เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 3 4 [5] 6 7 ... 13
  พิมพ์  
อ่าน: 54472 เรื่องของน้ำพริก
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 60  เมื่อ 17 เม.ย. 15, 17:56

นึกถึงน้ำพริกกะปิอีก 4 ครก ที่เราไม่ค่อยจะเห็นหรือได้ทานกัน คือ น้ำพริกที่ใส่ตะลิงปลิง ที่ใส่ระกำ ที่ใส่มะกอก และที่ใส่มะขามอ่อน 

สำหรับที่ใส่มะขามอ่อนนั้น แปลงต่อไปได้โดยใส่หมูสับละเอียดแล้วผัดกับน้ำมันในกระทะ ซึ่งจะไปถูกบังคับให้ต้องทานกับผักสด (ซึ่งสำหรับผม ก็โดยเฉพาะกับขมิ้นขาว) บางคนก็ยังใส่กระชายโขลกร่วมเข้าไปในครกสำหรับน้ำพริกมะชามผัดนี้   

กระชายนี้ดูจะเป็นของคู่ตุนาหงันกับกะปิ  ปั้นกะปิชุบไข่ทอดที่ทานกับข้าวแช่ก็ใส่กระชายสับละเอียด  น้ำพริกสำหรับแกงเลียงซึ่งมีพื้นฐานปรกติ คือ หอมแดง กะปิ พริกไทย สูตรของหลายแม่ครัวก็ใส่กระชายเข้าไปด้วย 
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 61  เมื่อ 17 เม.ย. 15, 18:37

สำหรับคนไทยที่เป็นชาวบ้านทำมาหากินอาศัยอยู่ในพื้นที่ไกลปืนเที่ยงแบบสุดกู่นั้น น้ำพริกกะปิก็ยังเป็นน้ำพริกของดีที่ตำกินในวาระและโอกาสที่ดีๆ  ซึ่งเครื่องเคราที่ดูจะหายากในองค์ประกอบของน้ำพริกกะปินี้ก็คือมะนาว หรือของเปรี้ยวต่างๆที่ใช้ในการปรุงรสน้ำพริก 
 
ก็เลยมีภูมิปัญญาชาวบ้านเรื่องหนึ่งที่ผมชอบใจ คือ การใช้ผักดองช่วยในการทำให้น้ำพริกอร่อยเมื่อเคี้ยวร่วมกัน   แท้จริงแล้ว ผักดองนี้มีการทำโดยชาวบ้านป่าทั้งไทยและกะเหรี่ยง ผมไม่เคยเห็นมีทำกันในชนเผ่าอื่นๆเลย (อาจจะมีก็ได้นะครับ แต่ไม่เคยเห็น)
 
ก็ด้วยการที่พืชผักมันมีฤดูออกดอกออกผล หรือที่เขาได้มาจากโอกาสต่างๆ  เขาก็เลยดองกัน ก็เป็นแบบง่ายๆ แล้วก็ง่ายมากๆ  เขาก็เพียงเอาน้ำซาวข้าวใส่ในกะละมัง ใส่เกลือลงไปเล็กน้อยหรือไม่ใส่เลยก็มี หรือเป็นน้ำเกลืออย่างเดียวเลยก็มี เอาผักที่ได้มาและที่กินเหลือจากการกินเป็นผักสดไม่หมด ใส่กะละมังนั้นแช่หมักไว้ ต้องการจะกินเมื่อใดก็หยิบออกมา บีบน้ำดองออกแล้วก็ทานกับน้ำพริกเลย   

หากต้องการจะทดลองทำหรือลองทาน ก็ควรจะต้องระวังเรื่องท้องใส้รวนหรือท้องเสียกันหน่อยก็แล้วกัน      ที่เป็นข้อสำคัญก็คือ ผักดองพวกนี้อร่อยอย่าได้บอกใครเลยทีเดียว  ก็อาจจะเป็นเพราะว่ามันให้รสเปรี้ยวที่ไปผสมผสานอย่างพอดีกับรสที่ออกไปทางเค็มและเผ็ดของน้ำพริก   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 62  เมื่อ 17 เม.ย. 15, 19:34

ยังมีความจริงอีกเรื่องหนึ่งของน้ำพริกกะปิที่เราไม่ค่อยจะได้นึกถึงกัน  คือ   น้ำพริกกะปิที้ค้างคืนมาแล้วจะอร่อยกว่าที่ตำมาใหม่ๆ 

