เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 4 5 [6] 7 8 9
  พิมพ์  
อ่าน: 54955 นอนอยู่กับแผ่นดินไหว(2)
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 75  เมื่อ 10 มิ.ย. 15, 18:52

เรื่องที่อยากจะให้พิจารณาอีกเรื่องหนึ่งก็คือ ในประวัติศาสตร์ของไทยเรา ในบรรดาบันทึกทางประวัติศาสตร์ทั้งหลาย (จดหมายเหตุ พงศาวดาร ฯลฯ) มีการบันทึกเหตุการณ์แผ่นดินไหวหลายครั้งมาก ซึ่งเคยมีการรวบรวมไว้โดยปรมาจารย์ทางธรณีวิทยาของเราท่านหนึ่ง น่าจะยังคงมีเก็บไว้ที่กรมอุตุนิยมวิทยาและที่กรมทรัพยากรธรณี และก็น่าจะมีที่ AIT ด้วย 

ข้อมูลทั้งหมด เท่าที่ผมได้เคยเห็นนั้น ไม่มีการบันทึกเหตุการณ์ในลักษณะที่เกิดการทำลายแบบพังราบใดๆเลย  ครั้งสำคัญๆทั้งหลาย เช่น กรณีเจดีย์หลวงในเมืองเชียงใหม่หัก ก็ไปเกี่ยวพันกับที่กำเนิดในพม่า หรือกรณีน้ำในคลองกระเพื่อม ก็ไปเกี่ยวกับการระเบิดของภูเขาไฟกรากะตัวในอินโดนีเซีย เป็นต้น

การบรรยายเหตุการณ์แผ่นดินไหวในบันทึกเหล่านั้น ทำให้ได้ภาพของความรุนแรง (intensity) ซึ่งพอจะสามารถผันเป็นขนาด (magnitude)ได้   ทำให้พอจะกล่าวได้ว่า ในช่วงเวลา 700-800 ปีที่ผ่านมานี้ แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในพื้นที่ประเทศไทยนั้น มีขนาดไม่เกิน 6  และส่วนมากจะอยู่ในขนาดระหว่าง 4+    ขนาด 5 เองก็มีน้อยมาก   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 76  เมื่อ 10 มิ.ย. 15, 19:14

สำหรับผมเองนั้น มีความสนใจอยู่ว่า จะมีบันทึกในประวัติศาสตร์เกี่ยวกับแผ่นดินไหวโดยผู้คนในเขตยูนานส่วนที่ติดกับพม่าและลาวบ้างหรือไม่   

ผมไม่เคยไปในถิ่นที่กล่าวถึงนี้ ได้แต่อนุมาณตามภาพที่ได้เห็นว่า ลักษณะของบ้านเรือนที่อยู่อาศัยของผู้คนในพื้นที่นี้ ไม่ต่างไปมากนักจากบ้านของผู้คนที่อยู่ในพื้นที่ๆเรียกกันว่าล้านนาของเรา (ภาคเหนือ)   ซึ่งโดยลักษณะโครงสร้างของบ้านคนถิ่นเดิม สามารถรับแรงแผ่นดินไหวได้พอสมควรเลยทีเดียว  ก็เลยทำให้อนุมาณต่อไปว่า (เข้าเขตการเดาแล้วครับ) รอยเลื่อนที่มีชื่อว่า รอยเลื่อนแม่จัน นั้น อาจจะไม่น่ากลัวอย่างที่คาดเดากัน  ทั้งนี้ หากงานทางวิศวกรรมที่รังสรรปั้นแต่งกันขึ้นมาในพื้นที่ภาคเหนือนั้นๆ เป็นงานทางวิศวกรรมที่อยู่ในกรอบของ good governance จริงๆ ก็ยิ่งไม่น่าจะต้องมีความวิตกกังวลใดๆ     
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 77  เมื่อ 12 มิ.ย. 15, 19:30

ในช่วงท้ายนี้ ก็จะขอเข้าไปในเรื่องของซึนามิ (tsunami)

เป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่าซึนามิเป็นภาษาญี่ปุ่น ซึ่งมีความหมายว่าคลื่นในอ่าว
   
