เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2 3 ... 7
  พิมพ์  
อ่าน: 12792 ชีวิตและผลงานของเสรีไทยที่ถูกอ้างอิงเพื่อใช้ประโยชน์มากที่สุด
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


 เมื่อ 17 ธ.ค. 14, 19:46

ท้ายๆกระทู้ “โพยม จันทรัคคะ” ถ้าท่านนี้ไม่ตัดสินใจ ไทยอาจเสียอธิปไตยได้"
http://www.reurnthai.com/index.php?topic=6131.msg139892;topicseen#msg139892
กล่าวถึงกำจัด พลางกูร ไว้ว่า


"เรื่องสั้นสันติภาพ" ที่ดิฉันได้รับมาจากงานเสวนารำลึกถึง"เสนีย์ เสาวพงศ์" เมื่อวานก็มีเรื่องของเสรีไทย เป็นจดหมายเหตุรายวันของ "จำกัด พลางกูร" อ่านแล้วยกย่องในความเสียสละของท่านและภรรยาเป็นอย่างมาก

เสียดายที่ดิฉันเพิ่งมาสนใจเรื่องนี้เอาตอนนี้ เมื่อครั้งเป็นเด็ก ดิฉันเคยมีโอกาสได้คุยกับเสรีไทยสายอเมริกาท่านหนึ่ง ซึ่งเป็นญาติผู้ใหญ่ของเพื่อนสนิท ยอมรับว่าตอนนั้นท่านเล่าอะไรให้ฟัง มันฟังรู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง จึงได้แต่เออออคะขาไปตามมารยาท ตอนนี้อยากฟังท่านเล่าแทบขาดใจ...แต่ท่านก็ไม่อยู่เล่าให้ฟังเสียแล้ว ร้องไห้

"เรื่องสั้นสันติภาพ" ที่ดิฉันได้รับมาจากงานเสวนารำลึกถึง"เสนีย์ เสาวพงศ์" เมื่อวานก็มีเรื่องของเสรีไทย เป็นจดหมายเหตุรายวันของ "จำกัด พลางกูร" อ่านแล้วยกย่องในความเสียสละของท่านและภรรยาเป็นอย่างมาก

๗ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๘๖
นายจำกัด พลางกูร ถึงแก่กรรมที่จุงกิง
(ถือว่าเป็นเสรีไทยคนแรกที่ได้สละชีพเพื่อชาติ ภายหลังสงครามอดีตเสรีไทยผู้นี้ได้รับยศทหารเป็นพันตรี รวมทั้งได้รับการจารึกชื่อไว้ ณ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ)


วันนี้วันที่ ๓๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๗ เป็นวาระ ๑ ศตวรรษ จำกัด พลางกูร วีรบุรุษเสรีไทย ผู้ถูกขานชื่อและเรื่องราวสั้น ๆ ว่า เสียชีวิตในเมืองจีน ระหว่างภารกิจส่งสารไปถึงฝ่ายสัมพันธมิตร

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนเรื่องจำกัดไว้ใน “ป๋วย” จุลสารเตรียมงานรำลึก ๑๐๐ ปีชาตกาล ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ว่า จำกัด (๓๐ ต.ค. ๒๔๕๗ - ๗ ต.ค. ๒๔๘๖) เป็นบุตรคนโตของพระยาผดุงวิทยาเสริม (กำจัด พลางกูร) เจ้ากรมแต่งตำรา กระทรวงธรรมการ

สอบชิงทุนรัฐบาลสยามได้ที่ ๑ ศึกษาต่อมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด สาขาวิชาปรัชญา การเมืองและเศรษฐศาสตร์

ปี ๒๔๗๙ เขียนหนังสือ ปรัชญาแห่งสยามใหม่ เสนอว่า การเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ เป็นดั่งเรเนสซองค์ของสยามทลายฝากั้นฝั่งราษฎรและวัฒนธรรม เปิดทางให้สยามเข้าสู่โลกใหม่อันมีฐานมาจากราษฎร

