เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 2 3 [4]
  พิมพ์  
อ่าน: 38630 สิ้น "เสนีย์ เสาวพงศ์" ตำนานนักเขียนเมืองไทย
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 45  เมื่อ 27 ส.ค. 18, 09:31

เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย (ที่คนไม่ค่อยจะรู้) เกี่ยวกับเสนีย์ เสาวพงศ์

เสนีย์ เสาวพงศ์ เกือบจะมีชื่อจริงที่ไม่ใช่ “ศักดิชัย บำรุงพงศ์”

ก่อนหน้าปีพุทธศักราช ๒๔๘๒ เสนีย์เคยมีชื่อจริงนับแต่แรกเกิด “บุญส่ง บำรุงพงศ์” ชื่อนี้เคยอยู่บนปกหนังสือ สตาลิน ผลงานแปลของเขา

ครั้นเมื่อจะเข้ารับราชการเลยต้องเปลี่ยนชื่อเสียใหม่ เพราะยุคสมัยนั้นชายหญิงต้องใช้ชื่อให้เหมาะสมกับเพศ ให้สอดคล้องตามสมัยรัฐนิยม แท้แล้ว ชื่อที่เสนีย์ตั้งใจจะยื่นขอเปลี่ยนได้แก่ “สักกะ บำรุงพงศ์” แต่เจ้าพนักงานประจำอำเภอกลับบอกว่า “สักกะ” ไม่มีคำแปลจึงไม่ยอมให้ใช้ มิหนำซ้ำยังตั้งชื่อใหม่ให้เสนีย์เองเป็น “ศักดิชัย” ซึ่งเสนีย์ก็ยอมรับโดยดีหาได้ขัดข้อง ด้วยความที่เป็นคนไม่ชอบต่อล้อต่อเถียง

อ้อ! เกือบลืมแล้วสิ พระอินทร์คือคำแปลความหมายของ “สักกะ” ถ้าไม่เชื่อลองเปิดพจนานุกรมดูครับ


เสนีย์ เสาวพงศ์ เคยร่วมเรียบเรียงหนังสืออ่านเพิ่มเติมวิชาสังคมศึกษา

เป็นที่รับรู้กันทั่วไปว่าเสนีย์ เสาวพงศ์ ได้สร้างผลงานวรรณกรรม สารคดี และบทความจิปาถะต่าง ๆ ไว้มากมาย แต่สิ่งที่หลายคนอาจนึกไม่ถึงก็คือเสนีย์เคยเรียบเรียงหนังสืออ่านเพิ่มเติมสังคมศึกษา สำหรับประโยคมัธยมศึกษาตอนต้นด้วย

นั่นคือ เรื่องเที่ยวรอบโลก ตอนเที่ยวละตินอเมริกา ซึ่งมีประเทศเม็กซิโก กลุ่มประเทศอเมริกากลาง และดินแดนในทะเลแคริบเบียน
โดยทางกรมวิชาการได้ขออนุมัติกระทรวงศึกษาธิการให้นางสาวชูสิริ จามรมาน และนายศักดิชัย บำรุงพงศ์ เป็นผู้เรียบเรียงขึ้น และทางกระทรวงได้แต่งตั้งนายเสนาะ ครองอาตม์ เป็นผู้ตรวจ จัดพิมพ์ครั้งแรกจำนวน ๒,๐๐๐ เล่ม เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๑๑ เหตุที่ศักดิชัยหรือเสนีย์ได้รับหน้าที่ดังกล่าวอาจเพราะเขาเคยใช้ชีวิตนักการทูตในทวีปอเมริกาใต้นานหลายปี

ผมเองได้พลิกอ่านหนังสือเล่มนี้แล้ว เพลิดเพลินดีครับ เนื้อหาเข้าใจง่ายและมีภาพประกอบสีสันสะดุดตา เหมาะสำหรับผู้เริ่มต้นสนใจเรียนรู้ภูมิภาคละตินอเมริกาเลยทีเดียว

บางส่วนจากบทความ เรื่อง (ที่คนอาจไม่ค่อยจะรู้) เกี่ยวกับเสนีย์ เสาวพงศ์ ในวาระครบรอบ ๑๐๐ ปีชาตกาล โดย อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ นิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ ๑๗-๒๓ สิงหาคม ๒๕๖๑

https://www.matichonweekly.com/literature/article_128350
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 46  เมื่อ 12 ก.ค. 21, 15:05

๑๒ กรกฎาคม ๒๕๖๔ ครบรอบ ๑๐๓ ปี ชาตกาล เสนีย์ เสาวพงศ์

ในวาระครบรอบ ๑๐๓ ปี ชาตกาล เสนีย์ เสาวพงศ์ ที่บรรจบครบรอบในวันนี้ ขอพานักอ่านย้อนรำลึกถึงประวัติของ เสนีย์ เสาวพงศ์ ผู้ให้กำเนิด “ปีศาจ” อมตะนิยายของสามัญชน สุดยอดผลงานที่ครองใจนักอ่านข้ามยุคข้ามสมัย

