เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 2 3 [4] 5 6 7
  พิมพ์  
อ่าน: 12700 ชีวิตและผลงานของเสรีไทยที่ถูกอ้างอิงเพื่อใช้ประโยชน์มากที่สุด
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 45  เมื่อ 19 ธ.ค. 14, 11:29

โชคดี วันนี้ได้คุณหมู เลขาของผมเองช่วยพิมพ์ให้ จากที่คิดว่าต้องใช้เวลาสองสามวัน ก็กลายเป็นแค่สองสามชั่วโมง การคัดลอกเอกสารซึ่งได้มาจากบันทึกของนายจำกัด พลางกูรโดยตรง รวมทั้งของม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมท ผ่านการเรียบเรียงโดยเสรีไทยตัวจริง ดร.วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร มานำลงในกระทู้นี้โดยไม่ตัดทอนเสริมแต่ง จึงพร้อมที่จะใช้อ้างอิงได้แล้ว

จึงขอเชิญคุณเพ็ญชมพูและทุกท่าน นำเสนอเรื่องราวอื่นๆที่พบในเน็ท โดยกล่าวถึงเสรีไทยท่านนี้ในทัศนคติต่างๆบ้างได้แล้วครับ

 
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 46  เมื่อ 19 ธ.ค. 14, 13:14

ระหว่างที่รอคุณเพ็ญในเรื่องที่เกี่ยวกับเสรีไทยในวันที่ใกล้ถูกลืม
ผมขอนำตัวอย่างการอ้างอิงเพื่อใช้ประโยชน์จากความเสียสละของนายจำกัด พลางกูร จากบางเวปเพจที่หาเจอบนเน็ท  
บทความที่ ๑๘๑. สุลักษณ์ ศิวรักษ์ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับเรื่องท่านปรีดีฯ

ถาม เรื่องเสรีไทย อาจารย์ปรีดีกับอาจารย์เสนีย์ มีบทบาทอย่างไร

ส. คุณต้องเข้าใจนะว่า เสนีย์น่ะเป็นประเด็นเล็กมากในขบวนการเสรีไทยทั้งหมด วิธีจะดูนี่ คุณต้องถามคนรุ่นนั้นดู อาจารย์เสนีย์นี่แกนึกว่าแกใหญ่ตลอดเวลา ข้อเสียของเสนีย์นี่ แกสอบได้ที่ ๑ เป็นนักเรียนอังกฤษแกเลยนึกว่าแกที่หนึ่งตลอดเวลา ความจริงแกเล็กมากในขบวนการเสรีไทย คุณอย่าเชื่อผม คุณไปถามนักเรียนไทยในอเมริกาเวลานั้นทั้งหมด ไม่มีใครเขานับถือชอบพอเสนีย์ คุณอ่านหนังสือที่พระพิศาลสุขุมวิทเขียน หลังสงครามแล้วไปติดต่อกับอเมริกาต่างๆ ก็ชัดเจนว่าไม่ได้ติดต่อผ่านเสนีย์เลย ติดต่อกับอเมริกาโดยตรง

เพราะฉะนั้นเสนีย์แกมีบทบาท ไม่ใช่ไม่มีบุญคุณ แกมี แต่บทบาทและบุญคุณแกน้อยมาก แต่แกนึกว่าแกยิ่งใหญ่ คุณลองนึกดูว่าแกยิ่งใหญ่เท่าท่านปรีดีหรือไม่ ถ้าไม่มีอาจารย์ปรีดี ทำสำเร็จได้หรือไม่ ทำไม่ได้ ท่านปรีดีเวลานั้นท่านเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ด้วย สำคัญเหลือเกิน

ท่านติดต่ออังกฤษ อเมริกาโดยตรง เสนีย์เข้ามาเกี่ยวน้อย แล้วถ้าเสนีย์ทำดีๆ แล้วคุณจำกัด พลางกูรจะไม่ต้องตาย แต่คุณเสนีย์สนใจแต่ตัวเอง ลองไปถามนักเรียนไทยดู...แกเป็นคนแคบ เป็นคนไม่กว้างเลยและเป็นคนที่ไม่มีเวลาให้กับคนอื่น

บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 47  เมื่อ 19 ธ.ค. 14, 13:17

ถาม เรื่องเสรีไทยที่ชื่อจำกัด พลางกูร ที่ถูกส่งไปเมืองจีนแล้วอาจารย์เสนีย์ ปราโมชบอกไม่รู้จัก

ส. เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นเรื่องที่อาจารย์ปรีดีส่ง(นายจำกัด)ไปเมืองจีนจริง เรื่องมันซับซ้อนมาก ถ้ามาพูดตอนนี้มันจะไขว้เขว มีคนสงสัยว่าจีนจะแอบฆ่า อะไรต่างๆแต่อันนี้ก็พิสูจน์ไม่ได้ พูดกันไปก็ทะเลาะกันเปล่า ๆ แต่ที่ท่านไปตายประเทศจีน ที่จริงเรื่องนี้พูดกันตรงไปตรงมาแล้ว เขาไม่มีเอกสารเปิดเผย แล้วคนที่นั่นเขายังอยู่ เป็นใหญ่เป็นโต เป็นหัวหน้าพรรคเวลานี้ ท่านปรีดีติดต่อให้เขาไปคนแรก ที่เขาอ้างว่าเขารักชาติ แต่เขาไม่ไป! ที่ให้เขาไปเพราะมันมีประโยชน์ เพราะหัวหน้าเสรีไทยในอเมริกาเป็นหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช เขาอ้างว่ารักชาติ แต่เขารักชาติโดยทำเฉพาะสิ่งที่เขาจะได้หน้า นี่มันเสี่ยงชีวิต คุณจำกัดแกก็ไป แกเป็นคนใจนักเลง มีวิชาความรู้ไม่น้อยกว่าคึกฤทธิ์ แกก็เสียสละไป แล้วไปก็ไม่ใช่ไปง่าย ภรรยาไปส่งกันที่ชายแดน ข้ามไปเมืองลาว จากลาวข้ามไปญวน จากญวนถึงจะทะลุเข้าไปทางฮานอย ต้องหาทางเข้าเมืองจีนเอง เรื่องมันหโหฬาร

บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 48  เมื่อ 19 ธ.ค. 14, 13:21

ถาม ภาพที่ออกมานี่ในขบวนเสรีไทย อาจารย์เสนีย์จะเด่นมาก

ส. อ้าว ธรรมดาที่คุณเรียนที่เค้าจะต้องยกย่องเสนีย์เรื่องเสรีไทย การเปลี่ยนแปลงการปกครองนี่ก็ไปยกย่องเจ้าคุณพระยามโนฯ เขาพยายามลบท่านปรีดีฯออกจากประวัติศาสตร์เพราะอะไร? เพราะประวัติศาสตร์ไทยเป็นประวัติศาสตร์ของอธรรม หลวงประดิษฐ์มนูธรรมท่านอยู่ฝ่ายธรรมะ ผมเองก็เติบโตมาด้วยการเกลียดหลวงประดิษฐ์ฯ เพราะว่าประวัติศาสตร์ไทยมอมเมา ให้เห็นว่าประชาธิปไตยเป็นของเลว ราชาธิปไตยเป็นของดี หลวงประดิษฐ์ฯท่านอยู่ฝ่ายประชาธิปไตย คุณเสนีย์อยู่ฝ่ายราชาธิปไตย เขาเป็นหม่อมราชวงศ์ ประชาธิปัตย์นี่ก็อยู่ฝ่ายราชาธิปไตยไม่ได้อยู่ฝ่ายประชาธิปไตย แล้วเวลานี้พรรคการเมืองทั้งหมดนี่มีแนวโน้มจะกลับไปหาราชาธิปไตย

ดูซิระบบโรงเรียน ระบบหนังสือพิมพ์ก็ปกครองด้วยระบบราชาธิปไตยทั้งนั้น มีฟังเสียงผู้น้อยหรือเปล่า แต่หลวงประดิษฐ์ท่านต้องการให้เป็นอีกอย่างหนึ่งครับ เพราะฉะนั้นเขาก็ไม่อยากให้มีคนอย่างท่าน ประเด็นมันอยู่ตรงนี้ คือเขาต้องการจะลบท่านออกจากประวัติศาสตร์ อะไรที่เขาปฏิเสธไม่ได้ก็บอกว่ามันเป็นเรื่องเล็กนิดเดียว การแก้สนธิสัญญาสิทธิสภาพนอกอาณาเขตครั้งสุดท้ายท่านปรีดีฯเป็นคนเดินทางไปเจรจา แต่พวกนี้กลับมายกย่องฟรานซิสบีแซ บีแซนี่ต่อต้านประเทศไทยอย่างหนักเลย ต่อต้านครั้งสุดท้ายไม่ให้มีประชาธิปไตยเสนอพระปกเกล้าฯ แล้วเราก็มาเชื่อฝรั่ง ในสมัยของหลวงประดิษฐ์ฯนั้นท่านร่างกฎหมายขัดผลประโยชน์ของอเมริกัน นายบีแซเลยวีโต้ในฐานะที่ปรึกษาระหว่างประเทศแล้วเราก็ยกย่อง มีถนนกัลยาณมิตร บีแซ อยู่ข้างกระทรวงต่างประเทศ เราช่วยยกย่องคนเหล่านี้เพราะเขาเป็นประโยชน์กับชนชั้นปกครอง

บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 49  เมื่อ 19 ธ.ค. 14, 13:23

ถาม เรื่องที่จีนขอเข้ามาปลดอาวุธญี่ปุ่นในเมืองไทย

ส. อันนี้จริงทีเดียว เพราะงั้นถึงส่งจำกัด พลางกูร ไปเจรจากับเจียง ไคเช็ค ถึงต้องติดต่อกับอเมริกัน ที่นายจำกัดถูกฆ่าเพราะเหตุนี้  ถ้าจีนเข้ามาเมืองไทย เราก็จะกลายเป็นเหมือนเกาหลีเหนือ เกาหลีใต้ กองทัพของจีนตอนนี้ก็ยังอยู่-กองพล ๙๓ ตอนแรกก็ไม่ยอมรับ ตอนหลังก็รับออกมา นี่เป็นบุญคุณสำคัญของท่านปรีดีฯ แต่เราก็พยายามไม่นึกถึงกัน ถ้าไม่มีท่านเรื่องนี้(เรื่องต่อต้านการแบ่งไทย) ก็ไม่สำเร็จ

บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 50  เมื่อ 19 ธ.ค. 14, 13:27

ท่านที่ติดตามกระทู้ที่แล้วมาที่กระทู้นี้ คงจะเห็นนะครับว่านักคิดนักพูดที่คนกลุ่มหนึ่งยกย่องว่าเป็นปัญญาชนสยามนั้น ในสมองของท่านมีแพะกับแกะชนกันวุ่นวายขนาดไหน
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 51  เมื่อ 19 ธ.ค. 14, 13:46