ภาพที่ผมเห็นในญื่ปุ่นคือ เมื่อเกิดแผ่นดินไหวใดๆนอกชายฝั่งญี่ปุ่น (ด้านแปซิฟิก) ก็มักจะมีซึนามิเกิดขึ้นตามมาเกือบจะทุกครั้ง ซึ่งก็จะมีรายงานออกทางทีวีพูลเกือบจะทุกครั้ง คือ เตือนให้ทุกผู้คนระวัง และเมื่อผ่านพ้นช่วงเวลาที่คาดการณ์นั้นๆแล้ว หรือเมื่อเหตการณ์ยุติแล้ว ก็จะมีรายว่าเกิดหรือไม่เกิด และที่เกิดแล้วนั้นมีน้ำเอ่อสูงขึ้นมามากน้อยเพียงใดพร้อมท้้งภาพที่ได้บึนทึกเทปไว้ทุกครั้ง   โดยเฉพาะกับเมืองที่มีผู้อยู่อาศัยค่อนข้างมาก ซึ่งต่างก็เป็นเมืองในอ่าวใดอ่าวหนึ่งทั้งนั้น   ดังนั้น จึงไม่แปลกที่ซึนามิถูกเรียกในอีกชื่อว่า tidal wave คือ น้ำเอ่อท่วมคล้ายกับช่วงระดับน้ำทะเลขึ้น   

ในญี่ปุ่นใช้คำว่าซึนามิในลักษณะของสภาพระดับน้ำทะเลในอ่าวถูกหนุนสูงขึ้นมา ดังนั้น จึงมีซึนามิขนาดระดับน้ำตั้งแต่ไม่กี่เซ็นติเมตรไปจนระดับหลายเมตรได้  ซึ่งการเตือนเรื่องซึนามิก็ไม่ไปคาดเดาว่าจะเกิดซึนามิระดับน้ำสูงขนาดใด เป็นลักษณะของการเตือนภัยจริงๆ และก็ซึ่งโดยเชื่อว่าซึนามิที่เกิดขึ้นไม่ควรจะเกินระบบเขื่อนสูงประมาณ 5 เมตร ตามที่คำนวณกันไว้ แถมยังมีประตูน้ำทึ่จะปิดกั้นน้ำเอ่ออยู่ทุกปากคลองที่น้ำไหลลงสู่ทะเล 
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 78  เมื่อ 12 มิ.ย. 15, 20:04

ในขณะที่ผู้คนอื่นๆนอกญี่ปุ่นใช้คำว่าซึนามิในความหมายที่เป็นมหาพิบัติภัยที่ร้ายแรงสุดๆ ตามที่ได้เสพข่าวสารเฉพาะครั้งที่เกิดซึนามิใหญ่ที่มีทรัพย์สินและผู้คนเสียชีวิต 
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 79  เมื่อ 13 มิ.ย. 15, 19:32

เมื่อวานนี้ว่าจะเขียนให้จบ เกิดมีเรื่องต้องทำเลยต้องหยุดไว้ห้วนๆ ขออภัยที่ไม่สุภาพครับ

จากที่เล่ามาสั้นๆใน คห. ก่อนหน้า คห.นี้ ผนวกกับภาพของพิบัติภัยซึนามิครั้งร้ายแรงเมื่อ พ.ศ.2547 (ค.ศ.2004)    ทำให้ข่าวสั้นทันเหตุการณ์ทั้งหลายที่รายงานว่ามีแผ่นดินไหวเกิดขึ้น ณ ที่ใด จะต้องพ่วงเรื่องว่ามีการแจ้งเตือนหรือมีซึนามิเกิดขึ้นหรือไม่

ข้อเท็จจริงบางประการเกี่ยวกับคลื่นซึนามิ เป็นดังนี้ครับ 
   เป็นคลื่นที่เกิดจากมวลน้ำของทะเลหรือมหาสมุทรถูกเปลี่ยนทรงอย่างรวดเร็ว เช่นเกิดมวลแผ่นดินปริมาณมากถล่มทลายลงไปสู่ทะเล (กรณีเกิดแผ่นดินถล่มที่อลาสกาเมื่อ พ.ศ.2501) หรือเกิดภูเขาไฟระเบิดอย่างรุนแรงจนแผ่นดินหายไป (เช่นเหตุการณ์เกือบสองพันปีก่อน ค.ศ.)  หรือเกิดพื้นท้องทะเลขยับปรับเป็นขั้นบันไดสูงต่ำอย่างทันที (เช่นกรณีในมหาสมุทรอินเดียเมื่อ พ.ศ.2547) หรือเกิดแผ่นทวีปที่มุดตัวกันเกิดหลุดจากการสะดุดกัน (เช่นกรณีแผ่นดินไหวที่ญี่ปุ่น พ.ศ.2554)       

