เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2 3
  พิมพ์  
อ่าน: 8582 อิฐทำมือ กับช่างทำอิฐรุ่นสุดท้ายในจังหวัดน่าน
prahnmongkol
อสุรผัด
*
ตอบ: 37


 เมื่อ 26 ก.พ. 15, 15:50

ขออนุญาติท่านอาจารย์ และปราชญ์ทั้งหลาย  จขกท.มือใหม่หัดตั้งกระทู้ ได้ความไม่ได้ความอย่างไรได้โปรดอภัยด้วย

เรื่องมีอยู่ว่าได้ไปคุยกับช่างทำอิฐชื่อคุณลุงประยุทธ์ อยู่บ้านพวงพยอม จังหวัดน่าน  แกเป็นช่างทำอิฐมอญแบบภูมิปัญญาชาวบ้านที่สืบทอดมาแต่รุ่นปู่รุ่นพ่อ และแกคงจะเป็นรุ่นสุดท้ายในจังหวัด  เห็นว่าน่าสนใจเลยอยากจะแบ่งปันให้เพื่อนๆพี่ๆและเหล่าท่านอาจารย์ได้ทราบ เผื่อจะได้ประเด็นอะไรเพิ่มเติมทำให้ปัญญาของ จขกท.แตกฉานขึ้นไปอีก

 - ที่ไปคุยกับคุณลุงใช้เวลาประมาณ 1 ชม. อาจจะยังไม่ละเอียดพอ  ถ้าท่านใดอยากรู้ละเอียดมากกว่านี้จะไปถามหาข้อมูลมาเพิ่มให้อีก
 - ที่จังหวัดน่านจะเรียกชุมชนตามชื่อหมู่บ้าน ซึ่งโดยมากจะมีวัดเป็นศุนย์กลางของแต่ละหมู่บ้าน ส่วนใหญ่เขาจะถามกันว่าบ้านอยู่ไหน หมายถึงเป็นคนบ้านไหน 
 - จขกท.ไม่ใช่ชาวจังหวัดน่านโดยกำเนิด แต่รู้สึกรักและผูกพันมานาน จนในที่สุดได้มีโอกาสมาอยู่อาศัยที่นี่  บางเรื่องเช่นประเพณี วัฒนธรรม ของท้องถิ่นอาจจะไม่รู้ลึกซึ้งเท่าคนน่าน

ลุงประยุทธ์ อายุประมาณห้าสิบกว่าเกือบจะหกสิบแล้ว  แกเล่าว่าเกิดมาก็เห็นปู่กับพ่อทำอิฐแล้ว  พอโตมาใช้งานได้ก็ถูกผู้ใหญ่ให้ช่วยงาน  ทำไปอย่างนั้นจนเป็นอาชีพของตน ส่งลูกเรียนจบปริญญาได้ พอมีพอกิน แกไม่มีความรู้เพราะคนสมัยก่อนไม่ค่อยได้เรียนหนังสือ  ย้อนหลังไปเมื่อสิบกว่าปีก่อนยังมีคนทำอิฐมอญปั้นมือกันหลายเจ้า  ทำเฉพาะในแถวบ้านพวงพยอม ลุงเล่าว่าทั้งจังหวัดน่านจะมีที่บ้านพวงพยอมเท่านั้นที่ทำอิฐมอญปั้นมือ  แต่ปัจจุบันนี้เหลือทำกันอยู่แค่ 6-7คน ซึ่งก็เป็นญาติๆของลุง  ปกติจะทำเป็นคู่ (คู่ผัวเมีย) ผู้ชายทำงานที่ใช้แรงเช่นยกดิน เทดินใส่แบบ ยกแบบ ฯลฯ ส่วนผู้หญิงทำงานเบาหน่อย  จขกท.ไปยืนดูเขาทำ เหมือนจะง่ายแต่ใช้แรงเยอะ ที่สำคัญคือร้อนเพราะต้องตากแดด  กรรมวิธีของลุงจะได้อิฐมอญแบบโบราณแท้  ลุงแกขึ้นเรือนไปหยิบอิฐโบราณที่มีผู้รับเหมาเอามาให้เป็นแบบ เพราะต้องการนำไปบูรณะโบราณสถานที่ภูเพียงแช่แห้ง  เอามาเทียบกับอิฐที่ลุงพึ่งทำเสร็จ  ดูด้วยตาแล้วคล้ายคลึงกันมาก เพียงแต่อิฐโบราณมีสีอมชมพูสวยกว่า  ส่วนอิฐใหม่มีสีส้มจางๆ  ลุงบอกว่านี่คือเสน่ห์อีกประการหนึ่งของอิฐมอญปั้นมือ  เมื่อผ่านน้ำยิ่งมากยิ่งนานวันจะมีสีสวยและแข็งแกร่งทนทานขึ้นไปเรื่อยๆ  ไม่เหมือนอิฐที่ทำจากเครื่องจักร  เดี๋ยวลงรูปให้ดูดีกว่าจะได้เห็นภาพ
บันทึกการเข้า
prahnmongkol
อสุรผัด
*
ตอบ: 37


ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 26 ก.พ. 15, 15:58

ใส่ภาพไม่เป็น  ขอลองหาทางอีกสักพัก
บันทึกการเข้า
prahnmongkol
อสุรผัด
*
ตอบ: 37


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 26 ก.พ. 15, 16:09

ใส่รูปยังไม่เป็น  ไม่เป็นไร เล่าต่อก่อนก็แล้วกัน...

ลุงบอกว่าความแตกต่างระหว่างอิฐเครื่องจักรกับอิฐปั้นมือนั้น  อิฐที่ผลิตด้วยเครื่องจักรจะมีขนาดเดียวและเรียบเสมอกันหมดทุกก้อน  ไม่ผสมแกลบ  เมื่อนำไปก่อสร้างจะได้แถวแนวที่เรียงสวยฉาบง่าย  แต่ความทนทานจะสู้อิฐปั้นมือไม่ได้  เพราะอิฐปั้นมือจะใช้ดินจอมปลวกและผสมแกลบ  เมื่อนำอิฐที่ตากแห้งได้ที่ไปเผาแกลบจะไหม้มีช่องโพรงข้างในก้อน  เมื่อทำการฉาบน้ำปูนจะไหลซึมเข้าไปในโพรงเหล่านั้นทำให้อิฐมีความแกร่ง สิ่งก่อสร้างจะยิ่งมีความแข็งแรงทนทาน  เห็นได้จากอิฐโบราณที่ภูเพียงแช่แห้งมีอายุหลายร้อยปี

อ้าว ขอประทานโทษเถิด ได้เวลาไปรับลูกเสียแล้ว  ถ้าอย่างไรคืนนี้จะกลับมาเขียนต่อพร้อมทั้งจะพยายามหาวิธีอัพรูปให้ได้ (คนโลว์เทค)
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 26 ก.พ. 15, 17:05

น่าสนใจมาก อยากเห็นอิฐทำมือค่ะ

คุณปราณคลิกที่ตัวเลือกเพิ่มเติม แล้วเข้าไป browse รูปในนั้นนะคะ
บันทึกการเข้า
prahnmongkol
อสุรผัด
*
ตอบ: 37


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 26 ก.พ. 15, 19:17

รูปเปรียบเทียบ ระหว่างอิฐเก่าจากภูเพียงแช่แห้ง  และอิฐที่ลุงประยุทธ์ทำ


บันทึกการเข้า
prahnmongkol
อสุรผัด
*
ตอบ: 37


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 26 ก.พ. 15, 19:38

อิฐที่ผลิตด้วยเครื่องจักรมีขนาดเดียว  แต่อิฐที่ปั้นด้วยมือคุณลุงบอกว่าตามปกติมี 3 ขนาด  แต่ก็มีบ้างที่ผู้รับเหมาเอาแบบมาจากโบราณสถานที่กำลังบูรณะเพื่อให้คุณลุงทำออกมาให้ได้ขนาดเดียวกัน  กระบวนการทำอิฐใช้เวลาประมาณ 20 วัน อาจมากกว่านี้หากอากาศชื้น เช่น มีฝนตกตลอด  มรสุมเข้า  หรือฤดูน้ำหลากก็จะหยุดทำไปเลยเพราะที่น่านน้ำจะหลากเข้าพื้นที่ในเมืองอยู่บ่อยๆ  ลุงบอกว่ารู้จากประสบการณ์ชีวิตที่ผ่านมาหลายสิบปี จะบอกได้เลยว่าควรจะหยุดทำเมื่อไหร่ เวลาพักก็อาจเป็นเดือนได้ ขึ้นอยู่กับมรสุมว่าเข้าถี่มากน้อยแค่ไหน

