เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 14 15 [16] 17 18 ... 24
  พิมพ์  
อ่าน: 62221 คดีพระปรีชากลการ มโหฬารงานสร้างทางการเมือง
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 225  เมื่อ 12 เม.ย. 15, 09:56

ครั้งนี้พระเจ้าอยู่หัวก็ยังคงทรงมีพระเมตตา ทรงใช้พระราชอำนาจวินิจฉัยด้วยพระองค์เอง โปรดเกล้าฯ ให้งดโทษประหารชีวิตและโทษเฆี่ยนให้จำเลยทั้งสาม คงไว้แต่โทษจำคุก และให้ริบราชบาทว์แต่เพียงพระยากระสาปนกิจโกศลเพียงคนเดียว เจ้าหมื่นศรีสรรักษ์ และหลวงพินิตจักรภัณฑ์ไม่ต้อง

เมื่อคดีพระปรีชากลการสิ้นสุดลงโดยสมบูรณ์ ตระกูลอมาตยกุลสายพระยากระสาปน์ก็สิ้นบทบาท คนในตระกูลต้องความมัวหมอง ถูกถอดยศถาบรรดาศักดิ์ ให้ออกจากราชการทุกคนตามองค์ประกอบของโทษริบราชบาทว์ แต่สมาชิกตระกูลอมาตยกุลสายอื่นที่ยังคงรับราชการอยู่ต่อไปตามเดิมก็มี ที่สำคัญได้แก่ พระยาเจริญราชไมตรี น้องชายแท้ๆของพระยากระสาปน์ที่กลับไปเป็นนายโหมดดังเดิมแล้ว พระยาเจริญเป็นผู้ที่กลับตัวได้ทันต่อเหตุการณ์ โดยร่วมมือช่วยเหลือทางการอย่างเต็มที่จึงรอดตัวไป

นายโหมดติดคุกอยู่ถึงแปดปี พ้นโทษในพ.ศ. ๒๔๓๐ และถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๒๖สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๓๙ อายุ ๗๘ ปี
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 226  เมื่อ 12 เม.ย. 15, 10:04

ส่วนบุตรทั้งสอง ประวัติของหลวงพิจารณ์จักรกิจนั้นผมหาไม่พบ แต่หลวงพินิจจักรภัณฑ์(แฉล้ม  อมาตยกุล) ได้รับพระราชทานอภัยโทษ ๒๔๒๖ ข้อมูลในเรือนไทยนี้แหละที่นำข้อความในหนังสือที่ระลึกงานศพมาให้ทราบดังนี้

พระยาอภิรักษ์ราชอุทยานถวายตัวเปนมหาดเล็กในรัชกาลที่ ๔ เมื่อปีขาล พ.ศ. ๒๔๐๙   เมื่อเปนมหาดเล็กเปนแต่ช่วยบิดาทำราชการในโรงกระสาปน์ แลการตั้งโรงแก๊ส  คือประทีปลม การถ่ายรูปแลทำโคมลอยอย่างฝรั่งอันอยู่ในวิชาสำหรับสกุลนี้ในครั้งนั้น  ถึงรัชกาลที่ ๕ ได้พระราชทานสัญญาบัตรเปนหลวงพินิจจักรภัณฑ์ปลัดกรมโรงกระสาปน์ เมื่อปีมเสง  พ.ศ. ๒๔๑๖  เปนผู้ซึ่งอยู่ในชั้นหนุ่มที่ทรงใช้สอยใกล้ชิดติดพระองค์ผู้หนึ่ง รับราชการเบ็ดเสร็จในการอย่างใหม่ๆ ต่างๆ  เช่นแต่งพระที่นั่งแลตำหนักรักษาเปนต้น
ในเวลานั้น   สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ พระเจ้าน้องยาเธอแลข้าราชการที่รับราชการใกล้ชิดติดพระองค์ ได้สมาคมคุ้นเคยกับพระยาอภิรักษ์ฯ  มีหลายพระองค์หลายท่าน จึงเปนมิตรสนิทสนมต่อมาจนตลอดอายุของพระยาอภิรักษ์ฯ

พระยาอภิรักษ์ฯ ได้พระราชทานเครื่องราชอิศริยาภรณ์มงกุฎสยามชั้นที่ ๕ วิจิตรราภรณ์  ในปีแรกที่สร้างเครื่องราชอิศริยาภรณ์นั้น
เมื่อปีจอ  พ.ศ. ๒๔๑๗  ทรงสร้างสวนสราญรมย์  โปรดให้พระยาอภิรักษ์ราชอุทยานแต่ยังเปนหลวงพินิจจักรภัณฑ์  เปนผู้ดูแลการมาแต่แรกสร้าง   ในปีนั้นมีเหตุถังที่โรงทำไฟแก๊สในพระบรมมหาราชวัง  อยู่ตรงพระที่นั่งภาณุมาศจำรูญทุกวันนี้  ลุกขึ้น  โปรดให้ย้ายโรงแก๊สไปสร้างใหม่ที่น่าวัดสุทัศน์  ตรงที่สร้างตลาดเสาชิงช้าทุกวันนี้  แลฝังท่อใช้ไฟแก๊สทั้งในพระบรมมหาราชวังแลถนนในพระนครด้วย  จึงโปรดให้พระยาอภิรักษ์ราชอุทยานเปนผู้บังคับการโรงแก๊สด้วยอิกอย่าง ๑   ได้พระราชทานเหรียญบุษปมาลาเปนบำเหน็จในวิชาช่าง  เมื่อปีกุญ พ.ศ ๒๔๑๘

