เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 [2] 3 4 ... 10
  พิมพ์  
อ่าน: 38055 ท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 15  เมื่อ 06 พ.ค. 15, 18:28

ขออนุญาตปาดคุณหมอเพ็ญครับ
ข้อมูลจากหนังสือ เรื่องตั้งเจ้าพระยากรุงรัตนโกสินทร์ ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสมมติอมรพันธุ์ กล่าวว่า
เจ้าพระยาธรรมา (เสือ  สนธิรัตน)  เป็นบุตรเจ้าพระยารัตนาพิพิธ (สน  สนธิรัตน) สมุหนายกข้าหลวงเดิมในรัชกาลที่ ๑

ในหนังสือเรื่อง ลำดับเสนาบดี ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ว่า แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดฯ ให้พระยาเพ็ชรพิชัย (เสือ) บุตรเจ้าพระยารัตนาพิพิธ เป็นเจ้าพระยาธรรมา ได้ ๑๑ ปี  ถึงอสัญกรรมในรัชกาลที่ ๔  นามสมญา เจ้าพระยาธรรมา มีสร้อยดังนี้ เจ้าพระยาธิกรณาธิบดี  ศรีสุวิรมหามัตยวงศ์  ราชพงศนิกรานุรักษ์  มหาสวามิภักดิบรมราโชปการาภภิรมย์  สรรโพดมกิจวิจารณ์  มหาม
ณเฑียรบาลบดินทร  ราชยนิเวศนินทรามาตย์  อันเตบุริกนาถเสนาบดี  อภัยพิริยกรมบราหุ

บุตรธิดาของท่านคือ พระยามหาเทพ (แสง)  และเจ้าจอมพุ่ม รัชกาลที่ ๓

เจ้าพระยาธรรมา (เสือ  สนธิรัตน)  ถึงอสัญกรรมเมื่อวันที่  ๑๔  กรกฎาคม  ปีระกา พ.ศ. ๒๔๐๔
บันทึกการเข้า
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 16  เมื่อ 06 พ.ค. 15, 18:32

ภาพนี้เป็นเครื่องแต่งกายและสพักตราจุลจอมเกล้า  ที่ท่านผู้หญิงดุษฎีมาลา  มาลากุล บุตรีของท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร มอบไว้ที่พิพิธภัณฑ์โรงเรียนราชประชาสมาศัย


บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 17  เมื่อ 06 พ.ค. 15, 18:44

ในหนังสือเรื่อง ลำดับเสนาบดี ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ว่า แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดฯ ให้พระยาเพ็ชรพิชัย (เสือ) บุตรเจ้าพระยารัตนาพิพิธ เป็นเจ้าพระยาธรรมา ได้ ๑๑ ปี  ถึงอสัญกรรมในรัชกาลที่ ๔  นามสมญา เจ้าพระยาธรรมา มีสร้อยดังนี้ เจ้าพระยาธิกรณาธิบดี  ศรีสุวิรมหามัตยวงศ์  ราชพงศนิกรานุรักษ์  มหาสวามิภักดิบรมราโชปการาภภิรมย์  สรรโพดมกิจวิจารณ์  มหาม
ณเฑียรบาลบดินทร  ราชยนิเวศนินทรามาตย์  อันเตบุริกนาถเสนาบดี  อภัยพิริยกรมบราหุ

คุณวีมีกรุณาตรวจสอบว่า เจ้าพระยาธิกรณาธิบดี   น่าจะเป็น เจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี   หรือเปล่า
บันทึกการเข้า
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 18  เมื่อ 07 พ.ค. 15, 07:44

คุณวีมีกรุณาตรวจสอบว่า เจ้าพระยาธิกรณาธิบดี   น่าจะเป็น เจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี   หรือเปล่า
[/quote]

ขอบพระคุณครับคุณหมอเพ็ญ  ที่ถูกคือ เจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี ครับ
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 19  เมื่อ 07 พ.ค. 15, 09:12

