เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 4 5 [6] 7 8 ... 11
  พิมพ์  
อ่าน: 86460 ภาพพระตำหนัก ตำหนัก ในเขตพระราชฐานชั้นใน
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 75  เมื่อ 15 พ.ค. 15, 06:49

ตำหนักพระองค์เจ้าศรีสุดสวาดิ์


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 76  เมื่อ 15 พ.ค. 15, 06:53

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีสุดสวาดิ์
ความจากวิกิพีเดีย สารานุรมเสรี  และ คุณแสนอักษร

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีสุดสวาดิ์ ทรงเป็นพระราชธิดาพระองค์ที่ 19 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 กับพระองค์ที่ 3 ในเจ้าจอมมารดาเที่ยง ประสูติเมื่อวันเสาร์ที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2398  มีพระพี่น้องร่วมพระอุทรได้แก่ พระองค์เจ้าโสมาวดี, พระองค์เจ้าชายเสวตรวรลาภ, พระองค์เจ้ากมลาสเลอสรรค์, พระองค์เจ้ากนกวรรณเลขา, พระองค์เจ้าหญิงไม่ปรากฏพระนาม, พระองค์เจ้าไชยานุชิต, พระองค์เจ้าไขแขดวง, พระองค์เจ้าชายจรูญฤทธิเดช และพระองค์เจ้าพวงสร้อยสอางค์

พระนิพนธ์ของสมเด็จกรมพระยา ดำรงราชานุภาพ เรื่อง คนดีที่ข้าพเจ้ารู้จัก เล่ม ๑ กล่าวถึง พระเจ้าบรมวงค์เธอ พระองค์เจ้าศรีนาคสวาดิ(ที่ถูกคือ ศรีสุดสวาดิ์)ว่า "....เมื่อทรงพระเยาว์  พระเจ้าบรมวงค์เธอชั้น ๑ พระองค์เจ้าพลับ ทรงพระเมตตารับไปทรงเลี้ยงดู  ตลอดพระชนม์มายุของพระองค์นั้น
พระองค์เจ้าศรีนาคสวาดิได้ทรงรับมรดก  และทรงรับหน้าที่ของพระองค์เจ้าพลับ  คือการร้อยตาข่ายดอกไม้สดประดับฐานพระพุทธรูปพระพุทธยอดฟ้จุฬาโลก ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม  ในเวลามีงานพระราชพิธี  และร้อยพวงมาลัยประดับพระโกศพระบรมอัฐิในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๑ เป็นต้น ตลอดมา

....ส่วนพระองค์เจ้าศรีนาคสวาดินี้ นอกจากความรู้อันเป็นสามัญศึกษา ทรงชำนาญในนาฏศาสตร์  และโหราศาสตร์  ทั้งสองอย่างนี้

……พระอัธยาศัยมักท้อพระทัยในเหตุอันตราย   ทรงประชวรพระวักกะพิการมาแต่ในรัชกาลที่ ๕

.....ในรัชกาลที่ ๖ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงทราบพระปริวิตกของสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงในอาการประชวรของพระองค์เจ้าศรีนาคสวาดิมาแต่ก่อน  จึงทรงเป็นพระราชธุระรับพระองค์เจ้าศรีนาคสวาดิไปไว้ที่ตำหนักพญาไทให้ใกล้พระองค์  ทรงรักษาพยาบาลและเอาพระทัยมิให้ย่อท้อ...."

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีสุดสวาดิ์สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2456 พระชันษา 58 ปี


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 77  เมื่อ 15 พ.ค. 15, 10:41

ตำหนักพระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 78  เมื่อ 15 พ.ค. 15, 10:44

พระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา
ความจากวิกิพีเดีย สารานุรมเสรี ฯลฯ
 
พระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา มีพระนามเดิมว่า หม่อมเจ้าสาย (ลดาวัลย์) มีพระนามที่เรียกกันในครอบครัวว่า เป๋า ประสูติเมื่อวันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2406 เป็นพระธิดาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าลดาวัลย์ กรมหมื่นภูมินทรภักดี ประสูติแต่หม่อมจีน ลดาวัลย์ ณ อยุธยา (ต่อมาหม่อมจีนได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น เจ้าจอมมารดาจีน)

หม่อมเจ้าสายประทับอยู่ที่วังของพระบิดา โดยมีสมเด็จกรมพระยาสุดารัตนราชประยูร ทรงเป็นผู้อภิบาล มีพระเชษฐภคินีที่ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาจีนสองพระองค์ และได้รับราชการฝ่ายในเป็นพระอรรคชายาเธอใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พร้อมกันทั้งสามพระองค์ คือ หม่อมเจ้าบัว เมื่อเป็นพระมเหสี มีพระอิสริยยศเป็น พระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าอุบลรัตนนารีนาค ต่อมาได้ทรงกรมเป็น กรมขุนอรรควรราชกัลยา และ หม่อมเจ้าปิ๋ว เมื่อเป็นพระมเหสี มีพระอิสริยยศเป็น พระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาคย์นารีรัตน์


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 79  เมื่อ 15 พ.ค. 15, 10:46

พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ทรงมีหน้าที่ควบคุมดูแลห้องพระเครื่องต้น ของเสวยคาวหวานทั้งในพระบรมมหาราชวัง และที่พระราชวังสวนดุสิตจนสิ้นรัชกาลที่ 5 ความรู้ในด้านอาหารนี้ทรงถ่ายทอดอย่างเต็มพระทัยให้แก่หลายท่าน เช่น พระราชชายาเจ้าดารารัศมี เจ้าจอมมารดาแพ เจ้าจอมก๊กออ เจ้าจอม ม.ร.ว.สดับ ลดาวัลย์ ฯลฯ อาหารไทยหลายอย่างมีชื่อเสียงเกรียงไกรไปทั่วโลก ก็มาจากพระตำรับสูตรอาหารของพระนางตราบเท่าทุกวันนี้
 
งานกำกับควบคุมห้องพระเครื่องต้นดังกล่าว ถือเป็นงานหนักและเหนื่อยที่สุด เพราะต้องรับผิดชอบในพระราชภาระเกี่ยวกับเครื่องเสวยสำหรับพระมหากษัตริย์ ที่ทรงพิถีพิถันอย่างยิ่ง สำคัญที่สุดคือ ต้องทรงได้รับการไว้วางพระราชหฤทัย เพราะสิ่งที่มีพิษใดๆจะมีอยู่ในพระเครื่องต้นมิได้  แต่ความปลอดภัยจะต้องควบคู่ไปกับรสชาติและการจัดแต่งอย่างสวยงามด้วย

มีเรื่องเล่าว่า ครั้งหนึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเลี้ยงพระที่วัดเบญจมบพิตร แต่สำรับพระขาดไปหนึ่งที่ ทรงไม่พอพระทัยถึงกับพระราชดำเนินตรงไปที่พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏซึ่งยืนรับเสด็จอยู่ แล้วจับพระขนอง (แขน)ไปที่อาสนสงฆ์ ซึ่งพระนางทรงแก้ไขสถานการณ์โดยทรงบัญชาให้พนักงานเจ้าหน้าที่เอาชามใส่ถาดเท่าจำนวนของคาวหวานจากสำรับพระที่มีอยู่  และทรงแบ่งของคาวหวานจากสำรับพระอย่างละเล็กละน้อย ใส่ชามจัดเป็นสำรับแล้วให้ยกไปตั้งถวายพระองค์สุดท้ายได้ทันเวลา จนเรื่องนี้เป็นที่สรรเสริญถึงพระสติที่มั่นคง ทรงตัดสินพระทัยได้โดยฉับพลัน
ความจริงแล้วมิใช่ความบกพร่องในความควบคุมของห้องพระเครื่องต้นแต่อย่างใด เพราะนั่นเป็นหน้าที่ของพนักงาน “ทรงประเคน” ที่มีหน้าที่จัดของเลี้ยงพระถวาย แม้พระเจ้าอยู่หัวจะทรงเข้าพระทัยผิด พระนางก็มิได้ทรงปริพระโอษฐ์โทษพนักงานฝ่ายอื่น
 
อย่างไรก็ตามได้มีเรื่องที่ทรงได้รับการบีบคั้นพระหฤทัยเป็นอย่างยิ่ง คือครั้งที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระเมตตา ชักชวนให้ฉายพระรูปร่วมกับพระองค์ สร้างความปลื้มปีติแก่พระนางเป็นอย่างยิ่ง แต่กลับเป็นเรื่องที่ “ไม่โปรด” ของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินี พระนางจึงทรงตัดสินพระทัยถวายทั้งภาพและฟิล์มเนกาตีฟ แด่สมเด็จที่บนตามพระราชประสงค์ เพื่อให้ทรงทำลายเสีย ตัดปัญหาไม่ให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวต้องทรงหนักพระทัย นับว่าทรงเป็นผู้เสียสละ แม้จะทรงเศร้าสะเทือนพระหฤทัยเพียงใดก็ตาม


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 80  เมื่อ 15 พ.ค. 15, 10:50

พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ทรงมีพระประสูติกาลพระราชโอรสและพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทั้งหมด 4 พระองค์ เป็นพระราชโอรสเพียงพระองค์เดียวกับพระราชธิดาสามพระองค์ ทั้งหมดเดิมมีพระอิสริยยศเป็น "พระองค์เจ้า" ภายหลังได้รับพระราชทานพระอิสริยยศขึ้นเป็น "สมเด็จเจ้าฟ้า" มีดังนี้

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ายุคลฑิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศร์ เสกสมรสกับพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมเขตรมงคล มีพระโอรสสามพระองค์ ทรงเป็นต้นราชสกุลยุคล
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้านภาจรจำรัสศรี ภัทรวดีราชธิดา (พระนามเดิม: พระองค์เจ้าเขจรจำรัส สิ้นพระชนม์ก่อนได้รับสถาปนาขึ้นเป็น "สมเด็จเจ้าฟ้า"
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามาลินีนภดารา ศิรินิภาพรรณวดี กรมขุนศรีสัชนาลัยสุรกัญญา
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้านิภานภดล วิมลประภาวดี กรมขุนอู่ทองเขตขัตติยนารี

สำหรับพระราชธิดาพระองค์สุดท้องนี้ถือว่าเป็น “ลูกรัก” ที่สมเด็จพระราชบิดาทรงโปรดปรานเป็นอันมาก ทรงโปรดเกล้าฯให้รับราชการในหน้าที่ราชเลขานุการิณี และยังทรงเป็นพระราชธิดาพระองค์เดียวที่ ทรงมีพระราชหัตถเลขามาถึงในคราวที่เสด็จประพาสยุโรป จนกลายเป็นที่มาของหนังสือพระราชนิพนธ์ “ไกลบ้าน”




บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 81  เมื่อ 15 พ.ค. 15, 10:53

พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ได้ทรงเป็นผู้ตั้งโรงเลี้ยงเด็กขึ้นเป็นแห่งแรกในประเทศไทย บริเวณสวนมะลิ ถนนบำรุงเมือง เพื่ออุทิศพระกุศลประทานพระราชธิดาพระองค์ใหญ่ที่สิ้นพระชนม์ไปตั้งแต่ทรงพระเยาว์ โดยทรงรับเด็กกำพร้าและเด็กยากจนมาอุปการะให้ความรู้ การศึกษาและยังฝึกอาชีพให้ทั้งหญิงชาย และทรงเป็นองค์อุปนายิกาสภาอุณาโลมแดง (สภากาชาดไทย) ในสมัยหนึ่งอีกด้วย

ทรงประชวรด้วยพระโรคเนื้อร้ายในช่องพระโอษฐ์ สิ้นพระชนม์ ณ พระตำหนักในสวนสุนันทา พระราชวังดุสิต ในปีพ.ศ.2472  พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระโกศกุดั่นน้อยทรงพระศพ และทรงมีพระมหากรุณาโปรดเกล้าเฉลิมพระนามและเลื่อนกรม เป็น พระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา ได้รับพระราชทานพระโกศทองใหญ่ ซึ่งเป็นพระโกศชั้นสูงสุด สำหรับทรงพระบรมศพพระมหากษัตริย์และสมเด็จพระอัครมเหสี ในวันออกพระเมรุพระราชทานเพลิงพระศพ เป็นพระเกียรติแด่พระวิมาดาเธอผู้ทรงเป็นผู้หญิงที่มีน้ำพระทัยกว้างขวาง เผื่อแผ่พระเมตตา ผูกมิตรและช่วยเหลือผู้ที่ด้อยกว่า และอ่อนน้อมต่อผู้ที่เหนือกว่า เป็นที่รักของผู้คนทั้งในราชสำนักและภายนอกทั่วไป
 
(วิมาดา แปลว่าแม่เลี้ยง(ในรัชกาลที่ 7) พระองค์เป็นเจ้านายพระองค์เดียวที่ได้รับการสถาปนาไว้ในพระอิสริยศักดิ์นี้อย่างเป็นทางการ ส่วนสร้อยพระนาม ปิยมหาราชปดิวรัดา นั้น คำว่า "ปดิวรัดา" (อ่านว่า ปะดิวะรัดดา) แปลว่า ภริยาที่ซื่อสัตย์และภักดีของสมเด็จพระปิยมหาราชนั่นเอง)


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 82  เมื่อ 16 พ.ค. 15, 07:16

ภาพตำหนักเจ้านายฝ่ายในทางวังหลวงผมมีเท่าที่เห็นครับ แต่ยังเหลืออีกสองสามองค์ ซึ่งเป็นของเจ้านายวังหน้าซึ่งเสด็จมาประทับรวมกับฝ่ายวังหลวง จะทยอยนำลงให้จบ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 83  เมื่อ 16 พ.ค. 15, 07:20

เมื่อกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญทิวงคตในปีพ.ศ. ๒๔๒๙ นั้น  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงสถาปนา สมเด็จพระโอรสาธิราช เป็นมงกุฎราชกุมาร อย่างสมเด็จหน่อพระพุทธเจ้าตามราชประเพณีเดิม  จึงประกาศพระราชกฤษฎีกา เลิกตำแหน่งพระมหาอุปราชฝ่ายหน้าแต่นั้นมา 

ส่วนพระราชวังบวรสถานมงคลนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริจะไม่ให้เป็นที่ร้าง  จึงโปรดฯให้จัดที่ในเขตวังชั้นนอกมาเป็นโรงทหารรักษาพระองค์ โดยให้ทหารบกวังหน้ามาสมทบอยู่ในกรมนั้น  วังชั้นกลางโปรดฯให้จัดพิพิธภัณฑ์สถานที่พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ และพระที่นั่งศิวโมกขพิมาน  ส่วนชั้นในยังมีเจ้านายสตรี ทั้งพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว  และพระราชธิดากรมพระราชวังบวรวิไชยชาญเสด็จอยู่ด้วยกันมาก  จึงโปรดฯให้คงจัดรักษาเป็นพระราชวัง  ให้มีเจ้าพนักงานรักษาหน้าที่อยู่อย่างเดิม  ทรงมอบหมายการปกครองให้พระองค์เจ้าดวงประภา พระราชธิดาพระองค์ใหญ่ของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว  ทรงสำเร็จราชการฝ่ายในทั่วไป  และโปรดฯให้เสด็จขึ้นมาประทับอยู่ที่พระที่นั่งสาโรชรัตนประพาส (ปัจจุบันรื้อลงแล้ว)

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระอุตสาหเสด็จขึ้นไปเยี่ยมเยียนเจ้านายวังหน้าเนืองๆ  ด้วยพระองค์ทรงเคารพนับถือในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวมาก  ทรงอุปการะแก่พระราชโอรสพระราชธิดามาทุกพระองค์  ถึงลูกเธอในกรมพระราชวังบบวรวิไชยชาญซึ่งยังทรงพระเยาว์อยู่โดยมากนั้น  ก็ทรงจัดให้เล่าเรียน และเป็นพระราชธุระทำนุบำรุงต่อมา  ที่เป็นพระองค์ชายเมื่อทรงพระเจริญขึ้นได้มีตำแหน่งรับราชการแทบทุกพระองค์ 