มันก็มีคำอธิบายทางวิทยาศาสตร์ครับ ดังนี้ 

เริ่มด้วยเครื่องปรุงต้นทาง   บรรดาพริกขี้หนูและกระเทียมทั้งหลายล้วนเป็นของชิ้นใหญ่ที่เราต้องทุบ ต้องบุบ ต้องบดขยี้ เพื่อให้มันแตกออกและมีขนาดเล็กลง   เราโขลกมัน (บางส่วน) ไปถึงระดับที่มันปลดปล่อยรสออกมา (essential oil) ซึ่งจะไปทำให้เกิดความหอมไปช่วยกระตุ้นความรู้สึกอยากทาน เมื่อเข้าสู่กระเพาะก็มีสารไปช่วยกระตุ้นในอีกหลายๆเรื่อง

ตัวกะปินั้น มันก็ประกอบด้วยชิ้นส่วนที่มีขนาดเล็กมากๆของสัตว์ (เคย หรือ ปลา) ซึ่งถูกยึดโยงกันด้วยสารประกอบทางอินทรีย์เคมี

เราใช้ของเปรี้ยว (ซึ่งมีคุณสมบัติเป็นกรด) ไปช่วยเพิ่มรสชาติ ซึ่งนอกจากหน้าที่สร้างรสชาติแล้ว ความเหลวที่มากกว่ากะปิของมันก็คือตัวที่ไปช่วยสลาย แยกชิ้นส่วนขนาดเล็กๆของเครื่องปรุงต่างๆ (พริก กระเทียม ตัวเคย) ออกเป็นชิ้นๆให้คละกระจายไปทั่วๆกัน  แล้วยึดโยงมันให้อยู่ในของเหลวที่ข้นน้อยกว่า 
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 63  เมื่อ 17 เม.ย. 15, 20:13

คำอธิบายโดยองค์รวม ก็พอจะเปรียบเทียบได้กับกระบวนการทำขนมเค็ก โรตี แพนเค็ก ขนมไทยและจีนที่ใช้แป้งละลายกับน้ำ (ขนมชั้น ขนมเทียน ฯลฯ) ฯลฯ   
 
ซึ่งก็คือ การต้องทิ้งระยะเวลาให้แป้งละลายเข้ากับน้ำ (หรือของเหลว) จนหมดทุกเม็ดแป้ง กลายเป็นเนื้อเดียวกันจริงๆทุกอณู ไม่มีจุดกระดำกระด่างใดๆ  ซึ่งผมเรียกระยะเวลานี้ว่า residence time   ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงระยะเวลานี้ ก็คือการแตกสลายและการกระจาย (disintegration) ของเนื้อกะปิ กระเทียม พริก    แล้วซึ่งเราก็จะต้องกวนเพื่อให้เนื้อและน้ำต่างๆผสมกลมกลืนกันใหม่ (assimilation) กลายเป็นเนื้อเดียวกันใหม่  (อุปมาอุปมัย _เดิมมีดินเป็นก้อนๆอยู่ในโคลนตม ก็กลายเป็นโคลนที่ไม่มีก้อนดินใดๆ)

ครับ น้ำพริกเก่าค้างคืนจึงมีความกลมกล่อมมากกว่าที่เพิ่งตำเสร็จใหม่ๆ    อาหารเช้าข้าวคลุกน้ำพริกในชีวิตป่าดงของผม จึงทำให้ผมมีความสุขมากกว่าอาหารมื้อเย็น (อาจจะเพราะหนักน้ำมากไปก็ได้ครับ)

ข้าวผัดน้ำพริกค้างคืนที่ อ.เทาชมพู นำเสนอมา จึงมีความอร่อยเป็นยอดเสมอ
บันทึกการเข้า
Anna
องคต
*****
ตอบ: 552


ความคิดเห็นที่ 64  เมื่อ 18 เม.ย. 15, 12:22

เพื่อนบ้านให้มะม่วงดิบมามากจนกินไม่ทัน ดิฉันเลยจับทำน้ำพริกมะม่วง แต่มันไม่เปรี้ยวเลยบีบมะนาวใส่ไปหลายลูก คราวนี้กลับกลายเป็น'น้ำ'พริก เศร้า อาจารย์พอจะมีวิธีแก้ไหมคะ
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 65  เมื่อ 18 เม.ย. 15, 18:54

