เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 [2] 3 4 ... 6
  พิมพ์  
อ่าน: 32637 ฟันเฟืองปิศาจ ฟรานซ์ สแตงเกล
ปวันดา
มัจฉานุ
**
ตอบ: 55


ความคิดเห็นที่ 15  เมื่อ 14 พ.ค. 15, 16:40

เอิ่ม คุณครูดุ ออกมานั่งกลางห้องแล้วยกมือถามช่วยดันกระทู้ก็ได้ค่า รบกวนคุณครูประกอบมาเล่าต่อด่วนๆค่ะ ไม่อยากเสิร์ชกูเกิ้ล เดี๋ยวจะสปอยล์เรื่องซะเปล่าๆตอนนี้รอฟังคุณครูเล่าอย่างใจจดใจจ่อค่ะ ยิ้มกว้างๆ
บันทึกการเข้า
ประกอบ
สุครีพ
******
ตอบ: 1342


ความคิดเห็นที่ 16  เมื่อ 14 พ.ค. 15, 17:57

ง่า ผมไม่ใช่คุณครูครับ แค่เป็นนักเรียนออกมารายงานหน้าชั้นเท่านั้น

Hartheim Euthanasia Centre เป็นศูนย์กำจัดส่วนเกินในสังคมตามนโยบายชาติพันธุ์ศูนย์หนึ่งในโครงการ T-4 ซึ่งจริงๆ แล้วมีถึง 6 ศูนย์กระจายทั่วเยอรมันและออสเตรีย ปราสาท Hartheim ถูกใช้เป็นสถานที่รับเลี้ยงเด็กกำพร้าและเด็กปัญญาอ่อนมาตั้งแต่ปี 1898 ในช่วงปี 1940 ปราสาท Hartheim มีฉากหน้าเป็นโรงพยาบาลสำหรับคนไข้โรคจิต  ปัญญาอ่อนหรือมีอาการทางสมอง แต่โรงพยาบาลแห่งนี้ไม่มีห้องคนไข้ ไม่มีห้องรักษา ในระยะเวลาตั้งแต่ปี 1940 - 1944 มีคนมากกว่า 18,000 หรืออาจจะถึงสามหมื่นคนถูกกำจัดที่นี่โดยการรมแกสและฉีดยาพิษซึ่งมีทั้งคนปัญญาอ่อน  นักโทษการเมืองเช่นพระคาธอลิกที่ต่อต้านนาซี รวมถึงคนยิวจากค่ายกักกันใกล้เคียง

นอกจากเป็นสถานที่กำจัด ที่นี่ยังถูกใช้เป็นที่ทดลองในการหาวิธีฆ่าคนแบบประหยัดให้ได้ปริมาณมากสำหรับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ เป็นเสมือนโรงเรียนแพทย์ในการให้ความรู้ แต่ไม่ใช่ความรู้ในการรักษา แต่เป็นการฆ่าอย่างมีประสิทธิภาพ เหยื่อจะถูกศึกษา วิเคราะห์ ถ่ายภาพ ทำสถิติ  มีการทดลองใช้แกสหลายๆ ชนิดเพื่อศึกว่าว่าชนิดใดมีประสิทธิภาพในการฆ่าสูงสุดและเงื่อนไขในการใช้งานต่างๆ โดยหมอจะศึกษาการตายผ่านช่องมองในห้องสังหารที่ชั้นใต้ดิน จับเวลาที่เหยื่อตาย มีการถ่ายทั้งภาพนิ่งภาพเคลื่อนไหวเพื่อใช้ในการศึกษาต่อไป  สมองของเหยื่อจะถูกนำมาผ่าเพื่อหาสาเหตุการตาย


ภาพปราสาท Hartheim และห้องที่เคยเป็นห้องเผาศพในปัจจุบัน



คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ

บันทึกการเข้า

วิรุศฑ์ษมาศร์ อัฐน์อังการจณ์
ประกอบ
สุครีพ
******
ตอบ: 1342


ความคิดเห็นที่ 17  เมื่อ 14 พ.ค. 15, 20:11

หัวหน้าของสแตงเกลที่ Hartheim คือ Christian Wirth  ซึ่งฟรานซ์ให้คำจำกัดความหัวหน้าของตนไว้ว่าเป็นผู้ชายอ้วนที่ดูหยาบช้า หัวใจผมหล่นไปที่ตาตุ่มเมื่อได้พบ  คริสเตียนได้รับสมญานามว่าจอมโหดคริสเตียน มีหน้าที่เป็นที่ปรึกษาของโครงการ T-4 คริสเตียนบอกให้ฟรานซ์เก็บทุกอย่างที่ศูนย์เป็นความลับ ห้ามสงสารหรือเห็นใจ

หน้าที่ของฟรานซ์นอกจากการดูแลความปลอดภัยและรักษาความลับแล้ว ยังต้องออกใบมรณบัตรเพื่อแจ้งแก่ครอบครัวเหยื่อด้วย ซึ่งแน่นอนว่ารายละเอียดของการตายย่อมไม่ใช่ความจริง เช่นคนไข้ตายจากอาการหัวใจวายหรืออะไรทำนองนี้ มีการจัดส่งทรัพย์สินสิ่งของของเหยื่อเช่นเสื้อผ้า และเถ้าอัฐิไปให้แก่ครอบครัวเหยื่อด้วย(ในการณีที่เหยื่อเป็นคนเยอรมัน)

