เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 3 4 [5] 6 7
  พิมพ์  
อ่าน: 12695 ชีวิตและผลงานของเสรีไทยที่ถูกอ้างอิงเพื่อใช้ประโยชน์มากที่สุด
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 60  เมื่อ 20 ธ.ค. 14, 07:44

ระหว่างทางในการศึกษาวิจัยเรื่องของคุณจำกัด พลางกูร และขบวนการเสรีไทย สิ่งใดที่เป็นอุปสรรคสำคัญในการเข้าถึงข้อมูล

เรื่องของเสรีไทยไม่ได้รับการให้ความสำคัญเท่าที่พวกเขาสำคัญอย่างแท้จริง เพราะเรื่องเอกราชของประเทศเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าไม่มี ผมว่าเราก็ต้องถูกยึดครองเหมือนประเทศผู้แพ้สงครามทั้งหลาย และอาจถูกแบ่งแยกประเทศ ฝ่ายนั้นจะเอาส่วนนี้ ฝ่ายนี้จะเอาส่วนนั้น อย่างน้อยก็เสียเอกราช ไม่ได้รับการรับรองว่ามันสำคัญขนาดไหนขณะที่มันสำคัญ

เพราะอาจารย์ปรีดีฯ และคณะของเขาพ่ายแพ้ทางการเมืองหลังจากรัฐประหาร ๒๔๙๐ ซึ่งพรรคพวกของท่านก็ถูกลอบฆ่าบ้าง จนท่านก็ต้องหนีออกนอกประเทศ กลายเป็นว่าเรื่องนี้ไม่พูดกันเท่าไหร่ เพราะถ้าพูดถึงเสรีไทยก็เท่ากับว่ายกย่องฝ่ายอาจารย์ปรีดีฯ

เหตุที่ขบวนการเสรีไทยยุติบทบาทลงโดยรวดเร็วนั้น เรื่มมาจากท่านผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแทนพระองค์ ซึงเป็นหัวหน้าเสรีไทยสายในประเทศเอง
ในวันที่ ๒๕ กันยายน ๒๔๘๘ ซึ่งเสรีไทยทั้งหมด ๘๐๐๐นายได้เดินสวนสนามหลังสงครามยุติลงนั้น ภายหลังการสวนสนาม ณ สโมสรมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ท่าพระจันทร์ นายปรีดี พนมยงค์ ได้กล่าวคำปราศรัยแก่บรรดาผู้แทนพลพรรคเสรีไทย มีสาระสำคัญว่า

ในโอกาสนี้ ข้าพเจ้าปรารถนาที่จะแสดงเปิดเผยในนามของสหายทั้งหลายถึงเจตนาอันบริสุทธิ์ซึ่งเราทั้งหลายได้ถือเป็นหลักในการรับใช้ชาติครั้งนี้ว่า เรามุ่งจะทำหน้าที่ในฐานะที่เราเกิดมาเป็นคนไทย ซึ่งจะต้องสนองคุณชาติ เราทั้งหลายไม่ได้มุ่งหวังทวงเอาตำแหน่งในราชการมาเป็นรางวัลตอบแทน การกระทำทั้งหลายไม่ใช่ทำเพื่อประโยชน์ของบุคคลหรือหมู่คณะใด แต่ได้ทำไปเพื่อประโยชน์ของคนไทยทั้งมวล…วัตถุประสงค์ของเราที่ทำงานคราวนี้มีจำกัดดังกล่าวแล้ว และมีเงื่อนไขเวลาสุดสิ้น กล่าวคือเมื่อสภาพการเรียบร้อยลงแล้ว องค์การเหล่านี้ก็จะเลิก และสิ่งซึ่งจะเหลืออยู่ในความทรงจำของเราทั้งหลายก็คือมิตรภาพอันดีในทางส่วนตัวที่เราได้ร่วมรับใช้ชาติด้วยกันมา…ผู้ที่ได้ร่วมงานกับข้าพเจ้าคราวนี้ ถือว่าทำหน้าที่เป็นผู้รับใช้ชาติ มิได้ถือว่าเป็นผู้กู้ชาติ การกู้ชาติเป็นการกระทำของคนไทยทั้งปวง” คำปราศรัยดังกล่าวนี้ถือว่าเป็นการสลายตัวของขบวนการเสรีไทย ต่อมาสภาผู้แทนราษฎรได้ตั้งคณะกรรมธิการวิสามัญเพื่อสอบสวนสะสางทรัพย์สินของชาติซึ่งขบวนการเสรีไทยได้ใช้ประโยชน์ไปทั้งภายในและภายนอกประเทศ สรุปว่าการใช้ประโยชน์เป็นไปโดยสุจริตและมีหลักฐานตามความจำเป็นทุกกรณีโดยถูกต้อง

