทรบลิงกา ผบ. ค่ายซึ่งเป็นตำแหน่งสูงสุดมียศแค่ร้อยเอก SS เท่านั้น  นี่อาจจะเป็นสแตงเกลก็ได้ เพราะที่ซอบิบอร์มีนักโทษที่จำสแตงเกลได้ว่าเค้ามักสวมเสื้อสีขาว รองเท้ามันวับ พกแส้ม้ารอต้อนรับนักโทษอยู่เป็นประจำ ดังนั้นร้อยเอกคนที่ใช้แส้เฆี่ยนเวียนิคอาจจะเป็นสแตงเกลก็ได้ แต่ไม่มีเรื่องเหล่าหรือคำให้การเกี่ยวกับการกระทำของสแตงเกลที่เรียกได้ว่าซาดิสต์ ไม่มีพยานที่ยืนยันได้ว่าเคยเห็นสแตงเกลสังหารนักโทษด้วยมือตัวเอง  สแตงเกลเป็นนักฆ่าประเภทฆาตกรนั่งโต๊ะแบบเดียวกับอดอล์ฟ ไอชมันน์  คนพวกนี้ไม่ลงมือเอง แต่บริหารจัดการ


ไซมอน วีเซนธัล นักล่านาซีชื่อดังเล่าว่า เค้าได้ยินชื่อของสแตงเกลครั้งแรกในปี 1948 จากการดูรายชื่อรายชื่อนายทหาร SS ที่ได้รับการประดับเหรียญกล้าหาญซึ่งจะมีการระบุวีรกรรมที่ทำให้ได้รับเหรียญด้วย นายทหารส่วนใหญ่ได้รับเหรียญจากความกล้าหาญ เช่น แสดงความกล้าในหน้าที่ ช่วยทหารที่บาดเจ็บท่ามกลางการระดมยิงอย่างหนัก สามารถเอาตัวรอดจากสถานการณ์คับขันได้ แต่ก็มีบางรายชื่อที่ได้รับเหรียญด้วยเหตุผลแปลกๆ คือ "ทำภารกิจลับให้กับอาณาจักไรท์" ตามด้วย "สำหรับความกดดันทางจิตวิทยาจากภารกิจ" ซึ่งความหมายที่แท้จริงจะหมายถึง "สำหรับความสำเร็จในการล้างเผ่าพันธุ์"  ซึ่งสแตงเกลเป็นหนึ่งในรายชื่อผู้ได้รับเหรียญด้วยเหตุผลเช่นนี้ นอกจากเหรียญกล้าหาญกางเขนเหล็ก  สแตงเกลยังได้รับรางวัลผู้บังคับการค่ายที่ดีที่สุดในโปแลนด์ด้วย


สแตงเกลคือคนกลางในภาพ



คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า

วิรุศฑ์ษมาศร์ อัฐน์อังการจณ์
ประกอบ
สุครีพ
******
ตอบ: 1342


ความคิดเห็นที่ 54  เมื่อ 29 พ.ค. 15, 18:09

ที่เทรบลิงกา สแตงเกลจะพยายามเลี่ยงไม่พบปะหรือยุ่งเกี่ยวกับนักโทษยิวทั้งหลาย หน้าที่ต้อนรับนักโทษที่เดินทางมาถึงเป็นของรอง ผบ. เคิร์ท ฟรานซ์  ส่วนหน้าที่ในแดนประหารหรือที่เผาศพก็ไม่ใช่ที่ที่สแตงเกลต้องเข้าไปสั่งการด้วยตัวเองอยู่แล้ว  ดังนั้นนักโทษส่วนใหญ่ ทั้งนักโทษที่ถูกส่งมากำจัดหรือแม้แต่นักโทษแรงงานในค่ายเอง น้อยคนนักที่จะเคยพบเห็นหรือรู้จักสแตงเกล


