เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2
  พิมพ์  
อ่าน: 5380 บางระจัน
ป้าหวัน
มัจฉานุ
**
ตอบ: 56


 เมื่อ 09 มี.ค. 15, 19:40

 บางระจัน: อยากเรียนถามว่าการต่อสู้ของชาว บางระจัน นั้นมีอยู่จริงหรือ ดิฉันได้อ่านในhttp://th.wikipedia.org/wiki/ในทำนองว่าเป็นการมโนเพื่อเหตุผลทางการเมือง ยังไม่มีข้อยุติจึงอยากทราบจากเรือนไทยค่ะ  :  "การวิเคราะห  ขอบคุณค่ะ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 10 มี.ค. 15, 08:26

ลองอ่านกระทู้นี้ดูค่ะ

http://pantip.com/topic/33080605

คห.ที่ 2-1


บทความนี้ผิดครับ ข้อความเก่าที่สุดที่กล่าวถึงบางระจันมีอยู่ในพระราชพงศาวดารที่ชำระสมัยรัชกาลที่ ๑ แล้วครับ อย่างในลิ้งที่ คห.3 ยกมา และปรากฏในพงศาวดารที่ชำระหลังจากนั้นทุกฉบับ ไม่ใช่แค่ในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตเลขาฉบับเดียว

พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ก็ไม่ใช่งานนิพนธ์ของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ แต่เป็นรัชกาลที่ ๔ โปรดให้พระเจ้าน้องยาเธอกรมหลวงวงศาธิราชสนิทชำระขึ้น แล้วสันนิษฐานว่ารัชกาลที่ ๔ ก็ทรงตรวจแก้ไขซ้ำ กรมพระยาดำรงทรงแค่เอามาตีพิมพ์และอธิบายเนื้อหาเท่านั้น เรื่องนี้กรมพระยาดำรงฯทรงอธิบายไว้ว่า
"หนังสือพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาที่พิมพ์นี้ฉบับ ๑  ฉบับกรมหลวงมหิศวรินทร์ฉบับ ๑  ๒ ฉบับนี้ความต้องกัน  หนังสือพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขานี้  ได้ความว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  มีรับสั่งให้กรมหลวงวงศาธิราชสนิททรงชำระใหม่  แก้ไขเพิ่มเติมของเก่าหลายแห่ง  เนื้อความบริบูรณ์ดีขึ้นมาก  ข้าพเจ้าเข้าใจว่า  เมื่อกรมหลวงวงศาธิราชสนิททรงชำระแล้ว  นำต้นฉบับขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย  พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตรวจแก้ไข  จึงปรากฏพระราชหัตถเลขาอยู่ในต้นฉบับ  หอหลวงพระสมุดได้มาแต่ ๒๒ เล่ม  แต่เคราะห์ดีที่ได้ฉบับกรมหลวงมหิศวรินทร์มาประกอบกัน  ได้เนื้อความบริบูรณ์เป็นหนังสือ ๔๒ เล่มสมุดไทย  กล่าวความแต่สร้างกรุงศรีอยุธยามาจนถึงในรัชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร์  จบเพียงจุลศักราช ๑๑๕๒ "

พงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขามีการเพิ่มเติมเนื้อหาความพิสดารต่างๆเป็นจำนวนมากเมื่อเทียบกับพงศาวดารเก่าๆ เช่นว่าพระเจ้าอลองพญาถูกปืนใหญ่สิ้นพระชนม์ ในขณะที่พงศาวดารเก่ากล่าวว่าประชวรสอดคล้องกับหลักฐานพม่า มีการกล่าวเน้นถึงการแสดงออกความอยากได้ราชสมบัติของพระเจ้าเอกทัศ ในขณะที่พงศาวดารเก่าไม่มีกล่าวเลย(เช่นว่าเอาพระแสงดาบพาดพระเพลา)  รวมถึงรายละเอียดยิบย่อยอย่างเรื่องบางระจัน ขุนรองปลัดชู ซึ่งพงศาวดารเก่าๆจะกล่าวเพียงเหตุการณ์คร่าวๆเท่านั้น มีการนำเนื้อหาจากเอกสารอื่นๆมาลงเสริมเช่นคำให้การชาวอังวะ พงศาวดารมอญพม่า พงศาวดารพม่าเป็นต้นครับ

ศรีสรรเพชญ์
10 มกราคม 2558 เวลา 10:01 น.
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 10 มี.ค. 15, 09:58

คำถามของคุณป้าหวัน มีข้อความที่คุณวิกกี้วิเคราะห์ไว้ด้วย อาสาช่วยแก้ไขให้สมบูรณ์  ยิงฟันยิ้ม

บางระจัน: อยากเรียนถามว่าการต่อสู้ของชาว บางระจัน นั้นมีอยู่จริงหรือ ดิฉันได้อ่านใน http://th.wikipedia.org/wiki/ ในทำนองว่าเป็นการมโนเพื่อเหตุผลทางการเมือง ยังไม่มีข้อยุติจึงอยากทราบจากเรือนไทยค่ะ  :

"การวิเคราะห์"

เรื่องราวของชาวบ้านบางระจัน มีบันทึกไว้ในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เท่านั้น ไม่ปรากฏในพงศาวดารหรือบันทึกทางประวัติศาสตร์ฉบับอื่น แม้แต่พงศาวดารร่วมสมัยคราวสงครามเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 เช่น คำให้การชาวกรุงเก่า หรือแม้แต่ในพงศาวดารของฝ่ายพม่าเองด้วย

ดังนั้น ปัจจุบัน นักวิชาการทางประวัติศาสตร์จึงมีความเชื่อโน้มเอียงไปในทางที่ว่า วีรกรรมของชาวบ้านบางระจันไม่มีอยู่จริง หรือมีอยู่จริง ก็ไม่ใช่วีรกรรมเพื่อชาติ แต่เป็นไปในลักษณะเป็นชุมนุมป้องกันตนเองจากผู้รุกราน และก็มีชุมนุมลักษณะนี้มากมาย ไม่เพียงเฉพาะบ้านบางระจัน และการต่อต้านทัพพม่าของชาวบ้านบางระจันก็ไม่น่ายาวนานถึง 5-6 เดือน น่าจะไม่เกิน 3 เดือน

