เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 3 4 [5] 6 7 ... 24
  พิมพ์  
อ่าน: 62561 คดีพระปรีชากลการ มโหฬารงานสร้างทางการเมือง
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 60  เมื่อ 27 มี.ค. 15, 13:11

สุดท้ายวิบากกรรมก็นำไป

เพราะทรงเห็นว่าครอบครัวนี้มีความชำนิชำนาญเรื่องเล่นแร่แปรธาตุเงินๆทองๆ  แล้วใครเล่าจะเหมาะสมเท่า สำหรับความไว้วางพระราชหฤทัยที่จะส่งไปทำเหมืองแร่ทองคำ ซึ่งหลวงตกลงจะลงทุนเองที่กบินทร์ แขวงเมืองปราจีนบุรี

ก่อนหน้านั้น ทรงยกเลิกสัมปทานของหลวงนาวาเกนิกร(ซิวเบ๋ง - ต่อมาได้รับพระราชทานนามสกุล “โปษยะจินดา”ในรัชกาลที่ ๖)ก่อนถึงกำหนด  หลังจากได้ยินคำร่ำลือ และส่งคนไปสำรวจแล้ว เชื่อว่ามีสินแร่ทองคำอยู่ใต้ดินเป็นจำนวนมหาศาล  ขนาดราษฎรไปบุกเบิกที่ดินทำนา พอไถแรก ก้อนทองยังลอยตามคันไถขึ้นมาให้แย่งกันเก็บ ทำท่าว่าสยามจะโชติช่วงชัชวาลไปด้วยสีแสงอร่ามของทองคำ 
จึงทรงมีพระราชบัญชาให้พระคลังข้างที่ลงทุน ให้พระยากระสาปน์สั่งเครื่องจักรมาจากอังกฤษ แล้วเป็นแม่กองนำไปติดตั้ง ซึ่งพระยากระสาปน์ก็ได้มอบให้เป็นหน้าที่ของพระปรีชากลการบุตรชายคนโต


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 61  เมื่อ 27 มี.ค. 15, 13:15

พระปรีชากลการ(สำอาง อมาตยกุล) เป็นบุตรที่เกิดกับคุณหญิงพลอย ธิดาพระยาโชดึกราชเศรษฐี(ทองจีน ไกรฤกษ์) ได้เคยไปศึกษาวิชาวิศวกรรมเครื่องกลที่ประเทศอังกฤษแต่ครั้งไหนผมหาไม่เจอ แต่เห็นว่าเป็นทุนเล่าเรียนหลวง ไปเรียนที่สก๊อตแลนด์สำนักไหนก็ไม่ปรากฏ แต่ข่าวว่ามีความรู้ความสามารถทางเครื่องจักรเครื่องยนต์ และถือเป็นคนหนุ่มที่ได้รับการศึกษา และนิยมแนวคิดแบบตะวันตกเช่นเดียวกับพระเจ้าอยู่หัว


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 62  เมื่อ 27 มี.ค. 15, 13:17

เมื่อคราวเสด็จประพาสอินเดียในปี ๒๔๑๕ ทรงคัดเลือกคนหนุ่มที่ฉลาด น่าจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติในอนาคตให้ตามเสด็จ พระปรีชากลการ(1 – ในภาพ) และหลวงพิจารณ์จักรกิจน้องชาย ก็ได้รับการคัดเลือกให้ไปด้วย


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 63  เมื่อ 27 มี.ค. 15, 13:22

การเสด็จประพาสอินเดียเมืองขึ้นของอังกฤษครั้งที่ผู้ว่าราชการแผ่นดินจัดถวายนั้น กงสุลน๊อกซ์ได้ตามเสด็จไปด้วยในฐานะที่ปรึกษาส่วนพระองค์   สัมพันธภาพระหว่างพระปรีชากับกงสุลน๊อกซ์(2)ก็เริ่มขึ้น ณ กาลครั้งนั้น

