เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 2 3 [4] 5 6 ... 10
  พิมพ์  
อ่าน: 38047 ท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 45  เมื่อ 14 พ.ค. 15, 09:03

      ในเมื่อรดน้ำกันจนเสื้อผ้าเปียก   เจ้าบ่าวก็ต้องเปลี่ยนผ้าใหม่เวลาส่งตัว  จะนั่งเปียกปอนอย่างนั้นต่อไปก็ไม่เข้าที   ผ้าที่มีไว้ให้เจ้าบ่าวผลัดเรียกว่า "ผ้าห้อยหอ" (ไม่ใช่ผ้าห้อยคอ นะคะ)

แต่เมื่อท่านผู้หญิงอยู่กับบ้านก็ชอบพาดผ้าห้อยคอ  ดังในภาพที่ท่านถ่ายกับท่านเจ้าคุณและลูกหลาน ยิงฟันยิ้ม


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 46  เมื่อ 14 พ.ค. 15, 10:00

ผ้าห้อยคอ เรียกอีกอย่างว่าผ้าคล้องคอ   เป็นคนละอย่างกับผ้าห้อยหอ
ผ้าห้อยหอ เป็นผ้านุ่งสำหรับผู้ชาย  ใช้ผลัดจากผ้าที่เปียกเพราะรดน้ำ เวลาเข้าเรือนหอ  ดีกว่าให้เจ้าบ่าวเดินปอดบวมเข้าหอ
จะเอามาห้อยคอไม่ได้ค่ะคุณหมอเพ็ญ

ผ้าคล้องคอเป็นแฟชั่นอย่างหนึ่งของผู้หญิงสมัยรัชกาลที่ 5 เรื่อยมาจนถึงรัชกาลที่ 7    มีขายกันเป็นผืนสำเร็จรูป หรือจะเย็บเอาเองก็ได้  ลักษณะเหมือน scarf ของสาวฝรั่ง เพียงแต่ของไทยทำด้วยแพร หรือผ้าเบาๆเหมาะกับอากาศร้อน ไม่ใช่ขนสัตว์หรือไหมพรมอย่างของเมืองนอก

แฟชั่นผ้าห้อยคอที่ท่านผู้หญิงกลีบใช้ในรูปที่คุณหมอนำมาแสดง ปัจจุบันก็คืนกลับมาอีกแล้ว   สาวๆในบ้านของคุณหมอเพ็ญอาจเคยใช้แบบนี้บ้างก็ได้


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 47  เมื่อ 14 พ.ค. 15, 10:04

ขอโทษที กลับไปขยายรูปมาดูอีกครั้ง  ผ้าที่ท่านผู้หญิงกลีบใช้ ไม่ใช่ผ้าคล้องคอ  เป็นผ้าคลุมไหล่ ตรงกับ shawl ของฝรั่ง
ใช้ห่มทับผ้าแถบ หรือเสื้อ อีกทีเวลาออกไปข้างนอกบ้าน   เพื่อความสุภาพเรียบร้อย
จะพยายามหารูปผ้าคล้องคอสมัยหนึ่งร้อยปีก่อนมาให้ค่ะ


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 48  เมื่อ 15 พ.ค. 15, 10:37

