เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1]
  พิมพ์  
อ่าน: 8150 ข้าหลวงในวังจีน – นางข้าหลวงสมัยราชวงศ์ชิง
han_bing
นิลพัท
*******
ตอบ: 1622



 เมื่อ 20 ม.ค. 15, 17:37

นางข้าหลวง ภาษาจีนเรียกว่า กงนู่ (宫女:gong nu) แปลตรงๆคือผู้หญิงในวัง แต่เอาจริงๆก็คือบ่าวหญิงในวังที่จะทำงานปัดกวาดเช็ดถูรับใช้เจ้านายฝ่ายใน ตลอดจนพระสนมทั้งปวง ถือเป็นยศที่ต่ำที่สุดแล้วในวัง    สมัยราชวงศ์ชิงประมาณกันว่ามีนางข้าหลวงเช่นนี้ในวังเป็นหลักร้อยจนถึงหลักพัน

ฟังดูเยอะ แต่ยังดีกว่าสมัยราชวงศ์หมิง เพราะนั้นเป็นหลักหมื่น

แล้วทำฉันใดจึงจะได้เป็นนางข้าหลวงในวัง   

การจะเข้ามาเป็นข้าหลวงในวังได้นั้นมีสองทาง ทางแรก คือ เป็นบ่าวตามนายของตัวเองมา ตั้งแต่นายของตัวได้รับการคัดเลือกเข้าสู่วัง ทางสองคือ ถูกคัดเลือกเข้าสู่วัง

ภาพพระเจ้าปูยีตอนทรงพระเยาว์กับนางข้าหลวง


บันทึกการเข้า
han_bing
นิลพัท
*******
ตอบ: 1622



ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 20 ม.ค. 15, 17:43

การที่จะเข้ามาเป็นข้าหลวงในวังนั้นไม่ใช่ใครต่อใครจะเข้ามาเป็นนางข้าหลวงได้ แต่จะต้องถูกเลือกเข้ามา ซึ่งคัดเลือกโดยใช้เกณฑ์เป็นตระกูลข้าหลวงเดิมของชาวแมนจูสามกองธงซึ่งถูกควบคุมโดยกรมวัง กล่าวคือ แม้กองทัพแมนจูจะแบ่งเป็นแปดกองธง แต่สามกองธงแรก อันได้แก่ ธงขอบเหลือง ธงเหลือง และธงขาว ถือเป็นสามกองธงที่ฮ่องเต้จะควบคุมด้วยพระองค์เอง ถือเป็นสามกองธงแรกที่มีศักดิ์สูง เนื่องจากขึ้นตรงต่อราชสำนัก ดังนั้นเวลามีกิจการที่เกี่ยวกับราชสำนัก ไม่ใช่ไปรบพุ่ง กรมวังของราชวงศ์ชิงจะทำหน้าที่ดูแลและควบคุมกองธงทั้งสามนี้ โดยกรงวังมีชื่อเรียกว่า “เน่ย อู้ ฟู” (内务府:nei wu fu)

ภาพเขตพื้นที่กรมวัง


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
han_bing
นิลพัท
*******
ตอบ: 1622



ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 20 ม.ค. 15, 17:45

ทั้งนี้   เจ้านายในราชวงศ์ชิง และเหล่าขุนนางในแต่ละกองธง ล้วนมีแรงงานเป็นไพร่สมของตนเอง    ซึ่งอาจจะได้มาโดยวิธีการต่างๆ ตั้งแต่จับมาจากการรบ หรือได้เชลยศึกมาเป็นรางวัล ไพร่เหล่านี้เรียกว่า “เปาอี” (包衣:bao yi) คำนี้เป็นภาษาแมนจูแปลว่าคนในบ้าน หรือบ่าวรับใช้ในบ้าน เทียบกับไทยคงเทียบได้กับไพร่สมของเหล่าขุนนางต่างๆ ซึ่งไพร่สมของจีนในสมัยราชวงศ์ชิงนี้มีหน้าที่ไม่ได้ต่างอะไรจากไพร่สมของไทยแม้แต่น้อย นั้นคือ ทำงานให้นาย อย่างไรก็ตามการเป็นบ่าวในบ้านนี้พึงสังวรว่านายไม่มีสิทธิขายออกไปเช่นขายทาส อยู่สังกัดมูลนายใดในกองธงได้ก็อยู่กันไปตลอดกาล

