V_Mee
|
ความคิดเห็นที่ 15 เมื่อ 14 พ.ย. 14, 15:44
|
|
สำหรับเรื่องโบยหลังทหารที่เชื่อกันว่าเป็นสาเหตุหลักของก่อกบฏ ร.ศ. ๑๓๐ นั้น มีที่มาจากข้อเขียนของร้อตรี เหรีญ ศรีจันทร์ และร้อยตรี เนตร พูนวิวัฒน์ ในอง “ปฏิวัติ ร.ศ. ๑๓๐” ที่ได้ตีพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกใน “หมอเหล็งรำลึก ภาคปฏิวัติครั้งแรกของไทย ร.ศ. ๑๓๐” อนุสรณ์ในงานศพ ร.อ.ขุนทวยหาญพิทักษ์ (นายแพทย์เหล็ง ศรีจันทร์) ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม เมื่อวันอังคารที่ ๑๙ เมษายน ๒๕๐๓ ซึ่งมีความตอนหนึ่งว่า
“ณ พ.ศ. ๒๔๕๒ (ร.ศ. ๑๒๘) ในปลายสมัยรัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (พระพุทธเจ้าหลวงปิยมหาราช) ได้มีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นในราชอาณาจักร เป็นเหตุการณ์ที่ยังความสะเทือนจิตใจนักเรียนนายร้อยทหารทั่วไปทั้งฝ่ายบกและเรือ ผู้ซึ่งจะออกรับราชการเป็นนายทหารของชาติไทยสืบไป นับเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหันและสำคัญอุบัติขึ้นอย่างมิได้คาดฝันกันเลย คือการเฆี่ยนหลังนายทหารชั้นสัญญาบัตร ทหารของชาติด้วยสาเหตุอันมิบังควร มีร้อยเอกโสม ผู้เคยช่วยชาติ โดยปราบกบฏเงี้ยวมาแล้วเปนหัวหน้าที่ถูกเฆี่ยนหลัง พร้อมกับนายร้อย นายดาบ และนายสิบพลทหาร รวม ๕ คน ณ กลางหญ้าภายในกระทรวงกลาโหมท่ามกลางวงล้อมของนายทหารกองทัพบก ต่อพระพักตร์สมเด็จพระยุพราชเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ (คือ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖) และเหล่าข้าราชบริพารในพระราชสำนักบางจำพวก บนมุขด้านหลังกระทรวงกลาโหมชั้นที่ ๒
สาเหตุแห่งการเฆี่ยนหลังก็ด้วยทหารพวกนั้นวิวาทกับพวกมหาดเล็กบางคนของสมเด็จพระยุพราช ซึ่งสมัยนั้นมักเรียกกันติดปากว่า “มหาดเล็กสมเด็จพระบรมฯ” (คำเต็มว่า สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช) สมเด็จพระบรมฯ ประทับอยู่ที่วังปารุสกวัน ใกล้ๆ กับกรมทหารราบที่ ๒ เชิงสะพานมัฆวานรังสรรค์ เรื่องเดิมที่จะเกิดขึ้นจนถึงกับเป็นเหตุวิวาทกันนั้น ก็เพราะผู้หญิงขายหมากสมัดคนหนึ่ง แถวบริเวณสะพานมัฆวานฯ นั้นเองเป็นเชื้อเพลิงเสน่ห์ ทำให้พวกมหาดเล็กและพวกทหารไปคลอเคลียพูดเกี้ยวและเย้าหยอกกันในเวลาค่ำคืนเสมอๆ ในที่สุดพวกเจ้าชู้หนุ่มๆ เหล่านั้นก็เกิดขัดใจกันขึ้น ครั้นค่ำวันหนึ่งต่อมา พวกมหาดเล็กอาจจะเขม่นทหารด้วยความมืดหน้า ถึงกับใช้ไม้รุมตีศีรษะนายดายดาบ ราบ ๒ ผู้หนึ่ง ซึ่งแต่งกายพลเรือนออกมาแต่ลำพังตัวคนเดียว นายดาบผู้นั้นก็กุมศีรษะวิ่งเข้ากรมทหาร ไปรายงานตนต่อ รอ.โสม ผู้บังคับกองกองร้อยของตนทันที ขณะนั้นพวกมหาดเล็กยังท้าทายอยู่ที่หน้ากรม เมื่อ ร.อ.โสม ผู้เคยผ่านศึกสงครามมาแล้วได้ทราบเช่นนั้นก็ลั่นวาจาด้วยความโกรธว่า “เมื่อมีผู้อุกอาจมาข่มเหงทหารถึงหน้ากรมเช่นนี้ มันก็หนักเกินไปละ! ควรจะออกไปสั่งสอนให้หลาบจำกันไว้เสียบ้าง” ว่าแล้ว ร.อ.โสม ก็วิ่งนำหน้านายร้อยตรีผู้บังคับหมวดผู้หนึ่ง พร้อมกับนายดาบผู้ถูกรุมตี ตรงไปยังหน้ากรมด้วยมือเปล่าๆ แต่ ณ ที่นั้นบังเอิญมีกิ่งก้ามปูที่ถูกรานทิ้งไว้ตามโคนต้น ต่างก็ตรงเข้าหักได้คนละท่อน พุ่งเข้าตีโดยฉับพลันทันที ฝ่ายพวกมหาดเล็กทนกำลังความว่องไวไม่ได้ และเห็นท่าจะสู้ไม่ไหวจึงวื่งหนีร่นไปทางวังปารุสก์ ทันใดนั้น นายสิบพลทหารอีก ๒ คนเพิ่งกลับจากเป็นกองตรวจ พอดีพบเหตุการณ์เข้า พวกมหาดเล็กก็หลบเข้าประตูวังไป พวกทหารก็พากันกลับกรม หาได้รุกติดตามเข้าไปไม่
เมื่อสมเด็จพระบรมฯ ทรงทราบเหตุจากมหาดเล็ก ก็รับสั่งให้ ผ.บ.ก. กรมทหารราบที่ ๒ สอบสวนทันที ร.อ.โสม ผู้ผ่านศึกก็ออกรับสารภาพตามความสัตย์จริงทุกประการอย่างลูกผู้ชาย เลยพากันถูกขังทั้ง ๕ คน เพื่อรอคำสั่งผู้บังคับบัญชาต่อไป ครั้นรุ่งขึ้น เมื่อความปรากฏเป็นสัตย์ดังนั้นแล้ว สมเด็จพระยุพราชก็นำความขึ้นกราบบังคมทูลสมเด็จพระชนกนาถ รัชกาลที่ ๕ ขอให้ลงพระราชอาญาเฆี่ยนหลังทหารเหล่านั้น ตามประเพณีจารีตนครบาลในฐานทำการอุกอาจถึงหน้าประตูวังของพระรัชทายาท
เท่าที่ทราบมาว่า ชั้นแรก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ หาทรงเห็นด้วยไม่ ประกอบด้วยเจ้านายบางพระองค์ได้ทรงคัดค้านไว้ อาทิเช่น เสด็จในกรมราชบุรี นักปราชญ์กฎหมายได้ทรงชี้แจงว่าควรจะได้จัดการไปตามกระบิลเมือง เพราะได้ใช้ประมวลกฎหมายอาญาเยี่ยงอารยประเทศพร้อมมูลแล้ว ไม่ควรจะนำจารีตนครบาลซึ่งยกเลิกไปแล้วกลับมาใช้อีก แต่เมื่อสมเด็จพระยุพราชทรงยืนกรานจะให้เฆี่ยนหลัง เพื่อให้เป็นเยี่ยงอย่างให้จนได้ มิเช่นนั้นพระองค์จะทรงลาออกจากตำแหน่งพระรัชทายาท ทันที สมเด็จพระชนกนาถทรงเห็นการณ์ไกลว่าถ้าไม่ตามพระทัย เรื่องอาจจะไปกันใหญ่โต เพราะจะเกิดการน้อยพระทัย จึงทรงอนุมัติไปตามคำขอ”
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