   ชีวิตคู่ของคุณนายกลีบและนายละออในบ้านที่แม่ยายปลูกให้ที่สำราญราษฎร์ดำเนินไปได้เพียง 6 เดือน ก็ต้องโยกย้ายไปอยู่ที่บ้านของพระยาเพ็ชรรัตน์พ่อสามี ที่ตำบลตึกแดง ตามความประสงค์ของท่าน     แปลว่าชีวิตท่านผู้หญิงก็หลุดจากสังคมเครือญาติทางฝ่ายแม่ มาสู่ทางฝ่ายสามีเต็มตัว
   บ้านของพวกไกรฤกษ์เป็นบ้านใหญ่  มีเครือญาติและบริวารรวมกันประมาณ 100 คน     คุณนายกลีบต้องรับภาระดูแลบ้านเรือนและทำอาหารให้สามีและตนเอง  สำคัญกว่านี้คือต้องทำตัวให้เข้ากับญาติทางฝ่ายสามี   และทำตัวให้พ่อแม่สามีรักและเอ็นดู   ทั้งหมดนี้ก็ต้องถือว่าเป็นภาระไม่น้อยสำหรับหญิงสาววัย 19 ปี   เพราะจะทำอะไรตามใจชอบไม่ได้เลย 
  ท่านผู้หญิงดุษฎีมาลาเล่าถึงนิสัยอย่างหนึ่งของท่านผู้หญิงกลีบว่า เป็นผู้มีเมตตาจิตสูง    เมื่อเข้ามาอยู่ในบ้านที่มีผู้คนมากมาย ก็แน่ว่าการปกครองในบ้านจะต้องเด็ดขาด มิฉะนั้นจะรักษาระเบียบวินัยในบ้านไว้ไม่ได้     พระยาเพ็ชรรัตน์เป็นคนเด็ดขาดน่าเกรงขามแม้แต่กับลูกเมีย     จึงไม่ต้องพูดให้มากความว่าท่านทำตัวให้บ่าวไพร่บริวารเกรงกลัวได้ขนาดไหน     ถึงท่านผู้หญิงดุษฎีมาลาไม่เล่ารายละเอียดก็พออ่านระหว่างบรรทัดออก ว่าการเฆี่ยนตีลงทัณฑ์คงเป็นเรื่องธรรมดาในบ้านนี้     ส่วนท่านผู้หญิงกลีบเป็นคนอ่อนโยนและมีเมตตา เมื่อเห็นใครจะถูกลงโทษท่านก็อดสงสารไม่ได้   จึงอ้อนวอนขอร้องพ่อสามีให้ลงอาญา ได้สำเร็จหลายครั้ง  ข้อนี้ทำให้บริวารในบ้านเกิดความรักและนับถือ     ข้อนี้ก็เป็นสิ่งสำคัญให้ท่านสามารถคุมบ่าวไพร่ให้ช่วยงานในบ้านซึ่งนับวันก็ยิ่งทวีคูณ ตามความเจริญก้าวหน้าของสามี
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 49  เมื่อ 15 พ.ค. 15, 10:42

   อ่านประวัติของท่านผู้หญิงกลีบแล้วก็พอจะมองเห็นว่า นอกจากต้องมีฝีมือทำกับข้าว รักษาบ้านช่องให้สะอาดมีระเบียบ เลี้ยงลูกเป็นแล้ว ยังต้องมีจิตวิทยาในการปกครองบริวารและเครือญาติอีกนับร้อย   ไม่ใช่เรื่องง่ายๆสำหรับหญิงสาวในวัย 19-20  ซึ่งถ้าเป็นสมัยนี้ก็ยังเรียนมหาวิทยาลัยอยู่ปีหนึ่งปีสอง     ไม่ต้องรับผิดชอบใครนอกจากตัวเอง
   แต่คนโบราณ เขาเติบโตเร็วกว่าคนสมัยนี้  อายุยี่สิบต้นๆก็ถือว่าเป็นผู้ใหญ่เต็มตัวแล้ว     เห็นได้จากนายละออผู้สามี ซึ่งก้าวหน้าในราชการรวดเร็วมาก  แต่งงานไม่นานก็ได้เงินเดือนขึ้นเป็น 40 บาท   สอบได้เป็นเนติบัณฑิตคนแรกของประเทศไทย   ได้บรรดาศักดิ์เป็นหลวงจักรปาณีศรีศิลวิสุทธิ   และเป็นอธิบดีศาลแพ่งเมื่ออายุเพียง 23 ปี    อย่างหลังนี้ ถ้าเป็นหนุ่มยุคนี้ก็เพิ่งจบมหาวิทยาลัยมาทำงานระดับต้นในราชการของบริษัท
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 50  เมื่อ 15 พ.ค. 15, 11:26

เห็นได้จากนายละออผู้สามี ซึ่งก้าวหน้าในราชการรวดเร็วมาก  แต่งงานไม่นานก็ได้เงินเดือนขึ้นเป็น 40 บาท   สอบได้เป็นเนติบัณฑิตคนแรกของประเทศไทย    

สามีท่านผู้หญิงเป็นคนเก่งสอบเนติบัณฑิต่รุ่นแรก ได้เป็นที่ ๑ และได้รับเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา

เนติบัณฑิตไทย รุ่นที่ ๑ ร.ศ.๑๑๖ (พ.ศ.๒๔๔๐) มีอยู่ ๙ ท่าน



พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ทรงตั้งโรงเรียนกฎหมายขึ้นเป็นครั้งแรกในเมืองไทย เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๐ และพระองค์ก็ได้ร่วมลงมือสอนด้วยตนเอง

ในที่สุดมีนักเรียนกฎหมายที่สอบไล่ได้ในปีแรก ๙ คน  ล้วนเคยทำงานมาแล้ว

คะแนนแบ่งเป็น ๒ ชั้น ชั้นที่หนึ่งมี ๔ คน ชั้นที่สองมี ๕ คน ในชั้นที่ ๑ มีผู้ได้เหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา ๑ คน คือ นายลออ ไกรฤกษ์

รายนามเนติบัณฑิตรุ่นแรกมีดังต่อไปนี้
ชั้นที่ ๑

๑. นายลออ ไกรฤกษ์ ภายหลังเป็นเจ้าพระยามหิธร  ได้รับการยกย่องว่าเป็นเนติบัณฑิตคนแรก
๒. นายไชยขรรค์ หุ้มแพร (เทียม บุนนาค) ภายหลังเป็นขุนหลวงพระยาไกรสี
๓. นายบุ สุวรรณศร ภายหลังเป็นหลวงอรรถสารสิทธิกรรม
๔. นายถึก ภายหลังเป็นหลวงนิเทศยุติญาณ

ชั้นที่ ๒
๕. นายทองดี ธรรมศักดิ์ ภายหลังเป็นพระยาธรรมสารเวทย์วิเศษภักดี
๖. นายจำนงค์ อมาตยกุล ภายหลังเป็นพระยาเจริญราชไมตรี
๗. นายเสนอ งานประภาษ ภายหลังเป็นพระยาพิจารณาปฤชามาตย์(สุหร่าย วัชราภัย)
๘. นายโป๋ คอมันตร์ ภายหลังเป็นพระยาพิพากษาสัตยาธิปตัย
๙. ขุนสุภาเทพ (เภา ภวมัย) ภายหลังเป็นพระยามหาวินิจฉัยมนตรี

ข้อมูลจาก โรงเรียนกฎหมายของกรมหลวงราชบุรี โดย อาจารย์ทวี กสิยพงศ์


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 51  เมื่อ 15 พ.ค. 15, 12:21

ขอบคุณค่ะคุณหมอเพ็ญ

นายทองดี ธรรมศักดิ์ หรือพระยาธรรมสารเวทย์วิเศษภักดี  คือบิดาของศาสตราจารย์ สัญญา ธรรมศักดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี คนที่12 และอดีตประธานองคมนตรี
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 52  เมื่อ 18 พ.ค. 15, 16:56

