เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 9 10 [11] 12 13 ... 24
  พิมพ์  
อ่าน: 62217 คดีพระปรีชากลการ มโหฬารงานสร้างทางการเมือง
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 150  เมื่อ 06 เม.ย. 15, 05:37

นอกจากนั้น ก็เร่งรัดกระบวนการสืบสวนสอบสวนคดีไม่ให้เนิ่นช้า เร่งการหาพยานหลักฐานให้เพียงพอ ด้วยการใช้จิตวิทยา เกลี้ยกล่อม ขู่ขวัญ แม้กระทั่งกักขังหน่วงเหนี่ยว คนใกล้ชิดกับพระปรีชา เพื่อให้ยอมคายความเป็นจริง จนเป็นประโยชน์ต่อรูปคดีมาก  ถ้าสามารถหลอกล่อให้จำเลยยอมรับสารภาพในศาลได้เมื่อไหร่  ก็จะรายงานไปให้ทางรัฐบาลอังกฤษได้รับรู้ผ่านกงสุลไทยในลอนดอนโดยตรง  เพื่อให้คณะทูตใช้ประโยขน์ในการเจรจากับรัฐบาลในครั้งนี้

ตัวสมเด็จเจ้าพระยาเองนอกจากจะออกแรงช่วยเหลือทางด้านคดีความอย่างเต็มที่แล้ว ยังได้ใช้ความสัมพันธ์ส่วนตัวที่มีกับชาวต่างชาติ ทั้งในประเทศและนอกประเทศ  ให้เป็นกระบอกเสียงของรัฐบาลสยาม ส่วนบางคนที่มีช่องทาง ก็ขอให้ช่วยแสดงความคิดเห็นส่วนตัวไปยังบุคคลสำคัญอังกฤษ ดังเช่น กรณีของนายฮิกส์ (Mr. F.C Hicks) ซึ่งเป็นผู้หนึ่งที่อยู่ในเหตุการณ์ ได้มีจดหมายเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นไปถึงกงสุลไทยประจำลอนดอนซึ่งเป็นคนอังกฤษ ในฐานะที่เขาเป็นผู้ประสานการติดต่อระหว่างสมเด็จเจ้าพระยากับนายน๊อกซ์ ในเรื่องของพระปรีชากับแฟนนีครั้งนี้ โดยนายฮิกได้ยืนยันว่า สมเด็จเจ้าพระยามีเจตนาดีต่อนายน๊อกซ์ แต่นายน๊อกซ์กลับแปลเป็นตรงกันข้าม ทำให้กงสุลมั่นใจที่จะยืนข้างคนไทยในการต่อสู้ครั้งนี้

ในส่วนราชการนั้น รัฐบาลยังได้ให้กงสุลสยามที่สิงคโปร์และลอนดอนรวบรวมข่าวที่แสดงความคิดเห็นในคดีนี้จากหนังสือพิมพ์ต่างๆ ที่ไม่เห็นด้วยกับการกระทำของนายน๊อกซ์ส่งไปให้คณะทูตไทยที่ลอนดอน เพื่อใช้ให้เป็นประโยชน์ ส่วนหนังสือพิมพ์ฉบับไหนที่เข้าข้างนายน๊อกซ์ ก็ส่งบทความไปลงแก้ข่าว
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 151  เมื่อ 06 เม.ย. 15, 05:45

แต่ในบรรดาขุนนางตระกูลบุนนาคทั้งหมดที่ผนึกกำลังสติปัญญารับใช้ชาติและพระเจ้าแผ่นดินในคราวนี้ ต้องยกเครดิตให้พระยาภาษกรวงศ์ หัวหน้าคณะทูตผู้ชาญฉลาด ซึ่งใช้ความรู้ความสามารถและประสบการณ์ที่เคยใช้ชีวิตศึกษาเล่าเรียนอยู่ในอังกฤษ สืบหาข่าวและหยั่งท่าทีของรัฐบาลอังกฤษก่อนจะเดินหมากทุกกระดาน
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 152  เมื่อ 06 เม.ย. 15, 09:35

ภาพล้อ (caricature) พระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค) ในตำแหน่งราชทูตพิเศษ (Special Envoy)  ในนิตยสาร "Vanity Fair" ของอังกฤษ ฉบับวันที่ ๑๓ กันยายน พ.ศ. ๒๔๒๒


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 153  เมื่อ 06 เม.ย. 15, 13:54

