เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 2 3 [4] 5 6 ... 11
  พิมพ์  
อ่าน: 86463 ภาพพระตำหนัก ตำหนัก ในเขตพระราชฐานชั้นใน
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 45  เมื่อ 11 พ.ค. 15, 08:00

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเหมวดี
ความจากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี และ น.พ.พูนพิศ อมาตยกุล ฯลฯ

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเหมวดี ประสูติวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2435 เป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับเจ้าจอมมารดาเหม เดิมพระองค์ทรงพระนามว่า พระองค์เจ้ามัณฑนาภาวดี

เจ้าจอมมารดาเหม เป็นบุตรีคนโตของพระยาธรรมสารนิติวิชิตภักดี (พลับ อมาตยกุล) และท่านขรัวยายแสง เกิดที่บ้านหน้าวัดราชบูรณะ(วัดเลียบ)ในสมัยรัชกาลที่ ๔ เมื่อเล็กได้เรียนหนังสือที่บ้านจนอ่านออกเขียนได้ดี ในบ้านของท่านมีวงเครื่องสายเล่นอยู่เป็นประจำ จึงคุ้นเคยกับดนตรีและการขับร้องมาแต่ยังเยาว์ เมื่ออายุได้ ๑๒ ปี บิดาได้นำไปฝากให้อยู่ในความดูแลของท้าวทรงกันดาล (วรรณ อมาตยกุล) ผู้เป็นอาแท้ ๆ และเป็นผู้บังคับการพระคลังฝ่ายในอยู่ในพระบรมมหาราชวัง พร้อมด้วยน้องสาวของท่านชื่อประคอง ได้เรียนวิชาที่กุลสตรีสมัยนั้นนิยม คือ การช่างการฝีมือ และการขับร้อง จนสามารถร้องเพลงกับมโหรีโบราณได้โดยตลอด โดยร้องเป็นต้นเสียงได้ดีเพราะแม่น รวมทั้งเรียนวิชาหมอนวดและปรุงน้ำอบไทย

ต่อมาได้ถวายตัวเป็นข้าราชการฝ่ายใน และได้เป็นเจ้าจอมในรัชกาลที่ 5 เมื่ออายุ 14 ปี  เจ้าจอมมารดาเหมก็มีพระองค์เจ้าชายประสูติองค์หนึ่ง แต่สิ้นพระชนม์ก่อนครบกำหนด แล้วจึงประสูติพระองค์เจ้าหญิงอีกพระองค์หนึ่งตามมา ทรงพระนามว่า พระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้ามัณฑนาภาวดี ต่อมาขณะพระชันษาได้ 6 ปี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เปลี่ยนพระนามใหม่เป็น พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าเหมวดี  เมื่อพระองค์เจ้าประสูติแล้ว หน้าที่พนักงานมโหรีของเจ้าจอมมารดาเหมก็จบลงเพราะต้องเลี้ยงพระราชธิดา
 
ระหว่างพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินประพาสยุโรปครั้งที่ ๒ ท่านป่วยเป็นมะเร็งที่เต้านม และยอมให้แพทย์ฝรั่งทำการผ่าตัดอย่างกล้าหาญ นับเป็นสตรีไทยคนแรกที่ได้รับการรักษามะเร็งที่เจ้านมเป็นผลสำเร็จ รอดชีวิตมาได้อีก ๒๕ ปี เจ้าจอมมารดาเหมถึงแก่กรรม เมื่อวันที่ ๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๔ รวมอายุได้ ๖๗ ปีเต็ม

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเหมวดี สิ้นพระชนม์วันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2515 ด้วยพระโรคพระวักกะพิการ พระชันษา 80 ปี พระองค์ทรงเคยประทับที่วังราชทัต ปัจจุบันคือบริเวณหลังโรงแรมโฟร์ซีซัน ถนนราชดำริ กรุงเทพมหานคร


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 46  เมื่อ 11 พ.ค. 15, 08:49