จุลลดา ภักดีภูมินทร์ เล่าประวัติเกี่ยวกับเจ้าพระยาธรรมา (เสือ) ไว้ใน เวียงวัง ดังนี้

ในพระราชพงศาวดารรัชกาลที่ ๓ ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) ปรากฏนาม พระยาราชนิกุล (เสือ) หลายแห่ง ครั้งเมื่อโปรดฯให้ยกกองทัพใหญ่เป็นพยุหยาตราไปเวียงจันทน์นั้น เจ้านาย ตั้งแต่กรมพระราชวังบวรสถานมงคล และสมุหนายก (สุมหพระกลาโหมขณะนั้นกำลังป่วย) เสนาบดี ตลอดจนขุนนางผู้ใหญ่ชั้นพระยาคุมทัพออกศึกกันแทบจะทุกท่าน (พ.ศ.๒๓๖๙ เมื่อเสด็จครองราชย์ใหม่ ๆ)

ในจำนวนนี้ มีชื่อพระยาราชนิกุล (เสือ) อยู่ด้วย

ครั้งเมื่อโปรดฯให้เจ้าพระยาบดินทรเดชา และเจ้าพระยาพระคลัง สองอัครเสนาบดี เป็นแม่ทัพไปรบญวน (พ.ศ.๒๓๗๖) ก็โปรดฯให้พระยาราชนิกุล (เสือ) และเจ้าพระยานครราชสีมา คือเจ้าพระยากำแหงสงคราม (ทองอิน) ไปด้วย ซึ่งเจ้าพระยาบดินทรเดชาจัดการให้แยกยกไปทางบก

ครั้นเมื่อเสร็จศึกแล้วก็โปรดฯให้เจ้าพระยาบดินทรฯ และพระยาราชนิกุล (เสือ) กลับเข้ากรุงเทพฯ กราบบังคมทูลแจ้งข้อราชการ แล้วจึงโปรดฯให้เจ้าพระยาบดินทรฯ กลับไปจัดการเรื่องเมืองเขมรให้เรียบร้อย

แต่ครั้นเมื่อญวนกับขุนนางเขมรที่ฝักฝ่ายญวนพากันไปตั้งอยู่เมืองกะพงสวาย (หรือกำปงสวาย) ใกล้เขตแดนลาว พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ จึงโปรดฯให้ พระยาราชนิกุล (เสือ) ยกไพร่พล ๑,๐๐๐ ไปช่วยรักษาเมืองอุบลและเมืองจำปาสัก พระยาราชนิกุล (เสือ) ได้ไปเร่งรัดสร้างค่ายป้อมประตูหอรบสร้างฉางข้าว โรงดินปืน เตรียมรบไว้พร้อมสรรพ

พระยาราชนิกุล (เสือ) นั้น ก.ศ.ร.กุหลาบเล่าไว้ในประวัติเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์) ตอนหนึ่ง เมื่อเจ้าพระยาบดินทรฯ ท่านสั่งเฆี่ยน นายสนิท หุ้มแพร (แสง) บุตรชายของท่าน ๑๐๐ ที เมื่อมีผู้มาฟ้องว่า นายสนิท หุ้มแพร ลักลอบขายฝิ่น โดยให้นำตัวมาใส่ขื่อ มัดมือมัดเท้าโยงกับหลักปักคา แล้วเฆี่ยนด้วยหวายให้ครบ ๑๐๐ ที