ในระหว่างที่คดีพระปรีชาฯดำเนินอยู่ เป็นเวลาเดียวกับที่นายพลแกรนท์อดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาเดินทางมาเยือนสยาม หลังจากที่ท่านเดินทางกลับไปแล้ว รัชกาลที่ ๕ ทรงมีพระราชหัตถเลขาพระราชทาน ทรงเล่าถึงเหตุการณ์ตอนนี้ว่า

I am very glad to be able to inform you that the diplomatic troubles which was vaxing us at the time of your visit is now at an end. His excellency Phya Bhaskarawongse my private secretary was sent to England as my Envoy and was well received by H.B.M. government which gave careful consideration to his representations, acknowledged the right of Siam as an independent Kingdom to deal with its own people according to its own laws, and has replaced Mr. Knox by another Political Agent. Phya Bhaskarawongse is now on his return journey. I know that you who saw and knew our trouble will be very glad to hear that we are now clear of all difficulty.

จาก http://books.google.co.th/books?id=3zBLjHeAGB0C&pg=PA129&lpg=PA129#v=onepage&q&f=false

บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 154  เมื่อ 06 เม.ย. 15, 17:03

บรรยากาศเกี่ยวกับสถานการณ์ภายนอกของอังกฤษขณะนั้น กำลังมีความยุ่งยากกับการเมืองระหว่างประเทศทั้งในยุโรป แอฟริกา และเอเซีย กล่าวคือ ในพ.ศ. ๒๔๑๘ อังกฤษเริ่มเข้าไปมีบทบาทในอียิปต์ ด้วยการทุ่มเงินซื้อหุ้นกิจการคลองสุเอชจำนวนมหาศาล เพราะต้องการควบคุมเส้นทางสำคัญของโลกเส้นนี้ จนก่อให้เกิดความขัดแย้งกับเจ้าของประเทศ ปะทะกันด้วยกำลังทหารหลายครั้ง จนถึงขั้นยึดอียิปต์เป็นเมืองในอารักขา
ขณะเดียวกัน อังกฤษยังต้องพยายามขัดขวางอิทธิพลของรัสเซียที่กำลังแผ่ขยายเข้าสู่อาฟกานิสถาน เพราะเกรงจะลามเข้าไปอินเดียที่เป็นอาณานิคมของตนเอง และรัสเซียยังพยายามขยายอิทธิพลลงมาในเตอรกี สร้างความขัดอกขัดใจให้อังกฤษอีกด้วย
ส่วนที่แอฟริกาใต้ อังกฤษกำลังปะทะกับชนเผ่าซูลู และพวกบัวร์ ซึ่งคอยเข้าโจมตีแคว้นทรานสวาลที่อังกฤษพยายามจะเข้าครอบครอง

ที่สำคัญที่สุดในท้องเรื่องก็คือเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ อังกฤษกับฝรั่งเศสกำลังแข่งขันกันครอบครองอาณานิคม จนดินแดนที่ทั้งสองประเทศยึดไว้มีอาณาเขตชนกันแล้วทางตอนเหนือของสยาม ซึ่งอาจเกิดความขัดแย้งขึ้นได้ สถานการณ์ที่กำลังเผชิญอยู่แล้วในเวลานั้น อังกฤษจึงไม่ปรารถนาที่จะทะเลาะกับฝรั่งเศส  แต่ผลประโยชน์ของอังกฤษในสยามก็มีอยู่มากเกินกว่าที่จะปล่อยให้ประเทศอื่นมาฮุบเอาไป อังกฤษจึงต้องพยายามให้สยามสามารถคงเอกราชไว้ เพื่อเป็นรัฐกันชน
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 155  เมื่อ 06 เม.ย. 15, 18:35

คณะทูตไปถึงลอนดอนในวันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๔๒๒ พระนางเจ้าวิกตอเรียยังทรงประชวรอยู่ และพอสืบได้ว่า คนในกระทรวงต่างประเทศอังกฤษมีท่าทีจะเชื่อตามรายงานของนายน๊อกซ์ เพราะรัฐมนตรีต่างประเทศยังปฏิเสธที่จะให้เข้าพบ อ้างว่าสภาใกล้จะปิดสมัยประชุมแล้ว ไม่สะดวกในตอนนั้น และขอให้คณะทูตรอไปก่อน พระยาภาสกรจึงเดินทางต่อไปยังเยอรมันเพื่อถวายพระราชสาส์นเจริญพระราชไมตรีแต่พระเจ้าไกเซอร์ แล้วรีบกลับมารอ