บังเอิญเพิ่งจะเห็นครับ ถ้าเห็นแต่แรกก็คงไม่ต้องทำงานหนักเช่นนี้

http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B9%80%E0%B8%82%E0%B8%95%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%8A%E0%B8%90%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%8A%E0%B8%B1%E0%B9%89%E0%B8%99%E0%B9%83%E0%B8%99_(%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%9A%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%A1%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%8A%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%87)
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 47  เมื่อ 11 พ.ค. 15, 14:28

ตำหนักพระองค์เจ้าพระองค์เจ้าแขไขดวง


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 48  เมื่อ 11 พ.ค. 15, 14:31

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าแขไขดวง
ความจากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี  ฯลฯ

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าแขไขดวง ประสูติวันจันทร์ที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2406 เป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระเจ้าลูกเธอพระองค์ที่ 8 ใน 10 พระองค์ของเจ้าจอมมารดาเที่ยง (สกุลเดิม โรจนดิศ)

เจ้าจอมมารดาเที่ยง เกิดเมื่อ พ.ศ. 2374 เป็นธิดาคนโตของ พระยาอัพภันตริกามาตย์ (ดิศ โรจนดิศ) และขรัวยายคล้าย มีน้องสาวที่เข้าถวายตัวเป็นเจ้าจอมในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวด้วยกัน คือ เจ้าจอมมารดาชุ่ม และ เจ้าจอมมารดาทับทิม (ธิดาขรัวยายอิ่ม) และเจ้าจอมมารดาแส (ธิดาขรัวยายบาง) เจ้าจอมในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดปรานและไว้วางพระราชหฤทัยยกย่องเป็นพระสนมผู้ใหญ่ โปรดเกล้าฯให้บัญชาการห้องพระเครื่องต้น เจ้าจอมมารดาเที่ยงให้พระประสูติการพระราชโอรส พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถึง 10 พระองค์ คือ

พระองค์เจ้าหญิงโสมาวดี (พ.ศ. 2395-2474) พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมาวดี ศรีรัตนราชธิดา กรมหลวงสมรรัตนสิริเชษฐ์
พระองค์เจ้าชายเสวตรวรลาภ (พ.ศ. 2399-2402) พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเสวตรวรลาภ
พระองค์เจ้าหญิงศรีนาคสวาดิ (พ.ศ. 2398-2456) พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีนาคสวาดิ
พระองค์เจ้าชายกมลาสน์เลอสรรค์ (พ.ศ. 2399-2474) พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากมลาสเลอสรรค์ กรมหมื่นราชศักดิ์สโมสร
พระองค์เจ้าหญิงกนกวรรณเลขา (พ.ศ. 2400-2461) พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากนกวรรณเลขา
พระองค์เจ้าหญิง (ประสูติเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2402 สิ้นพระชนม์เมื่อมีพระชันษาได้ 8 วัน)
พระองค์เจ้าชายไชยานุชิต (พ.ศ. 2404-2478) พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าไชยานุชิต กรมหมื่นพงศาดิศรมหิป
พระองค์เจ้าหญิงแขไขดวง (พ.ศ. 2406-2472) พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าแขไขดวง
พระองค์เจ้าชายจรูญฤทธิเดช (พ.ศ. 2408 สิ้นพระชนม์เมื่อมีพระชันษาได้ 9 วัน) พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจรูญฤทธิเดช
พระองค์เจ้าหญิงพวงสร้อยสอางค์ (พ.ศ. 2409-2493) พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพวงสร้อยสอางค์

เจ้าจอมมารดาเที่ยง เป็นผู้สร้างวัดขึ้นที่ตำบลบางซื่อเมื่อ พ.ศ. 2417 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่5 พระราชทานนามวัดว่า วัดมัชฌันติการาม ซึ่งมาจากคำว่า มัชฌันติก และ อาราม มีความหมายว่า "วัดของเจ้าจอมมารดาเที่ยง"

