เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 2 3 [4] 5 6 ... 11
  พิมพ์  
อ่าน: 35051 “โพยม จันทรัคคะ” ถ้าท่านนี้ไม่ตัดสินใจ ไทยอาจเสียอธิปไตยได้
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 45  เมื่อ 16 พ.ย. 14, 19:03

จากคำให้การในฐานะพยานของพล.ต.อ.อดุล ในคดีที่อัยการฟ้องจอมพล ป.พิบูลสงครามและพวก เป็นจำเลยในคดีอาชญากรสงครามนั้น มีตอนหนึ่งที่พล.ต.อ.อดุลเบิกความว่า ในราวปี ๒๔๘๔ ทางอังกฤษได้ส่งลูกจีนที่เกิดในเมืองไทยมาโดดร่มลงบริเวณรางรถไฟ ที่อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม  ๔คน แต่ตำรวจยิงตายไป ๑คน จับเป็นได้ ๒คน พร้อมวิทยุและสัมภาระทั้งหมด หนีหายไป ๑คน ญี่ปุ่นรู้เข้าก็จะขอตัวไปสอบสวนแต่ท่านไม่ยอม แต่ถ้าจะสอบสวนร่วมกันก็ได้ ผลการสอบทราบว่าอังกฤษส่งให้มาดูลาดเลา และแจ้งพิกัดที่ตั้งของทหารญี่ปุ่น หลังการสอบสวนตำรวจก็คุมยังคุมตัวไว้ ส่วนวิทยุญี่ปุ่นขอไป แต่ท่านก็สังให้ถอดอะไหล่สำคัญตัวหนึ่งออกเพื่อให้ญี่ปุ่นใช้การไม่ได้

ผมว่า ญี่ปุ่นคงไม่ได้อยากได้วิทยุไปใช้ แต่ถ้าฝ่ายไทยอยากจะคุมเชลยไว้ก็คุมไป ไม่มีวิทยุเสียอย่างก็รายงานกลับไปโน่นไม่ได้ ส่วนพลร่มจีนคนที่หนีไปนั้น สุดท้ายได้ไปตกอยู่ในมือของญี่ปุ่น ตามที่ผู้บัญชาการชาวพุทธเขียนหนังสือเล่าไว้ใน “ความทรงจำของนายพลนากามูระ”

พล.ต.อ.อดุลให้การต่อไปว่า ในปลายปีนั้น ตำรวจก็จับพลร่มได้อีก ๓คน บริเวณจังหวัดชัยนาท อุทัยธานี เป็นนักเรียนไทยในอังกฤษชื่อ ป๋วย ประทานและเปรม เมื่อได้รับรายงาน ท่านได้สั่งให้รักษาเป็นความลับ แล้วส่งของที่ยึดได้ใส่หีบตีตราครั่ง ส่งมาให้ท่านโดยด่วน หลังจากนั้นให้คุมตัวลงมากรุงเทพ ท่านว่าเองว่าความลับนี้ปิดไม่มิด ญี่ปุ่นล่วงรู้จากสายสืบที่แฝงตัวอยู่ตามหัวเมืองต่างๆ

ระหว่างคุมตัวพลร่มเหล่านั้นไว้ที่สันติบาลแล้ว นายปรง พหูชนม์ปลัดจังหวัดอุทัยธานีได้มาขอเข้าพบด่วน และแจ้งว่านักเรียนไทยที่มานี้ ถือหนังสือลับเฉพาะของลอร์ดหลุยส์ เมาต์แบตเตน แม่ทัพใหญ่อังกฤษภาคเอเซียมาเพื่อจะมอบให้นายปรีดี ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินด้วย หลังจากนั้นให้พยายามติดต่อ พล.ต.อ.อดุล หรือ หลวงนฤเบศร์มานิต (สงวน จูฑะเตมีย์) โดยไม่ระบุชื่อจอมพล ป.ไว้ด้วย


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 46  เมื่อ 17 พ.ย. 14, 09:46