ระหว่างนั้นนาย ดี เค เมสัน กงสุลไทยที่เป็นคนอังกฤษในพระราชทินนามพระสยามธุระพาหะ ได้ล๊อบบี้ผ่านเพื่อนสนิทชื่อ เซอร์จูเลียน เพาส์โฟต ซึ่งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงต่างประเทศ ทำให้ในที่สุดลอร์ด ซอลส์เบอรี รัฐมนตรีก็เปิดโอกาสให้พระยาภาสกรเข้าพบได้ในวันที่ ๒๘มิถุนายน ๒๔๒๒

การสนทนากันในวันดังกล่าวมีประเด็นต่างๆ ๓เรื่องคือ

เรื่องแรก ประเด็นที่ต้องการให้เข้าใจว่ารัฐบาลสยามมิได้ประสงค์จะดูถูกหรือทำให้กงสุลใหญ่อังกฤษเสื่อมเสียเกียรติ เรื่องความเข้าใจทีไม่ตรงกันนี้รัฐบาลก็เสียใจและทำหนังสือขอโทษ ชึ่งนายน๊อกซ์เองได้ยอมรับแล้ว แต่ที่จะขอให้ปล่อยตัวพระปรีชาโดยอ้างว่าให้เห็นแก่มนุษยธรรมนั้น  รัฐบาลคิดว่าแปลก เพราะการลงโทษเช่นนี้ตามกฏหมายสยามนั้น นายน๊อกซ์ก็เคยเห็นมาหลายต่อหลายครั้งแล้ว แต่ไม่เคยแสดงท่าทีอะไร อีกทั้งพระปรีชาเป็นคนโหดร้าย ข่มเหงราษฎร ผิดกฏหมายชัดเจน ถ้าไม่สอบสวนลงโทษโดยเสมอภาคแล้ว จะเป็นที่หวาดหวั่นแก่ราษฎรได้

เรื่องที่สอง ขอให้อังกฤษเคารพการธำรงรักษาพระเกียรติและอำนาจแผ่นดิน ในการปกครองอาณาประชาราษฎรในสยามต่อไป

เรื่องที่สาม การที่นายน๊อกซ์มีข้อบาดหมางกับรัฐบาลสยาม และมีความโกรธเคืองเสนาบดีชั้นผู้ใหญ่ระดับนี้แล้ว ถ้านายน๊อกซ์ยังคงเป็นกงสุลใหญ่ต่อไปก็อาจจะกระทบกระทั่งกันอีก
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 156  เมื่อ 07 เม.ย. 15, 06:10

รายงานที่พระยาภาสกรวงษ์ส่งกลับมากรุงเทพตั้งขอสังเกตุว่า ลอร์ด ซอลส์เบอรีตั้งคำถามในแนวเดียวกับความคิดเห็นของนายน๊อกซ์  สุดท้ายก็เลียบๆเคียงๆจะขอให้ปล่อยพระปรีชากลการ เรื่องนี้ต้องชมความสามารถของพระยาภาสกร ที่ได้ยืนยันเสียงหนักแน่นที่จะไม่ปล่อยพระปรีชา โดยยึดหลักการอย่างมั่นคง ไม่ได้ห้าวกับเขา แต่อ่อนนอกแข็งใน กล่าวอย่างซื่อๆว่า ขอให้อังกฤษช่วยพิจารณาไต่ตรองดู แล้วช่วยแนะนำด้วย หากจะปล่อยแล้ว จะใช้วิธีใดที่จะไม่เป็นการลบล้างอำนาจบริหารราชการแผ่นดิน และกฏหมายตลอดจนขนบธรรมเนียมของคนไทย  เจอคำถามนี้ทีไร ลอร์ด ซอลส์เบอรีก็ไปต่อไม่เป็น บอกว่าไอก็คิดไม่ออก  บอกขอให้เป็นเรื่องที่แล้วแต่สมเด็จพระราชินีนารถจะทรงโปรดก็แล้วกัน ยูจะได้เฝ้าท่านเร็วๆนี้

พระยาภาสกรแสดงความรู้สึกกลับมาในรายงานว่า ลอร์ด ซอลส์เบอรีมีท่าทีที่ไม่ต้องการแทรกแซงกิจกรรมภายในของสยาม แต่การที่กงสุลอังกฤษรายงานกลับไปว่าพระปรีชาถูกกลั่นแกล้งนั้น ก็อยากจะดูผลของการสอบสวนและตัดสินคดีก่อน เขาจึงจะสามารถชี้ขาดลงไปได้