จะให้ความเห็นทันเวลาอาหารหรือไม่ ก็ไม่ทราบนะครับ

ผมนึกภาพออกแต่ไม่เห็นสภาพจริงๆ   วิธีแก้ที่พอนึกออกก็คือ ตำกุ้งแห้งพอป่นใส่ลงไป ก็จะช่วยเพิ่มเนื้อและดูดซับของเหลวออกไปบ้าง แล้วก็เติมกะปิลงไปอีกหน่อยเพื้่อเพิ่มการโยงยึดส่วนประกอบต่างๆ ทั้งสองอย่างนี้ก็น่าจะพอช่วยให้น้ำพริกนั้นมีความข้นขึ้น  เติมพริกขี้หนูบุบให้แหลกเพื่อเพิ่มรสเผ็ดให้ไปช่วยกลบสิ่งที่ผิดพลาด แล้วปรับรสด้วยน้ำตาลปึกอีกเล็กน้อย ก็น่าจะไปได้ดีนะครับ   แล้วก็อาจจะเปลี่ยนลักษณะของเครื่องแนม เช่น ทอดปลาทูให้เกรียมมากขึ้น เปลี่ยนเป็นดุกย่างแห้งๆหน่อย หรือใช้ปลาสลิด   ใช้ผักสดที่มีน้ำในเนื้อน้อย (ถั่วพู และบรรดามะเขือเปราะลูกเล็กๆสีเขียว สีขาว สีม่วง ทั้งหลาย)

หากเป็นในสภาพในขณะทำงานค้างแรมเดินดง ทางแก้ก็คือ เปลี่ยนวิธีกิน จากวิธีเอาผักมาวาง ตักน้ำพริกใส่ แล้วทานไปพร้อมๆกับข้าวในช้อนหรือเปิบ  ก็เปลี่ยนเป็น ตักน้ำพริกมาคลุกกับข้าว กินข้าวคลุกน้ำพริกแล้วก็ เหนาะด้วยผักต่างๆที่เท่าที่จะหาได้  ครับ
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 66  เมื่อ 18 เม.ย. 15, 19:31

น้ำพริกกะปิเหลือค้าง คนในเมืองภาคกลางก็เอามาผัดข้าวกัน   แต่คนทางภาคใต้เขาเอาไปผัดสะตอ ใส่กุ้งสดลงไปผัดด้วย บางคนก็ใส่หอมใหญ่เพิ่มลงไปซักหน่อย     สะตอผัดน้ำพริกกะปิใส่กุ้งนี้มีความอร่อยมากพอจนไม่จำเป็นต้องใช้น้ำพริกที่เหลือค้าง  ตำเอาสดๆเลยก็ได้ครับ ซึ่งก็ไม่ต้องไปพะวงกับรสชาติของน้ำพริกที่ตำนั้น ไปปรุงรสเอาในกระทะเลย

สำหรับผมนั้น นิยมเมนูจานสิงห์เหนือเสือใต้ ซึ่งมักจะต้องสาธยายวิธีการทำให้ร้านอาหารเมื่อเราสั่งไป   ก็ไม่มีอะไรมากไปกว่าสะตอผัดกับแหนมครับ จะผัดคล้ายผัดผักปรกติก็ได้ หรือจะผัดโดยตำน้ำพริกกะปิแบบลวกๆใส่ลงในกระทะผัดก็ได้   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 67  เมื่อ 18 เม.ย. 15, 19:47

น้ำพริกกะปินี้ ดูจะเป็นน้ำพริกที่ฝังลึกอยู่ในใจของคนไทย ดูจะเป็นน้ำพริกชนิดแรกๆที่คนไทยจะกล่าวถึงหรือนึกถึงเมื่อถูกถามหรือถูกกระตุ้น
 
คนไทยไม่ว่าจะเป็นคนในวัยหนุ่มสาวหรือผู้เฒ่าทั้งหลาย หากห่างบ้านเรือนหรือห่างอาหารไทยไปนานระยะหนึ่งแล้ว ก็จะรู้สึกอยาก เปรี้ยวปาก และดูจะมีความสุขกับการได้ทานน้ำพริกกะปินี้แหละ   ในช่วงที่ประจำการอยู่ในต่างประเทศ ผมได้ตำน้ำพริกนี้ตามคำขอของน้องๆที่ไปเรียนหนังสือ โดยใช้วิธีตำในปริมาณมากหน่อยแล้วใส่ขวด นำไปเก็บในตู้เย็นไว้ทานกันนานๆ
บันทึกการเข้า
Anna
องคต
*****
ตอบ: 552