การสลายตัวของขบวนการและพลพรรคเสรีไทยในเวลาค่อนข้างจะรวดเร็วภายหลังที่ได้เอกราชและอธิปไตยคืนมานั้น นายปรีดี พนมยงค์ ได้กระทำด้วยเหตุผลหลายประการ แต่ที่สำคัญก็คือ ไม่ประสงค์จะให้เกิดข้อครหาว่ามีการฉกฉวยโอกาสรักษาอำนาจทางการเมืองเอาไว้โดยอ้างความรักชาติบังหน้า ดังนั้นเมื่อภารกิจในการรับใช้ชาติในบริบทของเสรีไทยได้เสร็จสิ้นลงแล้ว ขบวนการเสรีไทยก็ต้องสลายตัวไปโดยมิรอช้า นายปรีดีมีความเชื่อว่าความรักชาติย่อมพิสูจน์จากการกระทำเท่านั้น มิใช่โดยคำพูด


ที่มา

http://www.pridi-phoonsuk.org/pridi-and-the-free-thai-movement/
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 61  เมื่อ 20 ธ.ค. 14, 07:58

หลังจากวันนั้นแล้ว บรรดาพลพรรคเสรีไทยสายต่างประเทศต่างทะยอยกันกลับไปเรียนหนังสือหนังหาที่ทิ้งมาให้จบการศึกษา ส่วนเสรีไทยสายในประเทศก็กลับไปทำงานทำการของตน โดยมีบางคนมีงานนอกด้วย เช่นครูเตียง ศิริขันธ์ ใช้เวลาทำงานการเมืองด้วยการดำเนินงานคณะกู้ชาติต่อ

อ้างถึง
ตอนที่จำกัดเริ่มสร้างคณะเสรีไทยนั้น ซึ่งเป็นวันที่ญี่ปุ่นบุกวันแรก จำกัดฯ บอกกับอาจารย์ปรีดีฯ ว่าผมกับอาจารย์เตียงได้สร้างคณะกู้ชาติไว้ ถ้าไม่มีคณะฯ อยู่ก่อนหน้านั้น การณ์ต่าง ๆ ก็อาจจะสายออกไปอีกว่าเมื่อไหร่จะมีคณะเสรีไทยในประเทศ ดังนั้น จำกัด พลางกูร ซึ่งเป็นเลขาธิการ เป็นแกนกลางของคณะเสรีไทยในประเทศ เป็นผู้ไปแจ้งข่าวถึงการมีอยู่ของคณะเสรีไทยในประเทศและกองกำลังที่เป็นจริง
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 62  เมื่อ 20 ธ.ค. 14, 08:21

ด้วยความเคารพนะครับ เป็นละครที่ไร้ชีวิตชีวาจริงๆ

อยากฟังคำวิจารณ์ หลังจากคุณนวรัตนดูข่าวเกี่ยวกับละครเรื่องนี้  ยิงฟันยิ้ม

http://youtube.com/watch?v=orlA_80GQXk#ws
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 63  เมื่อ 20 ธ.ค. 14, 08:50

คำวิจารณ์ของศาสตราจารย์นายแพทย์วิจารณ์ พานิช

ละครเป็นการแสดง ที่จะต้องให้ความสำราญเป็นหลัก แถมด้วยสาระและอารมณ์ ละครเรื่องนี้ ตามสัมผัสของผม ให้ครบ และที่ไม่น่าเชื่อคือ ผู้แสดงเป็นศิษย์ของศูนย์เศรษฐศาสตร์การเมืองทั้งสิ้น ไม่ใช่นักแสดงอาชีพ แต่เล่นได้เหมือนนักแสดงอาชีพ โดยมีผู้กำกับการแสดงเป็นมืออาชีพ คือ ปิยศิลป์ บุลสถาพร

ผมเดาว่า ผู้แสดงละครเรื่องนี้ต้องฝึกซ้อมกันอย่างหนัก โดยที่ตัวละครแต่ละคนต่างก็มีภารกิจประจำอยู่แล้ว การที่ทุกคนพร้อมใจกันมาฝึกซ้อมเพื่อเล่นละครเพียงครั้งเดียวในวันที่ ๓๑ ส.ค. ๕๖ นี่ นอกจากความรักและเคารพ ศ. กิตติคุณ ดร. ฉัตรทิพย์ นาถสุภา และ ดร. ปรีชา เปี่ยมพงศ์สานต์ แล้ว น่าจะได้พลังจากความรักชาติของคุณจำกัด พลางกูร ที่ขุดขึ้นมาจากผลการวิจัยของ ศ. ดร. ฉัตรทิพย์

ทุกฉากของละคร เล่นได้ดี มีพลัง ได้อารมณ์ ทั้งอารมณ์เศร้าในการจากระหว่าง จำกัดกับภรรยาที่เพิ่งแต่งงานได้ ๓ ปี คือคุณฉลบชลัยย์ อารมณ์สนุกสนานจากงิ้ว และอื่น ๆ แต่สำหรับผม จุดไฮไล้ท์ อยู่ที่ตอนจบการแสดง และมีการแนะนำตัวคุณฉลบชลัยย์ ที่มีอายุถึง ๙๗ ปีแล้ว ทายาทของท่านชิ้น (มจ. ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน์) และท่านอื่น ๆ เสียดายที่ผมบันทึกเสียงผิดพลาด ไม่ได้เสียงช่วงละครและช่วงแนะนำบุคคลมาตรวจสอบชื่อคน