   คลื่นซึนามิมีระยะห่างของยอดคลื่นแต่ละลูก (ในทะเลเปิด) นับร้อย กม. แต่ละยอดคลื่นที่เห็นในทะเลเปิดจะสูงเพียงเมตรหรือสองเมตรเท่านั้น คลื่นเดินทางด้วยความเร็วประมาณ 800 กม.ต่อ ชม.  ซึ่งคุณสมบัติดังกล่าวนี้จะเปลี่ยนไปเมื่อคลื่นเข้าสู่ชายฝั่ง  โดยเฉพาะเมื่อท้องคลื่นเริ่มสัมผัสกับพื้นท้องทะเลตามลาดเอียงจนถึงชายฝั่ง  (ตัวคลื่นที่ซ่อนอยู่ในมวลน้ำจะค่อยๆเผยตัวออกมา)  คลื่นจะยกตัวสูงขึ้น  ยอดคลื่นก็จะยกสูงขึ้น   ภาพที่จะเกิดขึ้นก็เป็นภาพเดียว (ที่ใหญ่กว่า) กับคลื่นจากลมในทะเลเปิดเมื่อเคลื่อนเข้ามากระทบฝั่งนั่นเอง 
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 80  เมื่อ 13 มิ.ย. 15, 19:45

กรณีหาดสุรินทร์ที่ภูเก็ต ที่เป็นข่าวบ่อยๆว่ามีผู้เสียชีวิตโดยถูกคลื่นขนาดใหญ่ม้วนกลืนลงไปนั้น  ก็เป็นลักษณะคล้ายกับสภาพเมื่อคลื่นซึนามิเข้าสู่ฝั่ง   แตกต่างกันตรงที่ คลื่นใหญ่ที่หาดสุรินทร์นั้น เป็นคลื่นที่เกิดมาจากลมแรงในทะเลเปิด 
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 81  เมื่อ 13 มิ.ย. 15, 20:01

ผมพยายามจะถอดความทางวิชาการเป็นภาษาชาวบ้านที่ทุกคนอ่านแล้วเข้าใจและเห็นภาพ   เดิมก็นึกว่าไม่น่าจะยากนัก เอาเข้าจริงๆก็ไปไม่เป็นเหมือนกันครับ
อธิบายเรื่องที่ต้องอาศัยหลายมิติทางวิชาการนี้ ผมเคยแต่ยืนเล่าเรื่องโดยใช้ชอล์คกับกระดานดำ พอใช้วิธีเขียนเล่าความ ยากจริงๆครับ
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 82  เมื่อ 13 มิ.ย. 15, 20:26

ขอปิดท้ายว่า อย่าไปกังวลใจเลยนะครับว่าจะมีคลื่นซึนามิเกิดขึ้นในพื้นที่ของอ่าวไทย โดยเฉพาะในระดับที่ทำให้เกิดการทำลายทรัพย์สินและชีวิตเป็นวงกว้าง ไม่ว่าจะเกิดแผ่นดินไหวที่ใหนที่ใดก็ตาม     

โครงสร้างทางธรณีฯของอ่าวไทย ไม่เอื้อให้เกิดแผ่นดินไหวที่ทำให้เกิด displacement มากพอที่จะทำให้เกิดซึนามิที่น่ากลัวได้  เราอาจเห็นน้ำเอ่อเข้ามาในลำน้ำคูคลองได้   ซึ่งผมก็ไม่ทราบว่าในระยะหลังจากเหตุการณ์ซึนามิ 2547 แล้ว มีหน่วยงานทางวิชาการใดๆหรือส่วนราชการใดบ้าง ได้ให้ความสนใจกับเรื่องของ น้ำเท้อ ที่เกิดขึ้นในลำน้้ำ (ในพื้นที่ปากอ่าวทั้งหลาย) เมื่อเกิดแผ่นดินไหวในอ่าวไทย
และในพื้นที่อื่นๆ 
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 83  เมื่อ 15 มิ.ย. 15, 18:27

