เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1]
  พิมพ์  
อ่าน: 8843 ขอถามการแสดงที่จัดในงานศพ
han_bing
นิลพัท
*******
ตอบ: 1622



 เมื่อ 03 เม.ย. 15, 15:45

เรียนสมาชิกเรือนไทย

ขณะนี้ Han_Bing ของเรานอกจากจะไปเรียนปริญญาเอกที่เมืองจีนแล้ว ยังทำงานพิเศษในรายการทีวีกับเขาด้วย โดยรายการทีวีเป็นเนื้อหาเกี่ยวกับหนุ่มต่างชาติ ๑๑ คน ที่จะตอบปัญหาชีวิตชาวจีน และมาถกเถียง ตลอดจนแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมต่างๆไปด้วย

ขณะนี้เลยกลายเป็นตัวแทนเมืองไทยคนไทยไปในบัดดล

ข้าพเจ้ามีเรื่องจะขอความรู้จากท่านสมาชิก เนื่องจากในเมืองจีนบล๊อคกูเกิลทำให้ค้นคว้ายาก

ในงานศพของไทยนี้ แม้จะเป็นงานโศกเศร้า แต่เราก็ยังมีการแสดงมหรสพกันอยู่มากมายตั้งแต่โบราณถึงปัจจุบัน

อยากทราบว่า การแสดงจำพวกนี้ในอดีตได้แก่สิ่งใดบ้าง และช่วงแสดง จะแสดงหลังเสร็จสิ้นงานแล้ว หรือระหว่างงาน

ข้าพเจ้าจำได้ว่าในงานพระเมรุมาศก็มีการจัดแสดงโขนละครเช่นกัน

ขออภัยทุกท่านด้วยที่รบกวน

ขอบคุณท่านสมาชิกทุกท่านล่วงหน้า
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 03 เม.ย. 15, 16:14

กำเนิดมหรสพในการพระเมรุ
ดร.อนุชา ทีรคานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันไทยคดีศึกษา ม.ธรรมศาสตร์ให้ข้อมูลว่า เท่าที่ได้มีการศึกษา สืบค้นได้นั้น พบว่า งานมหรสพสมโภชในการพระเมรุ มีมาตั้งแต่ก่อนสมัยกรุงศรีอยุธยาโดยงานสมโภชที่เกิดขึ้นนี้ไม่ได้ใช้เฉพาะกับงานพระเมรุเท่านั้น   งานฉลองต่างๆ ก็มีมหรสพเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  โขน, ระเบง, โมงครุ่ม ที่มีมาตั้งแต่โบราณ และในสมัยกรุงศรีอยุธยา สมัยกรุงธนบุรี

รำโคมบัว (แบบไทย)

การแสดงมหรสพจากต่างประเทศก็เข้ามาอิทธิพลอย่างมากดังจะเห็นได้จากคณะรำญวน งิ้ว ที่แสดงให้เห็นถึงความหลากหลายของวัฒนธรรมในยุคนั้น

การละเล่นกระอั้วแทงควาย
   
เมื่อมาถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ การแสดงก็ยิ่งมีความหลากหลายมากขึ้นเรื่อยมาจนกระทั่งในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  พระองค์จึงมีพระราชปรารภถึงมหรสพสมโภชในการพระเมรุ ว่าในการพระเมรุแต่ละครั้งจะมีการสร้างพระเมรุใหญ่กลางเมืองเหมือนเช่นโบราณนั้นเป็นการใช้เงินที่ฟุ่มเฟือย ใช้กำลังแรงคนมหาศาล จึงรับสั่งให้ลดทอนพิธีการต่างๆ ลง

การแสดงละครชาตรี

ที่สำคัญคือ ก่อนที่พระองค์จะสวรรคตได้มีพระราชกระแสรับสั่งไม่ให้จัดพระราชพิธีพระบรมศพของพระองค์ให้ใหญ่โต ดังนั้น การออกพระเมรุในครั้งนั้นจึงได้ลดทอนขั้นตอนประเพณีลงซึ่งรวมถึงงานมหรสพด้วย
       
