เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 21 22 [23] 24
  พิมพ์  
อ่าน: 62088 คดีพระปรีชากลการ มโหฬารงานสร้างทางการเมือง
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 330  เมื่อ 20 เม.ย. 15, 08:35

ไปรณียาคาร ที่ดัดแปลงแต่งเสริมจากอดีตคฤหาสถ์ของพระปรีชากลการ ปัจจุบันอยู่ข้างๆสะพานพุทธฯ


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 331  เมื่อ 20 เม.ย. 15, 09:36

แต่เรื่องเหมืองทองกบินทร์บุรีก็ยังไม่จบครับ อย่าเพิ่งเลิกอ่าน

การที่เจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรงได้ไปสืบราชการที่ปราจีนและกบินทร์บุรี ทำให้เห็นว่า พระปรีชาได้เอาเงินหลวงมาลงทุนทำอะไรๆไว้มากเหมือนกัน น่าเสียดายหากจะต้องทิ้งไว้ในคนมาลักโขมยขุดทองจากที่หลวง ท่านและบุตรชายจึงได้กราบบังคมทูล อาสาเป็นผู้ทำบ่อทองต่อจากพระปรีชา

เมื่อมีพระบรมราชานุญาตแล้ว ก็ได้ออกระเบียบข้อบังคับมิให้เกิดข้อบกพร่อง และยังขอให้พระยาไชยสุรินทร์ เจ้าพนักงานจากกรมพระคลังมหาสมบัติ เป็นผู้ทำบัญชีเบิกจ่ายและนำทองส่งท้องพระคลังหลวง  ให้พระยาสมบัติยาธิบาล เจ้ากรมพระคลังในขวาเป็นผู้จัดซื้อของที่จะต้องใช้ในกระบวนการผลิต

เรียกว่ารัดกุมเป็นกรณีย์ตัวอย่างทีเดียว
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 332  เมื่อ 20 เม.ย. 15, 09:40

ตั้งท่าจะเป็นฟอร์มใหญ่บุกหนัก แต่เมื่อทำงานไปได้ไม่ถึงปีก็ต้องหยุดผลิต เพราะโรงถลุงขาดวัตถุดิบมาป้อน  สินแร่ที่ขุดไว้หมดสต๊อกแล้วต้องรอขุดใหม่แล้งหน้า
ในระหว่างที่งานหยุดชะงักอยู่นั้น พระยาไชยสุรินทร์ได้เขียนความเห็นทางบัญชีขึ้นกราบทูลสมเด็จกรมพระบำราบปรปักษ์ อธิบดีกรมพระคลังมหาสมบัติ เจ้าสังกัดบ่อทองว่า ดำเนินการมาได้ ๘ เดือน ยังไม่มีกำไร

เพราะการทำทองขึ้นอยู่กับโชค เหมือนคนเล่นหวย แม้กระนั้นก็ตามก็ยังเป็นที่ปรารถนาของคนหลายๆ คนที่อยากจะเสี่ยงโชค ทั้งนี้ เพราะทุนที่ลงไปเป็นของหลวง ถ้าขุดพบแร่ทองก็รวยไป ส่วนจำนวนทองที่ขุดได้ที่แท้จริงนั้นทางการไม่อาจรู้ได้ ถึงขุดได้มาก บอกว่าได้น้อยก็ได้ และยังได้ผลประโยชน์อย่างอื่นอีก เพราะถ้าส่งทองทูลเกล้าถวายปีละ ๘ ชั่งแล้ว ผู้นั้นก็ไม่ต้องจ่ายเงินแก่พวกเลก ในลักษณะนี้รัฐบาลมีแต่เสียขณะที่กำไรกลับตกเป็นของคนทำ จึงขอทูลเสนอให้เป็นการให้สัมปทานให้คนอื่นๆ ทำจะดีกว่าที่ทางการจะต้องลงทุนเอง