สิ่งที่ต้องใช้ในกระบวนการทำอิฐมอญแบบโบราณ

 - ดิน : ดินที่ใช้ต้องเป็นดินจอมปลวก  เมื่อสมัยก่อนหาในเขตเมืองไม่ยากเลย  จะมีคนขุดมาถามขายคุณลุงเป็นประจำ (นี่ก็มีอาชีพของชาวบ้านเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งอาชีพ คืออาชีพขุดดินจอมปลวกมาขายคนทำอิฐ)  ปัจจุบันนี้พื้นที่ที่คนขุดหาดินจอมปลวกมาขายไกลเขตชุมชนออกไปเรื่อยๆ  แต่คุณลุงบอกว่าก็ยังไม่เป็นปัญหาใหญ่  คนยังมีมาเสนอให้อยู่เนืองๆ  สามารถสั่งเป็นจำนวนมากๆในคราวหนึ่งได้  ถามคุณลุงว่าคนภาคกลางเขาถือเรื่องทำลายจอมปลวก  ต้องมีพิธีอะไรก่อนจะขุดหรือไม่  คุณลุงบอกว่าคนที่นี่ไม่ถือ เขาก็ขุดกันมาแต่โบราณแล้ว ไม่ต้องมีพิธีอะไรเลย

 - แกลบ : จังหวัดน่านยังมีคนปลูกข้าวอยู่เยอะพอสมควร  แกลบยังคงหาได้ง่ายๆในพื้นที่

 - น้ำ : เพื่อเป็นส่วนผสมให้ดินเหลวข้น (สังเกตุดูเหมือนแป้งขนมเค้กที่ผสมเสร็จพร้อมอบ เพียงแต่สีเป็นขี้โคลนเท่านั้นเอง

 - แบบไม้ ตีเป็นช่องสี่เหลี่ยม เป็นบล็อคๆ  (จะแนบรูปให้ชม)

 - แรงกาย :  ตอนยกไม้แบบออกดินจะดูดทำให้ต้องใช้แรงดึง  ผู้หญิงอาจทำได้ไม่นานแขนก็จะล้า  แรงผู้ชายจะดีกว่า

 - ฟืน : ใช้สำหรับเผาก้อนอิฐที่ตากแห้งได้ที่แล้ว  การเผาในปัจจุบันก็เริ่มมีปัญหาบ้าง เนื่องจากมีการรณรงค์ลดโลกร้อน นโยบายจากส่วนกลางให้หน่วยงานรัฐประชาสัมพันธ์ให้ชาวบ้านหยุดการเผาฟืนเผาซากพืชไร่เพื่อลดควันเขม่าต่างๆ  คนในชุมชนก็จะเริ่มเมียงมองบ้างแล้วเมื่อจะทำการเผาแต่ละครั้ง  แต่เนื่องจากการอยู่ร่วมกันของคนในพื้นที่ยังมีวัฒนธรรมแบบดั้งเดิมกันอยู่  ส่วนใหญ่จะค่อยพูดค่อยปรึกษากันอะลุ้มอล่วยกัน

 - เตา : ขนาดไม่ใหญ่มาก ตอนที่ไปดูยังไม่ถึงจะหวะขั้นตอนเผา เลยยังไม่เห็นภาพและยังไม่เข้าใจกระบวนการเท่าไหร่  แต่เขาอธิบายว่าจะเอาอิฐมากองให้เป็นตั้งสูงเป็นโพรงข้างใน เอาดินมาพอกไว้ส่วนบนสุด จุดไฟเผารุมอยู่ข้างในโพรง  จขกท.ก็ยังไม่เห็นภาพ ไม่เข้าใจอยู่ดี  แต่ถ่ายภาพเตา(สถานที่)ที่จะทำการเผามาด้วย

 - แสงแดด : ยิ่งแดดจัดยิ่งดี  ดินจะแห้งไว
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 26 ก.พ. 15, 19:49

เข้ามาบอกว่า กำลังติดตามอ่านอยู่ครับ
บันทึกการเข้า
prahnmongkol
อสุรผัด
*
ตอบ: 37


ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 26 ก.พ. 15, 19:50

เอ้อ...ลูกจะขอใช้คอมพิวเตอร์ทำการบ้าน  ต้องหลีกทางให้เขาก่อน เดี๋ยวค่อยกลับมาเล่าต่อ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 26 ก.พ. 15, 20:44