ระหว่างที่รอคุณเพ็ญในเรื่องที่เกี่ยวกับเสรีไทยในวันที่ใกล้ถูกลืม

จำกัด พลางกูร : เสรีไทยในวันที่ใกล้ถูกลืม หัวข้อนี้จริงหรือไม่ มีตัวอย่างเล็ก ๆ น้อย ๆ จากบทความของ คุณวิกกี้ มานำเสนอ


บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 52  เมื่อ 19 ธ.ค. 14, 14:07

ผมขอนำตัวอย่างการอ้างอิงเพื่อใช้ประโยชน์จากความเสียสละของนายจำกัด พลางกูร จากบางเวปเพจที่หาเจอบนเน็ท  
บทความที่ ๑๘๑. สุลักษณ์ ศิวรักษ์ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับเรื่องท่านปรีดีฯ

ขอยกตัวอย่างเพิ่มอีกบทความหนึ่ง

บทความที่ ๓. ความทรงจำของ ดร. วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร เกี่ยวกับท่านปรีดี พนมยงค์

จากปลายปี ๒๔๙๒ จนกระทั่งต้น  ๆปี ๒๕๑๓ ผมไม่เคยพบท่านปรีดีและคุณอาพูนศุขเลย รู้แต่ว่าอยู่เมืองจีน ในปี ๒๕๑๓ จึงได้ทราบว่าทั้งสองท่านย้ายมาพำนักอยู่ที่กรุงปารีส

บังเอิญในปีนั้นผมมีราชการต้องไปประชุมที่กรุงเวียนนาและรัฐบาลฝรั่งเศสได้ถือโอกาสเชิญให้ผมไปดูงานที่ปารีส ท่านปรีดีและท่านผู้หญิงได้กรุณามารับผมและครอบครัวที่สนามบิน จึงเป็นโอกาสแรกใน ๒๑ ปีที่ได้กราบเท้าท่านผู้ใหญ่ทั้งสอง และการเยือนปารีสของผมคราวนั้นก็เป็นโอกาสเดียวที่ได้พูดคุยกับท่านปรีดีเป็นเวลานาน ๆ ท่านกำลังมีอายุครบ ๗๐ ปี ยังกระฉับกระเฉงตามวัย และยังจิบไวน์ได้

เมื่อผมศึกษาบทบาทของท่านปรีดีในอีก ๑๐ ปีต่อมาเพื่อเขียนชีวประวัติของท่านเป็นภาษาอังกฤษ ผมได้พบสิ่งที่ผมไม่เคยทราบมาก่อน เช่นบทบาทอันโดดเด่นและเด็ดเดี่ยวของท่านทั้งในการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี ๒๔๗๕ และในการพิทักษ์เอกราชและอธิปไตยของชาติโดยผ่านปฏิบัติการเสรีไทย

ท่านปรีดีได้นำการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ที่ท่านชอบเรียกว่า “ระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญประชาธิปไตย” มาสู่เมืองไทย

ท่านปรีดี พนมยงค์ เน้นความสำคัญของราชาธิปไตยรัฐธรรมนูญ และประชาธิปไตย ในฐานะสถาบันที่จะต้องสถิตสถาพรอยู่คู่ชาติไทยชั่วกัลปาวสาน

การเมืองในระบอบประชาธิปไตยที่คนไทยยุคปัจจุบัน “เล่น” กันอยู่ในทุกวันนี้ ท่านปรีดีเป็นผู้สร้างกติกาไว้ให้ ท่านเป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่สถาปนาการปกครองระบอบใหม่ในประเทศไทยเมื่อวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๔๗๕ และมีบทบาทสำคัญมาก ๆ ในการร่างรัฐธรรมนูญอีกสองฉบับต่อมา

ในส่วนของงานเสรีไทยระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ นั้น ท่านปรีดีเป็นผู้เดียวที่ตัดสินใจและกำหนดแผนการต่าง ๆ ตลอดจนออกคำสั่งให้การปฏิบัติการเดินไปสู่จุดหมาย สำหรับบุคคลอื่น ๆ นั้นเป็นผู้รับคำสั่งจากท่านนำไปปฏิบัติ

ท่านปรีดีได้ทำให้ประเทศไทยไม่ต้องตกเป็นผู้แพ้สงครามให้เป็นรอยมนทินว่า “กรุงแตก” ครั้งที่ ๓ ท่านจัดการให้รัฐบาลไทยไม่ต้องทำการยอมจำนน กองทัพไทยไม่ต้องวางอาวุธ และดินแดนไทยไม่ต้องถูกยึดครอง นี่คือบทบาทของท่านปรีดี พนมยงค์ ที่ผมเห็นว่ามีคุณูปการต่อสังคมไทยอย่างยิ่ง

ผมคิดว่าข้อบกพร่องของท่านซึ่งได้นำไปสู่ความผิดพลาดในบางกรณี เนื่องมาจากเหตุสองประการ

ประการแรก ท่านมีความรักชาติอยู่ในวิญญาณและสายเลือดและยึดถือเอาประโยชน์ของชาติบ้านเมืองเป็นที่ตั้ง ตรงนี้จะทำให้คนเถียงกับท่านยากมาก และจะหักล้างเหตุผลของท่านก็ไม่ได้ นอกจากนั้นท่านปรีดีก็ยังไม่เชื่อใครเสียด้วย หากเหตุผลของผู้นั้นมิได้ตั้งอยู่บนผลประโยชน์สูงสุดของชาติ

