เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 [2] 3 4 ... 7
  พิมพ์  
อ่าน: 12791 ชีวิตและผลงานของเสรีไทยที่ถูกอ้างอิงเพื่อใช้ประโยชน์มากที่สุด
Anna
องคต
*****
ตอบ: 552


ความคิดเห็นที่ 15  เมื่อ 18 ธ.ค. 14, 20:21

มาลงชื่อจองที่เรียนแถวแรก ไม่ว่าชื่อไหนก็จะรออ่านค่ะ ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 16  เมื่อ 18 ธ.ค. 14, 21:06

ก่อนอื่น ผมจะขออนุญาตนำบทความในหนังสือ ชื่อตามปกว่า  “ ตำนานเสรีไทย ” เรียบเรียงโดย คร.วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร ผู้ซึ่งเป็นเสรีไทยท่านหนึ่งเช่นกัน  หนังสือที่ท่านมานะพยายามเรียบเรียงขึ้นนี้ความหนาถึง ๙ เซนติเมตร มีจำนวนทั้งสิ้นด้วยกัน ๑๙๑๕ หน้า โดย ๑๖ หน้าในจำนวนทั้งหมดเป็นเรืองราวโดยเฉพาะของนายจำกัด พลางกูร นอกนั้นเป็นประวัติความเป็นมาของขบวนการเสรีไทย และเรื่องราวโดยเฉพาะของเสรีไทยท่านอื่นๆ(น่าจะ)ครบทุกคน

เพื่อปูความรู้ความเข้าใจในประวัติ และผลงานของเสรีไทยท่านนี้ ก่อนที่จะดำเนินเรื่องไปตามชื่อที่ตั้งไว้นั้น ผมขอโอกาสที่จะลงเรื่องราวของนายจำกัดตั้งแต่ต้นจนจบให้อ่านอย่างไม่สะดุด  แต่จะซอยเป็นช่วงๆไม่ให้ยาวจนเกินไป โดยผมจะใช้เวลาสักสองสามวันก่อนที่จะเชิญคุณเพ็ญชมพู หรือท่านอื่นๆเข้ามาในทุกประเด็นที่แล้วแต่จะต้องการ  แต่ถ้าทนไม่ไหวจริงๆก็เชิญตามสบายนะครับ ไม่ว่ากัน
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 17  เมื่อ 18 ธ.ค. 14, 21:07

ในบรรดาเสรีไทย ผู้ซึ่งอุทิศตนเพื่อสนองคุณชาติบ้านเมืองในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น พันตรีจำกัด พลางกูร มีความโดนเด่นเป็นพิเศษ  ไม่เพียงแต่แสดงความกล้าหาญและความเสียสละ อาสาเป็นตัวแทนองขบวนการใต้ดินต่อต้านญี่ปุ่นในประเทศไทย เดินทางฝ่าความทุรกันดารออกไปติดต่อกับโลกภายนอกเป็นคนแรกเท่านั้น หากยังได้จบชีวิตคนหนุ่มอันมีค่ายิ่งต่อบ้านเมืองในขณะที่กำลังปฏิบัติภารกิจความเป็นความตายของชาติที่นครจุงกิง เมืองหลวงของจีน ห่างไกลจากมาตุภูมิและบุคคลอันเป็นที่รักและห่วงใย ประวัติศาสตร์เสรีไทยไม่อาจปฏิเสธได้ว่าการตายของนายจำกัด พลางกูร คือ รังสีที่ฉาบวิญญาณรักชาติของผู้ที่อยู่เบื้องหลังให้แข็งแกร่งสำหรับการฝ่าฟันอุปสรรคไปสู่จุดมุ่งหมายโดยปราศจากความย่อท้อจนถึงที่สุด
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 18  เมื่อ 18 ธ.ค. 14, 21:08