เมื่อพระองค์เจ้าดวงประภาสิ้นพระชนม์  โปรดฯให้พระองค์เจ้าสุดาสวรรค์ พระเจ้าลูกยาเธอในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวรองลงมา  ทรงสำเร็จราชการฝ่ายในวังหน้าต่อมา  เหมือนอย่างพระองค์เจ้าดวงประภา  และโปรดฯให้พระองค์เจ้าวงจันทร์ พระเจ้าน้องนางร่วมพระชนนีกับกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญเสด็จขึ้นมาประทับที่พระที่นั่งบวรบริวัตรมาจนตลอดรัชกาลที่ ๕


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 84  เมื่อ 16 พ.ค. 15, 07:29

พระราชโอรส-ธิดา ในกรมพระราชวังบวรฯ เดิมใช้คำนำหน้าพระนามว่า พระเจ้าบวรราชวงศ์เธอ และ พระบวรราชวงศ์เธอ  ครั้นถึงรัชกาลที่ ๖ ทรงมีพระบรมราชโอการ โปรดเกล้าให้เปลี่ยนกำหนดกฎเกณฑ์  โดยพระราชโอรส-ธิดาวังหน้านั้น ตั้งแต่ในรัชกาลที่ ๑ ถึงรัชกาลที่ ๔  ใช้คำนำหน้าพระนามว่า  พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ  พระราชโอรส-ธิดาวังหน้าในรัชกาลที่ ๕ ใช้คำนำหน้าว่าพระราชวรวงศ์เธอ ไม่มีคำว่า “เจ้า”  
ส่วนพระราชโอรส-ธิดาวังหลวง  ตั้งแต่รัชกาลที่ ๑-๕ ในเจ้าจอมมารดา  ใช้คำนำหน้าพระนามว่า พระเจ้าบรมวงศ์เธอ  

เมื่อพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุดาสวรรค์สิ้นพระชนม์  พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าให้พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวงจันทร์ทรงสำเร็จราชการฝ่ายในวังหน้าแทนพระองค์เจ้าสุดาสวรรค์ต่อมา  จนปีขาล พ.ศ. ๒๔๕๙  พระองค์เจ้าวงจันทร์สิ้นพระชนม์  เจ้านายข้างในยังเหลืออยู่น้อยพระองค์  สมัครจะเสด็จไปอยู่ในพระบรมมหาราชวัง  จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้เจ้านายฝ่ายในพระราชวังบวรฯเสด็จมาสมทบอยูในพระราชวังหลวง
  
หลังสงครามโลก เจ้านายฝ่ายในกลุ่มสุดท้าย ที่หม่อมทวีวงศ์ถวัลยศักดิ์ ไปทูลเชิญให้ย้ายออกมาประทับภายนอกเพื่อซ่อมแซมพระตำหนักครั้งใหญ่ คือพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเหมวดี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ โปรดเกล้าให้สำนักงานพระคลังข้างที่จัดสร้างวังราชทัต ให้เพื่อเป็นที่พระทับตั้งอยู่ที่ซอยมหาดเล็กหลวง ถ.ราชดำริ  
อีกท่านหนึ่ง คือเจ้าจอม ม.ร.ว. สดับ (ลดาวัลย์)ในรัชกาลที่ ๕ ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ได้ไปพำนักที่ทับสุข วัดเขาบางทราย จังหวัดชลบุรี หลังสงครามลูกหลานต่างแยกย้ายมาเรียนในกรุงเทพ เจ้าจอมม.ร.ว.สดับจึงขอให้ ม.ร.ว.แสงสูรย์ ลดาวัลย์ ทำหนังสือกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขอกลับไปพำนักในเรือนของท่านในพระบรมมหาราชวังตามเดิม มีหลานๆธิดา ม.ร.ว. สนั่น ลดาวัลย์ ไปอยู่ช่วยดูแล ช่วงระยะที่ยังแข็งแรง ท่านจะมาสวดมนต์ที่วัดพระแก้วทุกวันพระ จนถึงแก่อสัญกรรมเมิออายุ 93 ปี


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 85  เมื่อ 16 พ.ค. 15, 08:53

ตำหนักพระองค์เจ้าเฉิดโฉม


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 86  เมื่อ 16 พ.ค. 15, 08:58

พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉิดโฉม   
ความจากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี Nicky Nick ม.ร.ว.เบญจาภา (จักรพันธุ์)ไกรฤกษ์ ฯลฯ

พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงเฉิดโฉม ทรงเป็นพระธิดาองค์ที่ ๔๗ ในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติเมื่อวันเสาร์ที่ 12 เมษายน พ.ศ.2399 แต่เจ้าจอมมารดาสีดา ธิดาของน้องนายกองขุนราม ชาวลาวเมืองเวียงจันทน์ ซึ่งได้ถวายตัวเป็นข้าบาทบริจาริกาในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงใฝ่พระทัยในวิชาการความรู้สาขาต่างๆอยู่มาก ฉะนั้นการศึกษาของพระราชโอรสพระราชธิดาก็คงจะได้ถูกสร้างพื้นฐานไว้อย่างดี พระองค์เฉิดโฉมทรงศึกษาภาษาอังกฤษจนอ่านและเขียนได้ จากนางสุวรรณ วิภาชน์วิทยาสิทธิ และยังทรงรอบรู้ทางโหราศาสตร์ นาฏศิลป์
และเพราะวังหน้าไม่ห้ามผู้หญิงฝรั่งเข้าวัง ท่านจึงได้ติดต่อกับแหม่มโคล์วังหลัง และมาดามแมคฟาร์แลนด์ (นางอาจวิทยาคม) หนังสือ Western Women in Eastern Lands แต่งโดย Helen Barrett Montgomerry ได้เล่าว่าพระองค์เจ้าหญิงเฉิดโฉม ได้ทรงใช้ตำหนักในพระบวรราชวังเป็นที่พบปะสังสรรค์กับบรรดาภรรยาขุนนางและผู้หญิงฝรั่งเป็นทำนองสโมสรสตรี