แต่แม้ว่าจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับนักโทษ แต่ก็มีนักโทษจำนวนหนึ่งที่ทำหน้าที่รับใช้เจ้าหน้าที่ เช่นเป็นพ่อครัวหรือคนรับใช้ทำความสะอาด  ในจำนวนนี้มีชาวยิวจากเวียนนาคนหนึ่งชื่อเบลา(Blau) ซึ่งทำหน้าที่พ่อครัวให้สแตงเกล เพราะสแตงเกลจะปราณียิวจากออสเตรียมากเป็นพิเศษ ทำให้สแตงเกลได้พูดคุยกับเบลาและภรรยาเสมอ สแตงเกลเล่าว่าเค้ามักจะช่วยเบลาและภรรยาเสมอถ้าทำได้(ในแบบของสแตงเกล)


วันหนึ่ง เปลามาหาสแตงเกลด้วยน้ำตานองหน้า เพื่อขอความช่วยเหลือ  เช้าวันนั้นบิดาวัยแปดสิบของเบลาถูกส่งมาที่เทรบลิงกา  มีอะไรที่สแตงเกลพอจะช่วยได้บ้างไหม

สแตงเกลตอบด้วยน้ำเสยงนุ่มนวล  "แน่นอนว่าต้องช่วย เบลา แต่เบลาก็ต้องเข้าใจด้วยนะ ว่ามันเป็นไปไม่ได้สำหรับผู้ชายวัยแปดสิบ"

เบลาเข้าใจดีว่าพ่อของเค้าคงไม่สามารถถูกส่งไปทำงานและเป็นภาระที่สิ้นเปลืองในสายตาของนาซีถ้าต้องเก็บไว้  เลยขอกับสแตงเกลว่า เป็นไปได้ไหมที่จะขอให้ส่งพ่อของเค้าไปที่โรงพยาบาล(ปลอม)เพื่อจะถูกประหารที่นั่น แทนที่จะต้องปล่อยให้คนแก่วัย 80 วิ่งเปลือยไปที่ห้องแก็สเอง และพอจะเป็นไปได้ไหมถ้าเบลาจะขอพาพ่อมาที่ห้องครัวและให้อาหารก่อนซักมื้อ   สแตงเกลบอกเบลาว่า ให้ทำสิ่งที่คิดว่าดีที่สุดได้เลย อย่างเป็นทางการแล้วสแตงเกลไม่รับรู้อะไรทั้งนั้น แต่อย่างไม่เป็นทางการให้เบลาไปบอกคาโป (คือตำรวจยิวที่ทำหน้าที่ในค่าย มีศักดิ์ดีกว่าคนงาน แต่ต่ำกว่าการ์ดยูเครน) ว่าสแตงเกลอนุญาต


บ่ายวันนั้น สแตงเกลพบเบลาที่มารออยู่ น้ำตานองหน้าเพื่อแสดงความขอบคุณสแตงเกล เบลามีโอกาสให้อาหารพ่อมื้อสุดท้ายก่อนที่จะพาพ่อไปที่โรงพยาบาล  เรื่องทั้งหมดจบแล้ว ขอขอบคุณท่านผู้บังคับการมาก สแตงเกลบอกเบลาว่า นายไม่จำเป็นต้องมาขอบคุณหรอก แต่ถ้าอยากขอบคุณก็ได้


เรื่องเล่าเกี่ยวกับเบลานี้ สแตงเกลเล่าให้จิตต้า เซเรนี นักข่าวที่สัมภาษณ์สแตงเกลในปี 1971 เรื่องเล่าถึงความใจดีของตัวเองแบบนี้ทำให้เซเรนีสะเทือนใจจนถึงกับต้องหยุดสัมภาษณ์ ออกจากห้องไปและต้องไปสงบสติอารมณ์ถึง 2 ชั่วโมงก่อนที่จะกลับมาสัมภาษณ์สแตงเกลต่อได้

