เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 4 5 [6] 7 8 ... 11
  พิมพ์  
อ่าน: 35117 “โพยม จันทรัคคะ” ถ้าท่านนี้ไม่ตัดสินใจ ไทยอาจเสียอธิปไตยได้
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 75  เมื่อ 22 พ.ย. 14, 11:02

ผู้บังคับหน่วยยังแปลกใจว่าเสริมยอมไปโดดร่มได้อย่างไร แบบนี้ถ้าเป็นทหารอเมริกันจะต้องให้พักสักสองสัปดาห์ เสริมบอกว่าไม่เป็นไร คนไทยไม่กลัวตายและมีกำลังใจที่จะโดดได้  เมื่อเป็นความประสงค์ของเจ้าตัวด้วยเขาก็เลยจัดให้ แล้วรายงานไปยังกองบัญชาการที่แคนดี้  กองบัญชาการยอมรับว่าคนไทยคนนี้กล้าหาญจริง  จึงได้มอบเหรียญชั้นบรอนซ์สตาร์ให้เป็นเกียรติยศ ซึ่งเป็นเพียงเหรียญเดียวที่รัฐบาลสหรัฐได้มอบให้พลเรือนไทย ที่ปฏิบัติการเช่นเดียวกับทหารในสมรภูมิสงคราม สำหรับความกล้าหาญและความเสียสละอย่างสูงในครั้งนั้น

ซึ่งถือว่าเป็นเกียรติยศต่อประเทศไทยด้วย


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 76  เมื่อ 23 พ.ย. 14, 10:02

 มีนาคม พ.ศ.๒๔๘๘
เหตุการณ์ทั้งหมดที่ผ่านมา ฝ่ายญี่ปุ่นได้ระแคะระคายมานานแล้ว ฝ่ายเสนาธิการของโตเกียวและกองทัพใหญ่ในอินโดจีนได้แนะนำนายพลนากามูระหลายครั้งให้จัดการในเรื่องนี้ให้เด็ดขาด มิฉะนั้นญี่ปุ่นจะลำบาก แต่นายพลนากามูระได้แสดงความไม่เห็นด้วย โดยกล่าวว่า แม้ไทยจะมีฝ่ายที่อยู่ข้างสัมพันธมิตรอยู่กลุ่มใหญ่ แต่การใช้กำลังทหารควรกระทำเมื่อจำเป็น และมีประโยชน์ต่อชาติญี่ปุ่นอย่างแท้จริงเท่านั้น ซึ่งตัวท่านเองเห็นว่ายังไม่ถึงเวลา

อย่างไรก็ดี ในเช้าวันที่ ๙ มีนาคม ท่านได้รับโทรเลขลับสุดยอดจากแม่ทัพใหญ่ในอินโดจีน แจ้งว่าในเวลา ๑๘.๐๐ กองทัพญี่ปุ่นจะยื่นคำขาดต่อข้าหลวงใหญ่อินโดจีนฝรั่งเศสที่ขึ้นกับรัฐบาลวีชี่ และเป็นพันธมิตรของญี่ปุ่น แต่มีพฤติกรรมที่เอาใจออกห่างเช่นเดียวกับที่ไทยกระทำ แม่ทัพญี่ปุ่นที่นั่นทนไม่ได้จึงจะขอปลดอาวุธ  โดยให้เวลาถึง ๒๐.๐๐ น. หากพ้นจากนั้นไปแล้ว ญี่ปุ่นจะปฏิบัติการตามที่เห็นสมควร ฉะนั้น โทรเลขนี้จะแพร่งพรายให้ใครรู้มิได้จนกว่าจะพ้นเวลาคำขาด

นายพลนากามูระเห็นว่า หลังเส้นตายดังกล่าวทหารญี่ปุ่นกับฝรั่งเศสอาจปะทะกัน และอาจมีทหารแตกทัพหนีเข้าพรมแดนไทยเข้ามา ถ้าไม่บอกฝ่ายไทยล่วงหน้าก็ไม่ใช่เพื่อนกันแล้ว ดังนั้น ท่านจึงเชิญนายควง นายกรัฐมนตรีและ พล.ร.อ. สินธุ์ กมลนาวิน รัฐมนตรีกลาโหม มาพบด้วยเรื่องด่วนในตอน ๑๘.๐๐น. ที่กองบัญชาการทหารญี่ปุ่น เมื่อทั้งสองมาแล้ว ท่านจึงแจ้งให้ทราบด้วยวาจาอันสุภาพ และขอโทษที่จะต้องขอให้อยู่กับท่านจนพ้นเวลา ๒๐.๐๐ น. จึงค่อยไป ซึ่งฝ่ายไทยก็เข้าใจดี