นายจำกัด พลางกูร ถือกำเนิดในครอบครัวของข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในวงการศึกษาของชาติ ได้รับทุนจากกระทรวงธรรมการ (ศึกษาธิการ) ไปศึกษาที่ประเทศอังกฤษเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2474 ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองเพียง 7 เดือน นายจำกัด เริ่มศึกษาที่โรงเรียนมัธยมบรอมโกรฟ จนกระทั่งสอบเข้าศึกษา ณ วิทยาลัยบอลลิโอล มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดได้ในปี 2479 ซึ่งเป็นสถานที่ศึกษาแห่งเดียวกับพระเจ้าวงวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ต่อมาในปี 2481 ก็สำเร็จรับปริญญาเกียรตินิยมในสาขาวิชาปรัชญา รัฐศาสตร์ และเศรษฐศาสตร์ เมื่อกลับประเทศไทยได้เข้ารับราชการในกระทรวงศึกษาธิการชั่วระยะหนึ่ง แล้วถูกให้ออกจากราชการเพราะมีทัศนคติต่อต้านการใช้อำนาจของผู้มีอำนาจ จากนั้น จึงประกอบอาชีพครูอย่างอิสระ จนกระทั่งวันที่ 8 ธันวาคม 2484 เมื่อญี่ปุ่นก่อสงครามมหาอาเซียบูรพาขึ้น

พ.ต. จำกัด พลางกูร เขียนถึงเหตุการณ์หลังจากกองทัพญี่ปุ่นบุกประเทศไทยว่า ในวันนั้นได้ปรึกษากับนายเตียง ศิริขันธ์ ผู้แทนราษฎรจังหวัดสกลนคร ซึ่งเป็นสหายร่วมอุดมการณ์ประชาธิปไตยว่า ควรหาทางเดินทางออกไปนอกประเทศ หรือไม่ก็จัดตั้งรัฐบาลใหม่ขี้นทางภาคอีสาน ปฏิบัติการณ์ต่างๆ เหล่านี้ต้องการหัวหน้าซึ่งมีบารมีและมีแนวคิดที่คล้ายคลึงกัน ซี่งก็เห็นมีแต่นายปรีดี พนมยงค์ ผู้เดียวที่จะทำหน้าที่เป็นผู้นำ “คณะกู้ชาติ” ได้ ดังนั้น นายจำกัด, นายเตียง, และมิตรร่วมอุดมการณ์อีกหลายคน อาทิ นายถวิล อุดล ผู้แทนราษฎรจังหวัดร้อยเอ็ด เป็นต้น จึงเดินทางไปพบนายปรีดี และมอบคณะกู้ชาติของพวกตนให้อยู่ภายใต้บังคับบัญชาของนายปรีดีโดยเด็ดขาด และจะอยู่ในระเบียบวินัยอย่างเคร่งครัด รวมทั้งอุทิศตัวหรือแม้กระทั่งชีวิตสำหรับการทำงานเพื่อชาติ

บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 19  เมื่อ 18 ธ.ค. 14, 21:10