ความตามนัยยะของย่อหน้าสุดท้ายข้างบนนี้ก็คือ พล.ต.อ.อดุลได้เบิกความต่อศาลว่า ท่านได้ส่งคนของท่านเข้าไปเมืองจีนสองสามครั้ง เพื่อหาทางติดต่อกับฝ่ายสัมพันธมิตร เช่นเดียวกับที่นายปรีดีส่งนายสงวนไปเแทนนายจำกัด ซึ่งได้เลยจากจีนไปถึงอเมริกาและอังกฤษเช่นกัน ผิดแต่เพียงว่าคนของท่านสาปสูญไป ณ ตำบลใดท่านไม่ทราบ  แต่เมื่อมีชื่อท่านติดโผพร้อมกับนายปรีดีก็แสดงว่าคนของท่านคงทำงานได้ผล แต่จอมพล ป.ซึ่งพยายามติดต่อกับจีนกองพลที่ ๙๓ เช่นกัน แต่ฝรั่งไม่ให้เครดิต ว่างั้นเถอะ

พล.ต.อ.อดุลได้นำสัมภาระที่ยึดได้มาตรวจสอบ แล้วกั๊กเอกสารสำคัญบางอย่างไว้ นอกนั้นเอาไปรายงานจอมพล ป.โดยไม่ได้บอกความข้างต้น เพราะกลัวจอมพล ป.จะอิจฉา (ท่านว่าเองนะครับ ผมไม่ได้ใส่ไข่) จอมพลฉุนมาก คิดว่าอังกฤษส่งคนมาปั่นป่วน หวังจะเสี้ยมให้ญี่ปุ่นกับไทยระแวงกัน หรือไม่ก็คงส่งคนพวกนี้มาลอบฆ่าบุคคลสำคัญ
 
พล.ต.อ.อดุลกลับมาแล้วจึงสั่งให้นายตำรวจระดับรองจากท่านไปบอกให้เสรีไทยกลุ่มนี้เขียนรายงานถึงจอมพล ป. โดยสอนวิธีเขียนโดยใช้สรรพนามว่าฉันตามรัฐนิยม เน้นความรักชาติของตนเองให้มากๆ และบอกว่าลอร์ดหลุยส์ใช้มาให้พยายามหาทางติดต่อประสานกับท่านผู้นำ ให้เขียนยกยอท่านแบบจัดหนักเข้าไว้  ดังนั้นเมื่อจอมพล ป. เมื่ออ่านรายงานนี้จึงยิ้มออก และตกลงให้พล.ต.อ.อดุลดูแลเรื่องนี้ต่อไปแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด คนอื่นไม่ต้องมายุ่งแม้แต่ตัวนายกรัฐมนตรีเอง


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 47  เมื่อ 17 พ.ย. 14, 10:01

ส่วนญี่ปุ่นที่ขอตัวเสรีไทยไปสอบสวน ก็ทำได้แค่อย่างเดิมคือสอบสวนร่วมกันเช่นครั้งที่แล้ว โดยมีตำรวจไทยติวเข้มให้ว่าถ้าถูกถามอะไรก็จะต้องตอบว่าอย่างไร พล.ต.อ.อดุลบอกว่าฝ่ายญี่ปุ่นพอใจ แต่อ่านหนังสือที่นายพลนากามูระเขียนแล้ว ญี่ปุ่นไม่เคยไว้วางใจคนอย่างพล.ต.อ.อดุลแม้น้อย

อย่างไรก็ดี ต้องยอมรับว่าพล.ต.อ.อดุลท่านแน่มาก อาจจะเพราะควบตำแหน่งทั้งรัฐมนตรีมหาดไทยและอธิบดีตำรวจ  มีอำนาจคุมทั้งผู้ว่าและผู้กำกับทุกจังหวัด เสรีไทยโดดร่มลงมาหรือเล็ดลอดเดินข้ามชายแดนเป็นอันเสร็จท่านหมด ไม่มีใครเหลือรอดได้ แสดงว่าเสรีไทยที่ฝรั่งฝึกไว้นั้นมือยังไม่ถึงฝ่ายไทย หากพล.ต.อ.อดุลเอาใจอยู่ข้างญี่ปุ่นแล้ว คณะกู้ชาติเหล่านี้คงตายหมดไม่มีทางทำงานสำเร็จ เสรีไทยสายอเมริกาคณะหนึ่งซึ่งเดินเท้าจากซือเหมา ผ่านญวนเข้ามาในลาว ซึ่งตอนนั้นเป็นจังหวัดล้านช้างของไทย ถูกตำรวจจับได้แล้วยิงทิ้งเสียด้วยความเคยชินในเรือกลางแม่น้ำโขงไปสองคน เมื่อพล.ต.อ.อดุลทราบรายงานก็สั่งห้ามขาด ให้จับเป็นส่งมากรุงเทพทุกคน