แต่ภายใต้ความเข้าใจนั้นก็คงลึกซึ้งด้วยว่า วันใดวันหนึ่งญี่ปุ่นก็อาจทำเช่นนั้นกับไทยเหมือนกัน ถึงใกล้แพ้ แต่กองทัพญี่ปุ่นในเมืองไทยซึ่งมีกำลังกระจัดกระจายอยู่ทั่วประเทศร่วมสองแสนคนถือว่ายังสดอยู่ อาวุธยุทโธปกรณ์ก็แทบจะยังไม่ได้ใช้ ขืนรบกัน กองทัพไทยซึ่งหมดกระสุนไปเกือบหมดตั้งแต่ครั้งเล่นสงครามกับฝรั่งเศสและตอนญี่ปุ่นบุก คงแหลกละเอียด


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 77  เมื่อ 24 พ.ย. 14, 09:39

ปฏิบัติการของญี่ปุ่นในครั้งนั้น ฝรั่งเศสมิได้กล้าหือ นอกจากมีนายทหารระดับผู้บังคับกองพันคนหนึ่งปฏิเสธที่จะอยู่ใต้อำนาจของญี่ปุ่น เขาจึงถูกประหารชีวิตด้วยการตัดศีรษะเช่นเดียวกับการประหารซามูไร แต่ไม่มีทหารญี่ปุ่นแตกทัพเข้ามาในไทย ก็ใครมันจะโง่เข้ามาทางนี้ ก็รู้ๆกันอยู่ว่าอะไรเป็นอะไร

การสำแดงพลังอำนาจของญี่ปุ่นแบบฉับพลันเช่นนี้ส่งผลให้อังกฤษและอเมริกันต้องหยุดและรอดูสถานการณ์ในประเทศไทยว่าญี่ปุ่นจะเอาอย่างไรอยู่สองสามสัปดาห์ ครั้นเห็นว่ายังเป็นปกติ จึงส่งเสรีไทยและหน่วยปฏิบัติการลับของกองทัพอเมริกันเข้ามาเพิ่ม

ในเดือนมีนาคมนี้ ร.ต.เจริญ เจริญรัชต์ภาคย์ ร.ต.ประยูร อรรถจินดา และ ร.ต.อำนวย พูนพิพัฒน์ เสรีไทยสายอเมริกาได้เดินทางเข้าไทยโดยเครื่องบินทะเล เมื่อดูลาดเลาแล้วว่าปลอดโปร่งอเมริกันจึงส่ง พ.ต.ริชาร์ด กรีนลี พร้อมด้วย ร.อ.โฮเวิร์ด ปาล์มเมอร์ จึงเดินทางเข้ามาด้วยวิธีเดียวกัน


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 78  เมื่อ 24 พ.ย. 14, 18:25

 ๙ เมษายนพ.ศ.๒๔๘๘ 
ไม่ทราบว่าสหรัฐได้คุยกับอังกฤษในเรื่องอนาคตของไทยอย่างไร แต่แทนที่จะเป็นอังงกฤษ กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐกลับเชิญ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช และนายกนต์ธีร์ ศุภมงคล ไปพบ และแจ้งว่าอังกฤษยินยอมให้แจ้งต่อฝ่ายไทยด้วยวาจาว่า

(๑) เป้าหมายสุดท้ายของอังกฤษและสหรัฐฯ เป็นอย่างเดียวกัน 
(๒) อังกฤษไม่มีความสงสัยในความจริงใจของนายปรีดี พนมยงค์ ที่ปรารถนาจะร่วมมือกับฝ่ายสัมพันธมิตร และ
(๓) อังกฤษจะติดต่อโดยตรงกับนายปรีดี พนมยงค์ ไปจนกว่าจะมีการจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราวในประเทศไทยขึ้น ตามดำริของนายปรีดี ผู้สำเร็จราชการ
นายกนต์ธีร์ได้เดินทางกลับประเทศไทยโดยเครื่องบินทะเลอังกฤษนำมาส่งที่ชายฝั่งหัวหิน