เจ้าจอมมารดาเที่ยง ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2456 อายุได้ 82 ปี 1 เดือน 6 วัน

พระองค์เจ้าหญิงแขไขดวงนั้น พระบรมราชชนกได้เสด็จสวรรคตเมื่อพระองค์มีพระชันษาได้เพียง 5 ปี ทรงจำได้ว่าพระราชบิดารับสั่งเรียกพระองค์ว่า "ลูกแขจ๋า" แต่ทรงจำพระพักตร์พระราชบิดาไม่ได้
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าแขไขดวง สิ้นพระชนม์วันจันทร์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2472 สิริพระชนมายุ 66 พรรษา


บันทึกการเข้า
NT
มัจฉานุ
**
ตอบ: 92


ความคิดเห็นที่ 49  เมื่อ 11 พ.ค. 15, 15:24

รบกวนท่านผู้รู้แห่งเรือนไทย อนุเคราะห์ภาพพระตำหนัก ตำหนัก ในเขตพระราชฐานชั้นใน พระบรมมหาราชวัง เป็นวิทยาทานครับ เมื่อวันที่ 5 พ.ค. ผมไปกราบพระแก้วมรกตที่พระอุโบสถวัดพระแก้ว และเข้าชมปราสาทพระเทพบิดร มองไปทางทิศใต้พบว่ามีพระตำหนัก ตำหนัก ในเขตพระราชฐานชั้นกลาง-ในอยู่ไกลๆ มีสถาปัตยกรรมต่างๆ น่าสนใจ แต่สอบถามเจ้าหน้าที่แล้ว พบว่าไม่มีโอกาสที่คนทั่วไปจะเข้าไปได้เลยครับ ผมสืบค้นดูในกูเกิลก็มีอยู่บ้างแต่น่าจะยังไม่ครบถ้วน ขอขอบพระคุณล่วงหน้า

ผมจะไม่ตามไปเก็บรายละเอียดนะครับ ขอทำการบ้านที่คุณNTให้มาตามข้างบนเท่านั้น

ขอบพระคุณ อจ. NAVARAT.C มากครับ ผมเองเป็นเด็กตัวเล็กๆ คนหนึ่งเท่านั้น ไม่ได้รู้จักมักคุ้นกับผู้ใหญ่ในเรือนไทยเป็นการส่วนตัว แต่กลับได้ความกรุณาให้ความรู้หลายต่อหลายครั้ง ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 50  เมื่อ 11 พ.ค. 15, 15:42

ด้วยความยินดีครับ ภาพพระตำหนักยังมีอีก จะค่อยๆลงให้ครับ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 51  เมื่อ 11 พ.ค. 15, 17:26

ตำหนักพระองค์เจ้าผ่อง


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 52  เมื่อ 11 พ.ค. 15, 17:28

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าผ่องประไพ
ความจากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี  หม่อมหลวงศรีฟ้า ลดาวัลย์ ฯลฯ

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าผ่องประไพ หรือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงผ่อง ประสูติเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2410  นับเป็นพระราชธิดาพระองค์แรกในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตั้งแต่เมื่อครั้งพระองค์ยังดำรงพระอิสริยยศเป็น สมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ กรมขุนพินิตประชานาถ พระชนมายุยังไม่ถึงสิบห้าพรรษา ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาหม่อมราชวงศ์แข  ซึ่งเป็นพระพี่เลี้ยงซึ่งมีอายุมากกว่าสองสามปีของพระองค์เอง เมื่อความทราบถึงพระกรรณ  พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงกริ้วมากที่ทำให้พระราชโอรสทรงประพฤติเกินวัย แต่พระองค์ก็มิได้ทรงลงโทษผู้ใด