จิตตา เซเรนีได้สัมภาษณ์นาซีและฆาตกรหลายคน เธอเพิ่งเสียชีวิตไปในปี 2012


บันทึกการเข้า

วิรุศฑ์ษมาศร์ อัฐน์อังการจณ์
ประกอบ
สุครีพ
******
ตอบ: 1342


ความคิดเห็นที่ 55  เมื่อ 02 มิ.ย. 15, 02:14

เซเรนีสัมภาษณ์สแตงเกลขณะถูกจองจำอยู่ที่เรือนจำในดุสเซลดอร์ฟเมื่อปี 1971 เพื่อต้องการค้นหาว่าเบื้องหลังระบบความคิดของคนอย่างสแตงเกลว่าทำไมจึงทำงานแบบนี้ได้


"ก็พื่อความอยู่รอด ทำไปเพื่อความอยู่รอด  สิ่งที่ผมจำเป็นต้องทำคือจำกัดบทบาทในสิ่งที่ทำ  ในความคิดของผมที่ถูกสอนมาจากโรงเรียนตำรวจคือ การประกอบอาชญากรรมจะต้องประกอบด้วย 4 ปัจจัย นั่นคือผู้กระทำ เหยื่อ การกระทำ และเจตนา ถ้าสิ่งใดสิ่งหนึ่งในสี่สิ่งนี้มีไม่ครบ ก็จะไม่ถือว่าเป็นอาชญากรรม"


"ชั้นไม่เข้าใจว่าหลักการณ์นี้เอามาใช้กับกรณีของคุณได้อย่างไร" เซเรนีแย้ง


"นี่คือสิ่งที่ผมมต้องการอธิบายให้คุณเข้าใจ ทางเดียวที่คุณสามารถอยู่กับมันได้คือเปลี่ยนวิธีคิด เมื่อทำแบบนี้แล้ว ผมสามารถนำหลักการนี้มาใช้ได้ เมื่อผู้กระทำคือรัฐบาล เหยื่อคือชาวยิว การกระทำคือการรมแก็ส แต่ผมสามารถบอกตัวเองว่าสำหรับผม ไม่มีเจตนา"



อีกครั้งหนึ่งในการซักถาม เซเรนีถามสแตงเกลว่า อะไรคือเหตุผลของการกำจัดยิว


"พวกนั้นต้องการเงินของชาวยิว" สแตงเกลตอบ

"คุณต้องพูดเล่นแน่" เซเรนีอุทาน "พวกคนยิวไม่ได้รวยทุกคน พวกนั้นเป็นแสนๆ มาจากเก็ตโต้ในยุโรปตะวันออก พวกนั้นไม่มีอะไรเลย"

"ไม่มีใครไม่มีอะไรเลย" สแตงเกลตอบ "ทุกคนต้องมีบางสิ่ง"

ถ้านี่เป็นการยืนยันเหตุผลของสแตงเกล มีเอกสารที่ลงชื่อโดยสแตงเกลแสดงรายการสิ่งของที่ถูกส่งออกจากเทรบลิงกาไปยังกองบัญชาการ SS ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 1942 ถึง 2 สิงหาคม 1943

ผมผู้หญิง 25 ตู้รถไฟ
เสื้อผ้า 248 ตู้รถไฟ
รองเท้า 100 ตู้รถไฟ
ของแห้ง 22 ตู้รถไฟ
ยา 46 ตู้รถไฟ
เครื่องนอนและผ้าห่ม 254 ตู้รถไฟ
เครื่องใช้ต่างๆ 400 ตู้รถไฟ
เงิน 12 ล้านรัสเซียรูเบิล
เงิน 140 ล้านโปแลนด์
เงิน 400,000 ปอนด์
เงิน 2.8 ล้านอเมริกันดอลลาร์
นาฬิกาทองคำ 400,000 เรือน
แหวนแต่งงานทองคำน้ำหนัก 145 ตัน
เพชรขนาดเกินเม็ดละ 2 กะรััต 4,000 กะรัต
เหรียญทองโปแลนด์มูลค่าต่างๆ รวม 120 ล้าน
สร้อยไข่มุกหลายพันเส้น