ครั้งหนึ่ง มีแม่ของเด็กปัญญาอ่อนที่ถูกส่งมาคนหนึ่งเขียนจดหมายมาแจ้งว่า เธอไม่ได้รับเทียนที่เธอส่งมาให้ลูกของเธอไม่นานก่อนที่เค้าจะเสียชีวิต ฟรานซ์ต้องไปค้นหาเทียนนั้นเพื่อส่งคืนไปให้แม่ของเด็ก ฟรานซ์ไปที่โบสถ์ของปราสาท คุยกับแม่ชีและนักบวชคาธอลิกที่เคยดูแลเด็กคนนั้น ค้นหาจบพบเทียนเล่มนั้นในตระกร้าเล็กๆ แล้วก็ต้องตกใจที่พบว่า ทั้งพระและแม่ชีต่างคิดว่าเป็นการถูกต้องแล้วที่เด็กคนนี้ต้องถูกกำจัด!!! ซึ่งทำให้ฟรานซ์ไม่มีข้อสงสัยขัดข้องกับหน้าที่ของตัวอีกต่อไป  ฟรานซ์ไม่เคยบอกภรรยาของตนว่าตนมีหน้าที่อะไร ไม่เคยเล่าเกี่ยวกับหน้าที่การงานให้ใครฟังทั้งนั้น  ทุกอย่างถูกเก็บเป็นความลับ

จากการบันทึกเอกสารและการสอบสวน ฟรานซ์ สแตงเกลไม่ได้มีหน้าที่ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการฆ่าที่ Hartheim แต่ได้รับรู้เห็นการฆ่าตลอดเวลาที่อยู่ที่นั่น ในการพิจารณาคดีอาชญากรสงครามในปี 1947  คนขับรถที่มีหน้าที่ขับรถบัสพาคนไข้เข้าสู่ความตายให้การว่าฟรานซ์ สแตงเกลซึ่งในเวลานั้นยังหลบหนีอยู่ ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสังหาร ทำหน้าที่ป็นเพียงตำรวจที่นั่นเท่านั้น  แต่ฟรานซ์ก็เป็นฟันเฟืองหนึ่งของการเริ่มต้นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่จะตามมาแล้ว


ภาพ Christian Wirth ซึ่งภายหลังเสียชีวิตระหว่างสงครามในปี 1944



 


บันทึกการเข้า

วิรุศฑ์ษมาศร์ อัฐน์อังการจณ์
ประกอบ
สุครีพ
******
ตอบ: 1342


ความคิดเห็นที่ 18  เมื่อ 15 พ.ค. 15, 15:11

ในปี 1961  ผู้หญิงคนหนึ่งไปหาไซมอน วีเซนธัลและบอกให้ไซมอนไปคุยกับชายชื่อบรูโน่ บรูคเนอร์เพราะเค้าเป็นคนหนึ่งที่อยู่ที่ Hartheim ในฐานะช่างภาพและสามารถจะบอกเล่าเรื่องการทดลองต่างๆ ที่นั่นได้  เมื่อไซมอนไปพบ บรูโน่ก็เล่าให้ฟังจริงๆ

ย้อนกลับไปในปี 1940 บรูโน่เป็นช่างภาพสมัครเล่น และได้รับการติดต่อให้ไปเป็นช่างภาพที่ Hartheim หลังผ่านการสัมภาษณ์และได้รับการตอบรับเข้าทำงาน บรูโน่ได้เซ็นเอกสารว่าจะไม่เปิดเผยความลับ ไม่พูดคุยเกี่ยวกับสิ่งที่ได้พบเห็นที่นั่นด้วย และหัวหน้าในขณะนั้นคือคริสเตียน เวิร์ธ

บูโน่เล่าว่าคริสเตียนจอมโหดนั้น นอกเวลางานเป็นคนที่เป็นมิตร แต่ในเวลางานแล้วเป็นคนที่เคร่งครัดมากๆ เป็นคนที่จะไม่ลังเลที่จะยิงใครทิ้งซักคนถ้าทำงานไม่ถูกใจ  เวิร์ธกำหนดให้บรูโน่ถ่านภาพคนไข้แต่ละคน ซึ่งบรูโน่บอกว่า บางครั้งการทำงานก็ยากเพราะคนไข้บางคนไม่อยู่นิ่งต้องมีพยาบาลคอยจับไว้ให้นิ่ง บางครั้งคนไข้กระโดดเข้าจู่โจมบรูโน่ก็มี  นอกจากนี้ยังมีกลิ่นจากเตาเผาศพที่ตลบอบอวลอยู่ตลอดเวลา งานนี้เป็นงานที่สาหัสมากสำหรับบรูโนจนทำให้กินอะไรไม่ลง  หลังเริ่มงานไม่กี่วัน บรูโนก็ไปหาเวิร์ธ แจ้งว่าอยากจะลาออก

เวิร์ธมีทางเลือกให้บรูโน่ 3 ทาง ทางแรกคือทำงานที่นี่ต่อไปและหุบปากให้แน่น  ทางที่สองคือยอมโดนส่งตัวไปค่ายกักกัน Mauthausen ใกล้ๆ รอการกำจัด ทางเลือกที่สามคือโดนยิงทิ้งซะที่นี่เลย  แน่นอนว่าบรูโน่เลือกทางแรกและทำงานต่อในวันรุ่งขึ้น


ในเวลาต่อมา นอกจากถ่ายภาพคนไข้แล้ว บรูโน่ต้องถ่ายภาพศพที่ผ่านการทดลองด้วย ในการสัมภาษณ์ บรูโนบอกว่าเค้าไม่เคยตั้งคำถามใดๆ หรือมีข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องงานเลย เพราะงานนั้นจ่ายงามไม่น้อย เดือนละ 300 มาร์ค อาหารการกินก็ดี เหล้าไม่อั้น มีปาร์ตี้ยามค่ำแทบทุกคืน มีผู้หญิงให้หลับนอนด้วยไม่ซ้ำหน้า