ครั้งนั้น เมื่อบรรดาขุนนางผู้ใหญ่ ข้าเฝ้าใกล้ชิดพระองค์ซึ่งมี พระยาศรีพิพัฒน์ฯ (สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ ใน ร.๔) พระยาราชนิกุล (เสือ) พระยาอภัยโนริด (บุนนาก) และพระยาศรีสหเทพ (ทองเพ็ง) กับพระยาราชสุภาวดี (โต) เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ  ท้องพระโรง พระยาศรีพิพัฒน์ฯเข้าเฝ้าฯ ช้าไป จึงทรงมีพระราชดำรัสถาม พระยาศรีพิพัฒน์ฯก็กราบบังคมทูลถวายเรื่องราวว่า มัวแต่ไปจวนเจ้าคุณผู้ใหญ่สมุหนายก เพื่อไปขอโทษให้ นายสนิท หุ้มแพร แต่ก็ไม่มีผู้ใดกล้าเอ่ยปากขอโทษ ทรงมีพระราชดำรัสถามเรียงตัวทั้ง ๕ คน ต่างกราบถวายบังคมทูลเหมือนๆกันว่า ไม่กล้าขอโทษได้แต่นั่งดู นายสนิท หุ้มแพร ถูกเฆี่ยนจนสลบแล้วสลบอีก บรรดาผู้ปรากฏนาม ๕ ท่านนี้ นอกจากพระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษา (ทัด - สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ ในรัชกาลที่ ๔) แล้ว ก็มี พระยาอภัยโนริด (บุนนาก) ซึ่งต่อมาในรัชกาลที่ ๓ นี้เอง โปรดฯให้เป็นเจ้าพระยายมราช (บุนนาก) ท่านผู้นี้ เมื่อสร้างวัดราชนัดดา ปลายรัชกาลและโปรดฯให้เชิญพระประธานไปที่วัด บ้านของเจ้าพระยายมราชอยู่ใกล้วัด ท่านจึงออกมาช่วยบัญชาการ โดยเหตุที่ชรามากแล้ว เกิดพลาดล้มลงโดนล้อตะเฆ่ทับ แล้วเลยถึงแก่อสัญกรรม เวลานั้นยังไม่ได้ใช้นามสกุล ท่านจึงมีฉายาว่า เจ้าพระยายมราชตะเฆ่ทับ ต้นสกุล ‘ยมนาค’

พระยาศรีสหเทพ (ทองเพ็ง) เล่าแล้วในเรื่องชื่อสี่กั๊กพระยาศรี ต้นสกุล “ศรีเพ็ญ”

พระยาราชสุภาวดี (โต) หรือ เจ๊สัวโต มีหน้าที่อยู่ในกรมท่าซ้าย เป็นเจ้าพนักงาน “เหยียบหัวตะเภา” คือตรวจดูสินค้าในเรือที่ทางการต้องการเอาไว้ก่อน หรือก็คือการจัดสรรสินค้าให้นำไปออกขายพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ตรัสเรียกว่า “เจ๊สัว (เจ้าสัว) เหยียบหัวตะเภา” ต่อมาในรัชกาลที่ ๔ โปรดเกล้าฯให้เป็นเจ้าพระยานิกรบดินทร์ สมุหนายก ต้นสกุล “กัลยาณมิตร”

คนที่ตั้งใจจะเล่าในตอนนี้ คือ พระยาราชนิกุล (เสือ) นั้น พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ตรัสเรียกอย่างสนิทสนมว่า “ไอ้เสือ” เช่นเดียวกับที่เรียกพระยาราชมนตรี (ภู่) ข้าหลวงเดิมคนโปรดว่า “ไอ้ภู่” พระยาราชนิกุล (เสือ) นี้เกิด พ.ศ.๒๓๓๐ ปีเดียวกันกับพระราชสมภพในรัชกาลที่ ๓ เห็นจะเป็นข้าหลวงเดิมในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ เหมือนกัน คงจะเข้าเฝ้าแหนมาแต่ยังเยาว์วัย ด้วยเป็นบุตรชายของเจ้าพระยารัตนาพิพิธ (สน) ต้นสกุล ‘สนธิรัตน’

เจ้าพระยารัตนาพิพิธ (สน) นั้น ปรากฏว่าเป็นข้าหลวงเดิมในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ และคงโปรดปรานมาก ด้วยในจดหมายเหตุปูนบำเหน็จ มีความว่า

“...มีความชอบมาก สมควรจะให้ไปพานเมืองครองเมืองอันใหญ่ แต่ข้าพระพุทธเจ้าเห็นว่าจะไกลใต้ละอองธุลีพระบาทนัก ข้าพระพุทธเจ้าทั้งปวงขอพระราชทานให้เป็นเจ้าพระยารัตนาพิพิธ ว่าที่สมุหนายก...”