ความคิดเห็นที่ 68  เมื่อ 19 เม.ย. 15, 08:27

จะให้ความเห็นทันเวลาอาหารหรือไม่ ก็ไม่ทราบนะครับ

ผมนึกภาพออกแต่ไม่เห็นสภาพจริงๆ   วิธีแก้ที่พอนึกออกก็คือ ตำกุ้งแห้งพอป่นใส่ลงไป ก็จะช่วยเพิ่มเนื้อและดูดซับของเหลวออกไปบ้าง แล้วก็เติมกะปิลงไปอีกหน่อยเพื้่อเพิ่มการโยงยึดส่วนประกอบต่างๆ ทั้งสองอย่างนี้ก็น่าจะพอช่วยให้น้ำพริกนั้นมีความข้นขึ้น  เติมพริกขี้หนูบุบให้แหลกเพื่อเพิ่มรสเผ็ดให้ไปช่วยกลบสิ่งที่ผิดพลาด แล้วปรับรสด้วยน้ำตาลปึกอีกเล็กน้อย ก็น่าจะไปได้ดีนะครับ   แล้วก็อาจจะเปลี่ยนลักษณะของเครื่องแนม เช่น ทอดปลาทูให้เกรียมมากขึ้น เปลี่ยนเป็นดุกย่างแห้งๆหน่อย หรือใช้ปลาสลิด   ใช้ผักสดที่มีน้ำในเนื้อน้อย (ถั่วพู และบรรดามะเขือเปราะลูกเล็กๆสีเขียว สีขาว สีม่วง ทั้งหลาย)

หากเป็นในสภาพในขณะทำงานค้างแรมเดินดง ทางแก้ก็คือ เปลี่ยนวิธีกิน จากวิธีเอาผักมาวาง ตักน้ำพริกใส่ แล้วทานไปพร้อมๆกับข้าวในช้อนหรือเปิบ  ก็เปลี่ยนเป็น ตักน้ำพริกมาคลุกกับข้าว กินข้าวคลุกน้ำพริกแล้วก็ เหนาะด้วยผักต่างๆที่เท่าที่จะหาได้  ครับ

ทันค่ะอาจารย์ ยิงฟันยิ้ม ขอบพระคุณสำหรับคำแนะนำ ใส่กุ้งแห้งช่วยทำให้อร่อยขึ้นด้วยค่ะ
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 69  เมื่อ 19 เม.ย. 15, 18:52

จากน้ำพริกะปิที่ใช้เครื่องสด ก็ไปสู่น้ำพริกที่ใช้เครื่องเผา ซึ่งก็คือ ใช้พริกเผา กระเทียมเผา และมักจะมีหอมแดงเผารวมอยู่ด้วย   

น้ำพริกพวกนี้เป็นน้ำพริกที่ไม่ใช้กะปิเป็นหลัก แต่จะใช้ paste (นึกคำภาษาไทยไม่ออกครับ) อื่นๆแทน อาทิ ถั่วเน่า ปลาร้า เนื้อปลาต้ม น้ำปู น้ำผัก มะเขือเผา แมลงบางชนิด ฯลฯ   จัดเป็นพวกน้ำพริกพื้นบ้านของชาวบ้านชาวถิ่นจริงๆ ซึ่งในปัจจุบันนี้ มีน้ำพริกหลายชนิดแล้วที่ได้เข้ามาอยู่เป็นน้ำพริกขาประจำขายกันในร้านขายอาหาร หรือในตลาดนัดจร (กึ่งถาวร แถวหมู่บ้านต่างๆ)  ที่นึกได้ในทันใดก็มีอาทิ น้ำพริกปลาร้าสับ น้ำพริกปลาร้าแมลงดา น้ำพริกปลาร้าปลาทู น้ำพริกหนุ่ม น้ำพริกตาแดง ฯลฯ 
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 70  เมื่อ 19 เม.ย. 15, 19:32

ชื่อน้ำพริกที่กล่าวมานั้น แม้จะเป็นชื่อที่คุ้นเคย   แต่ก็พอจะเดาได้ว่า คนกรุงที่มีพื้นเพเป็นคนกรุงจริงๆนั้นคงจะนิยมและเลือกซื้อน้ำพริกหนุ่ม มากกว่าน้ำพริกชนิดอื่นๆ  คำว่าปลาร้านั้นดูจะทำให้เกิดความรู้สึกกินไม่ได้หรือกินไม่เป็นขึ้นมา ส่วนน้ำพริกตาแดงนั้น เมื่อเห็นภาพแล้ว มันก็ดูจะแห้งๆและไม่รู้ว่ามันจะมีความอร่อยอย่างไร