   ตำแหน่งงานของหลวงจักรปาณีก้าวหน้ารวดเร็วมาก ผ่านไปแค่ 2 ปี อายุ 25 เท่าน้นเอง ก็ได้เป็นปลัดทูลฉลอง  เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นพระจักรปาณี  ภาระหนักก็ยิ่งทับถมลงบนบ่าของภรรยาวัยยี่สิบต้นๆ    ทั้งในฐานะแม่ มีลูกทยอยกันออกมาแทบไม่เว้นแต่ละปี   เพราะสมัยนั้นการมีครอบครัวใหญ่ ลูกนับสิบคนถือเป็นเรื่องธรรมดา   นอกจากจะไม่มีการคุมกำเนิด  อัตราการตายของทารกและเด็กที่สูงมาก ก็ทำให้พ่อแม่อยากจะมีลูกมากๆเอาไว้ก่อน   
   หน้าที่การงานที่ก้าวหน้าของสามี ทำให้พระจักรปาณีมีแขกเหรื่อมาเยี่ยมเยียนไม่เว้นแต่ละวัน  ทั้งเพื่อนฝูง ลูกน้อง ลูกศิษย์ลูกหา  ขออธิบายเพิ่มเติมว่าสมัยรัชกาลที่ 5 ตอนต้นๆและกลางๆ  ไม่มีร้านอาหารหรือสโมสรที่จะนัดสังสรรค์กันนอกบ้านได้    เมื่อจะพบปะพูดคุยกันก็ต้องไปหากันที่บ้านอย่างเดียว      บ้านใครกว้างขวางพอก็กลายเป็นแหล่งประชุมพบปะกันในหมู่คนที่เกี่ยวข้องกัน  ไปมาหาสู่กันอยู่เสมอ
     เมื่อเป็นเช่นนี้เจ้าของบ้านก็ต้องรับภาระหาของกินหมากพลูบุหรี่มาต้อนรับ     อยู่นานๆก็ต้องเลี้ยงข้าวเย็นกัน    คนที่รับหน้าที่ไปเต็มๆคือคุณนายเจ้าของบ้าน    ในเมื่อโทรศัพท์ก็ยังไม่มี  การบอกล่วงหน้ากันก็เป็นเรื่องยาก   จึงปรากฏบ่อยๆว่า มีแขกเหรื่อของคุณพระมาร่วมรับประทานอาหารด้วยมื้อละหลายคนโดยคุณนายมิได้ทราบล่วงหน้า      ท่านผู้หญิงกลีบจะปฏิเสธว่าฉันไม่พร้อม  ทำไม่ได้เป็นอันขาด   ถ้าเตรียมมื้อเย็นไว้สำหรับพ่อแม่ลูก ก็ต้องรีบเพิ่มปริมาณ หรือพลิกแพลงจัดปรุงอาหารให้เสร็จ และมากพอสำหรับแขกทุกคน  แล้วมาร่วมรับประทานด้วย
    ฝีมือปรุงอาหาร และปฏิภาณเฉพาะหน้าของแม่บ้านแบบนี้เป็นคุณสมบัติที่ผู้หญิงสมัยนั้นต้องมี
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 53  เมื่อ 19 พ.ค. 15, 10:28

ทั้งในฐานะแม่ มีลูกทยอยกันออกมาแทบไม่เว้นแต่ละปี   เพราะสมัยนั้นการมีครอบครัวใหญ่ ลูกนับสิบคนถือเป็นเรื่องธรรมดา   นอกจากจะไม่มีการคุมกำเนิด  อัตราการตายของทารกและเด็กที่สูงมาก ก็ทำให้พ่อแม่อยากจะมีลูกมากๆเอาไว้ก่อน   

ท่านเจ้าคุณและท่านผู้หญิงมีบุตรธิดา ๑๒ คน

๑๒ พี่น้องมีดังนี้ครับ

๑)  จักร  (ถึงแก่กรรมแต่ยังเยาว์)
๒)  ปาณี  ต่อมาเป็น นายจ่ายวด 
๓)  ศรี  ต่อมาเป็นเป็นคุณหญิงไชยยศมบัติ (ศรี  ฤษณามระ)
๔)  ศีล  (ถึงแก่กรรมแต่ยังเยาว์)
๕)  วิสุทธิ์  ต่อมาเป็น หลวงจักรปาณีศรีศีลวิสุทธิ์
๖)  ดุษฎีมาลา  ต่อมาเป็น ท่านผู้หญิงดุษฎีมาลา  มาลากุล
๗)  วิจิตราภรณ์
๘)  ภูษนอาภรณ์  สมรสกับคุณสังวรณ์  บุญเกตุ
๙)  นิภาภรณ์  วิมลศิริ
๑๐) มัณฑนาภรณ์
๑๑) ดารา  ต่อมาเป็นคุณดารา  ไชยยศมบัติ (สมรสกับพระยาไชยยศสมบัติ)
๑๒) รัตนาภรณ์  สมรสกับนายแพทย์ใช้  ยูนิพันธ์

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 54  เมื่อ 20 พ.ค. 15, 17:07