เรื่องการคบค้ากับผู้หญิงฝรั่งนี้ทำให้ทรงเป็นคนทันสมัย รู้เหตุการณ์บ้านเมือง  รู้ถึงการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมและสังคม เป็นอย่างดี

เหตุการณ์ในบั้นปลายของพระชนมชีพ มีบันทึกอย่างละเอียดในหนังสือ แลวัง หลังตำหนัก โดย ม.ร.ว.เบญจาภา (จักรพันธุ์) ไกรฤกษ์ เล่าว่าในขณะนั้นคุณเพ็ญพักตร์ ไกรฤกษ์พี่สาวคุณพูนเพิ่ม ไกรฤกษ์ มีตำแหน่งเป็นผู้ช่วยหัวหน้าตึกปัญจมราชินีอยู่ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

ที่ตึกนั้นมีเจ้านายฝ่ายในมาประชวรอยู่พระองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่าพระองค์เจ้าหญิงเฉิดโฉม  พระราชธิดาองค์ที่ 47 ในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ซึ่งอยู่ในระหว่างเสด็จนิวัติพระนคร ได้ทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทว่าพระองค์เจ้าเฉิดโฉมทรงประชวรอยู่ที่พระตำหนัก จึงมีพระราชประสงค์จะให้ทรงได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากแพทย์ จึงให้เสด็จออกจากพระบรมมหาราชวังไปเข้ารับการรักษาพยาบาลอยู่ที่ตึกปัญจมราชินี
ผู้ที่ได้รับมอบหมายให้ถวายการพยาบาลประจำพระองค์เจ้าเฉิดโฉมคือ คุณนิภา ตะละภัฎ
ในราวปลายเดือนเมษายน  พระองค์เจ้าเฉิดโฉมทรงมีเรื่องแปลกๆ มาเล่าให้คุณนิภาฟัง  ครั้งแรกทรงพระสุบินว่า“พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จมา  และทรงแจ้งเหตุร้ายว่าในหลวงจะถูกปองร้าย  ทั้งได้รับพระราชทานคาถาให้แก่พระองค์เจ้าเฉิดโฉมคาถาหนึ่งเพื่อนำไปทูลเกล้าถวายในหลวง โดยทรงย้ำว่าขอให้ถวายกับระองค์โดยไม่ผ่านผู้ใด”

พระองค์เจ้าเฉิดโฉมจึงทรงขอร้องคุณนิภาให้นำความไปกราบทูลแก่สมเด็จพระราชชนนีให้ทรงทราบซึ่งคุณนิภาปฏิเสธ

ต่อมาในปลายเดือนพฤษภาคม  พระองค์เจ้าเฉิดโฉมทรงพระสุบินอีกเป็นครั้งที่สอง คราวนี้พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จมาทรงเขกพระเศียร  แล้วกริ้วว่า “ของแค่นี้ทำไม่ได้”

เมื่อบรรทมตื่นขึ้นมาจึงขอร้องคุณนิภาอีกให้หาทางเล่าเรื่องต่อไปให้ทรงทราบถึงพระกรรณในหลวงให้จงได้  ซึ่งคุณนิภาออกจะลำบากใจ เพราะพระองค์เจ้าเฉิดโฉมอาจจะทรงฟั่นเฟือนไปด้วยวัยอันแก่ชราก็เป็นได้

และแล้วหนึ่งวันก่อนสวรรคต  พระองค์เจ้าเฉิดโฉมก็ทรงรบเร้าคุณนิภาให้ไปเชิญพระยาอนุรักษ์ราชมณเฑียรมาเฝ้า  คราวนี้คุณนิภาเห็นว่าพอจะทำได้จึงปฏิบัติตาม  ท่านเจ้าคุณฯก็มาเฝ้าจริงๆ เสียด้วย  พระองค์เจ้าเฉิดโฉมจึงทรงมอบคาถาดังกล่าวให้ท่านเจ้าคุณฯ ไปเพื่อฝากทูลเกล้าฯ ถวายโดยเน้นว่า “คาถานี้ใช้ได้แต่กับในหลวงพระองค์เดียวหากผู้อื่นนำไปใช้ก็จะไม่เกิดประโยชน์อันใด”

ซึ่งท่านเจ้าคุณอนุรักษ์ก็ได้รับคาถานั้นมาหากเก็บไว้เองโดยมิได้ทูลเกล้าฯ ถวายแต่อย่างใด
แล้วในเวลาเช้าตรู่ของวันเกิดเหตุที่ 9 มิถุนายน พระองค์เจ้าเฉิดโฉมได้ทรงพระหมดสติไปชั่วครู่  เมื่อทรงฟื้นขึ้นมาก็ทรงร้องเอะอะโวยวาย บอกคุณนิภาว่าให้ช่วยด้วยเพราะเกิดเหตุใหญ่ขึ้นในพระบรมมหาราชวังแล้ว  ทรงเห็นแมลงวันไฟบินว่อนอยู่เต็มพระราชวังไปหมดเป็นที่น่ากลัว  จนเวลาสายของวันเดียวกันนั้นเองที่ทางโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ก็ได้รับแจ้งข่าวการสวรรคต  ทั้งยังขอให้ส่งคณะแพทย์ไปทำการเย็บแผลแต่งพระบรมศพอีกด้วย