วีรกรรมของชาวบ้านบางระจันได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานราชการโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ลัทธิคอมมิวนิสต์ระบาดในประเทศไทย เพื่อเป็นการปลุกใจให้รักและหวงแหนในชาติ เช่น มีการบรรจุในแบบเรียนของกระทรวงศึกษาธิการ บทละครร้อง ฯลฯ ความรับรู้ของคนทั่วไปจะรับรู้ผ่านทางแบบเรียน นิยาย ละคร รวมทั้งภาพยนตร์ และเชื่อตามการนำเสนอนั้นว่าวีรกรรมและตัวละครมีตัวตนจริง"
 ขอบคุณค่ะ

สองย่อหน้าแรก คุณวิกกี้ อ้างอิงจาก   เทปสนทนาเรื่องวาระสุดท้ายกรุงศรีอยุธยา: วีระ ธีรภัทร กับ ดร.สุเนตร ชุตินทรานนท์ ทาง F.M. ๙๗.๐ เมกะเฮิร์ตซ์ ตรินิตี้เรดิโอ: ๒๕๔๔
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 10 มี.ค. 15, 10:16

เชิญคุณป้าหวันกลับไปอ่านกระทู้พันทิปอีกทีค่ะ
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 10 มี.ค. 15, 10:39

เมื่อคุณวิกกี้อ้าง ดร.สุเนตร ชุตินทรานนท์ จึงควรทำความรู้จัก ดร.สุเนตร ชุตินทรานนท์ ก่อนในเบื้องต้น ก่อนจะอ่านแนวความคิดของอาจารย์เกี่ยวกับ "วีรกรรมที่บางระจัน" คุณวิกกี้ แนะนำไว้ดังนี้

รศ.ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์จบการศึกษา ศิลปศาสตร์บัณฑิต (ประวัติศาสตร์) เกียรตินิยมอันดับ ๑ เหรียญทองจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาบัณฑิตและดุษฎีบัณฑิต สาขา ประวัติศาสตร์เอเชียอาคเนย์ จากมหาวิทยาลัยคอร์แนล ประเทศสหรัฐอเมริกา ปัจจุบันเป็นรองศาสตราจารย์ ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ และดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันเอเชียศึกษาและผู้อำนวยการหลักสูตรปริญญามหาบัณฑิต (นานาชาติ)สาขาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้สนใจและศึกษาประวัติศาสตร์โบราณ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับพม่า จนเป็นผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับประวัติศาสตร์พม่า ๑ ใน ๕ คน ของประเทศ

เมื่อไม่นานมานี้ มีงานเสวนาหัวข้อ "ศึกบางระจัน พงศาวดาร-เรื่องจริง และที่อิงนิยาย" จัดโดยนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ที่อาคารมติชน อคาเดมี  อาจารย์สุเนตรพูดถึง "วีรกรรมที่บางระจัน" สรุปได้ดังนี้

เท่าที่พบหลักฐานทางประวัติศาสตร์พม่า ไม่มีการพูดถึงบางระจัน รายละเอียดต่าง ๆ เกี่ยวกับบางระจันมีอยู่ ในเฉพาะพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๔) ทรงให้มีการชำระขึ้น  กลายเป็นต้นแบบการเขียนประวัติศาสตร์ กระทั่งไปปรากฏเป็นนิยายประมาณปี พ.ศ. ๒๔๘๕ ที่ประพันธ์โดย ไม้ เมืองเดิม หรือ ก้าน พึ่งบุญ ณ อยุธยา

อาจารย์สุเนตรพูดถึงพงศาวดารอีกฉบับไว้ด้วยคือ ฉบับพันจันนุมาศ พร้อมทั้งตั้งคำถาม

พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา มีเรื่องราวของบางระจันที่ละเอียดกว่า พระราชพงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ ที่มีความเก่าแก่กว่า ทำให้เกิดข้อสงสัย ๒ ประการ คือ

๑. พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ที่ห่างกับฉบับพันจันทนุมาศ กว่า ๑๐๐ ปี ทำไมถึงกลับมีรายละเอียดที่มากกว่าและ

๒. ใครเป็นผู้เขียน


ที่มา บล็อกของคุณ sirivinit
บันทึกการเข้า
ป้าหวัน
มัจฉานุ
**
ตอบ: 56


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 10 มี.ค. 15, 10:41

ขอบคุณค่ะอาจารย์พี่วินิตา (ขออนุญาตถือวิสาสะนะคะ เพราะเป็นรุ่นน้องสามปีค่ะ) ป้าหวันไปอ่านPantipมาเมื่อครู่นี้เอง และคิดว่าผู้ที่อ้างว่าบางระจันไม่มีจริง อาจมีเจตนาแอบแฝงอยู่ เหมือนMinistry of Truthในเรื่อง 1984 ของ George Orwell
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 10 มี.ค. 15, 11:01

อาจารย์สุเนตรอ้างถึงพงศาวดาร ๒ ฉบับ ฉบับพระราชหัตถเลขา เรารู้จักกันแล้วจากคำอธิบายของคุณศรีสรรเพชญ์ซึ่งคุณเทาชมพูนำมาแสดง อีกฉบับหนึ่งคือ ฉบับพันจันนุมาศ ขอแนะนำพอสังเขป ดังนี้

พันจันทนุมาศ (เจิม) ไม่ใช่คนแต่งพงศาวดารธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ตามที่เข้าใจกัน
พันจันทนุมาศ (เจิม) คงเป็นเจ้าของต้นฉบับเอกสารตัวเขียนพงศาวดารธนบุรีฉบับนี้
ต่อมา คงจะได้นำต้นฉบับพงศาวดารดังกล่าวไปมอบแก่หอพระสมุดวชิรญาณ
ทางหอพระสมุดฯ จึงตั้งชื่อพงศาวดารฉบับนั้น ว่า พงศาวดารธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม)
เพื่อเป็นเกียรติแก่เจ้าของต้นฉบับ อย่างเดียวกับที่ให้ชื่อพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ
เพื่อเป็นเกียรติแก่หลวงประเสริฐอักษรนิติ ซึ่งต่อมาคือ พระยาปริยัติธรรธาดา (แพ  ตาละลักษมณ์)
ที่ไปพบต้นฉบับเอกสารนี้ที่เมืองเพชรบุรี  แล้วนำมามอบแก่หอพระสมุดวชิรญาณ