การแสดงละครใน

ถึงยุคพลิกฟื้นมหรสพในการออกพระเมรุ       ดร.อนุชา ให้ข้อมูลต่อว่า จนกระทั่งมาถึงคราวงานถวายพระเพลิงพระบรมศพของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี นั้นสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้มีพระราชปรารภที่จะฟื้นการละเล่นมหรสพกลับมาในการพระเมรุอีกครั้งเพื่อรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีเก่าแก่ไม่ให้หายไป แต่ก็มีการละเล่นมหรสพหลายอย่างเลือนหายไป  จนไม่สามารถหาหลักฐาน หาข้อมูลได้ถึงรูปแบบและวิธีการเล่นได้

แทงวิไสย

ยกตัวอย่างเช่น เทพทอง ซึ่งเป็นการแสดงเพลงพื้นบ้าน อีกทั้งมอญรำ หรือแม้กระทั่ง แทงวิไสย โดยในปัจจุบันที่แสดงอยู่ก็เป็นการประดิษฐ์ท่าทางในการแสดงขึ้นมาใหม่ โดยอาศัยหลักฐานอ้างอิงที่ใกล้เคียงกับของจริงเท่านั้น
ยกเว้นการแสดงบางอย่าง เช่น โมงครุ่ม, กุลาตีไม้ซึ่งเป็นการแสดงที่สืบทอดกันมาในวิทยาลัยนาฏศิลป ฉะนั้น ในปัจจุบันจึงยังคงอยู่
       
       “การออกพระเมรุถือเป็นงานปลดทุกข์ หลังจากที่ไว้ทุกข์มาในช่วงระยะเวลาหนึ่งซึ่งในอดีตมักจะจัดออกพระเมรุในหน้าแล้ง
เพราะต้องการหลีกเลี่ยงอุปสรรคจากพายุ ฝนการนำเอามหรสพสมโภชมาเล่น ก็เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติและเป็นการออกทุกข์ในเวลาเดียวกัน    อย่าลืมว่าเมื่อเจ้านายสวรรคตหรือสิ้นพระชนม์ลง จะเสด็จกลับสู่สรวงสวรรค์สุดท้ายในงานถวายพระเพลิง ก็เหมือนเป็นการส่งเสด็จซึ่งก็เป็นเวลาที่ต้องสมโภช” ผอ.สถาบันไทยคดีศึกษา ให้ข้อมูล     
       
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 03 เม.ย. 15, 16:16

ดร.อนุชา อธิบายเพิ่มว่า ณ เวลานี้ในส่วนของการพระเมรุสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯนั้นพระองค์ทรงมีพระกรุณาธิคุณที่ทรงอุปถัมภ์วงดนตรีสากล  คณะหุ่นละคร มากมาย

ฉะนั้น การออกพระเมรุในครั้งนี้ก็ถือเป็นโอกาสดีที่บรรดาคณะเหล่านั้นจะได้ร่วมแสดงถวายอาลัยเป็นครั้งสุดท้ายโดยมหรสพต่างๆ นั้นจะมีหมายรับสั่งออกมาอีกครั้งหนึ่งว่าจะมีพระราชประสงค์ให้สิ่งไหนปรากฏในงานบ้างเพราะการออกพระเมรุเป็นเรื่องส่วนพระองค์
       
 เทิดพระเกียรติกับมหรสพอันทรงคุณค่า
 ในส่วนรายละเอียดของงานมหรสพสมโภชในการพระเมรุสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ นั้นอ.ประเมษฐ์ บุญยะชัย ครูเชี่ยวชาญวิทยาลัยนาฏศิลป สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์  กระทรวงวัฒนธรรม แจกแจงว่าประเด็นของการมหรสพสมโภชในการพระเมรุตั้งแต่อดีต จนกระทั่งปัจจุบันนั้น มีอยู่ 2 ประเด็นหลัก คือ มหรสพที่เป็นเรื่องราว และ มหรสพที่เป็นการละเล่น
       
       ในส่วนของมหรสพที่เป็นเรื่องราวมีความสำคัญและขาดไม่ได้ที่จะต้องมี หนังใหญ่ โขน ที่มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา
ละคร ก็มีหลายประเภท เช่น ละครใน เป็นละครที่เล่นในวัง ละครนอก เป็นละครชาวบ้านอีกทั้งยังรวมไปถึงการแสดง หุ่น ซึ่งภายในงานพระเมรุนั้นจะมีความหลากหลายของการแสดง
       