แต่น่าทึ่งที่หน่วยสืบราชการลับของญี่ปุ่นเองสามารถจับจารชนจีนได้อย่างน้อย ๒กลุ่ม โดยที่ฝ่ายไทยไม่ได้รับรู้อะไรกับเขาด้วยเลย


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 48  เมื่อ 17 พ.ย. 14, 10:39

หลังจากนั้นไม่นาน เสรีไทยจากอังกฤษ ๖คน ไม่นับคนหาแร่ ชาวจีนอีก ๒คนและเสรีไทยจากอเมริกา ๘ คน ได้ถูกจับมาแออัดเกินห้องขัง ตำรวจจึงได้ย้ายให้ไปนอนอยู่ห้องแถวของพวกตำรวจที่ว่างอยู่อย่างอิสระ ไม่ได้ถูกจองจำในฐานะนักโทษใดๆทั้งสิ้น แถมพล.ต.อ.อดุลยังได้สั่งจ่ายเบี้ยเลี้ยงให้คนละ ๒ บาทต่อวัน ชีวิตว่างมาก จนบางคนต้องไปเที่ยวช้อนปลากัดมาเล่นแก้เบื่อ คราวใดที่หวอมา ก็จะข้ามถนนไปวัดปทุมคงคา ขอคุณพระคุณเจ้าให้ช่วยคุ้มครองจากภัยลูกระเบิดของสัมพันธมิตรอยู่ใต้ถุนกุฏิหลวงพี่  เช่นเดียวกับครอบครัวตำรวจทั้งหลาย

แม้ระเบิดจากเครื่องบินจะถูกทิ้งสะเปะสะปะลงมาหนักกว่าเดิม พล.ต.อ.อดุลท่านก็ยังพอใจที่จะให้พวกเสรีไทยอยู่เฉยๆ เดือนแล้วเดือนเล่าวิทยุที่ยึดไปก็ไม่คืนมาให้ใช้ เรื่องนี้ดร.ป๋วย อึ้งภากรณ์ได้เขียนในหนังสือที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพของพล.ต.อ.อดุล อดุลเดชจรัสไว้ว่า ท่านได้เปิดเผยภายหลัง ท่านไม่แน่ใจพวกเสรีไทยในประเทศว่าจะทำงานจริงจังเพียงใด ๑ กับไม่เชื่อว่าพวกเสรีไทยจากต่างประเทศว่าจะไม่ปรารถนาผลทางการเมืองอีก ๑
 
ในฐานะคนอ่านผมสรุปเองว่า ดร.ป๋วยท่านพยายามหลีกเลี่ยงที่จะระบุให้ชัดลงไปว่า พล.ต.อ.อดุลท่านไว้ใจนายปรีดีแต่ไม่ไว้ใจสมุนบริวารของนายปรีดีบางสาย(ซึ่งหลังสงครามก็มีการล้างบางกัน) และไม่ไว้พวกสมาชิกในพระราชสกุลที่ลี้ภัยอยู่ประเทศอังกฤษ ว่าจะพยายามมีบทบาททางการเมืองโดยแฝงมากับเสรีไทยหรือไม่

ความใจเย็นเป็นทองไม่รู้ร้อนเช่นนี้เองที่ทำให้คนหนุ่มทนไม่ไหว ร.ต.อ.โพยม ซึ่งได้รับมอบหมายแต่เพียงผู้ดียวให้ดูแลพวกเสรีไทย และนำคำถามคำตอบที่พล.ต.อ.อดุลต้องการทราบมาประสานทั้งสองฝ่าย ทำให้ร.ต.อ.โพยมพลอยได้ทราบสถานการณ์ต่างๆไปด้วย และมากกว่าที่นายเข้าใจด้วยซ้ำ


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 49  เมื่อ 17 พ.ย. 14, 13:55