เหตุที่ว่า พันจันทนุมาศ (เจิม) ไม่ใช่คนแต่งพงศาวดารธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม)
เพราะตำแหน่งราชทินนามพันจันทนุมาศ  ไม่ใช่ตำแหน่งขุนนางในกรมพระอาลักษณ์หรือราชบัณฑิต
ทั้งไม่ใช่ขุนนางระดับที่สูงมากนัก  จึงไม่น่าจะเป็นผู้แต่งพงศาวดารฉบับนี้

พงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศก็คือพงศาวดารที่ชำระในสมัยรัชกาลที่ ๑ ที่คุณศรีสรรเพชญ์กล่าวถึง

เรื่องที่ว่าชำระในสมัยรัชกาลที่ ๑ ก็เป็นอย่างข้างบนบอกครับคือมีบานแพนกระบุว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯทรงชำระพงศาวดารฉบับนี้เองใน พ.ศ.๒๓๓๘

"ศุภมัสดุ ศักราช ๑๑๕๗ ปี เถาะสัปตศก สมเด็จพระบรมธรรมิกมหาราชาธิราชพระเจ้าอยู่หัว ผ่านถวัลราชย์ ณ กรุงเทพทราวดีศรีอยุธยา เถลิงพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ทรงชำระพระราชพงศาวดาร"

เรื่องการพิสูจน์ว่าบานแพนกจริงมั้ยนอกจากกระบวรการทางวิทยาศาสตร์คงไม่มีทางพิสูจน์ แต่เมื่อเทียบกับพงศาวดารฉบับอื่นอย่างฉบับบริติชมิวเซียมกรุงลอนดอนซึ่งชำระในสมัยรัชกาลที่ ๑ เช่นเดียวกัน(พ.ศ.๒๓๕๐ รัชกาลที่ ๒ เมื่อครั้งเป็นกรมพระราชวังบวรฯทูลเกล้าถวายรัชกาลที่ ๑) ฉบับพันจันทนุมาศมีภาษาที่เก่ากว่า มีข้อความพิสดารน้อยกว่า เนื้อหาบางอย่างตรงตามหลักฐานร่วมสมัยมากกว่า จึงพออนุมานได้ว่าฉบับบริติชมิวเซียมฯชำระโดยใช้ฉบับพันจันทนุมาศเป็นต้นแบบ แต่เพิ่มเนื้อหาต่างๆเสริมเข้ามาเช่นเพิ่มเนื้อหาสุดพิสดารเหนือจริงและไม่สอดคล้องกับหลักฐานร่วมสมัยในตอนรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ที่ฉบับพันจันทุมาศขาดไป ๒ เล่มเป็นต้น(เช่นโกษาปานเอาหมอผีไปโชว์อาคมที่ฝรั่งเศส ประวัติพระเจ้าเสือ พระยาช้างรู้ภาษาคน) ข่อความบางที่เพิ่มตอนพอเห็นได้ว่าเอามาจากคำให้การขุนหลวงหาวัดมาเสริม

ในส่วนพงศาวดารธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศน่าจะชำระโดยใช้พงศาวดารที่เขียนตั้งแต่สมัยธนบุรีเป็นแม่แบบ เพราะมีข้อความยอพระเกียรติพระเจ้ากรุงธนบุรีอยู่มาก แต่ในฉบับบริติชมิวเซียมฯเป็นต้นมาได้ลดข้อความเหล่านั้นลง แล้วเพิ่มบทบาทของรัชกาลที่ ๑ กับกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทขึ้นมา


จาก คุณศรีสรรเพชญ์แห่งพันทิป
บันทึกการเข้า
visitna
นิลพัท
*******
ตอบ: 1724


ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 10 มี.ค. 15, 11:03

ล่วงมาถึงสมัย ร5 มีคนเคยเห็นพระพักตร์สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ประมาณ 5 คน (เคยอ่านเจอ)

ในสมัย ร 4 น่าจะมีคนจำเรื่องราวสมัยกรุงเก่าได้บ้าง  ย้อนไปเพียง15 ปี

ถ้าสมเด็จพระจอมเกล้ายังทรงพระเยาว์ น่าจะมีคนรู้เรื่องราวกรุงเก่ามากขึ้นไปอีก

คงมีความจริงอยู่บ้าง ไม่มีใครคิดจะเล่นกุเรื่องลงในพงศาวดาร  

ทำไมฉบับอื่นไม่เขียนเรื่องนี้ไว้  ไม่รู้ (ทำไมไม่เขียนให้ละเอียด --- มีสาเหตุมากมาย)
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 10 มี.ค. 15, 11:12

พงศาวดารฉบับพันจันทุมาศ (เจิม) กล่าวถึง "วีรกรรมที่บางระจัน" ไว้กระไร คุณ Penedge ถ่ายทอดไว้ดังนี้

"ศุภมัสดุ ศักราช ๑๑๕๗ ปี เถาะสัปตศก สมเด็จพระบรมธรรมิกมหาราชาธิราชพระเจ้าอยู่หัว ผ่านถวัลย์ราชย์ ณ กรุงเทพทวารวดีศรีอยุธยา เถลิงพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ทรงชำระพระราชพงศาวดาร"

แปลความง่าย ๆ ว่า พระราชพงศาวดารฉบับนี้ชำระขึ้นใหม่ในปีศักราช ๑๑๕๗ ซึ่งเท่ากับปี พ.ศ. ๒๓๓๘ หรือเป็นปีที่ ๑๔ ในรัชกาลที่ ๑ นั่นล่ะครับ

สำหรับเนื้อความที่กล่าวถึงชาวบ้านบางระจันนั้น มีปรากฏอยู่ในช่วงเหตุการณ์กองทัพพม่าเข้าล้อมกรุงศรีอยุธยา ซึ่งผมจะขอคัดตอนที่กล่าวถึงชาวบ้านบางระจันเป็นหลักเท่านั้น ดังต่อไปนี้ครับ

"ขณะนั้น พระอาจารย์วัดเขานางบวชมาอยู่ ณ วัดบ้านระจัน ชาวบ้านแขวงเมืองวิเศษชัยชาญ เมืองสุพรรณบุรี เมืองสิงห์บุรี เมืองสรรคบุรีอพยพหนีเข้าพึ่งพระอาจารย์นั้นเป็นอันมาก ฝ่ายพม่าไปเกลี้ยกล่อม ชาวค่ายบ้านระจันแต่งกันลงมาฆ่าพม่าตายเสียกลางทางเป็นอันมาก พม่าจึงแบ่งกันทุกค่ายยกขึ้นไปจะรบ ฝ่ายชาวค่ายบ้านระจันยกออกตั้งอยู่นอกค่าย พอพม่ายกมาก็ขับกันออกไปตะลุมบอนแทงพม่าล้มตายเป็นอันมาก..."