ผ่านไป 20 ปี บรูโนยังคงกินอ่มนอนหลับ ไม่มีฝันร้าย ไม่ได้รู้สึกผิด  มีข้อสงสัยประการเดียวที่รบกวนจิตใจ คือทำไมเวิร์ธต้องใช้เจ้าหน้าที่มากถึง 80 คน เพื่อจะฆ่านักโทษแค่วันละ 35 คน



ภาพไซมอน วีเซนธัล อดีตนักโทษในค่ายกักกันที่อุทิศชีวิตตามล่านาซีที่ก่ออาชญากรรมมารับโทษ


บันทึกการเข้า

วิรุศฑ์ษมาศร์ อัฐน์อังการจณ์
ประกอบ
สุครีพ
******
ตอบ: 1342


ความคิดเห็นที่ 19  เมื่อ 15 พ.ค. 15, 15:43

วีเซนธัลเองก็สงสัยเช่นกัน ทำไมคนบางคนถึงถูกเลือกและฝึกให้ทำงานเป็เครื่องจักรฆ่าคนได้ ทำอย่างไรจึงจะฝึกคนที่ทำงานในห้องรมแก็ส ได้มองเห็นความทุกข์ทรมานและความตายของผู้บริสุทธิ์เป็นหมื่นๆ คนเป็นวัน เป็นเดือน เป็นปีได้ สามารถทนต่อความกดดันโดยไม่บ้าไปซะก่อน ในขณะที่เครื่องจักรยังมีวันพัง แต่คนที่ทำหน้าที่เหล่านี้ไม่เคย ยังคงทำหน้าที่ต่อไปได้ แข็งแกร่งทนทานยิ่งกว่าเครื่องจักร วีเซนธัลสรุปว่า คนเหล่านี้ได้รับการฝึกมาอย่างเป็นระบบ วีเซนธัลเข้าใจว่าคำตอบของคำถามที่บรูโน่สงสัยว่าทำไมต้องมีเจ้าหน้าที่มากมายนักในการฆ่านักโทษจำนวนน้อยกว่าคือคำตอบ

การคัดเลือกเจ้าหน้าที่เข้าไปทำงานมีการคัดเลือกกันอย่างรัดกุม  ที่จริงเจ้าหน้าที่เหล่านี้คือนักเรียนที่กำลังถูกฝึกเป็นเครื่องจักรฆ่าคน คนที่ผ่านการฝึกจะไปทำหน้าที่ต่อไปยังห้องแก็สและเตาเผาศพที่ค่ายอื่นๆ ขั้นตอนการฝึกเริ่มจากการให้นักเรียนเหล่านี้เข้าร่วมสังเกตุการทดลองกับมนุษย์ก่อนจนชินและไร้ความรู้สึกสงสารกับเสียงร้องด้วยความเจ็บปวดหรือน้ำตา  หลังจากนั้นคนเหล่านี้จะถูกฝึกให้เป็นผู้ทำการทดลองเอง จนนักเรียนเหล่านี้ไม่มีความรู้สึกผิดอีกต่อไป นอกจากนี้ การทดลองยังเป็นการทำกับเพื่อนร่วมชาติของตัวเองด้วย ทั้งคนเยอรมันหรือออสเตรียที่ป่วยทางจิต เมื่อคนเหล่านี้ฆ่าเพื่อนร่วมชาติได้ ย่อมไม่มีปัญหาในการฆ่าคนชาติอื่นที่ต่ำกว่าตัว  

ในกระบวนการฝึกนี้ เหล่านักเรียนจะถูกจับตามองจากผู้ฝึกด้วยเพื่อดูปฏิกริยาอย่างใกล้ชิด คนที่ไม่สามารถทนได้จะถูกส่งไปอยู่แนวหน้าในหน่วบรบที่โอกาสตายสูงมากๆ หรือไม่อาจจะได้เป็นเหยื่อซะเอง ส่วนคนที่ผ่านการฝึกก็ไปเป็นครูสอนต่อไปในค่ายอื่นๆ  ต่อไป

โรงเรียนสอนการฆ่าแบบนี้ในช่วงปี 1940 มีถึง 6 แห่ง หัวใจสำคัญอย่างหนึ่งในการดำเนินการคือต้องเก็บรักษาความลับไว้ให้ได้อย่างเข้มงวด ในโรงเรียนหรือศูนย์อื่นๆ เช่นที่ Sonnenstein หรือ Grafeneck มีข่าวรั่วไหลไปถึงหูชาวเมืองเกี่ยวกับศูนย์ฝึกฆ่า มีคนได้ยินเสียงเด็กๆ ร้องไห้บนรถบัสที่กำลังเอาพวกเค้าไปฆ่า หลายศูนย์ต้องปิดตัวลง ยกเว้น Hartheim ที่สามารถรักษาความลับไว้ได้เป็นอย่างดี และนี่ต้องยกเครดิตให้กับหัวหน้าหนวยรักษาความปลอดภัย ฟรานซ์ สแตงเกล





