เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1]
  พิมพ์  
อ่าน: 5939 สตรีผู้มีบุญ สมเด็จพระพันปีหลวงเซียวเซิงเสี่ยนฮวงไท่โฮว (孝圣宪皇太后)
han_bing
นิลพัท
*******
ตอบ: 1622



 เมื่อ 26 มี.ค. 15, 23:32

ในประวัติศาสตร์จีนมีสตรีหลายนางได้รับการยกย่องว่าบุญญาธิการสูง ในกระบวนสูงสุดมนุษย์นั่งไหว้คงได้แต่พระนางบูเช็กเทียน (武则天) ผู้ได้ครองบัลลังค์มังกรเป็นฮ่องเต้องค์แรกที่เป็นสตรี แต่เอาเข้าจริงชีวิตของพระนางก็ดูไม่สบายเท่าไรนัก เพราะว่าต้องสู้ฝ่าฟัน ฆ่าคนมากมาย เป็นศัตรูกับลูกตัวเอง และสุดท้ายก็ถูกปลดในยามชรา

ถือว่าเหนื่อยจัดจนไม่รู้ว่าจะเรียกว่ามีบุญหรือมีกรรมดี

แม้บางคนจะต่อสู้ฝ่าฟันมาเหนื่อยยาก แต่บางคนก็ไม่ได้ต่อสู้ สตรีบางคนชีวิตสบายอยู่ในวังอย่างเป็นสุขไม่ได้ต่อสู้อะไรแต่ว่าอายุก็สั้นเกินไป ไม่กี่ปีก็สิ้นลม พูดง่ายๆคือ บุญมากแต่มีเวลาเสวยบุญน้อย

ภาพพระนางบูเช็กเทียน


บันทึกการเข้า
han_bing
นิลพัท
*******
ตอบ: 1622



ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 26 มี.ค. 15, 23:34

อย่างไรก็ตามคนที่ขึ้นมาสบายๆและใช้ชีวิตสบายๆนานๆจนกระทั่งสิ้นลมยามชรานั้นก็มีอยู่ สตรีที่ว่านั้นคือพระมารดาของพระเจ้าเฉียนหลงฮ่องเต้ (乾隆皇帝) นั้นเอง

พระมารดาของพระเจ้าเฉียนหลงฮ่องเต้ นั้นมีกำเนิดในสกุลสูงคือตระกูลหนิวฮู่ลู่ (钮祜禄氏) ถือเป็นตระกูลขุนนางเก่าที่มีบทบาทในการก่อสร้างแผ่นดินราชวงศ์ แต่อย่างไรก็ตาม สายสกุลของพระองค์น่าจะเป็นสายหนิวฮู่ลู่ที่ออกจะบ้านๆสักหน่อย บิดาเป็นข้าราชฝ่ายบุ๋นยศกลางๆแค่ระดับสี่ ที่บ้านไม่ได้รวยมากนัก ต้องค้าขายไปด้วย พระนางในวัยเยาว์ต้องออกไปขายขนม แต่จะด้วยความน่ารักหรืออะไรก็ไม่รู้ขายขนมดีเป็นเทน้ำเทท่า แถมไปขายร้านไหนคนขายของแถวนั้นก็พลอยขายดีไปด้วย จนคนตั้งฉายาว่า “แม่นกนำโชค”

ภาพพระเจ้าเฉียนหลงฮ่องเต้ในวัยหนุ่ม


บันทึกการเข้า
han_bing
นิลพัท
*******
ตอบ: 1622



ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 26 มี.ค. 15, 23:39

ภายหลังถูกคัดเลือกเข้ามาในวัง และได้รับการจัดสรรให้เป็นหม่อมห้ามของหยงชินหวาง (雍亲王) ซึ่งในอนาคตจะเป็นพระเจ้าหยงเจิ่ง (雍正皇帝) อันโด่งดัง แต่ว่าด้วยกำเนิดอันสูงแต่ไม่ได้สูงมาก ดังนั้นพระนางเมื่อแรกเข้าวังจึงไม่ได้ตำแหน่งพระชายาเอกตี่ฟูจิ่น (嫡福晋) พระชายารองเชอฟูจิ่น (侧福晋) แต่ได้รับแต่ตำแหน่งนางห้ามตัวเล็กๆยศ “เก่อเกอ” (格格)ซึ่งถือว่าต่ำสุดในวังแล้ว