แต่ตัวน๊อกซ์เองโชคไม่ดี พระเจ้าอยู่หัวไม่ทรงโปรด เพราะทรงเห็นว่าไม่มีมารยาท พยายามจะสอดตนเข้ามาสั่งสอนพระองค์ตลอดเวลาโดยไม่ดูตาม้าตาเรือ กระทั่งสุดท้ายความไม่ชอบหน้าก็พัฒนาเป็นความเกลียด เมื่อนายแอชลีย์ อีเดนข้าหลวงใหญ่อังกฤษประจำกัลกัตตาได้กราบทูลพระองค์ ให้จัดการกับปัญหาที่เจ้านายเมืองเชียงใหม่มีข้อขัดแย้งกับคนอังกฤษ ซึ่งแน่นอนว่ากระทำไปตามคำขอของนายน๊อกซ์ แบบไม่มีกาละเทศะ
เมื่อเดินทางกลับสยามแล้ว ทรงรับสั่งกับผู้สำเร็จราชการ แนะนำให้ทำหนังสือขอให้รัฐบาลอังกฤษย้ายกงสุลคนนี้ออกไปเสีย แต่คราวนั้น รัฐมนตรีต่างประเทศของอังกฤษเห็นว่า ไม่เป็นไปตามระบบราชการ จึงไม่ได้ปฏิบัติตาม

กงสุลน๊อกซ์ทราบเรื่องนี้อยู่ แต่ก็คงลอยตัวอยู่ในฐานะตัวแทนของชาติมหาอำนาจอันดับหนึ่ง ท่ามกลางแวดวงสังคมชั้นสูงของคนกรุงเทพ ที่พระปรีชาเป็นดาวรุ่งพรุ่งนี้รวมอยู่ด้วย


บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 64  เมื่อ 27 มี.ค. 15, 15:26

นายโหมด ช่วงต้นรัชกาลนั้นมีหน้าที่เป็นถึง ปรีวิลคอนซิล หรือ กลุ่มคณะที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน มีหน้าที่สำคัญและใหญ่โตไม่น้อย เมื่อเกิดคดีเกี่ยวกับบุตรของท่านและตัวท่าน ย่อมเป็นคดีที่ข้าราชบริพารทั้งหลายย่อมให้ความสนใจไม่น้อยเลย
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 65  เมื่อ 27 มี.ค. 15, 15:46

เราจะไปดูกันนะครับ ว่าเหตุของมันเป็นอย่างไร จึงมีผลออกเช่นนั้น ยิ้ม
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 66  เมื่อ 27 มี.ค. 15, 15:54

เมื่อมีโอกาสได้รับมอบหมายจากบิดาให้ไปจัดการตั้งเครื่องจักรทำเหมืองทองครั้งนี้ พระปรีชากลการก็ได้ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ด้วยความขยันขันแข็ง หวังจะให้ถึงพระเนตรพระกรรณพระเจ้าอยู่หัว สะสมคะแนนนิยมสำหรับยศถาบรรดาศักดิ์ที่สูงขึ้นในอนาคต

ตามแผนงานโครงการที่วางไว้แต่แรกนั้น จะก่อสร้างโรงถลุงแร่และตากแร่ขึ้นในเมืองปราจีนบุรี โดยขนส่งก้อนแร่มาจากเหมืองที่เมืองกบินทร์ทางเรือ  โดยไม่มีกูเกิลเอร์ธดูว่าแม่น้ำปราจีนนั้นคดเคี้ยวยิ่งกว่างูเลี้อยนัก จากกบินทร์นับคุ้งน้ำได้เป็นร้อยกว่าจะไปถึงโรงถลุง หน้าน้ำก็พอว่าเพราะเรือไม่ติดสันดอน แต่ถ้าบริเวณใดมีตอไม้อยู่ใต้น้ำกีดขวาง พวกกรรมกรก็ต้องดำน้ำลงไปขุดตอในน้ำ บางคนถูกบังคับให้ดำลงไปทำจนขาดใจตาย  เพราะคนแถวนั้นมาจากป่าดงพงไพร ไม่ชำนาญเรื่องน้ำ
 
พอฝนเริ่มน้อย เรือที่ขนก้อนแร่จนเพียบแปล้ก็ท้องครูดเลน กว่าจะไปถึงที่หมายก็สุดจะลำบากลำบน เกิดความล่าช้า โรงถลุงก็ไม่ค่อยมีงานเข้า หรือเข้ามากระปริบกระปรอยเดินเครื่องได้ไม่เต็มที่  โสหุ้ยเริ่มกินตัว


บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 67  เมื่อ 27 มี.ค. 15, 16:03

เมื่อมีโอกาสได้รับมอบหมายจากบิดาให้ไปจัดการตั้งเครื่องจักรทำเหมืองทองครั้งนี้ พระปรีชากลการก็ได้ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ด้วยความขยันขันแข็ง หวังจะให้ถึงพระเนตรพระกรรณพระเจ้าอยู่หัว สะสมคะแนนนิยมสำหรับยศถาบรรดาศักดิ์ที่สูงขึ้นในอนาคต