บันทึกการเข้า

วิรุศฑ์ษมาศร์ อัฐน์อังการจณ์
ประกอบ
สุครีพ
******
ตอบ: 1342


ความคิดเห็นที่ 20  เมื่อ 15 พ.ค. 15, 19:32

ขอขยายความโครงการ T-4 นิดหนึ่ง

โครงการ T-4 เป็นโครงการที่เริ่มต้นมีจุดประสงค์เพื่อการกำจัดคนที่ไม่ต้องการ ได้แก่คนพิการและปัญญาอ่อนโดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นความพิการจากพันธุกรรม เพื่อจุดประสงค์ในการปรับปรุงพันธุกรรมของชาวอารยัน ขจัดข้อบกพร่องทางสายเลือด และเพื่อประหยัดเงินที่จะต้องใช้ในการสงเคราะห์คนเหล่านี้ซึ่งไม่มีประโยชน์ในด้านแรงงาน โดยหาวิธีกำจัดให้คนเหล่านี้ตายอย่างรวดเร็วทีละมากๆ และประหยัดที่สุด โครงการเริ่มต้นในเดือนกันยายนปี 1939 โดยคำสั่งของฮิตเลอร์ (ที่คนไทยหลายๆ คนบอกว่ามีข้อดีเช่นกัน อย่าเอาแต่มองข้อเสีย) โดยมีผู้รับผิดชอบคือไรช์ ลีดเดอร์ฟิลิป เบาท์เลอร์ และ ดร. คาร์ล บรันดท์ นายแพทย์ส่วนตัวของฮิตเลอร์


โครงการได้จัดตั้งศูนย์กำจัดบุคคลอันไม่พึงปราถนา 6 แห่งทั่วเยอรมันและออสเตรีย โครงการดำเนินไปจนถึงเดือนสิงหาคม 1941 มีผู้คนถูกสังหารไปประมาณ 70,000 คน แต่รายงานอย่างไม่เป็นทางการกล่าวว่าอาจมีถึง 200,000 คน เป็นโครงการที่มีการทดลองมากมายเพื่อหาทางฆ่าอย่างมีประสิทธิภาพที่สุด และยังเป็นโรงเรียนฝึกหัดผลิตเพชรฆาตสำหรับค่ายกักกันต่างๆ ในอาณาจักรนาซีด้วย


หลังสงคราม ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องระดับสูงหลานคนถูกตัดสินประหารชีวิตหรือฆ่าตัวตาย เช่นฟิลิป เบาท์เลอร์ฆ่าตัวตายพร้อมภรรยา  ดร. บรันดท์ถูกประหารชีวิตโดยการแขวนคอ วิคเตอร์ แบรค ออร์แกนไนเซอร์ของโครงการถูกแขวนคอเช่นกัน แต่ผู้ร่วมงานอื่นๆ บางคนได้รับโทษจำคุกไม่รุนแรง จำนวนมากไม่ถูกดำเนินคดีแต่อย่างใด


ภาพคำสั่งเซ็นโดยฮิตเลอร์ และสามเกลอเรียงตามลำดับจากบนลงล่าง เบาท์เลอร์ บรันดท์ และแบรค




บันทึกการเข้า

วิรุศฑ์ษมาศร์ อัฐน์อังการจณ์
ประกอบ
สุครีพ
******
ตอบ: 1342


ความคิดเห็นที่ 21  เมื่อ 16 พ.ค. 15, 04:50

เมื่อพูดถึงค่ายกักกันของนาซีเยอรมัน จะจัดได้เป็นสองแบบหลักๆ  แบบแรกคือค่ายกักกัน (Concentration camp) และแบบที่สองคือค่ายมรณะ (Extermination camp) ค่ายกักกันจะมุ่งเน้นการขังนักโทษเพื่อใช้เป็นแรงงานทาส มากกว่าจะมุ่งฆ่าทิ้งแบบอุตสาหกรรมอย่างค่ายมรณะ  ค่ายกักกันแรกคือดาเชา สร้างขึ้นในปี 1933 เป็นผลงานแรกๆ เมื่อฮิตเลอร์ขึ้นเป็นผู้นำใหม่ๆ เพื่อใช้กักขังนักโทษการเมือง จากนั้นก็มีการขยับขยายพัฒนาต่อจนมีค่ายแบบนี้กระจายไปทั่วดินแดนที่เยอรมันยึดครองได้


ค่ายกักกันบางค่าย ในภายหลังได้ผันตัวมาเป็นค่ายมรณะด้วย มีการสร้างห้องรมแก็สเพื่อรองรับความต้องการในการกำจัดคนที่ไม่เป็นที่ต้องการโดยเฉพาะชาวยิว  เช่นเอาชวิตซ์ แต่หน้าที่หลักๆ ยังคงเป็นค่ายกักกัน และใช้ค่ายรองคือเบอร์เคนเนาค่านสาขาเป็นค่ายมรณะ หรือค่ายบูเคนวาลด์ที่ไซมอน วีเซนธัลเป็นศิษย์เก่า  ค่ายเบอร์เจน-เบนเสน ที่แอนน์ แฟรงค์เคยอยู่ พวกนี้เป็นค่ายกักกันที่เปลี่ยนมาเป็นค่ายมรณะในภายหลัง แต่แม้จะเป็นค่ายกักกัน นักโทษจำนวนมากก็ตายจากการอดอาหาร โรคระบาด เจ็บป่วย ถูกแขวนคอ ยิงทิ้งอยู่ดี


ค่ายมรณะโดยทั้วไปจะไม่สร้างในเยอรมัน แต่จะสร้างในดินแดนที่ยึดครองมาได้โดยเฉพาะโปร์แลนด์  เพราะเป็นพื้นที่ยึดครองมีกำลังทหารเด็ดขาดกว่า แถมคนท้องถิ่นก็ไม่ใช่เยอรมัน ไม่ต้องกลัวการประท้วงต่อต้าน เพราะใครต่อต้านก็ประหารได้เลย ทำให้รักษาความลับและห้องกันการต่อต้านได้ง่ายกว่าตั้งในแผ่นดินเยอรมันดั้งเดิมเองมาก