เจ้าจอมมารดาม.ร.ว.แข เป็นธิดาของหม่อมเจ้านก โอรสของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าไกรสร กรมหลวงรักษณ์รณเรศร์ (ต้นราชสกุลพึ่งบุญ) ซึ่งในสมัยรัชกาลที่ ๓ มีความผิดมหันตโทษ จึงถูกลดฐานันดรศักดิ์ลงเป็นหม่อมไกรสร  หม่อมเจ้านกก็ถูกลดเป็นหม่อมนก หม่อมราชวงศ์แขจึงเป็นแค่คุณแข แต่เมื่อเป็นนางห้ามในสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ ครั้นเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นรัชกาลที่ ๕  คุณแขและหม่อมเจ้าหญิงที่ประสูติ จึงได้เลื่อนขึ้นเป็นเจ้าจอมมารดาม.ร.ว.แข และ พระองค์เจ้าผ่องประไพตามราชประเพณี
 
มีเรื่องเล่าอีกเรื่องว่าเมื่อทรงประสูติใหม่ๆเจ้าจอมมารดาเที่ยงในรัชกาลที่ 4 ทรงอุ้มพระองค์ให้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตร ทรงถามว่าใคร เจ้าจอมมารดาเที่ยงท่านก็ไม่ตอบแต่กราบบังคมทูลถามว่าเหมือนใคร ทรงตอบว่า "เหมือนแม่เพย" ซึ่งก็คือสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี พระราชชนนีของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เป็นที่รู้กันว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่โปรดเจ้าจอมมารดาม.ร.ว.แขเลย ประกอบกับพระอุปนิสัยของพระองค์เจ้าผ่องค่อนข้างดื้อจึงถูกลดความสำคัญลง มิได้เป็นที่โปรดปรานของพระราชบิดา เมื่อยังทรงพระเยาว์นั้น แม้ทรงพระบังคนเสร็จก็มักไม่ใคร่ลุกขึ้นจากโถ พระพี่เลี้ยงจะตักเตือนอย่างไรก็ทรงฟัง เพราะความดื้อรั้นจึงถูกปล่อยให้ทรงนั่งเช่นนั้นหลายชั่วโมง

ในปี พ.ศ. 2416 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีรับสั่งให้เจ้านายทุกพระองค์ทรงยกเลิกการหมอบคลาน แต่ให้ยืนคำนับแบบตะวันตก ครั้งนั้นเจ้านายทุกพระองค์ทรงลุกขึ้นยืนหมดยกเว้นพระองค์เจ้าหญิงผ่องที่ยังทรงหมอบอยู่  พระพุทธเจ้าหลวงทรงกริ้วมากถึงกับเสด็จไปดึงพระเมาฬีให้ลุกขึ้น

ถึงแม้พระองค์เจ้าหญิงผ่องจะไม่เป็นที่โปรดปรานของพระราชบิดานัก แต่ความเป็นพ่อลูกก็ตัดกันไม่ขาด ครั้งหนึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยุ่หัวมีกำหนดการเสด็จเยี่ยมฝ่ายใน ชาววังต่างก็เตรียมการรับเสด็จ พระองค์เจ้าผ่องก็ทรงทำพัดขนนกขนาดใหญ่เพื่อที่จะทูลเกล้าฯถวาย เมื่อถึงวันนั้น ขณะเสด็จไปตามลาดพระบาท ทรงทักทายเจ้านายฝ่ายในโดยทั่วกัน เมื่อเสด็จถึงตรงหน้าพระองค์เจ้าหญิงผ่อง ทรงหยุดทักและรับพัดขนนกไว้ พระองค์เจ้าหญิงผ่องกราบแทบพระบาทของสมเด็จพระบรมราชชนก ทรงรับสั่งถามว่าอยากได้อะไร พระองค์เจ้าผ่องกราบบังคมทูลว่า "อยากได้พระธำมรงค์เพคะ" จึงพระราชทานพระธำมรงค์เพชรแก่พระราชธิดาพระองค์แรกตามพระประสงค์ พระองค์เจ้าผ่องทรงกราบอีกครั้ง น้ำพระเนตรคลอ เพราะในชีวิตของพระองค์ไม่ได้มีโอกาสรับใช้ใกล้ชิดพระยุคลบาทเหมือนน้องๆพระองค์อื่นเลย แล้วพระเจ้าอยุ่หัวก็ทรงถือพัดชนนกและเสด็จพระราชดำเนินต่อไป สร้างความปลาบปลื้มให้แก่พระองค์หญิงผ่อง และเจ้านายพระองค์อื่นๆที่อยู่ในเหตุการณ์วันนั้นเป็นอย่างมาก