       ส่วนที่มีการแสดงรื่นเริงในงานศพนั้นเพราะการคิดแบบชาวตะวันออกซึ่งหากเป็นตะวันตกงานศพคืองานที่ต้องเศร้าโศก เสียใจ  แต่ไทยได้รับอิทธิพลของพระพุทธศาสนา ที่สอนให้รู้จักความพอดีคือ ไม่เสียใจมาก และก็ไม่ดีใจมากเกินไปเช่นกัน
       
       ขณะเดียวกัน นัยสำคัญที่ต้องมีมหรสพในงานศพนั้นยังเป็นการแสดงความกตัญญูต่อผู้ล่วงลับเป็นครั้งสุดท้ายหากแต่เป็นพระมหากษัตริย์ หรือ เจ้านายชั้นสูง ก็หมายความว่าเป็นครั้งสุดท้ายที่ข้าแผ่นดินจะสามารถ สนองพระมหากรุณาธิคุณ พระกรุณาธิคุณ เทิดพระเกียรติจึงมีการจัดมหรสพต่างๆ ขึ้นและคนไทยถือว่าพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพนั้นเป็นงานออกทุกข์ ฉะนั้น ในช่วงชีวิตหนึ่งสิ่งเดียวที่ข้าแผ่นดินจะทำได้ต้องยิ่งใหญ่ที่สุด     
       อีกทั้งมหรสพยังเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตของคนในสังคมเช่น สังคมการเกษตร ก็จะมีการละเล่นเพลงพื้นบ้านที่เล่นหลังฤดูเก็บเกี่ยวในส่วนมหรสพที่ได้รับการปรุงแต่งให้เป็นของหลวง ที่มีความละเอียดอ่อน ประณีตและสืบทอดกันมายาวนาน ก็จะเป็นสิ่งสะท้อนถึงความเชื่อ คติต่างๆที่ปรากฏอยู่ในการแสดงทั้งสิ้น อย่างเช่น การแสดงโขนที่เป็นการรวบรวมเรื่องราวในการเฉลิมพระเกียรติพระมหากษัตริย์เพราะโขนจะเล่นเรื่องรามเกียรติ์
      ซึ่งรามเกียรติ์นั้นเป็นมหากาพย์ที่ว่าด้วยอวตารของพระนารายณ์ซึ่งเป็นดั่งสมมติเทพเช่นเดียวกับที่พสกนิกรเทิดทูนให้พระมหากษัตริย์ไทยเปรียบได้ดังสมมติเทพเช่นกัน  ฉะนั้นเรื่องราวเหล่านี้จึงเป็นการส่งเสริมพระเกียรติยศของพระมหากษัตริย์ และพระราชวงศ์
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 03 เม.ย. 15, 16:18

การละเล่นโมงครุ่ม

อ.ประเมษฐ์ บอกอีกว่า นอกจากสาระสำคัญของการแสดงในงานมหรสพสมโภชในการพระเมรุที่ต้องมีหนังใหญ่, โขน, ละคร, หุ่น แล้วนั้นก็จะมีการละเล่นต่างๆ ที่ยึดตามแบบแผนที่มีมาตั้งแต่โบราณ เฉพาะที่ยังศึกษาหาข้อมูลได้ เช่น โมงครุ่ม, กุลาตีไม้, ระเบง, แทงวิไสย,กะอั้วแทงควาย, รำโคมญวน, รำโคมบัว เป็นต้น ซึ่งพระราชนิยมแต่ละสมัย จะไม่เหมือนกันเช่น รำโคมญวนนั้นเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 ดังนั้น จึงได้นำรำโคมญวนมาใส่ลงในมหรสพในการออกพระเมรุตั้งแต่นั้นมา เป็นต้น
      
       ** “ดนตรีสากล” สิ่งทรงโปรด เพิ่มในมหรสพการออกพระเมรุ       เหมือนเช่นในสมัยนี้ ที่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ทรงโปรด ดนตรีสากล (ออร์เคสตรา)ดังนั้น ในการออกพระเมรุ จึงมีการเพิ่มสิ่งที่พระองค์ทรงโปรดลงไปในมหรสพการออกพระเมรุ
โดยสามารถแบ่งเป็น