สองวันต่อมาพระองค์เจ้าเฉิดโฉมก็สิ้นพระชนม์ตามเสด็จในหลวงไปในที่สุด  โดยมิได้ทรงล่วงรู้เลยว่าในหลวงได้เสด็จสวรรคตไปเสียก่อนแล้ว
คุณเพ็ญพักตร์ได้เป็นผู้เชิญพระศพของพระองค์เจ้าเฉิดโฉมจากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์กลับเข้าสู่พระบรมมหาราชวัง โดยพระศพของพระองค์เจ้าเฉิดโฉมถูกตั้งไว้ที่ตำหนักทรงธรรมที่อยู่ไม่ไกลจากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ซึ่งใช้ประดิษฐานพระบรมโกศของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเท่าใดนัก

พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉิดโฉม มีพระชนมายุยืนยาวยิ่งกว่าเจ้านายวังหน้าทุกพระองค์  สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ 9 เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ.2489  พระชันษา 90 ปี     

เรื่องเล่าชาววังมีอีกว่า ขณะทรงประชวรอยู่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์  พวกที่ยังคงพักอาศัยอยู่ในวังหลวงเล่ากันว่า  ก่อนท่านสิ้นพระชนม์สักสี่ห้าวัน  ที่หอไว้พระอัฐิมีเสียงรื้อเสียงลากอะไรบางอย่าง ดังเกือบตลอดคืน ว่ากันว่า หากเจ้านายพระองค์ใดจะสิ้นพระชนม์  มักจะมีลางบอกให้พวกชาววังรู้  คือมีเสียงลากเสียงรื้อในหอไว้พระอัฐิ  คล้ายกับจัดที่ทางเตรียมไว้สำหรับท่านที่จะเสด็จมาอยู่ใหม่ แล้้วก็เกิดเหตุนั้นขึ้นจริงๆถึงสองพระองค์
 
เรื่องราวที่พระองค์เจ้าเฉิดโฉมทรงพยายามที่จะกราบบังคมทูลเตือนเหตุร้ายและถวายคาถาต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้นได้รับการโจษจันกันเป็นอย่างมากในหมู่พยาบาลจุฬาฯจนเป็นที่เพ่งเล็งของรัฐบาล  ทำให้ปรากฏมีตำรวจสันติบาลมานั่งเฝ้าอยู่ที่ตึกปัญจมหาราชินี โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์อยู่พักใหญ่ เท่ากับเป็นการปรามให้หยุดโจษจันกันเสียที  บรรยากาศของประเทศไทยในขณะนั้นเต็มไปด้วยความเศร้าหมอง
       


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 87  เมื่อ 16 พ.ค. 15, 09:00

ถือว่าตรงนี้เป็นของแถมก็แล้วกันนะครับ

สมัยก่อนสงคราม คนไทยติดนวนิยายเรื่องหนึ่งอย่างงอมแงมทั้งเมือง บางคนถึงกับไปเฝ้าโรงพิมพ์ในวันที่นิตยสารจะออกวางจำหน่าย ส่งผลให้โชติ แพร่พันธุ์เจ้าของนามปากกา ยาขอบ กลายเป็นนักเขียนผู้ยิ่งใหญ่อมตะคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ เรื่องนั้นคือ ผู้ชนะสิบทิศ พิมพ์รวมเล่มไม่รู้จะกี่ครั้งต่อกี่ครั้ง ยุคต่อมาถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์และละครโทรทัศน์ไม่น้อยกว่า ๗ คราว

ผู้ชนะสิบทิศมีพระเอกชื่อจะเด็ด เจ้าของวลี "ข้าพเจ้ารักจันทราด้วยใจภักดิ์ แต่รักกุสุมาด้วยใจปอง"
ยาขอบเขียนเล่าว่า ผู้แต่งเป็นแค่ส่วนประกอบ เพราะเมื่อแต่งให้ตัวละครเปลี่ยนทิศทาง ผู้อ่านบอกว่าจะไม่อ่าน จะด่า บางท่านมาที่สำนักพิมพ์ อย่างตอนที่กุสุมาเสียตัว โทรไปถล่มสายแทบไหม้ นั่งรถรางไปด่าถึงที่ก็มี จนผู้แต่งต้องแต่งตามใจผู้อ่าน

ไม่เช่นนั้นกุสุมา คงได้แต่งพร้อมจันทราไปแล้ว กลายเป็นต้องเปลี่ยน ไปคล้ายประวัติศาสตร์ตรงที่ไม่ได้แต่งพร้อมกัน แบบโดยไม่ตั้งใจ

เบื้องหลังคำอธิบายนั้น คือพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉิดโฉม ผู้ทรงบันดาลให้กุสุมาไม่ได้แต่งงาน



บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 88  เมื่อ 16 พ.ค. 15, 09:07

ตามเรื่องเดิมนั้น  “ยาขอบ” กำหนดให้จะเด็ดแต่งงานกับตละแม่จันทราและตละแม่กุสุมาพร้อมกันที่เดียวสองคน เมื่อเรื่องทำท่าจะเป็นเช่นนั้น ก็บังเกิดมีผู้อ่านท่านหนึ่งเดือดร้อนเป็นที่สุด  ถึงกับไปพบ “ยาขอบ” ที่สำนักงาน