เมื่อพระยาภาสกรขอให้ทางกรุงเทพเร่งตัดสินคดีแล้วส่งผลไปให้ตนนั้น พระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชกระแสกลับไปว่า ที่พระองค์ส่งทูตไปครั้งนี้ก็เพื่ออธิบายกับอังกฤษในเรืองคดีความพระปรีชาที่มีชื่อนายน๊อกซืไปพัวพันด้วยเท่านั้น ว่าเราไม่ได้ตั้งใจจะไปหมิ่นเขา ทรงมีพระราชประสงค์ให้จบกันไป ส่วนคดีอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับอังกฤษ หากเขาจะขอดูสำนวนสอบสวนทุกคดี ทรงเกรงว่าถ้าเขาขอแก้แล้วต้องแก้ ก็จะเป็นการเสียเกียรติของชาติเป็นอย่างมาก ไม่ใช่วัตถุประสงค์ในครั้งนี้  จึงโปรดเกล้าให้สรุปสำนวนคดีเพียงสั้นๆ ส่วนการตัดสินนั้นยังไม่มี ให้บอกไปว่าสยามจะรอดูความเห็นของอังกฤษในคดีที่เกี่ยวกับเรื่องส่วนตัวนายน๊อกซ์ก่อน
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 157  เมื่อ 07 เม.ย. 15, 06:31

การดำเนินการเจรจาทางการทูตครั้งนี้ พระยาภาสกรวงษ์ได้กราบบังคมทูลพระเจ้าอยู่หัวว่า การเจรจากับกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษที่หลายๆฝ่าย ทั้งไทยและต่างชาติแนะนำนั้น ไม่ได้ใช้เลย “ข้าพระพุทธเจ้าต้องใช้ปัญญาใหม่ให้ต้องความกับกาละที่นี่ทั้งนั้น”

เห็นจะจริงตามที่ท่านกราบังคมทูล ขณะนั้นการเมืองภายในของอังกฤษใกล้จะถึงฤดูการเลือกตั้งใหม่อีกครั้ง ฝ่ายค้านกำลังหาเรื่องโจมตีรัฐบาลในทุกประเด็น เรื่องที่กงสุลน๊อกซ์เรียกเรือรบเข้าไปในสยามเป็นข่าวใหญ่ที่นั่น และคนอังกฤษกำลังสนใจว่าเรื่องราวเป็นอย่างไรแล้วจะจบอย่างไร ซึ่งนายเมสันบอกว่า เป็นเรื่องน่าอับอายที่กงสุลน๊อกซ์เอาเรื่องส่วนตัวมาปนกับราชการ จะเสื่อมเสียไปถึงกระทรวงการต่างประเทศและรัฐบาลด้วย กระทรวงจึงอยากให้เรื่องนี้เงียบๆ เมื่อปิดสภาแล้วจึงจะเรียกนายน๊อกซ์กลับมาคุย แต่พระยาภาสกรไม่ต้องการให้ยืดเยื้อขนาดนั้น อยากให้รัฐบาลอังกฤษแสดงท่าทีที่ชัดเจนก่อนปิดสมัยประชุมของสภา เพราะหากสยามไม่ได้รับความเป็นธรรม ตนจะเปิดแถลงข่าวเกี่ยวกับพฤติกรรมของกงสุลอังกฤษต่อสาธารณะชน  ซึ่งเชื่อว่ารัฐบาลอังกฤษจะต้องเดือดร้อนแน่

คงไม่มีใครเตี๊ยมกับท่านมาก่อนเรื่องการแถลงข่าวที่อาจกระทบกระเทือนรัฐบาลอังกฤษ ท่านคงจะได้รับฟังความเห็นของนายเมสันที่นั่น

เพื่อให้เป็นการกระตุ้นรัฐบาลอังกฤษว่าสยามก็มีเส้นมีสายเหมือนกัน นายเมสันจึงขอร้องให้ส.ส.ไรแลนด์(Ryland) เพื่อนของตนซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทน ตั้งกระทู้ถามรัฐบาลถึงเหตุผลที่กงสุลอังกฤษเรียกเรือรบเข้าไปจอดในเมืองไทย  ซึ่งตัวแทนรัฐบาลอังกฤษขึ้นมาตอบแบบขอไปทีว่ารัฐบาลยังไม่ทราบรายงานทั้งจากกงสุลและกัปตัน แต่จะชี้แจงให้ทราบในการประชุมสภาสมัยหน้า
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 158  เมื่อ 07 เม.ย. 15, 07:19