V_Mee
|
ความคิดเห็นที่ 16 เมื่อ 14 พ.ย. 14, 15:46
|
|
วาทกรรมที่ว่า “สมเด็จพระยุพราชทรงยืนกรานจะให้เฆี่ยนหลัง เพื่อให้เป็นเยี่ยงอย่าง” นั้น ออกจะขัดกับความใน “ประกาศกระแสพระราชดำริห์ในเรื่อง เปนลูกผู้ชาย” ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ออกประกาศไว้เมื่อวันที่ ๑ เมษายน ร.ศ. ๑๒๘ ก่อนที่จะมีการโบยทหารครั้งนั้นเพียง ๒ เดือนเศษ โดยมีความตอนหนึ่งในประกาศนั้นว่า “ การที่จะลงพระราชอาญาด้วยอาการใดๆ มีตีและขังเปนต้น ก็ทรงพระราชดำริห์ว่าน่าจะไม่เปนประโยชน์ เพราะลูกผู้ดีไม่ใช่สัตว์เดียรฉาน ที่จะบังคับบัญชาได้ด้วยอาญา”
ซึ่งความตอนนี้ก็สอดคล้องกับที่ทรงพระราชบันทึกไว้ใน “ประวัติต้นรัชกาลที่ ๖” ว่า “เมื่อเกิดชำระกันขึ้นได้ความว่าตัวการมีนายร้อยเอกสม, นายร้อยตรีจัน, กับนายดาบบาง, ได้พาพลทหารออกจากโรงไปตีเขา. กรมนครชัยศรีเอาตัวพวกทหารขึ้นศาลทหารชำระได้ความจริงว่าได้ออกจากโรงทหารผิดเวลาและยกพวกไปตีเขาเช่นนั้น, เห็นว่าเปนโทษหนัก, จำเปนต้องลงอาญาให้เปนเยี่ยงอย่าง, กรมนครชัยศรีจึ่งได้กราบบังคมทูลพระเจ้าหลวงขอให้ลงพระราชอาญาเฆี่ยนหลังคนละ ๓๐ ทีและถอดจากยศ. การลงอาญาครั้งนั้นไม่ใช่โดยความขอร้องของฉันเลย, ตรงกันข้ามฉันเปนผู้ท้วงว่าแรงเกินไป, แต่กรมนครชัยศรีว่าจะต้องลงโทษให้เป็นเยี่ยงอย่าง. หาไม่จะกำราบปราบปรามทหารที่เกะกะไม่ได้, และนายทหารจะถือตนเปนคนมีพวกมากเที่ยวรังแกข่มเหงเขาร่ำไปให้เสียชื่อทหาร”
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
V_Mee
|
ความคิดเห็นที่ 17 เมื่อ 14 พ.ย. 14, 15:47
|
|
ในเมื่อข้อมูลของฝ่ายกบฏ ร.ศ. ๑๓๐ กับพระราชบันทึกในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวขัดแย้งกันเช่นนี้ จึงได้สืบหาหลักฐานเพิ่มเติม และในที่สุดก็ได้พบหลักฐานสำคัญเป็นลายพระหัตถ์นายพลโท พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นนครไชยศรีสุรเดช กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ ๑๗ มิถุนายน ร.ศ. ๑๒๘ ความว่า
“ด้วยเมื่อวันที่ ๑๕ เดือนนี้เวลาประมาณ ๒ ทุ่มเศษ หม่อมราชวงษ์เหรียญและนายกรด ซึ่งเปนพนักงานรถสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชมกุฎราชกุมาร แจ้งความต่อกรมทหารราบที่ ๒ สวนดุสิต ว่ามีคนหลายคนดักตีคนทั้ง ๒ นี้ที่สพานมัฆวาฬรังสรรค์เข้าใจว่าเปนทหาร นายกรดมีบาดแผลที่แขนซ้ายฟกช้ำแห่ง ๑ หม่อมราชวงษ์เหรียญไม่มีบาดแผล
กรมทหารราบที่ ๒ ไต่สวนได้ความจากพลทหารนายอ่อนว่า นายร้อยเอกสม, นายร้อยตรีจั่น, นายดาบบาง, กรมทหารราบที่ ๒ ไม่ได้แต่งเครื่องทหารไปเที่ยวที่นางเลิ้งกลับมา พบทหารกรมตรวจ นายร้อยเอกสมจึงเรียกพลทหารนายอ่อนในกองตรวจมาที่โรงทหาร ให้พลทหารนายอ่อนเปลื้องเครื่องทหารที่แต่งอยู่นั้นเปนพลเรือน แล้วชวนกันไปที่สพานมัฆวาฬทั้งนายสิบโทเที่ยงอีกคนหนึ่ง รวมเปน ๕ คนด้วยกัน พบหม่อมราชวงษ์เหรียญกับนายกรดและผู้หญิงเดินมา นายดาบบางร้องให้ลงมือ ทั้ง ๕ คนก็เข้าชกตีคน ๒ คนนั้น แล้วชวนกันหนีไป ได้ไต่สวนคน ๔ คน แบ่งรับแบ่งสู้
ในเรื่องนี้ เมื่อได้สืบไต่สวนความโดยเลอียดแล้วเห็นชัดได้ว่า เปนความผิดในวินัยทหารเปนอันมาก เห็นด้วยเกล้าฯ ว่าสมควรลงโทษทางฝ่ายปกครองให้ปรากฏในทันที จะได้เปนที่สยดสยองยำเกรงสำหรับการต่อไป ดีกว่าที่จะต้องให้ขึ้นพิจารณาทางศาล ซึ่งเปนการชักช้าไปนั้น
เหตุการกระทำร้ายซึ่งมีในกรมทหารราบที่ ๒ มาหลายคราวนั้น เปนที่ให้สงไสยอยู่แล้วว่าจะเปนด้วยนายทหารด้วย จึงนำให้พลทหารเปนไปในการประพฤติไม่เรียบร้อยต่างๆ ตามที่นายพันเอก พระพิพิธเดชะ ผู้บังคับการกรมทหารราบที่ ๒ จับได้ขึ้นครั้งนี้จะเปนที่เข็ดขยาดในการเช่นนี้ต่อไป
ถ้าทรงพระราชดำริห์เห็นสมควรแล้ว ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตถอดนายทหารที่มีความผิดนี้จากยศบรรดาศักดิ์ ลงพระราชอาญาเฆี่ยนทั้ง ๕ คนนี้คนละ ๓๐ ทีในที่ประชุมทหารที่ศาลายุทธนาธิการ”
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
V_Mee
|
ความคิดเห็นที่ 18 เมื่อ 14 พ.ย. 14, 15:49
|
|
เมื่อความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีพระบรมราชวินิจฉัยเมื่อวันที่ ๑๗ มิถุนายน ร.ศ. ๑๒๘ ว่า “เปนการดีแล้ว อนุญาตให้ถอดนายทหารที่มีความผิดนี้จากยศบรรดาศักดิ์ แลลงอาญาเฆี่ยนทั้ง ๕ คนๆ ละ ๓๐ ที ตามที่ว่านั้น”
ต่อจากนั้นวันที่ ๒๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๕๒ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๒๖ ก็ได้ลงประกาศ “แจ้งความกรมยุทธนาธิการ” ว่า “ด้วยนายร้อยเอก สม นายร้อยตรี จั่น กรมทหารราบที่ ๒ ประพฤติตนไม่สมควรกับตำแหน่ง มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ถอด นายร้อยเอก สม นายร้อยตรีจั่น จากตำแหน่งยศบรรดาศักดิ์แล้ว ฯ ศาลายุทธนาธิการ วันที่ ๑๙ มิถุนายน รัตนโกสินทรศก ๑๒๘ (ลงพระนาม) จิรประวัติวรเดช ผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการ”