พร้อมกันนี้ ท่านเจ้าคุณก็ส่งหนังสือของหลวงนาวาเกนิกร นายอากรที่จะมาขอประมูลทำแทนเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง มาให้ทรงพิจารณาด้วย
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 333  เมื่อ 20 เม.ย. 15, 09:45

เมื่อพระเจ้าอยู่หัวทรงหารือเรื่องนี้ไปยังเจ้าพระยามหินทร  ท่านก็กราบบังคมทูลว่า พระยาไชยสุรินทร์แสดงความดูถูกและไม่ไว้วางใจท่าน จึงขอให้ตั้งตุลาการสอบสวน เพราะท่านได้ปฏิบัติงานอย่างซื่อสัตย์สุจริต ส่วนเรื่องขาดทุนก็เพราะแร่ที่ขุดได้ไม่เพียงพอ ต้องหยุดเครื่องจักรรอการขุดแร่ขึ้นมาใหม่ ผลงานจึงได้น้อย และอีกประการหนึ่งก็ยังไม่ครบกำหนดที่ขอพระราชทานทำ ๓ ปี ก็มาด่วนติติงเสียก่อน

ว่าแล้วก็เกิดความน้อยใจ ทำหนังสือขอกราบถวายบังคมทูลลาออกจากการทำบ่อทงบ่อทอง ให้คนของมหาดไทยเป็นผู้ทำจะดีกว่า เพราะจะไม่เป็นการก้าวก่ายและเสียเกียรติพวกขุนนางในกรมมหาดไทย พร้อมทั้งขอคืนบรรดาศักดิ์ เจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง  ขอกลับไปใช้บรรดาศักดิ์“พระยาบุรุษรัตนราช” ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานให้ก็แล้วกัน

นี่เอารูปเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรงกับลูกๆ มาให้ทั่นๆในเรือนไทยดูกัน เรื่องใจน้อยหรือน้อยใจนี่ ไม่เกี่ยวกับผมบนหัวคนเล้ย ผู้ที่ผมดกดำแน่นแทบจะหวีไม่ไปก็ใจน้อยได้นะขอรับ  ซิ๊บอกห่าย


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 334  เมื่อ 20 เม.ย. 15, 13:55

เรื่องนี้ผมเห็นใจเจ้าพระยามหินทร์นะครับ พวกนักบัญชีที่มิได้มีประสบการณ์ทางบัญชีโรงงานก็เป็นเช่นนี้แหละ มักจะโวยวายเมื่อลงทุนไปแล้วยังมีรายได้ห่างไกลกับจำนวนเงินที่ลง

การทำอุตสาหกรรมก็เหมือนลงทุนทำสวนผลไม้ยืนต้น เสียค่าหักร้างถางพงปลูกพันธุ์ไม้ไปแล้ว ต้องรอไปอีก๕ปี ๗ปี กว่าจะได้เก็บเกี่ยวผล แต่จากนั้นก็สบาย ทุกปีมีรายได้เป็นกอบเป็นกำ ต่างกับพวกปลูกพืชไร่ที่ให้ผลระยะสั้น ไม่กี่เดือนก็เก็บเกี่ยว แต่หักทุนแล้วกำไรแทบจะไม่มี เปรียบเหมือนธุรกิจซื้อมาขายไป  ลงทุนประเดี๋ยวเดียวก็ได้ขายแล้ว ถ้าถูกตลาดก็รวย ถ้าขายไม่ออกก็เป็นอีกเรื่อง

กว่าลูกๆของท่านเจ้าคุณจะไปติดเครื่องจักรที่ทิ้งอยู่เป็นปีให้ทำงานได้อีกครั้ง ก็คงหลายเดือนเข้าไปแล้ว   มันก็เหมือนรถเซกกั้นแฮนด์  ซื้อมาแล้วต้องซ่อมนั่นซ่อมนี่ หาอะไหล่กันเหงื่อตก กว่าจะได้ขับ ไม่เหมือนซื้อรถป้ายแดง กดปุ่มทีเดียวเครื่องก็ติดฉิว

