เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 22 23 [24]
  พิมพ์  
อ่าน: 62087 คดีพระปรีชากลการ มโหฬารงานสร้างทางการเมือง
yanang
อสุรผัด
*
ตอบ: 32


ความคิดเห็นที่ 345  เมื่อ 22 เม.ย. 15, 22:23

หายหน้าไปจากโรงเรียนนาน ขออนุญาตค่อย ๆ ย่องเข้าห้องเรียนมาเลคเชอร์เงียบ ๆ อยู่ด้านหลังนะคะอาจารย์
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 346  เมื่อ 23 เม.ย. 15, 05:42

หายหน้าไปจากโรงเรียนนาน ขออนุญาตค่อย ๆ ย่องเข้าห้องเรียนมาเลคเชอร์เงียบ ๆ อยู่ด้านหลังนะคะอาจารย์

หายไปนาน ความรู้คงอัดแน่นกลับมา แล้วจะมาเลคเซอร์เงียบๆอยู่ด้านหลังได้ไง  เชิญด้านหน้าเลยครับ ผมอยากฟัง








 ยิงฟันยิ้ม ล้อเล่นน่ะ  ดามสบายนะครับ ขอบคุณที่เข้ามาทัก
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 347  เมื่อ 23 เม.ย. 15, 05:54

คิดแบบเอาใจช่วยชาวบ้านว่า สมัยนั้นป่ามีมากกว่าหมู่บ้านหลายสิบเท่า  แม่น้ำลำธารและน้ำตกมีเพียบ   ไซยาไนด์ไหลปนไปกับน้ำแรงจนอาจไม่เป็นอันตรายกับชาวบ้านที่ปลูกบ้านอยู่ริมลำธารห้วยหนองคลองละหาน
คิดอีกทางคือ ถึงตายกันไปบ้างก็ไม่มีใครสืบเสาะหาหลักฐานได้อยู่ดี ว่าลุงหรือพี่คนนี้ไปวักน้ำกินอยู่ดีๆทำไมล้มตายลงในพริบตาเดียว
มันไม่พริบตาน่ะซีครับ เพราะความที่มันเจือจางอย่างว่า แต่สารพิษที่เข้าไปในร่างกายจะไม่ถูกขับถ่ายออกไปได้โดยง่าย แต่จะเป็นพิษต่ออวัยวะภายในต่างๆ
ข้างล่างเป็นข้อมูลจากระโยงนี้ครับ