  ชีวิตครองเรือนของท่านผู้หญิงกลีบ ไม่ได้มีแต่สามีเป็นหัวหน้าครอบครัวอยู่คนเดียว แต่มีหัวหน้าใหญ่กว่านั้นคือเจ้าคุณพ่อของสามี   คำสั่งของท่านคือสิ่งที่ทุกคนในบ้านต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด
   เจ้าคุณเพ็ชรรัตน์นอกจากเป็นคนเคร่งครัดและเข้มงวดแล้ว  ยังเป็นคนมัธยัสถ์ รู้ค่าของเงิน และขยันด้วย    ลูกสะใภ้ของท่านจึงได้รับมอบหมายให้ทำงานหารายได้เพิ่มพูนขึ้นจากการเป็นแม่บ้าน     ถ้ามองในแง่ที่ว่าในบ้านสกุลไกรฤกษ์มีคนอยู่นับร้อยคนทั้งญาติและบริวาร ก็มองได้ว่า พวกนี้คือแรงงานฟรีหรือไม่ก็แรงงานราคาถูก    จะปล่อยไว้เฉยๆให้กินอยู่เข้าไปทุกวันเป็นภาระของเจ้่าของบ้านก็คงไม่ไหว  เอาแรงงานมาใช้ดีกว่า
   ต้นทุนราคาถูกที่มี คือผลิตผลจากไร่นาที่พวก "เลข" หรือแรงงานสังกัดของเจ้าคุณผลัดกันนำมากำนัลนายตลอดปี  เช่นข้าวเปลือก  ปลาแห้ง มะพร้าว น้ำตาล กล้วย   ล้วนเป็นวัตถุดิบที่ทำให้งอกเงยเป็นเงินขึ้นมาได้     เจ้าคุณจึงแนะนำให้ลูกสะใภ้ทำขนมขายเป็นรายได้พิเศษ    อาศัยว่าลูกสะใภ้ทำอาหารเก่ง    แรงงานบ่าวไพร่ในบ้านก็มีมาก    ท่านผู้หญิงก็ปฏิบัติตาม ทำขนมจากกล้วย น้ำตาล มะพร้าว ให้บ่าวออกเร่ขาย   ได้เงินมาเป็นรายได้เพิ่มเติมจากเงินเดือนสามี  ทำให้เจ้าคุณเมตตาสะใภ้เพิ่มมากขึ้นอีก
   ถ้านึกถึงภาระที่หญิงสาววัยยี่สิบกว่าๆ แบกอยู่จนถึงสี่สิบ คือลูก 12 คน   ทำอาหารเลี้ยงสามี และญาติมิตรไม่เว้นแต่ละวัน   ว่างก็ไม่ได้ต้องทำขนมทีละมากๆให้บ่าวออกเร่ขาย  ก็ต้องถือว่าท่านผู้หญิงทำงานหนักจริงๆในแต่ละวัน  แม้ว่ามีลูกมือช่วยมากมายหลายคนก็ตาม
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 55  เมื่อ 21 พ.ค. 15, 08:16

ท่านผู้หญิงกลีบเมื่ออายุ ๔๙ ปี


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 56  เมื่อ 21 พ.ค. 15, 09:04

   ตำแหน่งการงานของพระจักรปาณีก้าวหน้าไม่หยุดยั้ง   หลังจากพระยาเพ็ชรรัตนฯถึงแก่อนิจกรรมในพ.ศ. 2445  ท่านก็ได้เลื่อนเป็นพระยาจักรปาณีศรีศีลวิสุทธิ์     แต่ว่าคุณนายกลีบยังคงเป็น "คุณนาย" มิได้เลื่อนเป็นคุณหญิง เพราะยังไม่ได้รับพระราชทานตราจุลจอมเกล้า อย่างหนึ่ง และอีกอย่างหนึ่ง สมัยนั้นผู้ชายมีภรรยาได้หลายคนพร้อมกันอย่างถูกต้องตามกฎหมาย   จะยกตำแหน่งเอกภรรยาให้คนใดคนหนึ่งก็ได้   
  ข้อความในประวัติตอนนี้ ทำให้ทราบว่า พระยาจักรปาณีฯ สามีท่านมิได้มีท่านเป็นภรรยาคนเดียว แต่มีหลายคน  คนหนึ่งที่ท่านผู้หญิงดุษฎีมาลาเล่าถึงก็คือน้องสาวของคุณนายกลีบเอง    มีบุตรชายด้วยกันหนึ่งคนชื่อมาลา     การที่น้องสาวมาเป็นภรรยาอีกคนของสามีคงจะเป็นความยินยอมพร้อมใจของคุณนายกลีบเอง     เห็นได้จากท่านก็รักใคร่เอ็นดูนายมาลาหลานชายท่านด้วยดี   ไม่ได้รังเกียจ   น้องสาวคงจะช่วยแบ่งเบาภาระทางบ้านของพี่สาวลงได้มาก