เครื่องจักรโรงงานเมื่อติดเครื่องได้แล้วก็ต้องรันอิน  เอาสินแร่ที่กองอยู่ในสต๊อกมาทดลองผลิตก่อน ปรับปรุงแก้ไขไปเรื่อยๆจนกว่าขบวนการผลิตจะนิ่ง นิ่งได้ไม่นานวัตถุดิบก็หมด รอปีหน้าฟ้าใหม่จะเดินเครื่องให้เต็มพิกัด ไหนได้ แทนที่เพื่อนจะเอาค่าใช้จ่ายส่วนนี้ไปตั้งเป็นpre operating expense เพื่อทยอยตัดบัญชี กลับไปแสดงอยู่ในงบบัญชีกำไรขาดทุน แล้วไปฟ้องนายว่าติดลบแบบไม่มีอนาคต  อย่างนี้มันก็น่าฟาดปากกัน
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 335  เมื่อ 21 เม.ย. 15, 06:52

เรื่องนี้ได้ยุติลงเมี่อพระเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯให้กรมพระบำราบปรปักษ์ และเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ไปสอบถามเรื่องราวจากคู่กรณี ซึ่งพระยาไชยสุรินทร์ได้แก้ตัวว่า ไม่ได้มีเจตนาจะดูถูกเจ้าพระยามหินทร์ แต่กล่าวตามสำนวนของหลวงนาวาเกนิกรที่ขอจะเข้ามาทำบ่อทองอีกครั้งที่มาบอกว่า เปรียบเหมือนคนเป็นมวย ก็อยากจะชกอีกครั้ง

คือหลวงนาวาเกนิกรที่เคยได้รับสัมปทานที่ดินตรงนั้นเพื่อทำเหมืองทองมาก่อนไงครับ แล้วไปเลิกสัญญาแกเสียเพราะทางราชการจะทำเอง  บังเอิญคุณหลวงเป็นคนจีน ถ้าเป็นฝรั่งคงได้ยื่นฟ้องศาลกงสุล เอารัฐบาลเป็นจำเลยไปแล้ว (หลวงนาวาเกนิกร ชื่อตัวคือ ซิวเบ๋ง ต่อมาได้รับพระราชทานนามสกุล “โปษยะจินดา” เป็นตระกูลเจ้าสัวในสยามเหมือนกัน)

เมื่อเป็นดังนี้ เจ้าพระยาสุรวงศ์จึงได้กราบบังคมทูลถวายคำแนะนำว่า ควรจะมีพระกระทู้ถามเจ้าพระยามหินทร์ว่า ได้ทรงชุบเลี้ยงมาจนเป็นถึงเจ้าพระยา เมื่อโกรธขึ้นมาแล้วจะมาแบ่งยศแบ่งแผ่นดินเช่นนี้ จะถือเป็นการดูถูกหรือไม่

เจ้าพระยามหินทร์เห็นพระกระทู้แล้วก็แทบสลบลงในบัดดล กราบบังคมทูลเหงื่อแตกขอยอมรับผิด ทรงว่ากล่าวตักเตือนแล้วทรงยินยอมให้ถอนตัวออกจากกิจการ เรื่องนี้ก็สงบกันไปพักหนึ่ง

บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 336  เมื่อ 21 เม.ย. 15, 07:13

รัฐวิสาหกิจเหมืองทองคำดำเนินกิจการโดยข้าราชการก็ต้องล้มเหลวไปตามภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ แต่ก็แปลกนะ ไอ้เรื่องไปยึดสัมปทานที่เอกชนเขาดำเนินการมาดีๆมาทำเองเนี่ยะ รัฐบาลยุคประชาธิปไตยหลายรัฐบาลก็ชอบทำกัน แล้วก็เจ๊งทุกงาน ถึงไม่เจ๊งก็ดำเนินไปอย่างคนพิการ ถ้าไม่มีงบประมาณภาครัฐไปสนับสนุนก็คงพับฐานไปหมดแล้ว อย่าให้ผมต้องยกตัวอย่างเลย เดี๋ยวจะเคืองกันเปล่าๆ แต่เรื่องนี้แทนที่จะให้หลวงนาวาเกนิกร ประมูลสัมปทานไปตามที่ขอมา  พระเจ้าน้องยาเธอพระองค์เจ้ากมลาศน์เลอสรรค์ ได้กราบบังคมทูลขอเป็นผู้ดำเนินการ โดยจะทรงเช่าบ่อทองและเครื่องมือที่มีเสียเอง