เมื่อนาซีตัดสินใจเริ่มโครงการ final solution คือการกำจัดคนที่ไม่พึงประสงค์แบบอุตสาหกรรม  ก็ต้องเริ่มสร้างค่ายมรณะโดยคำสั่งของไฮน์ริช ฮิมม์เลอร์ โดยมีคริสเตียน เวิร์ธทำหน้าที่เป็นผู้ตรวจสอบ ที่ปรึกษาและอำนวยการสร้างค่ายมรณะ ค่ายแรกที่ประสบความสำเร็จของเวิร์ธคือค่ายเชล์มโน(Chelmno) ก่อตั้งขึ้นในปี 1941 ในโปร์แลนด์ หลังจากนั้นเวิร์ธได้เป็นผู้ตรวจสอบค่ายใหม่อีก 3 ค่ายที่ก่อตั้งขึ้นในปี 1942 คือค่ายเบวเชตซ์(Belzec) ทาบลิงกา (Tablinka) และโซบิบอร์ (Sobibor)


ค่ายมรณะทั้ง 4 ที่เอ่ยชื่อมาดำเนินการโดยศิษย์เก่า T-4 มีประสิทธิภาพมาก ทั้งที่ระยะเวลาทำการค่อนข้างสั้นคือประมาณปีเดียวแต่กำจัดคนยิวไปได้ราวสองล้านห้าแสนคน ส่วนใหญ่ต้องปิดตัวลงเพราะปริมาณคนยิวที่ถูกส่งมากำจัดลดจำนวนลง  ที่น่าทึ่งคือจากนักโทษทั้งหมดที่ส่งไปยังค่ายทั้ง 4 มีนักโทษร้อยกว่าคนเท่านั้นที่รอดชีวิต  คือ 2 คนจากค่ายเบวเชตซ์จากทั้งหมด 600,000 อีก 2 คนจาก 400,000 ที่เชล์มโน 50-70 คนจาก 300,000 ที่โซบิบอร์ และราว 50-70 คนจากประมาณหนึ่งล้านคนที่ทาบลิงกา ไม่กล้าคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ผู้รอดชีวิตเพราะเลขศูนย์หลังทศนิยมมันเยอะ


ภาพรถขนนักโทษไปยังค่ายเชล์มโน ที่ต้องใช้รถขนเพราะไม่มีทางรถไฟไปถึงค่าย นักโทษต้องลงจากรถไฟแล้วต่อรถไปแดนประหาร






บันทึกการเข้า

วิรุศฑ์ษมาศร์ อัฐน์อังการจณ์
Diwali
มัจฉานุ
**
ตอบ: 96


ความคิดเห็นที่ 22  เมื่อ 16 พ.ค. 15, 09:36

มนุษย์ คิดแล้วทำกับมนุษย์ได้ขนาดนี้เชียวหรือนี่
 เศร้า เศร้า

ขอบคุณคุณลุงประกอบที่นำมาเผยแพร่ให้ทราบนะครับ
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 23  เมื่อ 16 พ.ค. 15, 09:49

อิอิ ลุงประกอบ  ยิงฟันยิ้ม ยิงฟันยิ้ม ยิงฟันยิ้ม

มนุษย์ คิดแล้วทำกับมนุษย์ได้ขนาดนี้เชียวหรือนี่  เศร้า เศร้า

ลองส่งคำว่า "๖ ตุลาคม" ให้คุณกุ๊กหาภาพให้ดู  คุณ Diwali คงถามคำถามนี้ซ้ำสองเป็นแน่แท้  ร้องไห้

หนึ่งในหลาย ๆ ภาพนั้นได้รับภาพรางวัล Pulitzer prize 1977  โดยช่างภาพ AP ชื่อ Neal Ulevich เขาบรรยายภาพนี้ว่า

"ผมเห็นความชุลมุนที่ต้นไม้ ผมจึงเดินไปตรงนั้นและเห็นร่างถูกแขวนคอ เขาเสียชีวิตแล้ว แต่ฝูงชนยังเต็มไปได้ความบ้าคลั่ง มีชายคนหนึ่งกำลังใช้เก้าอี้พับหวดเข้าไปที่ศีรษะของร่างไร้วิญญาณ ผมยืนอยู่ตรงนั้นแล้วดูว่ามีใครมองมาที่ผมรึเปล่า ไม่มีใครสนใจ ผมจึงถ่ายภาพสองสามภาพแล้วเดินหนีมา"

สิ่งที่น่าสมเพชที่สุดคือ

"เมื่อผมได้รางวัลพูลิตเซอร์ หนังสือพิมพ์ในกรุงเทพต่างลงข่าวหน้าหนึ่ง พวกเขาแสนภูมิอกภูมิใจนักหนาที่ภาพที่ถ่ายในกรุงเทพได้รับรางวัลอันทรงเกียรติ"
บันทึกการเข้า
ประกอบ
สุครีพ
******
ตอบ: 1342


ความคิดเห็นที่ 24  เมื่อ 16 พ.ค. 15, 12:40



ลองส่งคำว่า "๖ ตุลาคม" ให้คุณกุ๊กหาภาพให้ดู  คุณ Diwali คงถามคำถามนี้ซ้ำสองเป็นแน่แท้  ร้องไห้