http://www.komchadluek.net/detail/20150123/199909.html

........จากผลการสุ่มตรวจสารโลหะหนักในเลือดของประชาชนกว่า 600 คน ในพื้นที่ตำบลเขาเจ็ดลูก อำเภอทับคล้อ จังหวัดพิจิตรพบว่า กว่า 200 ตัวอย่างหรือคิดเป็นร้อยละ 30 มีสารโลหะหนักในเลือด มีรหัสพันธุกรรมหรือดีเอ็นเอบางส่วนหายไป หากเป็นส่วนโครโมโซมที่ควบคุมการเกิดมะเร็งและยังได้รับสารดังกล่าวอย่างต่อเนื่องยาวนานทั้งจากอาหาร อากาศ น้ำดื่มและจากห่วงโช่อาหารทุกชนิดที่เข้าสู่ร่างกาย ก็จะมีผลให้ป่วยเป็นมะเร็งได้ทั้งสิ้น สารโลหะหนักที่เป็นตัวร้ายของงานนี้คือ สารหนู แมงกานีส โดยเฉพาะสารหนู เพราะสารหนูถูกจัดเป็นสารก่อมะเร็งประเภทที่ 1 คือมีหลักฐานชัดเจนว่าเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ มี 2 รูปแบบ คือสารหนูอินทรีย์และสารหนูอนินทรีย์ สารหนูอินทรีย์จะผ่านเข้าสู่ร่างกายอย่างรวดเร็วและไม่ค่อยเป็นอันตราย แต่สารหนูอนินทรีย์มีอันตรายมากกว่า ถ้าได้รับในปริมาณมากจะมีอาการพิษเฉียบพลันคือ อาเจียน ท้องเสีย ปวดท้อง กล้ามเนื้อเกร็งและเสียชีวิตจากหัวใจล้มเหลว แต่ถ้าได้รับในปริมาณน้อยค่อยๆ สะสม จะมีอาการเรื้อรัง เช่น ผิวหนังเปลี่ยนสีเป็นจุดสีน้ำตาลกระดำกระด่าง มีตุ่มตามฝ่ามือฝ่าเท้า มีปัญหาทางระบบหลอดเลือด ระบบประสาท ระบบเลือด อวัยวะเป้าหมายที่สารหนูกระจายไปสะสมคือ เส้นผม ขน เล็บและสมอง ผู้ที่ได้รับสารหนูเข้าไปมักจะมีรอยแถบสีขาวบนเล็บมือและเล็บเท้า แสดงถึงการหยุดชะงักของการเจริญเติบโตของเล็บนั่นเอง สารหนูจะขับถ่ายทางปัสสาวะเป็นส่วนใหญ่ภายใน 2-8 ชั่วโมงหลังจากที่ได้รับเข้าไป แต่ถ้ามีการสะสมไว้นานและได้รับในปริมาณมากอาจจะใช้ระยะเวลานานถึง 70 วัน สารหนูจึงจะหมดไปจากกระแสเลือด และที่สำคัญสารหนูสามารถรบกวนการทำงานทางชีวเคมีของสารพันธุกรรมดีเอ็นเอและอาร์เอ็นเอ สารหนูจึงเป็นทั้งสารก่อการกลายพันธุ์และสารก่อมะเร็งด้วย โดยมีหลักฐานทางการแพทย์ว่าเป็นสาเหตุของมะเร็งผิวหนัง มะเร็งปอดและมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ นอกจากนั้นการทำเหมืองยังมีสารอื่นๆ แพร่กระจาย เช่น ฝุ่นซิลิก้า เรดอน ซึ่งเป็นสาเหตุของมะเร็งปอดอีกด้วย

     ตลอดระยะเวลา 6 ปีที่บริษัทได้รับสัมปทานเหมืองแร่ทองคำ ชาวบ้านได้รับผลกระทบด้านสุขภาพมาตลอด มีเรื่องมีราวถึงขั้นฟ้องศาลปกครอง แต่ก็ยังไม่มีข้อสรุปแต่อย่างไร......
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 348  เมื่อ 23 เม.ย. 15, 06:14

แล้วคดีพระปรีชากลการที่กลายเป็นเรื่องการเมืองไปทั้งหมดก็มาถึงบทสุดท้าย

หลังคดีตระกูลอมาตยกุลสายนายโหมดจบ บทบาทของสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน และสภาที่ปรึกษาในพระองค์ก็แผ่วลง เพราะตั้งแต่ประสบความสำเร็จในการทำงาน และสร้างชื่อเสียงในคดีพระยาอาหารบริรักษ์แล้ว ก็สร้างปัญหามาตลอด ทั้งเรื่องวังหน้าและเรื่องพระปรีชา

คราวประชุมพิจารณาความผิดของพระปรีชาในครั้งแรกนั้น ที่ประชุมได้แสดงความไม่ไว้วางใจในพระยากระสาปนกิจโกศล และจมื่นศรีสรรักษ์ ที่ขอให้อ่านข้อกล่าวหาให้มิสเตอร์กูลด์ ทนายฝ่ายอังกฤษ ที่อ้างตำแหน่งผู้ช่วยกงสุลเข้ามาฟังการประชุมทั้งๆที่ไม่มีสิทธิ์  สมาชิกสภา๑๘ใน ๒๐ คน จึงร่วมลงนามทำหนังสือกราบบังคมทูลให้พระเจ้าอยู่หัวทรงปลดพระยากระสาปน์ จมื่นศรีสรรักษ์ และพระปรีชาออกจากการเป็นสมาชิกสภาที่ปรึกษา แต่ข้อเสนอถูกแขวนไว้ ด้วยทรงเกรงว่าถ้าทำไปก็จะกระเทือนถึงอังกฤษเข้าไปอีก อาจโดนพาลให้เหตุการณ์ลุกลามออกไป