ถึงปีเถาะ พ.ศ. ๒๔๒๒  เกิดอุปัทวเหตุขึ้นในสกุล  บิดาแลพี่ชายทั้งตัวพระยาอภิรักษ์ฯต้องรับพระราชอาญา  พระยาอภิรักษ์ฯเองถูกถอดจากยศบันดาศักดิแลตำแหน่ง  ไม่ได้ทำราชการอยู่  ๑๙ปีในเวลาระหว่างนี้  พระยาอภิรักษ์ฯ ประกอบการทำมาหาเลี้ยงชีพด้วยการต่างๆ  แต่เปนผู้มีนิไสยอยู่ในทางวิชาจึงคิดตั้งบริษัทไฟฟ้าขึ้นเปนทีแรก  ซึ่งภายหลังได้โอนมาเปนบริษัทไฟฟ้าสยามทุกวันนี้ ต่อมาพระยาอภิรักษ์ฯ ตั้งโรงทำน้ำแขงขึ้นขายได้ประโยชน์ยืดยาวมาหลายปี

มาถึงปีจอ พ.ศ.๒๔๔๑   พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตรเห็นพระยาอภิรักษฯในโอกาศอันใดอันหนึ่ง   ทรงพระปรารภสงสาร   จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กลับไปรับราชการเปนเจ้ากรมพระราชอุทยานสราญรมย์ดังแต่ก่อน แล้วพระราชทานสัญญาบัตรเปนพระยาอภิรักษ์ราชอุทยานเมื่อปีกุญพ.ศ. ๒๔๔๒  ครั้นต่อมาเมื่อทรงสร้างพระราชวังดุสิต   โปรดให้ไปดูการทำสวนในบริเวณพระราชวัง แล้วเปนผู้จัดการโรงทำโซดาดุสิตมาจนตลอดรัชกาล....



ครับ ทรงรักทรงโปรดของพระองค์จริงๆ ลึกๆแล้วคงจะทรงใช้สอยเรื่องสำคัญได้สมดังพระราชหฤทัยไว้ พระเมตตาจึงมากมายประดุจสายน้ำ ฟันอย่างไรก็มิขาด
บันทึกการเข้า
visitna
นิลพัท
*******
ตอบ: 1724


ความคิดเห็นที่ 227  เมื่อ 12 เม.ย. 15, 11:13

ในหนังสือ-ขุนนางสยาม -ของคุณเอนก

....นายเจิม(เจิม ศรีสรรักษ..เติมเอง)กับนายแฉล้มได้รับอิสรภาพก่อนบิดา ซึ่งถูกคุมขังต่อไป
นายเจิมเป็นบุตรคนที่สี่(ส่วนนายแฉล้มเป็นบุตรคนที่6..... เติมเอง)ของนายโหมดเกิดปี 2390
เมื่อถวายตัวเป็นมหาดเล็กในรัชกาลที่ 4แล้ว ได้ไปช่วยงานบิดาที่โรงกษาปณ์
หลังจากพ้นโทษ  ได้กลับเข้ารับราชกาลอีก
จนได้เป็นพระยาอภิรักษราชอุทยาน   (ไม่แน่ใจว่าจะสับสนกับ คนน้องหรือไม่   ..ความเห็นผม) เจ้ากรมพระราชอุทยานสราญรมย์
ได้เป็นพระยายืนชิงช้าหนหนึ่ง
และในที่สุดได้เป็นพระยาเพชรพิไชย สมัย ร6
ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อปี พศ 2465
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 228  เมื่อ 12 เม.ย. 15, 12:29

น่าจะสับสนครับ

ข้างล่างนี้มาจากหนังสือประวัติการไฟฟ้าของไทย

…นายเลียว มาดี ผู้ซึ่งเป็นกำลังสำคัญของจมื่นไวยวรนาถ และเป็นผู้ที่รู้แบบแปลน มีตำราจัดการจัดทำไฟฟ้าอยู่ในมือ เมื่อเห็นจมื่นไวยวรนาถไปทัพ จึงได้ไปปรึกษากับนายแฉล้ม ซึ่งเคยรับราชการในตำแหน่งหลวงพินิจจักรภัณฑ์และในเวลานั้นว่างงานอยู่

นายแฉล้มรู้เรื่องไฟฟ้ามาจากบิดา (พระยากษาปนกิจโกศล) บ้างแล้ว เห็นว่ากิจการไฟฟ้าน่าจะเป็นประโยชน์ยึดเป็นอาชีพได้ จึงตกลงตั้งบริษัท บางกอกอิเล็กตริกไลท์ ซินดีเคต (Bangkok Electric Light Syndicate) ขึ้นเมื่อ พ.ศ.2440 นายแฉล้มจึงเป็นคนไทยคนแรกที่ตั้งบริษัทจำหน่ายกระแสไฟฟ้าแก่ประชาชน
บ้านของนายแฉล้ม อยู่ตรงข้ามกับวัดราชบูรณราชวรวิหาร (วัดเลียบ)  ฉะนั้น เมื่อจะตั้งโรงไฟฟ้า จึงได้ขอเช่าที่ดินวัดซึ่งว่างอยู่ สร้างโรงงานติดตั้งเครื่องจักรผลิตกระแสไฟฟ้าเรียกว่า “โรงไฟฟ้าวัดเลียบ”

ในชั้นแรก นายแฉล้ม ได้รวมหุ้นในบรรดาญาติพี่น้องและมีเจ้านายกับขุนนางหลายคนร่วมหุ้นด้วย มีสัญญาจ่ายไฟฟ้าตามท้องถนนหลวงและสถานที่ราชการต่างๆ รวมทั้งจำหน่ายให้แก่ประชาชนโดยทั่วไป มีการแก้ไขสัญญาหลายครั้ง

อย่างไรก็ตามเป็นที่น่าเสียดายว่ากิจการดำเนินอยู่ไม่นานก็ต้องเลิก  เพราะรายได้กับรายจ่ายไม่คุ้มกัน  ในที่สุดได้โอนกิจการให้ นายเวสเตน โฮลซ์ ชาวเดนมาร์ก (บริษัท ไฟฟ้าสยาม จำกัด) รับไปดำเนินการต่อ ส่วนนายแฉล้มได้กลับเข้ารับราชการ และได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ เป็น พระยาอภิรักษ์ราชอุทยาน