   อย่างไรก็ตาม คุณนายกลีบก็ได้รับการยอมรับนับถือเป็นเอกภรรยาของเจ้าคุณ  ไม่ทราบว่าเมื่อสมรสกันนั้น สามีท่านมี "เมียในบ้าน" อยู่ก่อนแบบเดียวกับคุณเปรมมีแม่ของตาอ้นหรือเปล่า    ถ้าไม่มี ก็แปลว่าสมรสกับท่านเป็นคนแรก  เป็นการสู่ขอและแต่งงานรดน้ำสังข์กันอย่างถูกต้องตามประเพณี    เมื่อเจ้าคุณจักรปาณีมีตำแหน่งสูงเป็นถึงปลัดทูลฉลองในกระทรวงยุติธรรม  ต้องออกสมาคม   ไปสังสรรค์กับเพื่อนฝูงเป็นประจำ  คุณนายกลีบก็สามารถทำตัวให้ทันสมัย คู่เคียงไปกับสามีได้อย่างเหมาะสม
    ท่านนั่งรถม้าคู่กับสามีไปตามบ้านเพื่อนฝูง  ไปดูละครและมหรสพต่างๆ ทำตัวให้เหมาะสมกับตำแหน่งและหน้าตาของสามี   ตำแหน่งเอกภรรยาจึงอยู่กับท่าน
บันทึกการเข้า
Anna
องคต
*****
ตอบ: 552


ความคิดเห็นที่ 57  เมื่อ 21 พ.ค. 15, 20:44

ปลัดทูลฉลองในกระทรวงสมัยนั้น ประมาณตำแหน่งปลัดกระทรวงในสมัยนี้หรือเปล่าค่ะ 
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 58  เมื่อ 21 พ.ค. 15, 22:43

ขออ้างจากคุณ V_Mee ค่ะ
ยศและบรรดาศักดิ์ข้าราชการยุคก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้นเทียบกับปัจจุบันไม่ได้เลย  เพราะในยุคก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวคือหัวหน้าคณะรัฐบาล  ซึ่งในยุคเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้วเปลี่ยนมาเป็นนายกรัฐมนตรี  ส่วนเสนาบดีในสมัยก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองก็เป็นข้าราชการประจำมียศเป็นมหาอำมาตย์เอก  มีบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าพระยา  แต่หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองรัฐนตรีซึ่งเป็นตำแหน่งที่เทียบเท่าเสนาบดีเปลี่ยนมาเป็นนักการเมืองที่ไม่มียศบรรดาศักดิ์

ตำแหน่งที่พอจะเทียบกับปัจจุบันได้คือ ปลัดทูลฉลองที่เปลี่ยนมาเป็นปลัดกระทรวง  สมัยก่อนมียศเป็นมหาอำมาตย์โท พระยา  และอธิบดีซึ่งสมัยกอนมียศเป็นมหาอำมาตย์โท หรือตรี มีบรรดาศักดิ์เป็นพระยาพานทอง คือได้รับพระราชทานตรา ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ หรือทุติยจุลจอมเกล้า ซึ่งได้รับพระราชทานทองเป็นเครื่องยศตั้งแต่ได้รับพระาชทานทุติยจุลจอมเกล้า
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 59  เมื่อ 22 พ.ค. 15, 09:21

จุลลดา ภักดีภูมินทร์อธิบายไว้ใน "เวียงวัง" ดังนี้

เทียบปลัดทูลฉลองก็คล้าย ๆ กับปลัดกระทรวง แต่ไม่เหมือนกันทีเดียว เพราะหน้าที่สำคัญของปลัดทูลฉลองก็คือเป็นผู้กราบบังคมทูลเรื่องราวของกระทรวงนั้นๆ และเชิญพระราชดำรัส พระราชดำริไปยังเสนาบดี เนื่องจากเสนาบดีบางครั้งก็มิได้มีโอกาสเข้าเฝ้าพระเจ้าแผ่นดินบ่อยนัก

ดังนั้น ปลัดทูลฉลองจึงต้องเป็นผู้ใกล้ชิด พระเจ้าแผ่นดิน และเป็นผู้ที่เข้ากันได้กับเสนาบดี
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 2 3 [4] 5 6 ... 10
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.053 วินาที กับ 20 คำสั่ง