han_bing
|
“หญิงแค้นมากล้น วังใน” (宫中多怨女:gong zhong duo yuan nu) เป็นคำกล่าวที่ลอยลมอยู่ในประวัติศาสตร์จีน ที่ใดหญิงอยู่รวมกันมากๆ ที่นั่นเป็นฉันใดนักเรียนโรงเรียนหญิงล้วนคงตอบได้ แล้วลองจินตนาการดูว่าจุดมุ่งหมายของทุกคน คือผู้ชายคนเดียวอีก การตบตีชิงดีชิงเด่นจึงดุเดือดไม่น้อย
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
han_bing
|
ความคิดเห็นที่ 1 เมื่อ 06 ม.ค. 15, 18:31
|
|
ในสนามแห่งการประลอง บางคนชิงดีจนได้เด่น มีบารมีแผ่ปกไปทั้งวัง บังเกิดพระโอรส หรือพระธิดาส่งบุญส่งวาสนาให้ยาวไกล แล้วก็แก่ตายอย่างมีความสุข แต่ก็ใช่ว่าทุกคนจะมีจุดจบดีเช่นนี้ บางคนพลาดท่าระหว่างการต่อสู้ หรือไม่ก็ไม่ได้คิดจะสู้ สุดท้ายกลายเป็นคนไม่เด่นอยู่ในวัง เวลาผ่านไปถูกลืมสนิทเป็นคนแก่อีกคนในวัง กินดี อยู่ดี แต่ชีวิตไม่มีอะไรไปมากกว่ากินกับอยู่ เลยได้แต่กินกับอยู่รอความตายไปวันๆ ดูงิ้วดูละครเล่นไผ่ตองไปตามเรื่อง เลี้ยงนกเลี้ยงปลาเลี้ยงเต่าเลี้ยงสุนัข แมว จิ้งหรีด ฯลฯอะไรไปตามเรื่อง
ภาพนางในเล่นกับสุนัข
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
han_bing
|
ความคิดเห็นที่ 2 เมื่อ 06 ม.ค. 15, 18:33
|
|
อย่างไรก็ตามชีวิตที่ไม่เด่นนี้แม้ดูจะน่าเบื่อ แต่ก็มีความสุขดี ในวังไม่ได้น่าเบื่อเสียทีเดียว มีกิจกรรมเทศกาลให้ร่วมทุกวัน อาหารการกินก็บริบูรณ์ เปลี่ยนฤดูก็ไปพักที่พระราชวังตามแห่งต่างๆ เงินทองก็มีให้ตลอด ข้าหลวงขันทีก็เข้ามารับใช้ วันดีคืนดี ญาติจากนอกวังอาจจะได้รับอนุญาติให้เข้ามาเยี่ยมแก้เหงา คิดไปก็ไม่ได้เลวร้ายอะไรเท่าไรนัก หิวๆอยากกินอะไรแปลกๆ สั่งข้าหลวงออกไปซื้อให้กินก็ได้ พ่อแม่ป่วยออกไปหาไม่ได้แต่สามารถส่งข้าหลวงขันทีไปรับใช้ได้เต็มอัตรา
นับว่าพลาดท่าแล้วไม่เด่นก็เป็นสุขได้
แต่พลาดท่าแล้วดับนี้สิ – น่ากลัว
ภาพนางในชมสวนสมัยราชวงศ์ชิง
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
han_bing
|
ความคิดเห็นที่ 3 เมื่อ 06 ม.ค. 15, 18:36
|
|
เรื่องดับในวังนี้มีสองอย่าง คือ ดับทั้งๆที่ยังมีชีวิตอยู่ กับดับโดยดับชีวิตไปสนิทแล้ว ดับโดยมีชีวิตอยู่คือถูกส่งเข้าไปสู่ “ตำหนักเย็น” ตำหนักเย็นนี้ภาษาจีนเรียกว่า “เหลิ่งกง” (冷宫:leng gong) คนไทยแปลว่า “ตำหนักเย็น” ตรงๆเลย แต่ถ้าให้ข้าพเจ้าแปลควรจะแปลว่า “ตำหนักหนาว” มากกว่า เพราะคำว่า “เหลิ่ง” (冷: leng) ในภาษาจีน แปลว่า หนาวเหน็บ ใช้ในความหมายทางลบ เป็นความหนาวที่ไม่สบายตัว แต่ถ้า “เย็น” จะนิยมใช้คำว่า “เหลียง” (凉:liang) สื่อว่าเย็นสบาย ใช้ในความหมายทางบวก ตำหนักเย็นนี้จะใช้เป็นที่คุมขังนางในที่ต้องโทษ รวมไปจนถึงพระโอรส ธิดาที่ทำผิด พูดง่ายๆคือคุกในวังนั้น
