เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 2 [3] 4 5 ... 10
  พิมพ์  
อ่าน: 38179 ท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 30  เมื่อ 11 พ.ค. 15, 10:20

      เมื่อมาถึงบ้านสวนบางยี่ขัน   ฝ่ายมาเยือนก็เห็นบ้านช่องที่สะอาดมีระเบียบ   หลานสาวเจ้าของบ้านมีหน้าตางดงาม กิริยามารยาทเรียบร้อย  ดูเป็นผู้ดีผิดจากสาวชาวสวนโดยทั่วไป   แมวมองก็กลับมารายงานว่าหญิงสาวคนนี้เหมาะจะเป็นสะใภ้อีกคนของเจ้าคุณเพ็ชรรัตน์
      เมื่อได้รับคำรับรองเป็นเสียงเดียวกัน     พระยาเพ็ชรรัตน์ก็ตกลง   ในหนังสือไม่ได้บอกว่าท่านเจ้าคุณไปดูตัวว่าที่ลูกสะใภ้ด้วยตัวเองอีกทีหนึ่งหรือเปล่า    หรือว่าพอได้รับคำรับรองก็ตกลงเลย ไม่ต้องเห็นตัวจริงก็ได้     เรารู้แต่ว่าท่านขอให้พี่สาวท่านซึ่งเป็นภรรยาพระยามหาอำมาตย์ไปเป็นผู้ใหญ่ฝ่ายท่าน สู่ขอท่านผู้หญิงกลีบให้บุตรชาย ซึ่งขณะนั้นทำงานเป็นเสมียนเงินเดือน 30 บาทอยู่ที่อรรถวิจารณ์ศาลา (หรือศาลฎีกา)    คุณย่าของท่านผู้หญิงก็ตกลง
      ขอหมายเหตุไว้ว่า  เรื่องดำเนินมาจนตกลงปลงใจจะร่วมหอลงโรงกัน  ท่านผู้หญิงกลีบกับว่าที่เจ้าบ่าวยังไม่เคยเห็นหน้าค่าตากันเลย
บันทึกการเข้า
unming
อสุรผัด
*
ตอบ: 19


ความคิดเห็นที่ 31  เมื่อ 11 พ.ค. 15, 10:22

แปลกเหมือนกันนะคะ ในสมัยก่อน ผู้ใหญ่ จะ เป็นคน คัดเลือก คู่ครองให้กับ ลูก ๆ หลาน ๆ เหมือนจะไม่มีสิทธิในการเลือกคู่ครองเอง แต่ก็อยู่กินกันยืดยาวไม่ค่อยมีการหย่าร้าง แต่สมัยนี้ รักกัน ชอบกันเอง แต่อัตราการหย่าร้างสูงมาก  ฮืม
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 32  เมื่อ 11 พ.ค. 15, 10:37

เกิดจากบริบททางสังคมเปลี่ยน   ความรู้สึกนึกก็คิดเปลี่ยน   ค่ะ
ผู้หญิงยุคก่อนถูกสอนให้อดทน    ผู้หญิงยุคนี้ถูกสอนให้ถามว่า "ทำไมต้องทน"
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 33  เมื่อ 11 พ.ค. 15, 11:02

   อ่านประวัติในหนังสืองานศพของคนยุคหนึ่งร้อยกว่าปีก่อนหลายๆท่านด้วยกัน   ได้แบบแผนการดำเนินชีวิตมาคล้ายๆกัน  คือในการแต่งงาน ผู้ใหญ่จะคำนึงถึงความมั่นคงของชีวิตคู่มากกว่าอารมณ์ส่วนตัวของหนุ่มสาว     เมื่อมีการทาบทามสู่ขอ  ผู้ใหญ่ฝ่ายหญิงก็จะพิจารณาว่าฝ่ายชายมาจากครอบครัวที่ดีไหม   คือมีพ่อที่ทำงานเป็นหลักเป็นฐาน มีฐานะไม่ลำบากยากจน   ตัวผู้ชายเองมีงานทำ มีรายได้พอเลี้ยงภรรยาและลูกๆที่จะเกิดมา   
    ส่วนผู้ใหญ่ฝ่ายชายก็จะมองว่าหญิงสาวที่เข้ามาเป็นสะใภ้ สามารถแบกรับภาระครอบครัวได้ดีหรือไม่  คือนอกจากดูแลปรนนิบัติสามีด้วยวิชาการครัวและดูแลบ้านช่องเป็นแล้ว ก็ต้องเลี้ยงลูกเป็น เช่นเย็บเสื้อผ้า ทำกับข้าวทำขนมให้ลูกได้   เข้ากับญาติผู้ใหญ่ฝ่ายสามีได้ดี    ถ้าสามีเกิดตายหรือลำบากยากจนกะทันหัน   ภรรยาก็ต้องขยัน รู้จักหารายได้เข้าบ้านช่วยสามีได้ด้วย  ไม่เอาแต่ผลาญเงินสามี
   สรุปว่าสมรสในสมัยนั้นคล้ายๆกับหาหุ้นส่วนตั้งบริษัท  ต่างฝ่ายต่างต้องมีคุณสมบัติที่ดี จึงช่วยกันประกอบกิจการให้เจริญรุ่งเรืองได้    แต่หุ้นส่วนไม่จำเป็นต้องรักกันชนิดจะตายแทนกันได้  แค่เคารพและให้เกียรติกันก็พอ
บันทึกการเข้า
han_bing
นิลพัท
*******
ตอบ: 1622