เมื่อพิจารณาไปลึกๆแล้ว ผมมีความเห็นว่าน้ำพริกพื้นบ้านเหล่านี้ ล้วนแต่เหมาะที่จะทานกับข้าวเหนียวมากกว่ากับข้าวเจ้า และมีวิธีการกินโดยการปั้นข้าวเหนียวจิ้มน้ำพริกใส่ปาก แล้วจึงหยิบผักมาแนมตาม ซึ่งผักทั้งหลายก็มักจะเป็นพวกผักนึ่งและผักต้ม     

ในนัยหนึ่ง เราอาจจะแบ่งพื้นฐานของวัฒนธรรมของเราออกได้เป็นสองกลุ่ม คือ กลุ่มที่ทานข้าวเหนียว (เหนือและอิสาน) กับ กลุ่มที่ทานข้าวเจ้า (ใต้)    พวกทางใต้ทานน้ำพริกคลุกข้าว แนมด้วยปลา (ปลาทูทอด...) แล้วเหนาะด้วยผักสด    ส่วนอีกพวกเหนือและอิสานทานข้าวจิ้มน้ำพริก แล้วแนมด้วยผักสุกหรือเนื้อสัตว์สุกแบบแห้งๆ   

บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 71  เมื่อ 20 เม.ย. 15, 19:00

เริ่มด้วยการเผากระเทียมทั้งหัว และหอมแดงทั้งหัว  แต่เดิมนั้นใช้วิธีการหมกในขี้เถ้าผสมเศษถ่านร้อนๆข้างๆกองฟืนที่ใช้หุงข้าว หรือใต้รังผึ้งของเตาอั้งโล่ ซึ่งจะทำให้มีกลิ่นหอมมากกว่าวิธีการวางอยู่บนตะแกรงเหนือถ่านไฟ   ปัจจุบันนี้คงไม่หนีการย่างบนตะแกรงเหนือเตาแก๊ส

สัดส่วนของปริมาณโดยประมาณระหว่างกระเทียมกับหอมแดงที่ดูจะเป็นมาตรฐานนั้น ก็อยู่ที่แถวๆกระเทียม 1 หัว หอม 4 - 7 หัว

จะทำให้เป็นน้ำพริกหนุ่มแบบที่แม่ค้าในปัจจุบันเขาทำขายกัน ก็เผากระเทียมใส่เพิ่มอีกสักสองสามหัว เอาพริกหนุ่มสด (พริกชี้ฟ้าที่ยังไม่แก่ คือยังไม่ออกสีแดง) เสียบไม้ย่างหรือเผาให้สุก หอมพอ และเกรียมพอที่จะสามารถลอกผิวที่ออกได้ เหมือนกับการเผามะเขือยาว จำนวนพริกก็ตามแต่จะชอบ ซึ่งก็คงจะไม่ต้องกลัวว่าจะเผ็ดมากไปหรอกครับ     กระเทียมสามสี่หัว หอมหกเจ็ดหัว พริกไม่เกินสิบเม็ด เมื่อเผาแล้วความเผ็ดของพริกก็จะลดลง แคะเอาเมล็ดออกทิ้งไปมากหน่อยก็เผ็ดน้อยลงมากขึ้น หอมแดงและกระเทียมเมื่อเผาแล้วก็จะลดความซ่าหรือความฉุนลงไป และจะออกรสไปทางหวานมากขึ้นด้วย  โขลกหอมก่อน ตามด้วยกระเทียม ตามด้วยพริกฉีกเป็นเส้นๆ (หรือจะทั้งเม็ดก็ได้) ปรุงรสด้วยเกลือเพื่อช่วยประสานรสของพริก หอม กระเทียม ให้มีความกลมกล่อม

ผักแนมนั้น ก็ใช้ผักนึ่งทั้งหลาย อาทิ ฟักทอง ถั่วแปบ ผักกาดจอ (ดอกผักกาด) ผักขี้หูด มะเขือเปราะ ฯลฯ  ทานกับข้าวเหนียวกลางเก่ากลางใหม่ที่นึ่งมาร้อนๆสักปั้นหนึ่ง ตบท้ายอาหารคำแบบตามติดเข้าไปในปากด้วยแคบหมูติดมันจิ้มน้ำพริกถ้วยนั้น   

ว้าว... อย่าได้บอกใครเชียวว่าอร่อยกลมกลือนกันอย่างไร 
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 72  เมื่อ 20 เม.ย. 15, 19:40