ภาพล้อ (caricature) พระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค) ในตำแหน่งราชทูตพิเศษ (Special Envoy)  ในนิตยสาร "Vanity Fair" ของอังกฤษ ฉบับวันที่ ๑๓ กันยายน พ.ศ. ๒๔๒๒

ในเหตุการณ์นี้พระยาภาสกรวงศ์ ได้เดินทางไปอังกฤษเพื่อดำเนินการเจรจากับทางรัฐบาลอังกฤษ ยังมีพยานหลักฐานอย่างหนึ่งคือ ปรากฏเหรียญที่ระลึกด้านหน้าเป็นเป็นภาพพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค)ด้านหลังเป็นอักษรว่า "Mission To England"
เหรียญนี้ทำด้วยเนื้อเงินแท้ อยู่ในมือนักสะสมเหรียญระดับแนวหน้าเมืองไทย ไว้จะหาภาพมาให้ชมนะครับ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 159  เมื่อ 07 เม.ย. 15, 08:28

ดังนั้น หลังจากพระยาภาสกรวงษ์ทำหนังสือถึงกระทรวงการต่างประเทศ ลงวันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๔๒๒ ว่า ได้รับเรื่องมาจากเสนาบดีกรมท่าของสยาม การสอบสวนพระปรีชาเสร็จสิ้นลงแล้ว ผลปรากฏว่าจำเลยมีความผิดจริง และจำเลยยอมรับสารภาพ  กับการที่พระเจ้าอยู่หัวจะทรงเรียกให้คณะทูตเดินทางกลับ จึงต้องการขอร้องอีกครั้งหนึ่งว่า อย่าให้นายน๊อกซ์มีโอกาสขัดขวางหรือข่มขู่รัฐบาลสยาม และพระเจ้าอยู่หัวอีก ขอให้อังกฤษรักษาสัมพันธไมตรีระหว่างสยาม โดยการเรียกตัวกงสุลผู้นี้กลับมาด้วย

อังกฤษจึงทำหนังสือตอบกลับมาในวันที่ ๒๕ สิงหาคม แจ้งความตกลงใจของรัฐบาลว่า คดีความพระปรีชานั้น สยามควรพิจาณาด้วยตนเอง อังกฤษจะไม่แนะนำใดๆ แต่เรื่องย้ายกงสุลนั้น (อ่านสำนวนโบราณดีๆนะครับ) “รัฐบาลอังกฤษมิได้ตรองเห็นว่า ตามการที่ได้เป็นมาในเรื่องนี้ พอควรที่สยามจะขอให้เรียกขุนนางผู้นั้นกลับ แต่นายน๊อกซ์ได้ขอลากลับมาเมืองนี้โดยเร็ว อังกฤษจะขอตัดสินด้วยเรื่องความที่นายน๊อกซ์ทำเอง และจะรอฟังคำของนายน๊อกซ์”
 
สำนวนภาษาทูตของอังกฤษข้างต้นมีความหมายว่า เหตุผลของไทยไม่พอที่จะให้ประเทศอย่างอังกฤษเรียกกงสุลกลับ แต่อังกฤษจะทำให้นายน๊อกซ์ลากลับมาเอง ดังนั้นนายน๊อกซ์จึงมีเหตุจะต้องกลับบ้าน โดยเดินทางออกจากสยามในวันที่ ๒๙ กันยายน ด้วยความอาลัยอาวรณ์ และไม่ได้กลับไปอีกเลย

วันที่ ๓ ตุลาคม รัฐบาลอังกฤษทำหนังสือแจ้งว่า ได้ส่งนายพัลเกรฟ (Mr. William Gifford Palgrave) ไปเป็นกงสุลอังกฤษประจำสยามแทนนายน๊อกซ์

สุดท้าย วันที่ ๔ ตุลาคม พระยาภาสกรวงษ์นำคณะทูตเดินทางออกจากลอนดอนกลับสู่สยาม
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 160  เมื่อ 07 เม.ย. 15, 08:41