สแตงเกลยังยืนยันต่อด้วยว่า เรื่องเกี่ยวกับชาติพันธุ์เป็นเรื่องรอง จุดประสงค์หลักคือทรัพย์สิน

"งั้นเมื่อพวกนาซีต้องการฆ่ายิวอยู่แล้ว ทำไมต้องทำทารุณขนาดนั้นและต้องโฆษณาชวนเชื่อสร้างความเกลียดชังขนาดนั้น"

"ก็เมื่อต้องทำตามนโยบาย ดังนั้นก็มีความจำเป็นต้องอ้างความชอบธรรม" แสตงเกลตอบ

"เอาหละ แล้วคุณหละ คุณเกลียดชาวยิวไหม"

"ไม่เลย ผมไม่เคยปล่อยให้ใครควบคุมผม หรือบังคับให้ผมเกลียดใคร"


บันทึกการเข้า

วิรุศฑ์ษมาศร์ อัฐน์อังการจณ์
ประกอบ
สุครีพ
******
ตอบ: 1342


ความคิดเห็นที่ 56  เมื่อ 02 มิ.ย. 15, 03:47

กิจการสังหารชาวยิวที่เทรบลิงกาดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ อดีตนักโทษผู้รอดชีวิตจากเทรบลิงกา ริชาร์ด กลาซาร์บรรยายไว้ว่า เฉพาะการขาดแคลนขบวนรถไฟที่ใช้ขนนักโทษมาเท่านั้น เพราะพวกเยอรมันเองต้องใช้รถไฟในการลำเลียงยุทโธปกรณ์ ที่ทำให้จำกัดจำนวนนักโทษที่ถูกกำจัดได้ เฉพาะแค่ที่เทรบลิงกาสามารถจัดการชาวยิวหกล้านคนได้สบาย และอาจจะได้มากกว่านั้นขอเพียงแต่มีรถไฟมากพอที่จะขนนักโทษมา และค่ายมรณะเฉพาะแค่ในโปแลนด์เพียงลำพังก็สามารถจะกำจัดได้หทดทั้งพวกโปล รัสเซีย พวกยุโรปตะวันออก และพวกต่ำกว่ามนุษย์ทั้งหลายที่นาซีวางแผนจะกำจัดให้หมดเมื่อชนะสงคราม


อย่างไรก็ตาม ในช่วงกลางปี 1943 ขบวนรถไฟขนนักโทษมากำจัดเริ่มมีน้อยลง สาเหตุมาจากทั้งขบวนรถไฟที่จะใช้ขนนักโทษขาดแคลนและนักโทษยิวในโปแลนด์ถูกกำจัดไปเกือบหมดแล้ว บรรดานักโทษแรงงานเริ่มเล็งเห็นแล้วว่าพวกตนจะเป็นพวกที่ถูกกำจัดต่อไปเมื่อหมดประโยชน์  จึงเริ่มวางแผนที่จะยึดค่ายกัน โดยมีแกนนำเป็นชาวยิวที่เคยเป็นทหารในกองทัพโปแลนด์ แผนทั้งหมดถูกเก็บเป็นความลับรู้กันเฉพาะแกนนำไม่กี่คน


ริชาร์ด กลาซาร์รอดชีวิตจากเทรบลิงกา ต่อมาใช้ชีวิตอยู่ในเชคโกสโลวาเกียช่วงที่อยู่ภายใต้ระบอบคอมมิวนิสต์อีก 20 ปีจนกระทั่งหนีไปสวิสเซอร์แลนด์ในปี 1968 เสียชีวิตในปี 1997 เมื่ออายุ 77 ปีจากการฆ่าตัวตายหลังจากเสียชีวิตของภรรยาและอาการรู้สึกผิดที่เป็นผู้รอดชีวิต  กลาซาร์เขียนหนังสือชื่อ "Trap with a Green Fence" บอกเล่าเรื่องราวที่เทรบลิงกา