จึงเป็นสมุหนายกหรือจักรี ท่านแรกในกรุงเทพรัตนโกสินทร์ คู่กันกับ เจ้าพระยามหาเสนา (ปลี) สมุหพระกลาโหม ที่เป็นแม่ทัพไปตีทวายในรัชกาลที่ ๑ แล้วหายสูญไปไม่ได้ข่าวคราว

เจ้าพระยารัตนาพิพิธ (สน) มีบุตรชายเกิดแต่ท่านผู้หญิง ๓ ท่าน และธิดา ๑ ท่าน

บุตรชายทั้ง ๓ นั้น ท่านตั้งชื่อว่า เสือ หมี และ ลมั่ง (ต่อมาท่านใช้เพียง ‘มั่ง’)

๑. เสือ คือ พระยาราชนิกุล (เสือ) ถึงรัชกาลที่ ๔ ได้เป็นเจ้าพระยาธรรมา (เสือ) เสนาบดีจตุสดมภ์กรมวัง

๒. พระยาเสนาพิพิธ (หมี) ในรัชกาลที่ ๓

๓. เจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี (มั่ง) เสนาบดีจตุสดมภ์กรมวังในรัชกาลที่ ๕

ตระกูลเจ้าพระยารัตนาพิพิธ (สน สนธิรัตน) ได้เป็นเจ้าพระยาสืบกันมา ๓ ท่าน
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 20  เมื่อ 07 พ.ค. 15, 09:28

เจ้าพระยาสามชั่วคน นับว่าตระกูลสนธิรัตน์ " บิ๊ก" เอาการทีเดียวในช่วงรัชกาลที่ 3 และรัชกาลที่ 4

เจ้าพระยาเสือ ไม่มีบทบาทในชีวิตของท่านผู้หญิงกลีบเพราะถึงแก่อนิจกรรมไปก่อน  ส่วนเจ้าจอมพุ่มธิดาก็ท่านก็ถึงแก่กรรม จบบทบาทไปเมื่อท่านผู้หญิงอายุ 7 ขวบ   แต่ชีวิตเด็กชาววังของท่านผู้หญิงเพิ่งเริ่มต้น
ประวัติของท่านผู้หญิง สะท้อนให้เห็นแนวทางชีวิตของเด็กหญิงลูกผู้ดีมีสกุลในยุคนั้น ว่าได้รับการศึกษาอบรมดีกว่าลูกชาวบ้านโดยทั่วไป  คือมีโอกาสเข้าไปอยู่ในวังหลวงตั้งแต่อายุน้อยๆ จนโตเป็นสาว   ได้เล่าเรียนวิชาที่จำเป็นสำหรับสตรีคือวิชาการเหย้าการเรือน เพื่อออกมาบริหารครอบครัวต่อไป    ไม่ได้รียนเพื่อออกมาทำมาค้าขายอย่างลูกชาวบ้าน

การเข้าไปอยู่ในวังสำหรับเด็กหญิงในสมัยนั้นก็ไม่ใช่ว่าเข้ากันได้ง่ายๆ   คือแค่อยากเข้าก็เดินตรงเข้าไปได้   หากจำเป็นจะต้องมีผู้ใหญ่ในวัง จะระดับสามัญชนหรือระดับเจ้านายเป็นผู้สนับสนุนให้เข้าไปอยู่   เหมือนแม่พลอยมีแม่เป็นชาววังข้าหลวงเสด็จ  แม่ก็พาเข้าวังไปฝากไว้กับเสด็จเจ้านายเก่า ซึ่งถ้านับกันทางสายเลือดก็เป็นญาติกันทางเจ้าจอมมารดาของเสด็จ     ถ้าหากว่าแม่แช่มแม่ของแม่พลอยเป็นชาวบ้านธรรมดาก็ไม่อาจจะพาพลอยเข้าไปในวังได้ง่ายดายอย่างนี้
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 21  เมื่อ 07 พ.ค. 15, 09:50