ยกตัวอย่างเช่น ท่านปรีดีตัดสินใจที่จะตั้ง ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช อัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน ผู้ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการจัดตั้งเสรีไทยในอเมริกาขึ้นระหว่างสงคราม ให้เป็นนายกรัฐมนตรีภายหลังสันติภาพ ท่านปรีดีพิจารณาเห็นว่าภายหลังสงคราม รัฐบาลจะต้องมีเรื่องติดต่อร่วมมือและทำความเข้าใจกับฝ่ายสัมพันธมิตรอยู่มาก ดังนั้นจึงจะต้องได้บุคคลที่ฝ่ายสัมพันธมิตรรู้จักและเชื่อถือ เป็นหัวหน้ารัฐบาลไทย ซึ่งท่านเห็นว่าขณะนั้นไม่มีใครที่จะเหมาะสมไปกว่า ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช

เพียงไม่กี่สัปดาห์ที่ ม.ร.ว. เสนีย์ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีก็ปรากฏว่าได้มีปัญหาในด้านแนวความคิดและอื่นๆ หลายเรื่องที่ความเห็นไม่ค่อยจะต้องกันระหว่างนายกรัฐมนตรีกับรัฐมนตรีหลายคนและแม้กระทั่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก็ไม่ค่อยจะราบรื่น ไป ๆ มา ๆ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช ก็มีความรู้สึกว่าท่านปรีดีหักหลัง และจากนั้นก็มีท่าทีเป็นปรปักษ์ต่อท่านปรีดีมาโดยตลอด

อีกประการหนึ่ง ท่านปรีดีเป็นผู้ที่ยึดมั่นในความถูกต้อง ที่เรียกกันว่า “อวิโรธนะ” คือไม่ประพฤติผิดธรรม ด้วยหลักการนี้ท่านจึงสามารถทำอะไร (หรือไม่ทำอะไร) ที่ขัดใจผู้คนได้เสมอ ยกตัวอย่างเช่น ท่านเห็นว่าคนที่เคยเป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว ควรจะเปิดโอกาสให้ผู้อื่นเป็นบ้าง ซึ่งส่งผลทำให้มิตรกลายเป็นศัตรูไป นอกจากนั้นท่านปรีดีก็ยังไม่เป็นที่พึ่งต่อบุคคลที่มาขอความช่วยเหลือในเรื่องที่เกี่ยวกับราชการบ้านเมือง แต่ถ้าเป็นเรื่องส่วนตัวจริง ๆ แล้ว ท่านช่วยอะไรได้ก็เป็นช่วยเสมอไป ตรงนี้ก็ทำให้มีทั้งผู้โกรธเคืองและผู้ที่เคารพนับถือ

กล่าวกันว่าจุดอ่อนของท่านปรีดี พนมยงค์ อีกประเด็นหนึ่งก็คือ ท่านถูกห้อมล้อมด้วยสานุศิษย์และผู้ใกล้ชิดทางการเมือง และว่ากันว่าท่านดูเหมือนจะเชื่อคำพูดของบุคคลเหล่านี้จนเกินไป จนกระทั่งผู้ที่เข้าไม่ถึงท่าน เข้าใจท่านผิดไป หรือท่านเข้าใจเขาผิดไป ผมคงจะไม่มีความเห็นในประเด็นนี้ เพราะมิได้อยู่ใกล้ชิดท่านในสมัยนั้น แต่ผมก็คิดว่าบุคคลที่อยู่ในตำแหน่งสูง ๆ แทบทุกคนก็มักจะต้องมีปัญหาอย่างนี้

สำหรับท่านปรีดี พนมยงค์ เคยทำสิ่งใดที่ถือว่าเป็นความผิดพลาดที่สำคัญนั้น ผมเห็นว่ามีอยู่หลายเรื่อง แม้ว่าทุกเรื่องจะมีคำอธิบายที่ทำให้เข้าใจได้ว่าเหตุใดความผิดพลาดจึงเกิดขึ้น

เรื่องแรกเป็นความผิดพลาดที่ท่านปรีดีมิได้มีความอดทนพยายามอธิบาย “เค้าโครงการเศรษฐกิจ” ของท่านให้เป็นที่เข้าใจแจ่มแจ้งต่อผู้ที่ไม่เห็นด้วยเพราะขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องนั้น ๆ ท่านปรีดีในวัยหนุ่ม ๓๒ ปี ขาดความอดทนและความรอบคอบ ผลจากการนั้นก็คือ ท่านปรีดีต้องถูกส่งไปฝรั่งเศสเสียหลายเดือนอีกทั้งถูกให้ร้ายว่าเป็นคอมมิวนิสต์อีกด้วย

เรื่องที่ ๒ เป็นความผิดพลาดที่ท่านเจาะจงแต่งตั้งให้ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อหลังสันติภาพ ตามที่ได้กล่าวแล้วข้างต้น

เรื่องที่ ๓ เป็นความผิดพลาดของท่านปรีดีที่สนับสนุนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แทนฉบับ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๗๕ ซึ่งท่านเองเป็นคนสำคัญในการยกร่าง และได้ประกาศไว้แล้วว่าเป็น “รัฐธรรมนูญฉบับถาวร” การยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นแทนการแก้ไขเพิ่มเติมฉบับเดิมได้ทำลาย “ความศักดิ์สิทธิ์” ของรัฐธรรมนูญลงโดยสิ้นเชิง จากนั้นไทยก็มีรัฐธรรมนูญอีก ๑๔-๑๕ ฉบับ ซึ่งยกเลิกและร่างกันใหม่เป็นว่าเล่น