Knox story as told by Lord Salisbury to the Queen

……มีอีกตำแหน่งหนึ่งซึ่งต้องหาคนมาแทนโดยเร็ว คือกงสุลใหญ่ประจำสยาม เกิดมีปัญหาที่ชวนสงสัยขึ้นในกรุงเทพ ซึ่งทำให้ราชทูตคณะเล็กๆต้องเดินทางมาเฝ้าใต้ฝ่าละอองพระบาทเมื่อสองสามวันที่แล้ว

นายน๊อกซ์กงสุลใหญ่ผู้มีธิดาซึ่งเกิดจากภรรยาคนไทย ชื่อนางเฟนนีผู้ซึ่งโดยเต็มใจ และด้วยความรักที่มีต่อขุนนางสยามชื่อพระปรีชา ข้าหลวงจังหวัดหนึ่งผู้ยักยอกทองคำจากเหมืองทองภายใต้ความรับผิดชอบ มูลค่าประมาณ ๒๐๐,๐๐๐ปอนด์  แล้วมีความวิตกกังวลว่าจะถูกจับได้ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นก็คงจะถูกตัดศีรษะ  จึงคิดว่าสิ่งที่จะทำให้ตนหลุดรอดก็คือแฟนนี เขาจึงได้เสียกับเธอและรับจะเลี้ยงดู แต่นายน๊อกซ์ปฏิเสธ ดังนั้นเขาจึงโน้มน้าวให้เธอให้หนีตามเขาไปโดยเรือยอร์ชกลไฟ โดยให้นอนกับภรรยาอื่นที่เขามีอีกจำนวนมากหนึ่งคืน หลังจากนั้นนางก็ขอประนีประนอมกับบิดา และนายน๊อกซ์ก็ถูกบีบให้ยอมรับลูกเขย

รัฐบาลสยามไม่ยอมรับการกระทำแบบชายชู้ต่อผู้แทนของต่างประเทศ พระปรีชาจึงถูกเฆี่ยนในที่สาธารณะ ๓๐ที  แต่นายน๊อกซ์กลับไม่ยอมรับการชดเชยต่อการเสื่อมเสียเกียรติยศนี้อย่างที่ควร  ตรงกันข้าม เขาแสดงความเดือดดาลที่รัฐบาลสยามไม่ให้ความเคารพ ๑ ไม่สอดส่องดูแลทำให้เกิดปัญหาขึ้นในบ้านของเขา ๒ แล้วยังเฆี่ยนลูกเขยเขาเสียอีก

เขาเรียกร้องคำขอโทษโดยทันที และให้ปล่อยตัวพระปรีชา ผู้ซึ่งกำลังถูกดำเนินคดีเรื่องเหมืองทองคำและถูกคุมขังอยู่  เมื่อรัฐบาลสยามปฏิเสธ เขาได้สั่งการให้เรือรบหลวงเข้าไปกรุงเทพ แต่ยังโชคดี หากลอร์ดซอลสบรีมิได้ทราบเรื่องนี้อย่างทันท่วงที และได้สั่งการทางโทรเลขให้ระงับเสีย เขาก็อาจจะดำเนินการต่อไปถึงขั้นรุนแรง

คณะราชทูตสยามจึงได้มาประท้วงในเรื่องนี้ และนายน๊อกซ์ก็จะต้องกลับบ้านมาอธิบายด้วยตนเอง แต่ดูเหมือนเขาจะมีโอกาสน้อยมากที่จะได้กลับไปกรุงเทพอีกภายหลังโดนข้อกล่าวหา  

สุดท้ายที่ได้รับรายงานเรื่องนี้คือ พระปรีชาได้มอบเอกสารที่อาจจะทำให้ประนีประนอมยอมความกันได้นั้น ให้นางแฟนนีเก็บไว้ แล้วนางปฏิเสธที่จะนำให้ศาลพิจารณา โดยอ้างเอกสิทธิ์ว่าตนอยู่ในความคุ้มครองของประเทศอังกฤษ

(ล่าง-ภาพเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ อัครราชทูตพิเศษ ตีพิมพ์ในวารสารVanity ที่ออกในอังกฤษช่วงนั้น)


เรื่องที่ผมหาไม่เจอในบรรดาเอกสารของหอจดหมายเหตุแห่งชาติ คือรายงานการเข้าเฝ้าสมเด็จพระนางเจ้าวิคตอเรียของพระยาภาสกรวงศ์ เพื่อทูลเกล้าฯถวายเครื่องราชอิสิยาภรณ์สยามจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งหลังจากถวายแล้ว พระยาภาสกรต้องหาทางกราบบังคมทูลเรื่องการเมืองแน่ๆ แต่มีเนื้อความเป็นเช่นไรขนาดที่รัฐมนตรีใช้คำว่าประท้วง และทรงมีพระราชกระแสตอบว่าอย่างไร เราไม่ทราบเลย
 