เขียนบทความวิจารณ์รัฐบาลจอมพลป.พิบูลสงคราม ท่านผู้นำไม่พอใจสั่งให้ขอขมา จำกัดปฏิเสธ ถูกสั่งห้ามไม่ให้เข้ารับราชการ จำกัดเดินหน้าต่อไป รวบรวมนักเรียนไทยในอังกฤษ เมื่อกลับไทย ร่วมมือกับ เตียง ศิริขันธ์ จัดตั้งคณะกู้ชาติ

การต่อสู้อีกด้าน จำกัดกับฉลบชลัยย์ พลางกูร ภรรยาเปิดโรงเรียนดรุโณทยาน มุ่งหมายไม่เพียงสอนให้เด็กมีวิชาความรู้เท่านั้น ยังมุ่งมั่นบ่มเพาะให้เด็กเป็นพลเมืองที่รักบ้านเมืองและรักประชาธิปไตย

สงครามโลกครั้งที่ ๒ ปี ๒๔๘๔ จำกัดรับมอบหมายจากนายปรีดี พนมยงค์ เดินทางไปเมืองจุงกิง เมืองหลวงของจีนเวลานั้น เพื่อติดต่อให้ฝ่ายสัมพันธมิตร ทราบถึงการทำงานของขบวนการเสรีไทยในประเทศ

ปี ๒๔๘๖ จำกัดแต่งงานกับฉลบชลัยย์ได้ ๓ ปี เดินทางเสี่ยงการจับกุมของทหารญี่ปุ่น ไปจนถึงเมืองจุงกิง

ภารกิจสำคัญ คือการเจรจากับจอมพลเจียงไคเช็ก ให้รับรองคณะเสรีไทย และรับรองอิสรภาพของไทยหลังสงคราม

เมื่อจีนเป็นต้นเสียงใหญ่...รับรองอิสรภาพให้ไทย สหรัฐฯและอังกฤษก็ต้องออกเสียงตามความคิดของบางประเทศมหาอำนาจ...ที่จะยึดไทยเป็นรัฐในอารักขา แบ่งประเทศไทยออกเป็นไทยเหนือ ให้ฝ่ายคณะราษฎรปกครอง และไทยใต้ให้ฝ่ายเจ้าปกครอง จึงเป็นอันล้มเลิกไป

กล่าวได้ว่า ไทยได้เป็นเอกราชได้มาถึงทุกวันนี้ ส่วนหนึ่งมาจากการเจรจาของจำกัด ที่เมืองจุงกิงนี่เอง

อีกภารกิจที่สำคัญไม่น้อยกว่า ในเมืองจุงกิงนั่นเอง จำกัดได้เจรจากับ ม.จ.ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน์ ผู้นำเสรีไทยในอังกฤษ นอกจากได้ความร่วมมือระหว่างเสรีไทยในไทยและในต่างประเทศ

การเจรจาครั้งนั้น เป็นสมานไมตรีระหว่างฝ่ายเจ้ากับฝ่ายคณะราษฎร ที่บาดหมางกันมาตั้งแต่เหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕

เป็นการสมานไมตรีที่ได้ผลดี แม้จะไม่ได้รับความร่วมมือจาก ราชนิกุล ผู้นำเสรีในสหรัฐอเมริกา อย่างเท่าที่ควร

ข้อเขียนของกษิดิศ อนันทนาธร ชี้ว่า ผลงานของจำกัดพลางกูร ยิ่งใหญ่ยืนยาว...เป็นคุณูปการอันใหญ่หลวง ที่คนไทยทั้งปวงจะต้องจดจำ...จึงไม่ใช่เรื่องราวสั้น ๆ จำกัดตายระหว่างการเดินทาง...แต่อย่างใดเลย

ภารกิจเพื่อชาติจบ...ชีวิตจำกัด พลางกูรก็จบ หลังการเดินทางอันยากลำบาก ภายใต้สภาพแวดล้อมเลวร้าย การทำงานที่มีความกดดันสูง ในเมืองจุงกิง จำกัด พลางกูร วัย ๒๘ ปี ก็เสียชีวิตลง