ตามแผนงานโครงการที่วางไว้แต่แรกนั้น จะก่อสร้างโรงถลุงแร่และตากแร่ขึ้นในเมืองปราจีนบุรี โดยขนส่งก้อนแร่มาจากเหมืองที่เมืองกบินทร์ทางเรือ  โดยไม่มีกูเกิลเอร์ธดูว่าแม่น้ำปราจีนนั้นคดเคี้ยวยิ่งกว่างูเลี้อยนัก จากกบินทร์นับคุ้งน้ำได้เป็นร้อยกว่าจะไปถึงโรงถลุง หน้าน้ำก็พอว่าเพราะเรือไม่ติดสันดอน แต่ถ้าบริเวณใดมีตอไม้อยู่ใต้น้ำกีดขวาง พวกกรรมกรก็ต้องดำน้ำลงไปขุดตอในน้ำ บางคนถูกบังคับให้ดำลงไปทำจนขาดใจตาย  เพราะคนแถวนั้นมาจากป่าดงพงไพร ไม่ชำนาญเรื่องน้ำ
 
พอฝนเริ่มน้อย เรือที่ขนก้อนแร่จนเพียบแปล้ก็ท้องครูดเลน กว่าจะไปถึงที่หมายก็สุดจะลำบากลำบน เกิดความล่าช้า โรงถลุงก็ไม่ค่อยมีงานเข้า หรือเข้ามากระปริบกระปรอยเดินเครื่องได้ไม่เต็มที่  โสหุ้ยเริ่มกินตัว


ยินว่า มีการใช้ไม้ง่าม กดคอให้ดำน้ำลงไป จนขาดใจตายนะครับ


เส้นทางสาขาของแม่น้ำบางปะกงนี้เป็นเส้นทางแต่โบราณ จำได้ว่ามิศเตอร์ทอมสัน เดินทางไปยังเสียมราฐก็ใช้แม่น้ำสายนี้เมาที่เมืองกบินทร์
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 68  เมื่อ 27 มี.ค. 15, 16:07

เมื่อไม่ส่งทองคำเข้ากรุงเทพนานเข้า ก็มีพระบรมราชโองการเร่งรัดมา  พระปรีชาจึงได้ระดมแรงงานโดยเกณฑ์ราษฎรจากแขวงเมืองปราจีนบุรีทั้งหมด คือ ประจันตคาม อรัญญประเทศ วัฒนานคร และกบินทร์บุรี เป็นจำนวนหลายร้อยคนมาเป็นกรรมกรทาษ  ไม่มีค่าแรงแต่ทำงานแบบเหนื่อยยาก  เมื่อเข้าหน้าแล้ง แม่น้ำตื้นเขินก็มีหน้าที่ขุดทรายให้เป็นร่องพอเรือเดินได้ พอเรือติดแห้งก็ต้องขนถ่ายก้อนแร่ ซึ่งความจริงเป็นก้อนหินทั้งนั้น มีทองเท่าเม็ดทรายผสมอยู่ในก้อนตรงไหนไม่รู้ รู้แต่ว่าโคตรหนักแบกกันหลังแอ่น  จากเรือใหญ่ไปถ่ายใส่เรือเล็ก เพื่อลำเลียงเป็นทอดๆไป
   
พอแล้งหนักเข้า เรือบรรทุกก้อนแร่ก็แล่นมาโรงถลุงไม่ได้ พระปรีชาจึงสั่งให้เกณฑ์คนไปสร้างทำนบขวางแม่น้ำ ปักเสาใหญ่กรุกระดานแล้วถมดินข้างใน บดอัดให้คนเดินข้ามไปมาได้ เมื่อน้ำจากต้นน้ำไหลมาเอ่อขึ้น เรือบรรทุกแร่ล่องมาได้แล้วก็ขนแร่ถ่ายลงเรือตอนใต้ทำนบอีกทอดหนึ่ง แต่อยู่ได้ประมาณสักสองอาทิตย์ น้ำก็เซาะทำนบพัง ต้องเกณฑ์คนมาทำใหม่อีก ซ้ำแล้วซ้ำเล่าไม่จบไม่สิ้น
 