๑๒ เมษายน พ.ศ.๒๔๘๘   
แห่งสหรัฐอเมริกาถึงอสัญกรรม แฮร์รี เอส  กระทำพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งแทนในอีกสองวันต่อมา รองประธานาธิบดีทรูแมน และประธานาธิบดีรูสเวลต์


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 79  เมื่อ 24 พ.ย. 14, 18:42

 ๑๔ เมษายน พ.ศ.๒๔๘๘    
โรงไฟฟ้าสามเสนและโรงไฟฟ้าวัดเลียบ ถูกระเบิดเสียหายหนักไม่สามารถผลิตไฟฟ้าต่อไปได้ กรุงเทพทั้งเมืองต้องตกอยู่ในความมืดมิดหลังจากพระอาทิตย์ตก

ทางราชการได้นำเรือดำน้ำที่มีอยู่ทั้งหมด ๔ลำ แต่ละลำมีเครื่องกำเนิดไฟฟ้าขนาดใหญ่สำหรับระบบขับเคลื่อน มาจอดที่ท่าราชวรดิษเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าสำหรับรถราง ให้วิ่งบริการได้ต่อไป


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 80  เมื่อ 24 พ.ย. 14, 18:45

๒๑ เมษายน พ.ศ.๒๔๘๘     
น.ท.ทวี จุลละทรัพย์ ได้เดินทางจากกรุงเทพฯ ไปทำหน้าที่นายทหารติดต่อฝ่ายกองทัพอากาศที่แคนดี โดยมีคณะนายทหารอเมริกัน ๓นาย ที่ได้เข้ามาอยู่ที่บ้านมลิวัลย์ ริมแม่น้ำเจ้าพระยาติดกับทำเนียบท่าช้างของผู้สำเร็จราชการ ปรีดี พนมยงค์ คือ ร.อ.จอห์น เวสเตอร์ ร.อ.โฮเวิร์ด ปาล์มเมอร์ และ ร.ท.แมคแกรรี นักบินที่เครื่องบินตกที่แม่ฮ่องสอน ร่วมเดินทางไปกับเครื่องบินทะเลลำที่นำนายทหารเสรีไทยสายอเมริกา ๓ นาย คือ ร.ต.สมจิต ยศสุนทร ร.ต.เชื้อ หุ่นจำลอง และ ร.ต.การุณ เก่งระดมยิง เข้ามายังประเทศไทย

น.ท.ทวี จุลละทรัพย์ เดินทางไปๆมาๆระหว่างกรุงเทพฯกับอินเดีย ๓ครั้ง โดยปฏิบัติงานภายใต้ พล.อ.ท.หลวงเทวฤทธิพันลึก ผ.บ.กองทัพอากาศ และ โอ.เอส.เอส.

 ๒๘ เมษายน พ.ศ.๒๔๘๘   
เบนิโต มุสโสลินี ผู้นำเผด็จการของอิตาลีถูกจับได้และถูกประชาชนนำไปประหารชีวิต และแขวนศพประจานพร้อมภรรยา


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 81  เมื่อ 24 พ.ย. 14, 18:54

๒๙ เมษายนพ.ศ.๒๔๘๘
ร.ต.วัฒนา ชิตวารี และ ร.ต. ม.จ.ภีศเดช รัชนี แห่งกองกำลัง ๑๓๖ เดินทางเข้าประเทศไทยโดยเครื่องบินทะเล ณ บริเวณเกาะเต่าในอ่าวไทย

ในวันเดียวกัน พ.ต. ม.จ.ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิทฯ พร้อมด้วย พล.จ. วิคเตอร์ เจคส์ และ พ.ต.ทอมัส ฮอบส์ แห่งกองทัพอังกฤษ เดินทางโดยเครื่องบินทะเลเข้ามาพบนายปรีดี พนมยงค์ ในกรุงเทพฯ คณะนายทหารอังกฤษได้พบปะกับบุคคลชั้นหัวหน้าของขบวนการเสรีไทยในประเทศบนเรือกลไฟกลางแม่น้ำเจ้าพระยา อาทิเช่น พล.ท.ชิต มั่นศิลป์ สินาดโยธารักษ์ นายดิเรก ชัยนาม พล.ต.อ.อดุล อดุลเดชจรัส พล.ท.หลวงชาตินักรบ โดยมี พ.อ.เนตร เขมะโยธิน ร่วมด้วย