"ประมาณ ๒ - ๓ วัน พม่ายกไปตีค่ายบ้านระจันทำการกวดขันขึ้นกว่าเก่า ชาวบ้านระจันให้เข้ามาขอปืนใหญ่ ๒ บอก ปรึกษากราบทูลว่า ถ้าค่ายบ้านระจันเสียแก่พม่า พม่าจะเอาปืนเข้ามารบกรุง จะให้ไปนั้นมิบังควร...

"ครั้นรุ่งขึ้น พม่ายกไปตั้งค่าย ณ บ้านขุนโลก นายจันหนวดเขี้ยวคุมพรรคพวกออกมาตีพม่า ฆ่าพม่าตายเป็นอันมาก ประมาณสัก ๕๐๐ ตัวก็ต้องปืนตายในที่รบ ....

"อนึ่ง พระยารัตนาธิเบศร์ออกไปไรทอง หล่อปืนใหญ่ขึ้น ณ บ้านระจัน ๒ บอก ครั้งพม่ายกไปตีอีก ค่ายบ้านระจันก็แตก ไพร่พลล้มเป็นอันมาก"

สรุปก็คือว่า เอกสารในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นได้รายงานว่ามีการศึกของชาวบ้านบางระจันจริง ๆ แต่หากอธิบายเหตุการณ์เพียงคร่าว ๆ ว่า มีชาวบ้านที่หนีพวกพม่ามารวมตัวกันที่บ้านระจัน และสามารถต้านทัพพม่าได้อยู่หลายคราว แต่แล้วชาวบ้านก็ตัดสินใจส่งคนไปขอปืนใหญ่จากราชสำนักที่กรุงศรีอยุธยา ซึ่งทางราชสำนักไม่มอบให้ จนทำให้ชาวบ้านต้องหล่อปืนกันเองและเสียค่ายให้กับพม่าในที่สุด

อย่างไรก็ตาม เราก็ต้องยอมรับอย่างเป็นกลางตามความในเอกสารว่า แม้ว่าพระราชพงศาวดารฉบับพันจันทุมาศนี้จะบรรยายถึงเหตุการณ์วีรกรรมบ้านบางระจันจริงในคราวนั้นไว้จริง แต่กลับไม่ได้บอกรายละเอียดอื่น ๆ เช่นว่า

๑. ในพงศาวดารฉบับนี้ไม่ได้ว่าผู้นำบ้านบางระจันคือใครและมีกี่คน บอกแต่เพียง "พระอาจารย์วัดเขานางบวช" และ "นายจันหนวดเขี้ยว" เท่านั้น มิได้บอกว่ามีวีรชนทั้งสิ้น ๑๑ คนอย่างที่มีการกล่าวอ้างในยุคหลัง ๆ

๒. ช่วงเวลาการทำศึกระหว่างค่ายบางระจันกับกองทัพพม่าไม่เป็นที่ปรากฏอย่างแน่ชัด เพราะความในพงศาวดารตอนนี้มักเรียงปะปนกับศึกพม่าในเขตอื่น ๆ ร่วมไปด้วย จึงทำให้เราไม่รู้แน่ว่าชาวบ้านบางระจันรบกับพม่าได้นานแค่ไหน แต่ผมเชื่อว่าน่าจะรบกันได้นานที่สุดก็เพียง ๓ เดือนก็เต็มกลืนแล้ว ไม่น่าจะเป็น ๖ เดือนอย่างที่กล่าวอ้างกันในยุคหลัง

๓. ชาวบ้านบางระจันมีความพยายามในการหล่อปืนใหญ่ขึ้นใช้เองจริง แต่ก็ไม่ได้บอกว่ามีเหตุปืนใหญ่แตกอย่างที่มีการกล่าวอ้างในสมัยหลังๆแต่อย่างใด (อีกแล้ว) ซึ่งผมเชื่อว่าไม่น่าจะเกิดเหตุปืนแตก แต่ควรเป็น "ปืนใหญ่หล่อไม่เสร็จ" ก็ถูกทัพพม่าตีแตกเสียก่อนแล้ว

ดังนั้น สรุปได้ว่าพระราชพงศาวดารพันจันทุมาศ (เจิม) เป็นเอกสารที่เก่าแก่ที่สุดในยุคกรุงรัตนโกสินทร์ที่ได้กล่าวถึงเหตุการณ์บ้านบางระจันเอาไว้จริง ๆ แต่ส่วนเรื่องราวและตัวละครอื่นๆนั้น น่าจะถูกแต่งเติมเสริมเรื่องกันมาเรื่อยๆมากกว่านั่นเองครับ

บันทึกการเข้า
นางมารน้อย
พาลี
****
ตอบ: 306


ทำงานแล้วค่ะ


ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 10 มี.ค. 15, 11:19

สงสัยเหมือนกันค่ะว่าตกลง "บ้านระจัน" นี้มีจริงหรือไม่ แต่รู้สึกไม่ค่อยดีเท่าไหร่กับการที่หยิบยกมาทำละครในยุคที่เพื่อนบ้านเข้ามาทำงานในบ้านเรามากมาย และแถมจะเปิด AEC อีก ตกใจ ตกใจ
บันทึกการเข้า

สวัสดีทุกๆท่านค่ะ
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 10 มี.ค. 15, 11:21

พงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขามีรายละเอียดมากนัก ถือเป็นต้นฉบับให้ "ไม้ เมืองเดิม" เขียนเรื่อง "บางระจัน" ในกาลต่อมา