แพทย์ลงความเห็น จำกัดเป็นมะเร็งตับและโรคกระเพาะอาหาร...แต่ฝ่ายสืบราชการลับของฝ่ายสัมพันธมิตร สงสัย เขาอาจถูกวางยาพิษ จากฝ่ายจีนหรือญี่ปุ่น

วันนี้ นับจากวันที่จำกัด พลางกูร เกิดมาครบ ๑๐๐ ปีพอดี เขายังเป็นวีรบุรุษเสรีไทย...เป็นเสรีไทยขนานแท้

เป็นเสรีไทย ท่ีสละชีวิตเพื่อชาติ เพื่อคนไทย...ชื่อของเขาจึงยังดังก้อง กล่าวขาน ไม่เคยตายไปจากหัวใจคนไทยด้วยกันเลย.

กิเลน ประลองเชิง

นายจำกัด พลางกูร เป็นเสรีไทยที่มีชื่อเสียงที่สุดคนหนึ่ง เมื่อเปรียบเทียบกับเสรีไทยอีกสองนายที่สละชีพเพื่อชาติ และมีชื่อจารึกเป็นเกียรติประวัติอยู่ ณ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ

จึงเรียกท่านว่าวีรบุรุษนิรนามไม่ได้ ผิดความหมาย
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 18 ธ.ค. 14, 20:06 โดย เทาชมพู » บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 17 ธ.ค. 14, 19:52

ผมเพิ่งจะบรรลุความเข้าใจ หลังจากการอ่านหนังสือหลายเล่มที่ต่างคนต่างเขียนโดยมีจุดมุ่งหมายที่จะยกย่องบุคคลที่ตนนิยมชมชอบ แต่ละเลยที่จะกล่าวถึงบุคคลอื่น อาจจะเป็นเพราะไม่ทราบว่าใครทำอะไรกันอยู่บ้างในตอนนั้น เพราะงานกู้ชาติของเสรีไทยมิได้ดำเนินไปอย่างมีเอกภาพ แต่ต่างคนต่างกระทำไปโดยมีจุดหมายร่วมกันอย่างเดียวที่จะขับไล่ญี่ปุ่นไปให้พ้นเมืองไทยเท่านั้น

ต้องเพิ่มเติมที่ผมเขียนไปแล้วตรงนี้ด้วยว่า นอกจากจะละเลยที่จะกล่าวถึงบุคคลอื่นแล้ว ยังนำเสนอข้อมูลให้คนอ่านเกิดความเข้าใจบุคคลอื่นในทางที่เป็นบวกหรือเป็นลบมากๆอีกด้วย

ยกตัวอย่าง

ภารกิจสำคัญ คือการเจรจากับจอมพลเจียงไคเช็ก ให้รับรองคณะเสรีไทย และรับรองอิสรภาพของไทยหลังสงคราม

เมื่อจีนเป็นต้นเสียงใหญ่...รับรองอิสรภาพให้ไทย สหรัฐฯและอังกฤษก็ต้องออกเสียงตามความคิดของบางประเทศมหาอำนาจ...ที่จะยึดไทยเป็นรัฐในอารักขา แบ่งประเทศไทยออกเป็นไทยเหนือ ให้ฝ่ายคณะราษฎรปกครอง และไทยใต้ให้ฝ่ายเจ้าปกครอง จึงเป็นอันล้มเลิกไป

กล่าวได้ว่า ไทยได้เป็นเอกราชได้มาถึงทุกวันนี้ ส่วนหนึ่งมาจากการเจรจาของจำกัด ที่เมืองจุงกิงนี่เอง



จำกัด หลังจากการรอคอยนานนับปีและถูกจีนกีดกันทุกหนทาง จนกระทั่งป่วยหนักและใกล้เสียชีวิต จึงได้มีโอกาสพบปะพูดคุยกับเจียงไคเช็กในเวลาที่สั้นๆ
 
ข้อความที่นายกิเลนเขียน มีความประสงค์จะอ้างบุญคุณของจีนต่อไทยโดยปราศจากข้อเท็จจริงรองรับ ซึ่งก็เป็นผลอยู่บ้างเมื่อบทความของเขาถูกลอกลงเน็ท และมีคนป้ายไปลงในโยงใยของตนต่อไปเรื่อยๆ