ความในพระราชบันทึก ลายพระหัตถ์ผู้บัญชาการยุทธนาธิการ และพระบรมราชวินิจฉัยในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รวมทั้งแจ้งความกรมยุทธนาธิการที่ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษานั้น ล้วนสอดรับเป็นเรื่องเดียวกัน จึงสามารถยืนยันได้ว่า ผู้ที่กราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ลงพระราชอาญาโบยหลังทหารเมื่อเดือนมิถุนายน ร.ศ. ๑๒๘ นั้นคือ นายพลโท พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นนครไชยศรีสุรเดช ผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการ หาใช่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ดังที่กล่าวอ้างกัน
สำหรับประเด็นที่กล่าวถึงในเรื่อง “ปฏิวัติ ร.ศ. ๑๓๐” ว่า ประเทศสยาม “ได้ใช้ประมวลกฎหมายอาญาเยี่ยงอารยประเทศพร้อมมูลแล้ว ไม่ควรจะนำจารีตนครบาลซึ่งยกเลิกไปแล้วกลับมาใช้อีก” นั้น ก็นับว่ามีส่วนถูกอยู่ เพราะบทลงโทษ “โบย” ตามจารีตเดิมนั้นมิได้ถูกบัญญัติไว้ใน “กฎหมายลักษณอาญา ร.ศ. ๒๓๗” ที่ประกาศใช้มาตั้งแต่เดือนเมษายน พ.ศ. ๒๔๕๑ แต่ทว่าโทษ “โบย” นี้ยังคงเป็นบทลงโทษที่กำหนดไว้ใน “กฎว่าด้วยอำนาจลงอาญาทหารบก” ซึ่งออกตามความในประมวลกฎหมายอาญาทหาร มาตรา ๗ ที่ให้อำนาจ “นายทหารผู้มีอำนาจบังคับบัญชาได้นั้น ท่านให้มีอำนาจลงอาญาแก่ผู้ที่กระทำผิดต่อวินัยทหารตามลักษณกฎหรือข้อบังคับทหารบกทหารเรือ” โดยความผิดต่อวินัยทหารคามกฎว่าด้วยการลงอาญาทหารบกซึ่งตราขึ้นเมื่อวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ร.ศ. ๑๓๐ นั้น กำหนดอาญาที่จะต่อผู้กระทำผิดต่อวินัยทหารไว้เป็น ๗ สถาน ดังนี้ (๑) โบย (๒) จำขัง (๓) กักขัง (๔) ขังมืด (๕) กักยาม (๖) ทัณฑกรรม (๗) ภาคทัณฑ์
การลงอาญาโบยฐานละเมิดวินัยทหารนี้เพิ่งจะมายกเลิกและเปลี่ยนมาเป็นโทษ “มัดมือ” แทน เมื่อมีการประกาศใช้ “กฎว่าด้วยยุทธวินัยและการลงอาญาทหารบกฐานละเมิดยุทธวินัย” เมื่อวันที่ ๒๓ กันยายน พ.ศ. ๒๔๖๔ แล้ว ฉะนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่า การลงอาญาโบยนายและพลทหารทั้ง ๕ นายที่สนามในศาลาว่าการยุทธนาธิการเมื่อเดือนมิถุนายน ร.ศ. ๑๒๘ (พ.ศ. ๒๔๕๒) เป็นการลงอาญาฐานละเมิดยุทธวินัย หาใช่การลงโทษตามจารีตนครบาลดัที่คณะกบฏ ร.ศ. ๑๓๐ ได้กล่าวอ้างไว้ใน “ปฏิวัติ ร.ศ. ๑๓๐”อ้างว่า ได้ยกเลิกไปนานแล้ว
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
V_Mee
|
ความคิดเห็นที่ 19 เมื่อ 14 พ.ย. 14, 15:57
|
|
จากเรื่องโบยหลังทหารเมื่อ ร.ศ. ๑๒๘ นั้น ชวนให้ติดต่อไปว่า หากในช่วงเวลาที่เกิดกบฏ ร.ศ. ๑๓๐ นั้น จอมพล พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช ยังทรงปฏิบัติราชการอยู่ในกรุงเทพฯ มิได้ทรงลาพักเสด็จไปรักษาพระองค์ที่ยุโรป และนายพลเอก สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ เสนาธิการทหารบก ทรงทำการแทนในตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงกระลาโหมแล้ว ก็เชื่อว่า ผู้ก่อเหตุไม่สงบในคราว ร.ศ. ๑๓๐ นั้น อาจจะต้องรับโทษตามประมวลกฎหมายอาญาทหารถึงประหารชีวิตก็ได้ เพราะเสด็จในกรมฯ เสนาบดีกระทรวงกระลาโหมนั้นทรงเป็นนายทหารที่เคร่งครัดในกฎยุทธวินัยทหารเป็นที่สุด
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
V_Mee
|
ความคิดเห็นที่ 20 เมื่อ 14 พ.ย. 14, 16:23
|
|
อีกสาเหตุหนึ่งที่มีการกล่าวถึงกันมากคือ ความเข้าใจของผู้ก่อการที่ว่า รัชกาลที่ ๖ ทรงตั้งเสือป่าขึ้นมาแข่งกับทหาร ซึ่งในเรื่องนี้สามารถตอบได้เป็นหลายประเด็น คือ
ประเด็นแรกว่าด้วยความจำเป็นในการจัดตั้งกองเสือป่า เป็นเพราะเมือจัดระเบียบกองทัพใน พ.ศ. ๒๔๕๑ นั้น เป็นที่ตระหนักชัดว่า กำลังทหารที่จัดเป็น ๑๐ กองพลกระจายกันอยู่ทั่วประเทศนั้น ในทางปฏิบัติมีแต่โครงไม่มีกำลังพลและอาวุธพอที่จะบรรจุลงตามโครงสร้างที่กำหนดไว้ได้ ที่สำคัญยุทธศาสตร์การป้องกันประเทศที่กำหนดกันไว้ในเวลานั้น คือ เมื่อมีข้าศึกมาประชิดจะถอนกำลังทหารจากทั่วประเทศนั้นลงมารวมป้องกันกรุงเทพฯ ซึ่งจากยุทธศาสตร์ดังกล่าวทำให้เกิดช่องโหว่ขึ้นว่า เมื่อทหารไปรบกันหมดแล้วใครจะทำหน้าที่ปกป้องบ้านเมือง จึงมีแนวพระราชดำริให้จัดตั้งกองเสือป่าขึ้นเพื่อทำหน้าที่รักษาบ้านเมืองในยามที่ทหารไปรบกันหมด