ครั้น ณ เดือนสาม ปีระกา สัปตศก พวกชาวเมืองวิเศษชัยชาญ และเมืองสิงคบุรี เมืองสรรคบุรี เข้าเกลี้ยกล่อมพม่า พม่าเร่งเอาทรัพย์เงินทองและบุตรหญิง  จึงชวนกันลวงพม่าว่าจะให้บุตรหญิงและเงินทอง  แล้วคิดกันจะสู้รบพม่า  บอกกล่าวชักชวนกันทุกๆ บ้าน และ นายแท่น ๑  นายโช ๑  นายอิน ๑  นายเมือง ๑  ชาวบ้านสีบัวทองแขวงเมืองสิงห์  นายดอกชาวบ้านตรับ  นายทองแก้วชาวบ้านโพทะเล  คนเหล่านี้มีสมัครพรรคพวกมาก  เข้าเกลี้ยกล่อมพม่าซึ่งยกทัพมาทางเมืองอุทัยธานี  ครั้นพม่าตักเตือนเร่งรัดจะให้ส่งบุตรหญิง  จึงให้นายโชคุมพรรคพวกเข้าฆ่าพม่าตาย ๒๐ เศษ  แล้วพากันหนีมาหาพระอาจารย์ธรรมโชติวัดเขานางบวช มีความรู้วิชาการดี  มาอยู่ ณ วัดโพธิ์เก้าต้น ในบ้านบางระจันเอาเป็นที่พึ่ง  และพาสมัครพรรคพวกครอบครัวทั้งปวงมาอยู่ ณ บ้านระจัน  และนายแท่นกับผู้มีชื่อเหล่านั้นชักชวนคนชาวบ้านได้ ๔๐๐ เศษ  มาตั้งค่ายมั่นอยู่ที่บ้านระจันทั้งสองค่าย  พระอาจารย์นั้นลงตะกรุด  ประเจียดและมงคลแจกให้  และพม่าประมาณร้อยเศษตามมาจับพันเรือง  มาถึงบ้านระจันก็หยุดอยู่ ณ ฝั่งแม่น้ำฟากข้างโน้น  นายแท่นรู้จึงจัดแจงคนให้รักษาค่าย  แล้วก็พาคนสองร้อยข้ามน้ำไปรบกับพม่า  พม่ายิงปืนได้นัดเดียว  นายแท่นกับคนสองร้อยล้วนถืออาวุธสั้นเข้าฟันแทงพวกพม่าถึงตะลุมบอนฆ่าพม่าตายทั้งร้อยเศษเหลือแต่ตัวนายสองคนขึ้นม้าควบหนีไปได้  จึงไปแจ้งความแก่นายทัพนายกองซึ่งตั้งค่ายอยู่ ณ แขวงเมืองวิเศษชัยชาญ  แล้วบอกไปถึงแม่ทัพ  แม่ทัพจึงให้เยกิหวุ่นคุมพลพม่าเจ็ดร้อยยกไปตีค่ายบ้านระจัน  ก็แตกพ่ายมาอีกเป็นสองครั้ง  จึงให้ติงจาโปคุมพลเก้าร้อยยกไปตีอีก  ก็แตกพ่ายมาเป็นสามครั้ง  พวกพม่าขยาดฝีมือไทยค่ายบ้านระจันยิ่งนัก   หยุดอยู่อีกสองวันสามวัน แม่ทัพจึงเกณฑ์ให้สุรินทจอข่องเป็นนายทัพใหญ่  คุมพลทหารเกณฑ์กันทุกค่ายเป็นคนพันเศษ  ม้าหกสิบม้า  ยกไปตีค่ายบ้านระจันอีกเป็นสี่ครั้ง  สุรินทจอข่องก็ยกพลทหารไปถึงทุ่งบ้านห้วยไผ่  พวกค่ายบ้านระจันจึงจัดกันให้นายแท่นเป็นนายทัพ  พลสองร้อยให้นายทองเหม็นเป็นปีกขวา  พันเรืองเป็นปีกซ้าย  คุมพลกองละสองร้อยทั้งสามกองเป็นคนหกร้อย  มีปืนคาบชุดคาบศิลาของชาวบ้านบ้าง  ปืนของพม่าซึ่งแตกหนีล้มตายเก็บได้บ้าง  ทั้งเก็บกระสุนดินของพม่าซึ่งทิ้งเสียเก็บไว้ได้บ้าง  และตัวนายทั้งสามคนนั้นก็นำพลทหารทั้งสามกองยกออกจากค่าย  ไปถึงคลองสะตือสี่ต้น  จึงตั้งทัพดากันอยู่ทั้งสามกอง  คอยรับทัพพม่า  ที่ต้นสะตือใหญ่มีบ่อน้ำอยู่กลางทุ่ง  กองทัพพม่ายกมาตั้งอยู่ฟากคลองข้างโน้น  ได้ยิงปืนโต้ตอบกันทั้งสองฝ่าย  พม่าเห็นพวกไทยน้อยก็ตั้งรบอยู่มิได้ท้อถอย  ทัพไทยจึงขนเอาไม้และหญ้ามาถมคลอง  แล้วยกข้ามรุกไปรบพม่าถึงอาวุธสั้น  เข้าไล่ตะลุมบอนแทงฟันฆ่าพม่าล้มตายเป็นอันมาก  และสุรินทจอข่องนายทัพนั้นกั้นร่มระย้าอยู่ในกลางพล  เร่งให้ตีกลองรบ  รบกั้นตั้งแต่เช้าจนตะวันเที่ยง  พลทหารไทยวิ่งเข้าฟันตัดศีรษะสุรินทจอข่องขาดตกม้าตายในท่ามกลางสนามรบ  และนายแท่นซึ่งเป็นนายทัพไทยนั้นวิ่งเข้าไปในกลางพลพม่า  ไล่แทงพม่าตายเป็นหลายคน  และตัวนายแท่นนั้นถูกปืนพม่าที่เข่าล้มลง  พวกพลช่วยกันหามออกมาจากที่รบ  และพลทหารทั้งสองฝ่ายต่างเหนื่อยอ่อนอิดโรย  ก็รอรบถอยออกจากกันทั้งสองข้าง  หยุดพักอยู่ข้างละฟากคลอง  พวกชาวบ้านระจันก็นำอาหารออกมาส่งเลี้ยงดูพวกทหาร  ฝ่ายพม่าก็หุงข้าวสุกบ้างยิงบ้าง  ที่ได้กินข้าวบ้างยังไม่ได้กินบ้าง  พวกทหารไทยกินอาหารเสร็จพร้อมกันแล้ว  ก็แต่งตัวยกข้ามคลองแล่นเข้าโจมตีทัพพม่าพร้อมกัน