    เจ้าพระยารัตนาพิพิธผู้เป็นคุณทวดคนใหญ่ของท่านผู้หญิงกลีบ มีธิดาท่านหนึ่งชื่อเจ้าจอมปุก เป็นเจ้าจอมมารดาของพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าจามรี พระเจ้าลูกเธอในรัชกาลที่ 3    พระองค์เจ้าจามรีทรงรับเด็กหญิงกลีบเข้าไปเป็นนางข้าหลวงน้อยๆในตำหนักของท่านในพระบรมมหาราชวัง
    นี่คือก้าวแรกในชีวิตชาววังของท่านผู้หญิง
    เด็กหญิงกลีบอยู่ในวังหลวงมาจนโกนจุก พ้นจากวัยเด็กเข้าสู่วัยสาว อายุได้ 13 ปี พระองค์เจ้าจามรีก็สิ้นพระชนม์ในพ.ศ. 2432

   ข้างล่างคือพระรูปพระองค์เจ้าจามรี

   


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 22  เมื่อ 07 พ.ค. 15, 10:00

     ตามธรรมเนียมสมัยนั้น เมื่อเจ้านายฝ่ายในตำหนักไหนสิ้นพระชนม์ นางข้าหลวงก็แยกย้ายกันไป บางคนก็ไปอยู่กับเจ้านายใหม่ บางคนก็กลับบ้านไปอยู่กับญาติพี่น้องหรือแต่งงานไป      
     ส่วนเด็กหญิงกลีบไปเป็นนางข้าหลวงของเจ้านายฝ่ายในพระองค์ใหม่ คือพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้านารีรัตนา  และเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าประดิษฐาสารี   ทั้งสองพระองค์เป็นพระเจ้าลูกเธอในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4   ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาดวงคำ พระราชนัดดาในเจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทน์
     การไปอยู่ตำหนักเสด็จฯทั้งสองพระองค์นี้ก็มีที่มาที่ไป   กล่าวคือเจ้าจอมมารดาดวงคำ เป็นญาติกับเจ้าสุพุทา ภรรยาของคุณหลวงธรเณนทร์ คุณทวดของท่านผู้หญิงกลีบ  คือย่าเจ้าสุพุทากับย่าของเจ้าจอมดวงคำเป็นพี่น้องกัน    ดังนั้นเจ้าจอมดวงคำกับเจ้าสุพุทาก็เป็นลูกพี่เรียงน้องในระดับเจอเนอเรชั่นเดียวกัน     เสด็จทั้งสองพระองค์ก็ทรงเห็นว่าเด็กหญิงกลีบนั้นเป็นญาติทางฝ่ายเจ้าจอมมารดาของท่าน
    เด็กหญิงกลีบจึงใช้ชีวิตในวัยรุ่นสาวอยู่ในตำหนักของเสด็จพระองค์หญิงทั้งสองพระองค์    นานเท่าใดไม่ได้บอกในประวัติ   ท่านผู้หญิงดุษฎีมาลาเล่าว่า เสด็จพระองค์หญิงสองพระองค์ทรงเล่าประทานท่านว่าเจ้าจอมมารดาดวงคำเห็นว่านางข้าหลวงคนนี้มีรูปร่างหน้าตางดงาม อัธยาศัยดี จึงตั้งใจจะนำขึ้นถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อรับราชการฝ่ายใน

ภาพล่าง เจ้าจอมมารดาดวงคำ


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 23  เมื่อ 07 พ.ค. 15, 10:18