ลุงบอกว่าความแตกต่างระหว่างอิฐเครื่องจักรกับอิฐปั้นมือนั้น  อิฐที่ผลิตด้วยเครื่องจักรจะมีขนาดเดียวและเรียบเสมอกันหมดทุกก้อน  ไม่ผสมแกลบ  เมื่อนำไปก่อสร้างจะได้แถวแนวที่เรียงสวยฉาบง่าย  แต่ความทนทานจะสู้อิฐปั้นมือไม่ได้  เพราะอิฐปั้นมือจะใช้ดินจอมปลวกและผสมแกลบ  เมื่อนำอิฐที่ตากแห้งได้ที่ไปเผาแกลบจะไหม้มีช่องโพรงข้างในก้อน  เมื่อทำการฉาบน้ำปูนจะไหลซึมเข้าไปในโพรงเหล่านั้นทำให้อิฐมีความแกร่ง สิ่งก่อสร้างจะยิ่งมีความแข็งแรงทนทาน  เห็นได้จากอิฐโบราณที่ภูเพียงแช่แห้งมีอายุหลายร้อยปี

ไม่ได้ว่าอะไรนะครับ

แต่อิฐที่ผลิตด้วยเครื่องจักร น่าจะหมายถึงเครืองจักรแบบพื้นบ้าน  คงไม่ใช่ระดับเครื่องจักรอุตสาหกรรมที่ทำอิฐดินเผาใช้ไฟแรงสูง ระดับที่เรียกว่า terra cotta
บันทึกการเข้า
prahnmongkol
อสุรผัด
*
ตอบ: 37


ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 26 ก.พ. 15, 21:07

จขกท. ก็ยังไม่เคยเห็นการผลิตด้วยเครื่องจักรเหมือนกัน  อันที่จริงก็แทบไม่มีความรู้อะไรเกี่ยวกับการทำอิฐเลยด้วยซ้ำ  แค่รู้สึกเสียดายภูมิปัญญาชาวบ้านที่จะหยุดลงในรุ่นนี้ตามที่คุณลุงเล่า (เรียกว่าซึมซับความเสียดายมาจากคุณลุงอีกทีดีกว่า)

มาเล่าขั้นตอนการทำดีกว่า (คร่าวๆตามที่คุณลุงเล่าให้ฟังอีกที)  ตอนที่จขกท.ไปดูเขาทำ เป็นขั้นตอนการเอาดินที่ผสมแล้วลงบล็อคกลางลาน เพื่อทิ้งไว้กลางแดดให้แดดเผา  ไม่เห็นดินจอมปลวกสดๆ เห็นแต่ที่เขาผสมมาแล้ว ลักษณะเหมือนขี้โคลน  แกใช้มือควักดินที่ผสมอยู่ในถังลงในแบบไม้  กะว่าพอพูนขี้นมาตามแต่ละช่องก็เอามือปาดไปกดมาให้เต็มช่องดี เอาน้ำสาดๆไป เอามือปาดไป เร็วด้วยความชำนาญ แล้วก็เอาเหมือนแท่งไม้แหลมๆขูดตรงขอบไม้แต่ละช่อง (หรือเรียกว่าแซะก็ไม่รู้)  เสร็จแล้วดินก็จะเป็นร่อง ขอบไม่เรียบ แกก็เอาน้ำสาดนิดหน่อย แล้วก็เอามือลูบ ปาดไปมา แผล็บเดียวเรียบกริบ  แกทำเร็วมาก เมื่อได้รูปดีแล้วก็ยกไม้แบบออก  ขั้นตอนนี้หลานแกที่เป็นผู้หญิงวัยสาวอธิบายว่าหนักมาก  เคยลองทำดูแล้วไม่ค่อยไหว  ก้อนดินพวกนี้จะถูกทิ้งไว้กลางลานให้แดดเผาจนหมาด เรื่องลานตากนี่ก็เป็นอุปสรรคปัญหาเหมือนกัน  สมัยเมื่อก่อนพื้นที่ว่างเยอะคนยังน้อยอยู่  บัดนี้บ้านเมืองเจริญขึ้นพื้นที่ว่างๆก็มีคนจับจองมีเจ้าของไปเสียหมด  แกก็ต้องเช่าเขา  วันดีคืนดีเจ้าของที่มีความจำเป็นต้องใช้ทำประโยชน์อื่น แกก็ต้องไปหาเช่าที่ใหม่  กลับมาว่าเรื่องอิฐกันต่อ  ตากไปจนคะเนว่าแห้งพอจับได้ไม่บูดเบี้ยว (ลืมถามว่าตากถึง 1 วันไหม หรือสักวันสองวันก็ไม่แน่ใจ) เขาก็เอามาเรียงเป็นแถวซ้อนไปมา (เดี๋ยวจะพยายามแนบรูปประกอบ)  จนแห้งจริงๆก็จะนำไปเผา เผากันเป็นวัน ก็จะได้อิฐที่นำไปใช้ได้  คุณลุงแกบอกระยะเวลาคร่าวๆว่าใช้เวลาทำรวมทุกขั้นตอนแล้วจะอยู่ประมาณยี่สิบกว่าวัน แล้วแต่สภาพอากาศด้วย 