ความคิดเห็นที่ 34  เมื่อ 11 พ.ค. 15, 11:15

   เมื่อความคิดนี้ล่วงรู้ไปถึงหูหมื่นนราอักษรผู้บิดาท่านผู้หญิง    ท่านไม่เต็มใจจะให้ลูกสาวเป็นเจ้าจอม จึงส่งภรรยามารับตัว ทูลลาว่าจะพาไปเยี่ยมบ้าน    แล้วท่านหมื่นก็พาลูกสาวหนีเข้าสวนบางยี่ขันไปฝากไว้กับมารดาท่าน
   ระหว่างนั้น หมื่นนราอักษรก็เสียชีวิตลง    แต่ได้สั่งคุณนายหุ่นมารดาของท่านผู้หญิงว่าเพื่อความปลอดภัยทั้งปวง   มิให้รับท่านผู้หญิงกลับไปอยู่ด้วยในพระนคร  จนกว่าจะมีครอบครัวเป็นหลักฐาน

   ท่านผู้หญิงกลีบในวัยสาวก็เลยต้องจากชีวิตในวัง มาอยู่อย่างลูกหลานชาวสวนแถบบางยี่ขัน กับญาติฝ่ายบิดาที่ท่านเองก็ไม่รู้จักมักคุ้นมาก่อน

   เรื่องนี้ถ้ามีใครยกมือถามว่าเหตุใดหมื่นนราอักษรถึงไม่เต็มใจกับเกียรติยศอันสูงส่งที่ลูกสาวจะได้รับ   ดิฉันก็จนปัญญาที่จะตอบ  เพราะการได้เป็นเจ้าจอมนั้นก็มิใช่ว่าเป็นได้ง่ายๆ   ยากกว่าเป็นนางข้าหลวงในวังเสียอีก   จะมีกรณียกเว้นเช่นพระเจ้าอยู่หัวโปรดประทานเกียรติยศนี้เองโดยตรงอย่างกรณีเจ้าจอมมารดาอ่วม  ก็ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยนัก     ส่วนใหญ่ขุนนางใหญ่ๆต่างก็เต็มใจจะถวายลูกสาวเป็นเจ้าจอมกันเป็นส่วนมาก   
    ถ้ามีคำถามก็คงจะต้องตอบแบบกำปั้นทุบดินว่า ท่านหมื่นท่านไม่สมัครใจ ก็เท่านั้น   
   พูดถึงพฤติกรรมของท่านหมื่นก็นับว่าห้าวหาญมาก   เพราะรู้ทั้งรู้ว่าเจ้าจอมมารดาดวงคำซึ่งก็มีความสำคัญโขอยู่ ในฐานะเจ้าจอมมารดาของพระองค์เจ้าถึงสององค์ อยากถวายลูกสาว   ท่านก็กล้าขัดใจ   ไม่ยักกลัวว่าเครือญาติในสกุลสนธิรัตน์ซึ่งมีจำนวนอยู่หลายคนในบ้านจะพลอยขัดเคืองไปด้วย   และท่านก็ไม่ยักกลัวว่าเครือญาติในย่านบางยี่ขันของท่านจะพลอยเดือดร้อนที่เอาลูกสาวไปฝากไว้