ภาพตำหนักเย็นในจินตนาการ จากเรื่องราวของบูเช็กเทียน ที่จับหวางฮองเฮา และพระสนมซูเฟย ไปขังไว้ในตำหนักเย็น
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
han_bing
|
ความคิดเห็นที่ 4 เมื่อ 06 ม.ค. 15, 18:38
|
|
“ตำหนักเย็น” คำๆนี้ปรากฎขึ้นครั้งแรกในสมัยราชวงศ์หมิง โดยปรากฎในนวนิยายที่เขียนขึ้นช่วงปลายราชวงศ์ หมิง นิยายชื่อว่า “ตงโจวเลี่ยกั๋วจือ” (东周列国志:dong zhou lie guo zhi) เป็นนิยายใช้แสดงงิ้วบรรยายประวัติศาสตร์ตั้งแต่ราชวงศ์โจวไปจนถึงเริ่มยุคราชวงศ์ฉิน เขียนโดยเฟิง เหมิ่ง หลง (冯梦龙:feng meng long)
ภาพเฟิง เหมิ่ง หลง
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
han_bing
|
ความคิดเห็นที่ 5 เมื่อ 06 ม.ค. 15, 18:42
|
|
แม้จะมีการใช้คำเรียกที่คุมขังในวังว่า “ตำหนักเย็น” ก็ตาม แต่ในประวัติศาสตร์จีน ภายในวังหลวงไม่ได้มีการสร้างตำหนักเย็นเพื่อใช้เป็นสถานที่จำคุก ที่ไหนในวังก็สามารถใช้เป็นตำหนักเย็นได้ แล้วแต่ฮ่องเต้จะโปรด ตำหนักนางในที่นางในผู้นั้นอยู่ จากเรือนหลวงก็สามารถกลายสภาพเป็นคุกหลวงได้ทันทีหากมีพระบรมราชโองการ หรือโองการจากใครก็ตามที่มีอำนาจเป็นใหญ่ในวัง หรืออาจจะให้เรือนเก่าๆโทรมๆเล็กๆสักเรือนเลือกมาเรือนใดเรือนหนึ่งแล้วให้ไปอยู่ นั้นแหละ เป็นตำหนักเย็น
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
han_bing
|
ความคิดเห็นที่ 6 เมื่อ 06 ม.ค. 15, 18:44
|
|
ในประวัติศาสตร์มีบันถึงการส่งนางในเข้าไปอยู่ยังตำหนักเย็นประปราย อาทิ ในช่วงปลายราชวงศ์หมิง พระสนมเฉิงเฟย แห่งตระกูลลี้ (成妃李氏:cheng fei li shi) เกิดไปงัดข้อกับมหาขันทีผู้ทรงอำนาจเว่ยจงเสี่ยน (魏忠贤:wei zhong xian) เลยถูกส่งไปอยู่ตำหนักเย็น โดยตำหนักนั้นใช้หมู่เรือนหลวงในพระราชวังต้องห้ามที่ตอนแรกสร้างไว้ให้พระโอรสประทับ ท้าวนางชั้นสูงคุณพนักงานชั้นสูงอยู่ แต่ไม่มีใครอยู่เลยเปลี่ยนเป็นตำหนักเย็นไปพลางๆ ตำหนักนี้เรียกว่าหมู่ตำหนักตะวันตกห้าห้อง (亁西五所:gan xi wu suo) ที่เรียกอย่างนี้เพราะว่าสร้างเป็นเรือนแบบจีนที่เรียกกันว่า สี่เรือนล้อมลานสร้างติดกันทั้งหมดห้าหมู่ โดยมีทั้งทิศตะวันตกและทิศตะวันออก ตั้งอยู่ขนาบข้างพระที่นั่งเฉียนชิงกง (乾清宫:qian qing gong) พระสนมผู้นี้ถูกจำขังไว้แต่เพียงผู้เดียวเป็นเวลา ๔ ปี ก่อนหน้านั้นก็ยังมีพระสนมตำแหน่งเฟยอีกหนึ่งองค์ และตำแหน่งผินอีกสององค์ถูกขังไปก่อน หมู่เรือนนี้ในสมัยพระเจ้าเฉียนหลงได้ปรับปรุงให้ดีขึ้นเพื่อให้เป็นที่ประทับของพระธิดา และพระโอรส ปัจจุบันเรียกว่า “ชงหัวกง” (重华宫)
ภาพหมู่ตำหนักชงหัวกง ซึ่งในอดีตเคยเป็นตำหนักเย็นในสมัยราชวงศ์หมิง