ฝ่ายพลพม่าสาละวนขุดหลุมฝังศพนายอยู่  บ้างตีกลองประโคมศพ  บ้างร้องไห้รักนาย  ไม่เป็นอันจะต่อรบ  ก็แตกพ่ายหนีไปต่อหน้า  พลทหารไทยไล่ติดตามไปทันฆ่าฟันพม่าตายเสียเป็นอันมาก  เก็บได้ปืนและเครื่องศัสตราวุธผ้านุ่งห่มต่างๆ  แต่ไล่ติดตามพม่าไปจนเย็นจวนจะใกล้ค่ำจึงกลับมายังค่าย  และพลพม่าตายประมาณแปดร้อยเศษ  ที่เหลือรอดกลับมาสามร้อยเศษ  ต้องอาวุธบาดเจ็บก็มาก  ข้างทัพไทยตายหกสิบเศษ  ป่วยเจ็บสิบสองคน  ขณะนั้นชาวบ้านอื่นๆ พาครอบครัวเข้ามาอาศัยอยู่ในค่ายบ้านระจันเป็นอันมาก

ฝ่ายพม่ากลัวฝีมือชาวบ้านระจันยิ่งนัก  แต่จัดแจงกะเกณฑ์ปรึกษากันอยู่ประมาณสิบเอ็ดสิบสองวัน  แม่ทัพจึงแต่งให้แยจออากาเป็นนายทัพ  เกณฑ์แบ่งพลทหารไปทุกๆ ค่ายเป็นคนพันเศษ  สรรพด้วยม้าเครื่องสรรพาวุธให้ยกไปตีค่ายบ้านระจันอีก  ก็แตกพ่ายหนีมาเป็นห้าครั้ง  แล้วแม่ทัพจึงแต่งให้จิกแกปลัดเมืองทวายเป็นนายทัพคุมพลร้อยเศษยกไปตีเป็นหกครั้งก็แตกพ่ายมา  จึงแต่งให้อากาปันญีเป็นนายทัพคุมพลพันเศษยกไปรบอีกเป็นเจ็ดครั้ง  และอากาปันญียกไปตั้งค่ายอยู่ ณ ตำบลบ้านขุนโลก  ฝ่ายทัพไทยข้างบ้านระจันจึงจัดให้ขุนสันฝีมือยิงปืนแม่นเป็นนายพวกทหารปืน  คอยป้องกันทหารม้าพม่า  แล้วแต่งให้นายจันหนวดเขี้ยวเป็นนายทัพใหญ่คุมทหารพันเศษยกออกตีทัพพม่า  เข้าล้อมค่ายไว้  ฝ่ายทัพพม่าตั้งค่ายยังไม่ทันแล้ว  ทัพไทยวกเข้าโจมตีข้างหลังค่าย  ยิงแทงฟันพม่าตายแทบถึงพัน  และอากาปันญีนายทัพนั้นก็ตายอยู่ในค่าย  ทัพไทยได้ม้าและผ้านุ่งห่มศัสตราวุธต่างๆ เป็นอันมาก  พม่าแตกหนีเหลือรอดมานั้นน้อยประมาณร้อยเศษ  ตั้งแต่นั้นมาพม่ายิ่งกลัวฝีมือไทยค่ายบ้านระจันนัก  เกณฑ์กันจะให้ไปรบอีกมิใคร่ได้หยุดนานไปถึงกึ่งเดือน


บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 10 มี.ค. 15, 11:26

ฝ่ายในกรุงเทพมหานครนั้น  ขณะเมื่อกองทัพพม่ายกเข้ามาจะใกล้ถึงกรุงนั้น  สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวดำรัสสั่งให้ออกไปนิมนต์พระสงฆ์ราชาคณะซึ่งอยู่วัดนอกเมืองนั้นให้เข้ามาอยู่ในวัดพระนครทั้งสิ้น  และสมเด็จพระอนุชาธิราชซึ่งทรงผนวชอยู่ ณ วัดประดู่นั้น  ก็เสด็จเข้ามาอยู่ ณ วัดราชประดิษฐาน  ขุนนางและราษฎรชวนกันไปทูลเชิญเสด็จให้ลาผนวชออกช่วยราชการแผ่นดินป้องกันรักษาพระนครเหมือนเมื่อศึกมังลอกครั้งก่อน  ก็หาลาผนวชออกไม่  และเพลาเสด็จไปทรงรับบิณฑบาตชาวเมืองชวนกันเขียนหนังสือห่อใส่บาตรเป็นใจความทูลวิงวอนให้ลาผนวช  และได้ห่อหนังสือในบาตรเป็นอันมากทุกๆ วัน