แต่การที่จะจัดให้ประชาชนเป็นอาสาสมัครปกป้องบ้านเมืองของตนนั้น ก็มีข้อตกลงว่าด้วยการรบทางบกซึ่งที่ประชุมสันติภาพที่กรุงเฮกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๒ ได้วางกฎเกณฑ์เอาไว้ว่า พลเมืองที่จะทำหน้าที่อาสาสมัครในการสงครามนั้นจะกระทำได้ก็ต่อเมื่อพลอาสาสมัครนั้นมีเครื่องแบบที่แลเห็นได้ชัดแต่ไกล และมีสายการบังคับบัญชาที่ชัดเจนเช่นทหาร การที่ทรงจัดให้เสือป่ามีเครื่องแบบมีการฝึกหัดเฉกเช่นทหานั้นจึงเป็นการป้องกันมิให้พลเรือนที่จับอาวุธขึ้นต่อสู้ในการสงครามให้ได้รับการคุ้มครองจากสนธิสัญญาดังกล่าว ซึ่งหากไม่มีการปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อตกลงดังกล่าว พลเรือนที่จับอาวุธขึ้นต่อสู้นั้นย่อมมีความผิดเป็นอาชญากรสงครามซึ่งมีต้องรับโทษทางอาญา
อีกประเด็นหนึ่งที่ควรกล่าวถึง คือ เมื่อมีการซ้อมรบใหญ่ทหารบกกที่มณฑลกรุงเก่าตอนปลายปี ๒๔๕๗ นั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จไปประทับท่ามกลางกองทหารที่ทำการซ้อมรบ และได้เสด็จไปในสนามพร้อมกับบกองทหารที่เคลื่อนที่ไปตลอดการซ้อมรบนั้น ทำให้ทรงตระหนักแน่ด้วยสายพระเนตรว่า แม้ในเวลาซ้อมรบนายทหารที่จะตองใช้บังคับหน่วยยังมีจำนวนไม่พอ ต้องเอาจ่านายสิบมาทำหน้าที่ผู้บังคับกองร้อย นายสิบมาเป็นผู้บังคับหมวด แบละให้พลทหารเป็นผู้บังคับหมู่
ทรงพระราชดำริว่า การที่เอานายทหารที่มิได้รับการฝึกหัดให้คสบคุมบังคับบัญชามาทำหน้าที่ผู้บังคับหน่วย ก็ไม่สามารถที่จะนำหน่วยเข้าทำการสู้รบให้บรรลุภารกิจตามที่ได้รับมอบหมายได้ และในยามมีศึกสงครามที่จะเกิดความสูญเสียและนายทหารจะต้องบาดเจ็บล้มตายลง จะหาผู้บังคับหน่วยและกำลังพลที่ไหนมาทดแทน การฝึกพลเรือนเป็นเสือป่าจึงเป็นการอุดช่องโหว่นี้
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
V_Mee
|
ความคิดเห็นที่ 21 เมื่อ 21 พ.ย. 14, 11:47
|
|
เรื่องที่หนังสือดังกล่าวอ้างถึงเหตุผลในการก่อกบฏ ร.ศ. ๑๓๐ โดยอ้างว่าบรรดามหาดเล็กต่างก็ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรกันหลายครั้งในแต่ละปี ในขณะที่ทหารและข้าราชการพลเรือนแทบจะไม่มีโอกาสได้รับพระราชทานเช่นนั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระบรมราชาธิบายไว้ในพระราชหัตถเลขาที่พระราชทานแก่จอมพล สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ เสนาธิการทหารบก ทำการแทนเสนาบดีกระทรวงกะลาโหม เมื่อวันที่ ๖ มีนาคม ร.ศ. ๑๓๐ ว่า
“เรื่องสัญญาบัตรนั้น ฉันยอมรับว่าอยู่ฃ้างจะช้าไปมากจริง ฉันเองก็ได้เคยเตือนๆ อาลักษณ์อยู่แล้ว คงจะเร่งเร็วขึ้นได้ ส่วนข้อที่ว่าฃ้าราชการในพระราชสำนักนิ์ได้รับสัญญาบัตร์เลื่อนเร็วนั้น ก็เปนความจริง ที่เปนเช่นนี้เพราะเหตุ ๒ ประการ คือประการ ๑ฉันมิได้ต้องรอถามเจ้ากระทรวงก่อน และเห็นว่าเปนส่วน ๑ ไม่กีดขวางกับการเลื่อนยศบรรดาศักดิ์ของฃ้าราชการแพนกอื่น แลถึงแม้ฃ้าราชการในพระราชสำนักนิ์จะมิได้เปนขุนนางในตำแหน่งนั้นในพระราชสำนักนิ์ ตำแหน่งเหล่านั้นก็ต้องว่างเปล่าอยู่ ไม่ใช่ว่าผู้อื่นจะมาเปนได้ คือไม่ใช่ว่าฉันได้ไปแย่งเอาตำแหน่งซึ่งควรจะได้มาให้แก่คนของฉัน อีกประการ ๑ ซึ่งเฃ้าใจว่าจะไม่ใคร่รู้กัน คือ ฃ้าราชการในพระราชสำนักนิ์เปนคนจำพวกที่มีอัตราเงินเดือนต่ำเต็มที ถ้าจะเปรียบกับฃ้าราชการกระทรวงอื่นๆ แล้ว แพ้เฃาทั้งสิ้น ยิ่งเปรียบกับทหารแล้วยิ่งเสียเปรียบ เพราะฉนั้นเมื่อบำรุงน้ำใจไม่ได้ด้วยลาภ จึ่งต้องบำรุงด้วยยศ ซึ่งเปนราชประเพณีมาแต่โบราณแล้ว ไม่ใช่เปนของฉันริเริ่มขึ้นใหม่เลย และตามประเพณีโบราณฃ้าราชการในพระราชฐานกับฃ้าราชการนอกเฃาไม่ได้เคยเปรียบเทียบฤาคิดแข่งขันกัน ตำแหน่งยศจึ่งมีชื่อเรียกแปบกๆ กันอยู่มาก ต่อมาชั้นหลังนี้ เกิดมีตำแหน่งหลวงขุนพระพระยาในหมู่ฃ้าราชการในพระราชฐานมากขึ้น โดยความประสงค์จะให้คล้ายคลึงกับฃ้าราชการทั่วๆ ไป จึ่งได้บังเกิดมีผู้รู้สึกและสังเกตการณ์เลื่อนยศศักดิ์ของฃ้าราชการในพระราชสำนักนิ์มากขึ้น อันที่จริงถึงแม้ในบัดนี้เองในส่วนศักดินา ฃ้าราชการในพระราชสำนักนิ์ก็น้อยกว่าทหารตั้งครึ่งตัว เช่นหลวงทหาร ๘๐๐ หลวงมหาดเล็ก ๔๐๐ พระ ๖๐๐ ดังนี้เปนตัวอย่าง ข้อนี้เธอคงจะได้สังเกตเห็นเองแล้วเปนแน่ ไม่ต้องเคยพูดเคยจาร้องทุกข์อย่างใดเลย ปล่อยให้ฉันงมคลำหาเงื่อนแก้ความขัดต่างๆ อยู่คนเดียว”
พระราชหัตถเลขานี้เก็บรวมอยู่ในแฟ้มเอกสารจดหมายเหตุเรื่อง กบฏ ร.ศ. ๑๓๐ แต่ไม่ปรากฏว่า ผู้ที่ศึกษาค้นคว้าเรื่องกบฏ ร.ศ. ๑๓๐ ได้หยิบยกมาอธิบายประกอบคำกล่าวหาของผู้ก่อกบฏ ร.ศ. ๑๓๐ เลย เข้าตำราว่า อยากจะให้รับรู้กันแต่เรื่องที่อยากให้รู้
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
NAVARAT.C
|
ความคิดเห็นที่ 22 เมื่อ 21 พ.ย. 14, 19:47
|
|
พระราชหัตถเลขานี้เก็บรวมอยู่ในแฟ้มเอกสารจดหมายเหตุเรื่อง กบฏ ร.ศ. ๑๓๐ แต่ไม่ปรากฏว่า ผู้ที่ศึกษาค้นคว้าเรื่องกบฏ ร.ศ. ๑๓๐ ได้หยิบยกมาอธิบายประกอบคำกล่าวหาของผู้ก่อกบฏ ร.ศ. ๑๓๐ เลย เข้าตำราว่า อยากจะให้รับรู้กันแต่เรื่องที่อยากให้รู้
มันเป็นเช่นนั้นจริงๆครับ
สมัยนี้มันเป็นสงครามข่าวสาร สิ่งที่อาจารย์วรชาติเขียน สื่อที่เล่นทางนี้จะไม่นำไปขยาย ส่วนความเท็จของอีกฝ่ายหนึ่งนั้น จะได้รับการเสนอซ้ำๆซาก จนคนทั้งหลายเชื่อเรื่องเท็จว่าเป็นเรื่องจริงกันไปหมด