ปี พ.ศ. 2440 หลวงพินิจจักรภัณฑ์ (นายแฉล้ม) ร่วมกับ นายเลียว นาดี ชาวอเมริกัน ซึ่งเป็นกำลังสำคัญของเจ้าหมื่นไวยวรนารถ ได้ก่อตั้งบริษัท บางกอก อิเล็กตริกไลท์ ซินดิเคท (The Bangkok Electric Light Syndicate) ผลิตไฟฟ้าและจำหน่ายกระแสไฟฟ้าแก่ประชาชน

ปี พ.ศ. 2455 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้โปรดเกล้าฯให้ เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) เสนาบดีกระทรวงนครบาล ดำเนินการสร้างการประปาและโรงไฟฟ้า ที่สามเสนไปพร้อมๆกัน โดยโรงไฟฟ้าสามเสนได้ก่อสร้างแล้วเสร็จและเดินเครื่องจำหน่ายไฟฟ้าได้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2457 ใช้ชื่อว่า “ การไฟฟ้าหลวงสามเสน ” เป็นรัฐพาณิชย์ ขึ้นกับกระทรวงมหาดไทย ต่อมาภายหลังได้เปลี่ยนชื่อเป็น “ กองไฟฟ้าหลวงสามเสน ”
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 229  เมื่อ 12 เม.ย. 15, 12:45

ที่ดินที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้าสามเสนนั้นก็มีที่มาที่ไปดังนี้

ในปี ๒๔๒๐ เมื่อความทราบถึงพระเจ้าอยู่หัวว่า มงซิเออร์ ยุคเกอร์ ชาวฝรั่งเศสที่ทำธุรกิจในสยามมาช้านานหลายปี ได้ขยายกิจการไปซื้อที่ดินไว้ที่สามเสน และบัดนี้กำลังก่อสร้างจะทำโรงสี  ทรงมีพระราชดำริว่าผิดธรรมเนียมที่โรงสีจะไปตั้งเหนือพระบรมมหาราชวัง โรงสีอื่นๆล้วนสร้างทางใต้ลำน้ำลงไปทั้งสิ้น จะเกิดการได้เปรียบเสียเปรียบในทางการค้า เพราะอยู่ในทำเลที่จะดักซื้อข้าวได้ก่อนผู้อื่น และการที่ห้ามโรงสีไปตั้งอยู่เหนือวังนั้น ก็เพื่อจะไม่ให้พวกเรือข้าวเกะกะกีดขวางเส้นทางพระราชดำเนินโดยชลมารค เมื่อทางการทำหนังสือไปแจ้งว่าห้ามก่อสร้าง นายยุคเกอร์ก็ไปร้องเรียนกับกงสุลฝรั่งเศส ซึ่งทำความเห็นคัดค้านรัฐบาลว่า เรื่องนี้ไม่มีกฏหมายของสยามห้ามไว้ และตามข้อตกลงนั้นถ้านายยุคเกอร์ได้อยู่เมืองไทยครบสิบปีแล้ว ก็สามารถซื้อหรือเช่าที่ดินได้ แต่ทางการก็ยืนยันที่จะห้ามไปทางนายยุคเกอร์ๆก็ดื้อตาใสเพราะแบ็กค์ดี ดำเนินการก่อสร้างไปเรื่อยๆโดยไม่นำพา

พระเจ้าอยู่หัวทรงขัดพระทัยยิ่งนัก ให้คนไปต่อว่าสมเด็จเจ้าพระยา และเสนาบดีกรมท่าผู้ดำเนินการเรื่องนี้ 

สมเด็จเจ้าพระยาทำหนังสือกราบบังคมทูลตอบด้วยอารมณ์ว่า รัฐบาลได้ทำการตามพระราชประสงค์ของพระองค์ไปแล้ว ทั้งๆที่รู้ว่าไม่มีข้อกฎหมายและสัญญาที่จะห้ามปรามเขาได้ แต่ก็ดำเนินการรักษาพระเกียรติจึงได้มีประกาศห้ามปรามไปอีก เรื่องนี้เห็นจะมีทางเดียว คือให้ทางราชการเลิกซื้อของจากยุคเกอร์ ซึ่งจะตัดรายได้ของบริษัทพอที่บริษัทจะขาดเงินลงทุนก่อสร้างได้ แต่เรื่องนี้ได้กราบบังคมทูลนานแล้ว แต่ไม่เห็นพระองค์จะทรงดำเนินการประการใด ที่สำคัญคือคนของพระองค์เป็นตัวการคอยช่วยเหลือให้การสนับสนุน โดยการสั่งซื้อของและร่วมทุนกับนายยุคเกอร์  ถ้าพระองค์ไม่ห้ามปรามคนของพระองค์แล้ว ก็เหลือกำลังที่เสนาบดีจะทำการต่อสู้กับคนข้างนอกและข้างในได้

แรงส์ ส์ ส์ ส์

สุดท้ายเรื่องนี้จึงยุติลงโดยยอมให้นายยุคเกอร์ตั้งโรงสีได้ เพราะเหตุผลว่าได้ลงทุนไปมากแล้ว  แต่ต่อมารัฐบาลไทยได้ขอซื้อกิจการเพื่อตัดปัญหา

คำว่าคนของพระองค์นั้น สมเด็จเจ้าพระยาไม่ได้ระบุชื่อในหนังสือกราบบังคมทูลฉบับนั้น แต่ปรากฏในฉบับอื่นๆว่า  “ขอให้บังคับให้พระนายศรี(เจิม อมาตยกุล)ไปกล่าวห้ามปรามนายยุเกอให้หยุดก่อสร้างโรงสีให้จงได้” และ “ห้างยุเกอและห้างมาแลบยุเลียนของมองซิเออยุเกอ ชอบพอเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับพระปรีชา” เป็นต้น