ขณะนั้น  ในพระนครได้ทราบข่าวชาวบ้านระจันตั้งค่ายต่อรบพม่า  พม่ายกทัพไปตีแตกพ่ายมาเป็นหลายครั้ง  ชาวบ้านระจันฆ่าพม่าเสียเป็นอันมาก  เห็นพม่าย่อท้อถอยกำลังลง  สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินจึงดำรัสให้เสนาบดีเกณฑ์กองทัพจะให้ยกออกไปรบพม่า  แล้วโปรดให้ถอดเจ้าหมื่นศรีสรรักษ์ออกจากโทษ  ให้คงฐานาศักดิ์ทำราชการดังเก่า  จึงโปรดให้พระยาพระคลังเป็นแม่ทัพ  กับทั้งท้าวพระยาข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยเป็นหลายนาย  และทัพหัวเมืองสมทบด้วยก็หลายเมืองเป็นคนหมื่นหนึ่ง  ให้ยกออกไปตีค่ายพม่าซึ่งตั้งอยู่ ณ วัดป่าฝ้าย ปากน้ำประสบ  และให้สานกระชุกแบกไปเป็นอันมาก  สำหรับเมื่อจะตั้งรบที่ใดจะเอากระชุกตั้งเรียงให้ชิดกัน  แล้วจะขุดมูลดินบรรจุลงในกระชุกเป็นสนามเพลาะ  บังตัวพลทหารกันปืนข้าศึก  พระยาพระคลังและนายทัพนายกองทั้งปวงกราบถวายบังคมลาแล้วยกกองทัพออกจากพระนครวันนั้น  รี้พลมากเต็มไปทั้งท้องทุ่ง  แม่มัพหยุดแคร่ที่ใดกองทัพก็หยุดที่นั้น  พร้อมๆ กันเป็นกองๆ รั้งรอไป  ครั้นไปถึงที่ใกล้ค่ายพม่าก็ตั้งทัพดากันอยู่  และทหารพม่าขี่ม้าข้ามน้ำไปหาค่ายใหญ่ฟากตะวันตกเป็นหลายม้า  จึงขับทหารเข้าตีค่าย  พม่าในค่ายยิงปืนใหญ่น้อยออกมาต้องพลทัพไทยล้มลงสี่ห้าคน  กองทัพทั้งนั้นก็ถอยมาสิ้น  ครั้นเพลาเย็นก็เลิกกลับเข้าพระนครอยู่สองสามวัน  จึงมีพระราชดำรัสให้ทัพพระยาพระคลังยกออกไปตีค่ายปากน้ำประสบอีก  ขณะนั้นบรรดาชาวพระนครทั้งคฤหัสถ์และสมณะไม่เคยเห็นเขารบกัน  ชวนกันตามกองทัพออกไปรบดูพม่าเป็นอันมากและกองทัพยกออกไปตั้งอยู่ยังไม่ทันเข้าตีค่าย  พม่าแต่งกลให้รี้พลยกหาบคอนออกหลังค่ายทำทีจะแตก  พวกกองอาจสามารถชวนกันวิ่ง่เข้าไปใกล้ค่ายพม่า  และเนเมียวแม่ทัพขับพลทหารทั้งคนทั้งม้าออกไล่โอบหลังกองทัพไทย  พุ่งหอกซัดและยิงปืนบนหลังม้าต้องพลทัพไทยตายเป็นหลายคน  กองทัพไทยมิได้ต่อรบ  พากันแตกพ่ายหนีถอยลงมา ณ โพธิ์สามต้นทั้งสิ้น  และเจ้าหมื่นศรีสรรักษ์  เจ้าหมื่นเสมอใจราช ขี่ม้าข้ามน้ำหนีมาฟากตะวันออก  แต่กองพระยาตากรอรบอยู่ค่อยข้ามมาต่อภายหลัง  ทัพม้าพม่าไล่ติดตามพุ่งหอกซัดต้องพลทัพไทยและคนซึ่งตามออกไปดูรบศึกนั้นบาดเจ็บเป็นอันมาก  ที่ล้มตายก็กลาดเกลื่อนไป  กองทัพไทยก็พ่ายหนีเข้าพระนคร  พวกทัพพม่าก็กลับไปค่าย

ฝ่ายนายทัพนายกองพม่าทั้งปวง  จึงปรึกษากันจัดหาผู้ซึ่งจะเป็นนายทัพ  จะให้ยกไปตีเอาค่ายบ้านระจันให้จงได้  ขณะนั้นรามัญคนหนึ่งเป็นมอญเก่าอยู่ในพระนครนี้มาช้านาน  เข้าเกลี้ยกล่อมพม่าฝีมือรบเข้มแข็ง  แม่ทัพพม่าตั้งให้เป็นพระนายกอง  จึงเข้ารับอาสาจะขอไปตีค่ายบ้านระจันให้แตกจงได้  แม่ทัพจึงเกณฑ์พลพม่ารามัญให้สองพัน  ตั้งให้พระนายกองเป็นนายทัพ  สรรพด้วยม้าเครื่องสรรพาวุธ ให้ยกไปตีค่ายบ้านระจันอีกเป็นแปดครั้ง  และพระนายกองยกทัพไปตีค่ายบ้านระจันครั้งนั้นมิได้ตั้งทัพกลางแปลง  ให้ตั้งค่ายรายไปตามทางสามค่าย  แล้วให้รื้อค่ายหลังผ่อนไปตั้งข้างหน้าอีก  แต่เดินค่ายไปตามทางทีละสามค่าย  ดังนี้ถึงกึ่งเดือนจึงไปเกือบจะใกล้ค่ายบ้านระจัน  พวกตัวนายค่ายบ้านระจันคุมพลทหารยกออกตีค่ายพระนายกองเป็นหลายครั้งไม่แตกฉาน  และพระนายกองตั้งมั่นรับอยู่แต่ในค่ายมิได้ออกรบนอกค่าย  พวกบ้านระจันเสียคนล้มตายเป็นอันมาก  วันหนึ่งนายทองเหม็นกินสุราเมาขี่กระบือเผือกยกพลเข้าตีค่ายพม่า  พระนายกองขับพลรามัญออกต่อรบนอกค่าย  นายทองเหม็นขับกระบือไล่ถลำเข้าในกลางทัพแต่ผู้เดียว  แทงพลพม่ารามัญตายเป็นหลายคน  พวกพม่าต่อรบต้านทานล้อมเข้าไว้ได้  เข้ารุมฟันแทงนายทองเหม็นไม่เข้า  นายทองเหม็นสูรบอยู่ผู้เดียวจนสิ้นกำลัง  พม่าจับตัวได้ก็ทุบตีตายในที่นั้น  พวกทัพบ้านระจันเสียนายแล้วก็แตกหนีไปค่าย  ทัพพม่าพระนายกองก็ยกติดตามมาถึงบ้านขุนโลกใกล้ค่ายบ้านระจันจึงให้เก็บเอาศพพม่าซึ่งตายแต่ทัพก่อนๆ นั้นเผาเสียสิ้น  แล้วก็ตั้งค่ายใหญ่ลงที่นั้นรักษามั่นอยู่  ทัพบ้านระจันออกตีเป็นหลายครั้งไม่แตกก็เสียน้ำใจท้อถอย  พระนายกองจึงให้ขุดอุโมงค์เดินเข้าไปใกล้ค่ายบ้านระจันแล้วปลูกหอรบขึ้นสูง  เอาปืนใหญ่ยิงเข้าไปในค่ายต้องไทยตายเป็นอันมาก  และตีเอาค่ายน้อยบ้านระจันได้  ยังแต่ค่ายใหญ่  และนายแท่นซึ่งถูกปืนพม่าเข่าหักแต่ก่อนนั้นป่วยมานาน  ก็ถึงแก่กรรมลงในเดือนหก ปี จอ อัฐศก