เรื่องเครื่องไม้เครื่องมือนี้ นายยุคเกอร์ ผู้จัดการห้างมาแลบยุเลียนแอนโก ได้ยื่นฟ้องให้ทางราชการใช้หนี้ที่พระปรีชาสั่งซื้อของนำเข้าจากต่างประเทศ  แล้วยังไม่ได้จ่ายเงินจำนวน ๒,๗๐๓ เหรียญ ๕๐ เซนต์  ซึ่งหลังจากยึกยักยืดยาดอยู่ตามระบบ ทางราชการก็ยอมชดใช้เงินในส่วนที่มีใบสั่งซื้อเป็นหลักฐาน เป็นจำนวน ๑๔๑ ชั่ง ๗๓ บาท แต่ให้คืนของบางอย่างไป

เมื่อเข้าไปทำแล้วไม่ได้ผลเท่าที่ควร เซลล์แมนก็มาทูลเสนอขายของที่หลวงคืนมานั้น แต่พระองค์เจ้ากมลาศน์ประสบปัญหาเงินทุนไม่พอเสียแล้ว ค่าเช่าก็ยังไม่ได้จ่าย กลับกลายเป็นว่าจะขอให้หลวงออกเงินซื้อเครื่องมือนั้นมาเพิ่มเติมให้ก่อน

พระเจ้าอยู่หัวทรงรำคาญพระทัยเป็นล้นพ้นจึงโปรดเกล้าฯให้เลิกทำไปเลย แล้วให้เจ้าเมืองปราจีนบุรีดูแลรักษาเครื่องจักรไว้ให้ดีจนกว่าเอกชนจะมาขอทำ จนพ.ศ. ๒๔๒๙โน่นแน่ะ จึงมีชาวอังกฤษมาขอรับสัมปทาน โดยให้ค่าธรรมเนียมร้อยละ ๑๒ ของราคาทองคำขุดขึ้นมาได้
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 337  เมื่อ 22 เม.ย. 15, 06:27

ตามเอกสารเศรษฐกิจธรณีวิทยาเล่มที่ ๒๕ พบว่า การทำเหมืองที่กบินทร์บุรีเป็นการขุดหลุมตามสายแร่ไปทั้งความลึก และตามทางยาว
เหมืองทองคำแห่งนี้ถูกขุดจนกลายเป็นบ่อน้ำขนาดกว้าง ๒๐เมตร ยาว ๕๐ เมตร มีชื่อว่า "บ่อสำอาง" และเมื่อได้แร่ทองคำแล้วก็จะนำมาถลุงด้วยการเอาเข้าเตาหลอม ซึ่งยังปรากฏหลักฐานอยู่บริเวณบ้านพักผู้ว่าราชการจังหวัดจนถึงปัจจุบัน

เมื่อพระปรีชากลการถูกประหารชีวิตแล้วมีเรื่องเล่ากันว่า คนของพระปรีชาได้นำแร่ทองคำบางส่วนหนีไปหล่อที่บริเวณเขาน้ำสร้างจั้น แต่ด้วยความเร่งรีบเบ้าหลอมจึงแตก ทำให้ทองคำไหลแทรกซึมไปทั่วบริเวณ
สิ้นยุคของพระปรีชากลการแล้ว ก็มีบริษัทต่างชาติ คือ The Kabin Syndicate of Siam และบริษัท Societe des Mines de Kabin เข้ามาทำเหมืองอุโมงค์เพื่อขุดหาทองต่อ โดยปัจจุบันยังคงปรากฏหลักฐานให้เห็น เช่น บ่อมะเดื่อ บ่อพอก เป็นต้น
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 338  เมื่อ 22 เม.ย. 15, 06:31