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสร้างพระราชวังสวนดุสิต พระมเหสี เจ้าจอมมารดา เจ้าจอม พระราชธิดา ต่างเสด็จออกไปมีตำหนักเพื่อเฝ้าใกล้ชิด แต่พระองค์เจ้าผ่องยังคงประทับอยู่ตำหนักเดิมในวังหลวง
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าผ่องประไพ ทรงประทับในพระบรมมหาราชวังตลอดพระชนม์ชีพ จนถึงวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2485 สิริพระชนมายุ 75 พรรษา



บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 53  เมื่อ 12 พ.ค. 15, 07:21

ตำหนักพระองค์เจ้าวารีรัตนกัญญา


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 54  เมื่อ 12 พ.ค. 15, 07:24

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวารีรัตนกัญญา
ความจากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี  ฯลฯ

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวาณีรัตนกัญญา ประสูติเมื่อวันที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2400 เป็นพระราชธิดาองค์ที่ 39 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาแก้ว สายสกุลต่อมาได้รับพระทานนามสกุลว่า บุรณศิริ

หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 เหล่าพระบรมวงศานุวงศ์ทรงพากันอพยพออกจากพระบรมมหาราชวัง พระตำหนักฝ่ายในแทบไม่มีเจ้านายประทับอยู่เลย ครั้งนั้นพระองค์ยังคงประทับอยู่ในพระบรมมหาราชวัง ด้วยมีพระชันษาสูงและทรงอ้วน ทำให้เสด็จพระดำเนินไม่สะดวกนัก โดยพระองค์พำนักอยู่ร่วมกับพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าผ่องประไพ พระราชธิดาพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระองค์เจ้าวารีรัตนกัญญาสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2478


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 55  เมื่อ 12 พ.ค. 15, 07:46

เรือนเจ้าจอมเง็ก อดีตเรือนเจ้าจอมมารดา ม.ร.ว.จิ๋ว


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 56  เมื่อ 12 พ.ค. 15, 07:50

เจ้าจอมมารดา ม.ร.ว.จิ๋ว
ความจากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี  ฯลฯ

หม่อมราชวงศ์จิ๋วเป็นธิดาหม่อมเจ้าวัฒนา พระโอรสในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากปิตถา กรมหมื่นภูบาลบริรักษ์(ต้นราชสกุล กปิตถา)
หม่อมเจ้าวัฒนาผนวชเรียนอยู่ที่วัดบวรนิเวศวิหาร ต่อมาเมื่อเจริญพระชันษาขึ้นได้ทรงลาสิกขามารับราชการในกรมพระอาลักษณ์ ซึ่งเป็นกรมในกำกับของกรมหมื่นภูบาลบริรักษ์ และเป็นผู้ที่ได้รับการไว้วางพระราชหฤทัยจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้รับใช้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาท จึงได้นำหม่อมราชวงศ์จิ๋วเข้าถวายตัวเป็นเจ้าจอม และได้พระสูติพระราชธิดาพระองค์หนึ่ง แต่สิ้นพระชนม์ในเวลาต่อมา
 
เจ้าจอมมารดาหม่อมราชวงศ์จิ๋วยังคงเป็นเจ้าจอมคนโปรดที่ได้รับพระราชทานเรือนเป็นพิเศษในพระบรมมหาราชวัง จนอสัญกรรม
ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯพระราชทานเรือนหม่อมราชวงศ์จิ๋วให้เจ้าจอมเง็กเข้าไปอยู่  น่าเสียดายที่ไม่ปรากฏข้อมูลอื่นๆของเจ้าจอมเง็ก
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 57  เมื่อ 12 พ.ค. 15, 16:40

