เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 2 [3] 4 5 ... 24
  พิมพ์  
อ่าน: 62213 คดีพระปรีชากลการ มโหฬารงานสร้างทางการเมือง
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 30  เมื่อ 25 มี.ค. 15, 20:20

การเมืองภายในของสยามสมัยต้นรัชกาลที่ ๕ เป็นเรื่องที่พระเจ้าอยู่หัวหนุ่มทรงพยายามจะเรียกคืนพระราชอำนาจที่ถูกนำไปใช้โดยผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน  แล้วทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้น นอกจากที่เกิดขึ้นระหว่างวังหลวงกับวังหน้า ผู้ที่ทรงตั้งข้อรังเกียจว่าผู้สำเร็จราชการเป็นผู้ตั้ง หาใช่โดยพระองค์ท่านเองไม่ บรรดาขุนนางต่อขุนนางด้วยกันก็แบ่งฝักแบ่งฝ่าย เรียกขานคนอื่นว่าเป็นกลุ่มวังหน้าบ้าง กลุ่มของสมเด็จเจ้าพระยาบ้าง เรียกพวกตนว่าเป็นฝ่ายพระเจ้าอยู่หัว จนกลายเป็นเรื่องบาดหมางระหว่างสมเด็จเจ้าพระยา กับขุนนางสายพระยากระสาปนกิจ (ตระกูลนี้ได้รับพระราชทานนามสกุลในสมัยรัชกาลที่ ๖ ว่า “อมาตยกุล”)

ตระกูลอมาตยกุล เป็นตระกูลขุนนางเก่าที่มีชื่อเสียงทางด้านการช่าง โดยเฉพาะนายโหมด ผู้นำตระกูลมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๔ เวลานั้นนับว่าเป็นหนึ่งในปัญญาชนสยามที่มีกันอยู่เพียงไม่กี่คน เพราะมีความคิดก้าวหน้า ใฝ่ใจศึกษาวิชาการแบบตะวันตก อาศัยการเรียนรู้จากตำรับตำราภาษาอังกฤษวิชาช่างกลด้วยตนเอง ถึงขั้นประดิษฐ์เครื่องกลึงเกลียวโลหะได้ และยังมีความสามารถทางด้านไฟฟ้า เป็นช่างชุบโลหะรายแรกๆ เป็นผู้ผลิตเครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำหรับหลอดไฟ และเป็นผู้ที่วางเครื่องจักรกลไอน้ำในเรือกลไฟสยามอรสุมพล


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 31  เมื่อ 25 มี.ค. 15, 20:26

ขอพาเข้าซอยนิดนึงครับ
 
ความสามารถทางด้านการช่างของนายโหมด ปรากฏแววมาตั้งแต่ยังเป็นมหาดเล็กผู้น้อยในสมัยรัชกาลที่ ๓  คราวหนึ่งมีหน้าที่ตรวจงานซ่อมอุโบสถวัดพระเชตุพน แต่ได้หาญไปทักท้วงพระยาศรีพิพัฒน์โกษาธิบดี (ทัศ บุนนาค)แม่กองก่อสร้างว่า ติดรอกกว้านยาวเกินไป เกรงว่าเชือกแกว่งแล้วจะดึงขื่อให้ถล่มใส่กำแพง โดนพระยาศรีพิพัฒน์สวนว่าเป็นเด็กทะลึ่งมาสอนผู้ใหญ่ แต่แล้วขื่อก็ถล่มลงมาจริงๆทับคนตายไปหลายศพ ความทราบถึงพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ทรงตรัสชมนายโหมดกระทบท่านเจ้าคุณว่า เป็นคนฉลาดหลักแหลมกว่าผู้ใหญ่บางคน แล้วยังโปรดเกล้าฯให้ตั้งศาลเพียงตาสังเวยเทวดาอารักษ์ในจุดเกิดเหตุ  ให้นายโหมดนำหัวหนูไปสังเวยแทนหัวหมู  เป็นการประชดพระยาศรีพิพัฒน์ ไม่ทราบจะทรงหมายความว่า เพราะงานนี้เก่งเล็กเก่งกว่าเก่งใหญ่ หรือเพราะพวกบุนนาคมีต้นตระกูลเป็นมุสลิม
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 32  เมื่อ 26 มี.ค. 15, 05:28

มาถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ หลังจากนายช่างที่ตามมาติดตั้งเครื่องจักรผลิตเหรียญกระษาปณ์ที่สั่งมาจากอังกฤษ เกิดเป็นอหิวาต์ตายลง ทั้งๆที่ยังไม่ได้งานได้การ นายโหมดได้แสดงความสามารถทำงานนั้นต่อจนสำเร็จ  เป็นที่พอพระราชหฤทัยมาก ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ให้เป็นพระวิสูตรโยธามาตย์ จางวางกรมกระษาปณ์สิทธิการ ต่อมายังไปควบตำแหน่งผู้บังคับการโรงหล่อเหล็กในกรมทหารเรือ และผู้บังคับการโรงหุงลมพระประทีปหรือโรงผลิตแก๊สอะเซทิรีนสำหรับไฟส่องสว่างในวังหลวงอีกด้วย
 
ดูเหมือนนายโหมดจะเป็นประเภทสารพัดช่างแบบอ๊อดจ๊อบ คืองานจิปาถะทุกชนิด หลอดไฟสำหรับจุดด้วยแก๊สตอนหลังก็ประดิษฐ์ได้เอง กล้องถ่ายรูปที่พระนางเจ้าวิกทอเรียส่งมาถวายพระเจ้าอยู่หัว จับกังทำตกน้ำที่สิงคโปรตอนเปลี่ยนเรือ นายโหมดก็ซ่อมจนใช้การได้ แล้วเลยกลายเป็นช่างภาพประจำพระองค์ไปอีกตำแหน่งหนึ่ง
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 33  เมื่อ 26 มี.ค. 15, 05:37

ครั้นถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ พระวิสูตรโยธามาตย์ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์ขึ้นเป็นพระยากระสาปนกิจ หลายครั้งที่หนังสือพิมพ์ของฝรั่งที่ออกในกรุงเทพเวลานั้น เช่น สยามวีคลีแอดเวอร์ไทเซอร์ (The Siam Weekly Advertiser) และสยามรีพอซิทอรี (Siam Repository) ของพวกมิชชันนารี ได้เขียนถึงนายโหมด ยกย่องต่างๆนาๆ เราจึงได้ทราบว่านอกจากเรื่องงานช่างแล้ว นายโหมดเป็นคนไทยคนแรกที่พยายามจะเผยแพร่หนังสือประมวลกฎหมายของสยาม และมีโรงงานผลิตยา เมื่อครั้งที่เกิดอหิวาตกโรคระบาดผู้คนล้มตายไปเป็นจำนวนมากคราวโน้น  นายโหมดได้ผลิตยารักษาอหิวาต์ออกมาจำหน่าย ช่วยชีวิตผู้คนได้มาก   
เสียดายตอนนั้นนายช่างฝรั่งไม่ยอมกินยาของนายโหมด หรือกินแล้วเลยตายข่าวก็นั้นมิได้แจ้ง

สรุปแล้วนายโหมดผู้นี้ก็คืออัจฉริยะบุคคล ผู้รับราชการใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทมาแล้วถึงสามแผ่นดิน  ก่อนจะเกิดเรื่องที่ไม่แฮปปี้ เอนดิ้งขึ้น
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 34  เมื่อ 26 มี.ค. 15, 08:59

มาช้าไปหน่อย  ค่อยๆย่องมานั่งแถวหลังค่ะ
ชีวิตพระยากสาปฯ  เป็นชีวิตขุนนางที่ดราม่าที่สุดคนหนึ่งของรัตนโกสินทร์     ขอนั่งฟังคุณนวรัตนบรรเลงต่อเงียบๆค่ะ
บันทึกการเข้า
Naris
องคต
*****
ตอบ: 421


ความคิดเห็นที่ 35  เมื่อ 26 มี.ค. 15, 09:23

ผมแอบฟังอยู่ห้องข้างๆครับ
กำลังคิดตามไปว่า สำหรับชาวยุโรป การลงข่าวคดีเกิดขึ้นในประเทศที่ห่างไกลเช่นนั้น จะให้คนที่ติดตามอ่านไปหาหลักฐานมาพิสูจน์ความจริงคงทำไม่ได้ เช่นนั้นแล้ว เขาเสนอข่าวนี้เพื่อวัตถุประสงค์ใดกัน เป็นเพียงข่าวซุบซิบไฮโซสมัยโน้น หรือว่า มีจุดมุ่งหมายทางเรื่องอื่น

งืม.. แอบฟังต่อครับ 
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 36  เมื่อ 26 มี.ค. 15, 11:42