   เมื่อความคิดนี้ล่วงรู้ไปถึงหูหมื่นนราอักษรผู้บิดาท่านผู้หญิง    ท่านไม่เต็มใจจะให้ลูกสาวเป็นเจ้าจอม จึงส่งภรรยามารับตัว ทูลลาว่าจะพาไปเยี่ยมบ้าน    แล้วท่านหมื่นก็พาลูกสาวหนีเข้าสวนบางยี่ขันไปฝากไว้กับมารดาท่าน
   ระหว่างนั้น หมื่นนราอักษรก็เสียชีวิตลง    แต่ได้สั่งคุณนายหุ่นมารดาของท่านผู้หญิงว่าเพื่อความปลอดภัยทั้งปวง   มิให้รับท่านผู้หญิงกลับไปอยู่ด้วยในพระนคร  จนกว่าจะมีครอบครัวเป็นหลักฐาน

   ท่านผู้หญิงกลีบในวัยสาวก็เลยต้องจากชีวิตในวัง มาอยู่อย่างลูกหลานชาวสวนแถบบางยี่ขัน กับญาติฝ่ายบิดาที่ท่านเองก็ไม่รู้จักมักคุ้นมาก่อน

   เรื่องนี้ถ้ามีใครยกมือถามว่าเหตุใดหมื่นนราอักษรถึงไม่เต็มใจกับเกียรติยศอันสูงส่งที่ลูกสาวจะได้รับ   ดิฉันก็จนปัญญาที่จะตอบ  เพราะการได้เป็นเจ้าจอมนั้นก็มิใช่ว่าเป็นได้ง่ายๆ   ยากกว่าเป็นนางข้าหลวงในวังเสียอีก   จะมีกรณียกเว้นเช่นพระเจ้าอยู่หัวโปรดประทานเกียรติยศนี้เองโดยตรงอย่างกรณีเจ้าจอมมารดาอ่วม  ก็ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยนัก     ส่วนใหญ่ขุนนางใหญ่ๆต่างก็เต็มใจจะถวายลูกสาวเป็นเจ้าจอมกันเป็นส่วนมาก   
    ถ้ามีคำถามก็คงจะต้องตอบแบบกำปั้นทุบดินว่า ท่านหมื่นท่านไม่สมัครใจ ก็เท่านั้น   
   พูดถึงพฤติกรรมของท่านหมื่นก็นับว่าห้าวหาญมาก   เพราะรู้ทั้งรู้ว่าเจ้าจอมมารดาดวงคำซึ่งก็มีความสำคัญโขอยู่ ในฐานะเจ้าจอมมารดาของพระองค์เจ้าถึงสององค์ อยากถวายลูกสาว   ท่านก็กล้าขัดใจ   ไม่ยักกลัวว่าเครือญาติในสกุลสนธิรัตน์ซึ่งมีจำนวนอยู่หลายคนในบ้านจะพลอยขัดเคืองไปด้วย   และท่านก็ไม่ยักกลัวว่าเครือญาติในย่านบางยี่ขันของท่านจะพลอยเดือดร้อนที่เอาลูกสาวไปฝากไว้
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 24  เมื่อ 10 พ.ค. 15, 15:01