นับเป็นครั้งสำคัญที่บุคคลระดับแกนนำของคณะผู้เปลี่ยนแปลงการปกครอง ได้ทำงานร่วมกับพระโอรสของกรมพระสวัสดิ์ฯคู่อริ ผู้ทรงเป็นอดีตนายทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 82  เมื่อ 24 พ.ย. 14, 19:59

๓๐ เมษายน พ.ศ.๒๔๘๘   
อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ท่านผู้นำแห่งเยอรมนีฆ่าตัวตาย ขณะที่กองทัพโซเวียตเข้าล้อมกรุงเบอร์ลิน

ต้นเดือนพฤษาคม พ.อ.เนตร เขมะโยธิน และ ร.อ.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ พร้อมด้วย พล.จ.เจคส์ และ พ.ต.ฮอบส์ ได้เดินทางโดยเครื่องบินทะเลไปอินเดีย โดยพ.อ.เนตรจะทำหน้าที่เป็นนายทหารติดต่อประจำอยู่แคนดีในฐานะผู้แทนของขบวนการเสรีไทย และเป็นผู้ดูแลบรรดาเสรีไทยในประเทศที่ส่งออกไปฝึกการรบที่อินเดียและ
ในเดือนเดียวกัน น.อ.หลวงยุทธกิจพิลาส (มี ปัทมนาวิน) ร.น. ร.ท.ชลิต ชัยสิทธิเวช ร.น. และนายกุมุท จันทร์เรือง ได้ถูกส่งไปช่วยเหลืองานสถานอัครราชทูต และทูตทหารที่กรุงวอชิงตัน

๗ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๘๘   
เยอรมันยอมจำนนโดยปราศจากเงื่อนไขที่กองบัญชาการทัพของนายพลไอเซนฮาวร์ และในวันรุ่งขึ้น ประธานาธิบดีทรูแมนก็ประกาศเป็นวันชัยชนะของสัมพันธมิตรในยุโรป



บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 83  เมื่อ 24 พ.ย. 14, 20:41

พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๘๘
เสรีไทยได้เร่งปฏิบัติการอย่างคึกคัก   

ร.อ.สวัสดิ์ ศรีศุข เสรีไทยสายอังกฤษ ได้กระโดดร่มลงที่หลังเขาหัวหิน  พ.ต.จอห์น ฮอลลาเดย์ และ ร.ต.ฉลอง ปึงตระกูล กระโดดร่มลงที่สกลนคร พลพรรคเสรีไทยทั้งทหาร ตำรวจ และพลเรือนได้ร่วมกันจัดสร้างสนามบินลับขึ้นที่จังหวัดสกลนคร เลย นครราชสีมา อุบลราชธานี ชัยภูมิ ทำให้การเดินทางเข้าออกประเทศไทย ทำได้สะดวกทั้งทางเครื่องบินบก และเครื่องบินทะเล ตำรวจสันติบาลที่ถูกส่งไปฝึกงานก็เริ่มทยอยกลับเข้ามาเมืองไทย สวนกับรุ่นต่อไปที่ออกไปฝึกที่อินเดีย อาวุธยุทโธปกรณ์ได้ถูกทยอยส่งเข้ามาซุกซ่อนไว้เพื่อรอการใช้รบกับทหารญี่ปุ่น

ญี่ปุ่นเริ่มตรวจพบสนามบินลับเหล่านั้นทางเครื่องบิน และได้ขอให้ไทยส่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารเข้าร่วมกับญี่ปุ่นในการพิสูจน์ทราบทางภาคพื้นดิน ฝ่ายไทยได้รีบให้คนไปปักกล้าอ้อยกล้ามันเพื่อกลบเกลี่อน ญี่ปุ่นเห็นแล้วได้ฟังคำอธิบายก็ได้แต่พยักหน้าหงึกๆ อ้อ ประเทศนี้เขาปลูกพืชไร่กันเป็นแปลงยาวๆเหมือนเส้นก๋วยเตี๋ยวกลางป่า