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
han_bing
|
ความคิดเห็นที่ 7 เมื่อ 06 ม.ค. 15, 18:50
|
|
ต่อมาในสมัยราชวงศ์ชิงตำหนักเย็นก็เปลี่ยนสถานที่ไป บ้างก็ว่าใช้พระตำหนักฉางชุนกง (长春宫:chang chun gong) เป็นหลัก บ้างก็ว่าแล้วแต่พระอารมณ์ ว่าจะส่งไปอยู่ที่ไหน ตอนปลายราชวงศ์ชิง เมื่อพระนางซูสีไทเฮาลงโทษพระสนมเจินเฟย (珍妃:zhen fei) พระสนมคนโปรดของพระเจ้ากวงสู (光绪皇帝:guang xu huang di) พระนางโปรดให้ขังในหมู่เรือนน้อยสามหลังข้างๆพระตำหนักจิงชี่เก๋อ (景棋阁:jing qi ge) เรือนน้อยนี้ปัจจุบันถูกรื้อถอนไปแล้ว มีบันทึกไว้โดยท่านหญิงเต๋อหลิง (德龄公主: de ling gong zhu) นางพระกำนัลคนโปรดของซูสีไทเฮาว่าเป็นเรือนเล็กๆโทรมๆสกปรก ไม่มีถ่านให้ใช้ ฝนตกหลังคาก็รั่ว แถมมีขันทีเข้าไปตบหน้าเตือนความจำว่าพระสนมต้องโทษนะพะยะค่ะ...พั๊วะ ตบแล้วไม่พอต้องคุกเข่าถวายพระพรที่พระราชทานคนตบประจำให้อีก
ภาพของเจินเฟย พระตำหนักจิงชี่เก๋อ และบ่อน้ำข้างพระตำหนัก ซึ่งบ่อน้ำที่พระสนมถูกจับยัดลงไปจนตาย และภาพฐานเรือนน้อยสามหลังที่พระสนมเคยถูกคุมขัง
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
han_bing
|
ความคิดเห็นที่ 8 เมื่อ 06 ม.ค. 15, 18:54
|
|
ในสมัยพระเจ้าปูยี (溥仪皇帝:pu yi huang di) พระองค์ลงโทษฮองเฮาหว่านหลง (婉容皇后: wan rong huang hou) ที่บังอาจไปคบชู้ให้ถูกขังในตำหนักเย็น ตำหนักเย็นที่ว่าก็คือห้องชุดที่ประทับของพระองค์ในพระตำหนักจีซีโหลว่ (辑熙楼:ji xi lou) ซึ่งอยู่ภายในพระราชวังหลวงแห่งแมนจูกั๊ว ขณะที่ถูกจำขังพระนางประทับไปสูบฝิ่นไป สุดท้ายก็สิ้นลงในห้องชุดสุดหรู ซึ่งเป็นคุกไปในตัวนั้นเอง
ภาพพระเจ้าปูยี และพระนางหว่านหรง
พระตำหนักจีซีโหล่ว และห้องชุดของพระนางที่่ถูกเปลี่ยนให้เป็นตำหนักเย็น
จากรูปเป็นหุ่นขี้ผึ้งจำลองวันสุดท้ายของพระนาง
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
han_bing
|
ความคิดเห็นที่ 9 เมื่อ 06 ม.ค. 15, 18:57
|
|
การขังในตำหนักเย็นว่าร้าย แต่ก็ยังไม่ตาย แต่ว่าถ้าร้ายขึ้นมาก็คือโทษตาย เป็นการดับเพราะดับชีวิตจริงๆ การตายนั้นมีตั้งตายแบบศพสวยกับศพไม่สวย ตายช้าๆแต่ทรมานหรือตายเร็วให้มันจบๆ ตายแบบช้าๆและทรมานมีหลายวิธี อาทิ สมัยราชวงศ์ฮั่น หลู่ไท่เฮา (吕太后:lu tai hou) ลงโทษศัตรูหัวใจของตน พระสนมฉีฟู่เหริน (戚夫人:qi fu ren) ตัดหู ตัดปาก ตัดมือ ตัดเท้า ทิ้งไว้ในกองอาจม เรียกโทษนี้ว่า "เหรินจื่อ" (人彘:ren zhi) แปลว่า "คนหมู" ถือว่าสยองที่สุดในประวัติศาสตร์
ภาพจำลองหลู่ไทเฮากำลังสั่งคนจับพระสนมฉีฟู่เหรินไปลงโทษ
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