  พยายามวาดภาพว่าชีวิตของเครือญาติฝ่ายพ่อของท่านผู้หญิงเป็นอย่างไร   เพราะท่านผู้หญิงดุษฎีมาลาธิดาของท่านไม่ได้ให้รายละเอียดไว้   เข้าใจว่าเป็นคหบดีชาวสวน คงจะอยู่รวมกันหลายคน  เป็นครอบครัวขยายตามธรรมเนียมในสมัยหนึ่งร้อยกว่าปีก่อน  มีมารดาของหมื่นนราอักษรหรือคุณย่าของท่านผู้หญิงเป็นผู้หลักผู้ใหญ่อยู่ในบ้าน     ท่านหมื่นจึงนำลูกสาวมาฝากไว้    ตัวท่านเองก็กลับไปอยู่บ้านของภรรยาที่สำราญราษฎร์ ไม่ได้มาอยู่รวมกันกับลูกสาว     เรียกได้ว่าเก็บลูกสาวไว้มิดชิดจริงๆ
  ในบ้านสวน  ท่านผู้หญิงได้รับการอบรมใหม่อย่างลูกสาวคหบดีชาวสวน  คือหัดทำกับข้าวกับปลาอย่างโบราณ   ไม่ได้ทำงานฝีมือละเอียดประณีตอย่างในวัง เพราะดูจะไม่จำเป็นสำหรับชีวิตชาวสวน     เรื่องใหญ่ในชีวิตประจำวันคือทำมาหากิน   เจ้าของสวนก็จะมีผลไม้ มีผักหญ้าในสวน เป็นสินค้านำรายได้เข้าบ้าน    ท่านผู้หญิงกลีบจึงต้องเก็บผลไม้ เก็บผัก ตัดใบตอง ให้คนใช้นำไปขาย     การที่มีคนใช้รับของสวนเหล่านี้ไปขาย ก็แสดงว่าฐานะเจ้าของสวนบางยี่ขันค่อนข้างดี  มีนายมีบ่าว  ท่านผู้หญิงไม่ต้องพายเรือนำไปขายเอง
   เจ้าของสวนบางยี่ขันคงจะเป็นคนขยัน  ลูกหลานจึงต้องทำโน่นทำนี่ไม่อยู่นิ่ง  และบวกกับเป็นนิสัยของท่านผู้หญิงด้วยที่เป็นคนขยัน   ในประวัติจึงบรรยายไว้ว่า  ในยามว่างท่านก็ทำการฝีมือที่ได้รับถ่ายทอดมาจากในวัง เช่น ถักตาชุน  ร้อยดอกไม้  ทำเครื่องใบตองพวกกระทงแบบต่างๆ ทั้งเล็กและใหญ่   พวกนี้นอกจากจะทำใช้เองแล้ว ก็เป็นสินค้าขายได้ด้วย     รายได้อีกอย่างคือรับสบงจีวรมาเย็บ เป็นรายได้พิเศษ 
   งานทั้งหมดนี้นอกจากเพิ่มพูนรายได้ ยังเป็นการเตรียมเด็กสาววัย 15  ไว้สำหรับภาระหนักที่จะตามมาข้างหน้า พร้อมกับบุญบารมีของท่าน
   
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 25  เมื่อ 10 พ.ค. 15, 15:19

  อันที่จริง  ถ้าหากว่าท่านผู้หญิงกลีบไม่ได้ถูกชะตาฟ้าลิขิตมาให้มีบุญเป็นถึงท่านผู้หญิง  ก็น่าคิดว่าสภาพแวดล้อมใหม่ที่บิดาของท่านส่งมาให้อยู่เพื่อหนีชีวิตเจ้าจอมในวัง  น่าจะทำให้ท่านหมื่นมีโอกาสได้ลูกเขยชาวสวนมากกว่าอาชีพอื่น
   ท่านผู้หญิงดุษฎีมาลาไม่ได้เล่าว่า ระยะเวลาสามปีเศษนับแต่ท่านผู้หญิงกลีบออกจากวังเมื่ออายุ 15 กว่า ๆมาจนถึงอายุ 18 ย่าง 19   มีหนุ่มชาวสวนบ้านใกล้เรือนเคียงมาสนใจใคร่สู่ขอบ้างหรือไม่      แต่ถ้ามองตามที่ท่านอธิบายไว้ในหนังสือว่า แม้ว่าหมกตัวอยู่ในสวน แต่กิติศัพท์ความดีความงามของท่านก็ขจรไปไกล  ถึงขั้นขุนนางชั้นผู้ใหญ่ในสกุลไกรฤกษ์อย่างพระยาเพ็ชรรัตน์ สนใจถึงกับส่งลูกหลานผู้หญิงไปดูตัว
   ขนาดสกุลไกรฤกษ์ที่อยู่ฝั่งพระนคร ยังสนใจ แล้วเจ้าของสวนแถวบางยี่ขันจะไม่สนใจอยากสู่ขอมาให้ลูกชายบ้างหรือ  มันก็คงต้องมีบ้างละน่า
   เดาว่าท่านผู้หญิงดุษฎีมาลาอาจจะทราบ แต่เอ่ยข้ามไป  เพราะถึงมีเจ้าของสวนแถวนั้นมาขอ  คุณย่าก็คงจะไม่ยกให้อยู่ดี   ท่านผู้หญิงเองก็คงไม่สมัครใจด้วย  จึงไม่จำเป็นต้องเอ่ยถึง
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 26  เมื่อ 10 พ.ค. 15, 15:28