เมื่อได้รับความทุกข์ยากเช่นนี้ราษฎรจึงหนีเกณฑ์ เจ้าหมู่นายหมวดกลัวพระปรีชาจะเอาโทษ จึงต้องจ้างคนมาแทน ครั้นพอถึงเดือนก็ไปเรียกเก็บเอาเงินจากครอบครัวคนที่หนีงานนั้น ราษฎรยากจนไม่มีเงินจะให้  ก็พากันอพยพหนีไปตายเอาดาบหน้าหลายร้อยคน 

เหมืองทองของพระเจ้าอยู่หัวโดนพระปรีชาเปลี่ยนเป็นนรกบนดินไปแล้ว ทุกคนคิดหนีจากถิ่นฐานหมด เพราะอยู่ต่อไปชีวิตไม่รุ่งแน่นอน ถ้าเหมืองอยู่คนก็คงตาย
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 69  เมื่อ 27 มี.ค. 15, 16:41

เมื่อการขนส่งทางน้ำถึงทางตัน พระปรีชาจึงตัดสินใจให้ย้ายเครื่องจักรไปตั้งโรงถลุงแร่ที่ใกล้ๆบ่อทองเมืองกบินทร์เลย  คราวนี้ระดมเกณฑ์ผู้คนขนเครื่องจักรและสัมภาระต่างๆ จากปราจีนไปขึ้นที่ปากน้ำเมืองกบินทร์ แล้วบรรทุกเกวียนส่งไปบ่อทอง แต่ช้าเกินไปไม่ทันใจ พระปรีชาจึงจ้างคนจีนถมถนนจากปากน้ำไปถึงบ่อทอง แล้ววางรางเหล็กใช้รถรางบรรทุกของได้สะดวกรวดเร็วขึ้น การก่อสร้างโรงจักรถลุงแร่ทองคำจึงแล้วเสร็จในปีพ.ศ. ๒๔๑๘

ถนนนี้ปัจจุบันยังมีอยู่ ชาวบ้านเรียกถนนเจ้าพ่อสำอาง

ไม่ว่าจะอย่างไร ก็ถือว่าพระปรีชากลการได้แสดงความสามารถและประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง ที่สามารถก่อสร้างโรงจักรถลุงแร่ทองได้จนสำเร็จ ได้รับพระราชทานตราภัทราภรณ์ และตรามัณฑนาภรณ์ ให้ประดับอกเป็นบำเหน็จความชอบ

เมื่อพระยาปราจีน(ขลิบ) ซึ่งถึงแก่กรรมเมือ พ.ศ. ๒๔๑๙  พระปรีชาก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองปราจีนบุรี สืบแทน
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 70  เมื่อ 27 มี.ค. 15, 17:31

ว่างๆก็ขอเชิญตามเข้าไปชมนะครับ


พิพิธภัณฑ์เหมืองทองคำบ้านบ่อทอง

http://www.sac.or.th/databases/museumdatabase/review_inside_image.php?id=876
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 71  เมื่อ 27 มี.ค. 15, 19:09

ให้ภาพอาคารบ้านหลังงามของพระปรีชากลการที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา หลังจากถูกยึดทรัพย์และทางการได้นำอาคารไปใช้ในกิจการไปรษณีย์ไทย พ.ศ. ๒๔๒๖

ภาพซ้ายมือเป็นอาคารบ้านเดิมก่อนที่จะถูกปรับปรุงเป็นภาพขวามือ จะเห็นว่ามีการดัดแปลงรูปแบบหลังคาและโครงสร้างช่วงบน ตลอดจนสร้างโดมขี้น

อาคารหลังนี้อยู่รอดมาจนถึง พ.ศ. ๒๕๒๕ และถูกรื้อทิ้งไป


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 72  เมื่อ 27 มี.ค. 15, 19:51

ขอบคุณที่นำมาลงไว้นะ เดี๋ยวเรื่องดำเนินไปถึงตรงนั้นแล้วผมจะขออนุญาตยกไปวางที่โน่นอีกที
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 73  เมื่อ 28 มี.ค. 15, 05:29