ที่ผมได้ประสบพบเห็น ได้ทาน ได้ตำน้ำพริกมานานหลายๆสิบปี   ผมเห็นว่าน้ำพริกหนุ่มที่มีการทำขายกันในปัจจุบันนี้นั้น ดูจะเป็นน้ำพริกที่พัฒนามาเพื่อการค้าโดยตรง  ซึ่งก็มาจากน้ำพริกที่เรียกกันในชื่ออื่นๆที่ใช้พริกหนุ่มเผา หอมเผา กระเทียมเผาเป็นพื้นฐานเหมือนกัน (เพียงแต่น้ำพริกเหล่านั้นมีชื่ออื่นๆต่างกันไปในถิ่นต่างๆ หรือเรืยกชื่อตามเครื่องปรุงอื่นๆที่รวมอยู่ด้วย เช่น น้ำพริกมะกอก น้ำพริกปลากระดี่ น้ำพริก..(ชื่อแมลงต่างๆ) น้ำพริกมะเขือ น้ำพริกมะเขือส้ม ....ฯลฯ)
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 73  เมื่อ 20 เม.ย. 15, 20:23

หลายท่านอาจจะมีข้อสงสัยเกี่ยวกับน้ำพริกหนุ่มอยู่ประเด็นหนึ่ง คือ จริงหรือไม่ที่น้ำพริกหนุ่มนั้นเสียง่าย จึงจำเป็นจะต้องแช่เย็นตลอด   แต่ในขณะเดียวกันก็ เอ..?  เห็นใส่ขวดขายก็มี เห็นวางขายในตลาดแทบจะทั้งวันก็มี เห็นใส่บรรจุภัณฑ์พลาสติกแล้วแช่เย็นก็มี 

เรื่องนี้ ผมก็ไม่รู้จริง  รู้แต่ว่าหากผู้ทำได้ทำด้วยความตั้งใจ ทำอย่างคำนึงถึงคุณภาพ มันก็ไม่น่าเสียง่ายๆเช่นนั้นหรอก   หากสุกคือสุก ดิบคือดิบ มันก็เสียยากกว่าสุกๆดิบๆครับ     ผมมิได้มีความเชี่ยวชาญในการดูน้ำพริกนี้เป็นพิเศษ พอจะสังเกตได้เท่านั้นเองว่ามันสุกดีหรือสุกๆดิบ  ผมดูจากหอมเผาครับ เนื้อหอมที่เผาสุกดีมันจะใส พริกที่เผาสุกดีจะมีเนื้อนิ่มสีเสมอกันตลอด ไม่เห็นไต    อย่างไรก็ตามเนื่องจากน้ำพริกหนุ่มต้องปรุงรสด้วยเกลือ ดังนั้น โอกาสที่จะเสียก็คงจะไม่ต่างไปมากนักจากกับข้าวอื่นๆ 
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 74  เมื่อ 20 เม.ย. 15, 20:44

ได้กล่าวถึงแคบหมู  ก็จะขอขยายความเล็กน้อย

แคบหมูของไทยนั้น น่าจะเป็นของอร่อยมากๆจริงๆ มันไปไกลถึงยุโรป ไปมีตลาดขนาดใหญ่รองรับแล้ว  ขนาดของตลาดก็ใหญ่พอถึงขนาดพอที่จะสามารถทำการผลิตอยู่ในยุโรปได้ (ครับ ผลิตในสวีเดน ซึ่งอาจจำผิดได้นะครับ เพราะนานมาแล้ว) ที่น่าสนใจจริงๆ คือ มีภาษาไทยเขียนกำกับอยู่บนซองพลาสติคว่า แคบหมู อีกด้วย

ทำให้อร่อยง่ายๆตรับ ตักน้ำพริกเผามาช้อนหนึ่งใส่ถ้วยน้ำจิ้ม ฝานมะนาวประมาณครึ่งลูก บีบน้ำมะนาวลงไปแล้วคนให้เข้ากัน (อาจจะปรุงด้วยน้ำตาลปึกนิดหน่อยก็ได้)  ที่เหลือก็เพียงเอาแคบหมู (แบบมีมันหรือแบบไร้มันก็ได้) จิ้มทาน  จะจัดเป็นของแกล้มก็ได้ จะจัดเป็น appetizer ก็ได้ครับ ...bon appertit
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 3 4 [5] 6 7 ... 13
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.076 วินาที กับ 19 คำสั่ง