ท่านผู้หญิงในวัยสาว


บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 27  เมื่อ 10 พ.ค. 15, 17:47

^
ภาพ "คุณหญิงกลีบ" เมื่ออายุ ๓๐ ปี ถ่ายเมื่อวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๔๙ ในเครื่องแต่งกายเต็มยศประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์จตุตถจุลจอมเกล้า
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 28  เมื่อ 10 พ.ค. 15, 18:03

เจออีกรูปหนึ่งค่ะ


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 29  เมื่อ 11 พ.ค. 15, 09:45

   ในยุคต้นรัชกาลที่ 5    หน้าที่การหาคู่ครองให้ลูกเป็นเรื่องของพ่อแม่   หนุ่มสาวโดยเฉพาะผู้อยู่ในฐานะสังคมดีแทบไม่มีโอกาสหาด้วยตัวเอง     พระยาเพ็ชรรัตน์ (โมรา ไกรฤกษ์)บิดาของเจ้าพระยามหิธรก็ทำตามธรรมเนียมนี้     เมื่อบุตรชายท่านคนที่ชื่อละออ เติบโตเป็นหนุ่ม เรียนจบเข้าทำงานราชการ  หน้าที่ของพ่อแม่ก็คือมองหาตัวสะใภ้ไว้ให้    โดยคัดเลือกจากหญิงสาวที่เหมาะสม
   สมัยนั้นอีกเช่นกัน ผู้ชายเป็นฝ่ายเลือก  ผู้หญิงเป็นฝ่ายถูกเลือก   จริงอยู่ ผู้หญิงอาจปฏิเสธชายที่ตนไม่พึงพอใจได้    แต่ก็ทำได้แค่นั้น   ไม่มีสิทธิ์จะไปมองหาหนุ่มคนไหนที่ถูกใจแล้วบอกพ่อแม่ว่า อยากจะแต่งกับคนนี้ละ     สิทธิ์นี้สงวนไว้ให้ชายโดยเฉพาะ

  พระยาเพ็ชรรัตน์มองหาว่าที่สะใภ้มาหลายรายแล้วหรือเปล่า ในหนังสือไม่ได้บอก   แต่ก็น่าคิดว่าคงมองๆเอาไว้หลายบ้าน  โดยให้ลูกหลานผู้หญิงเป็นแมวมอง   ในประวัติเล่าว่าท่านให้หลานสาวคือคุณท้าวนารีวรณารักษ์ (แจ่ม ไกรฤกษ์) สะใภ้ใหญ่ของท่าน คุณหญิงเอี่ยม จรรยายุตกฤตย์  และลูกสาวซึ่งยังเด็กไม่ประสีประสาคือเด็กหญิงจำเริญ (ต่อมาคือคุณหญิงจำเริญ ประเสริฐศุภกิจ) เป็นกองทัพเสริม  พากันไปดูตัวหญิงสาวในสวนบางยี่ขันซึ่งมีคนมาเล่าว่าหน้าตางดงาม มีคุณสมบัติเหนือสาวชาวสวนทั่วไป
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 [2] 3 4 ... 10
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.058 วินาที กับ 20 คำสั่ง