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 84  เมื่อ 25 พ.ย. 14, 06:33

 ๒๐ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๘๘   
นายปรีดี พนมยงค์ ทำหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการต่างประเทศสหรัฐมีสาระสำคัญว่า ขบวนการเสรีไทยได้กระทำตามข้อแนะนำของฝ่ายอเมริกันตลอดมา ว่าจะไม่ปฏิบัติต่อสู้ญี่ปุ่นอย่างเปิดเผยก่อนถึงเวลาอันควร แต่บัดนี้ญี่ปุ่นได้มีความสงสัยมากขึ้น และรัฐบาลจะลาออกถ้าญี่ปุ่นยืนยันจะขอเงินกู้จากไทยเพิ่มอีก ดังนั้น รัฐบาลใหม่ที่จะตั้งขึ้นจะประกาศยกเลิกข้อตกลงต่างๆ ที่ได้เคยทำกับญี่ปุ่นไว้ รวมทั้งการที่ได้ประกาศสงครามกับอังกฤษและสหรัฐด้วย  โดยไทยจะลุกขึ้นต่อสู้กับญี่ปุ่น จึงขอแจ้งให้สหรัฐทราบเสียก่อน

ข้าพเจ้าเชื่อว่าในวันที่เราลงมือปฏิบัติการนั้น สหรัฐฯจะประกาศเคารพความเป็นเอกราชของประเทศไทย และถือว่าประเทศไทยเป็นสมาชิกหนึ่งของสหประชาชาติ และไม่ถือว่าประเทศไทยเป็นศัตรู ทั้งนี้จะเป็นการส่งเสริมกำลังใจอย่างใหญ่หลวงต่อมวลราษฎรไทย ซึ่งเตรียมพร้อมแล้วในการเสียสละใดๆ และข้าพเจ้าได้แจ้งเรื่องทั้งหมดนี้ไปยังผู้บัญชาการทหารสูงสุดสัมพันธมิตรภาคเอเชียอาคเนย์ (พล.ร.อ.ลอร์ด เมาน์ทแบทเตน) ด้วยแล้ว

๒๘ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๘๘   
กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ส่งหนังสือตอบนายปรีดีกลับมาว่า สหรัฐขอให้ตระหนักถึงการปฏิบัติการใดๆ ของขบวนการเสรีไทยจะต้องสอดคล้องกับแผนยุทธการของสัมพันธมิตร มิฉะนั้นจะเท่ากับเป็นการเร่งให้ญี่ปุ่นยึดประเทศไทย จึงขอให้รอไว้ก่อน

๗ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๘๘   
นายปรีดี มีหนังสือตอบไปว่าจะพยายามสนองเจตจำนงของสัมพันธมิตร ซึ่งมิใช่จะกระทำได้โดยง่าย เนื่องจากเหตุการณ์รัดตัวใกล้เข้ามาทุกขณะ


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 85  เมื่อ 25 พ.ย. 14, 06:41

 ๒๕ มิถุนายนพ.ศ.๒๔๘๘   
กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐส่งบันทึกแจ้งต่อเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำกรุงวอชิงตัน มีสาระสำคัญว่า สหรัฐและอังกฤษมีพื้นฐานเกี่ยวกับประเทศไทยที่คล้ายคลึงกัน คือใคร่จะฟื้นฟูเสรีภาพ เอกราช และอธิปไตยของไทย และเห็นพ้องกันว่าไทยจะต้องคืนดินแดนที่เอาไปจากพม่า อินโดจีน และมลายู โดยสหรัฐฯกับอังกฤษไม่มีความปรารถนาดินแดนส่วนใดของไทย นอกจากนั้นอังกฤษและสหรัฐ  ก็ยังเชื่อในความจริงใจของนายปรีดีที่ต้องการจะเข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตร ในการผลักดันญี่ปุ่นออกจากประเทศไทย สหรัฐมีนโยบายที่จะรับรองรัฐบาลที่ชอบด้วยกฎหมายของไทยโดยเร็ว  และหวังว่าสถานะสงครามระหว่างอังกฤษกับไทยจะเป็นอันสิ้นสุดลงในเวลาอันสั้นที่สุด


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 86  เมื่อ 26 พ.ย. 14, 08:03