ปูเสื่อรอ  ยิงฟันยิ้ม 

บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 37  เมื่อ 26 มี.ค. 15, 12:05

ผมแอบฟังอยู่ห้องข้างๆครับ
กำลังคิดตามไปว่า สำหรับชาวยุโรป การลงข่าวคดีเกิดขึ้นในประเทศที่ห่างไกลเช่นนั้น จะให้คนที่ติดตามอ่านไปหาหลักฐานมาพิสูจน์ความจริงคงทำไม่ได้ เช่นนั้นแล้ว เขาเสนอข่าวนี้เพื่อวัตถุประสงค์ใดกัน เป็นเพียงข่าวซุบซิบไฮโซสมัยโน้น หรือว่า มีจุดมุ่งหมายทางเรื่องอื่น

งืม.. แอบฟังต่อครับ 

น่าคิดทีเดียวครับ แต่หลังจากนั้นพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงสุขุมขึ้นกว่าเดิมมาก วัตถุประสงค์ของฝรั่งเมืองไทยที่เขียนไปอาจจะหวังแค่นี้ก็ได้ เพราะเหตุร้ายลำดับต่อไปก็อีกหลายปี  เป็นเรื่องทะเลาะกับฝรั่งเศสในร.ศ. ๑๑๒ ไม่เกียวกับคดีนี้แล้ว ต่อจากนั้นจึงถึงคิวทะเลาะกับคนอเมริกัน

ไอ้เสดฟัน ไอ้กันขวิด ไอ้กิดเฉือน เหตุต่อจาก ร.ศ. ๑๑๒


http://www.reurnthai.com/index.php?topic=5721.0
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 38  เมื่อ 26 มี.ค. 15, 13:06

ปูเสื่อรอ  ยิงฟันยิ้ม 



ต้องรีบต่อก่อนคนสำคัญจะหลับ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 39  เมื่อ 26 มี.ค. 15, 13:10

ตระกูลของพระยากระสาปนกิจโกศลเป็นช่าง จึงมิได้มีบทบาทสำคัญในด้านการเมืองการปกครองเช่นตระกูลบุนนาค  แต่ความที่มีชื่อเสียงกว้างขวางในหมู่ชาวตะวันตก และลูกชายคนโตไปเรียนวิชาช่างในอังกฤษจบมา ทำให้ตระกูลอมาตยกุลก้าวขึ้นมามีบทบาทเด่นในต้นรัชกาลที่ ๕ ซึ่งเป็นระยะที่การเมืองของไทยเกิดความตึงเครียดสูง พระยากระสาปน์ฯเป็นขุนนางอีกผู้หนึ่งที่ขณะนั้น ได้แสดงตัวอย่างเปิดเผยว่าเป็นฝ่ายเดียวกับพระเจ้าอยู่หัว

ย้อนไปเมื่อปลายรัชกาลที่ ๔ หลังสิ้นพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ กษัตริย์วังหน้าแล้ว เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์มีอำนาจมาก นายเฟร์เดอริก การ์นิเยร์ ผู้ซึ่งเข้ามาดำรงตำแหน่งกงสุลฝรั่งเศสประจำกรุงเทพฯ ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๑๕ ได้ติดตามสถานการณ์ทางการเมืองไทยอย่างใกล้ชิดและได้บันทึกเหตุการณ์ในช่วงนั้นบางตอนไว้ว่า

"พระบรมวงศานุวงศ์รู้สึกอับอายและไร้ศักดิ์ศรีอย่างยิ่งที่ต้องก้มหน้าให้อำนาจอันยิ่งใหญ่ของสมุหพระกลาโหม และต้องยอมให้ตำแหน่งสำคัญต่างๆ ตกอยู่ในมือของครอบครัว 'บุนนาค' และ 'คนใกล้ชิดกับครอบครัวบุนนาค' กรมขุนวรจักรธรานุภาพ พระอนุชาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงดำรงตำแหน่งกรมท่า(กระทรวงต่างประเทศ)แทนน้องชายของเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ [เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค)] เพียงไม่กี่เดือนก่อนพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต แต่ด้วยพระอัธยาศัยทำอะไรตามสบาย ทำให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ไม่พอใจและได้ให้น้องชายอีกคนของท่าน (เจ้าพระยาภาณุวงศ์) ดำรงตำแหน่งนี้แทน"