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
V_Mee
|
ความคิดเห็นที่ 23 เมื่อ 22 พ.ย. 14, 10:55
|
|
ในพระราชหัตถเลขาที่พระราชทานไปยังสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถฉบับเดียวกับที่อ้างถึงข้างบนนั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวยังได้พระราชทานพระบรมราชาธิบายถึงเรื่องการเสด็จออกขุนนาง ซึ่งคณะผู้ก่อการ ร.ศ. ๑๓๐ ได้หยิบยกขึ้นกล่าวหาว่า ในรัชกาลนี้ไม่โปรดเสด็จออกขุนนางเช่นในรัชกาลก่อนว่า
“ในที่นี้ฉันเห็นควรจะชี้แจงต่อไปว่า การที่ฉันได้เลิกเสด็จที่อภิเศก (พระที่นั่งอภิเศกดุสิต – V_Mee) เสียนั้น เพราะเห็นว่า การที่จะให้สัญญาบัตรและตรา ฤาใฟ้ทูลลาและเฃ้าเฝ้าตามธรรมเนียมนั้น ออกที่อัมพรก็ได้เท่ากัน และยิ่งสังเกตดูเห็นว่าคนจำพวกเฝ้าตามธรรมเนียมเช่นนี้เปนทหารโดยมาก และฉันเห็นว่าทหารเปนคนสนิท ดังได้อธิบายมาแล้ว จึ่งตกลงในใจว่าเฝ้าที่อมพรก็ได้ ส่วนพลเรือนนั้นเมื่อมีที่จะต้องเฝ้ารับสัญญาบัตรรับตรฤาทูลลาและเฃ้าเฝ้า อันเปนแพนก “ตามเคย” นั้น มีน้อยส่วน ก็เลยให้เฃ้าไปเฝ้าที่อัมพรเสียด้วยเปนครั้งคราวตามที่มีแต่ในตอนหลังๆ นี้ พระยามหาอมาตยืฏ้ได้เคยนำฃ้าราชการมหาดไทยเฝ้าที่สโมสรเสือป่าอยู่บ้าง ซึ่งเมื่อฉันสังเกตเห็นว่ามีบ่อยเฃ้าก็ได้ร้องท้วงว่าไม่ถูกระเบียบ ควรนำไปในวังจึ่งจะถูก ตั้งแต่ร้องแล้ว ก็พะเอินไม่ได้มีฃ้าราชการมหาดไทยเฝ้าอีก เพราะหมดคราวที่ทูลลากัน ส่วนในการเฝ้าปรกติ ไม่ใช่เฝ้าเปนพิธีนั้น ฉันตั้งใจให้โอกาสให้ฃ้าราชการได้เฝ้าฤาอย่างน้อยให้ได้เห็นตัวฉันทุกวัน จึ่งได้ไปที่สโมสรเสือป่าทุกๆ วันในเวลาบ่าย การที่ทำเช่นนี้ก็โดยมีเหตุ คือตั้งแต่ในเวลาต้นๆ แผ่นดิน ได้มีกิติศัพท์มากระทบหูฉันว่า ฃ้าราชการพลเรือนได้พากันพูดไปต่างๆ หลายอย่างหลายประการ เช่นกล่าวว่า “พวกพลเรือนต่อไปเห็นจะตกอยู่ในที่อาภัพ เพราะพรเจ้าแผ่นดินใหม่ท่านเปนทหาร คงมีแต่ทหารเท่านั้นที่จะได้ดี” และพูดอะไรกันต่างๆ อีกหลายประการ เปนอันสำแดงปรากฏว่าฤศยาทหารอยู่ทั่วไป ฉันจึ่งได้คิดแก้ไขความไม่พอใจส่วนนี้ คิดหาทางที่จะแสดงให้ปรากฏว่า ฉันมิได้ตั้งใจจะลำเอียงเช่นเฃาทั้งหลายคาดหมาย จึงตั้งใจจะหาอุบายที่จะชักโยงฃ้าราชการทั้งทหารพลเรือนทุกกระทรวงให้สนิทสนมกลมเกลียวกัน จึ่งได้คิดตั้งเสือป่าขึ้น โดยความหวังอันนั้น และหวังว่าสโมสรเสือป่านั้น จะเปนสถานกลางอันจะเปนที่ชุมนุมฃ้าราชการทุกชั้นทุกแพนก และโดยเหตุที่ฉันไปสโมสรนั้นอยู่ทุกวัน ฃ้าราชการก็จะได้มีโอกาสได้เฝ้าทั่วกัน เสมอหน้ากันหมด และปราศจากความกีดก้นขัดขวางทั้งปวง ไม่มีพิธีรีตองอะไร เฃ้าใจเสียว่าดีกว่าเสด็จออกน่าพระที่นั่งอภิเษก เพราะการเสด็จออกที่นั้นสังเกตดูตามประเพณีก็เคยเห็นมีแต่เจ้านายและฃ้าราชการผู้ใหญ่ ที่จะได้เฝ้าใกล้ ๆ จริง ฝ่ายผู้น้อยซึ่งโดยมากไปเฝ้าแต่เฉภาะในวันจันทรกับวันพฤหัศนั้น ก็เห็นเคยนั่งซุ่มๆ คอยๆ กันแกร่วอยู่ที่สนามหญ้าฤาตามถนน จนกว่าจะถึงเวลาก็มีผู้ต้อนไปเฃ้าแถวในพระที่นั่งอภิเศก ทรงพระดำเนินผ่านไปจนตลอดแถวแล้วก็เลยเสด็จขึ้นเท่านั้น ด้วยความคิดเช่นนี้จึ่งเฃ้าใจไปว่าการที่ไปสโมสรดูเปนทางที่เปิดโอกาศให้ฃ้าราชการได้เฝ้าทั่วถึงกันมากกว่าที่ได้เคยเปนมาแล้ว และในส่วนฃ้าราชการพลเรือนก็ได้เห็นผลดีอยู่บ้างได้เลย คือฉันสังเกตในส่วนตัวฉันเองว่า ได้รู้จักฃ้าราชการอีกหลายคน ซึ่งจะไม่มีหนทางได้รู้จักฤารู้อัธยาไศรยได้เลยโดยทางให้เฝ้าตามวิธีเก่า แต่ในส่วนทหารนั้นและดูกลับเปนผลตรงกันฃ้าม”
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
V_Mee
|
ความคิดเห็นที่ 24 เมื่อ 22 พ.ย. 14, 19:24
|
|
ที่ตลกร้ายที่สุดคือ ในพระราชหัตถเลขาที่พระราชทานไปยังสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลสวงพิษณุโลกประชานาถที่อ้างถึงข้างต้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงกล่าวถึงเสียงร่ำลือในตอนต้นรัชกาลไว้ว่า “ตั้งแต่ในเวลาต้นๆ แผ่นดิน ได้มีกิติศัพท์มากระทบหูฉันว่า ฃ้าราชการพลเรือนได้พากันพูดไปต่างๆ หลายอย่างหลายประการ เช่นกล่าวว่า “พวกพลเรือนต่อไปเห็นจะตกอยู่ในที่อาภัพ เพราะพรเจ้าแผ่นดินใหม่ท่านเปนทหาร คงมีแต่ทหารเท่านั้นที่จะได้ดี””
แต่ใน“วิทยานิพนธ์ปริญญาอักษรศาสตร์มหาบัณฑิต เรื่อง “เสือป่า : โครงสร้างขององค์กรและบทบาททางการเมือง” กลับกล่าวถึงพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า