หนังสือรายงานการดำเนินการบริหารประเทศในสมัยปลายรัชกาลที่ ๕ ชื่อTwentieth century impressions of Siam ซึ่งผมมีอยู่ที่บ้าน เอามาเปิดๆหาดู พบข้อความเล็กๆที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ดังนี้


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 339  เมื่อ 22 เม.ย. 15, 06:35

คำแปล

ทางตะวันออกของกรุงเทพมีเหมืองทองคำที่วัฒนานครและกบินทร์บุรี แห่งแรกนั้นบริษัทฝรั่งเศสเข้าไปดำเนินกิจการล้มเหลวสาปสูญไปแล้ว ส่วนแห่งหลังดำเนินกิจการจากเงินลงทุนของอังกฤษ ใน๑๙๐๐(๒๔๔๓) บริษัทชื่อ Kabin Gold Mines of Siam Ltd.,ได้เริ่มขึ้นด้วยเงินทุนจดทะเบียน ๒๕๐๐๐๐ ปอนด์  แต่ปีหนึ่งให้หลังก็ถูกซื้อกิจการไปโดยบริษัทใหม่ชื่อ New Kabin Gold Mines of Siam Ltd., ด้วยเงินลงทุนจดทะเบียนเท่ากัน สุดท้ายแล้วทรัพย์สินทั้งหมดก็ถูกโอนไปเป็นของ Siam Syndicate Ltd., ซึ่งกลุ่มทุนนี้ได้ประกาศเจตนาว่าจะเปิดเหมืองขึ้นใหม่ในเร็ววันนี้  ที่นั่นมีโรงงานขนาดใหญ่ตั้งอยู่  ประกอบด้วย แท่นอัดก้อนดิน  บอยเลอร์(เครื่องต้มไอน้ำ) เครื่องสูบน้ำ ฯลฯ การเปิดทางรถไฟสายแปดริ้วน่าจะช่วยในด้านการบริหารจัดการเหมืองได้ เมื่อคำนึงถึงความสะดวกในการประสานงานกับสำนักงานใหญ่ในกรุงเทพ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 340  เมื่อ 22 เม.ย. 15, 07:16

ทั้งสองบริษัทหยุดทำเหมืองไปโดยไม่ทราบสาเหตุ อาจจะเพราะสินแร่หมดไป ที่เหลือไม่คุ้มกับการดำเนินงาน ประกอบกับเกิดสงครามโลกครั้งที่หนึ่งไม่นานต่อมา ตามมาด้วยภาวะเศรษฐกิจตกต่ำไปทั่วโลก จนฝรั่งถังแตกไปตามๆกัน

แต่หลังจากนั้น รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามก็จัดตั้งรัฐวิสาหกิจขึ้นในปี พ.ศ.๒๔๙๓ ชื่อว่า ศูนย์อุตสาหกรรมเหมืองแร่ ภายใต้การควบคุมของกรมโลหกิจ โดยกองอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่  และทำการผลิตแร่ทองคำอีกครั้งหนึ่งในระหว่างปี พ.ศ.๒๔๙๓-๒๕๐๐ ได้ทองคำรวมทั้งสิ้น ๕๕ กิโลกรัม
พอจอมพลสฤษดิ์ปฏิวัติแล้ว ก็สั่งให้เลิกดำเนินการเพราะขาดทุนป่นปี้ ไม่เคยเห็นกำไร