เรื่องนี้ คุณเพ็ญชมพูเคยค้นหามาลงไว้ว่า

“ยาขอบ” ผู้ประพันธ์ เล่าไว้ในข้อเขียนเรื่อง เหตุที่กุสุมาไม่ได้แต่งงาน (นิตยสารรายปักษ์ โบว์แดง ฉบับ ๒๖ วันที่ ๑๖ ก.พ. ๒๔๙๐) ว่า

ในการเขียนผู้ชนะสิบทิศนั้น ขอเรียกตามความนึกคิดของข้าพเจ้าว่า พยายามเขียนให้บ้าที่สุดที่จะบ้าได้ พฤติการณ์ของตัวละครทุกตัวในเรื่อง ถ้ามีโอกาสมักจะถูกบังคับให้ทำ ในสิ่งที่มนุษย์ธรรมดาสามัญเขาไม่ค่อยทำ เช่น ให้นางเอกถูกข่มขืนเสียบ้าง พ่อเจ็บใจถึงกับแทงลูกเสีย ตายกับมือตนเองบ้าง ฯลฯ

และการดึงเอากุสุมาคนเดียวโดด ๆ มาแต่งงานพร้อมกัน ในท่ามกลางประยูรญาติของจันทราแต่ฝ่ายเดียวทั้งสิ้นนี้ ก็เป็นความบ้าชนิดที่ข้าพเจ้าเชื่อว่าคงไม่มีผู้ชายใดกระทำ ดังนั้น ข้าพเจ้าจึงให้จะเด็ดทำ

ฝ่ายหมอจะเด็ดนั่นก็ไม่เลว ตะล่อมทางโน้นตะล่อมทางนี้ ด้วยความคิดและอุบายอันแยบยล

จนกระทั่งจันทราก็ดี หรือพระเจ้าตะเบงชะเวตี้ ผู้ยิ่งใหญ่ น้องชายจันทราก็ดี ก็ยังเห็นชอบด้วยกัน ที่จะเด็ดจะเอาผู้หญิงอื่น (ซึ่งมีราคีถูกสอพินยาฉุดเอาไปเป็นเมียที่เมืองแปร) มาเข้าพิธีเทียมบารมีพระพี่นางของตนเอง

ยาขอบอธิบายว่า การแต่งงานพร้อมกันนี้ ย่อมเป็นเครื่องเน้นลักษณะนิสัย ให้จันทราเป็นยอดหญิงหรือนางแก้ว ซึ่งเปี่ยมไปด้วยเมตตาจิตและการแผ่พระคุณ ทั้งพยายามที่สุดที่จะเพิ่มความสุขใจให้คนรัก

เรื่องราวตอนนี้ ยาขอบคิดว่า ได้สร้างปราสาทที่งดงามได้สัดส่วนขึ้นหลังหนึ่ง จนเมื่อมีเหตุให้ต้องรื้อปราสาทหลังนี้เสีย จึงอกสั่นขวัญหายเป็นอย่างยิ่ง เมื่อถูกยื่นคำขาดว่า “พ่อยาขอบ จะเขียนอย่างนั้นไม่ได้เป็นอันขาด”

ในบ่ายของวันที่ผู้ชนะสิบทิศกำลังอยู่ในตอนที่จะเด็ดกำลังจะเข้าพิธีอุปภิเษกพร้อมด้วยสองนาง...บังตาห้องที่ยาขอบทำงาน ก็ถูกเปิดออก มีเสียงถามหา ...อาคันตุกะ เจ้าของเสียงเป็นหญิงร่างใหญ่วัยเกือบ ๗๐ ท่วงทีสง่า ผมตัด แต่งกายเรียบแต่สะอาดภาคภูมิสวมเสื้อขาวเกลี้ยง ๆ แบบผู้ใหญ่ เมื่อเดินเข้ามา ก็ควงพัดด้ามจิ๋วในมือเล่น มีคนเลื่อนเก้าอี้ให้นั่ง

“ไม่ต้องย่ะ สมัยหลีปับลิกผู้หญิงก็ยืนได้”

ข้าพเจ้าได้ยิน คำหลีปับลิก ก็วาบในหัวใจ นี่ใครหนอ มองไปที่คอเสื้อ เห็นเข็มทองคำลงยาขนาดใหญ่ ทำเป็นลายเซ็นด้วยตัวหนังสือเอน ๆ ยาวราวสักสี่นิ้ว “พระปิ่นเกล้า” เข้าด้วย ก็รู้สึกว่ายากที่จะพูดจา จะเป็นเจ้าหรือเป็นคนสามัญก็ไม่รู้

ก็พอดีอาคันตุกะเขยิบใกล้เข้ามาอีก “พ่อเอ๊ย ฉันนี่คราวย่าเห็นจะได้ละกระมัง” ว่าแล้วก็ลูบหัวข้าพเจ้าเอาดื้อๆ ยาขอบอยู่ในอาการละล้าละลัง ตั้งตัวไม่ถูกจนพี่สาวคุณกุหลาบ สายประดิษฐ์มาบอกว่า

“พระองค์เฉิดโฉมนี่แหละ ตัวทศกัณฐ์ชั้นอาจารย์ละ”

ทูลว่า รู้แล้วว่าพระองค์ท่านเป็นใคร “เป็นใคร เป็นอะไรไม่สำคัญดอก เป็นคนเหมือนกัน สำคัญอยู่ที่กรรมชั่วและกรรมดี ” ท่านรับสั่ง แล้วก็บอกจุดประสงค์ว่า “ที่ฉันมานี่ เพราะอยากตักเตือนพ่อยาขอบให้ทำแต่กรรมดี”