อ๊ะ อ๊ะ อ๊ะ ไม่ต้องไปไกลถึง 6 ตุลาก็ยังได้  ลองไปส่องกระทู้นี้แล้วนับทั้งความเห็นหลักความเห็นย่อยให้ผมที ว่าคนไทยปี 2015 กี่คนในกระทู้นี้ที่อยากให้มีค่ายมรณะสำหรับกำจัดโรฮิงญา(ขอเรียกแบบเดิม เห็น BBC บอกว่าชาวโรฮิงญาเรียกตัวเองแบบนี้)  และอีกกี่คนที่หมั่นไส้สยองเหน็บแนมคนที่บอกว่าสงสารโรฮิงญาหรือให้หาทางแก้ปัญหาแบบอื่น


http://pantip.com/topic/33622256/


ของแบบนี้ไม่ต้องมองไกล แม้แต่ปัจจุบันก็ยังมีอยู่ แม้แต่เมืองไทยเมืองพุทธนี่แหละ เมื่อใดที่คนเรามองคนอีกพวกว่าต่ำกว่า ไร้ค่าไร้ประโยชน์ สันดานดิบจะแสดงออกมาง่าย กระทู้นั้นผมได้กลายเป็นมุสลิมไปแล้ว ส่วนกระทู้นี้จะมีใครชี้หน้าว่าเป็นยิวบ้างไหมยังไม่ทราบ  เป็นอีกตัวอย่างว่าถ้าคุณคิดไม่เหมือนคนส่วนใหญ่ คุณจะถูกป้ายเป็นโน่นเป็นนี่


ค่ายมรณะโรฮิงญาหรือสำหรับใครก็ตามเปิดในไทยเมื่อไหร่  ถ้าหนีไม่ทันคนแบบผมเป็นพวกแรกๆ ที่ถูกพาไปรมแก็สแน่ๆ

บันทึกการเข้า

วิรุศฑ์ษมาศร์ อัฐน์อังการจณ์
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 25  เมื่อ 16 พ.ค. 15, 12:55

เมื่อใดที่คนเรามองคนอีกพวกว่าต่ำกว่า ไร้ค่าไร้ประโยชน์ สันดานดิบจะแสดงออกมาง่าย

ยิ่งมองเห็นผู้อื่นไม่ใช่มนุษย์ หรือมีความเป็นมนุษย์น้อยกว่าเรา (เพราะเขาชั่ว เขาไม่ใช่พวกเรา ฯลฯ) ความเป็นมนุษย์ในใจเราก็จะลดน้อยถอยลงทันที เพราะวินาทีนั้นความโกรธเกลียดเหยียดหยามจะครอบงำใจจนพร้อมทำร้ายผู้อื่นได้อย่างเลือดเย็น

ถึงตอนนั้นเราเป็นอะไรก็ได้ทั้งนั้น อย่างเดียวที่เป็นไม่ได้คือความเป็นมนุษย์

พระไพศาล วิสาโล


สาธุ

บันทึกการเข้า
ประกอบ
สุครีพ
******
ตอบ: 1342


ความคิดเห็นที่ 26  เมื่อ 16 พ.ค. 15, 17:21

เมื่อไห้เห็นฝีไม้ลายมือการจัดการรักษาความปลอดภัยแล้ว ในช่วงต้นปี 1942 เวิร์ธก็แนะนำไปยังหน่วยเหนือว่าสแตงเกลคือคนที่เหมาะสมจะให้ไปคุมงานสร้างและเป็น ผบ. ค่ายมรณะโซบิบอร์  จากการสัมภาษณ์ในช่วงบั้นปลายชีวิต ฟรานซ์เล่าวาเค้าได้รับการบอกในตอนแรกว่าโซบิบอร์เป็นแค่ค่ายแรงงาน แต่เค้าก็เริ่มสงสัยว่าจะไม่ใช่เพราะมีศิษย์เก่า T-4 หลายคนได้รับมอบหมายหน้าที่ที่นั่นด้วย โดยเฉพาะเฮอร์มัน ไมเคิล ซึ่งเคยเป็นหัวหน้าพยาบาลชายที่ Hartheim

การก่อสร้างในระยะแรกใช้แรงงานชาวยิวภายใต้ยามรักษาการณ์ชาวยูเครน สแตงเกลอ้างว่าเพิ่งได้เห็นว่ามีการสร้างห้องรมแก็สด้วยหลังจากเดินทางมาถึงแล้วและคิดว่าแบบนี้ไม่ใช่ค่ายแรงงานแน่ๆ สแตงเกลจึงเดินทางไปหาเวิร์ธซึ่งขณะนั้นอยู่ที่ค่ายเบลเชตซ์เพื่อสอบถามให้แน่ใจ  ที่นี่เองเป็นครั้งแรกที่สแตงเกลได้เห็นการดำเนินการของค่ายมรณะแม้ว่าจะทำงานกับโครงการ T-4 มาสองปีแล้ว

ค่ายอยู่ฝั่งเดียวกันของถนนกับสถานีรถไฟเบลเชตซ์ เพียงแต่อยู่บนเขา สำนักงานที่ทำการค่ายอยู่ห่างจากสถานีไปประมาณ 200 เมตร เป็นอาคารชั้นเดียว กลิ่นของความตายตลบอบอวล เวิร์ธไม่อยู่ในสำนักงาน แต่อยู่ในค่ายข้างบนเขา เจ้าหน้าที่บอกฟรานซ์ว่าเวิร์ธกำลังอารมณ์เสียเพราะว่าหลุมศพหมู่หลุมหนึ่งฝังศพมากเกินไปจนศพที่กำลังเน่าพองขยายตัวดันหลุมขึ้นมา ศพบางส่วนกลิ้งหล่นลงเขามา