บันทึกการเข้า

วิรุศฑ์ษมาศร์ อัฐน์อังการจณ์
ประกอบ
สุครีพ
******
ตอบ: 1342


ความคิดเห็นที่ 57  เมื่อ 02 มิ.ย. 15, 22:23

ปี 1943 การทำสงครามของเยอรมันเริ่มเข้าสู่ขาลง สงครามในแอฟริกาเหนือเยอรมันเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ต้องถอนตัวไปอิตาลี  ส่วนแนวรบด้านรัสเซียกองทัพที่ 7 ก็เพิ่งยอมแพ้ต่อกองทัพโซเวียตที่สตาลินกราด ล้างแพ้เริ่มเด่นชัด  ในเทรบลิงกาเองข่าวความพ่ายแพ้ของเยอรมันในต่างสมรภูมิสร้างทั้งความหวังและความกลัวแก่เหล่านักโทษแรงงานในค่าย เหล่านักโทษกลัวว่าอีกไม่นานพวกSS อาจจะเลิกค่ายและกำจัดนักโทษทั้งหมดเพื่อปกปิดหลักฐานความชั่วร้ายที่กระทำไว้  ยิ่งปริมาณรถไฟขนนักโทษมาเริ่มมีน้อยลง เหล่านักโทษยิ่งหวั่นวิตกในชะตากรรมของตน


กลุ่มนักโทษชาวยิวกลุ่มหนึ่ง เริ่มต้นวางแผนที่จะก่อจลาจลลุกฮือขึ้นและช่วยให้นักโทษจำนวนมากหลบหนีออกไปจากค่าย แกนนำเหล่านี้ประกอบด้วยอดีตนายทหารจากกองทักโปแลนด์ ดร. จูเลียน โคราซีสกี ผู้อาวุโสของค่าย มาร์เซลิ กัลเลวสกี้ อดีตนายทหารกองทัพเช็ค เซโล บลอช คาโปของค่าย เซฟ เคิร์ลแลนด์ และช่างไม้แจนเคียล เวียนิค


แผนการเริ่มต้นได้ไม่ดีนัก ในเดือนเมษายน 1943 พวก SS พบเงินจำนวนมากจากโคราซีสกีซึ่งรับผิดชอบจัดหาอาวุธจากนอกค่าย ก่อนที่จะถูกสอบสวนโคราซีสกีเลือกที่จะฆ่าตัวตายเพื่อไม่ให้แผนการถูกเปิดเผย ดังนั้นเหล่าแกนนำจึงเดินหน้าแผนการต่อไป มีการแอบเตรียมกุญแจผีสำหรับไขเข้าคลังอาวุธ  พวกชาวยิวที่ค่ายยังได้ยินข่าวการลุกฮือของชาวยิวในวอร์ซอว์ด้วยจากนักโทษที่ถูกส่งมา ซึ่งยิ่งสร้างขวัญกำลังใจให้เหล่านักโทษ


วันที่ 2 สิงหาคม 1943 ก็ถึงวันลงมือซึ่งเป็นวันหยุดของค่าย พวก SS และการ์ดจำนวนหนึ่งไม่อยู่ในค่าย ในตอนเช้าเหล่านักโทษขโมยอาวุธจากคลังแสง ได้ปืนไปราว 20-25 กระบอก ระเบิดมือและปืนพกจำนวนหนึ่ง นักโทษราว 700 คนเริ่มก่อจราจล โจมตีพวกการ์ด SS และยูเครน วางเพลิงอาคาร โดยไม่แยแสต่อความปลอดภัยของตน เหล่าแกนนำต่อสู้อย่างกล้าหาญเพื่อช่วยนำนักโทษหลบหนีท่ามกลางการระดมยิงจากพวกยามบนป้อมหอคอยของค่าย นักโทษบางส่วนทำลายรั้วลวดหนามของค่ายหลบหนีออกไป  มีนักโทษหลบหนีไปได้ประมาณ 300 คน