อันนี้ขอสันนิษฐานจากเรื่องราวในวังจีน

ในวังจีนนั้นพ่อแม่หลายคนวิ่งเต้นแทบตายเพื่อให้ลูกสาวได้ถวายตัวเข้าอยู่ในวัง แต่หลายคนก็ไม่มีความประสงค์ เพราะมีคำกล่าวแต่โบราณว่า "ลู่กงเซินซื่อไห่" (入宫深似海) แปลว่า เข้าสู่วังนั้นลึกล้ำหนึ่งก้าวลงทะเล คือ ลูกสาวเข้าวังปุ๊บ พ่อแม่ก็สิ้นความสามารถในการที่จะปกป้องคุ้มครองลูก เรื่อยไปจนถึงความสะดวกในการพบหน้าพบตาลูกอีกต่อไป นี้ยังไม่นับลูกตัวเองจะกลายเป็นหมู่ดาวเล็กๆอันล้อมรอบเดือน ดังนั้น พ่อแม่หลายคนจึงเลือกที่จะไม่ยอมส่งลูกเข้าวัง ให้ลูกใช้ชีวิตแบบสามัญชนเรียบๆง่ายๆ สบายๆมากกว่า เรื่องนี้มีขุนนางจีนหลายท่าน รวมไปจนถึงเชื้อพระวงศ์จีนหลายท่านพยายามไม่ให้ลูกสาวตัวเองถูกส่งเข้าวัง เพราะความห่วงลูก อาทิ บิดาของท่านหญิงเต๋อหลิง ถึงขั้นไม่ยอมบันทึกการเกิดของลูกสาวสองคนของตนไว้ เพราะกลัวว่า ถ้าบันทึกแล้วลูกสาวตัวเองจะต้องถูกส่งตัวไปคัดเลือกเข้าวังและจะได้เข้าวังกับเขาจริงๆ

ท่านหมื่นคงมีความคิดเช่นเดียวกัน กระมัง

อันนี้สันนิษฐานล้วนๆ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 35  เมื่อ 11 พ.ค. 15, 11:48

ก็เป็นความเห็นที่เป็นไปได้ค่ะ    ขอบคุณที่มาร่วมวง
บันทึกการเข้า
เอื้องหลวง
มัจฉานุ
**
ตอบ: 55


ความคิดเห็นที่ 36  เมื่อ 11 พ.ค. 15, 12:16

อย่างเรื่องการแต่งงานของคนสมัยก่อน เหมือนกับที่อาจารย์เทาชมพูเขียนไว้ว่าเหมือนหาหุ้นส่วนที่ต้องช่วยกันประกอบกิจการ ผู้หญิงสมัยก่อนไม่ได้เรียนหนังสืออ่านเขียน หน้าที่ทำงานหาเงินนอกบ้านจึงเป็นของสามี แต่งานในบ้านตั้งแต่การอยู่การกินไปจนถึงเลี้ยงลูก ก็เป็นหน้าที่ของภรรยา
สมัยนี้ผู้หญิงผู้ชายก็เรียนสูงพอๆ กัน หน้าที่การงานมั่นคงเหมือนๆ กัน สามารถเป็น single mom / dad ได้ ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาอีกฝ่าย เลยเป็นเหตุผลให้คนเลือกที่จะหย่ากันมากกว่าทนทุกข์ร่วมกันมั้งคะ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 37  เมื่อ 11 พ.ค. 15, 16:24

  ผู้ใหญ่ฝ่ายชายและฝ่ายหญิงตกลงกันด้วยทองหมั้น หนัก 20 บาท   กองทุนแต่งงานคือผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายต่างนำมามอบให้เท่าๆกันคือฝ่ายละ 5 ชั่ง (400 บาท)  สินสอด 2 ชั่ง (160 บาท)   ฝ่ายชายตกลงปลูกเรือนหอให้ที่ในที่ของคุณนายหุ่นมารดาของท่านผู้หญิงที่สำราญราษฎร์  เป็นเรือนไทยฝาปะกน 1 หลัง
  เมื่อตกลงหมั้นกันโดยไม่ได้เห็นหน้ากันแล้ว   คุณนายหุ่นมารดาของท่านผู้หญิงก็มารับตัวลูกสาวออกจากบ้านบางยี่ขันกลับไปอยู่ที่สำราญราษฎร์  เพื่อเตรียมตัวสำหรับวิวาห์    จากประวัติตอนนี้ทำให้ทราบว่าท่านผู้หญิงอยู่กับคุณย่านั้นอยู่ตัวคนเดียวจริงๆ  แม่ไม่ได้มาอยู่ด้วย     เพิ่งมารับกลับไปบ้านแม่ที่อยู่ในเขตบ้านคุณตาทวดก็เมื่อจะแต่งงานนี้เอง
  ส่วนทางเจ้าบ่าวก็ทำตามประเพณีไทย คือบวชให้เรียบร้อยก่อนแต่ง    การบวชสมัยนั้นก็ต้องบวชครบ 1 พรรษา ไม่ใช่สามวันเจ็ดวัน   
  นายละออหรือเจ้าพระยามหิธรบวชที่วัดบวรนิเวศ    พายเรือมารับบิณฑบาตในคลองหน้าบ้านเจ้าสาวหนหนึ่ง  ทำให้เจ้าสาวมีโอกาสเห็นคู่หมั้นเป็นครั้งแรก   แต่การเห็นครั้งนั้นก็คงเห็นกันเป็นเวลาไม่กี่วินาที   แค่มารับบาตร   แล้วพายเรือออกไป   จะพูดจากันสักคำก็ไม่ได้แน่นอน
  หลังจากเห็นกันครั้งเดียว  ท่านผู้หญิงมาเห็นอีกครั้งก็ในวันรดน้ำแต่งงาน  เจ้าบ่าวมาเข้าพิธีเลยทีเดียว   
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 38  เมื่อ 12 พ.ค. 15, 08:33