กลุ่มคนชั้นสูงพากันวิพากษ์วิจารณ์กันว่าถ้าในหลวงเสด็จสวรรคตแล้ว เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ สมุหพระกลาโหมอาจจะแย่งชิงราชสมบัติ ตามรอยพงศาวดารสมัยกรุงศรีฯ พระวิสูตรโยธามาตย์(โหมด) พร้อมกับเจ้าหมื่นสรรเพชรภักดี (เพ็ง) และเจ้าหมื่นเสมอใจ (เอม) ได้ทำสัญญากันว่าคอยปกป้องคุ้มครองสมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์อย่างถึงที่สุด
ด้วยเหตุนี้ ถึงแม้ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงๆจะไม่ใช่อย่างที่กลัวกัน แต่ความรู้สึกที่เป็นอคติต่อท่านผู้สำเร็จราชการแผ่นดินก็มิได้หายไป  ในต้นรัชกาลขณะที่พระเจ้าอยู่หัวยังทรงพระเยาว์นั้น แม้ขุนนางส่วนมากจะเป็นพรรคพวกของผู้สำเร็จ แต่ก็ยังมีขุนนางระดับสูงบางคน รวมทั้งพระยากระสาปน์ฯด้วย  ที่ร่วมมือร่วมใจกันเคียงข้างพระเจ้าอยู่หัว เพื่อหาทางคานอำนาจของสมเด็จเจ้าพระยา ตามแต่โอกาสจะอำนวย
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 40  เมื่อ 26 มี.ค. 15, 13:14

เป็นโชคดีของเมืองไทยที่ไม่มีเหตุการณ์ร้ายแรงอะไรเกิดขึ้น ส่วนตัวท่านผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน เมื่อขึ้นหิ้งแล้วก็สละตำแหน่งสมุหพระกลาโหม เปลี่ยนมือให้เจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) บุตรชายคนใหญ่ดำรงตำแหน่งแทน ตรงนี้มีข่าวเล็กๆว่าเจ้าพระยาภาณุวงศ์ น้องชายไม่พอใจพี่คนโต  หาว่าย้ายตนจากปลัดกลาโหม ไปเป็นเสนาบดีเกษตร เพราะมีวาระซ่อนเร้นที่จะเอาลูกชายเสียบแทนนั่นเอง และรอยร้าวของตระกูลบุนนาคก็ปรากฏชัดในเกมการเมืองลำดับต่อไป

ความอึดอัดของพระเจ้าอยู่หัวที่สุดก็มาลงที่เรื่องเงิน ทรงเรียกผู้สำเร็จราชการแผ่นดินไปต่อว่าครั้งหนึ่ง เมื่อพระองค์ทรงพบว่ารายได้ของพระคลังข้างที่มีแต่จะลดลงๆ เมื่อเปรียบเทียบกับรัชกาลก่อน จนปีหนึ่งถึงกับไม่พอจ่ายค่าเบี้ยหวัดเจ้านายและข้าราชสำนัก ต้องผลัดชำระเจ้าหนี้บางรายไปก่อน ทำให้ทางวังเสียหน้าเสียตามาก เรื่องนี้ผู้สำเร็จฯกราบบังคมทูลเสียงเข้มว่า “..เงินพระคลังข้างที่จะเอาเต็ม เงินที่ขาดค้างจะให้ตกอยู่กับพระคลังมหาสมบัติ….”

พระคลังมหาสมบัติเดี๋ยวนี้ก็คือกระทรวงการคลังนั่นเอง
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 41  เมื่อ 26 มี.ค. 15, 13:23

แต่เรื่องนี้พระเจ้าอยู่หัวหนุ่มทรงเห็นว่ามันมั่วๆชอบกล 

รายได้แผ่นดินตอนนั้น ทางวังหลวงกับวังหน้าแบ่งพื้นที่เก็บภาษีกันเป็นสามส่วน วังหลวงสอง วังหน้าหนึ่ง สมัยพระปิ่นเกล้าฯก็โอเค เพราะพระองค์เป็นกษัตริย์ และวังหน้ามีทั้งทัพเรือทัพปืนใหญ่จะต้องทำนุบำรุง ครั้นมาเป็นวังหน้าสมัยกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ ความจำเป็นของชาติมิได้มีขนาดนั้น ซ้ำการมีกองทัพที่แยกผู้บังคับบัญชาสูงสุด ก็คือระเบิดเวลาของประเทศอย่างหนึ่ง ซึ่งตูมตามขึ้นมาครั้งแล้วครั้งเล่าในประวัติศาสตร์  ระเบิดลูกนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปลดชนวน

ทรงเห็นว่า รายได้ของแผ่นดินควรจะนำมารวมที่เดียวกันก่อน แล้วจัดสรรกันใหม่ตามความจำเป็น แต่เรื่องนี้ผู้สำเร็จราชการยังปฏิเสธ ไม่ใช่ไม่เห็นด้วย แต่มันจะส่งผลกระทบกระเทือนไปทั่วแผ่นดิน เพราะสยามใช้ระบบจตุสดมภ์ เงินหลวงที่จ่ายไปยังข้าราชการทั้งประเทศแบบไม่พอกินพอใช้ แต่เปิดโอกาสให้ขุนนางไปหาเพิ่มเอาเองจากราษฎรเพื่อเลี้ยงคนในสังกัดเป็นทอดๆ ในรูปแบบของส่วยต่างๆ และการค้าผูกขาด เสมือนมาเฟีย มือใครยาวสาวได้สาวเอา มันยากยิ่งที่จะรื้อทั้งระบบ

ถ้าท่านมีชีวิตอยู่ถึงตอนนี้ ท่านอาจจะบอกว่า เห็นมั้ย เป็นไงล่ะ เดี๋ยวนี้พวกเจ้าก็ยังแก้กันไม่ได้
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 42  เมื่อ 26 มี.ค. 15, 13:57

แต่พระเจ้าอยู่หัวก็ยังทรงมุ่งมั่นแบบคนหนุ่มใจร้อน เมื่อทรงบรรลุนิติภาวะแล้วกระทำพระราชพิธีพระบรมราชาภิเษกครั้งที่สอง เป็นพระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจอันสมบูรณ์  พร้อมๆกับการหมดหน้าที่ผู้รักษาราชการแผ่นดินของสมเด็จเจ้าพระยา พระราชกรณียกิจสำคัญเริ่มแรกก็คือ การปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดินให้ไปสู่ความทันสมัย

ตระกูลอมาตยกุลเป็นผู้มีบทบาทและเป็นกำลังสำคัญในปฏิบัติการดึงอำนาจจากขุนนางให้คืนสู่สถาบันพระมหากษัตริย์ โดยใช้สภาขุนนางที่ทรงตั้งขึ้นแบบหนามยอกเอาหนามบ่ง เป็นเครื่องมือ

พระเจ้าอยู่หัวยังทรงตั้งสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน และสภาที่ปรึกษาในพระองค์ขึ้นสองสภา ประกอบด้วยสมาชิกที่เป็นขุนนางทั้งหมด และในบรรดาสมาชิกที่มีเพียงไม่กี่คน พระยากระสาปนกิจโกศล (โหมด) พระยาเจริญราชไมตรี (ตาด) น้องชาย ได้เป็นสมาชิกสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน ส่วนสภาที่ปรึกษาในพระองค์ พระปรีชากลการ(สำอาง) และหลวงพิจารณ์จักรกิจ(เจิม) บุตรชายสองคนของพระยากระสาปน์ฯ ก็ได้รับแต่งตั้งให้ร่วมเป็นสมาชิก

ตระกูลอมาตยกุลที่ได้รับตำแหน่งสมาชิกทั้งสองสภา มีมากเป็นอันดับสองคือ ๔ คน รองลงมาจากตระกูลบุนนาค ซึ่งมีจำนวน ๖ คน ถือได้ว่าไม่ห่างชั้นกัน
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 43  เมื่อ 26 มี.ค. 15, 13:59

๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๑๗  ปรากฏนิตยสารฉบับแรกของไทย ชื่อว่า "ดรุโณวาท" โดยพระองค์เจ้าเกษมสันต์โสภาคย์ พระอนุชาองค์หนึ่งเป็นบรรณาธิการ  ทรงแถลงว่าได้รับพระบรมราชานุญาตให้ออกหนังสือเล่มนี้ แล้วยังทรงช่วยอุดหนุนให้ทำสำเร็จด้วย  "ดรุโณวาท" แปลตรงตัวว่า 'โอวาทของเด็ก'   สื่อความหมายแฝงว่าเป็นคำสอนของคนรุ่นใหม่ ที่ต้องการให้คนรุ่นเก่าได้รับรู้ไว้ซะบ้างว่าโลกเขาไปถึงไหนๆกันแล้ว ในเล่มมีเจ้านายหนุ่มๆและข้าราชการหัวก้าวหน้าเรียกตัวเองว่า “กลุ่มสยามหนุ่ม” ช่วยกันเขียนบทความสนับสนุนแนวพระราชดำริในการปฏิรูป พระปรีชากลการก็ปรากฏบทบาทอยู่ในกลุ่มสยามหนุ่มนี้
แต่ที่เจ็บก็คือบทความประจำของดรุโณวาทที่จะเล่านิทานการเมือง กระแนะกระแหนติเตียน“กลุ่มสยามเก่า” อันได้แก่พวกขุนนางผู้ใหญ่ที่ศัพท์การเมืองสมัยนี้เรียกว่าพวกไดโนเสาเต่าล้านปี  พุ่งเป้าไปที่สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ผู้พยายามรักษาสถานภาพของตระกูลบุนนาค  และกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญผู้พยายามรักษาสถานภาพของวังหน้า
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 44  เมื่อ 26 มี.ค. 15, 14:01