วิจารณ์ พานิช

๑ ก.ย. ๕๖


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 64  เมื่อ 20 ธ.ค. 14, 08:55

ผมเข้ากระทู้ครั้งนี้แปลกใจทำไมโหลดนานจัง มาอ๋อก็ตรงเจอคลิ๊บยาวเกือบสิบนาทีของคุณเพ็ญชมพูนี่เอง ผมดูแล้วเป็นข่าวโฆษณาละครเสียส่วนใหญ่เห็นการแสดงนิดเดียว มีฉากที่เป็นdramaด้วย เขาก็คงแสดงกันได้ดีพอสมควรนั่นแหละคนดูจึงตบมือกันเกรียว ถ้าทื่อๆแบบฉากแรกคนคงหลับกันสบายอารมณ์

ส่วนเนื้อหาผมขอตัวไม่ออกความเห็นก็แล้วกัน คือผมเคารพในเรื่องจริงของวีรบุรุษผู้เสียสละเพื่อชาติท่านนี้มาก แต่ละครก็คือละครถ้าไม่เสริมฝอยบ้างก็จะจืด หากไปวิจารณ์ดีไม่ดีเข้าจะกลายเป็นการปรามาสคุณจำกัดไป


บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 65  เมื่อ 20 ธ.ค. 14, 09:07

คำวิจารณ์ของศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ฉัตรทิพย์ นาถสุภา

ผมชอบฉากการตกลงของคุณจำกัดฯ กับหม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์ฯ นะ เพราะเป็นภาพที่สวยงาม เป็นการร่วมมือของสองฝ่ายระหว่างฝ่ายเจ้า ฝ่ายคณะราษฎรซึ่งมีความหมายที่รวมทั้งคนชั้นกลาง ประชาชนทั่วไป เป็นการเข้าใจกันอย่างดีของทั้งสองด้านโดยยึดหลักเอกราช ประชาธิปไตย และความเจริญของประเทศ และมีการตกลงจริง ตัวแทนจริงของทั้งสองฝ่าย

ฝ่ายหนึ่งคือพระเชษฐาของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๗ หม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน์ และอีกฝ่ายหนึ่งก็คือคุณจำกัด พลางกูรซึ่งเป็นตัวแทนของคนชั้นกลางในเมือง และประชาชนธรรมดาสามัญในประเทศที่มีนายเตียง ศิริขันธ์เป็นตัวแทนซึ่งเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับคุณจำกัด มันเกิดขึ้นจริงและเราก็แสดงตามที่มันเป็นจริง ภาพนี้มันสวยงามมาก

นายฉันทนา (มาลัย ชูพินิจ) ก็ได้เขียนเรื่องราวนี้ขึ้นด้วย ซึ่งเป็นภาพที่เขาตื้นตันใจ เป็นภาพที่สวยงามมากที่บอกว่า “ในหม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์ จำกัดได้พบทั้งมือที่พร้อมสำหรับกางออกต้อนรับ และใจซึ่งพร้อมจะสนับสนุนแผนการและอุดมคติของเขาอย่างเต็มที่ ในเจ้าชายเชื้อพระวงศ์องค์นี้ เขาได้พบคนไทยที่บูชาประชาธิปไตย”

ผมคิดว่ามันเป็นฉากที่เกิดขึ้นจริง และมันก็ไม่ใช่ utopia ที่เป็นไปไม่ได้ เพราะมันเกิดขึ้นแล้ว และถ้าเป็นอย่างนี้ต่อไปได้ เมืองไทยจะไปได้ดี และผมหวังว่าเมืองไทยจะไปตามฉากนี้

ท่านศุภสวัสดิ์ฯ ยอมรับหลักการของการเปลี่ยนแปลงการปกครองของ ๒๔๗๕ ที่อยากให้ประเทศชาติเป็นประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่ทรงอยู่เหนือการเมือง ซึ่งท่านเป็นเจ้าที่ยอมตามคณะราษฎร ซึ่งมันมีอยู่จริงในบันทึกประจำวันของจำกัดนะ
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 66  เมื่อ 20 ธ.ค. 14, 09:21

เนื้อหาของฉากนี้คือ

เมื่อนายจำกัดได้พบกับจอมพลเจียง ไคเชก นอกจากจอมพลเจียงจะรับประกันเอกราชของไทยหลังสงครามแล้ว ยังอนุญาตให้เขาเดินทางไปวอชิงตัน แต่จนถึงเดือนสิงหาคมเขาก็ยังไม่ได้เดินทาง

แม้เขายังไม่ได้เดินทางไปวอชิงตัน แต่ระหว่างรอคอย การได้มีโอกาสพบกับเสรีไทยสายอังกฤษที่เมืองจุงกิง ก็มีความสำคัญยิ่งต่อภาระกิจของนายจำกัด