ซักพักเวิร์ธมาที่สำนักงานและบอกกับฟรานซ์ว่าที่โซบิบอร์จะเป็นเหมือนกับที่นี่ ฟรานซ์อุทธรณ์ว่าเค้าเป็นแค่ตำรวจไม่ใช่เพชรฆาตและคิดว่าไม่มีความสามารถมากพอกับงาน เวิร์ธไม่ต่อปากต่อคำ แต่แจ้งว่าคำค้านของฟรานซ์จะถูกส่งไปยังหน่วยเหนือต่อไป ดังนั้นฟรานซ์จึงกลับไปที่โซบิบอร์และทำงานต่อไป

ภาพหน่วน SS ที่ค่ายเบลเชตซ์ ในปี 1942


บันทึกการเข้า

วิรุศฑ์ษมาศร์ อัฐน์อังการจณ์
ประกอบ
สุครีพ
******
ตอบ: 1342


ความคิดเห็นที่ 27  เมื่อ 16 พ.ค. 15, 17:45

ในคืนนั้นฟรานซ์คุยกับเฮอร์มัน ไมเคิลเกี่ยวกับเรื่องนี้ ทั้งคู่เห็นพ้องกันว่าคงไม่มีทางปฏิเสธงานนี้ เพราะคำเตือนที่เวิร์ธเคยบอกทุกๆ คนว่า "ถ้าใครไม่ชอบสิ่งที่ทำก็ออกไปได้ แต่ไปแบบมีดินกลบหน้า"


ในวันรุ่งขึ้น เวิร์ธเดินทางมาโซบิบอร์เพื่ออำนวยการติดตั้งอุปกรณ์ห้องรมแก็สที่มีถึง 5 ห้อง สแตงเกลพยายามหลบหน้าโดยแสร้งทำตัวยุ่งอยู่ในสำนักงาน เวิร์ธพาไมเคิลออกไปและให้คำแนะนำต่างๆ ในการใช้งานห้องรมแก็ส  เมื่อผ่านไปสามสี่วัน งานติดตั้งอุปกรณ์เสร็จสิ้น เวิร์ธบอกไมเคิลว่า เอาหละ งานเสร็จแล้ว ถึงเวลาทดลอง แล้วก็สั่งให้นักโทษยิว 25 คนที่เป็นแรงงานเข้าไปในห้องแล้วก็ทดลองรมแก็สเป็นการเจิมห้อง


เมื่อต้องขนศพคนงานออกจากห้องรม  ฟรานซ์ถูกเรียกมาช่วยด้วย นี่เป็นครั้งแรกที่ฟรานซ์ สแตงเกลได้เป็นพยานอุตสาหกรรมการสังหารในค่ายมรณะ หลังจากนั้นฟรานซ์จะทำหน้าที่บริหารค่ายโดยรวม ส่วนผู้รับผิดชอบหน้าที่ที่ห้องรมแก็สคือเฮอร์มัน ไมเคิล


เฮอร์มันผู้นี้มีชื่อเสียงในค่ายในฐานะคนที่มีน้ำเสียงนุ่มนวลดั่งนักบวช คนงานต่างให้สมญาว่า The Preacher หรือนักเทศน์ หน้าที่ประจำคือจะไปยืนคอยต้อนรับนักโทษที่เพิ่งเดินทางมาถึงด้วยน้ำเสียงนุ่มนวลอบอุ่นใบหน้ายิ้มแย้ม


"ยินดีต้อนรับสู่โซบิบอร์ พวกคุณถูกส่งมายังค่ายแรงงาน ที่นี่ครอบครัวจะได้อยู่ด้วยกัน  ใครที่ทำงานหนักจะได้รางวัล  ต่อจากนี้ไปไม่มีอะไรที่พวกคุณต้องกลัว  แต่ว่าพวกเราเป็นห่วงเกี่ยวกับโรคระบาดที่อาจจะเกิดขึ้น ดังนั้นพวกคุณจะต้องอาบน้ำก่อน ผู้ชายไปทางขวา ผู้หญิงและเด็กไปทางซ้าย"

บางครั้งไมเคิลจะบอกนักโทษว่า  "ที่ซอบิบอร์เราเป็นแค่ค่ายชั่วคราวสำหรับคัดเลือกว่าพวกคุณจะถูกส่งไปที่ไหนต่อ จากที่นี่ พวกคุณอาจจะได้ไปยูเครนที่พวกเราจะก่อตั้งรัฐยิวขึ้นมาที่นั่น" ซึ่งถูกอกถูกใจนักโทษนัก พวกเค้าจะส่งเสียงร้องเชียร์ด้วยความดีใจ บ้างถึงกับปรบมือ จากนั้นไมเคิลจะช่วยพาพวกเค้าเหล่านั้นที่กำลังลิงโลดใจไปตามถนนเพื่อไปตัดผมแล้วก็อาบน้ำ


ภาพด้านล่างเฮอร์มัน ไมเคิลซึ่งรอดชีวิตจากสงคราม คาดว่าหลบหนีไปอิยิปต์และไม่เคยถูกจับ
 


บันทึกการเข้า

วิรุศฑ์ษมาศร์ อัฐน์อังการจณ์
ประกอบ
สุครีพ
******
ตอบ: 1342


ความคิดเห็นที่ 28  เมื่อ 17 พ.ค. 15, 04:08

เพราะไม่ค่อยเต็มอกเต็มใจกับหน้าที่ใหม่แต่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ฟรานซ์ สแตงเกลจึงทำงานอยู่หลังฉากในการดูแลเรื่องการก่อสร้างและการดำเนินตามนโยบาย มากกว่าจะออกหน้าพบปะกับเหล่าเหยื่อสังหาร  หน้าที่รมแก็สเป็นความรับผิดชอบของเฮอร์มันและผู้ช่วยระดับต่างๆ ลงไป ฟรานซ์เองพยายามอยู่ห่างจากหน้าที่เหล่านั้น ฟรานซ์ออกคำสั่งห้ามลูกน้องไม่ให้ใช้คำว่าศพ ซาก เหยื่อกับบรรดาเหยื่อสังหาร แต่ใช้นโยบายให้เรียกเหยื่อนเหมือนเป็นวัตถุแทน โดยให้เรียกว่าFiguren (figure หรือ image ในภาษาอังกฤษ) หรือให้เรียกว่าผ้าขี้ริ้ว  ซึ่งการทำแบบนี้เป็นวิธีที่ทำให้สแตงเกลหลีกหนีจากความจริงที่โหดร้ายของงานที่ทำได้