   วันสมรสของท่านผู้หญิงกลีบ แม้บรรยายไว้ในหนังสือเพียงย่อหน้าเดียว แต่ก็ชัดเจนมองเห็นภาพ 
   ในยุคนั้น ไม่มีชุดเจ้าสาวเป็นพิเศษสำหรับวันนี้  เจ้าสาวคงจะแต่งชุดที่ดีที่สุดเท่าที่มี   ท่านผู้หญิงกลีบนุ่งผ้าลายขัดมัน  คาดเข็มขัดเงิน ใส่เสื้อมีเอ็น ปลายเอวแหลมติดลูกไม้โดยรอบ  และห่มแพรจีบสไบเฉียง  ไม่ได้สวมรองเท้า
   ส่วนเจ้าบ่าวนุ่งผ้าม่วงโจงกระเบนสีเหลือง ใส่เสื้อราชปะแตน สวมถุงน่องรองเท้า

   ขออธิบายแฟชั่นสมัยนั้นให้สาวๆ ที่เข้ามาอ่านกระทู้นี้ได้ฟังค่ะ
   ผ้าลาย-ชาวเรือนไทยคงรู้จักว่าเป็นผ้าแบบไหน   ส่วนคำว่า"ขัดมัน" ไม่ใช่ชนิดของผ้าลาย   แต่เป็นกรรมวิธีทำให้ผ้าลายแข็งเรียบขึ้นเงาสวยงาม    คือเวลาซักผ้า  ต้องใส่ลูกซัดลงไป  มันจะคายยางออกมาเหมือนเจล ทำให้ผ้าแข็ง   จากนั้นก็เอาผ้าขึ้นมาขัดด้วยหอยโข่งตัวใหญ่ๆ ลงมือขัดไปทีละส่วน  ผ้าลายจะเรียบเป็นมัน   สวยกว่าผ้าลายที่ไม่ได้ขัด
   เข็มขัดเงิน สาวๆสมัยนั้นนุ่งผ้าไม่มีขอบเอว ไม่มีซิป ไม่มีตะขอ ก็ต้องอาศัยเข็มขัด    ปกติเข็มขัดหรูหราที่สุดคือเข็มขัดทอง รองลงมาคือเข็มขัดนาก  เข็มขัดเงินอยู่อันดับสาม
   ใส่เสื้อมีเอ็น   เอ็นนี้เป็นเส้นแข็งเล็กๆสอดไว้ข้างในตัวเสื้อ เหมือนโครงเสื้อชั้นในสมัยนี้เพื่อยกทรงให้กระชับ 
   ปลายเอวแหลม =  ตัวเสื้อยาวเลยเอวลงมา  ปลายด้านหน้าแหลม ติดลูกไม้
   ห่มแพรจีบ      =  จีบเหมือนพลีต  เป็นสไบทับเสื้ออีกที
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 39  เมื่อ 12 พ.ค. 15, 08:36

ภาพนี้คือเจ้าคุณพระประยูรวงศ์  แต่งกายในยุคเดียวกับท่านผู้หญิงกลีบในวันวิวาห์  แม้ไม่เหมือนกันทีเดียวก็พอจะทำให้นึกออกว่า ท่านผู้หญิงแต่งกายแบบไหน


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 40  เมื่อ 14 พ.ค. 15, 08:30