เวลาผ่านไปปีเศษ จนถึงต้นปี 2486 นายปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และหัวหน้าขวนการต่อต้านญี่ปุ่น ตัดสินใจที่จะส่งผู้แทนของขบวนการออกไปติดต่อประสานงานกับ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช  อัครราชทูตไทย  ณ กรุงวอชิงตัน ซึ่งได้จัดตั้งองค์การที่เรียกตัวเองว่า “เสรีไทย” ขึ้น เพื่อช่วยสหรัฐอเมริกาในการทำสงครามกับญี่ปุ่น ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช ใช้วิทยุ”เสียงอเมริกา” ปลุกจิตสำนึกของคนไทยที่อยู่ในประเทศไทยให้ร่วมกันต่อสู้ผู้รุกรานมาโดยตลอด หลังจากใช้เวลาคัดเลือกบุคคลที่มีความสามารถ ความเหมาะสม และไว้วางใจได้เพื่อเป็นตัวแทนของขบวนการต่อต้านญี่ปุ่นอยู่นานพอสมควร ในที่สุดนายปรีดี พนมยงค์ จึงมอบความไว้วางใจให้แก่นายจำกัด พลางกูร ซึ่งรับอาสาที่จะปฏิบัติการอันสำคัญยิ่งนั้นด้วยความเต็มใจ กระตือรือร้น และเสียสละ ความเหมาะสมของนายจำกัด มิใช่เพียงแต่เป็นผู้ที่เปี่ยมด้วยอุดมการณ์ และมีความเข้าใจในภารกิจของขบวนการอย่างดียิ่งเท่านั้น หากนายจำกัดยังสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ซึ่งจะสร้างความเชื่อถือให้แก่ทางอังกฤษอีกด้วย นอกจากนั้น นายจำกัดเคยเป็นเพื่อนบ้านของ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช ที่ซอยร่วมฤดี และเคยสนทนาวิสาสะกันอยู่เสมอก่อนที่ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช จะไปรับตำแหน่งอัครราชทูต ณ กรุงวิชิงตัน นอกเหนือไปจากการเป็นศิษย์เก่าของออซ์ฟอร์ดด้วยกัน ภูมิหลังต่าง ๆ เหล่านี้คงจะช่วยให้นายจำกัดสามารถติดต่อกับ ม.ร.ว. เสนีย์ ได้สะดวกกว่าผู้อื่น และนายจำกัดยังมีน้องชายคนหนึ่งกำลังศึกษาอยู่ที่ประเทศอังกฤษ (นายกำแหง พลางกูร) และอีกคนหนึ่งในสหรัฐอเมริกา (นายบรรเจิด พลางกูร)
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 20  เมื่อ 18 ธ.ค. 14, 21:11

ภารกิจที่หัวหน้าขบวนการเสรีไทยมอบหมายให้นายจำกัด พลางกูร เป็นผู้แทนไปดำเนินการ ประกอบด้วยสาระสำคัญ 3 ประการคือ

(1)   ชี้แจงสถาการณ์ภายในประเทศไทยให้โลกเข้าใจอย่างถูกต้องว่ามิตรภาพระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกา อังกฤษ ตลอดจนประเทศฝ่ายสัมพันธมิตรอื่นๆ มิได้เปลี่ยนแปลง การประกาศสงครามต่ออังกฤษและสหรัฐฯ โดยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2548 นั้น ถือว่าเป็นโมฆะ เพราะขัดต่อรัฐธรรมนูญ และไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของประชาชนชาวไทย และให้ชี้แจงแก่ฝายสัมพันธมิตรด้วยว่า รัฐบาลไทยขณะนั้นตกอยู่ภายใต้อำนาจญี่ปุ่นและปราศจากอิสรภาพโดยแท้จริง

(2)   ชี้แจงว่าได้มีองค์การต่อต้านญี่ปุ่นเกิดขึ้นในประเทศไทยแล้ว โดยมีนายปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นหัวหน้า และต้องการจัดตั้งรัฐบาลไทยที่เป็นอิสรเสรีขึ้นในดินแดนของฝ่ายสัมพันธมิตร เช่น ในอินเดีย เป็นต้น รัฐบาลพลัดถิ่นนี้ประกอบด้วยผู้นำที่จะหลบออกไปจากประเทศ โดยมีนายปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ของพระมหากษัตริย์ รัฐมนตรีบางคนในคณะรัฐบาลของจอมพล ป.พิบูลสงคราม และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยไม่น้อยกว่า 10 คน จึงขอให้รัฐบาลอังกฤษและรัฐบาลสหรัฐฯ รับรองรัฐบาลใหม่นี้ว่าเป็นรัฐบาลที่ถูกต้องตามกฎหมาย และมีความสัมพันธ์ทางการทูตต่อการกันตามปกติ อีกทั้งขอให้รัฐบาลอังกฤษซึ่งครอบครองอินเดียอยู่ในขณะนั้น ให้ความเอื้อเฟื่อ และให้เกียรติแก่รัฐบาลที่จัดตั้งขึ้นในอินเดียตามสมควร เช่นเดียวกับที่ให้แก่รัฐบาลนอร์เวย์ และ รัฐบาลเนเธอแลนด์พลันถิ่น