แต่เรื่องนี้ก็เกิดความกดดัน จนพระยากระสาปน์ต้องลาออกไปเอง โดยอ้างว่าสุขภาพไม่ดี
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 349  เมื่อ 23 เม.ย. 15, 06:22

และในการประชุมสภาที่ปรึกษาครั้งที่สอง เพื่อพิจารณาเรื่องเหมืองทอง ที่ประชุมมีมติให้ทำหนังสือกราบบังคมทูล ให้พระเจ้าอยู่หัวทรงแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นสอบสวนในเรื่องการใช้จ่ายเงินทองของพระปรีชา แต่แทนที่จะทำรายงานการประชุมเพียงฉบับเดียวแล้วเสร็จ กลับต้องทำถึง ๔ ฉบับ เพราะครั้งแรก ประธาน คือเจ้าพระยามหินทร์ทำการเกินอำนาจ ด้วยการทูลเกล้าเสนอแนะรายชื่อคณะตุลาการมาด้วย สมาชิกหลายคนไม่ยอมลงชื่อ จึงได้เขียนขึ้นอีกฉบับหนึ่ง แต่ก็โดนคนโน้นตินั่น คนนี้ตินี่ ในเรื่องถ้อยคำสำนวนเล็กๆน้อยๆ ไม่ยอมเซ็นต์กันอีก จึงได้แยกกันออกไปทำใหม่เป็นปรีวีเคาน์ซิลฉบับหนึ่ง สภาที่ปรึกษาก็แยกทำอีกฉบับหนึ่ง   

ความทราบถึงพระกรรณ พระเจ้าอยู่หัวทรงมองออกว่า สมาชิกสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน และสภาที่ปรึกษาในพระองค์ เริ่มมีการปีนเกลียวกันแล้ว
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 350  เมื่อ 24 เม.ย. 15, 06:30

ผลสรุปจากคดีพระปรีชา สะท้อนให้เห็นถึงอิทธิพลและอำนาจของสมเด็จเจ้าพระยา ผู้ซึ่งแม้จะพ้นจากตำแหน่งผู้นำในการบริหารประเทศไปพักผ่อนที่ราชบุรี โดยวางมือจากงานราชการ ถวายคืนพระเจ้าอยู่หัวทุกอย่างแล้ว แต่ในที่สุดก็เป็นที่ประจักษ์ว่า ยังทรงขาดบุคคลอย่างสมเด็จพระยาผู้ที่มีมีประสบการณ์  และอิทธิพลในวงราชการ ตลอดจนการเมืองอย่างสูงมิได้ แม้จะเป็นช่วงที่ท่านชราภาพมากแล้วก็ตาม
 
เมื่อไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากรัฐบาลไทยจะต้องเป็นฝ่ายชนะในคดีทุจริตของพระปรีชา ทำให้พระเจ้าอยู่หัวทรงจำต้องร่วมมือกับสมเด็จเจ้าพระยาในการดำเนินกุศโลบายทีละขั้นตอน พร้อมๆกับกำหมดนโยบายทางการทูตควบคู่กันไป จนสำเร็จผลทั้งสองด้าน  ส่วนวังหน้า กรมพระราชวังบวรซึ่งเคยมีเรื่องขัดแย้งกับพระเจ้าอยู่หัวอย่างรุนแรง แม้จะเคยสนิทสนมเป็นพิเศษกับนายน๊อกซ์  ก็ยังทิ้งเพื่อนมาเป็นฝ่ายพระเจ้าอยู่หัวในการต่อสู้เพื่อชาติ  แม้บทบาทจะทรงเป็นแค่ผู้คอยสืบข้อมูลจากปากนายน๊อกซ์โดยตรง รายงานให้สมเด็จเจ้าพระยา  แต่ก็มีผลด้านจิตใจต่อคณะทำงานมาก
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 351  เมื่อ 24 เม.ย. 15, 06:58