เรื่องที่ ๔ เป็นความผิดพลาดของท่านปรีดีที่ไม่ได้พยายามประนีประนอมกับท่านจอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งเป็นผู้ร่วมก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาด้วยกัน ความแตกแยกจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตามที ได้ทำให้เกิดความอ่อนแอและเป็นจุดอ่อนให้ปรปักษ์ของ “คณะราษฎร” สามารถทำลายทั้งท่านปรีดีและท่านจอมพล ป.พิบูลสงคราม ให้ย่อยยับได้

เรื่องที่ ๕ เป็นความผิดพลาดของท่านปรีดีที่ยุบเลิกขบวนการเสรีไทยเสียเกือบจะเรียกว่าทันทีภายหลังสันติภาพ แทนที่จะใช้ขบวนการเสรีไทยสนับสนุนการพัฒนาระบบการเมืองและระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยให้บรรลุเป้าหมายของคณะราษฎรที่แถลงไว้เมื่อคราวเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ ซึ่งได้ถูกสงครามโลกครั้งที่ ๒ ขัดจังหวะ ท่านปรีดีเกรงคำครหาว่าท่านจะใช้ขบวนการเสรีไทยเพื่อประโยชน์ทางการเมือง จึงได้รีบยุบเลิกเสียหลังสงคราม แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีคำครหา เพราะสมาชิกขบวนการเสรีไทยหลายนายซึ่งมีฐานกำลัง ได้ให้ความสนับสนุนท่านปรีดีในสภาผู้แทนราษฎรต่อเนื่องมา

เรื่องที่ ๖ เป็นความผิดพลาดของท่านปรีดีที่ยอมรับเป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อได้รับการขอร้องและวิงวอนจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เคารพท่าน แม้จะเป็นการยอมรับที่มีเงื่อนไขว่าเป็นการชั่วคราวเท่านั้นก็ตาม การที่ท่านปรีดีลดตัวลงมาในระดับการเมืองในสภาเช่นนี้ ได้เปิดโอกาสให้ฝ่ายปรปักษ์ของท่านถือว่าท่านเป็นคู่ต่อสู้ทางการเมือง ซึ่งท่านเป็นฝ่ายเสียเปรียบทุกประตู และต้องบอบช้ำเป็นอย่างมาก

เรื่องสุดท้ายก็คือ การที่ท่านกลับเข้ามาในประเทศไทยภายใต้ “ขบวนการ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๒” ซึ่งท่านปรีดีประเมินสถานการณ์ผิดพลาด โดยมุ่งหวังที่จะเอาชนะอย่างเดียว เมื่อท่านเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ ความสูญเสียยิ่งใหญ่ก็บังเกิดขึ้น มิตรสหายของท่านจำนวนมากต้องสังเวยชีวิตอันเนื่องจากเหตุการณ์นั้น และตัวท่านเองก็เกือบจะเอาตัวไม่รอด

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าท่านปรีดีจะได้เคยผิดพลาดมาหลายครั้ง หากกรณียกิจที่ท่านได้บำเพ็ญต่อชาติบ้านเมืองก็ยังมีความสำคัญอย่างเอกอุที่จะต้องจารึกไว้ในประวัติศาสตร์

ผมเชื่อว่าเมื่อสังคมไทยในยุคนี้และในยุคต่อไปได้รู้จักผลงานของท่านดีขึ้น ก็คงจะเพิ่มความสำคัญให้แก่ท่านปรีดีมากขึ้นโดยไม่มีข้อสงสัย


จาก http://socialitywisdom.blogspot.com/2007/02/blog-post_4079.html
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 53  เมื่อ 19 ธ.ค. 14, 14:16

เป็นบทความที่ดีนะครับ แต่ผมใคร่จะขอร้องอย่างหนึ่ง  ถ้าจะเสนอไม่ใช่ชี้แจงแล้ว ขอความกรุณาให้มีเรื่องของจำกัด พลางกูรอยู่ด้วย เข้าเรื่องหน่อย อย่าออกไปนอกประเด็นของหัวข้อกระทู้ โดยเฉพาะการนำสู่ประเด็นใหญ่ๆเช่นนี้ ผมไม่ไหวที่จะต้องเสนอให้แยกกระทู้ในช่วงนี้อีก
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 54  เมื่อ 19 ธ.ค. 14, 15:07

แต่นายจำกัด พลางกูร ไม่ได้ไปกรุงวิชิงตันตามที่กำหนดไว้ เขาถึงแก่กรรมที่จุงกิง แพทย์จีนสันนิษฐานว่าเป็นโรคมะเร็งในลำไส้ เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2486 ในวันหนุ่มฉกรรจ์ อายุเพียง 26 ปี และด้วยวาจาครั้งสุดท้ายที่แผ่วออกมาว่า

   “เพื่อชาติ-เพื่อHumanity….”
 

ในวันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๕๖ มีการแสดงละครเวทีเรื่อง เพื่อชาติ เพื่อ  humanity แสดงโดยนิสิตคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อำนวยการสร้างและเขียนบทโดย ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ฉัตรทิพย์ นาถสุภา ผู้เขียนหนังสือชื่อเดียวกัน



บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 55  เมื่อ 19 ธ.ค. 14, 15:14

สาเหตุใดที่ทำให้ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร. ฉัตรทิพย์ นาถสุภา สนใจและให้ความสำคัญเรื่องของคุณจำกัด พลางกูร ?

ขบวนการเสรีไทยนี้สำคัญมาก ทำให้ไทยไม่เป็นประเทศที่แพ้สงครามและถูกยึดครอง ถูกปลดอาวุธ แต่ไม่ชัดเจนนักว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ตอนนี้ได้ค้นคว้าชัดเจนว่า เรามีกองกำลังที่เป็นจริงภายในประเทศ กองกำลังนี้ได้ช่วยสัมพันธมิตรในการวางแผนต่าง ๆ ก่อนสงครามจะสงบไม่กี่เดือนตามจริง ปี ๑๙๔๕

ทางสัมพันธมิตรเท่ากับรับรองคณะเสรีไทย หรือกล่าวได้ว่าฝ่ายเสรีไทยที่อยู่ข้างหลังของรัฐบาลของคุณควง อภัยวงศ์ เท่ากับรับรองทางทหารแล้วเพราะมาร่วมวางแผนด้วย ส่งอาวุธให้เราด้วย สิ่งนี้สำคัญมาก

หน้าฉากจะทำอะไรมากไม่ได้ เพราะรัฐบาลยังเซ็นสัญญาร่วมรบกับญี่ปุ่นอยู่ ซึ่งแรกเริ่มเลยอาจารย์ปรีดีฯ ต้องการไปจัดตั้งรัฐบาลนอกประเทศ แต่การที่สัมพันธมิตรมาช่วยเสรีไทยและการวางแผนร่วมมือกับท่านหม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์ ก็เท่ากับรับรองคณะเสรีไทยทหารมาช่วยเหลือกันเกิดขึ้นได้อย่างไร ก็เกิดจากที่คุณจำกัด พลางกูรได้รับมอบหมายจากอาจารย์ปรีดีฯ ให้ไปบอกสัมพันธมิตร ซึ่งตอนนั้นไปประเทศจีนที่เป็นฝ่ายเดียวกับสัมพันธมิตร จึงทำให้สัมพันธมิตรรู้ว่ามีกำลังภายในประเทศ มีขบวนการเสรีไทยในประเทศ ซึ่งเขามีโทรเลขลับติดต่อกันผ่านทางทำเนียบของอาจารย์ปรีดีฯ และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองนี้เองที่ตั้งโทรเลขลับ

นี่จึงเป็นเหตุผลให้จำกัดฯ ไปติดต่อและนายสงวน ตุลารักษ์ก็ตามไปสมทบอีกที ไม่เช่นนั้นทางนู้นก็ไม่ทราบว่าทางนี้มีอะไร แค่ประกาศนั้นยังไม่เพียงพอที่จะทำให้เราได้รับการรับรองระดับหนึ่ง อย่างน้อยก็รับรองกันทางทหาร และสิ่งนี้เองที่ทำไมอังกฤษซึ่งผ่านทางลอดด์หลุยส์เมาท์แบตแตนติดต่อกับปรีดีอยู่ตลอดเวลาในระยะหลัง ๆ อีกทั้งตอนที่ญี่ปุ่นแพ้สงครามแล้วเขาได้บอกอาจารย์ปรีดีฯ ทางโทรเลข บอกให้ไทยรีบประกาศสันติภาพ เราจึงสามารถประกาศสันติภาพได้

เหล่านี้เองเป็นผลมาจากจำกัดฯ เสียมาก เพราะถ้าจำกัดฯ ไม่ไป ก็ไม่รู้ว่าการเจรจาจะล่าช้าออกไปเพียงใดและจะจบลงเช่นนี้หรือไม่ อย่างที่อาจารย์ปรีดีฯ ได้บอกไว้ในหนังสือ X.O Group ว่า “ถ้าปราศจากจำกัด พลางกูร งานขององค์กรใต้ดินครั้งนี้อาจจะล้มเหลว หรือหากสำเร็จ ก็คงเป็นไปในรูปที่ผิดแผกกว่าที่ได้ปรากฏแก่ตาโลกภายหลัง” อาจารย์ปรีดีฯ ก็ยังให้ความสำคัญกับจำกัดฯ ขนาดนี้

ตอนที่จำกัดเริ่มสร้างคณะเสรีไทยนั้น ซึ่งเป็นวันที่ญี่ปุ่นบุกวันแรก จำกัดฯ บอกกับอาจารย์ปรีดีฯ ว่าผมกับอาจารย์เตียงได้สร้างคณะกู้ชาติไว้ ถ้าไม่มีคณะฯ อยู่ก่อนหน้านั้น การณ์ต่าง ๆ ก็อาจจะสายออกไปอีกว่าเมื่อไหร่จะมีคณะเสรีไทยในประเทศ ดังนั้น จำกัด พลางกูร ซึ่งเป็นเลขาธิการ เป็นแกนกลางของคณะเสรีไทยในประเทศ เป็นผู้ไปแจ้งข่าวถึงการมีอยู่ของคณะเสรีไทยในประเทศและกองกำลังที่เป็นจริง