เมื่อสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดินจับงานการปรับปรุงแก้ไขการเก็บภาษีอากรที่อยู่ในความควบคุมของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์  ก็ส่งผลกระทบอย่างรุนแรง เมื่อพระยาอาหารบริรักษ์(นุช) เสนาบดีกรมนา ผู้เป็นญาติของตระกูลบุนนาค ประกาศจุดยืนคัดค้านนโยบายจัดเก็บภาษีนาแบบใหม่ ว่าปฏิบัติจริงไม่ได้ เลยโดนข้อหาไม่ร่วมมือกับสภาที่ปรึกษาฯ แล้วถูกตั้งคณะกรรมการตรวจสอบบัญชีของกรม เจอข้อบกพร่องเข้าจังเบ้อเร่อ เลยเจอข้อหาคอร์รัปชั่นเข้าให้เต็มพิกัด

งานสำคัญชิ้นนี้ พระเจ้าอยู่หัวได้ทรงตั้งให้พระยากระสาปนกิจโกศล เป็นประธานคณะตุลาการศาลรับสั่ง(คือศาลพิเศษ) ชำระความกรมนา มีอมาตยกุลอีก ๒คน ร่วมเป็นกรรมการ ทั้งพระยาเจริญราชไมตรี และหลวงพิจารณ์จักรกิจ รับสั่งให้คณะตุลาการสอบสวนให้จริงจัง โดยไม่ต้องคำนึงถึงหรือเกรงกลัวอิทธิพลของผู้ใด  แม้จะเป็นคนของพระองค์เองก็ตาม

พระเจ้าอยู่หัวตั้งพระทัยจะใช้คดีนี้เป็นคดีตัวอย่าง ให้เห็นว่าพระองค์มีความตั้งพระทัยมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนแปลงระบบบริหารราชการแผ่นดินเสียใหม่ ด้วยเหตุผลตามสำนวนที่ทรงมีพระอักษรว่า “จะได้ไม่เสียที่ปลายมือ”

พระยากระสาปน์ ประธานตุลาการศาลรับสั่ง จึงตั้งอกตั้งใจเป็นพิเศษในการสอบสวนจำเลยและพยานต่างๆอย่างเข้มข้น  จนได้ความว่า พระยาอาหารร่วมมือกับเสมียนตราและเจ้าพนักงานในกรมนา ฉ้อราษฎร์บังหลวง ปลอมแปลงบัญชีและยักยอกเงินค่านาไปเป็นส่วนตัว และยังได้พาดพิงสมเด็จเจ้าพระยาว่า พระยาอาหารได้ยักยอกข้าวสารจากฉางหลวงไปกำนัลสมเด็จเจ้าพระยาปีละ ๑๑-๑๓ เกวียน  และนำข้าวเปลือกมอบให้ท่านผู้หญิงพันผู้เป็นภรรยา ปีละ ๗๐-๙๐ เกวียนทุกปี ซึ่งในที่สุดของคดี พระยาอาหารได้รับการลงพระราชอาญา ปลดออกจากราชการ ถูกริบราชบาทว์ ถูกเฆี่ยน แต่โทษประหารพอถึงพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ยกไว้ คงเป็นจำคุกตลอดชีวิต  

ถือเป็นการเชือดไก่ให้ลิงดูแบบเลือดสาด  กระเซ็นเข้าตาลิงทั้งหลายจนช๊อค แทบจะตกต้นไม้ไปตามๆกัน


บันทึกการเข้า
หน้า: 1 2 [3] 4 5 ... 24
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.07 วินาที กับ 20 คำสั่ง