ห้างมาแลบยุเลียนนี้ผมได้เอ่ยไว้ครั้งหนึ่งแล้วว่าเป็นที่ฝากเงินฝากทองของพระปรีชา ชื่อนายยุคเกอร์เองคุณเพ็ญชมพูก็เอามาลงล่วงหน้าไว้แล้วในเรื่องที่จะเกิดขึ้นต่อไปในปารีส ท่านผู้อ่านที่ติดตามประจำคงจำได้
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 230  เมื่อ 12 เม.ย. 15, 14:45

มงซิเออร์ ยุคเกอร์ ชาวฝรั่งเศสที่ทำธุรกิจในสยามมาช้านานหลายปี

มงซิเออร์ยุคเกอร์นี้คือ Albert Jucker นักธุรกิจชาวสวิส ผู้ก่อตั้งบริษัท "Jucker, Sigg & Co." ใน พ.ศ. ๒๔๒๕ ซึ่งต่อมาคือ บริษัทเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ (Berli Jucker & Co.) ที่คนไทยปัจจุบันรู้จักกันดี
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 231  เมื่อ 12 เม.ย. 15, 15:04

สมัยนั้นสวิตเซอรแลนด์ไม่มีสัมพันธภาพทางการทูตกับสยาม นายยุคเกอร์จึงต้องอยู่ในบังคับของกงสุลฝรั่งเศส คนสยามจึงเข้าใจว่าเขาเป็นคนฝรั่งเศสกระมัง
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 232  เมื่อ 12 เม.ย. 15, 16:45

อ้างถึง
ส่วนบุตรทั้งสอง ประวัติของหลวงพิจารณ์จักรกิจนั้นผมหาไม่พบ แต่หลวงพินิจจักรภัณฑ์(แฉล้ม  อมาตยกุล) ได้รับพระราชทานอภัยโทษ ๒๔๒๖ ข้อมูลในเรือนไทยนี้แหละที่นำข้อความในหนังสือที่ระลึกงานศพมาให้ทราบดังนี้


เจอแล้วครับ จากหนังสือที่ระลึกงานศพของท่านเอง

ประวัติพระยาเพ็ชรพิไชย

มหาเสวกโท พระยาเพ็ชรพิไชย อธิปไตยพาหิรเขตร ราชนิเวศน์ สมันตารักษ์ วิบูลยศักดิอรรคมนตรี พิริยพาหะ (เจิม อมาตยกุล) ป ม, ท จ ว, ต ช, รัตน จ ป ร๓, ม ป ร๔, ร ร, รัฐมนตรี องคมนตรี เกิดในรัชกาลที่ ๓ เมื่อวันอังคาร เดือน ๕ แรม ๖ ค่ำ ปีมแมนพศก พ.ศ. ๒๓๙๐ เปนบุตรนายโหมด อมาตยกุล ฝ่ายมารดา เป็นสกุลไกรฤกษ์ ลำดับสุกลทั้ง ๒ ฝ่ายมีอยู่ในหนังสือ "ลำดับ สกุลเก่าบางสกุล" ซึ่งพิมพ์เปนภาคที่ ๒ นั้นโดยพิสดาร

พระยามหาอำมาตย์ (ป้อม) ผู้ต้นนามสกุลอมาตยกุลนั้น มีความชอบเมื่อเปนที่พระสุริยภักดีในรัชกาลที่ ๓ คิดอุบายเดินฝ่ากองทัพหลวงของเจ้าอนุเวียงจันท์ที่เปนขบถ ลงมาแจ้งข้อราชการถึงกรุงเทพ ฯ ได้ แล้วได้เข้ากองทัพไปทำการสงครามครั้งนั้น ได้เลื่อนยศบันดาศักดิ ต่อมาโดยลำดับจนถึงเปนที่พระยามหาอำมาตย์ แล้วจึ่งถึงอนิจกรรม นายโหมด อมาตยกุล บิดาของพระยาเพ็ชรพิไชยเปนบุตร พระยามหาอำมาตย์ (ป้อม) ได้ถวายตัวเปนมหาดเล็กในรัชกาลที่ ๓ ประจวบสมัยเมื่อพวกมิชชันนารีอเมริกันเริ่มเข้ามาตั้งในประเทศนี้ รับ สอนภาษาและวิชาของฝรั่งให้แก่ไทยเปนทีแรกในชั้นกรุงรัตนโกสินทร มีเรื่องราวปรากฎอยู่ในจดหมายเหตุของพวกมิชชันนารีอเมริกันซึ่งหมอ บรัดเลได้พิมพ์ไว้ในหนังสือบางกอกคาแลนดา ว่าในสมัยนั้นมีไทย ๕ คน ที่เรียนวิชาความรู้ของฝรั่งจากพวกอเมริกันได้เปนอย่างเยี่ยมยอด คือ พระบาทสมเด็จ ฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อยังทรงผนวชอยู่ ทรงศึกษาทางวิชาภาษาพระองค์ ๑ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงศึกษาทางวิชาทหารพระองค์ ๑ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท ทรง ศึกษาวิชาแพทย์พระองค์ ๑ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ตั้งแต่ยังเปนหลวงนายสิทธิ์ ศึกษาวิชาต่อเรือกำปั่นองค์ ๑ นายโหมด อมาตยกุล ศึกษาวิชาช่างกล คน ๑