จากความเป็นรุ่นพี่รุ่นน้องอัสสัมชัญที่ทันเห็นและรู้จักกัน ร.ต.อ.โพยมย่อมยอมรับนับถือนักเรียนหัวกะทิระดับนักเรียนทุนอย่างป๋วย ความใกล้ชิดสนิทสนมครั้งใหม่ในสันติบาล ย่อมทำให้เข้าอกเข้าใจลึกซึ้งขึ้นว่าเสรีไทยเหล่านี้ ยอมเสี่ยงชีวิตกลับมาบ้านเกิดเมืองนอนด้วยวัตถุประสงค์อะไร  แต่บัดนี้งานของเขาเหล่านั้น ซึ่งเปรียบเหมือนคนว่ายฝ่ากระแสน้ำเชี่ยว จะถึงฝั่งอยู่รอมร่อ กลับมีไอ้เข้โผล่ขึ้นมาขวางคลองไว้เฉยๆ ถ้าไม่มีผู้กล้าลงไปช่วยให้พ้นจากตรงนี้ก็จบ

ในที่สุด ร.ต.อ.โพยมคือผู้ที่ตัดสินใจยอมเสี่ยงกับไอ้เข้  ลงไปพาเสรีไทยดำน้ำหลบไอ้เข้เข้าฝั่ง ถ้าโชคดีก็รอดทั้งหมด ถ้าโชคร้ายก็ยอมให้ไอ้เข้กินไป

ในหนังสือ “ตำนานเสรีไทย” ซึ่งลงบันทึกเรื่องราวแต่ละคนในคณะเสรีไทยประมาณร้อยห้าสิบทั้งชายและหญิง ซึ่งส่งประวัติกันมาคนละห้าหน้าสิบหน้าจนหนังสือหนาเป็นคืบ แต่ปรากฏของ ร.ต.อ.โพยม จันทรัคคะมีเพียงไม่กี่บรรทัดว่าดังนี้

ข้าพเจ้าดำรงตำแหน่งสารวัตรแผนกต่างประเทศในสันติบาล กองที่ ๑ มีหน้าที่โดยตรงตามคำสั่งของท่านอธิบดีกรมตำรวจ พล.ต.อ.อดุล อดุลเดชจรัส โดยไม่ต้องรายงานผ่านผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น คือรองผู้กำกับการกอง ๑ และ/หรือ ผู้กำกับการกอง ๑ ตลอดจนผู้บังคับการตำรวจสันติบาลแต่ประการใด

บรรดาเสรีไทยจากประเทศอังกฤษและเสรีไทยจากประเทศสหรัฐอเมริกา ในชั้นแรกได้จัดที่พักให้อยู่ในกองตำรวจสันติบาล ต่อมาจึงได้โยกย้ายไปอยู่คนละแห่งซึ่งท่านอธิบดีกรมตำรวจพล.ต.อ.อดุล อดุลเดชจรัส ได้เป็นผู้จัดหาให้


ข้อความในอัญประกาศ แสดงว่าเขียนโดย ร.ต.อ.โพยม มีเพียงเท่าที่ผมคัดลอกมานี้จริงๆ นอกนั้น ที่กล่าวถึงบทบาทของท่าน กองบ.ก.ก็ตัดตอนข้อความมาจากบันทึกของเสรีไทยอื่นๆ แม้จะมีที่ดร.ป๋วยเขียนไว้ด้วยก็จริง แต่ก็ขาดข้อความสำคัญที่ดร.ป๋วยเปิดเผยไว้เฉพาะในหนังสือที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพ พล.ต.อ.อดุล อดุลเดชจรัส เมื่อวันที่ ๑๘ เมษายน ๒๕๑๓ ความว่า

 “พวกผม รวมทั้งคุณพะโยมย่อมใจร้อนกว่าคุณหลวงอดุล ระหว่างที่เรารอการตัดสินใจของท่านนั้น พวกเราได้ล่วงละเมิดแอบทำการบางอย่าง ด้วยความช่วยเหลือและรับผิดชอบของคุณพะโยม กล่าวคือ แอบไปพบอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ซึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระมหากษัตริย์และหัวหน้าเสรีไทย แอบไปส่งวิทยุพยายามติดต่อกับฐานทัพอังกฤษที่อินเดียจนสำเร็จ แอบไปรับเอาพลร่มมาลงที่หัวหินรุ่นหนึ่งเป็นต้น ทั้งนี้เป็นการทำลับหลังคุณหลวงอดุลทั้งนั้น ผมเลยถือโอกาสนี้ กราบขออภัยโทษท่านที่ได้ละเมิดกระทำการไป และหวังว่าท่านคงประทานอภัย เพราะพวกเราหนุ่มกว่าท่าน ใจร้อนกว่าท่าน แต่กระทำไปเพื่อบ้านเมืองเหมือนเจตนาของท่าน