วันที่ ๕ สิงหาคม ๒๔๘๖ เมืองจุงกิง พลตรีหม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน์ พระเชษฐาของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๗ ผู้นำเสรีไทยสายอังกฤษ ได้บินจากกองกำลัง ๑๓๖ อังกฤษที่อินเดียมาที่เมืองจุงกิง เพื่อพบกับจำกัด

ม.จ.ศุภสวัสดิ์ฯ ทราบข่าวจากฝ่ายอังกฤษว่า ตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคม มีผู้แทนเสรีไทยเดินทางมาอยู่ที่จุงกิง จึงติดต่อขอพบนายจำกัด แต่ทางการจีนปัดว่านายจำกัดไม่ต้องการพบ

ขณะเดียวกัน นายจำกัดก็ได้ข่าว ม.จ.ศุภสวัสดิ์ฯ มาอยู่ที่อินเดียเช่นกัน จึงเขียนจดหมายไป ๒ ฉบับ บอกว่าสำคัญมากที่เขาและ ม.จ.ศุภสวัสดิ์ฯ จะต้องพบกัน

ด้วยจดหมายของนายจำกัด ทำให้ ม.จ.ศุภสวัสดิ์ฯ ใช้ยืนยันกับทางการจีนได้ว่า นายจำกัดยินดีจะพบกับท่าน ทำให้การบอกปัดของจีนว่า จำกัดไม่ต้องการพบ ไม่เป็นผล

ทั้งนี้ ฝ่ายเจ้ากับนายปรีดีบาดหมางกันมาตั้งแต่เหตุการณ์ ๒๔๗๕ การพบกันระหว่าง ม.จ.ศุภสวัสดิ์ฯ กับนายจำกัดจึงมีความสำคัญเป็นที่สุดต่อเอกภาพของขบวนการเสรีไทย

ระหว่างวันที่ ๕-๑๑ สิงหาคม ๒๔๘๖ นายจำกัดพบกับ ม.จ.ศุภสวัสดิ์ฯ ทุกวัน วันละหลายชั่วโมง เป็นเวลา ๗ วันต่างฝ่ายต่างเชื่อถือกันและกัน เห็นด้วยกันและตกลงกันในแนวนโยบายและปฏิบัติการเดียวกัน ในเรื่องซึ่งมีผลประโยชน์สำคัญยิ่งต่อประเทศ

ในเรื่องการเมืองของประเทศไทย ม.จ.ศุภสวัสดิ์ฯ เห็นว่า นายปรีดีเป็นผู้ที่มีหัวใจอยู่กับผลประโยชน์ของชาติ ท่านยอมรับให้นายปรีดีเป็นหัวหน้าคณะเสรีไทย ยอมรับให้คณะของนายปรีดีเป็นผู้นำประเทศ คนไทยต้องไม่แตกแยกกัน ต้องรวบรวบขบวนการเสรีไทยทุกสายให้เป็นเอกภาพให้ได้ ท่านเองไม่ต้องการอำนาจ ของเพียงให้คณะของนายปรีดีเล่นการเมืองอย่างยุติธรรม (fair play in politics ) เมื่อสงครามเสร็จสิ้นแล้วขอให้ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยแท้จริง

นายจำกัดยืนยันว่า คณะของนายปรีดีก็ต้องการเช่นนั้น

ม.จ.ศุภสวัสดิ์ฯ ได้ถามว่า จะจัดการอย่างไรกับนักโทษการเมืองขณะนั้น ซึ่งก็คือเจ้าและพวกฝ่ายเจ้า

นายจำกัดบอกว่า จะปล่อยทั้งหมด ทำให้ ม.จ.ศุสวัสดิ์ฯ ดีใจมาก

นายจำกัดและ ม.จ.ศุภสวัสดิ์ฯ ได้แลกเปลี่ยนข้อมูลต่อกัน นายจำกัดได้ให้ข้อมูลว่า กำลังของคณะเสรีไทยในประเทศประกอบด้วยทหารเรือและกองโจร ๓๐ กอง กำลังส่วนใหญ่คือพวกทหารเรือ และผู้สนับสนุนหลวงประดิษฐ์ฯ กับพลพรรคชาวบ้าน อาวุธเป็นของทหารเรือ ของส่วนตัว และที่แย่งได้มาจากญี่ปุ่น เราเคลื่อนไหวแบบกองกำลังใต้ดิน คอยตัดเส้นทางลำเลียง ขโมยเสบียง ก่อนกวนพวกญี่ปุ่น เราหวังว่าสัมพันธมิตรจะช่วยเราต้านทหารด้วย