เรือนคุณท้าววรจันทร์


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 58  เมื่อ 12 พ.ค. 15, 16:46

คุณท้าววรจันทร์ (เจ้าจอมมารดาวาด)
ความจากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี  ฯลฯ

ท้าววรจันทร (เจ้าจอมมารดาวาด) เกิดเมื่อ 11 มกราคม พ.ศ. 2384 เป็นเจ้าจอมเอกในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระเจ้าลูกยาเธอ 1 พระองค์ คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสณบัณฑิต กรมขุนพิทยลาภพฤฒิธาดา พระองค์ทรงเป็นต้นราชสกุลโสณกุล

พระองค์เจ้าโสณบัณฑิต ทรงเริ่มรับราชการในออฟฟิศหลวง ราชองครักษ์ (ราชเอดเดอแกมป์ - Air-de-Camp) ต่อมา ใน พ.ศ. 2434 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาขึ้นเป็นพระองค์เจ้าต่างกรมมีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิธาดา และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนกรมขึ้นเป็น พระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนพิทยลาภพฤฒิธาดา เมื่อ พ.ศ. 2443 ทรงดำรงตำแหน่ง ข้าหลวงต่างพระเนตรพระกรรณ มณฑลพายัพ รับผิดชอบจัดการป้องกันหัวเมืองชายแดนด้านตะวันตกของเชียงใหม่

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสณบัณฑิต กรมขุนพิทยลาภพฤฒิธาดา เมื่อเจริญพระชนม์พรรษาแล้ว ได้ออกจากตำหนักเจ้าจอมมารดามาประทับอยู่ที่วังปากคลองตลาด บ้านเดิมของเจ้าจอมมารดาวาด ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างวังตลาดน้อย ที่ถนนเจริญกรุงใกล้กับสะพานเหล็กล่าง จึงทรงย้ายไปประทับที่วังตลาดน้อยตลอดพระชนม์ชีพ และสิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ 6 เมื่อวันอังคาร เดือน 11 แรม 14 ค่ำ ปีฉลูเบญจศก จ.ศ. 1175 ตรงกับวันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2456 พระชันษาได้ 50 ปี

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสณบัณฑิต กรมขุนพิทยลาภพฤฒิธาดา ทรงมีพระโอรสที่มีชื่อเสียงพระองค์หนึ่ง คือหม่อมเจ้าเจ้าธานีนิวัต  ซึ่งภายหลังได้เลื่อนขึ้นเป็นพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าธานีนิวัต  กรมหมื่นพิทยาลาภพฤฒิยากร

เจ้าจอมมารดาวาดนั้น มีนามเดิมว่า "แมว" เป็นบุตรของสมบุญ มหาดเล็กในรัชกาลที่ 3 สายสกุลงามสมบัติ กับท้าวปฏิบัติบิณฑทาน (ถ้วย) บิดาได้นำเข้าไปถวายตัวในวังหลวงตั้งแต่วัยเด็ก เข้าไปเป็นข้าหลวงในสมเด็จพระนางเจ้า โสมนัสวัฒนาวดี ในยามว่างก็ทรงให้ฝึกหัดละคร เคยรับบทเป็นพระเอกเรื่องอิเหนา เล่นได้ดีเยี่ยมจนพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวตรัสเรียกเล่นๆว่า "แมวอิเหนา" อีกบทหนึ่งที่ท่านรำได้งามไม่มีใครสู้คือบทท้าวมาลีวราช   ต่อมาจึงได้เป็นเจ้าจอมในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และได้เรียนภาษาอังกฤษกับนางแอนนา เลียวโนเวนส์ พร้อมกับพระเจ้าลูกยาเธอ พระเจ้าลูกเธอทั้งหลาย
ในรัชกาลที่ 5 เจ้าจอมมารดาวาดได้เลื่อนตำแหน่งเป็นท้าววรจันทร บรมธรรมิกภักดี นารีวรคณานุรักษา เป็นตำแหน่งชั้นสูงของข้าราชการฝ่ายใน