หนังสือทุกเล่มที่เขียนกันก่อนหน้านั้น มีใจความเป็นอื่นทั้งสิ้น เหมือนกลัวว่าข้อเท็จจริงดังกล่าวจะไปลดคะแนนบุคคลสำคัญที่เขามุ่งจะยกย่องเชิดชูกัน


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 50  เมื่อ 17 พ.ย. 14, 15:16

การที่ดร.ป๋วยได้พบกับนายปรีดีนั้น บางสำนวนกล่าวว่า

"เมื่อนายปรีดีได้รับรายงานว่า ร.ต. ป๋วย อึ๊งภากรณ์ถูกตำรวจนำไปอารักขาไว้ที่สันติบาล ก็ได้ให้นายวิจิตร ลุลิตานนท์ (เลขาธิการมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง) ซึ่งเป็นเลขาธิการของกองบัญชาการเสรีไทยในประเทศด้วย หาทางติดต่อกับ ร.ต.อ. โพยม จันทรัคคะ นายตำรวจผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากอธิบดีกรมตำรวจให้เป็นผู้รับผิดชอบดูแลบรรดาเสรีไทยที่เล็ดลอดเข้ามาในประเทศไทย ให้หาวิธีนำตัว ร.ต. ป๋วยมาพบที่บ้านของนายวิจิตรที่บางเขน ร.ต.อ. โพยม และ ร.ต. ป๋วยเป็นอัสสัมชนิกด้วยกัน ดังนั้นในเวลาไม่ช้า ร.ต. ป๋วยก็ได้พบกับหัวหน้าขบวนการเสรีไทย ทั้งนี้โดยอธิบดีกรมตำรวจไม่ทราบ นายป๋วย อึ๊งภากรณ์ มีสาส์นจากลอร์ด เมานท์แบตเทน ผู้บัญชาการทหารสูงสุดสัมพันธมิตรในภาคพื้นเอเชียอาคเนย์มามอบให้แก่นายปรีดี พนมยงค์ มีเนื้อหาเป็นการให้กำลังใจและเสนอความช่วยเหลือและความร่วมมือทางทหารโดยให้มีการติดต่อกัน"

ตรงนี้ผมเชื่อว่าจริงที่นายวิจิตรจะเป็นฝ่ายติดต่อเข้ามาหา ร.ต.อ.โพยมก่อน เพราะนายปรีดีท่านก็มีหูทิพย์ตาทิพย์อยู่ทั่วประเทศเหมือนกัน จึงทราบว่ามีพลร่มจากต่างประเทศถูกจับมาไว้ที่สันติบาลเป็นจำนวนมาก และการที่ผู้ใหญ่จะติดต่อมาหาเด็ก ย่อมง่ายกว่าเด็กจะเป็นฝ่ายติดต่อไปหาผู้ใหญ่ก่อน โดยเฉพาะกรณีย์นี้ ดีไม่ดีถ้าไปจ๊ะเอ๋เข้ากับไอ้เข้ยักษ์อีกตัวหนึ่งเข้า จะยิ่งยุ่งกันใหญ่


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 51  เมื่อ 17 พ.ย. 14, 15:23

การที่นายปรีดีได้รับสารของลอร์ดหลุยส์ในครั้งนี้จะว่ามีความสำคัญอยู่มากก็จริงอยู่ แต่ก็จะไม่มีประโยชน์อะไรเลยถ้าฝ่ายอังกฤษจะไม่ได้รับการยืนยันว่า หัวหน้าเสรีไทยได้รับทราบแล้ว และพร้อมรับการสนับสนุนจากภายนอกเพื่อเปิดฉากขับไล่กองทัพญี่ปุ่นต่อไป
 
ดังนั้นร.ต.อ.โพยมจึงต้องเสี่ยงนำวิทยุของกลางที่นายสั่งให้ยึดไว้ เอามาให้พวกเสรีไทยใช้ติดต่อกลับไปกองบัญชาการกองทัพอังกฤษในอินเดีย
 
ประทาน เปรมกมล วิศวกรหนุ่มจากจุฬาผู้ไปเรียนต่อที่อังกฤษ ได้บันทึกส่วนตัวไว้ให้ลูกสาวได้รับรู้และภาคภูมิใจในตัวพ่อ เล่าเหตุการณ์ตอนนี้ไว้ว่า