ธงสัญลักษณ์แปดกองธง


บันทึกการเข้า
han_bing
นิลพัท
*******
ตอบ: 1622



ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 20 ม.ค. 15, 17:50

แม้จะฟังดูโหดร้ายเหมือนทาสติดที่ดินของฝรั่ง แต่เอาเข้าจริงไม่ได้โหดร้ายอะไรขนาดนั้น เพราะไพร่สมเหล่านี้เนรียนหนังสือได้ สามารถสอบเข้ารับราชการ ทำมาหากินได้ตามปรกติ ฐานะทางสังคมก็คนธรรมดาๆไม่ใช่ทาสล่ามโซ่ โงหัวไม่ขึ้น จะมีความสัมพันธ์ “นาย – บ่าว” ก็แค่กับมูลนายของตนเท่านั้น  ทำงานให้มูลนายดีๆ มูลนายรักส่งเสริมเข้ารับราชการ ไปๆมาๆกลายเป็นตระกูลขุนนางใหญ่โตมีคนนับหน้าถือตา สบายไปหลายชั่วรุ่น ยิ่งถ้ามีบุญได้นายดีเอาการเอางานยิ่งดีไปใหญ่ อาทิ มูลนายจากอ๋องกลายเป็นฮ่องเต้ ไพร่สมที่ว่าก็จะกลายเป็นข้าหลวงเดิมโดยอัตโนมัติ คราวนี้ละตำแหน่งดีๆก็ตามกันมาเหมือนผลพลอยได้ หรือไม่ก็มูลนายเดิมได้ตำแหน่งสูงขึ้น ไพร่สมอาจจะได้ตำแหน่งสูงขึ้นตาม เพราะเป็นคนสนิท

ภาพตระกูลผู้ดีชาวแมนจู


บันทึกการเข้า
han_bing
นิลพัท
*******
ตอบ: 1622



ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 20 ม.ค. 15, 17:51

เนื่องจากระบบไพร่สมของราชวงศ์ชิงนี้เปิดกว้าง และดูจะเป็นอภิสิทธิ์มากกว่าการกดดัน ดังนั้นในประวัติศาสตร์ราชวงศ์ชิง ขุนนางชั้นผู้ใหญ่หลายคนจริงๆเป็นไพร่สมมาก่อน พูดง่ายๆคือเป็นข้าหลวงเดิมนั้นเอง นึกไม่ออก ขอยกตัวอย่างสักสองตระกูล ตระกูลแรกคือตระกูลของฉาวเฉว่ฉิน (曹雪芹:cao xue qin) ผู้แต่งเรื่องความฝันในหอแดงอันโด่งดัง ตระกูลนี้เป็นผู้ดีของเมืองนานกิง ควบคุมการทอผ้า เป็นจีนฮั่นแท้ๆซึ่งต้นตระกูลเป็นไพร่สมของพระเจ้าคังซี (康熙:kang xi) เคยรับใช้พระองค์มาก่อน โดยผู้ที่รับใช้พระองค์อย่างดียิ่งและพระองค์รักมากคือพระนมของพระองค์เองอันเป็นสตรีตระกูลฉาว เพื่อพระองค์ครองราชย์จึงมอบบำเหน็จรางวัลให้ให้สมกับคุณงามความดีที่เคยรับใช้ให้แก่พระนม ตลอดจนลูกหลาน จนสุดท้ายกลายเป็นขุนนางกินเมืองร่ำรวย