หากไม่มีเอกสารข้างบนที่ผมหาเจอในอินเทอเน็ท โดยคนอังกฤษได้นำมาลงไว้ ผมเองก็เกือบจะลืมไปด้วยซ้ำว่าท่านทูตได้แสดงบทบาทอันสำคัญยิ่งใหญ่ไว้ที่พระราชสำนักของอังกฤษด้วย จนทำให้รัฐมนตรีต่างประเทศของอังกฤษต้องทำหนังสือกราบบังคมทูลถวายรายงาน
 
และแม้จะไม่ทราบวันที่เข้าเฝ้า แต่ก็ทราบว่าจะอยู่ในช่วงก่อนที่คณะตุลาการจะพิพากษาโทษจำเลยแน่นอน
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 161  เมื่อ 07 เม.ย. 15, 08:51


ขอบพระคุณคุณเทาชมพูค่ะ
พยายามจะเก็บประวัติ จาก Siam Repository 1 and 2  สำหรับรายนี้ วิกิพีเดียมีอยู่พอใช้เลยค่ะ

กระทรวงต่างประเทศอังกฤษแปลกมากที่ส่งพัลเกรฟ (Willlilam Gifford Palgrave) มาสยามในตอนนั้น  เพราะเป็นข้าราชการฝีมือดีเยี่ยมในด้านอาหรับ
รู้ภูมิประเทศและเคยเดินทางลึกเข้าไปในดินแดนตะวันออกกลางทำงานให้องค์การทางศาสนาและจักรวรรดิฝรั่งเศส  โดยปลอมตัวเป็นมุสลิม เพราะคนที่ไม่ใช่มุสลิมจะไม่สามารถผ่านทางไปได้เลย  ตอนที่อยู่ซีเรียก็ปลอมเป็นแพทย์ไซเรียน  มียาติดตัวและมีสินค้านิดหน่อย

อาจจะเป็นการสลับตำแหน่ง เพราะเมื่อ ๓ ปีก่อนเขาประจำอยู่มะนิลา  

เป็นบุคคลมีชาติตระกูลเเมื่อเปรียบเทียบกับผู้สอนศาสนาและทหารประจำการในบริติชอินเดียในตอนนั้น บิดาเป็นเซอร์ ฟรันซิส พัลเกรฟ  แม่ชื่ออลิซาเบธ เทอร์เนอร์ เคยบันทึกไว้ว่าตานั้นเป็นนายธนาคาร เรียนหนังสือจบอ็อกซ์ฟอร์ด
พัลเกรฟเป็นลูกคนที่สอง  จึงต้องมาผจญภัยต่างแดนเพื่อสร้างตัว  ไม่เช่นนั้นก็ต้องไปเป็นทหาร หรือ รับใช้ศาสนา

หลังจากเขาเดินทางกลับจากซีเรีย เขียนหนังสือเรื่องการผจญภัยไว้เล่มหนึ่ง ขายดีมากและพิมพ์ซ้ำหลายครั้ง
ในเรื่องนี้  คงไม่มีบทบาทมาก แต่ก็น่าสนใจอยู่ดี ว่าในเวลานั้น อังกฤษมีผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาหลายคน
การเป็นนักเรียนล่ามนั้น เด็กอังกฤษที่การศึกษาครึ่งๆกลางๆ  ก็ได้ดีกันมาหลายคน เพราะราชการอังกฤษอนุโลมให้เรียนเพิ่มเติมและสอบเลื่อนขั้นไปเรื่อย ๆ
     