“ไม่มีใครเขาจะพิเรนทร์หรอกพ่อเอ๋ย จะได้เอาผู้หญิงที่ถูกฉุดคร่าจนเสียเนื้อเสียตัวไปเข้ามาสู่พิธีแต่งงานเชิดหน้าชูตา พร้อมผู้หญิงที่เป็นพรหมจารี และดีอย่างเหลือแสนอย่างตะละแม่จันทรา”

ยาขอบจึงรู้ในบัดนั้น “กรรมชั่ว” ของเขา เกิดจากการเขียนเรื่องให้เอากุสุมาเข้าพิธีอุปภิเษกพร้อมกับจันทรานั่นเอง

ทูลไปว่า จะแก้ไขให้เป็นอื่นคงไม่ได้ เสด็จพระองค์หญิงผู้ชราหงุดหงิดพระทัย สุดท้ายก็ยื่นไม้ตาย “เอ้า ใครผิดใครถูก ไม่ต้องพูดกัน เอาแต่เพียงพ่อเปลี่ยนตามใจฉัน นึกว่าทำบุญให้คนแก่ตายสบายใจได้ไหม”

ข้าพเจ้างงงันเหมือนโดนทุบหัว อีกใจหนึ่งก็เศร้านัก เมื่อคิดว่า โอ้ปราสาทหลังงามของเราเอ๋ย ยาขอบรำพัน หลังการรับปากว่าจะเปลี่ยนถวาย ตามที่ประสงค์

กว่าจะดึงเอากุสุมามาแต่งงานกับจันทราได้ ก็ได้ผูกโยงเหตุผลแวดล้อมเสียแน่นหนา จนเป็นเงื่อนตาย ปัญหาก็คือ จะแก้เรื่องไม่ให้เสียรูปรส...แบบไหนดี

ตัวละครสำคัญ และมีน้ำหนักจะห้ามปรามจะเด็ด เช่นตัวตะละแม่จันทรา พระเจ้าตะเบงชะเวตี้ หรือมังสินธูมหาเถรอาจารย์ ก็เอามาสนับสนุนข้างให้จะเด็ดแต่งงานพร้อมกันเสียแล้ว พวกนี้จะกลับความคิดข้างไม่ยอมขึ้นมา ก็บ้าเต็มทน จึงต้องหาตัวใหม่ ใครหนอ ที่จะมีความสำคัญและมีน้ำหนักพอ ข้าพเจ้าพบพระนมเลาชี มารดาของจะเด็ดเอง

ตามเรื่องที่ผ่านมาแล้ว แม้จะกล่าวถึงแม่เลาชีว่าเป็นคนซื่อทรงสัตย์ ทรงธรรม และภักดีในราชวงศ์ตองอูเต็มเปี่ยม แต่ก็ไม่มีพฤติกรรมอันใด ที่จะชูลักษณะนิสัยของแม่เลาชี ในข้อที่ว่านี้ได้เด่นชัดออกมาสักคราวเดียว

แม่เลาชีมีบทบาทน้อยเหลือเกินในผู้ชนะสิบทิศที่แล้วมา

ยาขอบเริ่มคิดได้ ครั้งนี้จะให้แม่เลาชีแสดงบทบาทให้เด่นชัด “ข้าพเจ้าวางแผนให้ตัวละครตัวนี้เข้าขัดขวางจะเด็ด”

ดังนั้น ปราสาทเก่าก็หายวับไป แต่มิใช่การรื้อทำลาย หากด้วยการสร้างอันใหม่ ครอบลงไปบนอันเก่า
บทบาทของแม่เลาชีที่ออกมาห้ามโดยขู่ว่า หากตละแม่กุสุมานั่งเสมอกับตละแม่จันทราเมื่อใด นางก็จะผูกคอตายเมื่อนั้นตอนนี้ ทำให้ข้าพเจ้าได้รับจดหมายจากผู้อ่านนับเป็นจำนวนร้อย ยินดีปรีดากับพฤติการณ์อันเป็นผู้มีใจซื่อถือธรรมของพระนมผู้เฒ่า บ้างก็บอกว่าถึงกับน้ำตาคลอเพราะตื้นตันใจ

แม่นมเลาชีมีชีวิตชีวาขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง

ยาขอบเขียนเรื่อง เหตุที่กุสุมาไม่ได้แต่งงาน ไว้ในวันที่ ๒๒ ธันวาคม ๒๔๘๙ ในวันที่ได้ยินวิทยุประกาศกำหนดวันพระราชทานเพลิง เสด็จพระองค์เฉิดโฉม ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส

“ในฐานผู้น้อยด้อยศักดิ์ ข้าพเจ้าย่อมหมดโอกาสที่จะไปสักการะพระศพด้วยดอกไม้ธูปเทียน แต่นักประพันธ์เล็กคนหนึ่ง ไม่เคยลืม ความปรารถนาดีที่ใครๆเคยมีต่อมันเลย จึงขอสักการะพระศพด้วยปากกา ซึ่งไหลออกมาเป็นข้อเขียนชิ้นนี้ แทนดอกไม้ธูปเทียน”


บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 89  เมื่อ 16 พ.ค. 15, 09:14

^
http://www.reurnthai.com/index.php?topic=5218.msg108511#msg108511  ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 4 5 [6] 7 8 ... 11
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.071 วินาที กับ 20 คำสั่ง