     พูดถึงพิธีรดน้ำแต่งงานของไทย  ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ เรียกว่าซัดน้ำมากกว่ารดน้ำ  คือพระสงฆ์สาดน้ำเจ้าบ่าวเจ้าสาวและเพื่อนเจ้าบ่าวเจ้าสาวจนเปียกโชก    เจ้าบ่าวต้องผลัดผ้าใหม่    ต่อมาพิธีซัดน้ำในสมัยรัชกาลที่ 5  ก็เปลี่ยนให้เปียกน้อยลงคือเป็นรดน้ำ ไม่ใช่ซัดน้ำอย่างเดิม
      ในวันรดน้ำแต่งงาน  ผู้มารดน้ำคือผู้ใหญ่ของทั้งฝ่ายเจ้าบ่าวเจ้าสาว  ไม่มีเพื่อนๆหรือหนุ่มสาววัยเดียวกันมาร่วม    วิธีรดน้ำแบบเก่าดิฉันยังทันเห็น คือรดน้ำสังข์ลงไปบนศีรษะจนหัวหูเปียกทั้งบ่าวและสาว   ไหลลงไปถึงเสื้อผ้า    แต่ตอนหลังก็เพลาๆลงเป็นแค่รดนิดหน่อยบนหน้าผาก ไม่กี่หยด    ไม่ถึงกับเปียกปอน  เจ้าบ่าวเจ้าสาวยังรักษาเสื้อผ้าไว้ได้เอี่ยมอ่อง พร้อมจะต้อนรับแขก        ปัจจุบันรดที่มือ ถือว่าสะดวกที่สุด
     ในเมื่อรดน้ำกันจนเสื้อผ้าเปียก   เจ้าบ่าวก็ต้องเปลี่ยนผ้าใหม่เวลาส่งตัว  จะนั่งเปียกปอนอย่างนั้นต่อไปก็ไม่เข้าที   ผ้าที่มีไว้ให้เจ้าบ่าวผลัดเรียกว่า "ผ้าห้อยหอ" (ไม่ใช่ผ้าห้อยคอ นะคะ)
     ผ้าห้อยหอของนายละออหรือเจ้าพระยามหิธร   ท่านผู้หญิงกลีบเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดี  อีก 36 ปีต่อมาผ้าเก่าแก่ผืนนี้ก็ได้ใช้งานอีกครั้งในวันวิวาห์ของท่านผู้หญิงดุษฎีมาลาลูกสาวของท่าน  เป็นผ้าห้อยหอสำหรับเจ้าบ่าว ม.ล.ปิ่น มาลากุล   

     
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 41  เมื่อ 14 พ.ค. 15, 08:35

  ความประทับใจของเจ้าบ่าวที่มีต่อเจ้าสาววัย 18 ย่าง19 ที่มีโอกาสเห็นกันก่อนหน้านี้หนเดียว คือความประทับใจในฝีมือทำอาหารของฝ่ายหญิง      
  อาหารมื้อแรกที่ท่านผู้หญิงทำให้สามีคือน้ำปลามะกอก     เดี๋ยวนี้จะยังมีใครทำอยู่หรือไม่ก็ไม่ทราบ เพราะไม่เคยเจอตามร้านอาหาร  อาจจะมีกินตามบ้านสำหรับบ้านที่ชอบรสชาติอาหารไทยพื้นบ้านของภาคกลาง

   ไปเจอวิธีทำน้ำปลามะกอกของคุณหนานคำ เจ้าของคอลัมน์พ่อบ้านทำครัว   ซึ่งรวมเล่มหนังสือมาหลายเล่มแล้ว จึงขอลอกมาให้อ่านกันค่ะ