อย่างไรก็ตามแม้จะได้ยศต่ำ แต่ว่าพระองค์ก็มีบุญอยู่บ้างที่มีพระโอรส ๑ พระองค์ เป็นโอรสองค์ที่สี่ของหยงชินหวาง แต่บุญในขณะนั้นก็ดูเหมือนจะมีแค่นั้น เพราะว่าแม้จะมีลูกกับเขาแถมเป็นลูกชาย พระสามีก็มิได้ยกย่องขึ้นมาให้เป็นพระชายารอง ให้เป็นแต่หม่อมห้ามย่ำต๊อกอยู่สืบไปเป็นสิบปี กระทั่งโอรสองค์น้อยอายุได้ ๑๒ ปีก็ไม่มีวี่แววว่าจะมีอะไรดีขึ้น แม้ยามพระสามีป่วยไข้ก็รับใช้อย่างดี ว่ากันว่าพระสามีเมตตาขึ้น แต่ก็ไม่มีอะไรดีขึ้นในชีวิต ยังเป็นหม่อมตัวน้อยสืบไป

วัดลามะ หรือภาษาจีนเรียกว่า "หยงเหอกง" (雍和宫) แต่เดิมเคยเป็นวังที่พระทับของพระเจ้าหยงเจิ่งครั้งยังเป็นเจ้าชาย


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
han_bing
นิลพัท
*******
ตอบ: 1622



ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 26 มี.ค. 15, 23:41

แต่หลังจากรอคอยอย่างสงบมานาน ในที่สุด หยงชินหวางกราบทูลพระบิดาพระเจ้าคังซี (康熙皇帝) ให้มาชมดอกโบตั๋น ที่วังของตน พระเจ้าคังซีเสด็จพระราชดำเนินมาถึง ก็ทรงทอดพระเนตรดอกโบตั๋น แต่ในหมู่ดอกโบตั๋นนั้น พระโอรสองค์น้องหงลี่ องค์ชายสี่ที่ไร้ความสำคัญ ตำนานเล่าว่ากำลังรำดาบหรือท่องหนังสืออยู่ก็ไม่รู้ แต่คล่องแคล่วถูกพระทัยพระเจ้าคังซีเหลือเกิน พระองค์เลยเรียกมาใกล้ๆ หลังจากทรงคุยกับพระนัดดาตัวน้อยก็โปรดปรานยิ่งนัก ทั้งเก่ง ทั้งฉลาด จนออกพระโอษฐ์ขอให้ส่งให้พระองค์เลี้ยงเอง พร้อมทั้งเอ่ยชมพระนัดดาว่า “หลานคนนี้มีบุญยิ่งกว่าใคร” (是福过于予) เลยเรียกให้มารดาของเด็กคนนี้มาหา พอหม่อมที่ไร้ค่าคนนี้เข้าเฝ้า พระเจ้าคังซีก็หัวเราะร่า พลางตรัสว่า “คนมีบุญ คนมีบุญ” ไม่หยุด (有福之人)

คำตรัสของพระเจ้าคังซีดูเหมือนจะเป็นคำอวยพรให้พระนาง เพราะอนาคต พระนางก็มีบุญเช่นนั้นจริงๆ แม้จะต้องรอหน่อย

รูปพระเจ้าคังซี


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
han_bing
นิลพัท
*******
ตอบ: 1622



ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 26 มี.ค. 15, 23:42

เมื่อหยงชินหวางขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าหยงเจิ่น พระองค์ตั้งเหล่านางในของพระองค์ให้เป็นพระสนม หม่อมแซ่หนิวฮู่ลู่ ได้ถูกยกเป็นพระสนมชั้นเฟย นามว่า สีเฟย (熹妃) แม้ตอนนี้บุญของพระนางจะเริ่มมาแล้ว แต่ก็ดูไม่น่าจะมากอะไรไปกว่านั้น พระเจ้าหยงเจิ่นมีเซี่ยวจิงเสี่ยนฮองเฮา(孝敬宪皇后)  เหนียนกุ้ยเฟย (年贵妃) และฉีเฟย (齐妃) รวมทั้งสิ้นสามพระองค์ที่ยศสูงกว่า เป็นที่รักมากกว่า และทั้งหมดทั้งมวลล้วนมีพระโอรส พระนางก็นั่งคอยอย่างสงบใช้ชีวิตเป็นเฟยต่อไปอย่างเงียบๆ

ภาพพระเจ้าหยงเจิ่ง


บันทึกการเข้า
han_bing
นิลพัท
*******
ตอบ: 1622



ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 26 มี.ค. 15, 23:48

ใครจะคาดคิดพระโอรสฮ่องเฮาสิ้นบุญไปก่อนพระบิดาจะขึ้นครองราชย์ ในปีที่สามของรัชกาลพระสนมเอกเหนียนกุ้ยเฟยก็สิ้นลม หลังจากนั้นไม่นานลูกชายของนางก็ล้มป่วยและจากไปตั้งแต่วัยเยาว์เหมือนจะตามมารดาไปปรโลก เหลือแต่ฉีเฟย ที่โปรดกว่านางยิ่งนัก แถมแต่เดิมมียศเป็นพระชายารองกับลูกชายที่มียศสูง ดูไปดูมาน่าจะได้ขึ้นครองราชย์ แต่ในปีที่ห้าของรัชกาลพระเจ้าหยงเจิ่น บังเอิญลูกชายไปงัดข้อกับพ่ออย่างไรก็ไม่รู้ เลยถูกทอดยศ แถมมีบันทึกเล่าว่า ถูกสั่งประหารเสียด้วย

สุดท้ายในปีที่แปดของรัชกาลพระเจ้าหยงเจิ่น ฮ่องเฮาก็สิ้นลม

เหลือเพียงแต่สีเฟยคนเดียว ยืนเด่นเป็นสง่า ในที่สุด ปีที่แปดของรัชกาล พระนางก็ได้รับการสถาปนาเป็นกุ่ยเฟย สันนิษฐานว่าไม่ได้มีพิธีแต่งตั้งอย่างเป็นทางการ แต่ว่าก็ได้รับยกย่องให้เป็นกุ่ยเฟย มีอำนาจครองทั้งวัง