“เมื่อถึงสมัยรัชกาลที่ ๖ บทบาทของกรมทหารมหาดเล็กนี้ได้เริ่มลดลงในทันทีที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงขึ้นครองราชสมบัติ ทั้งนี้ เพราะทรงมีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ทรงโปรดปรานและไว้วางพระราชหฤทัยมากกว่า คนกลุ่มนั้นได้แก่ ข้าราชสำนักซึ่งพระองค์ทรงถือว่า เป็นพวกพ้องของพระองค์อย่างแท้จริง ส่วนทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ ทรงถือว่าเป็นกรมทหารของรัชกาลที่ ๕ ดังนั้น เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงตั้งกรมทหารนี้เสด็จสวรรคต จึงทรงพระราชดำริเห็นสมควรที่จะยกกรมนี้ถวายแด่สมเด็จพระบรมชนกาธิบดีให้เป็นข้าสืบไปชั่วกัลปาวสานและทรงโปรดฯ ให้ขนานนามกรมนี้ว่า “กรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” และให้ใช้อักษรพระบรมนามาภิไธยย่อ จ.ป.ร. ติดที่บ่าเสื้อยศเป็นสัญลักษณ์พร้อมกับทรงมีพระบรมราชโองการแต่งตั้งให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ทรงเข้าดำรงตำแหน่งผู้บังคับการกรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ สืบแทนพระองค์ซึ่งทรงมีพระราชภารกิจเพิ่มมากขึ้นเนื่องจากเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ ความสำคัญของกรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ในสมัยรัชกาลที่ ๖ จึงลดลงเป็นลำดับ เหลือแต่เพียงเป็นอนุสรณ์แห่งกรมทหารที่รัชกาลที่ ๕ ทรงจัดตั้งขึ้นเท่านั้น การเปลี่ยนแปลงฐานะความสำคัญของกรมทหารนี้นับเป็นจุดหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความห่างเหินของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงมีต่อทหารของชาติ”
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
V_Mee
|
ความคิดเห็นที่ 25 เมื่อ 22 พ.ย. 14, 19:26
|
|
เมื่อเกิดกรณี ร.ศ. ๑๓๐ ขึ้นโดยมีนายทหารบางนายในกรมทหารมหาดเล็กฯ ต้องหมองไปเพราะพัวพันกับกลุ่มผู้เหตุไม่สงบ นายพลโท พระยาสุรเสนา (กลิ่น แสง-ชูโต) สมุหราชองรักษ์ได้มีดำริที่จะไม่ให้ทหารมหาดเล็กถวายอารักขาอีกต่อไป แต่จะเปลี่ยนให้ทหารรักษาวังซึ่งเป็นข้าราชการพลเรือนสังกัดกระทรวงวังทำหน้าที่แทน แต่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่ทรงเห็นด้วยกับความเห็นดังกล่าว ทหารมหาดเล็กฯ จึงได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยให้เป็นหน่วยอารักขาใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทมาจนถึงยุคเปลี่ยนแปลงการปกครอง
อนึ่งในส่วนที่วิทยานิพนธ์ฉบับดังกล่าวๆ ว่า เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์แล้ว ทรงถือว่า ทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์เป็นกรมทหารของรัชกาลที่ ๕ ดังนั้น เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงตั้งกรมทหารนี้เสด็จสวรรคต จึงทรงพระราชดำริเห็นสมควรที่จะยกกรมนี้ถวายแด่สมเด็จพระบรมชนกาธิบดีให้เป็นข้าสืบไปชั่วกัลปาวสาน แต่เมื่อได้อ่านกระแสพระราชดำรัสที่พระราชทานแก่นายและพลทหารในกรมนี้เมื่อวันที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๔๕๓ กลับพบความที่แตกต่างออกไป ดังนี้
“ตั้งแต่ได้ตั้งกรมทหารมหาดเล็กขึ้นแล้วตลอดมาจนถึงกาลบัดนี้ กรมทหารนี้ได้รับราชการสนองพระเดชพระคุณโดยความจงรักภักดีมิได้ย่อหย่อน เปนที่ไว้วางพระราชหฤทัยแห่งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาบัดนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวผู้ทรงตั้งกรมนี้ขึ้น ได้เสด็จสวรรค์คตแล้ว เปนเหตุทำให้เศร้าโศกอย่างสาหัสทั่วทุกตัวคน เราเชื่อว่าทหารมหาดเล็กทุกคน คงมีความรู้สึกเช่นเดียวกับเราแล้ว เมื่อเรามานึกถึงความสวามิภักดิ์ของทหารมหาดเล็ก เราจึ่งเห็นว่าควรจะยกกรมนี้ถวายแด่สมเด็จพระบรมชนกาธิบดี ให้เป็นข้าสืบไปชั่วกัลปาวสาน เพราะฉนั้นตั้งแต่วันนี้ต่อไป ให้เรียกนามกรมนี้ว่า “กรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” และให้ใช้อักษรพระบรมนามาภิไธยย่อ จ.ป.ร. ติดที่บ่าเสื้อยศสืบไป
ส่วนตัวเราที่ได้เคยเปนผู้บังคับการมาจนบัดนี้ มีความจำใจที่จะต้องออกจากตำแหน่ง โดยเหตุที่มีราชกิจอย่างอื่นที่จำเป็นจะต้องกระทำ จะหาเวลาดูแลการงานในตำแหน่งน่าที่ผู้บังคับการเช่นที่เคยมาไม่สดวก แต่เราจะรับตำแหน่งเป็นนายพันเอกพิเศษ สนองพระองค์สมเด็จพระบรมชนกาธิบดีต่อไป และเราถือว่าทหารมหาดเล็กได้เคยเป็นผู้สนิทใช้ชิดมา เพราะฉะนั้นเราคงจะยังตั้งใจพยายามทราบเหตุการณ์ทุกข์ศุขของคนในกรมนี้ ตั้งแต่นายทหารผู้ใหญ่ผู้น้อยตลอดลงไปจนจนถึงนายสิบพลทหารทั่วทุกตัวคน
อนึ่งตำแหน่งผู้บังคับการกรมทหารนี้ที่ว่างลง เราขอตั้งให้สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนพิษณุโลกประชานาถ ผู้เป็นน้องที่รักและผู้เป็นที่ไว้วางใจของเรา ให้เป็นผู้บังคับการแทนตัวเราต่อไป”
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
cottoncandy
อสุรผัด

ตอบ: 21
|
ความคิดเห็นที่ 26 เมื่อ 22 พ.ย. 14, 21:12
|
|
ขอบคุณอาจารย์วรชาติมากนะคะที่สละเวลามาอธิบายให้อ่านจนไม่สงสัยอะไรอีก ขอขอบคุณจากใจจริงค่ะ
....