"จากนั้นไม่นาน ร.ต.อ.โพยม ก็พาพวกนักวิทยุมีเปรม รจิต และพ่อ พร้อมเครื่องวิทยุไปปฏิบัติงานที่บ้านเล็กๆแห่งหนึ่ง ทราบว่าเป็นบ้านของแม่ยายของท่าน บ้านหลังนี้เป็นบ้านหลังเล็กๆชั้นเดียว อยู่ที่ตำบลสามเสน บริเวณสวนอ้อย ซึ่งขณะนี้ชำรุดทรุดโทรมมากแล้ว เมื่อไปถึงเราได้นำวิทยุออกมา และทดลองส่งเรียกไปที่สถานีกองบัญชาการที่กัลกัตตา วันนั้น เป็นวันปลายสัปดาห์แรกของเดือนเมษายน
   
คืนนั้นนับเป็นคืนประวัติศาสตร์คืนหนึ่ง เพราะเราได้ทำการติดต่อกับสถานี (Home Station) ที่กัลกัตตาได้เป็นผลสำเร็จ พวกเราตื่นเต้นกันสุดขีด จนเหงื่อท่วมตัว มือไม้สั่นไปหมดขณะที่เคาะวิทยุ ทั้งนี้ถือว่าเป็นความสำเร็จที่สำคัญยิ่ง นับเป็นประวัติการณ์ของการปฏิบัติงานครั้งนี้ด้วย ทั้งนี้เพราะเราได้พยายามติดต่อทางวิทยุมาเป็นเวลาหลายเดือน แต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ เนื่องจากทางกองบัญชาการเข้าใจว่าเราถูกจับไปแล้ว จึงไม่ติดต่อตามกำหนดนัดหมาย จนกระทั่งต้องใช้การสื่อสารทางจดหมายติดต่อกับเจ้าหน้าที่จุงกิง และใช้วิทยุกระจายเสียงของกรมโฆษณาการ แต่งบทความสนทนาเป็นความนัยของพวกเรา “ ช้างเผือก ” ให้ทางอินเดียรู้ ทางอินเดียเริ่มติดต่อเข้ามาใหม่ และเผอิญได้รับสัญญาณของเรา ทำให้เรารู้สึกตื่นเต้น ปลาบปลื้มสุดจะบรรยายทีเดียว
"

ข้อความที่ขีดเส้นใต้ แปลความว่ากระไรครับ


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 52  เมื่อ 17 พ.ย. 14, 15:40

มันแปลว่า ร.ต.อ.โพยมได้แอบนำวิทยุมาพวกเสรีไทยให้ใช้งานนานแล้ว นานเป็นเดือนๆก่อนที่นายปรีดีจะเรียกเข้าพบ แต่ก็ไม่ได้แพร่งพรายให้ทราบจนกระทั่งได้รับความสำเร็จ และไม่ได้เกิดขึ้นหลังการพ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของจอมพล ป. ดังที่เอกสารบางฉบับได้กล่าวไว้ด้วย


ครั้งแรกที่ติดต่อกับฐานทัพได้นั้น วิทยุของพ่อรับฟังรหัสจากอินเดียได้ตลอดเวลา พ่อก็ส่งรหัสของพ่อไป ทางอินเดียเริ่มรับรหัสของเราได้ ก็ถอดรหัสแล้วเคาะตอบมา พ่อก็ถอดรหัส และใส่โค้ดเคาะตอบไปอีก เพื่อป้องกันรหัสปลอม เมื่อได้รับการโต้ตอบด้วยรหัสที่ถูกต้อง พ่อก็รู้ว่า เราทำได้แล้ว ความรู้สึกมันพองโตไปทั้งตัว จากระเบียงบ้านกลางย่านสวนอ้อยนั่นเอง บ้านหลังนั้นพ่อถือว่าเป็นสถานที่ประวัติศาสตร์เลยทีเดียว...