han_bing
|
ความคิดเห็นที่ 10 เมื่อ 06 ม.ค. 15, 18:58
|
|
แต่ว่าหากเป็นการตายเร็วๆก็อาจจะตัดคอฉับ แต่การตัดคอเช่นนี้ศพย่อมไม่สวย ยังมีวิธีแบบศพสวย และถือเป็นการให้เกียรติผู้ตาย นั้นคือ พระจักรพรรดิจะะพระราชทานสิ่งของสามอย่างให้ผู้ต้องโทษนำไปฆ่าตัวตายเอง ได้แก่ เหล้าพิษ แพรขาว และกริช สิ่งเหล่านี้ถือว่าเป็นการตายอย่างทรงเกียรติ ดูดีกว่าหัวขาด หรือถูกหั่นเนื้อถลกหนัง
ภาพนางในได้รับแพรขาว
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
han_bing
|
ความคิดเห็นที่ 11 เมื่อ 06 ม.ค. 15, 19:00
|
|
ในกระบวนของสามอย่าง เหล้าพิษถือว่าดีสุด ส่วนกริชถือว่าแย่สุด ปรกติแล้วขุนนางมักได้รับเหล้าพิษ นางในมักได้รับแพรขาว ส่วนกริชโหดหน่อยมักประทานให้นักรบ ในประวัติศาสตร์จีนนางในหลายคนจบชีวิตด้วยแพรขาว ที่ดังที่สุดคงไม่พ้นพระสนม หยางกุ่ยเฟยผู้ผูกคอตาย ขอแจ้งเพิ่มเติม ปรกติคำว่า แพรขาวนี้จะมีคำเรียกติดปากว่า “แพรขาวสามฉื่อ” (白绫三尺:bai ling san chi) เป็นแพรขาวยาว ๓ ฉื่อ (หน่วยวัดของจีน มีขนาดประมาณ ๑ ใน ๓ เมตรปัจจุบัน) หรือจะยาวกว่านั้นก็ได้ ราชวงศ์ชิงก็รับกฎนี้มาใช้ และได้พระทานของเหล่านี้ให้กับผู้ทำผิดเรื่อยๆ รวมถึงนางในที่ต้องโทษ แต่จะจำนวนมากเท่าใดก็ไม่ทราบ เพราะประวัติศาสตร์บันทึกไว้ประปรายเช่นกัน แต่คงจะมีไม่น้อย
ไม่เช่นนั้นจะมีคำกล่าวว่า “หญิงแค้นมากล้น วังใน” ได้อย่างไรเล่า
จริงไหม
ภาพนางในได้รับพระราชทานสิ่งของสามอย่างให้เลือกว่าจะใช้สิ่งใดจบชีวิตตน จากละครชื่อดัง "เจินหวนจ้วน" (甄嬛传: zhen huan zhuan)
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
siamese
|
ความคิดเห็นที่ 12 เมื่อ 07 ม.ค. 15, 07:40
|
|
ยังมีการจบชีวิตอีกลักษณะหนึ่งที่ฮ่องเต้ประทานความตายมาให้โดยไม่เสียเลือดคือ การนำกระดาษชุบน้ำมาปิดหน้าซ้อนกันไปเรื่อยๆ จนกว่าจะตาย
โดยที่บุคคลนั้นจะต้องถูกมัดบนเตียงนอน แล้วขันทีจะนำกระดาษที่ชุบน้ำค่อยๆวางบนหน้า ซ้อนกันไปเรื่อยๆ จนกว่าจะนิ่งไป
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
นางมารน้อย
พาลี
   
ตอบ: 306
ทำงานแล้วค่ะ
|
ความคิดเห็นที่ 13 เมื่อ 07 ม.ค. 15, 11:15
|
|
หม่อมฉันซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณยิ่งแล้วเพคะ 
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
สวัสดีทุกๆท่านค่ะ
|
|
|
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
    
ตอบ: 33424
ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม
|
ความคิดเห็นที่ 14 เมื่อ 07 ม.ค. 15, 13:57
|
|
ฮองเฮาหว่านหลง
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
|