หมอบรัดเลกล่าวว่านายโหมด อมาตยกุล มีความสามารถถึงคิดทำเครื่องมือกลึงเกลียวได้เอง ซึ่ง พวกอเมริกันเห็นว่าเปนอัศจรรย์ ความอันนี้ก็สมกับเรื่องที่ปรากฎต่อมา ในรัชกาลที่ ๔ เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จ ฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรด ฯ ให้สั่งเครื่องจักรเข้ามาตั้งโรงกระสาปน์ทำเงินเหรียญตราเปนทีแรกนั้น เผอิญช่างกลฝรั่งที่เข้ามาคุมเครื่องจักรมาตาย การคุมเครื่องจักรโรงกระสาปน์ก็เกิดขัดข้อง นายโหมด อมาตยกุลเข้า รับอาสาคุมเครื่องจักรสำเร็จได้โดยลำภังไทย ก็มีชื่อเสียงในครั้งนั้น โปรด ฯให้บัญชาการโรงกะสาปน์เปนต้นมา

บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 233  เมื่อ 12 เม.ย. 15, 16:48

เพราะเรื่องประวัติในสกุลเกี่ยวเนื่องด้วยการช่างกลดังกล่าวมา นายโหมด อมาตยกุล จึงให้บุตรของตนศึกษาวิชาช่างกล และวิชาแยกธาตุอันเนื่องในการโรงกระสาปน์  รู้มากบ้างน้อยบ้างทุกคน เปนเรื่องเนื่องมาถึงประวัติ ของพระยาเพ็ชรพิไชย ฯ ซึ่งบุตรจดหัวข้อส่งมาให้ดังนี้.

"ได้ถวายตัวเปนมหาดเล็กในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดี ที่ ๔ เมื่อเดือน ๑๒ ปีระกาตรีศก พระพุทธศักราช ๒๔๐๔ โปรดเกล้าฯ ให้ไปช่วยบิดาทำงานที่โรงกระสาปน์ถึงรัชกาลที่ ๕ โปรดเกล้า ฯ ให้เปนหลวงพิจารณ์จักรกิจ ปลัดกรมกระสาปน์สิทธิการ เมื่อณวันอาทิตย์เดือน ๘ ขึ้น ๓ ค่ำ ปีมเสง พ.ศ. ๒๔๑๒ ใน พ.ศ. ๒๔๑๓ ได้รับพระราชทานเหรียญบุษปมาลา

ครั้นณวันพฤหัศบดี เดือน ๔ แรม ๔ ค่ำ ปีมเมียโทศก พ.ศ. ๒๔๑๓ พระบาทสมเด็จ ฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสเมืองสิงคโปร์ เมืองปัตเวีย เมืองสมารัง ในเกาะชวา โดยเรือรบพระที่นั่งพิทยัมรณยุทธ ได้โปรดเกล้า ฯให้ตามเสด็จในเรือพระที่นั่ง เปนสุปรินเต็นเด็น อินเยเนีย (ผู้กำกับตรวจเครื่องจักร) ไปในชุด (คือผู้ที่มีตำแหน่ง ประจำพระองค์ในกระบวนเสด็จ) ได้รับพระราชทานเครื่องยศเสื้อปักและกระบี่

ครั้น ณ วันเสาร์ เดือนยี่ ขึ้น ๕ ค่ำ ปีมแมตรีศก พ.ศ. ๒๔๑๔ เสด็จพระราชดำเนินเมืองสิงคโปร์ เมืองปีนัง เมืองมลากา เมืองมรเมน เมืองร่างกุ้ง เมืองกาลกัตตา เมืองอาครา เมืองลักเนา เมือง เบนารีศ เมืองบอมเบ ในประเทศอินเดีย โดยเรือพระที่นั่งชื่อบางกอก ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ตามเสด็จไปในเรือพระที่นั่ง มียศเปนเตรเชอเรอ ยเนราล สำหรับจ่ายเงินในการเสด็จพระราชดำเนิน และได้พระราชทานเสื้อยศ กระบี่ หมวกยอดพระเกี้ยว ในตำแหน่งยศข้าราชการคลังเงิน
 
ครั้นณวันพฤหัศบดี เดือน ๙ แรม ๘ ค่ำ ปีระกาเบญจศก พ.ศ. ๒๔๑๖ ได้รับพระราชทานตราภัทราภรณ์ (มงกุฎสยามชั้นที่ ๔) ครั้นณวันอาทิตย์ เดือน ๙ ขึ้น ๔ ค่ำ ปีจอฉอศก พ.ศ. ๒๔๑๗ โปรดเกล้า ฯ ให้เปนปรีวีเคาซิลและเพิ่มศักดินาขึ้นอิก ๑๐๐๐ ในปีจอนี้เองได้โปรดเกล้า ฯ พระราชทานเงินเปนบำเหน็จความชอบ ๔๐ ชั่ง ณวันศุกร เดือน ๑๒ แรม ๒ ค่ำ ปีจอฉอศก พ.ศ. ๒๔๑๗ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานสัญญาบัตรเลื่อนเปนเจ้าหมื่นศรีสรรักษ์ หัวหมื่นมหาดเล็กเวรเดช
 
ณปีกุนสัปตศก พ.ศ. ๒๔๑๘ โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างโรงกระสาปน์และตั้งเครื่องจักรขึ้นใหม่ที่ข้างประตูสุวรรณบริบาลในพระบรมมหาราชวัง ณวันพุธ เดือน ๔ ขึ้น ๔ ค่ำ ปีกุนสัปตศก พ.ศ. ๒๔๑๘ ได้พระ ราชทานสวนหลวง เดิมเรียกว่าสวนกาแฟและสวนท้าวเทพากร ด้านใต้ จดหลังโรงเรือคลองบางกอกน้อย ด้านเหนือบางยี่ขันขึ้นไปทางปลายสวนจดสวนอำแดงน้อยยาว ๒๔ เส้น ๙ วา ด้านตวันออกจดคลองขนมจีน ด้านตวันตกจดคลองคราม กว้าง ๕ เส้น ๕ วา ได้พระราชทานให้เปนสิทธิ์ขาด ครั้นปีชวดอัฐศก พ.ศ. ๒๔๑๙ เปิดโรงกระสาปน์สิทธิการ ได้ โปรดเกล้า ฯ ให้ทำเงินเหรียญบาท เหรียญสลึง เหรียญเฟื้อง ตรา พระบรมรูปและตราแผ่นดิน ณวันเดือน ๙ ปีฉลูนพศก พ.ศ. ๒๔๒๐ โปรดเกล้า ฯ ให้เปนข้าหลวงพิเศษออกไปว่ากล่าวกับเกาวนาเยเนราลเมืองปัตเวีย ด้วยเรื่อง มิศเตอรวันเบอรเคน กงสุลฮอลันดาในกรุงเทพฯ ได้ริบทรัพย์สมบัติของจีนหัวในบังคับสยาม

บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 234  เมื่อ 12 เม.ย. 15, 16:50

ครั้นมาภายหลังใน พ.ศ. ๒๔๓๖ ได้รับพระราชทานเหรียญรัชฎาภิเษก พ.ศ. ๒๔๔๐ ได้รับพระราชทานเหรียญประพาศมาลา ณวันที่ ๑๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๔๑ โปรดเกล้าฯให้เปนพระยาอภิรักษ์ราชอุทยาน เจ้ากรมพระราชอุทยานสราญรมย์ วันที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๔๔๒ ได้รับพระราชทานตรา มัณฑนาภรณ์ (มงกุฏสยามชั้นที่ ๓) วันที่ ๔ เมษายน พ.ศ. ๒๔๔๓ โปรดเกล้า ฯ ให้เลื่อนเปนพระยาบำเรอภักดิ์ ปลัดทูลฉลองกระทรวงวัง ครั้นวันที่ ๒๑ กันยายน พ.ศ. ๒๔๔๒ โปรดเกล้า ฯ ตั้งให้เปนรัฐมนตรี วันที่ ๒๒ มินาคม พ.ศ. ๒๔๔๓ โปรดเกล้า ฯ ให้เปนองคมนตรี เพิ่มศักดินา ๑๐๐๐ ในปีนั้นเองได้รับพระราชทานเข็มอักษรพระนาม จ ป ร ประดับเพ็ชร วันที่ ๑๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๔๔ ได้รับพระราชทานพานหมาก คนโท กระโถน ทองคำ และตราทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ และโปรดเกล้า ฯ พระราชทานตราตติยจุลจอมเกล้าฝ่ายในแก่ถนอมภรรยาด้วย วันที่ ๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๔๔ ได้รับพระราชทานเหรียญ รัตนาภรณ์ ในรัชกาลที่ ๕ ชั้น ๓ วันที่ ๒๑ กันยายน พ.ศ. ๒๔๔๖ ได้รับพระราชทานตรานิภาภรถ (ช้างเผือกชั้นที่ ๓) วันที่ ๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๔๖ ได้รับพระราชทานเหรียญทวิธาภิเษกทองวันที่ ๒๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๔๗ ได้รับพระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ ๔ ชั้นที่ ๔ และได้รับพระราชทานเหรียญราชรุจิทองด้วย วันที่ ๑๘ มกราคม พ.ศ. ๒๔๔๗ ได้รับพระราชทานตรามงกุฏ สยามชั้นที่ ๒ วันที่ ๒๐ กันยายน พ.ศ. ๒๔๔๙ ได้รับพระราชทานตรามงกุฏสยามชั้นที่ ๑ พ.ศ. ๒๔๔๙ โปรดเกล้า ฯ ให้เปนพระยายืนชิงช้าง พ.ศ. ๒๔๕๐ ได้รับพระราชทานเหรียญรัชมังคลทอง พ.ศ. ๒๔๕๑ ได้รับพระราชทานเหรียญรัชมงคลาภิเษกทอง พ.ศ. ๒๔๕๒ ได้รับพระราชทานเข็มครุฑทอง ถึงรัชกาลปัจจุบันนี้ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๓ โปรดเกล้า ฯ ให้เปน พระยาเพ็ชรพิไชย ฯ ออกรับพระราชทานเบี้ยบำนาญ

พระยาเพ็ชพิไชยได้ทำการวิวาหมงคลกับ นางสาวถนอม อมาตยกุล ธิดาพระยาธรรมสารนิติ (ตาษ) ผู้เปนอาว์ เมื่อวันที่ ๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๐๘ มีบุตรด้วยคุณหญิงถนอมเปนชาย ๔ หญิง ๓ ถึงแก่กรรมเสียแต่ยังเยาว์บ้างอยู่บ้าง ยังคงเหลืออยู่ ๓ คน คือพระยาภูบาลบรรเทิง (ประยูร) ๑ เยาวเรศ ๑ พระยาปฏิภาณพิเศษ (อาเลกซานเดอร) ๑ มีบุตรธิดาด้วยภรรยาอื่น คือ พระยาเจริญราชไมตรี (จำนง) ๑ พระยาประชากรกิจวิจารณ์ (โอ) ๑ ขุนรักษระเบียบกิจ (อ้วน) ๑ หลวงจันทรามาตย์ (บุญรอด) ๑ นายร้อยโทอั้น ๑ นายสมจิตร ๑ และธิดาคือ สมบุญ ๑ เอม ๑ แจ่ม ๑ นพคุณ ๑ สงบ ๑"