ต่อมาในสมัยพระเจ้าหยงเจิ้น (雍正:yong zheng) ไพร่สมอีกคนของพระองค์ก็ได้รับตำแหน่งสำคัญเป็นอุปราชดูแลแถบเสฉวน นั้นคือ อุปราชเหนียนเกิงเหยา (年羹尧:nian geng yao) น้องสาวของเขาก็ได้เป็นพระสนมยศกุ่ยเฟย เป็นเหนียนกุ่ยเฟย (年贵妃:nian gui fei) เป็นใหญ่เหนือนางสนมทั้งปวง เพราะตอนนั้นไม่มีใครดำรงตำแหน่งฮวงกุ่ยเฟย ต่อมาก็ได้รับสถาปนาเป็นฮวงกุ่ยเฟย เป็นใหญ่เหนือนักสนมทั้งปวง แม้จะสถาปนาตอนป่วยหนักใกล้ตายก็ตาม


ทั้งนี้ ถ้าไพร่สมเกิดขยันขันแข็ง สอบรับราชการได้ บางทีตระกูลของไพร่สมอาจจะรุ่งเรืองยิ่งกว่ามูลนายเดิม แต่ว่าเวลาเจอกันก็ต้องถือว่านี้คือ “นายเก่า” แม้จะใหญ่แค่ไหน ก็ต้องทำความเคารพเขาก่อน

ภาพตระกูลผู้ดีแมนจู


บันทึกการเข้า
han_bing
นิลพัท
*******
ตอบ: 1622



ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 20 ม.ค. 15, 17:53

การที่จะเลือกคนเข้ามาเป็นข้าหลวงในวังก็จะเลือกจากตระกูลไพร่ในสังกัดข้างต้น แต่จะเป็นไพร่ที่ขึ้นกับสามกองธงอันได้แก่ ธงขอบเหลือง ธงเหลือง และธงขาวที่ควบคุมโดยจักพรรดิเท่านั้น ถ้าเทียบกับไทย คงเทียบได้กับไพร่หลวง ซึ่งเอาเข้าจริงแล้วบางตระกูลอาจจะกลายเป็นตระกูลขุนนางไปแล้วก็ได้ การคัดเลือกจะคัดเลือกจากบุตรสาวอายุ ๑๓ ปีขึ้นไป จากตระกูลไพร่หลวงที่เป็นขุนนางชั้นสูง เรื่อยไปจนถึงขุนนางระดับล่างๆ หรือไม่มีตำแหน่งขุนนาง โดยจะทำการคัดเลือกทุกปีเพื่อให้มาทำหน้าที่รับใช้ในวัง จะมีทั้งการสอบวัดความรู้พื้นฐานว่าเหมาะหรือเปล่า ถ้าไม่เหมาะก็กลับบ้านไป ถ้าเหมาะก็มาอยู่ในวังจนอายุ ๒๕ ปีแล้วก็ให้กลับบ้าน



บันทึกการเข้า
han_bing
นิลพัท
*******
ตอบ: 1622



ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 20 ม.ค. 15, 17:54

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากคนจะมาเป็นข้าหลวงในวังนั้นแม้จะเป็นตระกูลไพร่หลวง แต่ฐานะก็ต่างกัน บางคนอาจจะเป็นลูกขุนนางชั้นสูง บางคนอาจจะเป็นลูกไพร่หลวงจนๆ หน้าที่การงานก็ต่างออกไป ถ้าเป็นลูกขุนนางมีหน้ามีตา ก็จะได้รับตำแหน่งถวายงานนางในระดับกุ่ยเหริน (贵人:gei ren) ขึ้นไป ดังเจ้านายชั้นสูง พระสนมสูงศักดิ์ ชีวิตก็สบายกว่า แต่ว่าถ้าเป็นลูกของขุนนางระดับล่าง อาทิ ทหารล้อมวัง ข้าราชการน้อยๆ ก็จะไปถวายงานเจ้าจอมชั้นตาอิ้งลง(答应:da ying) ไป หรือทำงานหนักแล้วแต่บุญแต่กรรมกุศลที่สร้างมา

