เสริมภาษา
คฑายู่อี้ กับอักษรซี่คู่ (双喜) สันนิษฐานว่าน่าจะใช้ในงานอภิเษกสมรส
สัญลักษณ์

หรือ
囍 แต้จิ๋วเรียกว่า ซังฮี้ ซึ่งคนไทยรู้จักกันดีในนามของถนนและสะพาน มีที่มาอย่างไรขออนุญาตเล่าไว้ ณ ที่นี้

囍 คือสัญลักษณ์มงคลที่นิยมใช้กันมากที่สุดในพิธีแต่งงานของชาวจีน เป็นอักษรมงคลที่ประดิษฐ์สร้างขึ้นมาจากคติความเชื่อและวัฒนธรรมแบบจีน ดังนั้น จึงนิยมเรียกคำนี้ว่า “ซวงสี่” (双喜)ซึ่งแปลว่า “มงคลคู่” หรือ “มงคลคู่มงคล, มงคลซ้อนมงคล”
จริง ๆ แล้วคำว่า 囍 ไม่มีอักษรตัวนี้ปรากฏอยู่ในพจนานุกรมจีน แต่เป็นการออกแบบประดิษฐ์ตัวอักษรแบบจีน ที่สร้างจากอักษรจีนคำว่า “สี่” (喜)แปลว่า ยินดี ,ดีใจ, มีความสุข เมื่ออักษร“สี่” (喜)จำนวน ๒ ตัวมา “สนธิ” (ผสมรวมกัน) เชื่อมต่อกันจนกลายเป็นคำ ๆ เดียวคือ 囍 ที่แปลกไปจากตัวอักษรอื่น ๆ แต่มีความหมายที่น่าสนใจยิ่ง
ประวัติความเป็นมาของสัญลักษณ์ ซวงสี่ มีตำนานเล่าว่า
ในสมัยราชวงศ์ซ่ง มีบัณฑิตหนุ่มนามว่า หวังอันสือ (王安石) (ซึ่งต่อมาภายหลังได้เป็นมหาเสนาบดีคนสำคัญในสมัยราชวงศ์ซ่ง) เดินทางเข้าเมืองหลวงเพื่อสอบเข้ารับราชการ ภายหลังเสร็จสิ้นการสอบ เขาโชคดีที่มีมหาเศรษฐีพึงใจในบุคลิกภาพ จึงยกลูกสาวให้และรับ หวังอันสือ เป็นเขยขวัญ ในวันแต่งงาน ปรากฏว่ามีคนมาแจ้งข่าว่า หวังอันสือ สามารถสอบได้ตำแหน่งจอหงวนหรือจ้วงเอวี๋ยน (状元) เรื่องมงคลทั้งสองเกิดขึ้นซ้อน ๆ กัน ทำให้ หวังอันสือ ที่กำลังจะเขียนอักษรคำว่า “สี่” (喜)เพื่อปิดไว้ที่ประตูบ้าน จึงได้เขียนอักษร“สี่” (喜)ซ้อนติดกันอีก เชื่อมต่อกันเป็น 囍 เมื่อชาวบ้านพบเห็นก็เกิดความชอบใจ นับตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา สัญลักษณ์มงคลคำว่า 囍 จึงถูกนำไปใช้ต่อ ๆ กันมาจนถึงปัจจุบัน
ลักษณะของสัญลักษณ์ซวงสี่ (双) มีผู้ตีความหมายว่า สาเหตุที่อักษรสัญลักษณ์ดังกล่าวใช้กับงานแต่งงานของคู่บ่าวสาว เพราะสัญลักษณ์นี้ เหมือนรอยยิ้มที่เปี่ยมไปด้วยความสุข และการแต่งงานย่อมเกิดขึ้นจากคน ๒ คน และญาติทั้ง ๒ ฝ่าย การแต่งงาน เจ้าบ่าวก็มีความสุข(喜)เจ้าสาวก็มีความสุข(喜)รวมทั้งบิดาหมารดาและญาติมิตรทั้งสองฝ่ายต่างก็มีความสุข ความหมายอันเป็นมงคลซ้อน ๆ กันนี้เองที่เป็นที่มาของการนำความสุขทั้ง ๒ คำคือ喜+喜 มารวมกัน กลายมาเป็นคำมงคลคู่ 囍ไปในที่สุด
ที่มา
หนังสือ ๑๐๘ ลัญลักษณ์จีน – ปิยะแสง จันทรวงศไพศาล