(3)   ขอให้รัฐบาลอังกฤษและสหรัฐฯ ปลดปล่อยเงินของรัฐบาลไทยที่ฝากไว้ในประเทศทั้งสองตั้งแต่ก่อนสงคราม และถูกกักกันไว้ เพื่อให้รัฐบาลไทยพลัดถิ่นได้ใช้เป็นทุนในการดำเนินสงครามกับญี่ปุ่น

บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 21  เมื่อ 18 ธ.ค. 14, 21:14

ตอนเย็นวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2486 นายจำกัด พลางกูร ไปรับประทานอาหารและปรึกษาเรื่องทั่วๆไปกับนายปรีดี พนมยงค์ ที่ทำเนียบท่าช้าง หัวหน้าขบวนการเสรีไทยมอบเงินรวมทั้งธนบัตรจุงกิงจำนวนหนึ่งและทอง ให้นายจำกัดไว้ขายในยามขัดสน จนกระทั่งเวลาประมาณ 21.30 น. นายจำกัด พลางกูร จึงลากลับ นายปรีดีได้ให้โอวาทและกล่าวว่า
   
“เพื่อชาติ เพื่อ Humanity นะคุณ เคราะห์ดีที่สุด อีก 45 วันก็คงได้พบกัน เคราะห์ไม่ดีนัก อย่างช้าอีก 2 ปีก็ได้พบกัน และถ้าเคราะห์ร้ายที่สุด ก็ได้ชื่อว่าสละชีวิตเพื่อชาติไป”

นายจำกัด พลางกูร ตื้นตันและน้ำตาคลอ เมื่อผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เดินตามลงมาส่งถึงบันใดตึก

บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 22  เมื่อ 19 ธ.ค. 14, 07:01

วันรุ่งขึ้นนายจำกัด พลางกูร ออกเดินทางโดยรถไฟจากหัวลำโพง พร้อมด้วยนายฉลบชลัยย์ ผู้ภรรยา ซึ่งได้พบกันตั้งแต่ครั้งศึกษาอยู่ในอังกฤษ และจะไปส่งสามีที่ชายแดนไทย ผู้ร่วมทางอีกคนหนึ่งคือ นายไพศาล ตระกูลลี้ ซึ่งนายหลุย พนมยงค์ แนะนำมา หนุ่มลูกจีนผู้เป็นนักเรียนจากสิงคโปร์ รู้ภาษาจีนหลายภาษา จึงทำหน้าที่เป็นล่าม เมื่อไปถึงสถานีอุดรธานี นายเตียง ศิริขันธ์ ผู้แทนราษฎรจังหวัดสกลนคร ได้เตรียมรถยนต์ไว้สำหรับการเดินทางต่อไปจนถึงจังหวัดนครพนม นายเตียงกับนางนิวาศน์ ศิริขันธ์ และนางฉลบชลัยย์ ไปส่งคนทั้งสองข้ามแม่น้ำโขงไปท่าแขกฝั่งลาวก่อนที่จะอำลาจากกัน

ก่อนออกเดินทาง นายจำกัด พลางกูร ได้ไปเฝ่าสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เพื่อขอประทานหนังสือแนะนำตัวไปถึงศาสตราจารย์ ยอร์จ เซเดย์ ปราชญ์ชาวฝรั่งเศสนักอ่านจารึกภาษาโบราณ ซึ่งเคยรับราขการเป็นเจ้าหน้าที่หอพระสมุดแห่งชาติในกรุงเทพฯ ขณะนั้นทำงานอยู่กับสำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบูรพทิศ (Ecole Francaise d’Extreme Orient) ด้วยความช่วยเหลือของยอร์จ เซเดย์ และนายบริอองวาล เลขานุการสถานทูตฝรั่งเศสในกรุงเทพฯ นายจำกัด พลางกูร และนายไพศาล ตระกูลลี้ สามารถเดินทางผ่านเข้าสู่ประเทศจีนทางเมืองมองกาย-ตงเฮง เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2486 โดยใช้เวลาประมาณ 3 สัปดาห์ นอกจากจะต้องผ่านพื้นที่ซึ่งไม้คุ้นเคยแล้วยังต้องหลบหลีกทหารและสายลับญี่ปุ่น ซึ่งมีอยู่ทั่วไปในอินโดจีนอีกด้วย

บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 23  เมื่อ 19 ธ.ค. 14, 07:49

ทันที่ที่นายจำกัด พลางกูร เดินทางเข้าสู่ดินแดนจีนที่เมืองมองกาย-ตงเฮง ทางการทหารของจีนก็ได้เข้าประกบตัวและนำไปที่พักที่เมืองลิวเจา นายจำกัดขอให้เจ้าหน้าที่ของจีนช่วยส่งโทรเลขถึง ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ที่กรุงวิชิงตัน ถึงจอมเพลเจียงไคเช็ค และถึงเอกอัครราชทูตอังกฤษและอเมริกาในจุงกิง โทรเลขของนายจำกัดถูกส่งออกไปเมื่อวันที่ 20 มีนาคม ต่อมาในวันที่ 4 เมษายน ก็ได้รับคำตอบจากสถานทูตอังกฤษใน จุงกิงให้ติดต่อกับกงสุลใหญ่อังกฤษที่เมืองกุยหลิน ซึ่งอยู่เหนือเมืองลิวเจาไปเล็กน้อย ส่วนสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ก็ตอบอย่างแกนๆ มาว่า กระทรวงต่างประเทฯสหรัฐฯ รับทราบแล้ว

ที่เมืองกุยหลิน นายจำกัด พลางกูร พบกับนายจี.อี. สต็อคลี ผู้รักษาการกงสุลใหญ่อังกฤษ และขอให้สต็อคลีส่งโทรเลขไปยังกระทรวงต่างประเทศอังกฤษที่ลอนดอน ให้ติดต่อกับเสอร์ โจชายอา ครอสบี้ อดีตทูตอังกฤษประจำกรุงเทพฯ และนายฟิตซ์เจอรรัลด์ อดีตผู้จัดการธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ในกรุงเทพฯ ทั้ง 2 คนนี้รู้จักนายจำกัด พลางกูร สามารถให้คำยืนยันได้ว่าเขาเป็นใคร ทหารจีนซึ่งประกบตัวนายจำกัดอยู่พยายามไม่ให้เข้าได้พบกับกงสุลอังกฤษ และขอเข้าฟังการสนทนาด้วย ทำให้นายจำกัดไม่สามารถพูดกับสต็อคลีได้อย่างเต็มที่ สต็อคลีแนะนำให้นายจำกัด พลางกูรติดต่อกับหน่วยความช่วยเหลือของกองทัพบกอังกฤษ (บี.เอ.เอ.จี) และได้ให้ชื่อ พ.อ. ลินเซย์ ที ไรด์ ผู้บังคับการหน่วย กับ พ.ต. ไดเนซส์ จันทรา มิสรา นายทหารอินเดียประจำหน่วนยซึ่งเป็นผู้ช่วยของ พ.อ. ไรด์ ด้วย

บันทึกการเข้า
Anna
องคต
*****
ตอบ: 552


ความคิดเห็นที่ 24  เมื่อ 19 ธ.ค. 14, 09:02

บันทึกของ 'จำกัด พลางกูร' ใน'เรื่องสั้นสันติภาพ'ท่านได้เล่าเรื่องนี้ไว้เหมือนกันค่ะ แต่อย่างย่นย่อ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 25  เมื่อ 19 ธ.ค. 14, 09:40

วันที่ 7 เมษายน 2486 นายจำกัด พลางกูรส่งโทรเลขจากกุยหลินถึงม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช ที่กรุงวอชิงตันอีกฉบับหนึ่งว่า “(ผม)กำลังปฏิบัติภารกิจที่สำคัญมากและด่วนมาก ถูกกักตัวไว้(ที่กุยหลิน)ถึง 12 วันแล้ว ขอให้จัดการส่ง(ผม)ไปจุงกิงทันที  เป็นเรื่องลับ”