ภาพตันคังฮวงกุ่ยเฟย (端康皇贵妃: duan kang huang gui fei)กับนางข้าหลวง


บันทึกการเข้า
han_bing
นิลพัท
*******
ตอบ: 1622



ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 20 ม.ค. 15, 17:55

นางในแต่ละคนนั้นจะมีนางข้าหลวงมาคอยรับใช้ตำนวนต่างกันไป ฮ่องไทเฮา มีนางข้าหลวงได้ ๑๒ นาง ฮองเฮา ๑๐ นาง ฮวงกุ่ยเฟย กุ่ยเฟย มีได้คนละ ๘ นาง เฟย ผิน มีได้คนละ ๖ นาง กุ่ยเหริน มี ๔ นาง ฉางจ้ายมีได้ ๒ นาง ตาอิ้ง มีได้ ๑ นาง

ภาพพระนมของพระเจ้าปูยี


บันทึกการเข้า
han_bing
นิลพัท
*******
ตอบ: 1622



ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 20 ม.ค. 15, 17:57

การเป็นข้าหลวงในวังในสมัยราชวงศ์ชิงถ้าเป็นหญิงรักอิสระก็อาจจะกล่าวได้ว่าเป็นที่ทุกข์ใจมาก เพราะว่าเมื่อมาอยู่ในวังขั้นแรกเลยจะต้องเรียนประเพณีในวังก่อนกับท้าวนางผู้ใหญ่ ที่เรียกว่า “โมโม่” (嬷嬷:mo mo) หรือ “กู้กู” (姑姑: gu gu) กฎระเบียบรัดตัวอย่างยิ่ง ห้ามยิ้มเห็นฟัน ห้ามหัวเราะเสียงดัง ถ้าอยู่เวรต้องถวายงานห้ามกินอาหารที่มีกลิ่นแรงเดี่ยวเพ็ดทูลแล้วจะเหม็น ห้ามกินจนอิ่มเกินไปเดี่ยวจะโงกหลับ กินน้อยเกินไปก็ไม่ได้เดี่ยวท้องจะร้อง ห้ามกินทุกอย่างที่จะทำให้ผายลม ยามนอนห้ามนอนหงาย ต้องนอนตะแคงเท่านั้น เพราะถือว่าถ้านอนหงายจะเป็นการดูถูกเทวดารักษาวัง ห้ามพูดคำหยาบ ห้ามพูดคำไม่เป็นมงคลเช่นตาย ฆ่า เป็นอาทิ เวลาโกรธคนก็ห้ามด่า เรื่องห้ามด่าเป็นธรรมเนียมเคร่งมากในวังจีน ตีได้แต่ด่าไม่ได้เพราะถือว่าคนในวังล้วนแล้วแต่สืบเชื้อสายมาจากต้นสกุลแมนจูเหมือนๆกัน ดังนั้นทำผิด จึงถูกหวดเป็นประจำ แต่ดีอยู่อย่างที่ห้ามตบหน้า เพราะถือว่าการลงโทษด้วยการตบหน้าผิดมารยาทอย่างแรง เจ้านายดีๆไม่พึงทำ

ข้าหลวงรุ่นใหญ่ กลาง เล็ก และจิ๋ว




บันทึกการเข้า
han_bing
นิลพัท
*******
ตอบ: 1622



ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 20 ม.ค. 15, 17:58

แต่ว่าเฆี่ยนจนตายคาหวาย หรือคาไม้นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะเคยมีบันทึกว่านางข้าหลวงบางคนถูกเจ้านายสั่งโบยจนสิ้นใจคาไม้ในสมัยพระเจ้าเฉียนหลง

แต่ถึงจะมีการโบยกันจนตาย แต่ว่าไม่ใช่เรื่องที่ดี เพราะนางในผู้นั้น ถูกสั่งลงโทษทันทีจากชั้นเป็นพระสนมชั้นเฟย กลายเป็นชั้นผิน และพระเจ้าเฉียนหลงก็มีพระบรมราชโองการเลยว่าห้ามลงโทษจนถึงตาย