โดยส่วนตัวคิดว่าถ้าเป็นสงครามข่าวสาร เราก็น่าที่จะต้องเผยแพร่ข่าวสารที่ถูกต้องออกมาสู้ด้วย เพื่อที่คนไม่รู้จะได้ไม่เข้าใจว่าความจริงมีอยู่ด้านเดียว
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
    
ตอบ: 33424
ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม
|
ความคิดเห็นที่ 27 เมื่อ 22 พ.ย. 14, 21:25
|
|
คุณ V_Mee ได้ทำงานนี้ด้วยความอุตสาหะวิริยะอย่างน่าชมเชยมาก ดิฉันไม่เห็นใครจะทำงานนี้ได้ดีกว่าท่านได้ แต่ว่าการเผยแพร่ก็มีส่วนสำคัญ ให้คนทั่วไปได้เข้าใจข้อมูลที่ถูกต้อง ถ้าคุณ cottoncandy ช่วยอีกแรงหนึ่งเท่าที่จะช่วยได้ ในการกระจายคำตอบออกไปก็จะเป็นสิ่งดีมากค่ะ และขอขอบคุณด้วย
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
V_Mee
|
ความคิดเห็นที่ 28 เมื่อ 24 พ.ย. 14, 12:35
|
|
ในพระราชหัตถเลขาที่ทรงไว้ด้วยพระราชหัตถ์จำนวน ๑๗ หน้า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวยังได้พระราชทานพระบรมราชาธิบายเรื่องทหารและเสือป่าแก่สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถว่า
“ในชั้นต้นฉันไม่คิดให้ทหารเปนเสือป่า เพราะเห็นว่าไม่มีความจำเปนเลย ทหารดีกว่าเสือป่าอยู่แล้ว เสือป่าเปนแต่ผู้ที่มุ่งหมายจะทำการเปนผู้ช่วยทหารเท่านั้น และฉันตั้งใจให้ทหารเปนครูแท้ๆ ส่วนสโมสรฉันก็ตั้งใจให้ใช้ร่วมกัน คือผู้ที่เปนนายทหารชั้นสัญญาบัตรแล้ว ไม่จำจะต้องเปนสมาชิกเสือป่าด้วย ถ้าแต่งเครื่องทหารอยู่แล้วก็เปนอันใช้สโมสรเสือป่าได้ จะผิดกันอยู่กับสามัญสมาชิกก็แต่เพียงจะใช้ได้เฉภาะตัว จะพาสหายไปได้ด้วยอย่างสามัญสมาชิกไม่ได้เท่านั้น แต่ข้อนี้ไม่ช้าก็ปรากฏขึ้นว่า ทหารมิได้เฃ้าใจความมุ่งหมายอันนี้ของฉันเลย กลับเกิดมีเสียงแค้นๆ ขึ้นว่า ไม่ยอมให้มีโอกาศเฃ้าสมาคมกับเพื่อนฃ้าราชการ และทหารไม่มีโอกาศได้เฃ้าใกล้ชิดพระองค์พระเจ้าแผ่นดินเท่าพลเรือน ดังนี้เปนต้น ฉันก็ได้ให้พระยาสุรเสนาไปทูลพี่จิระ (จอมพล พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช เสนาบดีกระทรวงกะลาโหม – V_Mee) ให้เฃ้าพระไทยความคิดของฉัน ไม่ใช่แต่ครั้งเดียว และได้แนะนำพระยาพิไชยสงคราม (นายพลตรี พระยาพิไชยสงคราม (ม.ร.ว.สิทธิ์ สุทัศน์ – นายพลโท พระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกร – V_Mee) ซึ่งเวลานั้นเปนผู้แทนเสนาธิการให้ช่วยอธิบายชี้แจงให้ทหารเฃ้าใจ พระยาพิไชยสงครามได้แต่งข้อความเปนคำอธิบายให้ฉันดูแล้ว ก็ได้ลงพิมพ์ในยุทธโกษ ใช่แต่เท่านั้น ในเมื่อยังไม่มีสโมสรสถานที่สนามม้า (สนามม้าหลวงสวนดุสิต ปัจจุบันรู้จักกันในชื่อ สนามเสือป่า – V_Mee) เดี๋ยวนี้นั้น ได้มีฝึกหัดน่าพระที่นั่งอัมพร ฉันได้แนะนำพระราญรอน (นายพันโท พระราญรอนอริราช (ถั่ว อัศวเสนา) ราชองครักษ์ – พระตำรวจโท พระยาราชมานู ผู้ช่วยสมุหพระตำรวจหลวงรักษาพระองค์ – V_Mee) ให้หานายทหารเฃ้ามาช่วยเปนครูฝึกหัดเสือป่าอยู่ พระราญรอนก็ได้หานายทหารเฃ้าไป ผลัดเปลี่ยนเป็นเวรกันฝึกหัดเสือป่าอยู่ ส่วนในวันใดที่มิใช้วันฝึกหัด แม้มีเล๊กเชอร เช่นเล๊กเชอร์ “ปลุกใจเสือป่า” นั้น ฉันก็ได้บอกพระยาพิไชยสงครามให้บอกนายทหารให้ทราบว่า ใครจะไปฟังก็ได้ ในหนู่นั้นนายทหารก็ได้เฃ้าไปฟังเล๊กเชอรของฉันคราวละมากๆ ทำให้เปนที่พอใจและให้ฉันหวังอยู่ว่า คงจะเปนที่เฃ้าใจความมุ่งหมายของฉันแล้ว เพราะฉะนั้นคงจะไม่ต้องชักชวนอีกให้มาเฃ้าสมาคมเสือป่า คิดว่าต่อนั้นไปคงมาเอง ครั้นเมื่อสโมสรสถานที่สนามม้าได้ทำขึ้นแล้วเสร็จ การเสือป่าก็ขยายตัวขึ้นโดยรวดเร็ว มีฃ้าราชการขอเฃ้าเปนสมาชิกกันมากขึ้นๆ จนจะรับไม่ทัน แต่ในตอนนี้ทหารก็ดูไม่เห็นไปที่สโมสร ฉันก็เฃ้าใจไปเสียว่า จะเปนด้วยเฃามีมีกิจการต้องฝึกหัดเหน็จเหนื่อยอยู่แล้วตลอดวัน จึ่งไม่ได้ไป ต่อมามีฃ้าราชการกระทรวงกลาโหมและกระทรวงทหารเรือที่กระทำน่าที่ราชการแพนกพลเรือนฤาผู้ช่วยพลรบได้มาร้องขออนุญาตเฃ้าปนสมาชิกเสือป่า ฉันก็ได้ยอมอนุญาตให้เฃ้า โดยชี้แจงว่า ที่ยอมเช่นนี้คือยอมรับ “พลเรือน” ในกระทรวงทั้ง ๒ นั้น เพราะอาจจะเปนผู้ต้องการรับความฝึกหัดเท่ากับฃ้าราชการพลเรือนกระทรวงอื่นๆ เหมือนกัน ดูเหมือนจำเดิมแต่เมื่อ/ได้รับ “พลเรือน” ของกระทรวงทหารทั้ง ๒ นั้นเปนต้นไป ก็ได้เกิดมีเสียงไม่พอใจขึ้นในหมู่นายทหาร “ว่าไม่ได้รับความเสมอหน้ากับเพื่อนฃ้าราชการ แม้คนในกระทรวงเดียวกันท่านก็ยังเลือกรับแต่บางคน ทีคนที่ดีๆ เท่ากัน ฤาดีกว่าก็มีก็ไม่รับ””