แม้ช่วงที่สแตงเกลเริ่มงานที่โซบิบอร์ตัวค่ายยังไม่เสร็จสมบูรณ์ แต่อุตสาหกรรมการฆ่าดำเนินการไปอย่างได้ผลดีและมีประสิทธิภาพมากจนต้องสร้างห้องรมแก็สห้องที่ 6 เพิ่ม ตั้งแต่เริ่มก่อสร้างในเดือนมีนาคม 1942 จนถึงเดือนพฤษภาคม 1942 ห้องรมแก็สที่โซบิบอร์สังหารคนยิวไปได้มากกว่า  36,000 คนจากชุมชนชาวยิว 19 แห่งในโปแลนด์ ต้องมีการติดตั้งเครื่องจักรเพิ่มเติมเพื่อปั๊มแก็สคาร์บอนไดออกไซด์และคาร์บอนมอนนอกไซด์เข้าไปในห้องแก็ส  มีการติดตั้งเครื่องปั่นไฟเพื่อให้ทำงานในเวลากลางคืนได้  มีการสร้างรางรถไฟแบบรางแคบเพื่อใช้ขนเสื้อผ้า และทรัพย์สินมีค่าของนักโทษไปยังห้องคัดแยก  ในเดือนกรกฏาคม 1942 โซบิบอร์กลายเป็นค่ายตัวอย่างที่ผลการดำเนินงานดีเยี่ยมจนไฮริช ฮิมเล่อร์ ผู้บัญชาการหน่วย SS ต้องเดินทางจากเบอร์ลินเพื่อมาชมด้วยตัวเอง


ภาพสแตงเกลและผู้ช่วยที่โซบิบอร์และบ้านพัก  ปัจจุบันบ้านพักหลังนี้ยังคงอยู่ ส่วนตัวค่ายส่วนใหญ่ถูกนาซีทำลายไปหมดแล้วเพื่อปกปิดหลักฐาน แต่ร่องรอยทางรถไฟรวมถึงอนุสรณ์สถานยังอยู่





บันทึกการเข้า

วิรุศฑ์ษมาศร์ อัฐน์อังการจณ์
ประกอบ
สุครีพ
******
ตอบ: 1342


ความคิดเห็นที่ 29  เมื่อ 18 พ.ค. 15, 04:10

เมื่อเจ้าใหญ่นายโตจะมาเยี่ยมชมค่าย บรรดาเจ้าหน้าที่ก็ต้องเตรียมต้อนรับขับสู้กันเต็มที่


บรรดานักโทษแรงงานที่เป็นช่างตัดผ้า ช่างทำรองเท้า ช่างเหล็ก ช่างก่อสร้าง ต่างถูกระดมตัวมาให้หยุดจากงานประจำเพื่อเนรมิตรค่ายโซบอบอร์ให้เหมือนดังรีสอร์ทหรูในสวิส ขณะที่ฮิมเล่อร์กำลังเดินทางมา ทีมพ่อครัวก็จัดเตรียมอาหารอย่างดีพร้อมเครื่องดื่มไว้คอยต้อนรับ แต่เมื่อฮิมเลอร์มาถึง ฮิมเลอร์สนใจแต่กระบวนการประหารนักโทษ คณะผู้เยี่ยมชมเข้าเยี่ยมชมห้องรมแก็สและชมการสังหารนักโทษแบบสดๆ


เมื่อคณะผู้เยี่ยมชมเสร็จจากห้องรมแก็สเดินทางไปถึงหน้าค่ายซึ่งสแตงเกลรออยู่เพื่อคอยตอบข้อซักถามต่างๆ และเชิญชวนคณะผู้เยี่ยมชมให้ดื่มคอนยัคที่เตรียมไว้รองรับ ฮิมเลอร์ได้ซักตามข้อสงสัยต่างๆ จากสแตงเกลด้วยความประทับใจ และสัญญาว่าจะให้ความช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกเรื่องสิ่งของที่ขาดเหลือสำหรับกิจกรรมในค่ายให้อย่างเต็มที่ เมื่อฮิมเลอร์เดินทางกลับ ชาวค่ายก็ร่วมกันกินดื่มฉลองความสำเร็จในการต้อนรับนายใหญ่จากเบอร์ลิน ในขณะที่กุสตาฟ วาร์กเนอร์ ยังไม่รู้สึกเหน็ดเหนื่อยกับการต้อนรับแต่อย่างใด กลับไปทำหน้าที่อำนวยการที่ห้องรมแก็สสังหารชาวยิวต่อไป


หาภาพฮิมเลอร์เยี่ยมชมโซบิบอร์ไม่ได้ เอาภาพฮิมเลอร์ชมค่ายอื่นไปดูแทน ภาพนี้ตอนเยี่ยมชมค่าย Mauthausen


บันทึกการเข้า

วิรุศฑ์ษมาศร์ อัฐน์อังการจณ์
หน้า: 1 [2] 3 4 ... 6
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.05 วินาที กับ 20 คำสั่ง