ภาพข้าหลวงรุ่นเล็กที่พึ่งเข้ามาในวัง กับนางข้าหลวงนั่งซักผ้า




บันทึกการเข้า
han_bing
นิลพัท
*******
ตอบ: 1622



ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 20 ม.ค. 15, 18:03

แม้ชีวิตนางข้าหลวงจะดูหนัก ดูแย่ เพราะกฎดูเยอะ แต่เอาจริงๆแล้วชีวิตก็ไม่ได้แย่ขนาดนั้น การอยู่ในวังหมายถึงการได้เรียนหนังสือ เรียนวิชาชีพชั้นสูง พร้อมได้รับเงินเดือนทุกเดือน อาหารการกินเสื้อผ้าใดๆทางกรมวังก็จัดให้ ยิ่งเรื่องอาหารนี้ถือว่าสุดยอดยิ่งนัก เพราะบ่าวจะกินของที่เหลือจากนาย และอาหารในวังจีนนั้นทำทีกินแต่ละวัน นางในกินคนเดียวก็ใช้หมู เป็ด ไก่ ปลาจำนวนไม่น้อยวันหนึ่งจำนวนหลายกิโลกรัม อาหารทำอย่างยอดเยี่ยม นึกภาพไม่ออกให้นึกถึงโต๊ะจีนชั้นหนึ่งนั้นและ แต่คนกินคนเดียว ใครจะกินหมด พอเครื่องเหลือ เหล่านางข้าหลวงก็จะนำไปรับประทานต่ออย่างมีความสุข

อุ้งตีนหมี หรือปลิงน้ำแดงอาจจะเป็นของหากินยากถ้าอยู่บ้าน แต่ถ้าอยู่ในวังก็กินกันเรื่อยๆ กินกันจนต้องหาม

จะเห็นได้ว่าชีวิตก็ไม่ได้แย่นัก

ภาพนางข้าหลวงสาวๆ



บันทึกการเข้า
han_bing
นิลพัท
*******
ตอบ: 1622



ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 20 ม.ค. 15, 18:04

เนื่องจากความดีข้างต้น ทำให้พ่อแม่หลายคนอยากให้ลูกเข้าวังกันยิ่งนัก เพราะถือว่าได้ให้ลูกไปฝึกฝนวิชา เปิดหูเปิดตา ที่สำคัญ ไม่ต้องอยู่ในวังตลอดชีวิต อายุ ๒๕ ปีก็ให้กลับบ้านไปแต่งงานได้  ทูลลากลับบ้านทีคนก็นับหน้าถือตามกันว่าเป็นชาววัง แต่งงานออกไปใครก็เกรงใจ แม้จะอายุมากไปหน่อยก็ไม่มีใครถือ ดีไม่ดีได้แต่งงานกับขุนนางดีๆ ทหารดีๆที่อยู่ในวัง ชีวิตก็รุ่ง ไม่เช่นนั้นเจ้านายเมตตาจัดหาคู่ให้ก็ยิ่งดีเข้าไปใหญ่ นี้ยังไม่นับเงินเดือนที่จะได้รับ รวมทั้งเงินรายปีที่จะให้ทั้งข้าหลวง และพ่อแม่ของข้าหลวงตามเทศกาลต่างๆ แต่ละฤดูก็มีอาหารประจำเทศกาลให้กิน หน้าร้อนทุกคนจะได้แตงโมไปกินเล่นวันละ ๑ ลูก กินไม่กินก็มีแจก กินอิ่ม นอนหลับ เสื้อผ้าครบ ปัจจัยสี่สมบูรณ์ คิดไปคิดมามีแต่ได้กับได้ดีกว่าอยู่บ้าน

เป็นความสุขที่มีความทุกข์แฝง และเป็นความทุกข์ที่มีความสุขปน

คุณละ อยากจะเป็นชาววังกับเขาบ้างไหม

ภาพข้าหลวงผู้ใหญ่วัยดึกเล่นชิงช้า

ดูภาพเพิ่มเติมได้จาก

http://news.21cn.com/social/wenhua/2009/07/10/6556038_3.shtml


บันทึกการเข้า
นางมารน้อย
พาลี
****
ตอบ: 306


ทำงานแล้วค่ะ


ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 21 ม.ค. 15, 09:34

นึกถึงละครจีนเรื่อง ศึกรักจอมราชันย์เลยค่ะ
บันทึกการเข้า

สวัสดีทุกๆท่านค่ะ
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.039 วินาที กับ 19 คำสั่ง