ด้าน ม.จ.ศุภสวัสดิ์เล่าว่า ได้นำนักเรียนไทย ๒๑ คนที่อาสาสมัครเป็นเสรีไทยมาฝึกทหารอยู่ที่เมืองปูนา อินเดีย คณะเสรีไทยอังกฤษได้รับเบี้ยเลี้ยงจากรัฐบาลอังกฤษ และพยายามติดต่อกับ ม.ร.ว.เสนีย์ แต่ไม่ได้รับคำตอบและไม่ได้รับการติดต่อจาก ม.ร.ว.เสนีย์ แต่จะพยายามใหม่ และชวนให้นายจำกัดรีบเดินทางไปวอชิงตันเพื่อพบ ม.ร.ว.เสนีย์ แล้วชวนท่านต่อไปลอนดอน จากนั้นช่วยกันเจรจากับอังกฤษให้รับรองคณะเสรีไทย เมื่อเราพูดเป็นเสียงเดียวกันหนักแน่น สัมพันธมิตรก็จะต้องรับรองเรา

เมื่อฝ่ายนายปรีดีและเสรีไทยสายอังกฤษตกลงกันได้ มีผลทำให้สถานทูตไทยที่วอชิงตันอนุโลมตาม หากฝ่ายผู้นำการเมืองหลายกลุ่มไม่สามารถตกลงกันได้ หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ประเทศไทยอาจถูกตัดแบ่งเป็นไทยเหนือ–ไทยใต้

นายปรีดี ด้วยความสนับสนุนจากจีน ปกครองไทยเหนือ ติดกับเขตอิทธิพลจีน

ม.จ.ศุภสวัสดิ์ฯ และ ม.ร.ว.เสนีย์ ด้วยความสนับสนุนจากอังกฤษ ปกครองกรุงเทพฯ และไทยใต้ ติดกับดินแดนมลายูของอังกฤษ

การแบ่งแยกประเทศชาติหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ อันเป็นผลจากการแตกแยกและต่อสู้ระหว่างพลังการเมืองภายในชาติ มีให้เห็นอยู่แล้วในกรณีเวียดนาม เกาหลี และเยอรมนี

ทั้งนี้ นายฉันทนาได้เขียนถึงฉากการพบกันระหว่างนายจำกัดกับ ม.จ.ศุภสวัสดิ์ไว้ในหนังสือ X.O Group โดยบรรยายว่า “ใน ม.จ.ศุภสวัสดิ์ฯ จำกัดได้พบทั้งมือที่พร้อมสำหรับกางออกต้อนรับ และใจซึ่งพร้อมที่จะสนับสนุนแผนการและอุดมคติของเขาอย่างเต็มที่ ในเจ้าชายเชื้อพระวงศ์องค์นี้ เขาได้พบคนไทยที่บูชาประชาธิปไตย….”

ข้อมูลจาก  thaipublica.org
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 67  เมื่อ 20 ธ.ค. 14, 09:28

จดหมายของจำกัด พลางกูร เขียนถึง ม.จ.ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน์ ที่มา: ๑ ศตวรรษ ศุภสวัสดิ์


บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 68  เมื่อ 20 ธ.ค. 14, 09:41

ฉากสุดท้าย

แต่นายจำกัด พลางกูร ไม่ได้ไปกรุงวอชิงตันตามที่กำหนดไว้ เขาถึงแก่กรรมที่จุงกิง แพทย์จีนสันนิษฐานว่าเป็นโรคมะเร็งในลำไส้ เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2486 ในวันหนุ่มฉกรรจ์ อายุเพียง 26 ปี และด้วยวาจาครั้งสุดท้ายที่แผ่วออกมาว่า

   “เพื่อชาติ-เพื่อHumanity….”

นายสงวน ตุลารักษ์ กับนายแดง คุณะดิลก จัดการฌาปนกิจศพนายจำกัด พลางกูรที่วัดเล็กๆ แห่งหนึ่งในจุงกิง และนำอัฐิของนายจำกัดพร้อมด้วยสมุดไดอารี่ซึ่งมีคุณค่าในประวัติศาสตร์เสรีไทยติดตัวไปด้วย เมื่อเดินทางไปกรุงวิชิงตัน แล้วนำมามอบให้นายปรีดี พนมยงค์ เมื่อนายสงวนเดินทางกลับประเทศไทยในตอนปลายสงคราม

ช่วงหลังการพบกับเจียง ไคเชก และการพบกับ ม.จ.ศุภสวัสดิ์ฯ ฐานะของนายจำกัดดีขึ้นมากในสายตาของทั้งจีนและอังกฤษ เขาได้รับเชิญไปเยี่ยมคณะยุวชนซันหมินจู่ยี่ ได้รับการต้อนรับอย่างดีเยี่ยมแบบเป็นผู้แทนประเทศ ตรวจแถวกองเกียรติยศ และ กล่าวสุนทรพจน์ต่อนักศึกษา และอาจารย์นับพันคน

ทางการจีนยังได้ย้ายเขาไปอยู่ที่โรงแรม Victory House โรงแรมชั้นหนึ่งของเมืองจุงกิง และให้เงินใช้ แต่สุขภาพของจำกัดกลับทรุดลงอย่างหนัก ส่วนไพศาล จำกัดได้ส่งไปดูลาดเลาที่คุหมิง ตั้งแต่วันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๔๘๖