พ่อบ้านทำครัว
หนานคำ
น้ำปลามะกอก

   กับข้าวที่ผมเสนอคราวนี้ ขอนำท่านผู้อ่านออกจากร้านกุ๊กจีนกลับคืนสู่บ้านทุ่งริมแม่น้ำน้อยอีกครั้ง เมื่อดูจากชื่อและภาพประกอบผมเชื่อท่านผู้อ่านส่วนใหญ่คงรู้จักดี เป็นกับข้าวชาวทุ่งที่ธรรมดาสามัญอย่างยิ่ง แต่ผมขอเรียนถามท่านผู้อ่านสักหน่อยเถิดว่า ได้กินน้ำปลามะกอกครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่ครับ
   ผลมะกอกที่ท่านเห็นอยู่ในภาพ ชาวบ้านทุ่งเรียกกันว่า “มะกอกน้ำ” ใช่แล้วครับเคยมีขายตามรถเข็นขายผลไม้ดองบางเจ้าในลักษณะดองเกลือจิ้มกินกับพริกกะเกลือ บางเจ้าเชื่อมด้วยน้ำตาลเหนียวใสซึ่งบางทีก็มีกุ้งแห้งตัวเล็กๆสีแดงใส่มาด้วย แต่ครั้งสุดท้ายที่ผมเคยเห็นนั้นผ่านมานานหลายปีแล้ว
   ที่บ้านริมแม่น้ำน้อยปลูกมะกอกน้ำไว้ที่ริมตลิ่งชายแม่น้ำหน้าบ้านสลับกับต้นสนุ่น พวกเราชาวทุ่งเก้าในสิบบ้านใช้ต้นไม้สองชนิดนี้กันลมมรสุมที่พัดมาจากทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ นอกจากนั้นยังใช้รากต้นไม้ช่วยยึดเกาะอุ้มดินชายตลิ่งเอาไว้ไม่ให้ถูกกระแสน้ำพัดเซาะจนละลายไปกับสายน้ำ
   มะกอกน้ำให้ผลปีละครั้งเดียวในหน้าน้ำหลาก คือช่วงระหว่างปลายเดือน ๑๐ ถึงต้นเดือน ๑๒ (ไทย) พร้อมๆกับมะดันที่ให้ผลชุกในหน้านี้เช่นกัน ทั้งมะกอกน้ำและมะดันไม่ใช่พืชเศรษฐกิจ จึงหลงเหลืออยู่เท่าที่สภาพธรรมชาติเอื้ออำนวยและเจ้าของที่ดินยังไม่ได้ใช้ประโยชน์จากพื้นที่บริเวณนั้น เท่านั้นเอง
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 42  เมื่อ 14 พ.ค. 15, 08:38

       ผลมะกอกน้ำจากต้นหน้าบ้านเมื่อแก่จัดจนสุกคาต้นจะหล่นลงไปลอยอยู่ในแม่น้ำน้อย พอได้เวลามะกอกสุกยายหรือแม่มักใช้ให้พวกเราลงน้ำลอยคอเอาไม้ไผ่แห้งปล้องโตๆผูกกับหลักเป็นคอกสี่เหลี่ยมลอยน้ำอยู่โดยรอบทรงพุ่มของต้นมะกอก เพื่อให้สามารถเก็บผลมะกอกที่ร่วงลงไปอยู่ในน้ำได้โดยง่าย
ผลมะกอกน้ำที่สุกคาต้นนี้เนื้อนุ่ม มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว แต่ยังรักษาความเปรี้ยวอันเป็นเอกลักษณ์ไว้เช่นเดียวกับมะดัน
   เมื่อเก็บผลสุกมาได้ยายจะเลือกเอามาแต่ผลใหญ่ๆล้างให้สะอาด ใช้มีดปอกผลไม้คมๆปอกเปลือกออกอย่างเบามือ ฝานเอาแต่เนื้อใส่ถ้วยผสมกับน้ำปลาดี น้ำตาลปีบนิดหนึ่ง คนให้เข้ากัน ซอยหอมแดงใส่ลงไปตามด้วยพริกป่นคั่วใหม่ๆ บางทีก็เปลี่ยนจากพริกป่นเป็นพริกขี้หนูสวนซอยละเอียดยิบ
   น้ำปลามะกอกฝีมือยายหอมหวนชวนหิว ฉีกปลาย่างใหม่ๆชิ้นพอคำวางลงในจานข้าวที่เพิ่งสุกระอุ ตักน้ำปลามะกอกให้มีเนื้อมะกอก หอมแดงซอยติดแกมกันมาหยอดลงไปบนชิ้นปลา ใช้มือเปิบข้าวเข้าปาก ความเปรี้ยวและกลิ่นหอมของเนื้อมะกอกสุกทำให้ต่อมน้ำลายและน้ำย่อยทำงานไปพร้อมกัน
   วันไหนที่เก็บมะกอกน้ำได้มากจนเหลือกิน บางทีแม่ก็ล้างให้สะอาด ดองน้ำเกลือยกเอาไปตากไว้กลางแดดจัด ๒-๓ วัน ก่อนสงขึ้นมาเชื่อมด้วยน้ำตาลปีบเคี่ยวเหนียวหนับมีครบรสทั้งเปรี้ยว เค็ม หวาน เป็นขนมสำหรับลูกหลานที่มีอยู่เต็มบ้าน บางทีก็มีคนมารับซื้อผลมะกอกดิบถึงบ้านโดยใช้วิธีปีนขึ้นเขย่าต้น
   เมื่อเข้าไปเรียนชั้นมัธยมที่ตลาดบ้านแพน เวลาที่ครูภาษาไทยสอนถึงคำพังเพยที่ว่า “มะกอกสามตะกร้าปาไม่ถูก” ผมไม่เคยนึกถึงมะกอกชนิดอื่นนอกจากมะกอกน้ำ เพราะสมัยนั้นยังไม่รู้จักทั้งมะกอกฝรั่งและมะกอกป่าที่ชาวอีสานใส่ปรุงรสส้มตำ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 43  เมื่อ 14 พ.ค. 15, 08:39