แต่เนื่องจากเหล่านักโทษไม่ได้ตัดสายโทรศัพท์ สแตงเกลจึงโทรเรียกกำลังเสริมหลายร้อยคนมาเพื่อตามล่าเหล่านักโทษได้ มีการตั้งด่านปิดถนนตรวจค้น นักโทษประมาณ 200 คนถูกจับได้และถูกสังหาร มีประมาณ 100 คนหลบหนีไปได้ ซึ่งในจำนวนนี้มีประมาณ 70 คนที่รอดชีวิตไปจนจบสงคราม  เหล่าแกนนำส่วนใหญ่เสียชีวิตตั้งแต่ช่วงการจลาจล มีเฉพาะเวียนิคที่หลบหนีออกไปได้

ภาพเหล่านักโทษที่รอดจากเทรบลิงกามาได้


บันทึกการเข้า

วิรุศฑ์ษมาศร์ อัฐน์อังการจณ์
ประกอบ
สุครีพ
******
ตอบ: 1342


ความคิดเห็นที่ 58  เมื่อ 06 มิ.ย. 15, 03:26

หลังจากจราจลตลอด 2 สัปดาห์ถัดมา แม้อาคารบางส่วนของค่ายจะเสียหายและนักโทษแรงงานบางส่วนหนีไปหรือถูกกำจัด  ขบวนรถไฟยังนำนักโทษยิวมาส่งเพื่อกำจัดทิ้งอยู่ สแตงเกลวางแผนจะปรับปรุงค่ายให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นกว่าเดิม แต่มีคำสั่งใหม่จากเบอร์ลินบอกว่าจะยกเลิกค่ายเทรบลิงกาและทำลายหลักฐานทิ้งให้สิ้นซากเพราะจำนวนนักโทษที่จะต้องกำจัดมีจำนวนลดน้อยลงและเทรบลิงกาไม่มีความจำเป็น นอกจากนั้นการกำจัดโดยใช้แก็สไซคลอนบีที่เอาชวิตซ์และค่ายมาจดาเนคมีประสิทธิภาพกว่าใช้คาร์บอนมอนอกไซด์แบบที่เทรบลิงกามาก  นักโทษที่มีกำหนดจะต้องส่งไปที่เทรบลิงกาจะถูกส่งไปกำจัดที่โซบิบอร์แทน  วันที่ 19 สิงหาคม 1943 รถไฟขบวนสุดท้ายขนนักโทษไปกำจัดที่เทรบลิงกา นักโทษทั้งหมดถูกกำจัดในวันนั้น


สแตงเกลถูกย้ายจากเทรบลิงกาไปรับหน้าที่ใหม่ที่ทริเอสเต้ในตอนเหนือของอิตาลีแทนเพื่อสู้กับพวกกองโจรยูโกสลาเวียและกองโจรยิวในแถบนั้น  ฟรานซ์ เคิร์ทรับหน้าที่ผู้บังคับการค่ายเทรบลิงกาแทนโดยมีหน้าที่หลักในการทำลายค่ายและกำจัดหลักฐาน อาคารทั้งหมดถูกทำลาย หลุมต่างๆ ถูกถม มีการปลูกต้นสนที่โตเร็วบนบริเวณที่เคยเป็นที่ฝังศพ ที่เผาศพ และอาคารต่างๆ อิฐจาก "ห้องอาบน้ำ" ถูกนำไปสร้างโรงนาให้ครอบครัวชาวนายูเครนชื่อสเตรเบลซึ่งถูกสั่งว่าถ้ามีใครถามให้บอกไปว่ามาตั้งรกรากอยู่ที่นี่ตั้งแต่ปี 1943 แต่อย่างไรก็ตาม ซากศพและเศษกระดูกจากคนหนึ่งล้านที่ถูกกำจัดที่เทรบลิงกาไม่ใช่สิ่งที่จะกำจัดได้ง่ายๆ ของเหลวจากศพที่เผาไหม้ไม่หมดซึมออกมาเหนือพื้นดิน  ก็าซเหม็นจากซากศพยังแพร่กระจาย ครอบครัวสเตรเบลเผ่นแน่บทิ้งที่ดินไปไม่นานหลังจากนั้น