ขณะนั้นขุนสันซึ่งมีฝีมือเข้มแข็งถือปืนอยู่เป็นนิจและนายจันหนวดเขี้ยวยกพลทหารออกรบกับพม่าอีกเป็นหลายครั้ง  วันหนึ่งพลพม่าโอบหลังเข้าได้  ก็ฆ่าขุนสันกับทั้งนายจันหนวดเขี้ยวตายในที่รบทั้งสองนาย  ยังแต่พันเรืองกับนายทองแสงใหญ่อยู่ในค่ายบ้านระจัน  เห็นเหลือกำลังจะสู้รบพม่าจึงบอกเข้ามาในเมือง  ขอปืนใหญ่และกระสุนดินดำ  เสนาบดีจึงปรึกษาลงเห็นพร้อมกันมิได้ให้  ว่าถ้าพม่าตีค่ายบ้านระจันแตกแล้วก็จะได้ปืนใหญ่และกระสุนดินดำเป็นกำลังเข้ามารบพระนคร  เหมือนหนึ่งให้กำลังแก่ข้าศึก  แต่พระยารัตนาธิเบศนั้นหาลงเห็นด้วยไม่  จึงออกไป ณ ค่ายบ้านระจัน  คิดอ่านเรี่ยไรทองชาวบ้านซึ่งอยู่ในค่ายมาหล่อปืนใหญ่ขึ้นได้สองกระบอก  ก็บกพร่องร้าวรานไปหาบริบูรณ์ไม่  เห็นจะคิดการสงครามไม่สำเร็จก็กลับเข้าพระนคร  ฝ่ายชาวบ้านระจันหาที่พึ่งมิได้  ไม่มีใครช่วยอุดหนุน  ก็เสียใจย่อหย่อนอ่อนฝีมือลง  เห็นจะสู้รบต้านทานพม่าไม่ได้  แต่ตั้งต่อรบพม่ามาแต่เดือนสี่ปลายปีระกาสัปตศก  จึงถึงเดือนแปดปีจออัฐศกได้ห้าเดือน  เห็นเหลือกำลังที่จะขับเคี่ยวทำสงครามกับพม่าสืบไปอีก  ต่างคนก็พาครอบครัวหนีไปจากค่าย ที่ยังอยู่นั้นน้อย  ผู้คนก็เบาบางลง

ครั้นถึง ณ วันจันทร์ แรม ๒ ค่ำ เดือน ๘ ปีจอ อัฐศก  พม่าก็ยกเข้าตีค่ายใหญ่บ้านระจันแตก  ฆ่าคนเสียเป็นอันมาก  ที่จับเป็นไปได้นั้นก็มาก  บรรดาครอบครัวชายหญิงเด็กและผู้ใหญ่ซึ่งเหลือตายอยู่นั้นให้กวาดเอาไปสิ้น  แล้วก็เลิกทัพกลับไปยังค่ายพม่า  ตั้งแต่รบกันมาห้าเดือนจนเสียค่ายนั้น  ไทยตายประมาณพันเศษ  พม่าตายประมาณสามพันเศษ  และพระอาจารย์ธรรมโชตินั้น กระทำสายสิญจน์มงคล ประเจียด ตะกรุดต่างๆ แจกให้คนทั้งปวง  แต่แรกนั้นมีคุณอยู่คงแคล้วคลาดคุ้มอันตรายอาวุธได้ขลังอยู่  ภายหลังผู้คนมาอยู่ในค่ายมากสำส่อน  ที่นับถือแท้บ้างไม่แท้บ้าง  ก็เสื่อมตบะเดชะลง  ที่อยู่คงบ้างที่ต้องอาวุธบาดเจ็บล้มตายบ้าง  และตัวพระอาจารย์นั้นที่ว่าตายอยู่ในค่ายก็มี  ที่ว่าหายศูนย์ไปก็มี  ความหาลงเป็นแน่ไม่


ที่มา กรมศิลปากร, พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงนิพนธ์พระอธิบายประกอบ, สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์ ๒๕๐๕ หน้า ๒๖๙-๒๗๗

บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 10 มี.ค. 15, 11:48

ในสมัย ร 4 น่าจะมีคนจำเรื่องราวสมัยกรุงเก่าได้บ้าง  ย้อนไปเพียง15 ปี

ย้อนจากปีครองราชย์ (พ.ศ. ๒๓๙๔) ไปจนปีเสียกรุง (พ.ศ. ๒๓๑๐) เป็นเวลา  ๘๔ ปี  ไม่น่าจะมีคนจำรายละเอียดได้มากขนาดนั้น หากมีรายละเอียดขนาดนั้น ในการชำระพงศาวดารใน พ.ศ. ๒๓๓๘ ในรัชกาลที่ ๑ เหตุการณ์ผ่านมาเพียง ๒๘ ปี น่าจะจำรายละเอียดของเหตุการณ์ได้มากกว่า

คำถามที่น่าจะหาคำตอบคือ

๑. พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ที่ห่างกับฉบับพันจันทนุมาศ กว่า ๑๐๐ ปี ทำไมถึงกลับมีรายละเอียดที่มากกว่าและ

๒. ใครเป็นผู้เขียน

บันทึกการเข้า
hobo
พาลี
****
ตอบ: 324


ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 10 มี.ค. 15, 14:17

คราวนี้ผมกลับเห็นแย้งกับคุณเพ็ญครับ


เรื่องเหล่านี้คงเล่าสืบๆ กันมาเป็นเกร็ดพงศาวดารแล้วทรงโปรดให้เพิ่มเติมเข้าไป
เพราะทรงทราบว่ามีเรื่องอย่างนี้อยู่ เนื้อความคงไม่ถูกต้องเที่ยงตรงทั้งหมดแต่มีเค้าของเดิมอยู่บ้าง
จะเห็นว่ารัชกาลที่ 4 ทรงใช้เวลากับตำรา ศึกษาเล่าเรียนนานมาในช่วงที่ทรงผนวช
พระราชทานความรู้หลายอย่างที่ทรงทราบให้กับ ร.5 ซึ่งได้ตรัสเล่าให้สมเด็จกรมพระยาดำรงอีกต่อหนึ่ง
มีหลายครั้งที่สมเด็จกรมพระยาดำรงทรงอ้างถึงเรื่องที่ ร.5 ทราบผ่านทาง ร.4 ครับ
ผมทราบว่าหลักฐาน ข้อมูลมีหลายระดับ จะมารอ primary อย่างเดียวคงเป็นไปไม่ได้ครับ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 10 มี.ค. 15, 14:31

พงศาวดารไม่ใช่ประวัติศาสตร์  เป็นเพียงเรื่องเล่าในประวัติศาสตร์ 

ส่วนประวัติศาสตร์คือเหตุการณ์ในอดีต ที่มีหลักฐานว่าเกิดขึ้นจริงตามนั้น
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.048 วินาที กับ 19 คำสั่ง