      เมื่อสิบกว่าปีที่แล้วน้ำท่วมครั้งใหญ่ พื้นบ้านสามหลังที่ริมแม่น้ำน้อยถูกน้ำท่วมทั้งหมด ขณะนั้นพ่อและแม่ยังมีชีวิตอยู่ ต้องยกพื้นบ้านขึ้นมาสูงกว่าระดับพื้นบ้านเดิมถึงเมตรเศษ ครอบครัวของผมจึงล่องมาจากชัยนาทเพื่อเยี่ยมพ่อกับแม่และน้องๆ
   พี่อั้มกับน้องอั๋นซึ่งยังเป็นเด็กลงหัดว่ายน้ำพายเรือเล่นในบริเวณซึ่งเคยเป็นนอกชานบ้าน ขณะนั้นน้ำท่วมลึกเพียงอกผู้ใหญ่ เสียงคุณแดงบ่นแจ๋วๆด้วยความเป็นห่วงลูกขณะที่ปู่กับย่านั่งอมยิ้มดูหลานเล่นน้ำอย่างมีความสุข
พอคุณแดงเผลอผมซึ่งลงน้ำเป็นพี่เลี้ยงอยู่ใกล้ๆลูกก็ชวนลูกชายทั้งสองคนขึ้นนั่งเรือ ซ้อมพายวนไปวนมาอยู่สักพักก็แอบพายเรือผ่านประตูหน้าบ้านออกไปในแม่น้ำน้อย
   พวกเราสามคนพ่อลูกพายเรือเลาะไปตามชายฝั่งกลางแดดร้อนเปรี้ยง ผมชี้ให้ลูกดู “รอ” ที่บางบ้านปักไม้ไผ่ทั้งลำลงไปในน้ำเป็นแถวยาวออกมาจากชายตลิ่ง ผูกไม้ไผ่ลอยตามขวางไว้จนตลอดความยาวขวางแม่น้ำบางส่วนไว้มีแพสวะติดอยู่เต็มเขียวเป็นพืด ผมบอกเขาว่านั่นคือภูมิปัญญาท้องถิ่น
กระแสน้ำเชี่ยวกรากในแม่น้ำน้อยเมื่อประทะเข้ากับรอที่สร้างขวางอยู่ก็ชะลอความเร็วลง มีหลายรอหลายบ้านเข้าน้ำใกล้ตลิ่งก็จะค่อยๆไหลช้าลงกว่ากระแสน้ำที่กลางแม่น้ำ เป็นการป้องกันไม่ให้ผืนดินที่ปลูกบ้านถูกน้ำเซาะจนบ้านพังทลายไปกับสายน้ำ โดยเฉพาะบ้านที่ปลูกอยู่บริเวณคุ้งน้ำ
ปีนั้นมะกอกน้ำหน้าบ้านพร้อมใจกันไม่ออกผล ผมพายเรือพาไปดูต้นที่ออกผลซึ่งอยู่หน้าบ้านถัดขึ้นไป ๒-๓ หลังให้หายสงสัย ยังมีไม้น้ำอีกหลายอย่างที่ลูกไม่เคยรู้จักเช่น อ้อ พง แขม แพงพวย โสน ฯลฯ ก็ได้โอกาสแนะนำให้เขารู้จักเสียคราวนั้น
ถือเป็นการผจญภัยย่อยๆใช้ชีวิตลูกแม่น้ำร่วมกันระหว่างพ่อลูก ก่อนหันหัวเรือพายกลับบ้านมาผจญภัยในบ้านกับเสียงบ่นด้วยความห่วงใยของคุณแดง
ตามคุณแดงไปจ่ายกับข้าวที่ตลาดนัดกระทรวงสาธารณสุขครั้งนี้ ผมได้พบมะกอกน้ำเพื่อนเก่าที่ ชาวสวนใส่กระทงใบตองมาวางขาย ลองแอบบีบดูไม่ใช่มะกอกสุกครับ นึกถึงน้ำปลามะกอกฝีมือยายแล้วอยากบันทึกไว้จึงเกิดกับข้าวนอกรายการขึ้นอีกอย่าง รอถึงการถ่ายภาพครั้งต่อไปก็เลยหน้ามะกอกเสียแล้ว
เนื้อมะกอกน้ำดิบมีรสฝาด ต้องปอกเปลือกแล้วสับละเอียดขยำกับเกลือซาวน้ำทิ้งเสียครั้งหนึ่งความฝาดจึงจะลดลงจนนำมาทำกินได้ แต่ไม่หอมอร่อยเหมือนกับเนื้อมะกอกน้ำสุกคาต้น
ปลาดุกย่างในภาพก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ผมอยากอวดท่านผู้อ่าน ลองสังเกตวิธีเสียบไม้ย่างปลาดุกสิครับ เสียบไม้ลักษณะนี้คือการย่างปลาแบบลูกแม่น้ำ กินปลาเป็นมาตั้งแต่สอนเดิน(คนเสียบไม่ใช่ลูกแม่น้ำ คนสอนก็ต้องเป็นลูกแม่น้ำละครับ) เสียบไม้ย่างปลาวิธีนี้ดึงไม้ออกง่ายเสียเนื้อปลาติดไม้ไปไม่มากนัก
ไม่ใช่วิธีในปัจจุบันซึ่งเสียบไม้เข้าทางปากดันไม้เลาะก้างกลางไปจนถึงปลายหาง ขึงตัวปลาเหยียดตรงเหมือนแท่งหินไร้อารมณ์ถอดไม้เสียบออกก็แสนยาก
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 44  เมื่อ 14 พ.ค. 15, 08:40