แล้วก็มีเรื่องราวแบบกึ่งจริงกึ่งมโน เล่าสู่กันฟัง

กำลังมีการอธิบายแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในบางแห่งในโลกว่า เป็นการทำให้มันเกิดขึ้นด้วยฝีมือของมนุษย์โดยใช้ EM

อย่าตกใจไปว่าเป็นการใช้ Effective micro-organism ที่เขาเอามาใช้ใโลกของสิ่งแวดล้อมสีเขียวนะครับ (ใช้ผลิตปุ๋ย ดับกลิ่น ฯลฯ)   EM ที่กล่าวถึงนี้ คือ Electromagnetic wave หรือคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้านั่นเอง 

คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้านี้ได้ถูกนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษย์มากมาย     วิทยุสื่อสาร วิทยุกระจายเสียง เครื่องไมโครเวฟ เครื่องเอ็กเรย์ เครื่องตรวจวัตถุระเบิดต่างๆ การสำรวรแร่ การสำรวจน้ำมัน การค้นหาทางดาราศาสตร์/การสำรวจจักรวาล  WiFi  Bluetooth ฯลฯ เหล่านี้ต่างก็ใช้ประโยชน์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าทั้งสิ้น แต่ละเทคโนโลยีก็ใช้ความถี่ความแตกต่างกันไป (ขึ้นอยู่กับคุณสมบัติของแต่ละช่วงความถี่)
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 84  เมื่อ 15 มิ.ย. 15, 19:05

ประโยชน์ของคลื่น EM ที่ใช้ในทางสร้างสรรความกินดีอยู่ดีของมนุษย์  ต่อมาก็ถูกศึกษาและพัฒนาใช้ไปในทางความมั่นคง เช่น การรบกวนระบบการสื่อสาร รบกวนระบบกำหนดเป้า ฯลฯ ซึ่งเป็นไปในด้านเชิงรับ (defensive) มากกว่าในเชิงรุก (offensive)
ในปัจจุบันนี้ได้มีการพัฒนาการใช้ประโยชน์ EM ไปในเชิงรุกอย่างมากมาย โดยเฉพาะการใช้ในเชิงของอาวุธเพื่อการทำลาย เช่น คลื่นเสียงที่ใช้สลายการชุมนุม อาวุธเลเซอร์ ฯลฯ

เดี๋ยวจะหาสนามบินลงไม่ได้ ก็จะไม่ขอขยายความเรื่อง EM นี้นะครับ  (EM นี้ใช้ในเรื่องการสำรวจทางธรณีวิทยามากมาย แล้วก็ด้วยความรู้จากการใช้ในทางธรณีฯนี้เองที่ถูกนำไปประยุกต์ใช้ในด้านการทหารและอื่นๆอีกมาก)
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 85  เมื่อ 15 มิ.ย. 15, 19:25

HAARP (High Frequency Active Auroral Research Program) ดูคำสะกดโปรแกรมแล้วก็คงพอจะรู้นะครับว่าเป็นของประเทศในทวีปใด  โครงการนี้เป็นการศึกษาและทดลองที่เกี่ยวข้องกับ EM ในช่วงความถี่ต่ำมากๆ ซึ่งว่ากันว่า มีผลเกี่ยวข้องหรือกระทบกับชั้นบรรยากาศของโลก  ว่ากันว่า ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเมฆและรูปทรงของมัน เกิดการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศต่างๆ  บ้างก็ว่ามีการพัฒนากันไปถึงขั้นกำหนดให้เกิด ณ จุดใดก็ได้ จนสามารถใช้การในเชิงของอาวุธทางการสงคราม (EM warfare)   ก็เลยเถิดไปถึงว่าสามารถทำให้เกิดแผ่นดินไหว ณ พื้นที่ใดๆได้อีกด้วย   

ลองไปหาอ่านดูนะครับ
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 86  เมื่อ 22 มิ.ย. 15, 18:58