คดีพระปรีชาที่สามารถหักอำนาจของกงสุลใหญ่อังกฤษลงได้สำเร็จครั้งนี้ ถือเป็นการพิสูจน์ข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่เป็นคนตระกูลบุนนาค เจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี เสนาบดี และ (เจ้า)พระยาภาสกรวงศ์ ราชทูตผู้ไปเจรจาความเมืองครั้งสำคัญกับรัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษก็ได้รับการยกย่องมากที่ทำงานสอดรับกันได้อย่างดี ไม่มีครั้งใดเลยที่มหาอำนาจจะต้องยอมเสียหน้าต่อประเทศเล็กๆอย่างสยาม แม้ผิดก็จะตะแบงเป็นถูกบนโต๊ะเจรจาเสมอ แต่ครั้งนี้ สุดท้ายเขาก็ยอมรับว่าคนของเขาผิดจริง และยอมเปลี่ยนตัวกงสุลใหญ่ให้ตามคำขอ ถือเป็นเกียรติประวัติของกระทรวงการต่างประเทศไทยอย่างมาก ตั้งแต่ครั้งนั้น

และเป็นโอกาสสุดท้ายในของชีวิตสมเด็จเจ้าพระยา ที่ได้ถวายการรับใช้งานใหญ่แด่พระเจ้าอยู่หัวและแผ่นดิน  ก่อนที่สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ถึงแก่พิราสัยในปี พ.ศ. ๒๔๒๕
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 352  เมื่อ 24 เม.ย. 15, 07:21

และเมื่อกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญเสด็จทิวงคตตามไปอีกในปี พ.ศ.๒๔๒๘ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพร้อมแล้วในฐานะทรงเป็นพระประมุขของประเทศ  ทรงมีพระราชอำนาจเด็ดขาดทั้งในทางกฎหมายและในทางปฏิบัติ ในการที่จะนำสยามไปสู่วิถีสากล

แต่การที่สมาชิกอาวุโสของสภาที่ปรึกษาทั้งสองต่างก็ล้มหายตายจากไปหลายคนเช่นเดียวกัน ที่เหลืออยู่ส่วนใหญ่ก็ไม่มีความรู้ความสามารถเพียงพอที่จะทำหน้าที่เป็นฝ่ายนิติบัญญัติได้โดยอิสระ คอยแต่จะพยายามเงี่ยหูฟังกระแสจากในวัง ไม่ค่อยจะมีความคิดความอ่านเป็นตัวของตัวเอง ทำให้ขาดคุณสมบัติของสถาบันทางการเมืองในระบอบที่สามัญชนเข้ามาร่วมในการบริหารประเทศอย่างที่ควรจะเป็น เมื่อเกิดข้อขัดแย้งในสภาก็มักจะหาข้อยุติกันเองไม่ได้ ต้องนำปัญหาขึ้นกราบบังคมทูลรบกวนเบื้องพระยุคลบาทบ่อยๆ

ดังนั้น สภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดินและสภาที่ปรึกษาในพระองค์จึงหมดความจำเป็นลง พระเจ้าอยู่หัวจึงทรงยุบเสีย แล้วโปรดที่จะใช้พระราชอนุชาที่เติบกล้าทางสติปัญญาแล้ว ให้ทรงเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ราชการแทนที่ขุนนางเก่าแก่เดิมๆ ที่ค่อยๆปลดระวางตัวเองไปทีละคนสองคนจนหมด
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 353  เมื่อ 24 เม.ย. 15, 08:40

เมื่อประเมินบทบาทของสภาที่ปรึกษาทั้งสองในที่สุดแล้ว พระเจ้าอยู่หัวทรงยอมรับความล้มเหลวต่อความพยายามที่จะพัฒนาสภานิติบัญญัติในรูปแบบประชาธิปไตยในยกนี้  แล้วกลับเข้าไปสู่สมบูรณาญาสิทธิราชอีกครั้ง  สร้างความผิดหวังให้กับกลุ่มหัวก้าวหน้าทั้งในอดีตเรื่อยมาจนปัจจุบันมาก

ส่วนเหตุผลของพระองค์ท่านนั้น จะเห็นได้จากพระราชหัตถเลขาที่ทรงตอบหนังสือกราบบังคมทูลถวายความเห็นที่พระองค์เจ้าปฤษฎางค์  ผู้นำคำปรึกษาที่ทรงมีไปถึงเป็นการส่วนพระองค์ ไปตีแผ่ให้ข้าราชการสถานทูตสยามในอังกฤษระดมความคิดเห็น แล้วทำเป็นหนังสือร่วมกันลงนามเป็นบัญชีหางว่าวส่งมากรุงเทพ