เสนีย์ เสาวพงศ์ เป็นนามปากกาของศักดิชัย บำรุงพงศ์ นักเขียนลือนามผู้สร้างสรรค์นิยายอมตะอย่าง ปีศาจ, ความรักของวัลยา, คนดีศรีอยุธยา และงานเขียนอื่น ๆ อีกหลายเล่มที่ครองใจนักอ่านมายาวนานกว่า ๕ ทศวรรษ ผลงานของเขาปลุกมโนสำนึกนักอ่านให้มองเห็นความอยุติธรรมในสังคมโดยมิได้สนับสนุนให้เสียเลือดเสียเนื้อ หากแต่กระตุ้นให้ผู้อ่านตื่นตัวขึ้นได้เอง เพื่อยกระดับสังคมไปสู่การแสวงหาเสรีภาพและแสงสว่างทางปัญญา

ผลงานวรรณกรรมของเขาเกิดขึ้นบนโต๊ะข่าวโดยแท้ จากลูกชาวนาแห่งบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ ที่ใส่ใจการศึกษา ได้ย้ายมาเรียนชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนวัดจักรวรรดิ และชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียนวัดบพิตรภิมุข กรุงเทพมหานคร จากนั้นศึกษาต่อที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เพียงเดือนเศษ บิดาก็ถึงแก่กรรม จนครอบครัวเกิดปัญหาทางการเงินเพราะขาดเสาหลักของบ้าน

ศักดิชัย บำรุงพงศ์ จึงได้ลาออกมาทำงานเป็นผู้แปลข่าวต่างประเทศและเป็นคอลัมนิสต์ให้แก่หนังสือพิมพ์ศรีกรุงและสยามราษฎร์ เขียนคอลัมน์ “ศรีกรุงจาริก” ใช้นามปากกาว่า “โบ้ บางบ่อ” อันมาจากถิ่นเกิดที่จังหวัดสมุทรปราการ ภายใต้การกุมบังเหียนของครูอบ ไชยวสุ ควบคู่ไปกับการเรียนนิติศาสตร์ในมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง

ในช่วงเวลานั้น ขณะที่ทำหน้าที่นักหนังสือพิมพ์อยู่ ศักดิชัย บำรุงพงศ์ ได้เขียนบทความที่สร้างความกระทบกระเทือนต่อนายทหารผู้มีอำนาจผู้หนึ่งในสมัยนั้น จนเป็นเหตุให้ครูอบ ไชยวสุ ในฐานะบรรณาธิการถูกบีบบังคับให้ลาออก ศักดิชัย บำรุงพงศ์ จึงลาออกตามเพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้น

จากนั้นเขาจึงเบนเข็มชีวิตด้วยการสอบเข้ารับราชการเป็นเสมียนแผนกพาณิชย์นโยบายต่างประเทศ กรมพาณิชย์ กระทรวงเศรษฐการ ทำหน้าที่แปลข่าวเศรษฐกิจและการค้า แต่ทำงานได้เพียงหนึ่งปีก็ต้องลาออกจากราชการ เพราะได้ทุนจากรัฐบาลเยอรมนีให้ไปศึกษาต่อที่ประเทศเยอรมนี

การเดินทางไปเยอรมนีในครั้งนี้กลับมีอุปสรรคจากภาวะสงคราม ศักดิชัย บำรุงพงศ์ จึงต้องเดินทางกลับประเทศไทยหลังจากที่นั่งรถไฟสายทรานส์ไซบีเรียไปจนถึงสหภาพโซเวียตแล้ว เมื่อกลับมาถึงประเทศไทย เขาจึงทำงานที่หนังสือพิมพ์สุวรรณภูมิ ในฐานะผู้แปลข่าวต่างประเทศ และเริ่มเขียนเรื่องสั้นโดยใช้นามปากกา “สุจริต พรหมจรรยา” และใช้นามปากกา “เสนีย์ เสาวพงศ์” เป็นครั้งแรกในการเขียนเรื่องสั้นชื่อ “เดือนตกในทะเลจีน” จนกระทั่ง “ญี่ปุ่นขึ้นฝั่งไทย” หนังสือพิมพ์จึงถูกจำกัดเสรีภาพในการนำเสนอข่าว โดยเฉพาะข่าวในประเทศ