โดยบอกเจียงไคเชค ว่าคณะปรีดีฯ ไม่ได้เหมือนกับจอมพล ป. ไม่ได้ต่อต้านจีน และเป็นคณะรัฐธรรมนูญ นิยมซุนยัดเซ็น ซันหมินจู่ยี่ เจียงไคเชคก็คงคิดว่าคนไทยก็นิยมจีนเหมือนกัน จึงบอกจำกัดฯ ว่า ไม่ว่าการณ์จะเป็นเช่นไร ประเทศจีนจะช่วยให้ประเทศไทยได้รับสถานะเอกราชกลับคืนมา ซึ่งจีนก็อยากกันอังกฤษออก และก็จำกัดก็ไปบอกด้วย จึงทำให้ผมสนใจและจึงศึกษาจำกัดฯ
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 56  เมื่อ 19 ธ.ค. 14, 15:18

ระหว่างทางในการศึกษาวิจัยเรื่องของคุณจำกัด พลางกูร และขบวนการเสรีไทย สิ่งใดที่เป็นอุปสรรคสำคัญในการเข้าถึงข้อมูล

เรื่องของเสรีไทยไม่ได้รับการให้ความสำคัญเท่าที่พวกเขาสำคัญอย่างแท้จริง เพราะเรื่องเอกราชของประเทศเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าไม่มี ผมว่าเราก็ต้องถูกยึดครองเหมือนประเทศผู้แพ้สงครามทั้งหลาย และอาจถูกแบ่งแยกประเทศ ฝ่ายนั้นจะเอาส่วนนี้ ฝ่ายนี้จะเอาส่วนนั้น อย่างน้อยก็เสียเอกราช ไม่ได้รับการรับรองว่ามันสำคัญขนาดไหนขณะที่มันสำคัญ

เพราะอาจารย์ปรีดีฯ และคณะของเขาพ่ายแพ้ทางการเมืองหลังจากรัฐประหาร ๒๔๙๐ ซึ่งพรรคพวกของท่านก็ถูกลอบฆ่าบ้าง จนท่านก็ต้องหนีออกนอกประเทศ กลายเป็นว่าเรื่องนี้ไม่พูดกันเท่าไหร่ เพราะถ้าพูดถึงเสรีไทยก็เท่ากับว่ายกย่องฝ่ายอาจารย์ปรีดีฯ

โอกาสที่เรื่องนี้ฟื้นกลับคืนมาจึงเกิดขึ้น ในการค้นคว้านั้นก็ยังเป็นเรื่องร่วมสมัยพอสมควร ผู้คนมีให้เราสัมภาษณ์ไม่ถึงกับลำบากมาก แต่ว่าเรื่องบันทึกของจำกัดซึ่งเป็นหัวใจของการศึกษา ขณะที่เรื่องเสรีไทยอื่นๆ พอศึกษาได้ เมื่อสังคมเปิดกว้าง และเป็นเสรีไทยสายภายในประเทศที่ผมมองว่าสำคัญที่สุด เพราะสายต่างประเทศไม่มีกำลังที่เป็นจริง

ขณะที่เรื่องของคุณจำกัดฯ นั้นไม่มีการเปิดเผย แม้จะมีคนเขียนถึงอยู่บ้าง อย่างในบันทึก X.O Group และบันทึกที่ไม่ได้เปิดเผย แต่ปรากฏอยู่ประปรายในหลายๆ แห่ง เดิมที ผมเริ่มเขียนเป็นบทละครก่อนเป็นหนังสือวิชาการเพราะบทละครสามารถจินตนาการได้ ต่อมา มีคนเอาบันทึกมาให้ผมแต่ไม่ให้เปิดเผยที่มาหลังจากที่ได้มา ผมก็เขียนทั้งบทละครที่ปรับใหม่ให้เป็นจริงให้หมด และเขียนหนังสือวิชาการซึ่งไม่สามารถบอกได้ว่าเอามาจากใคร

แต่ตอนนี้ได้เปิดเผยแล้วที่หอจดหมายเหตุคือบันทึกประจำวัน (โดยคุณจำกัด พลางกูรเป็นคนบันทึกไว้แต่ไม่ได้ทำทุกวัน) หลังจากที่ได้บันทึกเล่มนั้น ผมได้เดินทางไปจุงกิงประมาณ ๑ สัปดาห์ แต่ก่อนไปได้ส่งเรื่องไปให้เพื่อนที่อยู่ที่ยูนนานก่อน เนื่องจากจีนมีสมาคมสำหรับผู้ที่เกษียณแล้ว แต่รัฐบาลให้มางานด้านค้นคว้าวิจัยต่อ โดยสถาบันประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของเมืองจุงกิงหรือเมืองฉงชิ่งนั้น ได้ช่วยกันค้นหาข้อมูลให้ก่อนล่วงหน้าอยู่เป็นเวลาหนึ่งเดือน เพื่อสืบค้นว่า จำกัด พลางกูร ไปไหนบ้าง

