การศึกษาในแผนกทันตแพทยศาสตร์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เริ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในวันที่ ๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๓ ซึ่งเป็นวันเริ่มต้นปีการศึกษาของมหาวิทยาลัย ขณะนั้นทางแผนกทันตแพทยศาสตร์ยังไม่มีสถานที่ตั้งของตนเอง จึงต้องอาศัยส่วนหนึ่งของตึกวิทยาศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ เป็นสถานศึกษาชั่วคราว สำหรับวิชาเฉพาะทางทันตแพทยศาสตร์จัดสอนโดย ศาสตราจารย์ พ.อ.หลวงวาจวิทยาวัฑฒน์ ศาสตราจารย์ สี สิริสิงห และ Dr. Matin Hanf ทันตแพทย์ชาวเยอรมัน ซึ่งมาประกอบอาชีพทันตกรรมในประเทศไทย ส่วนวิชาชีวเคมี สรีรวิทยา และกายวิภาคศาสตร์ ซึ่งเป็นวิทยาศาสตร์พื้นฐานของวิชาการแพทย์นั้น นิสิตต้องไปอาศัยเรียนร่วมกับนิสิตแพทย์ ที่คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลศิริราช ธนบุรี นิสิตทันตแพทย์รุ่นแรก มีจำนวน ๘ คน
อาคารวาจวิทยาวัฑฒน์ (DEN 06) มีพิธีเปิดเมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๔ เป็นอาคารสองชั้น กว้าง ๑๑ เมตร ยาว ๑๑๖.๓๐ เมตร ออกแบบ โดยศาสตราจารย์ มันเฟรดี คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ค่าก่อสร้าง เป็นเงิน ๑๔๙,๐๐๐ บาท เมื่อมีสถานที่ของแผนกเองแล้วก็ได้ย้ายการสอนวิชาทางทันตแพทยศาสตร์ จากตึกวิทยาศาสตร์มา ณ ตึกที่สร้างใหม่นี้ตั้งแต่ปีการศึกษา ๒๔๘๔ ส่วนการศึกษาวิชาวิทยาศาสตร์พื้นฐานทางการแพทย์ ยังคงต้องอาศัยเรียนอยู่ในคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลศิริราชต่อไป
แผนกทันตแพทยศาสตร์ มีโอกาสใช้ตึกใหม่นี้เพียง ๖ เดือน ก็เกิดสงครามมหาเอเซียบูรพาขึ้น เมื่อวันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ ทหารญี่ปุ่นได้ใช้ตึกนี้เป็นที่ตั้งของทหารหน่วยหนึ่ง เมื่อสงครามสิ้นสุด ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๙ จึงได้รับอาคารคืน
ส่วนตึกทันตกรรม (DEN 01) ทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ ๑๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๙ ใช้เป็นสถานที่ฝึกการปฏิบัติงานทางคลินิกของแผนกต่าง ๆ คือ แผนกทันตกรรมประดิษฐ์ แผนกทันตกรรมหัตถการ แผนกรังสีวิทยา แผนกศัลยศาสตร์ และแผนกทันตกรรมจัดฟัน
ข้อมูลจาก
คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 