แต่ผมจะไม่นำทั้งหมดมาลงนะครับ เอาตรงที่เกี่ยวกับเรื่องที่กำลังกล่าวถึงตรงนี้ก็เห็นจะพอ

เรามิได้จะเป็นผู้ขัดขวางในการซึ่งจะเสียอำนาจ ซึ่งเรียกว่าแอบโซลูดเป็นต้นนั้นเลย เพราะเราได้เคยทดลองรู้มาแล้ว ตั้งแต่เวลาเป็นตุ๊กตาซึ่งไม่มีอำนาจอันใดเลยทีเดียว นอกจากชื่อ จนถึงเวลาที่มีอำนาจขึ้นมาโดยลำดับจนเต็มบริบูรณ์ในบัดนี้  "ในเวลาที่มีอำนาจน้อยปานนั้นได้ความลำบากอย่างไร และในเวลาที่มีอำนาจมากเพียงนี้ ได้ความลำบากอย่างไรเรารู้ดี จำได้ดี"

พอนะครับ เดี๋ยวกระทู้นี้จะไม่จบทั้งๆที่ยาวมากแล้ว
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 354  เมื่อ 24 เม.ย. 15, 08:47

“คดีพระปรีชากลการ มโหฬารงานสร้างทางการเมือง” จบลงโดยสมบูรณ์แล้ว หวังว่าผมคงจะพ้นข้อกังวลที่เคาะเข้ามาในตอนเปิดกระทู้  เกรงว่าผมจะเอาเรื่องซ้ำๆซากๆมาลงโดยไม่มีประเด็นใหม่  ส่วนท่านผู้ใดเห็นว่ายังมีอีก ไม่ควรจะจบ ถ้าอยากจะเขียนอยากจะระบายต่อก็เชิญนะครับ  แต่ขอร้องอย่าเอาเรื่องของพระองค์เจ้าปฤศฎางค์มาต่อในกระทู้นี้  ส่วนใครจะแยกเรื่องของท่านไปเปิดกระทู้ใหม่ก็จะเป็นการดี  ถ้าผมสมองผมตั้งหลักได้แล้วก็จะเข้าไปแจม  ไม่ขอรับเป็นเจ้าภาพครับ

อนึ่ง กระทู้ที่ผมเขียนทั้งหมดในเว็บใดก็ตาม ผมมักจะไม่สนใจจะให้เครดิตใครในเรื่องที่มาของข้อมูล เพราะผมเห็นว่ามันก็ลอกๆกันมาทั้งนั้น  นอกจากว่าผมจะเจอมือต้นจริงๆก็จะเอ่ยนามไว้แบบไม่เป็นทางวิชาการ (ก็เพราะผมไม่ใช่นักวิชาการไง)  แต่กระทู้นี้ ผมต้องขอให้เครดิต วิทยานิพนธ์ เรื่อง “คดีพระปรีชากลการ กับการเมืองภายในของไทย” เสนอต่อบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร โดยปราณี ชวางกูร

ถ้าไม่ได้อ่านวิทยานิพนธ์ดังกล่าว ผมคงไม่มีความคิดที่จะเขียนกระทู้นี้ขึ้นมา


บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 355  เมื่อ 24 เม.ย. 15, 08:57

แต่กระทู้นี้ ผมต้องขอให้เครดิต วิทยานิพนธ์ เรื่อง “คดีพระปรีชากลการ กับการเมืองภายในของไทย” เสนอต่อบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร โดยปราณี ชวางกูร

คดีพระปรีชากลการ (พ.ศ. ๒๔๒๑-๒๔๒๒) กับการเมืองภายในของไทย โดย นางปราณี ชวางกูร

วิทยานิพนธ์นี้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาตามหลักสูตรอักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์เอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ภาควิชาประวัติศาสตร์  บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร พ.ศ. ๒๕๒๘

http://www.thapra.lib.su.ac.th/thesis/showthesis_th.asp?id=0000004161
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 22 23 [24]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.047 วินาที กับ 19 คำสั่ง