เรื่องของจำกัดมีความยาวหลายหน้ากระดาษ ผมคงต้องยอมเหนื่อยลอกทั้งบทด้วยการพิมพ์มาลงในกระทู้นี้จากต้นจนจบ เพื่อให้ง่ายต่อนักส่องอินทรเนตรอย่างคุณเพ็ญชมพูจะป้ายต่อไปเผยแพร่บ้าง  แต่เพื่อแก้ความเข้าใจกันตรงนี้ก่อน ผมจะถ่ายภาพมาลงเท่าที่จะตอบโจทย์เฉพาะหน้า


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 17 ธ.ค. 14, 20:03

ข้อความที่ผมขีดเส้นใต้ เป็นข้อยืนยันว่ารัฐบาลจีนได้ส่งหน่วยสืบราชการลับมาปฏิบัติงานในเมืองไทย ภายใต้ความอุปถัมภ์ของอังกฤษควบคู่กับเสรีไทยเช่นกันดังที่ผมได้เขียนไว้แล้ว แสดงว่าจีนมีแผนอะไรในใจอยู่แน่นอน


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 17 ธ.ค. 14, 20:07

อีกภารกิจที่สำคัญไม่น้อยกว่า ในเมืองจุงกิงนั่นเอง จำกัดได้เจรจากับ ม.จ.ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน์ ผู้นำเสรีไทยในอังกฤษ นอกจากได้ความร่วมมือระหว่างเสรีไทยในไทยและในต่างประเทศ

การเจรจาครั้งนั้น เป็นสมานไมตรีระหว่างฝ่ายเจ้ากับฝ่ายคณะราษฎร ที่บาดหมางกันมาตั้งแต่เหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕

เป็นการสมานไมตรีที่ได้ผลดี แม้จะไม่ได้รับความร่วมมือจาก ราชนิกุล ผู้นำเสรีในสหรัฐอเมริกา อย่างเท่าที่ควร



บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 17 ธ.ค. 14, 20:24

เป็นการสมานไมตรีที่ได้ผลดี แม้จะไม่ได้รับความร่วมมือจาก ราชนิกุล ผู้นำเสรีในสหรัฐอเมริกา อย่างเท่าที่ควร

คำว่าราชนิกุลถูกนำมาใช้ในที่นี้เพื่อบิดเบือนภาพของหัวหน้าขบวนการเสรีไทยในอเมริกา เพื่อวัตถุประสงค์อย่างไรก็ทราบกันดีไม่ต้องขยายความ ทั้งที่ความจริงราชนิกุลอย่าง ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมท ท่านได้บันทึกถึงเสรีไทยผู้เสียสละท่านนี้ว่า



บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 17 ธ.ค. 14, 20:41

คงต้องอดทนรอผมพิมพ์บทความใน "ตำนานเสรีไทย" ว่าด้วยชีวิตและงานเพื่อชาติของจำกัด พลางกูรหน่อยนะครับ จะเร็วนักก็ไม่ไหว แค่คอนหนังสืออย่างเดียวก็สี่ห้ากิโลแล้ว


บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12601



ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 18 ธ.ค. 14, 05:15

"เพราะจำกัดตาย ข้าพเจ้าจึงเห็นแล้วว่า ยังมีเกียรติสูงสุดอันพึงใฝ่สูงกว่าเกียรติของการเป็นนายกรัฐมนตรี ใหญ่ยิ่งกว่าเกียรติของกษัตริย์ เกียรติอันนั้นคือ เกียรติของผู้ตายเพื่อชาติ วงศ์กษัตริย์มีวันล้ม ตำแหน่งรัฐมนตรีมีวันเปลี่ยนมือ แต่เกียรติของผู้ตายอย่างจำกัดนี้ ไม่มีใครแย่งไปจากเขาได้ เขาตายแล้วไม่สูญ"

ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช



บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 18 ธ.ค. 14, 06:52

^
ถ้าผมไม่ถ่ายรูปข้อความนี้มาลง ก็คงไม่เชื่อ

เพราะราชนิกุลอย่าง ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมท เป็นผู้เขียนถ้อยความดังกล่าว ก็เลยไม่มีปัญหา
ตรงข้าม ถ้าผู้เขียนคือ ปรีดี พนมยงค์ ก็คงโดนด่าไม่เลิก