ภาพเซี่ยวจิงเสี่ยนฮ่องเฮา


บันทึกการเข้า
han_bing
นิลพัท
*******
ตอบ: 1622



ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 26 มี.ค. 15, 23:50

และแล้วในที่สุด ในปีที่ ๑๓ ของรัชกาล พระเจ้าหยงเจิ่นล้มป่วยและสวรรคตไปในที่สุด พระโอรสองค์ที่ ๔ ได้ขึ้นครองราชย์เป็นเฉียนหลงฮ่องเต้ พระนางกลายเป็นฮ่องไทเฮา พระเจ้าเฉียนหลงเป็นลูกที่สนิทกับแม่ จะไปไหนมาไหนก็ไปกับแม่เสมอ หรือแม่อยากจะไปไหนก็พาไป คนเขาว่าพระนางดั้งเดิมน่าจะเป็นชาวใต้ อยู่แถบลุ่มแม่น้ำแยงซีเกียงที่เรียกกันว่าเจียงหนาน พระองค์รู้ว่าพระมารดาอยากเสด็จเยี่ยมถิ่นเดิม พระองค์เสด็จทางใต้ ๗ ครั้ง พาพระมารดาไปด้วย ๔ ครั้ง นี้ยังไม่นับพาพระมารดาไปแถวภาคตะวันออกไกลโพ้นอันเป็นรกรากของเผ่าแมนจู พาเสด็จไปซานสี ขึ้นเขาบูชาเทพ พาไปบวงสรวงเขาไท่ซาน พาไปล่าสัตว์ และการไปนี้ไม่ได้ไปแค่ครั้งเดียว แต่ละที่ไปถึง ๓ – ๔ ครั้งเป็นอย่างน้อย ถ้าที่ใกล้ๆปักกิ่งก็ไป ๓๐ กว่าครั้งต่อที่ เรียกได้ว่าพระเจ้าเฉียนหลงเสด็จไปไหน พระมารดาย่อมเสด็จไปด้วย จนหลังๆพระชนม์มากจนเสด็จไม่ไหว พระเจ้าเฉียนหลงเลยเอาใจพระมารดาโดยการสร้างพระราชวังฤดูร้อนที่ทุกวันนี้เรียกว่า ฮี้เหอหยวน จำลองทิวทัศน์ของทางใต้ แถบหางโจว ซูโจว ให้พระมารดาเดินเล่นเพื่อให้หายคิดถึง แถมขนพันธุ์ไม้จากทางใต้ที่พระมารดาโปรดมาปลูกอีก สืบไปพระมารดาอยากไปทางใต้แต่เสด็จไม่ไหว จะได้เดินเล่นในสวนหลวงนี้เอง เมื่อมีพระชนม์พรรษาครบ ๖๐ ๗๐ และ ๘๐ ก็มีงานฉลองขนาดมโหฬารให้ ชนิดฉลองทั้งแผ่นดิน

ภาพบรรยากาศการเดินทางของราชสำนักพระเจ้าเฉียนหลง

และภาพพระเจ้าเฉียนหลงถวายพระพรพระมารดาในงานวันพระราชสมภพของพระนาง


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ

บันทึกการเข้า
han_bing
นิลพัท
*******
ตอบ: 1622



ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 26 มี.ค. 15, 23:52

บุญของพระนางสูงมาก เพราะลูกดี นับตั้งแต่เริ่มเป็นใหญ่ในวังครั้งพระเจ้าหยงเจิ่งจนสิ้นพระชนม์กินบุญต่อไปอีก จนสวรรคตในอายุ ๘๖ ปี รวมระยะเวลาเสวยบุญสตรีผู้เป็นใหญ่ในวังและแผ่นดิน ๔๒ ปี

ถือว่าเป็นคนมีบุญที่ไม่มีใครเทียบเทียมดังพระเจ้าคังซีว่า

ใครจะคิด ว่าลูกข้าราชการตัวเล็กๆที่ขายขนมข้างทางจะสบายและมีความสุขได้ถึงเพียงนี้

ถือเป็นสตรีที่มีบุญสุดๆในประวัติศาสตร์จีนเลยก็ว่าได้

ภาพสมเด็จพระพันปีหลวงเซียวเซิงเสี่ยนฮ่องไทเฮาในชุดเต็มยศ


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
นางมารน้อย
พาลี
****
ตอบ: 306


ทำงานแล้วค่ะ


ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 27 มี.ค. 15, 12:35

แอบถามคุณหานบิง ภาพพระสาทิสลักษณ์เหล่านี้เขาเก็บไว้ที่ไหนคะ ถึงรอดช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครอง ช่วงปฏิวัติวัฒนธรรมมาได้จนเป็นหลักฐานให้คนจีนได้เห็นหน้าค่าตาอดีตกษัตริย์ได้ชัดเจนถึงเพียงนี้
บันทึกการเข้า

สวัสดีทุกๆท่านค่ะ
han_bing
นิลพัท
*******
ตอบ: 1622



ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 27 มี.ค. 15, 22:46

พิพิธภัณฑ์พระราชวังต้องห้ามครับ บางส่วนอยู่ที่ไต้หวั่น
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.038 วินาที กับ 19 คำสั่ง