๑ กันยายน นายสงวน ตุลารักษ์ และ ครอบครัวและผู้ติดตาม ๗ คน เดินทางมาถึงจุงกิง คณะของนายสงวนได้รับหมอบหมายจากนายปรีดีให้มาตามนายจำกัด เพราะนายปรีดีไม่ได้ข่าวของเขาอีกเลยหลังจากข่าววิทยุจุงกิง วันที่ ๑๖ เมษายน เพียงครั้งเดียว

๒ กันยายน นายจำกัดได้พบกับคณะของนายสงวน เขาผิดหวังที่นางฉลบชลัยย์ ผู้เป็นภริยา ไม่ได้มาด้วย เขาพยายามหักห้ามใจคิดว่า ถ้าเธอมาคงลำบาก เขาได้ลาเธอเป็นครั้งสุดท้ายแล้ว ถ้าไม่พบกันอีก ก็หมายความว่าเขาได้เต็มใจสละชีวิตเพื่อประเทศชาติไปแล้ว งานที่เขาได้ทำไว้แล้วเพื่อกู้เอกราชคงจะออกดอกออกผลในภายหลัง เขาขอให้นางฉลบชลัยย์คิดว่า นางได้อุทิศเขาให้แก่ชาติไปแล้ว

๘ กันยายน นายจำกัดเริ่มป่วยหนัก และไปพบหมอ

๑๑-๑๕ กันยายน เขาอาการดีขึ้นเล็กน้อย

๑๗ กันยายน เป็นต้นมา อาการเขาทรุดลงไปอีก กินอะไรก็อาเจียน เพลียมากขึ้น

๑๘ กันยายน เขาเขียนบันทึกเป็นวันสุดท้าย ย่อหน้าสุดท้ายของบันทึกเขาเขียนว่า “ข้าพเจ้ากลุ้มใจเรื่องการเจ็บไข้นี่ของข้าพเจ้าจริง ๆ ต้องนอนซมอยู่เรื่อย เบื่อเต็มทนแล้ว คิดถึงฉลบเหลือทน”

๗ ตุลาคม ๒๔๘๖เวลา ๐๑.๑๐ น. นายจำกัด พลางกูร วัย ๒๘ ปี ผู้แทนคณะเสรีไทย เสียชีวิตที่โรงพยาบาล Canadian Mission Hospital เมืองจุงกิง

แพทย์ชาวแคนนาดาลงความเห็นว่า เขาป่วยเป็นมะเร็งที่ตับและกระเพาะอาหาร แต่ยังมีความสงสัยในหมู่เจ้าหน้าที่สืบราชการลับของฝ่ายสัมพันธมิตรว่า เขาอาจถูกวางยาพิษโดยฝ่ายจีนหรือโดยฝ่ายญี่ปุ่น เจ้าหน้าที่คนหนึ่งที่มาดูแลเขาถูกจับได้ในปีถัดมาว่าเป็นสายลับญี่ปุ่น และถูกยิงเป้า

โรงพยาบาล Canadian Mission Hospital ตั้งอยู่บนภูเขาคนละฝั่งแม่น้ำกับตัวเมืองจุงกิง เงียบ และห่างไกลผู้คน เมื่อนายสงวนทราบข่าวว่าจำกัดจะเสียชีวิตในคืนนั้น นายสงวนไม่สามารถไปเยี่ยมจำกัดที่โรงพยาบาลได้ เพราะไม่มีเรือข้ามฟากแล้ว

นายจำกัดเสียชีวิตอย่างเดียวดาย ก่อนสิ้นใจ เขาเอ่ยทบทวนคำกำชับภารกิจจากหัวหน้าคณะเสรีไทย “เพื่อชาติ เพื่อ humanity”

ข้อมูลจาก  thaipublica.org
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 69  เมื่อ 20 ธ.ค. 14, 09:54

มีคนถามว่า ทำไมฉันไม่รั้งเขาไว้ ฉันรั้งไม่ได้หรอก ฉันต้องสนับสนุนเขาแทนที่จะไปรั้งเขาไว้ การที่เขาได้มาร่วมเสรีไทย ทำให้เขามีโอกาสรับใช้ชาติ ถ้าเขาขาดตรงนี้ไปเขาคงเสียใจมาก ถ้าไม่ได้เข้าร่วมงานนี้ เขาจะเสียใจ เพราะฉะนั้นฉันก็ไม่กล้าขัด ต้องสนับสนุนเขา

ฉลบชลัยย์ พลางกูร
๓๑ สิงหาคม ๒๕๕๖

บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 70  เมื่อ 20 ธ.ค. 14, 09:56