เบื้องหลังความสำเร็จเสร็จงานการก่อสร้างของพระปรีชา ก็ดังที่ผมได้กล่าวมาแล้วคือเคี่ยวเข็ญแรงงานเอาจากผู้คน แม้แต่ตัวเจ้าเมืองเอง ถ้าเกณฑ์คนหรือจัดส่งไม้ก่อสร้างมาให้ช้า พระปรีชาก็จะกราบบังคมทูลฟ้องอย่างไม่ละเว้น เช่น พระกำแหงมหิมา เจ้าเมืองกบินทร์บุรี ถูกฟ้องว่ามัวแต่กินเหล้าไม่เอาใจใส่ในราชการ ไม่เกณฑ์คนมาให้ครบตามที่ตนร้องขอไป  ก็รับสั่งให้สมเด็จเจ้าพระยาเดินทางไปสอบสวนที่ปราจีนบุรี เมื่อพบว่าเป็นความจริง ก็โดนถอดออกจากตำแหน่ง เฆี่ยน ๖๐ที แถมขังคุกอีก ๑ปี พระยาปราจีน(ขลิบ) ซึ่งเป็นลุงของพระปรีชากลการเองแท้ๆ ก็ยังถูกฟ้องว่าไม่อำนวยความสะดวกในการก่อสร้างและไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพระปรีชา ต้องรอให้มีใบบอกจากสมุหนายกเสียก่อนถึงจะยินยอม
 
แต่ผู้ถูกกล่าวหารายนี้รอดพระราชอาญาไปได้ เพราะเมื่อสมเด็จเจ้าพระยาออกไปตัดสินคดี ท่านคงเจ็บป่วยในระดับที่ไม่กลัวอะไรแล้ว จึงได้พูดตรงๆถึงปัญหา การเกณฑ์แรงงานมาใช้ในกิจการเหมืองได้สร้างความเดือดร้อนให้ราษฎรอย่างแสนสาหัส ผู้คนล้มตายในขณะปฏิบัติหน้าที่ก็มี เจ็บตายไปก็มาก ถูกลงโทษเฆี่ยนตีกักขังจำคุกก็ไม่น้อย บ้านเมืองเริ่มระส่ำระสาย เพราะราษฎรพากันหลบหนีไปจังหวัดอื่นเป็นจำนวนมาก จะให้เจ้าเมืองทำตัวอย่างไร

สมเด็จเจ้าพระยากลับมาเมืองกรุงจึงได้รายงานทำถวาย  กราบบังคมทูลเป็นทำนองเตือนพระเจ้าอยู่หัวให้ทราบถึงความทุกข์ยากลำบากของราษฎร ที่ได้ถูกเกณฑ์แรงงานมาทำงานแบบไม่มีเวลาทำมาหากินของตนเอง
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 74  เมื่อ 28 มี.ค. 15, 05:42

แต่พระปรีชากลการกลับได้ดิบได้ดียิ่งขึ้น  กลายเป็นข้าหลวงปราจีนบุรีคนใหม่แทนลุงที่ถึงแก่กรรม อำนาจราชศักดิ์จึงยิ่งมากกว่าเดิม แสดงให้เห็นถึงความไว้วางพระราชหฤทัยและให้น้ำหนักพระปรีชามากกว่าสมเด็จเจ้าพระยา ทำให้ท่านผู้เฒ่าต้องถอยตัวออก

เมื่อเป็นทั้งเจ้าเมืองและผู้จัดการกิจการบ่อทองของหลวง มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ก็ไม่มีใครกล้ามาคอยกำกับดูแล ทำให้ทางราชการไม่มีโอกาสล่วงรู้จำนวนทองที่ขุดได้อย่างแท้จริง นอกจากทองคำบริสุทธิ์ที่พระปรีชาจะจัดส่งเข้าไปถวายเป็นครั้งคราวเท่านั้น

การมีตำแหน่งหน้าที่ราชการคนโปรดของพระเจ้าอยู่หัว ร่ำรวยและพูดภาษาอังกฤษกลมกลืน ชาวต่างประเทศจึงรู้จักและนิยมชมชื่นพระปรีชากลการ  กงสุลน๊อกซ์ที่คุ้นกันแต่ครั้งตามเสด็จไปอินเดีย ถึงตอนนั้นลูกสาวคนโตก็เป็นสาวแล้ว เคยขี่ม้าเที่ยวเล่นกับพ่อในยามเย็น เจอขบวนเสด็จของพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงม้านำข้าราชบริพารเที่ยวเล่นเหมือนกัน ลือว่าพระปรีชาเกิดปิ๊งกับลูกสาวกงสุลเข้าในตอนขี่ม้าตามเสด็จนี่แหละ
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 3 4 [5] 6 7 ... 24
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.068 วินาที กับ 19 คำสั่ง