ขออนุญาตนำความเห็นของคุณตั้งมาลงไว้ที่กระทู้ภาค ๒ แผ่นดินไหวที่เนปาล เพื่อความต่อเนื่อง

สำหรับการเกิดแผ่นดินไหวในครั้งนี้ จัดได้ว่ารุนแรงมาก แต่จะเป็นการเกิดตามวงรอบทางสถิติ (return period) หรือไม่นั้น ผมไม่ทราบ
สำหรับตัวผมนั้น มีความสนใจอยู่ประการหนึ่ง คือ สิ่งก่อสร้างทางศาสนา สังคม และวัฒนธรรมในเนปาลที่พังลงมาจากการเกิดแผ่นดินไหวในครั้งนี้นั้น จากข้อมูลและจากภาพที่ผมได้เห็น ส่อไปในทิศทางว่า ล้วนเป็นสิ่งก่อสร้างในช่วง ศตวรรษที่ 19 ซึ่งหมายถึงในช่วงของยุค ค.ศ. 1800 +++ ซึ่งหมายความว่า บนพื้นฐานทางภูมิปัญญาท้องถิ่นแล้วนั้น เนปาลไม่เคยประสพพบแผ่นดินไหวในระดับนี้มาก่อนเป็นเวลานานมาก นานมาก..ก...จริงๆ สิ่งก่อสร้างต่างๆจึงเป็นแบบก่ออิฐโบกปูนโดยไม่มีโครงสร้างรับแรงใดๆสำหรับการโยก การโย้ และการกระแทก (ดังเช่นสถาปัตยกรรมของถิ่นอื่นใดในย่านเอเซียอาคเนย์)
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาจากภาพในพื้นที่ๆได้รับความเสียหาย เรายังเห็นมีอาคารสมัยใหม่สูงหลายชั้นที่ยังคงสามารถยืนตระหง่านอยู่ได้ บางอาคารก็พังพาบลงมาทับกันเหมือนขนมชั้น ซึ่งทั้งหมดดูจะให้ข้อมูลในสามแนว คือ อาคารเหล่านั้นมีการออกแบบและมีการก่อสร้างกันแผ่นดินไหว หรือ อาคารเหล่านั้นก็มีการสร้างกันตามวิถีทางธุรกิจปรกติ แต่ที่มันไม่พังก็เพราะว่าคุณภาพของการก่อสร้างดี หรือ การที่สิ่งก่อสร้างหนึ่งใดไม่มีความเสียหายหรือมีความเสียหายต่างๆกัน ก็อาจสืบเนื่องมาจากทิศทางการเดินทางของคลื่นแผ่นดินไหว
แรงที่ดันให้แผ่นเปลือกโลกทั้งสองนี้มุดกันเกยกันนั้นมีมากมายมหาศาล เมื่อดันกันจนโก่งจนงอแล้ว ก็แน่นอนว่าเมื่อถึงจุดๆหนึ่งมันก็ย่อมต้องเกิดการแตกหัก
แผ่นดินไหวในเนปาลครั้งนี้ ผมเห็นว่า ได้แสดงถึงจุดแตกหักนั้น ทั้งนี้ พอจะเดาได้จากภาพ (เท่าที่พอจะมีให้ดู) ของสภาพการกองของวัสดุที่ยุบพังพาบลงมา สภาพของกองวัสดุที่คล้ายกับการกระชากให้ตกลงไปกองรวมกัน ณ จุดหนึ่ง และลักษณะการพังของกลุ่มอาคารลักษณะยาวที่วางตัวขนานกันแนวทิศทางหนึ่ง ก็เป็นการเดานะครับ การศึกษาที่เรียกว่า First motion study (หรือ Fault plane solution หรือ first kick) ของเส้นปากกาเส้นแรกที่บันทึกลงบนแผ่นกราฟของเครื่องวัดแผ่นดินไหวของระบบ WWSSN (World-Wide Standard Seiamographic Network) ที่ ณ ขณะนี้น่าจะทราบผลแล้ว น่าจะช่วยเป็นคำตอบให้ได้อย่างดี