พระยาเพ็ชพิไชยป่วยเปนโรคชรา ถึงอนิจกรรมเมื่อวันที่ ๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๖๕ เวลา ๑๑ นาฬิกาก่อนเที่ยง คำณวนอายุ ได้ ๗๕ ปีกับ ๒ เดือน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานโกษฐประดับศพเปนเกียรติยศ และพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ ปลงศพณเมรุในที่สุสานวัดเทพศิรินทร์ด้วย สิ้นเนื้อความในเรื่อง ประวัติของพระยาเพ็ชร์พิไชย (เจิม อมาตยกุล) เพียงนี้. กรรมการหอพระสมุด ฯ ขออนุโมทนากุศลบุญราษีทักษิณา นุปทาน ซึ่งคุณหญิงถนอมพร้อมด้วยบุตรธิดาได้บำเพญ สนองคุณ พระยาเพ็ชรพิไชย ด้วยความกตัญญูกตเวที และได้พิมพ์หนังสือ เรื่องนี้ให้แพร่หลาย สภานายก หอพระสมุดวชิรญาณ วันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๖๕
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 235  เมื่อ 12 เม.ย. 15, 16:54

ความนี้เช่นเดียวกับที่คุณvisitnaนำมาลงไว้

อ้างถึง
โปรดเกล้าฯให้เปนพระยาอภิรักษ์ราชอุทยาน เจ้ากรมพระราชอุทยานสราญรมย์ วันที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๔๔๒

และผมบอกว่าสับสนแน่

ตกลงเราก็สับสนกันต่อไปละกัน แต่เอาเป็นว่า บุตรชายทั้งสองของพระยากสาปน์หลังพ้นโทษแล้ว สุดท้ายก็ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณให้กลับเข้ารับราชการ เป็นใหญ่เป็นโตด้วยกันทั้งคู่
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 236  เมื่อ 12 เม.ย. 15, 17:33

เรื่องนี้ สมเด็จเจ้าพระยาได้เคยตั้งข้อสงสัยเรื่องเหรียญเงินที่ผลิตจากโรงกษาปณ์สิทธิการว่ามีทองแดงปนมากเกินกว่าเนื้อเงินมาแล้วครั้งหนึ่งในพ.ศ. ๒๔๑๙ หรือประมาณ ๔ ปีที่ผ่านมา แต่เรื่องนี้ก็มิได้รับความสนพระทัยจากพระเจ้าอยู่หัวที่จะลงโทษทัณฑ์ตามที่สมเด็จเจ้าพระยาถวายคำแนะนำ ทรงเชื่อใจคนพวกนี้ว่ากระทำการบกพร่องในขบวนการผลิตโดยสุจริต ความย่ามใจจึงเกิดขึ้นอีกอย่างต่อเนื่องโดยสมเด็จเจ้าพระยาต้องยอมเอาหูไปนาเอาตาไปไร่

การพิจารณาตัดสินคดีของพระยากระสาปน์และบุตรชายสองคนในเรื่องนี้ ไม่เยิ่นเย้อเหมือนคดีบุตรชายคนโตที่มีอิทธิพลต่างชาติเข้ามาแทรกแซง และจำเลยทั้งสามก็ยอมร่วมมือกับคณะตุลาการให้ปากคำและรับสารภาพโดยดี แต่ให้เหตุผลว่าการตรวจสอบเนื้อเงินในเหรียญกระทำโดยเจ้าพนักงานจากพระคลังมหาสมบัติทุกครั้ง จึงไม่อาจกล่าวได้ว่าฉ้อโกง หากแต่เนื้อเงินที่เก็บมาเป็นประโยชน์ส่วนตัวนั้น เป็นเพียงผลพลอยได้เล็กๆน้อยๆ (เหมือนเงินทิปบ๋อย ชดเชยกับเงินเดือนที่น้อยนิด แบบว่าเศรษฐีอย่างพวกตนไม่พอใช้)

เรื่องนี้ผมไม่ได้กล่าวอย่างเลื่อนลอย แต่ก็เพิ่งจะไปเจอหลักฐานจากหนังสือของุณไกรฤกษ์ นานา เป็นพระราชหัตถเลขาที่ทรงมีก่อนที่จะเกิดเรื่องเกิดราวประมาณ ๕ ปี ท่านก็ลองอ่านแล้วใช้วิจารณณาณเอาเอง แต่อย่าเพิ่งสรุปนะครับ


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 237  เมื่อ 13 เม.ย. 15, 07:21

๒๓ พฤศจิกายน ๒๔๒๒  พระปรีชาถูกประหารชีวิต

๒๔ พฤศจิกายน บิดาและน้องชายทั้งสองถูกจับกุมไปดำเนินคดี

๒๕ พฤศจิกายน แฟนนีหนีออกต่างประเทศ โดยพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบ และโปรดเกล้าฯให้เปิดทางให้ไปโดยดี นางหอบข้าวของทั้งหมดเท่าที่จะนำไปได้ติดตัวไปพร้อมกับทารกเพศชายที่เพิ่งเกิดจากพระปรีชา และเด็กหญิงลม้ายกับเด็กชายอรุณที่ยังเล็กของพระปรีชาที่เกิดจากภรรยาหลวง โดยมีบ่าวไปด้วยอีกนางหนึ่ง

หามิได้ นางมิได้มุ่งหน้าไปอังกฤษเพื่อสมทบกับบิดา  แต่ไปขึ้นบกที่ฝรั่งเศสและนายน๊อกซ์เองได้เดินทางจากอังกฤษพบเธอที่เมือง Braritz ซึ่งเป็นเมืองชายทะเลเล็กๆ  พ่อลูกมิได้กลับไปอังกฤษด้วยกันนับว่าแปลกอยู่  ถึงแฟนนีจะถือว่าเป็นลูกนอกสมรสตามกฎหมายของอังกฤษ เพราะนายน๊อกซ์กับคุณนายปรางค์มิได้เข้าพิธีสมรสกันตามประเพณีศาสนา ก็มิใช่จะไปอยู่ที่นั่นไม่ได้ คงเป็นเพราะฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งคงไม่สะดวกใจที่จะอยู่ด้วยกันอีกต่อไป