ทุกวันนี้ทำไม่พอขาย  ลูกค้าจะเป็นผู้รับเหมา ขาจรมาซื้อปลีกไม่มี  เมื่อผู้รับเหมาตกลงราคาว่าจ้าง บอกจำนวนและขนาดที่ต้องการ วันที่ต้องการของ ลุงแกก็จะแบ่งงานกันไปให้ญาติๆที่ทำ มีประมาณ 6 - 7 คน เรียกว่าแบ่งงานแบ่งเงินกัน 

บันทึกการเข้า
prahnmongkol
อสุรผัด
*
ตอบ: 37


ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 26 ก.พ. 15, 21:21

เอาดินใส่บล็อค


บันทึกการเข้า
prahnmongkol
อสุรผัด
*
ตอบ: 37


ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 26 ก.พ. 15, 21:34

ดินเริ่มเนียน

* block 5.pdf (96.54 KB - ดาวน์โหลด 312 ครั้ง.)
บันทึกการเข้า
prahnmongkol
อสุรผัด
*
ตอบ: 37


ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 26 ก.พ. 15, 21:46

อีกรูป


บันทึกการเข้า
prahnmongkol
อสุรผัด
*
ตอบ: 37


ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 26 ก.พ. 15, 21:56

ยกไม้แบบออก  แหม่...ดูเขาทำเหมือนง่ายๆเลย


บันทึกการเข้า
prahnmongkol
อสุรผัด
*
ตอบ: 37


ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 26 ก.พ. 15, 22:12

คุณลุงเล่าว่าปู่ทวดของแกเป็นจีนฮ่อ ไม่ได้ทำอิฐ  เริ่มทำกันในรุ่นปู่ แต่ตนเองยังเด็กไม่เคยคิดหรือมีความกล้าไปถามผู้ใหญ่  เด็กสมัยนั้นพ่อแม่สั่งอะไรก็ทำๆไป  ก็เลยไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมถึงทำอิฐกันเป็นและทำไมมีแค่เฉพาะคนบ้านพวงพยอมที่ทำเป็นอาชีพ  แต่ลุงแกยืนยันว่าทั้งจังหวัดมีแค่ที่นี่ที่เดียว  แกกังวลว่ามันคงจะสิ้นสุดที่รุ่นของแกเพราะลูกหลานเขาเรียนจบกันสูงมีอาชีพการงานกันหมด ไม่มีใครอยากทำงานลำบาก  แกบอกว่าให้ช่วยประชาสัมพันธ์ให้ที หากใครอยากยึดเป็นอาชีพ มาหาแกได้ แกยินดีสอนให้หมดเปลือกเลยทีเดียว  แกยืนยันว่าไม่กี่วันก็ทำเป็น  ส่วนการดูดินหรือการคัดดินแกจะสอนให้แต่ก็ต้องอาศัยประสบการณ์ของผู้ฝึกด้วย 

จขกท.ก็รับเรื่องมานอนคิดเหมือนกันว่าจะช่วยแกรักษาภูมิปัญญาชาวบ้านนี้ไว้ได้อย่างไร  ยังคิดไม่ออกว่าจะไปหาหน่วยงานไหนในเมืองน่าน  อีกทั้งยังไม่รู้เลยว่าในประเทศไทยมีการทำอิฐโบราณแบบนี้ที่ไหนอีกบ้าง  แน่ละ มอญมีความรู้อยู่มากเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากดิน ปั้นให้เป็นเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ  แต่ก็ไม่ทราบเลยว่าชุมชนมอญแหล่งไหนที่ยังมีการทำอิฐมอญแบบโบราณอยู่  จึงมาลองตั้งกระทู้ในเรือนไทยดูเผื่อจะมีท่านใดให้คำแนะนำบ้าง  ขอขอบพระคุณล่วงหน้า
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2 3
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.079 วินาที กับ 19 คำสั่ง