วันรุ่งขึ้น นายจำกัด พลางกูร ได้พบกับ พ.ต. มิสรา แต่การสนทนาถูกขัดจังหวัดโดยนายทหารจีน ซึ่งแจ้งว่านายจำกัด จะติดต่อกับอังกฤษไม่ได้ เฉพาะกับจีนเท่านั้นจึงจะติดต่อกันได้ และกล่าวว่าเขาได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาห้ามมิให้นายจำกัด ติดต่อกับหน่วย บี.เอ.เอ.จี แต่กระนั้นในวันต่อมา นายจำกัด ก็ถูกพาตัวไปพบกับ พ.ต.มิสรา อีกครั้งที่กองบัญชาการของ บี.เอ.เอ.จี  ขณะที่สนทนากัน มิสราให้นายจำกัดเขียนรายงานเกี่ยวกับกองทัพญี่ปุ่นในประเทศไทย เพื่อเสนอต่อ พ.อ.ไรด์ นายทหารจีนซึ่งนั่งฟังอยู่ด้วยก็ขัดขึ้นว่านายจำกัด ไม่ควรทำตามคำขอของมิสราก่อนที่จะได้รับฉันทานุมัติจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารของจีน

บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 26  เมื่อ 19 ธ.ค. 14, 09:41

นายจำกัด พลางกูร บันทึกไว้ในไดอารี่ของเขาว่า “นับว่าเป็นโชคดีสำหรับผม ที่ผมสามารถหลบไปพักกับพันเอกไรด์  ผู้ซึ่งรับฟังเรื่องของผมด้วยความเห็นอกเห็นใจ ทั้งนี้ก็เพราะเขาเป็นนักเรียนเก่าออซ์ฟอร์ด (เช่นเดียวกับผม) ผมแจ้งให้เขาทราบถึงความยากลำบากต่างๆ และขอให้เขาช่วยเหลือให้ผมได้เดินทางไปกรุงลอนดอน”

   ในการสนทนากันกลางดึกคืนนั้น นายจำกัดเล่าถึงเหตุการณ์ต่าง ๆ ในประเทศไทยหลังการรุกรานของญี่ปุ่น พ.อ. ไรด์ แนะนำว่าควรจะเขียนรายงานเกี่ยวกับขบวนการเสรีไทยอย่างละเอียด รวมทั้งประวัติส่วนตัวและเรื่องการเดินทางจากเมืองกรุงเทพฯ มาเมืองจีน บุคคลทั้งสองปรึกษากันถึงวิธีส่งข่าวของนายจำกัด ไปยังขบวนการใต้ดินที่กรุงเทพฯ ทางวิทยุ นายจำกัดว่าควรจะใช้ออล อินเดีย เรดิโอ และ พ.อ. ไรด์ โน้มน้าวให้ใช้วิทยุจุงกิง ส่วนข้อความจะส่งเป็นโค้ดว่า “จางและหลี ได้มาถึงเมืองจีนแล้ว”
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 27  เมื่อ 19 ธ.ค. 14, 10:07

เมื่อมาถึงจุงกิงแล้ว นายจำกัด พลางกูรถูกพาตัวมาพบกับดร.เค.ชี.วู แห่งกรรมการเมืองซึ่งรักษาราชการแทนดร. ที.วี.ซุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีน นายจำกัดร้องเรียน ดร. วู ถึงการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่จีนที่มีต่อเขา และกล่าวว่างานของเขามีความสำคัญและทำอย่างสุจริตใจ ดร. วู ตอบว่าเจ้าหน้าที่ของจีนไม่อาจให้การรับรองต่อนายจำกัดได้ จนกว่าจะพิสูจน์ตัวเองได้ว่าเขาเป็นใคร  ครั้งแรกทางจีนคิดว่าเขาเป็นจารชน แต่บัดนี้ทราบแล้วว่านายจำกัด เป็นสมาชิกคนหนึ่งของขบวนการใต้ดินในประเทศไทย นายจำกัด พลางกูรกล่าวว่า ถ้าหากจีนไม่รับรองก็ขอให้ส่งเขาไปกรุงวอชิงตัน ดร.เค.ซี.วู ตอบว่า รัฐบาลจีนก็ไม่รับรองม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมชด้วยเช่นกัน เพราะเป็นผู้ที่จอมพล ป. พิบูลสงครามส่งไปวอชิงตันก่อนที่จะมีขบวนการเสรีไทย
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 28  เมื่อ 19 ธ.ค. 14, 10:10