ก็มนุษย์เป็นเช่นนี้ รักใครก็ชู เกลียดใครก็เหยียบไว้ก่อน ไม่ต้องสนใจครามจริงว่าเป็นอย่างไร
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 18 ธ.ค. 14, 07:46

เมื่อจีนเป็นต้นเสียงใหญ่...รับรองอิสรภาพให้ไทย สหรัฐฯและอังกฤษก็ต้องออกเสียงตามความคิดของบางประเทศมหาอำนาจ...ที่จะยึดไทยเป็นรัฐในอารักขา แบ่งประเทศไทยออกเป็นไทยเหนือ ให้ฝ่ายคณะราษฎรปกครอง และไทยใต้ให้ฝ่ายเจ้าปกครอง จึงเป็นอันล้มเลิกไป

เมื่อคืนผมยังไม่ได้กล่าวถึงประเด็นนี้ เพราะต้องการตรวจสอบให้แน่ใจอีกครั้งหนึ่งก่อนว่า หลังสงครามเลิก รัฐบาลจีนได้แสดงบทบาทอย่างใดบ้างที่พอจะเป็นเค้าที่มาของประโยคข้างบน ซึ่งถ้าสลับประโยคเสียหน่อยก็จะเข้าใจดีขึ้นดังนี้
สหรัฐฯและอังกฤษก็ต้องออกเสียงตามความคิดของบางประเทศมหาอำนาจ...ที่จะยึดไทยเป็นรัฐในอารักขา แบ่งประเทศไทยออกเป็นไทยเหนือให้ฝ่ายคณะราษฎรปกครอง และไทยใต้ให้ฝ่ายเจ้าปกครอง  เมื่อจีนเป็นต้นเสียงใหญ่...รับรองอิสรภาพให้ไทย จึงเป็นอันล้มเลิกไป

…คงหมายความว่าฝรั่งเศส

ผู้เขียนไม่ได้ลืมหูลืมตารับรู้เลยว่า สหรัฐและอังกฤษทั้งในช่วงสงครามและหลังสงครามคือพี่เบิ้ม ฝรั่งเศสและจีนเป็นเป็ดง่อยทั้งคู่ ต้องพึ่งพาอาวุธยุทโธปกรณ์ และความช่วยเหลือจากเขาตลอด สหรัฐและอังกฤษจึงเป็นผู้นำในนโยบายหลังสงครามทั้งหมด ฝรั่งเศสกับจีนคอยผงกหัวรับอย่างเดียว
ส่วนอีกมหาอำนาจหนึ่งนั้นคือรัสเซีย ซึ่งไม่ได้แสดงบทบาทอะไรกับไทยเลย  มีตอนไทยสมัครเข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติหน่อยเดียวที่รัสเซียบอกว่าคงสนับสนุนไม่ได้ เพราะไทยไม่มีสัมพันธภาพทางการทูตกับเขา แต่พอทำสัญญาสัมพันธไมตรีกันแล้วก็หมดอุปสรรค

ฝรั่งเศสมีปัญหามากหน่อย เพราะไทยเคยทำสงครามที่ไม่ได้ประกาศ ที่เรียกว่ากรณีย์พิพาทอินโดจีนกับเขา จึงยังมีปัญหาเรืองการคืนดินแดน และค่าชดใช้ความเสียหายกันอยู่ และถึงแม้จะมีข้อเรียกร้องประหลาดๆ เช่นจะให้ไทยคืนพระแก้วมรกตให้ลาว แล้วก็หน้าแตกกลับไปเป็นต้น แต่ก็ไม่มีตรงไหนในหนังสิอฉบับครูทุกเล่มที่ผมอ่านเมื่อคืน จะระบุว่าฝรั่งเศสเสนอให้แบ่งประทศไทยเป็นฝ่ายเหนือกับฝ่ายใต้ คงเอาไปมั่วกับเวียตนามกระมัง ยิ่งบอกทางเหนือให้คณะราษฎรปกครองยิ่งเข้าป่าไปใหญ่  ตอนนั้น คณะราษฎรกวาดล้างกันเองจนสูญพันธุ์ไปหมดแล้ว ที่เหลืออยู่มีนายปรีดีคนเดียวในฐานะบุคคล ซึ่งก็คงไม่พร้อมที่จะขึ้นมาเป็นพระเจ้ามูลเมืองดังว่า