นักหนังสือพิมพ์อย่างศักดิชัย บำรุงพงศ์ ที่อึดอัดกับสภาวะดังกล่าวจึงตัดสินใจเข้าทำงานในกระทรวงการต่างประเทศเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๕ จนกระทั่งเกษียณอายุราชการใน พ.ศ. ๒๕๒๑ ในระหว่างที่อยู่ที่นี่ เขาได้รับแต่งตั้งให้ไปดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ประจำสถานเอกอัครราชทูตไทยในหลายประเทศ โดยสองตำแหน่งสุดท้ายในชีวิตราชการของเขาคือ เอกอัครราชทูตวิสามัญประจำประเทศสังคมนิยมเอธิโอเปีย และเอกอัครราชทูตวิสามัญประจำสาธารณรัฐสังคมนิยมแห่งสหภาพพม่า

เพราะเริ่มต้นอาชีพจากนักหนังสือพิมพ์และนักเขียน เมื่อรับราชการอยู่ที่กระทรวงการต่างประเทศ ศักดิชัย บำรุงพงศ์ ก็ยังคงเขียนหนังสือเรื่อยมาตลอดระยะเวลาที่ทำงานที่นี่ เขาให้สัมภาษณ์ไว้ในชาวกรุง เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๓ ไว้ว่า “เรื่องที่เขียนส่วนใหญ่มาจากประสบการณ์และมาจากจินตนาการบ้าง นักเขียนได้เขียนจากประสบการณ์อย่างเดียว เขียนไปจะหมด ไม่มีอะไรใหม่ จะเป็นศิลปินได้ต้องรู้จักสร้างสรรค์ ใช้จินตนาการ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตทั้งหลายที่เราได้ประสบและเห็นมา”

ประสบการณ์ของศักดิชัย บำรุงพงศ์ ดูจะเป็น “ต้นทุน” และ “แต้มต่อ” ที่ดีกว่านักเขียนรุ่นเดียวกัน เพราะการเดินทางไปต่างแดนในฐานะข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศ ช่วยส่งเสริม “สายตา” และ “มุมมอง” ทางสังคมให้กับเขามากกว่านักเขียนร่วมรุ่น

การสัมผัสวัฒนธรรมต่างชาติอย่างกว้างขวางผ่านสายตาแบบปฐมภูมิ ทำให้ผลงานของศักดิชัย บำรุงพงศ์ สามารถเจาะลึกลงไปถึงแก่นความคิดของสังคมต่างแดนได้อย่างถึงราก สิ่งที่โดดเด่นในงานเขียนของเขาคือการหยิบยกอุดมคติทางสังคมและการต่อสู้เพื่อเสรีภาพมาเป็นแนวคิดหลักในการสร้างผลงาน แต่ทว่า ผลงานของเขากลับไม่ได้มีน้ำเสียงในการเรียกร้องอุดมคติดังกล่าวอย่างแข็งกร้าวหรือปลุกระดม แต่กลับแสดงออกอย่างเป็นกลาง ผ่านความบันเทิง และกระตุ้นผู้อ่านให้ได้คิดต่อด้วยตนเองถึงสิ่งที่เขาต้องการจะสื่อผ่านนิยายของตน

อาจเป็นเพราะการเป็นข้าราชการด้วยส่วนหนึ่งที่ทำให้ผลงานของศักดิชัย บำรุงพงศ์ ไม่มีท่าทีก้าวร้าว ปลูกฝัง ถ่ายทอดปัญญา และอุดมคติ มากกว่าการปลุกสำนึกความเป็นขบถทางการเมืองแก่ผู้อ่าน อีกทั้งยังเป็นนักเขียนที่มีผลงานต่อเนื่อง และสร้างสรรค์ผลงานคุณภาพสูงอย่างสม่ำเสมอตลอดระยะเวลา ๕ ทศวรรษ จึงทำให้ผลงานและตัวตนของเขาเป็นเหมือนเสาหลักที่เหล่าปัญญาชนและนักคิดนักเขียนรุ่นใหม่ใส่ใจศึกษาอย่างจริงจัง หากจะพูดถึงหมุดหมายแห่งวรรณกรรมที่ว่าด้วยเสรีภาพในทศวรรษ ๒๕๑๐

ผลงานของศักดิชัย บำรุงพงศ์ ไม่เคยเชย และไม่มีวันตาย ด้วยเพราะว่าสิ่งที่เขาบอกแก่เรานั้นคือสัจธรรม คือความเป็นไปของโลกที่ไม่มีใครฉุดรั้งได้

อังคาร กัลยาณพงศ์ กล่าวถึงศักดิชัย บำรุงพงศ์ เจ้าของนามปากกาเสนีย์ เสาวพงศ์ ไว้ว่า “เทือกเขาของวรรณกรรมจะมียอดหลายยอด และเสนีย์ เสาวพงศ์ เป็นยอดี่สูงที่สุดยอดหนึ่ง"

คำกล่าวอันยกย่องนี้จะถูกต้องแท้จริงสักเพียงไหน ท่านในฐานะนักอ่านต้องหาคำตอบด้วยตัวเอง

สำนักพิมพ์มติชน


บันทึกการเข้า
หน้า: 1 2 3 [4]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.036 วินาที กับ 20 คำสั่ง