อ้างถึง
นายจำกัดและ ม.จ.ศุภสวัสดิ์ฯ ได้แลกเปลี่ยนข้อมูลต่อกัน นายจำกัดได้ให้ข้อมูลว่า กำลังของคณะเสรีไทยในประเทศประกอบด้วยทหารเรือและกองโจร ๓๐ กอง กำลังส่วนใหญ่คือพวกทหารเรือ และผู้สนับสนุนหลวงประดิษฐ์ฯ กับพลพรรคชาวบ้าน อาวุธเป็นของทหารเรือ ของส่วนตัว และที่แย่งได้มาจากญี่ปุ่น เราเคลื่อนไหวแบบกองกำลังใต้ดิน คอยตัดเส้นทางลำเลียง ขโมยเสบียง ก่อนกวนพวกญี่ปุ่น เราหวังว่าสัมพันธมิตรจะช่วยเราต้านทหารด้วย
ตรงนี้เป็นการโยงเอาอุบัติการณ์ไทยถีบ ซึ่งเกิดจากพวกหัวขโมยได้ส่งคนขึ้นไปถีบสัมภาระที่ญี่ปุ่นลำเลียงโดยทางรถไฟ ไปส่งเสบียงกองทัพของตนในมลายา เมื่อถีบหีบห่อลงมาตามจุดนัดหมายแล้ว พรรคพวกที่รออยู่บนดินก็นำเอาสินค้าเหล่านั้นไปขายในตลาดมืด เป็นวิถีโจรตามปกติไม่เกี่ยวอะไรกับขบวนการเสรีไทยในประเทศเลย (ถ้าคิดว่ามีก็ช่วยกันค้นด้วยครับ ไม่เอาเรื่องประเภทได้ยินมาว่านะครับ ขอร้อง) ภายหลังญี่ปุ่นรู้เข้าก็จัดการขั้นเด็ดขาด อุบัติการณ์นี้จึงเพลาๆลง

ตอนที่นายจำกัดพบกับ ม.จ.ศุภสวัสดิ์ในจุงกิง เสรีไทยในประเทศยังมีแค่หัวหน้าและผู้ร่วมอุดมการณ์ไม่กี่คน กองกำลังจัดตั้งยังไม่มีเพราะยังติดต่อสัมพันธมิตรให้ส่งอาวุธช่วยเหลือไม่ได้เลย
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 71  เมื่อ 20 ธ.ค. 14, 10:07

อ้างถึง
ด้าน ม.จ.ศุภสวัสดิ์เล่าว่า ได้นำนักเรียนไทย ๒๑ คนที่อาสาสมัครเป็นเสรีไทยมาฝึกทหารอยู่ที่เมืองปูนา อินเดีย คณะเสรีไทยอังกฤษได้รับเบี้ยเลี้ยงจากรัฐบาลอังกฤษ และพยายามติดต่อกับ ม.ร.ว.เสนีย์ แต่ไม่ได้รับคำตอบและไม่ได้รับการติดต่อจาก ม.ร.ว.เสนีย์ แต่จะพยายามใหม่ และชวนให้นายจำกัดรีบเดินทางไปวอชิงตันเพื่อพบ ม.ร.ว.เสนีย์ แล้วชวนท่านต่อไปลอนดอน จากนั้นช่วยกันเจรจากับอังกฤษให้รับรองคณะเสรีไทย เมื่อเราพูดเป็นเสียงเดียวกันหนักแน่น สัมพันธมิตรก็จะต้องรับรองเรา

เมื่อฝ่ายนายปรีดีและเสรีไทยสายอังกฤษตกลงกันได้ มีผลทำให้สถานทูตไทยที่วอชิงตันอนุโลมตาม

ท่านทำงานวิจัยก่อนเขียนบทยังไง จึงไม่พบความจริงที่ว่า นักเรียนไทยในอังกฤษทราบข่าวของการจัดตั้งเสรีไทยขึ้นที่สหรัฐอเมริกา จึงทำหนังสือถึง ม.ร.ว.เสนีย์  ปราโมช  อัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน  แจ้งให้ทราบว่า คนไทยในอังกฤษมีความปรารถนาจะเข้าร่วมในขบวนการเสรีไทย  และขอเชิญให้ ม.ร.ว.เสนีย์เดินทางมาอังกฤษ เพราะที่นั่นหาผู้นำไม่ได้ ทาบทามแล้วไม่มีผู้ใหญ่ยอมรับ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงศ์ ทรงปฏิเสธว่าไม่มีพระประสงค์จะเกี่ยวข้องกับการเมือง  และได้ทรงสมัครเข้ารับหน้าที่ในกองรักษาดินแดนของอังกฤษอยู่แล้ว   สำหรับสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี  พระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๗  และ ม.จ.ศุภสวัสดิ์วงส์สนิท สวัสดิวัตน์ พระเชษฐา สนพระทัยที่จะร่วมงานกับเสรีไทย แต่ทรงขัดข้องว่าหากทรงรับเป็นผู้นำ อาจจะทำให้เกิดความเข้าใจผิดในด้านการเมืองในประเทศไทยได้

สุดท้ายม.ร.ว.เสนีย์ได้ส่งนายมณี  สาณะเสนเดินทางจากกรุงวอชิงตันถึงกรุงลอนดอน  ก่อนออกเดินทาง กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐได้ให้ความเห็นชอบปฏิบัติการนี้