มิถุนายน พ.ศ.๒๔๘๘     
นายทหารเสรีไทยทั้งสายอังกฤษและสายอเมริกาได้เข้าร่วมปฏิบัติงานกับเสรีไทยในประเทศ ทั้งทหาร ตำรวจและพลเรือน ซึ่งในหลายหน่วยมีนายทหารสัมพันธมิตรเข้ามาร่วมปฏิบัติงานด้วย
ภารกิจหลักก็คือ การรับอาวุธยุทธภัณฑ์ที่สัมพันธมิตรส่งมาให้อย่างขนานใหญ่ทางสนามบินลับทุกแห่ง และการฝึกการรบแบบใต้ดินแก่พลพรรค ซึ่งเป็นชาวบ้านในอาณาบริเวณนั้น


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 87  เมื่อ 26 พ.ย. 14, 08:05

๒๖ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๘๘   
สัมพันธมิตรปิดการประชุมพร้อมกับลงมติรับรองกฎบัตรสหประชาชาติ


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 88  เมื่อ 26 พ.ย. 14, 08:09

๕ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๘๘   
ญี่ปุ่นวางอาวุธ นายพลดักลาส แมคอาเธอร์ ประกาศปลดปล่อยฟิลิปปินส์


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 89  เมื่อ 26 พ.ย. 14, 09:17

๙ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๘๘  
แม่ทัพนากามูระเชิญพล.ร.อ.สินธุ์ รัฐมนตรีกลาโหม และพล.อ.หลวงสินาทโยธารักษ์ แม่ทัพบกพร้อมทั้งคณะนายทหารชั้นผู้ใหญ่ในกองทัพบก เรือและอากาศไปเยี่ยมชมแนวปราการที่ถนนพญาไท บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ซึ่งญี่ปุ่นสร้างโดยนำซุงไม้สักมาเรียงซ้อนไว้อย่างมั่นคงแข็งแรง ติดตั้งอาวุธหนักเบาครบครัน โดยอ้างว่าเพื่อรับมือการโจมตีของสัมพันธมิตร แต่ความจริงแล้วก็คือไม่ไว้ใจฝ่ายไทยนั่นเอง การเชิญมาครั้งนี้จึงถือเป็นการปรามมิตรร่วมรบไม่ให้เอาใจออกห่าง หันมาฆ่าเพื่อนด้วยกันเอง

การที่ญี่ปุ่นสร้างปราการขนาดใหญ่ได้ในเวลารวดเร็วนั้น ญี่ปุ่นว่าได้สร้างความพิศวงให้คณะนายทหารไทยมาก และในภาคบรรยายซึ่งเสนาธิการทหารของญี่ปุ่นผู้มีประสพการณ์ในการรับมือการบุกของกองทัพสัมพันธมิตรในพม่า ได้มาเผยจึงกลยุทธต่างๆ จบด้วยปาฐกถาของนายพลนากามูระว่า ญี่ปุ่นพยายามเต็มที่ๆจะไม่ให้กรุงเทพเมืองหลวงของไทยต้องตกเป็นสมรภูมิรบ แต่ญี่ปุ่นจะประมาทมิได้เนื่องจากตระหนักดีถึงความเคลื่อนไหวของกองกำลังใต้ดิน จึงต้องเตรียมพร้อมที่จะป้องกันตนเอง ส่วนสนามบินลับต่างๆที่ญี่ปุ่นทราบแล้วว่าอยู่ที่ไหนบ้างนั้น จะใช้มาตรการเด็ดขาดดำเนินการต่อไป

ท่านแม่ทัพว่าคำกล่าวของท่านเหมือนลูกระเบิดที่ทำความประหวั่นพรั่นใจให้ทหารไทยไม่น้อย แต่ท่านก็ไม่ได้เขียนต่อว่าหลังจากนั้น ทหารไทยก็ตั้งบังเกอร์บ้าง ทุกแห่งที่ญี่ปุ่นมีรังปืนกลไทยก็ต้องไปตั้งอยู่ใกล้ๆระยะยิง ญี่ปุ่นยังงงๆอยู่ ไหนบอกว่าจะเอาไว้ยิงสู้ฝรั่งอั้งม้อ แต่ไหง๋ตั้งปืนหันมาหาวาตาชิ วะ


บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 4 5 [6] 7 8 ... 11
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.052 วินาที กับ 20 คำสั่ง