ได้อ่านข่าวไปพบว่าเกิดเหตุที่ อ.เทิง จ.เชียงราย ด้วยพบว่าอยู่ดีๆ ณ พื้นที่หนึ่งของพื้นบ้านหลังหนึ่งก็เกิดร้อนขึ้นมาอย่างผิดปรกติ นัยว่าเป็นความร้อน (หรือไอความร้อน ?) ที่มาจากพื้นดิน

ผมไม่ทราบว่าจะจริงเท็จมากน้อยเพียงใด แต่ก็จะขอให้ความเห็นดังนี้ครับ

อ.เทิง ตั้งคร่อมอยู่สองฟากฝั่งของแม่น้ำอิง ซึ่งแม่น้ำสายนี้มีเส้นทางการไหลไปตามแนวรอยเลื่อนแม่อิง ซึ่งเป็นรอยเลื่อนที่มีพลัง และซึ่งได้สำรวจพบว่ามีความยาวเกือบๆ 60 กม.    จากลักษณะทางธรณีวิทยาของพื้นที่ กลุ่มรอยเลื่อนในพื้นที่ย่านนี้เกิดอยู่ในพื้นที่ของแรงดึง คล้ายกับสภาพที่เราพยายามจะฉีกกระดาษที่วางอยู่บนโต๊ะ ด้วยการใช้ฝ่ามือกดกระดาษสองฝั่งของรอยพับแล้วดึงแบบทะแยงเพื่อให้กระดาษฉีกออกจากกัน 

ก็คงพอจะเห็นภาพได้ว่า มันก็คล้ายกับการบิขนมที่ใส้ในยังร้อนอยู่
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 87  เมื่อ 22 มิ.ย. 15, 19:43

ก็คงมีความสงสัยว่า แล้วจะเกิดแผ่นดินไหวตามมาหรือไม่

คำตอบส่วนหนึ่งก็คือ ในพื้นที่ย่านนั้น มันก็เกิดขึ้นเป็นประจำอยู่แล้ว แล้วก็น่าจะเป็นเวลานานมากมาแล้วเช่นกัน ซึ่งก็พอจะเห็นได้จากหลักฐานทางวัฒนธรรม ก็คือลักษณะของโครงสร้างของบ้านเรือนของคนถิ่น ซึ่งก็คือพวกชาวไทลื้อ

คำตอบอีกส่วนหนึ่งนั้น เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณา กล่าวคือ (บนพื้นฐานของหลักของการแปรสภาพของพลังงาน) แรงเสียดสีบนพื้นที่ระนาบของรอยเลื่อน (ซึ่งทำให้เกิดความร้อน) นั้นได้ถูกระบายออกไปในรูปของความร้อน (คล้ายกับการเบรครถยนต์)  แต่ในอีกมุมหนึ่ง ก็สามารถคิดได้ว่าแต่เดิมนั้นความร้อนมันระบายได้ในใต้ดินจนเราไม่รู้สึก แต่เนื่องจากมันเพิ่มมากขึ้นจนพื้นที่ระบายขยายขึ้นมาถึงผิวดิน     

ส่วนจะเกิดแผ่นดินไหวหรือไม่นั้น มันก็บ่งบอกได้ทั้งอาจจะเกิด หรือ ได้ถูกบรรเทาไปแล้วก็ได้     ซึ่งก็อาจมองได้ในอีกสองมุม คือ เกิดหรือไม่เกิดในพื้นที่แอ่ง อ.เทิง หรือ แล้วจะไปบ่งชี้อะไรกับรอยเลื่อนแม่จันหรือไม่    เพราะทั้งหมดเกี่ยวพันกัน ด้วยเป็นกลุ่มพลังหรือแรงของพื้นผิวโลกในภูมิภาคย่านนี้   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 88  เมื่อ 22 มิ.ย. 15, 20:57

ล่าสุด เพิ่งได้ทราบจากข่าวทางวิทยุว่า เกิดจากไฟฟ้าลัดวงจร  ฮ่วย   ยิ้มกว้างๆ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 89  เมื่อ 22 มิ.ย. 15, 21:09

ว้า ! หักมุมจบ 


บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 4 5 [6] 7 8 9
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.042 วินาที กับ 19 คำสั่ง