แม้ทางการเลิกทำเหมืองไปแล้ว กิเลศตัวโลภะยังลอยฟ่องอยู่ในอากาศ  ข่าวชาวบ้านขุดพบทองคำยังปรากฏอยู่เป็นระยะๆ เช่น เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ.๒๕๒๔นายฉลอง เสนาะถ้อย ไปทำนาก็พบก้อนทองคำ และเมื่อลูกชายของเขาออกไปเลี้ยงควายที่กลางทุ่งก็ยังพบทองคำอีก ๑ ก้อน
นายทองพูล คำตา ผู้ใหญ่บ้านหมู่ ๙ ต.บ้านนา อ.กบินทร์บุรี ไปตรวจสอบพบว่าเป็นความจริง ทำให้คนที่ทราบข่าวเกิดอาการตื่นทอง แห่มาขุดทองเป็นจำนวนมาก ได้กันมากบ้างน้อยบ้าง ส่วนใหญ่แล้วก็ไม่เคยได้เลย จวบจนถึงปัจจุบันนี้ก็ยังมีคนขุดหาทองอยู่  สิ้นทุนหมดเนื้อหมดตัวแล้วจึงเลิกฝันหวานกันไปทุกคน
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 341  เมื่อ 22 เม.ย. 15, 07:41

ถึงตรงนี้ ผมย้อนไปคิดถึงอาซิวเบ๋ง จะเรียกว่าเป็นคนมีมีทุกขลาภก็ไม่ตรงนัก ต้องบอกว่าอาเฮียแกซวยดี แม้ถูกยึดสัมปทานเหมืองทองไป แต่ก้อนที่ลอยอยู่ในชั้นดินตื้นๆเฮียคงได้ไปมากแล้วเพราะเป็นมือแรก  เมื่อโดนคนอิจฉาไปยุให้หลวงเลิกสัมปทาน ก็คงมีการชดเชยไม่ถึงกับขาดทุนจริงๆ  

ครั้งที่สองที่คันมือคันไม้อยากจะกลับมารวยอีกนี่ซี ดีนะครับที่ไม่ได้ ขืนได้ขึ้นมาตอนนั้นก็คงจบไม่สวยแน่  อาจไม่ได้เป็นหลวงนาวาเกนิกร เจ้าสัวเจ้าของกิจการไร่อ้อยและโรงหีบน้ำตาล ที่ทุกสถาบันอ้อยเรียกพ่อ โดยไม่ต้องไปเขียนสกปรกไว้ข้างกำแพง
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 342  เมื่อ 22 เม.ย. 15, 08:52

ส่วนร่องรอยของกิจการทำเหมืองทองคำก็ยังคงพบเห็นได้จากซากปรักหักพัง ในพื้นที่หมู่ ๕ ตำบลบ่อทอง โดยกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและเหมืองแร่ ร่วมกับจังหวัดปราจีนบุรี และ อบต.บ่อทอง ได้ฟื้นฟูสภาพขึ้นมาใหม่เพื่อจัดทำเป็น "พิพิธภัณฑ์เหมืองแร่ทองคำ" ปรับสภาพภูมิทัศน์ รวบรวมวัสดุ เครื่องมือเครื่องใช้ไว้ เพื่อเป็นแหล่งความรู้ และแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของจังหวัด

ในพิพิธภัณฑ์จะมีตัวอย่างหินแร่ทองคำ หัวฉีดหาแร่ เครื่องร่อนทองแบบชาวบ้าน ชั้นดิน-ชั้นหินที่พบแร่ วิถีชีวิตชาวบ้านกับการร่อนหาแร่ จำลองแบบการทำเหมืองทองคำที่ขุดอุโมงค์หาสายแร่ที่บ้านบ่อทอง ก่อนจะใส่สายพานลำเลียงแร่มากองไว้ เพื่อส่งเข้าโรงโม่  เอาดินเอาหินที่มีสินแร่ทองคำอยู่ไปเข้าโรงงานถลุงต่อไป


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 343  เมื่อ 22 เม.ย. 15, 10:11