ดร. วูขอให้นายจำกัดเสนอความต้องการที่เป็นรูปธรรม นายจำกัดกล่าวว่า แผนการเบื้องแรกที่ได้ตัดสินใจกันแล้วคือ การนำบุคคลสำคัญของขบวนการใต้ดินในเมืองไทยเล็ดลอดออกไปตั้งรัฐบาลพลัดถิ่น ดร.วูอธิบายว่าสหรัฐฯและอังกฤษได้มอบอำนาจในการดำเนินสงครามในตะวันออกไกลให้กับจอมพลเจียงไคเช็ค ดังนั้นเรื่องนี้จึงต้องนำเสนอเจียงไคเช็ค เพื่อขออนุมัติ นายจำกัด พลางกูร จึงขออนุญาตเข้าพบประมุขของรัฐบาลจีนเป็นการด่วน

จากนั้น เจ้าหน้าที่จีนนำนายจำกัด พลางกูร ไปพำนักอยู่ที่บ้านรับรองของกระทรวงการต่างประเทศจีน โดยมีเจ้าหน้าที่จีนชุดใหม่ให้ “การอารักขา” สองสามวันต่อมา นายจำกัดเตรียมประเด็นต่างๆ ที่จะเจรจากับจอมพลเจียงไคเช็ค ขณะเดียวกันก็พยายามติดต่อกับสถานทูตอังกฤษและสหรัฐฯในจุงกิง แต่ถูกขัดขวางโดยเจ้าหน้าที่จีนที่ควบคุมตัวเขาไว้ ถึงแม้ว่านายไพศาล ตระกูลลี้พอจะใช้ประโยชน์ในการส่งข่าวได้ แต่นายจำกัดก็ลังเลที่จะทำเช่นนั้น เพราะเกรงว่าทางจีนจะระแวงว่าเขาพยามยามติดต่อตกลงอะไรลับๆกับอังกฤษและสหรัฐฯ โดยไม่ให้ทางจีนรับรู้ด้วย ในที่สุดนายจำกัดก็อาศัยนายไพศาล ซึ่งอ้างกับทางการจีนว่าเป็นสมาชิกขององค์การชาวจีนต่อต้านญี่ปุ่นในเมืองไทย ลอบส่งข่าวไปยังสถานทูตอังกฤษในจุงกิง และส่งข่าวไปให้ พ.อ. ไรด์ ที่กุยหลิน

บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 29  เมื่อ 19 ธ.ค. 14, 10:25

ก่อนที่นายจำกัด พลางกูรจะออกเดินทางจากกรุงเทพฯ ได้มีการตกลงกันว่า ภายในเวลา 1เดือนภายหลังที่เดินทางไปถึงเมืองจีน นายจำกัดจะติดต่อให้อังกฤษส่งเครื่องบินทะเลมารับบุคคลสำคัญของขบวนการเสรีไทยที่หัวหิน เพื่อออกไปตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นขึ้นในอินเดีย การเลือกเอาหัวหินเป็นที่นัดพบเพราะในฤดูร้อนช่วงเดือนเมษายน – พฤษภาคม จะมีบุคคลชั้นสูงและครอบครัวไปพักผ่อนตากอากาศกันมาก ซึ่งจะทำให้ญี่ปุ่นไม่ระแวงสงสัย แต่เมื่อล่วงเข้าเดือนพฤษภาคม

นายจำกัดก็เหลือเวลาอีกเพียง 2สัปดาห์เท่านั้น เพราะหลังจากนั้นแล้วทะเลจะมีคลื่นลมจัด เครื่องบินทะเลลงไม่ได้ และญี่ปุ่นก็จะระแวงสงสัยด้วยว่าทำไมจึงมีบุคคลสำคัญไปชุมนุมกันอยู่ที่นั่น

บันทึกการเข้า
หน้า: 1 [2] 3 4 ... 7
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.092 วินาที กับ 19 คำสั่ง