ในวันที่ 14 ตุลาคม 1943 มีการจราจลที่โซบิบอร์เช่นเดียวกับที่เคยเกิดที่เทรบลิงกา  การ์ด SS และยูเครนจำนวนหนึ่งถูกสังหาร นักโทษที่ก่อจราจลที่โซบิบอร์ที่หลบหนีไปได้มีชีวิตรอดหลังสงครามประมาณ 30-50 คน


 


บันทึกการเข้า

วิรุศฑ์ษมาศร์ อัฐน์อังการจณ์
ประกอบ
สุครีพ
******
ตอบ: 1342


ความคิดเห็นที่ 59  เมื่อ 06 มิ.ย. 15, 03:49

ในเดือนกันยายน 1943 สแตงเกลร่วมขบวนไปกับอดีต SS จากค่ายมรณะ 120 คน รวมทั้งระดับหัวหน้าเช่นนายพลโกลบอคนิค และคริสเตียน เวิร์ธ เดินทางไปทริเอสเตทางตอนเหนือของอิตาลีเพื่อไปรับหน้าที่ใหม่ต่อสู้กับพวกกองโจรยูโกสลาเวีย สแตงเกลรู้ดีว่าแม้จะทำงานตามคำสั่งอย่างดีและมีประสิทธิภาพ แต่อดีตเจ้าหน้าที่ค่ายมรณะเป็นคล้ายรอยด่างแห่งความภาคภูมิใจของเยอรมัน ที่แม้แต่พวกเยอรมันเองก็อยากกำจัดทิ้งแบบเนียนๆ และวิธีที่ดีที่สุดคือส่งไปรับหน้าที่ภารกิจที่มีโอกาสตายสูง เช่นไปรบกับพวกกองโจร โดยเฉพาะกองโจรยูโกสลาเวียที่ขึ้นชื่อเรื่องความอันตราย


สำหรับพวกกองโจรยูโกสลาฟไม่มีคำว่าเชลยศึก พวกเยอรมันที่ต้องต่อกรกับพวกนี้มีโอกาสสูงมากที่จะได้กลับบ้านเก่าตลอดไป  กองบัญชาการเยอรมันรู้ดีจึงส่งอดีต SS ทั้งหลายจากค่ายมรณะไปรับหน้าที่นี้ เพราะพวกนี้รู้ดีเกินไป และสิ่งที่พวกนี้รู้เป็นความลับที่ต้องปิดให้เงียบที่สุด การปล่อยให้พวกนี้มีชีวิตต่อไปไม่เป็นการดี แต่การกำจัดก็ต้องแนบเนียนพอโดยมอบภารกิจโอกาศตายสูงให้ไปปฏิบัติ


คริสเตียน เวิร์ธจอมโหดซึ่งมียศเป็นพันตรีแล้ว ถูกสังหารในการรบเมื่อเดือนพฤษภาคม 1944 สแตงเกลได้เห็นศะของเวิร์ธด้วย แม้จะบอกว่าพวกกองโจรฆ่าเวิร์ธ สแตงเกลคิดว่าน่าจะเป็นลูกน้องของเวิร์ธเองมากกว่าที่กำจัดนายตัวเอง แต่บางเอกสารบอกว่าเวิร์ธอาจเป็นเหยื่อของพวกกองโจรยิวที่คอยตามล่าพวกนาซีที่มีส่วนกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ เพราะเวิร์ธแตกต่างจากสแตงเกล เวิร์ธเป็นที่รู้จักและไม่ได้เก็บเนื้อเก็บตัว


ภาพกองโจรยูโกสลาฟ ใช้อาวุธที่ยึดมาได้จากพวกเยอรมัน ภาพล่าง นายพลโกลบอคนิค อดีตนายใหญ่ของค่ายมรณะในโปร์เลยขณะอยู่ในทริเอสเต



คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า

วิรุศฑ์ษมาศร์ อัฐน์อังการจณ์
หน้า: 1 2 3 [4] 5 6
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.063 วินาที กับ 20 คำสั่ง