         ผมจะชวนท่านผู้อ่านเข้าครัวทำ “น้ำปลามะกอก” ก็ดูเหมือนว่าเป็นกับข้าวที่มีขั้นตอนยากเย็นเสียนักหนา เอาอย่างนี้เถอะตามผมมานั่งที่ยกพื้นหน้าครัว ดูผมทำน้ำปลามะกอกแบบแกะรอยยายจะดีกว่า
เครื่องปรุง มะกอกน้ำสุกขนาดเขื่องหน่อยสัก ๗-๑๐ ผล หอมแดง ๒-๓ หัว น้ำปลาดี น้ำตาลปีบ พริกป่นคั่วใหม่ๆ
วิธีทำ ๑) ล้างผลมะกอกน้ำให้สะอาด ใช้มีดปอกผลไม้คมๆปอกเปลือกมะกอกอย่างเบามือแล้วจึงฝานเอาแต่เนื้อมะกอกใส่ถ้วยจนหมด
๒) เทน้ำปลาดีลงไปในถ้วยพอท่วมเนื้อมะกอกที่ฝานไว้ น้ำตาลปีบสัก ๑ ช้อนกาแฟใส่ตามลงไปแล้วคนจนน้ำตาลละลายเข้ากับน้ำปลา
๓) ปอกเปลือกหอมแดงล้างให้สะอาดซอยตามขวางบางๆใส่ตามลงไปในถ้วยคนเคล้าให้เข้ากัน โรยพริกป่นคั่วใหม่ลงไปตามชอบ ส่วนของผมคือ ๑ ช้อนกาแฟพูน จัดสำรับได้แล้วครับ

หมายเหตุและทีเด็ดเคล็ดไม่ลับ
๑) น้ำปลามะกอกกินกับปลาย่างใหม่ๆจึงจะถูกคู่อร่อยที่สุด กินกับไข่เจียวหรือปลาทูทอดก็ได้ครับอร่อยรองลงไปหน่อย
๒) แถวบ้านผมเรียกมะกอกน้ำว่า “มะกอก” ผมจึงเขียนปะปนกันไป ชาวทุ่งเรียกมะกอกผลใหญ่ขนาดไข่ไก่ที่ปอกแล้วเฉาะจิ้มพริกกะเกลือว่า “มะกอกฝรั่ง” เรียกมะกอกที่ใส่ส้มตำว่า “มะกอกป่า”
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 2 [3] 4 5 ... 10
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.06 วินาที กับ 19 คำสั่ง