 ตำแหน่งคุณท้าววรจันทร์นี้ คือ ผู้บังคับบัญชาท้าวนาง บรรดาข้าหลวงชาววังทั้งปวงล้วนนับถือและเกรงใจท่านมาก ไม่เว้นแม้กระทั่งพระมเหสีและพระเจ้าแผ่นดิน หม่อมศรีพรหมา กฤดากร ณ อยุธยาได้เขียนไว้ถึงท่านว่า...กิตติศัพท์เขาเล่าลือว่าท่านดุมาก เด็กได้ยินก็คร้ามท่านมาก เขาว่าท่านจับคนใส่ตรวนได้ เด็กเลยกลัวตัวสั่น ท่านขึ้นเฝ้าได้บางเวลาเหมือนกัน ต้องยอมรับกันในพวกเด็กว่า ท่านน่าเกรงขามจริง ท่าเดินของท่าน แม้แก่แล้วก็ดูออกว่า เมื่อท่านเป็นสาวคงจะสวย...

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  คุณท้าววรจันทร์ได้ทำหมูหวานขึ้นถวายพระพุทธเจ้าหลวง เมื่อเสวยเสร็จแล้ว มีพระราชกระแสรับสั่งลงมาว่า หมูหวานนี้สมัยก่อนเรียกว่า “หมูผัด” และโปรดเกล้าฯให้ตีฆ้องร้องป่าวทั่วพระบรมมหาราชวังว่า ได้เสวยหมูผัดฝีมือคุณท้าววรจันทร์ เหมือนที่ได้เสวยเมื่อยังทรงพระเยาว์ และยังโปรดเกล้าฯให้ประกาศว่า ถ้าผู้ใดสามารถทำ หมูผัดนี้ได้เหมือนท้าววรจันทร์แล้ว จะพระราชทานน้ำตาลเท่าลูกฟักเป็นรางวัล

ท่านได้เป็นท้าววรจันทร์เมื่ออายุ 45 ปี แล้วเป็นอยู่นานกว่า 40 ปี   ถึงแก่อนิจกรรมเมื่ออายุ 98 ปี นับว่าเป็นเจ้าจอมที่อายุยืนยาวมากท่านหนึ่ง



บันทึกการเข้า
ประกอบ
สุครีพ
******
ตอบ: 1342


ความคิดเห็นที่ 59  เมื่อ 12 พ.ค. 15, 17:21

ท่านอาจารย์ใหญ่กว่าครับ ผมมีคำถามครับ  คือพระตำหนักเหล่านี้ หลังจากที่เจ้านายเจ้าของพระตำหนักสิ้นพระชนม์ลง  ตำหนักเหล่านี้ถูกปิดตายลงเลยหรือยังมีการใช้ประโยชน์และยังมีคนอยู่ อย่างภาพที่เห็นเหมือนแต่ละตำหนักถูกปิดตายหมด  แล้วถ้าปิดตายใครเป็นผู้ดูแลบำรุงรักษาครับ สำนักพระราชวังหรือทายาทของเจ้านายแต่ละตำหนักครับ  และปัจจุบัน นอกจากเจ้าหน้าที่ข้าราชการข้างใน ยังมีชาววังหรือทายาทยังอาศัยอยู่บ้างหรือไม่ครับ

อีกคำถามคือ สามัญชนทั่วไปอย่างผม ถ้าอยากจะเยี่ยมชนนี่ จะมีความเป็นไปได้ไหม ก่อนนี้เคยไปยืนมองๆ ผ่านประตูเข้าไปจากแถวท่าช้างบ่อยๆ

ถามซะเยอะเลย   ฮืม  ฮืม
บันทึกการเข้า

วิรุศฑ์ษมาศร์ อัฐน์อังการจณ์
หน้า: 1 2 3 [4] 5 6 ... 11
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.371 วินาที กับ 19 คำสั่ง