เมษายน ๒๔๒๗ หรืออีก ๕ ปีหลังจากนั้น  แฟนนีได้เดินทางไปปารีสเพื่อขอเข้าพบพระองค์เจ้าปฤศฎางค์ อัครราชทูตสยามประจำกรุงปารีส เพื่อขอความช่วยเหลือให้ช่วยทวงเงินคืนจากฝรั่งขี้โกง เพื่อเอาเงินมาแบ่งกัน นี่ว่าตามสำนวนของพระองค์เจ้าปฤศฎางค์ที่ทรงนิพนธ์ไว้ในหนังสือประวัติของท่าน  ส่วนที่คุณไกรฤกษ์เขียนในหนังสือศิลปวัฒนธรรม แล้วรวมพิมพ์เป็นสองตอนอยู่ในหนังสือพ๊อกเก็ตบุคเรื่อง ค้นหารัตนโกสินทร์ สิ่งที่เรารู้ แต่อาจไม่ใช่ทั้งหมด  ชื่อว่า “ฟื้นปริศนาคดีประวัติศาสตร์ นางแฟนนี น็อกซ์แก้ต่างความผิดให้พระปรีชากลการ” นั้น กลายเป็นมาเรียกร้องความเป็นธรรมให้สามี  เผยข้อมูลที่นางมิอาจเปิดเผยในกรุงเทพถึงตัวการใหญ่ที่อยู่เบื้องหลังการทุจริตอย่างมโหฬาร เพื่อชี้ช่องทางให้รัฐบาลสยามเรียกคืน โดยนางจะขอคืนแค่ทรัพย์สินส่วนตัวเพื่อเป็นทุนการศึกษาเลี้ยงดูลูกๆเท่านั้น
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 238  เมื่อ 13 เม.ย. 15, 08:01

เผยข้อมูลที่นางมิอาจเปิดเผยในกรุงเทพถึงตัวการใหญ่ที่อยู่เบื้องหลังการทุจริตอย่างมโหฬาร เพื่อชี้ช่องทางให้รัฐบาลสยามเรียกคืน


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 239  เมื่อ 13 เม.ย. 15, 08:06

พระองค์เจ้าปฤศฎางค์ทรงรู้จักพระปรีชาดี  เพราะครั้งที่เป็นนักเรียนทุนส่วนพระองค์ จบวิศวกรรมศาสตร์จากอังกฤษแล้วเสด็จกลับไปกรุงเทพ พระเจ้าอยู่หัวทรงใช้ให้ไปตรวจงานที่เหมืองทองของพระปรีชานี้ เพื่อทำรายงานถวาย  และเมื่อกลับไปเรียนต่อลอนดอนแล้ว  คราวหนึ่งได้ถูกใช้งานให้เป็นล่ามในคณะทูตที่พระยาภาสกรวงศ์  เป็นอัครราชทูตพิเศษไปร้องเรียนเรื่องกงสุลน๊อกซ์กับรัฐบาลอังกฤษ

ดังนั้นจึงทรงคิดว่า การที่แฟนนีนำความลับมาเปิดเผยเช่นนี้ อาจเป็นช่องทางให้รัฐบาลสยามติดตามทวงคืนพระราชทรัพย์ที่ถูกพระปรีชายักยอกไป โดยนำไปซื้อหุ้นกู้ในโรงสีที่พระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชประสงค์ให้ย้ายไปอยู่ที่อื่นนั่นเอง
และสมเด็จเจ้าพระยาท่านก็ไม่ผิดอีก ที่กราบบังคมทูลว่าพระปรีชาไปมีส่วนร่วมลงทุนกับเขาด้วย

การลงทุนดังกล่าวเป็นการซื้อหุ้นกู้ (Debenture)ของบริษัท มีลักษณะต่างจากหุ้นสามัญ ที่ผู้ถือหุ้นจะไม่ได้รับเงินปันผลใดๆถ้าบริษัทดำเนินการแล้วขาดทุน แต่หากบริษัทมีกำไร ก็จะปันผลน้อยหรือมากตามผลกำไรในแต่ละปี  ส่วนหุ้นกู้นั้น ผู้ถือจะได้รับเงินปันผลทุกปี เป็นอัตราที่สม่ำเสมอ ปกติจะสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำของธนาคารนิดหน่อย แต่ต่ำกว่าดอกเบี้ยเงินกู้ที่ธนาคารจะคิดจากลูกหนี้ เมื่อหมดอายุตามระบุในใบหุ้นแล้ว บริษัทก็จะไถ่ถอนเป็นเงินตามหน้าตั๋ว  หุ้นกู้จึงเป็นทางเลือกอีกอย่างหนึ่งของบริษัทในการหาเงินลงทุน  ส่วนผู้ซื้อหุ้นกู้ก็มีความเสี่ยงอยู่เหมือนกัน มิใช่จะเห็นแก่ดอกเบี้ยที่เขาเสนอให้ว่าสูงกว่าเงินที่นอนอยู่ในธนาคาร เพราะหากบริษัทเจ๊งไป  เงินลงทุนนี้จะสูญ อย่างไรก็ดี หุ้นกู้นี้สามารถเปลี่ยนมือได้หากผู้ที่ซื้อไว้เดิม ขายหรือโอนให้ผู้อื่น

หุ้นกู้ที่พระปรีชาไปซื้อไว้ในกิจการโรงสีมียอด ๓๘๐๐๐ เหรียญสหรัฐ มีอัตราดอกเบี้ยกี่เปอร์เซ็นต์ต่อปีไม่ทราบ แต่แฟนนีบอกว่าครั้งละ ๕๐๐ ปอนด์ จ่ายกี่เดือนครั้งก็ไม่ทราบเหมือนกัน ผมก็ยังหาทางเทียบไม่ถูกกับค่าเงินบาทของไทยในยุคนั้น


บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 14 15 [16] 17 18 ... 24
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.079 วินาที กับ 20 คำสั่ง