นายมณีได้ติดต่อสถานเอกอัครราชทูตอังกฤษเพื่อขออนุมัติเดินทางไปลอนดอนด้วยวัตถุประสงค์  ๓ ประการ
(๑) ประสานงานกับคนไทยในอังกฤษและยุโรป 
(๒) ปรึกษาหารือกับฝ่ายอังกฤษและสหประชาชาติในการประชาสัมพันธ์
(๓) คัดเลือกบุคคลเพื่อจัดตั้งหน่วยทหารอาสาสมัครที่จะส่งเข้าไปปฏิบัติการในประเทศไทย

เสรีไทยสายอังกฤษได้ถูกจัดตั้งขึ้นเป็นผลสำเร็จจากการประสานงานของนายมณี  สาณะเสน อาสาสมัครเสรีไทยเหล่านี้ได้รับการฝึกทหารแล้วจึงได้รับการส่งตัวไปรอปฏิบัติงานในประเทศไทยอยู่ที่เมืองปูนา ประเทศอินเดีย
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 72  เมื่อ 20 ธ.ค. 14, 10:12

อ้างถึง
เมื่อฝ่ายนายปรีดีและเสรีไทยสายอังกฤษตกลงกันได้ มีผลทำให้สถานทูตไทยที่วอชิงตันอนุโลมตาม หากฝ่ายผู้นำการเมืองหลายกลุ่มไม่สามารถตกลงกันได้ หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ประเทศไทยอาจถูกตัดแบ่งเป็นไทยเหนือ–ไทยใต้

นายปรีดี ด้วยความสนับสนุนจากจีน ปกครองไทยเหนือ ติดกับเขตอิทธิพลจีน

ม.จ.ศุภสวัสดิ์ฯ และ ม.ร.ว.เสนีย์ ด้วยความสนับสนุนจากอังกฤษ ปกครองกรุงเทพฯ และไทยใต้ ติดกับดินแดนมลายูของอังกฤษ

การแบ่งแยกประเทศชาติหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ อันเป็นผลจากการแตกแยกและต่อสู้ระหว่างพลังการเมืองภายในชาติ มีให้เห็นอยู่แล้วในกรณีเวียดนาม เกาหลี และเยอรมนี

ระหว่างศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร. ฉัตรทิพย์ นาถสุภา กับนายกิเลน ไม่รู้ใครลอกใคร นี่เป็นเรื่องมโนล้วนๆ แล้วยัดเยียดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงเข้าสู่แมมโมรี่ของคนดู ซึ่งเป็นคนยุคใหม่ไม่ได้สนใจรายละเอียดในประวัติศาสตร์

ละครเรื่องนี้ใช้นายจำกัด พลางกูรเป็นเครื่องมือในการเชิดชูการเมืองค่ายหนึ่ง เพื่อข่มอีกค่ายหนึ่ง
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 73  เมื่อ 20 ธ.ค. 14, 10:23

การแบ่งแยกประเทศชาติในกรณีเวียดนาม เกาหลี และเยอรมนีเป็นการแบ่งระหว่างการปกครองตามระบอบคอมมิวนิสต์ กับระบอบทุนนิยมเสรี ที่ทั้งสองฝ่ายอ้างว่าเป็นประชาธิปไตยทั้งคู่

อ้างถึง
นายปรีดี ด้วยความสนับสนุนจากจีน ปกครองไทยเหนือ ติดกับเขตอิทธิพลจีน

ม.จ.ศุภสวัสดิ์ฯ และ ม.ร.ว.เสนีย์ ด้วยความสนับสนุนจากอังกฤษ ปกครองกรุงเทพฯ และไทยใต้ ติดกับดินแดนมลายูของอังกฤษ

นี่แปลว่านายปรีดี ด้วยความสนับสนุนจากจีน ปกครองไทยเหนือ ติดกับเขตอิทธิพลจีนจะเป็นฝ่ายคอมมิวนิสต์  ส่วนม.จ.ศุภสวัสดิ์ฯ และ ม.ร.ว.เสนีย์ (ฝ่ายเจ้า) ด้วยความสนับสนุนจากอังกฤษ ปกครองกรุงเทพฯ และไทยใต้ ติดกับดินแดนมลายูของอังกฤษ จะเป็นราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ(เอาศัพท์ที่พวกเค้านิยมใช้มาใช้หน่อย) กระนั้นหรือ
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 74  เมื่อ 20 ธ.ค. 14, 10:24

อาจารย์ฉัตรทิพย์เขียนเรื่องนี้โดยอาศัยบันทึกของคุณจำกัด เรื่องใน #๗๐ และ #๗๑ คุณนวรัตนสามารถตรวจสอบได้ว่ามีอยู่ในบันทึกของคุณจำกัดหรือไม่ บันทึกนี้ปัจจุบันเก็บไว้ที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติ  ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 3 4 [5] 6 7
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.084 วินาที กับ 19 คำสั่ง