ผมเดินทางไปตามนั้นทั้งบ้านพักรับรองแขกของเจียงไคเชค สถานทูตอังกฤษและอเมริกา โรงพยาบาลที่เขาเจ็บป่วย และที่สุดท้ายคือที่เผาศพ ที่พักของเขาถูกรื้อแล้วแต่รู้ว่าอยู่ตรงไหน และที่เป็นปัญหาหน่อยคือบ้านรับแขกของเจียงไคเชค สุดท้ายก็หาพบ และที่เป็นปัญหาจนวันสุดท้ายคือโรงพยาบาลที่เขาเจ็บและวัดที่เผา พอดีคนที่เขาเคยอยู่ตั้งแต่สมัยก่อนเขารู้สถานที่ว่าอยู่ตรงไหนเพราะยังใช้ชื่อเก่า ก็ได้ไปถึงโรงพยาบาลและห้องที่จำกัดป่วยด้วย มีพยาบาลที่อายุมากแล้วและมีชีวิตอยู่มาตั้งแต่สมัยนั้นได้มาดูให้ด้วย พบว่ามีเอกสารทางราชการระบุว่ามีผู้แทนของเสรีไทยมาป่วยเสียชีวิต และก็มีรายละเอียดว่าเสียชีวิตแล้วนำไปเผาที่ไหนด้วย เป็นวัดอยู่ริมแม่น้ำแยงซี สถานที่สำคัญก็สืบค้นได้ครบถ้วน

ผมได้สัมภาษณ์คุณฉลับชลัยย์ พลางกูร หลายหนและเพื่อนคุณจำกัดบางท่านเช่นพ่อของคุณพันธ์ศักดิ์ วิญญรัตน์ แต่พอดีตอนนี้ท่านเสียไปแล้ว (คุณประยูร วิญญรัตน์) และตอนนั้นก็มีน้องสาวคุณเสาวรส ที่ไม่เคยเจอคุณจำกัดเพราะอายุห่างกันเยอะ และอีกคนหนึ่งคือคุณสลวย กรุแก้ว ตอนนี้เกษียณแล้ว คุณจำกัดเป็นพี่ชาย ได้สัมภาษณ์หลายคน ที่สำคัญก็คือได้ไดอารี่ ซึ่งคราวแรกยากลำบากเพราะทีแรกยังไม่มี
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 57  เมื่อ 19 ธ.ค. 14, 15:20

อาจารย์รู้สึกอย่างไรบ้างที่เรื่องราวของกระบวนการเสรีไทยนั้นเลือนหายไปจากสังคม

ก็เป็นเรื่องน่าเสียดาย เพราะเรื่องกระบวนการเสรีไทยเป็นเรื่องที่คนไทยทุกหมู่เหล่าได้ประสานร่วมแรงร่วมใจกันเป็นกำลังสำคัญของประเทศชาติ เป็นการปรองดองกันของคณะราษฎรกับคณะฝ่ายเจ้าเพื่อเอกราชของประเทศ

การพยายามจะเป็นระบอบประชาธิปไตยหลังสงคราม โดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและทรงอยู่เหนือการเมือง และกระบวนการเสรีไทยก็ให้ความสำคัญกับประชาชนธรรมดาในท้องถิ่นที่เป็นพลพรรคหรือกำลังทำให้ประชาชนมีจิตสำนึกที่จะร่วมมือกันได้ คนในอีสานหรือในภาคอื่นก็เข้าร่วมด้วย ผมยังไปพบเจอตามท้องที่ต่าง ๆ เขายังพูดถึงเรื่องนี้อยู่ด้วยความภูมิใจ ที่ จ.แพร่ ก็มีพิพิธภัณฑ์เสรีไทย ที่คุณภุชงค์ กันทาธรรม (ทายาทของนายทอง กันทาธรรม อดีตเป็นเสรีไทยในจังหวัดแพร่ ถึงแก่กรรมแล้ว) ได้ทำไว้ ซึ่งดีมาก

แสดงให้เห็นถึงกลุ่มของชาวบ้านสามัญธรรมดาว่าเป็นกำลังหลักของประเทศชาติ เหมือนกับที่จำกัดพูดกับนายเตียง ศิริขันธ์ว่า “ท่านคือกำลังที่เป็นจริงของประเทศ ต้องพึ่งท่านแล้ว”

เมื่อความทรงจำร่วมกันที่สำคัญนี้ถูกข้ามมันก็มีผลต่อเส้นทางประชาธิปไตยและการปรองดองกันของผู้คนในช่วงหนึ่งที่เผด็จการทหารได้หวนกลับคืนมา จนกระทั่งระยะหลังถึงได้รื้อฟื้นขึ้นมาใหม่ ก็เสียดายที่เราไม่ได้ศึกษาเรื่องคุณูปการของขบวนการอันสำคัญนี้

ละครเรื่องนี้ก็น่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะสื่อสารและรื้อฟื้นจิตวิญญาณของผู้คนที่รู้สึกว่าจะซึมซับได้มากกว่าเขียนหนังสือ ผมสนใจงานวิชาการที่จะเสนอแก่คนจำนวนมาก ผมจึงเขียนหนังสือ และอีกวิธีหนึ่งที่คนเขาบอกว่าจะสื่อต่อคนจำนวนมากได้คือละคร เสนอวิชาการที่มีการ commitment ด้วยใจ จะนำไปสู่ความเป็นจริงที่ทำให้ผลักดันสังคมไปสู่ Utopia ได้ ความมีประสิทธิภาพ ความมีเหตุมีผลที่เป็นความมุ่งมั่นของคนที่ตั้งใจ

ส่วนหนึ่งของบทสัมภาษณ์จาก siamintelligence.com
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 58  เมื่อ 19 ธ.ค. 14, 15:49

บางส่วนจากละครเวทีเรื่อง "เพื่อชาติ เพื่อ humanity"

บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 59  เมื่อ 19 ธ.ค. 14, 20:43

^
ด้วยความเคารพนะครับ เป็นละครที่ไร้ชีวิตชีวาจริงๆ
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 2 3 [4] 5 6 7
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.083 วินาที กับ 19 คำสั่ง