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
V_Mee
|
ความคิดเห็นที่ 29 เมื่อ 24 พ.ย. 14, 12:36
|
|
“เมื่อฉันได้ยินกิติศัพท์เช่นนี้ ฉันก็ได้คิดอยู่ว่าคารจะให้นายทหารผู้ใหญ่ช่วยกันอธิบายความประสงค์อันมีอยู่เดิมนั้น ให้แก่นายทหารผู้น้อยอีก เพื่อให้เฃ้าใจกันให้แจ่มแจ้งจริงๆ แต่ขณนี้พี่จิระได้ร้องขอขึ้นว่าให้รับนายทหารเฃ้าเปนสมาชิก ฉันได้พูดในที่ประชุมที่สโมสรเสือป่า (ทูลกรหม่อมอา (จอมพล จอมพลเรือ สมเด็จพระราชปิตุลา บรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าฯ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช – V_Mee) ก็ดูเหมือนประทับอยู่ในที่นั้นด้วย) ชี้แจงความตั้งใจเดิมของฉันในส่วนทหาร พี่จิระได้ตอบว่าทราบอยู่ดีแล้ว แต่เห็นว่าการที่จะยอมถือเอานายทหารเปนสมาชิกพิเศษ ซึ่งอาจจะใช้สโมสรเสือป่าได้เท่าสามัญสมาชิกทุกประการนั้น พระองค์ท่านเห็นว่า ทหารจะเอาเปรียบมากเกินไป ควรจะให้เงินค่าบำรุงเท่าสมาชิกอื่นๆ แต่ควรยกการฝึกหัดให้เสีย ที่ประชุมก็ตกลงเห็นด้วยพร้อมกัน จึงเกิดมีวิสามัญสมาชิกขึ้น ฝ่ายฉันก็เริ่มหวังอีกว่า คราวนี้จะเปนที่เรียบร้อย แลจะได้เห็นทหารใช้สโมสรมาสโมสร และได้พบปะกันตามความมุ่งหมายเดิม แต่การก็หาเปนไปอน่างนั้นไม่ ดูเหมือนจะกลับทำให้ทหารไม่พอใจยิ่งขึ้น เพราะกลับดูเหมือนมีเส้นขีดกัดกันทหารอย่างแน่นหนายิ่งไปกว่าแต่ก่อนอีก คือจะมีผู้ใช้สโมสรได้ก็แต่เฉพาะผู้ที่ได้เปนวิสามัญสมาชิกเท่านั้น และยังจะมีต่อไปอีกทาง ๑ คือดูเหมือนว่าผู้ที่จะได้มีเฝ้าจะต้อง “ซื้อ” เกียรติยศอันนั้น โดยทางเสียเงินเฃ้าเปนสมาชิกเสือป่า เมื่อฉันรู้สึกไหวขึ้นมาเช่นนี้ ฉันจึ่งได้ขอโอกาศที่จะแสดงให้ปรากฏว่า ความตั้งใจอย่างเดิมยังคงอยู่ คือยังคงเห็นทหารเปนพวกเดียวกับเสือป่าอยู่นั่นเอง เพราะฉะนั้นเมื่อมีการแสดงตำนานเสือป่า ฉันจึ่งให้ออกประกาศและให้บอกกล่าวว่า ในการแสดงตำนานนั้น ทหารทุกชั้นให้ได้รับตั๋วเฃ้าไปดูโดยไม่ต้องเสียเงิน อย่างเดียวกับสมาชิกเสือป่า ในคราวนั้นทหารก็ได้ไปดูกันมาก แต่การที่ฉันได้คิดจัดให้เปนไปเพื่อให้ทหารได้เปรียบทุกๆ อย่าง ดังได้บรรยายมาแล้วฃ้างบนนี้ ฉันพึ่งจะมารู้สึกชัดเจนเดี๋ยวนี้ว่า ไม่ได้มีผลดีดังมุ่งหมายเลย ทั้งนี้ก็เปนเพราะไม่ได้มีผู้อธิบายให้พวกทหารเฃ้าใจความมุ่งดีของฉันอันมีอยู่แก่หมู่ทหารทั่วไปเปนนิจนิรันตร์ แต่โดยเหตุที่ฉันเปนผู้ที่จะต้องตั้งตนเปนกลางไม่เอียงไปทางทหารมากกว่าพลเรือน ทหารจึ่งเฃ้าใจฉันผิดและตัวฉันเองฤาก็เปนผู้ที่มีนิไสยอันไม่ชอบการป่าวประกาศยกย่องตนเอง เพราะฉะนั้นเมื่อฉันทำการใดๆ ไปแล้ว ฉันก็ไม่ได้คอยชี้ฤาตะโกนประกาศให้คนทั้งปวงเห็นและเฃ้าใจความมุ่งดีของตัวฉัน ฉันคอยแต่นั่งหวังอยู่ว่า คงจะมีผู้เอาใจใส่ชี้แจงให้ผู้น้อยเฃ้าใจ และเล็งเห็นว่า ความมุ่งหมายของฉันในการที่ทำเช่นนั้นๆ อันที่จริงมีอยู่อย่างไร ฤาบางทีจะไม่มีใครแลเห็นฤาเฃ้าใจความมุ่งหมายของฉันเสียเลย ตั้งแต่ผู้ใหญ่ตลอดถึงผู้น้อย ฉนี้ก็อาจจะเปนได้ จึ่งมิได้มีใครเอาใจใส่ในทางนั้น ฉันได้อธิบายความในตอนนี้โดยละเอียดและยืดยาว เพราะในขณเมื่อเหตุการณ์ที่ได้บรรยายมาแล้วนี้บังเกิดขึ้นและเปนไปนั้น เปนเวลาที่ตัวเธออยู่ในยุโรป (เวลานั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ เสด็จแทนพระองค์ไปในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระเจ้ายอร์ชที่ ๕ พระราชาธิบดีแห่งกรุงบริเตนใหญ่ – V_Mee) และตั้งแต่เธอกลับเฃ้ามาแล้ว ก็พะเอินมีการงานต่างๆ ชุกอยู่มาก ฉันยังมิได้มีเวลาอธิบายความแก่เธอให้ละเอียดเช่นที่ได้อธิบายมาในจดหมายนี้ ข้อความใดๆ ที่เธอได้รู้มาแล้วฉันเฃ้าใจว่าโดยมากรู้จากบุคคลภายนอก จึ่งเห็นควรบอกความในโดยพิสดารให้ทราบเสียคราว ๑ แล้วแต่เธอจะคิดเปนเห็นประการใดเถิด”
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
|