จีน นอกจากจะไม่ช่วยดังที่กล่าวแล้ว สื่อจีนยังเรียกร้องให้ไทยจัดพิธียอมแพ้เช่นเดียวกับญี่ปุ่น โดยกองทัพจีนจะเข้ามาปลดอาวุธ คนจีนในเยาวราชชักธงชาติจีนโบกไสวไปทั้งถนนในฐานะผู้ชนะสงครามโดยไทยเป็นฝ่ายแพ้  ม.ร.ว.เสนีย์เป็นนายกได้ ๕วัน ตำรวจที่ไปเดินตรวจตราในเยาวราชก็โดนลอบยิง ตำรวจก็เลยยิงตอบ เบิกบานเป็นจลาจล ในที่สุดทางราชการก็ต้องใช้กำลังทหารเข้าปราบปราม จะว่ารุนแรงก็รุนแรง แต่มีคนตายเพียงสิบยี่สิบคน จิ๊บจ๊อยมากเมื่อเทียบกับวิกฤตการณ์ที่เกิดในมลายาและอินโดนีเซีย ที่นั่นมุสลิมเจ้าของประเทศทนความเหิมเกริมของคนจีนไม่ไหวก็ออกมาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ คนตายเป็นพันเป็นหมื่น ในประเทศไทยนั้นโชคดีที่คนจีนกับคนไทยจริงๆแล้วแยกกันไม่ออก ก็กากี่นั๊งเป็นญาติพี่น้องกันทั้งนั้น ที่แสบๆจะเป็นพวกจีนใหม่ที่หนีตายเข้ามาช่วงสงคราม แต่จิตไม่สำนึก
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12601



ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 18 ธ.ค. 14, 09:00

เพราะราชนิกุลอย่าง ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมท เป็นผู้เขียนถ้อยความดังกล่าว ก็เลยไม่มีปัญหา
ตรงข้าม ถ้าผู้เขียนคือ ปรีดี พนมยงค์ ก็คงโดนด่าไม่เลิก

คุณชายเสนีย์กล่าวเชิดชูคุณจำกัดไว้ในตอนจบ ส่วนคุณปรีดีกล่าวสั่งเสียกับคุณจำกัดไว้ในตอนเริ่มเรื่อง

“เพื่อชาติ เพื่อ humanity นะคุณ เคราะห์ดีที่สุดอีก ๔๕ วัน ก็ได้พบกัน เคราะห์ไม่ดีนัก อย่างช้าอีกสองปีก็ได้พบกัน และเคราะห์ร้ายที่สุดก็ได้ชื่อว่าสละชีวิตเพื่อชาติไป”

คำกล่าวของคุณปรีดี พนมยงค์ที่มีต่อคุณจำกัด พลางกูร หลังจากมอบหมายภารกิจสำคัญยิ่งในการปกป้องอำนาจอธิปไตยของชาติ เพื่อให้ฝ่ายสัมพันธมิตรเข้าใจจุดยืนของประเทศว่าไม่ได้เข้าข้างฝ่ายอักษะในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง

เรื่องของคุณจำกัด พลางกูร น่าจะได้รับการกล่าวถึงโดยแยกเป็นกระทู้ใหญ่กระทู้หนึ่ง  ยิงฟันยิ้ม



บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 18 ธ.ค. 14, 09:57

เห็นด้วยครับ น่าจะแยกเป็นตั้งแต่คคห.๑๔๘ เป็นต้นมา

ขอเสนอชื่อกระทู้ว่า ชีวิตและผลงานของเสรีไทยที่ถูกอ้างอิงเพื่อใช้ประโยชน์มากที่สุด
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12601



ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 18 ธ.ค. 14, 10:08

ขอเสนอชื่อกระทู้ว่า ชีวิตและผลงานของเสรีไทยที่ถูกอ้างอิงเพื่อใช้ประโยชน์มากที่สุด

ขออนุญาตเสนอคุณนวรัตนเพิ่มเติม อยากให้มีชื่อของคุณจำกัด พลางกูรอยู่ในชื่อกระทู้ด้วย  ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 18 ธ.ค. 14, 10:14

ถ้าไม่ยาวเกินก็ดีครับ แต่ถ้ายาวเกินก็ไม่ต้องเป็นห่วง ในเนื้อเรื่องตั้งแต่คคห.แรกก็ไม่มีชื่อคนอื่นมาชิงเด่นอยู่แล้ว
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12601



ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 18 ธ.ค. 14, 14:01

ชื่อนี้คงไม่ยาวนัก และสะท้อนถึงสถานะในปัจจุบัน

จำกัด พลางกูร : เสรีไทยในวันที่ใกล้ถูกลืม
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 18 ธ.ค. 14, 15:34

จำกัด พลางกูร : เสรีไทยที่ถูกอ้างอิงเพื่อใช้ประโยชน์มากที่สุด
กับ
จำกัด พลางกูร : เสรีไทยในวันที่ใกล้ถูกลืม

สองชื่อนี้ต่างความหมายกันโดยสิ้นเชิง

ผมเชื่อว่า จำกัดเป็นหนึ่งในเสรีไทยที่มีชื่อเสียงมากที่สุด พอๆกับป๋วย   ดร.ป๋วย อึ้งภากรนั้นท่านรอดชีวิตจากสงคราม และวิถีชีวิตการงานของท่านส่งให้มีชื่อเสียงอุโฆษอยู่แล้วโดยไม่ต้องอาศัยอดีตของการเป็นเสรีไทยหนุน  ในขณะที่จำกัด เสียชีวิตในขณะปฏิบัติหน้าที่ในเมืองจีน  แต่ด้วยเหตุว่าเป็นผู้ที่ไปปฏิบัติงานเสรีไทยสายในประเทศที่นั่นตามคำสั่งของนายปรีดี พนมยงค์   งานที่จำกัดทำย่อมมีความหมาย โดยเฉพาะเมื่อถูกนำไปเปรียบเทียบกับผลงานของเสรีไทยสายสหรัฐ หรือสายอังกฤษ ซึ่งดูเหมือนว่าจะมีปริมาณมากกว่า  จำกัดจึงเป็นผู้ที่ตัวตายแต่ชื่อยัง ที่ผู้ที่นิยมศรัทธาต่อนายปรีดีจะนำมาอ้างอิงเสริมบทบ่อยมากในหนังสือหนังหา บทความนานาชนิด  ทุกวันนี้ก็ยังเติมเชื้อกันอยู่เรื่อยๆเพื่อไม่ให้เปลวไฟแห่งศรัทธานั้นดับไปจากความทรงจำของประชาชน

หากเสรีไทยอย่างจำกัดใกล้ถูกลืม  คนอื่นๆจะอยู่ในสถานะอย่างไรเล่า  เราจะต้องเขียนต้องเล่ากันขนาดไหนหรือ  เพื่อที่คนจะไทยจะให้ความสนใจต่อผู้ที่อุทิศตนทำงานเพื่อกอบกู้ชาติคณะนี้ โดยปลอดจากการเมือง

ผมว่า จำกัด พลางกูร ยังห่างวันที่ใกล้ถูกลืม  เพราะท่านเป็นเสรีไทยที่ถูกอ้างอิงเพื่อใช้ประโยชน์มากที่สุดในการต่อสู้ทางการเมืองของไทยหลังจากสงครามโลก  ซึ่งคนไทยได้แบ่งแยกความคิดกันคนละลัทธิอันเป็นผลมาจากสงครามเย็น  ซึ่งทุกวันนี้ เจ้าภาพเขาเลิกเล่นเกมนี้กันแล้ว แต่ในเมืองไทยยังไม่จบขบวนการของมัน
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2 3 ... 7
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.072 วินาที กับ 20 คำสั่ง