นายพัลเกรฟนั้น ลอร์ด ซอลส์เบอรีมีบันทึกว่า เขายั๊วะมากที่อยู่ๆตนจะถูกย้ายจากบุลกาเรียไปเป็นกงสุลใหญ่ในประเทศสยาม แต่ท่านลอร์ดก็ปลอบว่า เอาน่า เมืองนี้ดีออก คุณไปแล้วจะชอบ (แต่อย่าเผลอไปกินน้ำดิบให้จู๊ดๆเข้าก็แล้วกัน)  
ส่วนนายน๊อกซ์หลังจากกลับไปถึงลอนดอนเพื่อฟังเทศนาของนายได้ไม่นานก็บรรลุความเข้าใจอันประเสริฐ ยอมเลือกการลาออกจากราชการก่อนกำหนดเกษียณอายุตามข้อต่อรอง ซึ่งกระทรวงก็ได้ตอบแทนด้วยการขอเครื่องราชย์ ที่ทำให้เขาได้เป็นเซอร์โทมัส ยอร์จ น๊อกซ์ กินเงินบำนาญถึงสองในสามของเงินเดือนที่ได้รับขั้นสุดท้าย
ซึ่งก็เยอะอยู่จนนายอาลาบาสเตอร์แอบอิจฉา

นอกจากนั้น ท่านลอร์ดคงจะประทับใจในกิริยาวาจาของท่านทูตไทย จึงยังได้สั่งกำชับให้นายนิวแมน ขณะรักษาการณ์กงสุลในสยามให้แสดงกิริยาที่ดีต่อคนไทยหน่อย อย่าขี้เบ่งนัก และให้นำเครื่องราชอิสริยาภรณ์ซึ่งพระนางเจ้าวิคตอเรียพระราชทานไปให้สมเด็จเจ้าพระยาตั้งแต่วันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๔๒๑ แล้วถูกนายน๊อกซ์ดองไว้ไม่ยอมนำไปมอบให้นั้น ขอให้นายนิวแมนไปจัดการส่งมอบและให้ขออภัยต่อสมเด็จเจ้าพระยาอย่างเป็นทางการด้วย
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 162  เมื่อ 07 เม.ย. 15, 08:55

วิกฤติการณ์กับอังกฤษครั้งนี้จึงถือว่าผ่านพ้นไปด้วยความโล่งอก ถือเป็นสำเร็จทางการทูตอันน่าภูมิใจของสยาม 

ทำให้สยามเป็นอิสระในการตัดสินคดีตามกระบวนการยุติธรรมของประเทศนี้

บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 163  เมื่อ 07 เม.ย. 15, 10:10

ก่อนจะกลับไปเล่าเรื่องการพิพากษาโทษของพระปรีชากลการในศาล ผมอยากจะของย้ำอีกสักนิดนะครับว่า การทูตของประเทศไทยซึ่งมีประวัติอันงดงามมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ไม่เคยทำงานพลาดเป้าแม้ครั้งเดียว รวมถึงในเหตุการณ์ร.ศ.๑๑๒ ที่สยามต้องเสียดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง และเงินค่าปรับจำนวนมหาศาลให้ฝรั่งเศส ทั้งๆที่ในทางการทูตนั้น เราได้รับความสำเร็จในการร้องขอกระทรวงการต่างประเทศในปารีส ให้ระงับการล่วงล้ำลำน้ำเจ้าพระยาเข้ามาของกองเรือรบ ที่นายปาวี กงสุลฝรั่งเศสเรียกมาข่มขู่สยามได้  
แต่สุดท้ายแล้ว การก็ไม่ได้เป็นอย่างนั้น เพราะอะไร ท่านสามารถกลับไปอ่านจุดนี้ได้ที่เรือนไทย ตามระโยงข้างล่าง

ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม

http://www.reurnthai.com/index.php?topic=5686.150

ปัจจุบัน เรื่องนี้ไปลงโรงเป็นบิ๊กซีรีส์อยู่ในสกุลไทยในเวอร์ชั่นที่ต่างกันไปตามลักษณะของสื่อ แต่นิตยสารฉบับนี้จะหาซื้ออ่านยากหน่อยนะครับ


บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 164  เมื่อ 07 เม.ย. 15, 10:26

เห็นหน้าปกหนังสือสกุลไทยฉบับล่าสุด (ฉบับ ๓๑๔๙ วันจันทร์ที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘) โปรยชื่อเรื่อง ริชลิวนักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม ก็ทราบแล้วว่าเป็นผลงานมาจากเรือนไทยของคุณนวรัตนนั่นเอง   ยิงฟันยิ้ม



ส่งใบเตือน ว่าคุณหมอเพ็ญนำโฆษณามาลง..
ดีมั้ยเนี่ย

เรื่องนี้รับรองไม่นำไปฟ้องท่านเจ้าเรือน  ยิ้มเท่ห์  ยิงฟันยิ้ม  ยิ้มเท่ห์  ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 9 10 [11] 12 13 ... 24
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.115 วินาที กับ 20 คำสั่ง