เวทีที่ 1.มีการแสดงหนังใหญ่ และ โขน
เวทีที่ 2.การแสดงของหุ่นกระบอก
โดยมีการเชิญหุ่นละครโจหลุยส์ ที่อยู่ในพระอุปถัมภ์ฯ มาทำการแสดงอีกทั้งยังมีละครใน-นอก และในเวทีที่ 3.เป็นเวทีการแสดงของวงดุริยางค์สากล
วงดนตรีคลาสสิก ที่พระองค์ทรงโปรด และทรงรับไว้ในพระอุปถัมภ์ฯหลายต่อหลายวง มาทำการแสดงซึ่งมหรสพในการออกพระเมรุจะมีขึ้นในวันถวายพระเพลิงตลอดทั้งคืนวันที่ 16 พฤศจิกายน 2551
      
       อย่างไรก็ตาม ทุกสิ่งในส่วนของมหรสพที่กล่าวมานี้ต้องนำขึ้นกราบบังคมทูลสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อทรงพระราชวินิจฉัยอีกครั้ง
      
       “การแสดงเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งที่ได้รับการอนุรักษ์ไว้โดยวิทยาลัยนาฏศิลป กรมศิลปากรซึ่งปัจจุบันนี้จะเห็นว่าหลายๆ สถาบันได้อนุรักษ์สิ่งเหล่านี้ไว้เป็นอย่างดี  สิ่งที่พยายามจะทำคือการรักษาสิ่งที่มีอยู่นี้ไม่ให้หายไปอีก การจะรักษาไว้นั้นไม่ใช่เพียงแค่นำมาซ้อม  แต่การอนุรักษ์คือการสร้างผู้ชม ไม่ใช่สร้างผู้เล่นเพียงอย่างเดียว  จึงอยากให้เกิดผู้ชมกลุ่มใหม่ๆ ที่จะหันมาสนใจศิลปวัฒนธรรมไทย  และอยากเชิญชวนให้ประชาชนมาร่วมงานเพราะงานนี้เหล่าพสกนิกรทุกหมู่เหล่า จะได้แสดงความจงรักภักดีต่อพระองค์ที่ทรงสร้างคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติอย่างมหาศาล  นอกจากนี้จะได้เห็นถึงจารีต ประเพณีต่างๆ ที่มีมาตั้งแต่อดีตที่เป็นวัฒนธรรมอันยิ่งใหญ่ของไทย โดยจะสืบทอดไปยังรุ่นสู่รุ่น”อ.ประเมษฐ์ ฝากทิ้งท้าย
http://www.arunsawat.com/board/index.php?topic=7605.0;wap2
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 03 เม.ย. 15, 16:44

นอกจากนี้ยังมีการสวดคฤหัสถ์ เป็นการเล่นสวดเลียนแบบพระสวด เป็นทำนองตลกขบขันไปเรื่อยๆ
บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 03 เม.ย. 15, 17:51

          คุณ สุจิตต์ วงษ์เทศ เคยเขียนลงนสพ. มติชน ว่า

        พิธีกรรมเกี่ยวกับความตาย หรือ งานศพ ของคนดึกดำบรรพ์สุวรรณภูมิในอุษาคเนย์มีสาระสำคัญ
คล้ายคลึงกัน ว่าความตายหมายถึงคืนกลับถิ่นเดิมหรือโลกเก่าของบรรพบุรุษ ซึ่งควรรื่นเริงยินดี จึงมี
การละเล่นในพิธีศพสืบมาจนปัจจุบัน พยานสำคัญอยู่ในหนังสือวรรณคดีไทยเกือบทุกเล่ม แม้งาน
พระบรมศพยังต้องมีการละเล่นฉลอง เช่น อิเหนา, ขุนช้างขุนแผน, ฯลฯ ในชุมชนหมู่บ้านรอบๆ กรุงเทพฯ
เช่น ในสวนทางฝั่งธนบุรียังนิยมมีโขนและประชันปี่พาทย์เล่นฉลองงานศพทุกวันนี้

ภาพสวดคฤหัสถ์


บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 03 เม.ย. 15, 17:52

และ ในมติชนสุดสัปดาห์

        พิธีศพของคนในภูมิภาคอุษาคเนย์ อาจนับเป็นพิธีศพยาวนานหลายวันที่สุดในโลกก็ได้ ที่สนุกสนาน
รื่นเริงด้วยการร้องรำทำเพลงเพื่อเรียกขวัญที่หายไปให้กลับคืนร่างเดิม
        เพราะเชื่อว่าคนที่นอนนิ่งอยู่นั้นขวัญหายหรือขวัญหนีไปชั่วคราว อีกไม่นานจะกลับมาคืนร่างเดิมเป็นปกติ
....
        http://www.sujitwongthes.com/2015/02/weekly27022558/
บันทึกการเข้า
han_bing
นิลพัท
*******
ตอบ: 1622



ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 03 เม.ย. 15, 18:32

ผมเข้ากูเกิลไม่ค่อยได้ รบกวนทุกท่านใส่ภาพงานฉลองในงานพระเมรุของสมเด็จพระพี่นาง ตลอดจนสวดคฤหัสได้ไหมครับ

ขอบพระคุณครับ
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 03 เม.ย. 15, 18:51

ในกรณีของชาวบ้าน

เมื่อหลายสิบปีก่อนโน้น ผมเคยเห็นมีมหรสพทั้งประเภทลิเก และ หนังกลางแปลง จัดกันในพื้นที่โล่งกลางแจ้งใกล้ๆบ้านของผู้เสียชีวิต งานลักษณะนี้พบอยู่ตามหมู่บ้านรุ่นเก่าๆแถบกาญจนบุรี สุพรรณบุรี และอ่างทอง  คลับคล้ายคลับคลาว่าจะเคยเห็นแถวศรีสัชนาลัยด้วย  แต่ไม่เคยพบเห็นในพื้นที่ภาคเหนือเลย

งานของชาวบ้านนี้มีการจัดในคืนสุดท้ายก่อนที่จะทำการฌาปนกิจในวันรุ่งขึ้น  แต่บางทีก็ติดลมไปอีกหนึ่งคืน ด้วยเหตุผลว่า จัดทั้งทีแล้วก็เอาให้คุ้มทั้งผู้รับจ้างและผู้จ้าง เอาให้สุดๆไปเลย แล้วก็ยังเป็นหน้าเป็นตาของเจ้าของงานอีกด้วย เพราะงานประเภทนี้จะมีการจัดขึ้นก็เฉพาะแก่ผู้เสียชีวิตที่เป็นผู้เฒ่าผู้แก่ที่เป็นที่เคารพนับถืออย่างมากของชุมชนในละแวกนั้น

เคยสอบถามเจ้าถึงเหตุผลของงานแถว อ.บ่อพลอย ได้ความว่า เป็นการปลดทุกข์ปลดโศก และส่งความสุขให้กับผู้เสียชีวิตในวาระสุดท้ายอีกด้วย  
บันทึกการเข้า
CVT
องคต
*****
ตอบ: 452


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 03 เม.ย. 15, 18:54

มี ๕ คลิป ดูไล่ไปเลยครับ



บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 03 เม.ย. 15, 19:19

ในภาคกลาง ผู้คนนิยมเอาศพไว้ที่วัด และทำพิธีกรรมที่วัด สถานที่ฌาปนกิจก็อยู่ในพื้นที่วัด    

ในภาคเหนือ ผู้คนนิยมเอาศพไว้ที่บ้าน ทำพิธีกรรมที่บ้าน แล้วนำไปฌาปนกิจที่ฌาปนสถานที่เรียกว่าป่าเหี้ยว

วัฒนธรรมของจีนในแผ่นดินจีนจะเป็นเช่นใดผมไม่ทราบ  แต่ที่เคยเห็นพิธีกรรมชองชาวม้ง (ซึ่งมีวัฒนธรรมคล้ายจีนในหลายเรื่อง) สำหรับผู้ที่ได้รับการสดุดีว่าเป็นผู้กล้า (วีรบุรุษ) ในระหว่างพิธีคารวะศพนั้น ก็มีการเต้นพร้อมกับการเป่าเครื่องดนตรีด้วยเพลงเศร้าๆเช่นกัน

ทั้งหมดมีพิธีกรรมเหมือนกันอยู่ประการหนึ่ง คือ การอยู่เป็นเพื่อนศพจนถึงวันเผา ซึ่งมิใช่การไปนอนหลับเป็นเพื่อนศพ แต่เป็นการนั่งเล่นเป็นเพื่อนศพ  ซึ่งของไทยเรามีการพัฒนาไปเป็นการตั้งวงพนัน และการตั้งวงกินเหล้า  
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.076 วินาที กับ 19 คำสั่ง