สมัยพระปรีชาทำเหมืองทอง จะใช้แรงงานกรรมกรขุดหน้าดินตามสายแร่ลงไปถึงชั้นหินที่มีทองคำเป็นส่วนประกอบ แล้วจึงชักรอกขึ้นมาบนดิน   หินที่นำขึ้นมาเหล่านี้จะถูกลำเลียงไปบดหยาบเพื่อให้มีขนาดเล็กลง แล้วต่อไปสู่กระบวนการบดละเอียด เพื่อให้แร่ทองคำเป็นอิสระจากแร่อื่นๆในหิน แล้วนำสินแร่ทั้งหมดที่ได้ไปผ่านกระบวนการแยกแร่เบื้องต้นด้วยการร่อน  ทองคำซึ่งหนักกว่าแร่อื่นๆมากจะแยกออกมา ส่วนสินแร่ทองคำที่อาจหลงเหลือหรือติดอยู่กับหินหรือแร่อื่น จะถูกนำไปแยกหรือสกัดอีกขั้นตอนหนึ่ง ในการทั้งหมดนี้ สินแร่ ๑ตันหรือ ๑๐๐๐กิโลกรัม จะให้ทองคำ ๑๐ กรัม เท่านั้น ๑ ต่อ ๑๐๐,๐๐๐ เท่า

ในการสอบสวนลูกน้องพระปรีชาได้พูดถึงทองที่ผสมปรอทแล้วไว้ด้วย  นั่นเป็นกระบวนการเก่าแก่ที่นำปรอทและสินแร่ทองคำที่เหลือจากการร่อนไปเผาให้ร้อน ตรงนี้ที่เรียกว่าหุงทอง ทำให้ทองคำละลายไปรวมกับปรอท เป็นโลหะเหลวเรียกว่าอะมัลกัม  เมื่อนำอะมัลกัมไปละลายกับโซเดียมไซยาไนด์เจือจาง แล้วเติมสังกะสีลงไปในสารละลาย ทองคำจะตกตะกอนอยู่ที่ก้นภาชนะ วิธีอะมัลกัมทำให้ได้ทองคำจากแร่ประมาณ ๒ ใน ๓  ที่เหลือต้องใช้วิธีทางเคมีอื่นๆสกัดต่อไป ซึ่งไม่ทราบว่าสมัยนั้นทำได้หรือเปล่า

อนึ่งโซเดียมไซยาไนด์นั้นได้ชื่อว่าเป็นสารพิษ เรียกมาแต่โบราณว่าสารหนู  คนกินไปแค่ปลายเล็บก็ถึงตายในไม่กี่นาที  หากรั่วไหลไปสู่แหล่งน้ำธรรมชาติแล้วจะอันตรายมาก ผมไม่แน่ใจว่าในสมัยรัชกาลที่ ๕ ที่ ๖ นั้น ทางราชการจะมีมาตรการในการควบคุมสิ่งแวดล้อมเป็นพิษอย่างไร

เอาละ ถือว่าเป็นโชคดีของคนในชุมชนแถวนั้นไว้ก่อน ที่กิจการเหล่านี้ไปไม่รอดในเวลาไม่ช้านาน


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 344  เมื่อ 22 เม.ย. 15, 21:52

คิดแบบเอาใจช่วยชาวบ้านว่า สมัยนั้นป่ามีมากกว่าหมู่บ้านหลายสิบเท่า  แม่น้ำลำธารและน้ำตกมีเพียบ   ไซยาไนด์ไหลปนไปกับน้ำแรงจนอาจไม่เป็นอันตรายกับชาวบ้านที่ปลูกบ้านอยู่ริมลำธารห้วยหนองคลองละหาน
คิดอีกทางคือ ถึงตายกันไปบ้างก็ไม่มีใครสืบเสาะหาหลักฐานได้อยู่ดี ว่าลุงหรือพี่คนนี้ไปวักน้ำกินอยู่ดีๆทำไมล้มตายลงในพริบตาเดียว
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 21 22 [23] 24
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.079 วินาที กับ 19 คำสั่ง