ผลสำเร็จครั้งนี้ต้องยกให้เป็นเพราะการตัดสินใจที่ถูกกาลเวลาของร.ต.อ.โพยมแต่ผู้เดียว เพราะท่านเป็นผู้ตัดสินใจโดยมิได้แจ้งให้ใครทราบ แม้แต่คุณหลวงอดุลฯก็ไม่ทราบเรื่อง ต่อเมื่อ ร.ต.อ.โพยมรายงานขึ้นไปให้ท่านผู้ใหญ่ทราบ ถึงผลแห่งการติดต่อของเรานั่นแหละ จึงได้ทราบกัน ต่อจากนั้นทุกสิ่งทุกอย่างก็ง่ายเข้า และได้ทำการติดต่อการปฏิบัติงานและสื่อข่าวสารกับทาง H.Q. (กองบัญชาการทางอินเดีย) ได้ทุกวัน  ขณะที่เราได้ทำการติดต่อโดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตจากท่านผู้ใหญ่นั้น เราสามารถติดต่อกับทางอินเดีย และรับเอาพรรคพวกของเราให้มาโดดร่มได้ คือคุณ ประเสริฐ ปทุมมานนท์ และคุณกฤษณ์ โตษยานนท์ ทั้งสองคนนี้มาโดดลงที่หัวหิน และยังได้ติดต่อกับพวกเสรีไทยผู้อื่นอีกบ้าง



บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 53  เมื่อ 17 พ.ย. 14, 16:38

อ้างถึง
"คืนนั้นนับเป็นคืนประวัติศาสตร์คืนหนึ่ง เพราะเราได้ทำการติดต่อกับสถานี (Home Station) ที่กัลกัตตาได้เป็นผลสำเร็จ พวกเราตื่นเต้นกันสุดขีด จนเหงื่อท่วมตัว มือไม้สั่นไปหมดขณะที่เคาะวิทยุ ทั้งนี้ถือว่าเป็นความสำเร็จที่สำคัญยิ่ง นับเป็นประวัติการณ์ของการปฏิบัติงานครั้งนี้ด้วย ทั้งนี้เพราะเราได้พยายามติดต่อทางวิทยุมาเป็นเวลาหลายเดือน แต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ เนื่องจากทางกองบัญชาการเข้าใจว่าเราถูกจับไปแล้ว จึงไม่ติดต่อตามกำหนดนัดหมาย จนกระทั่งต้องใช้การสื่อสารทางจดหมายติดต่อกับเจ้าหน้าที่จุงกิง และใช้วิทยุกระจายเสียงของกรมโฆษณาการ แต่งบทความสนทนาเป็นความนัยของพวกเรา “ ช้างเผือก ” ให้ทางอินเดียรู้ ทางอินเดียเริ่มติดต่อเข้ามาใหม่ และเผอิญได้รับสัญญาณของเรา ทำให้เรารู้สึกตื่นเต้น ปลาบปลื้มสุดจะบรรยายทีเดียว"

ใครใช้ใครในข้อความนี้ ผมละสุดเดาจริงๆ
นอกจากจะเป็นชาวจีนสองคนข้างล่าง

อ้างถึง
แต่อังกฤษก็ไม่ได้เล่นไพ่ใบเดียว   ร.ต. ป๋วยเขียนเล่าว่า เมื่อกำลังจะขึ้นเครื่องบิน ซึ่งจะเกาะหมู่ไปด้วยกันหลายลำโดยมีเครื่องบินทิ้งระเบิดไปปฏิบัติการลับลวงพรางในครั้งนี้ด้วยนั้น ก็ได้ทราบโดยบังเอิญว่ามีลำหนึ่งจะนำหน่วยสืบราชการลับของจีน ๔คน มีเป้าหมายจะไปกระโดดร่มลงที่นครปฐมด้วย

ผมคิดว่าเรื่องนี้สำคัญมาก

อ้างถึง
จากคำให้การในฐานะพยานของพล.ต.อ.อดุล ในคดีที่อัยการฟ้องจอมพล ป.พิบูลสงครามและพวก เป็นจำเลยในคดีอาชญากรสงครามนั้น มีตอนหนึ่งที่พล.ต.อ.อดุลเบิกความว่า ในราวปี ๒๔๘๔ ทางอังกฤษได้ส่งลูกจีนที่เกิดในเมืองไทยมาโดดร่มลงบริเวณรางรถไฟ ที่อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม  ๔คน แต่ตำรวจยิงตายไป ๑คน จับเป็นได้ ๒คน พร้อมวิทยุและสัมภาระทั้งหมด หนีหายไป ๑คน ญี่ปุ่นรู้เข้าก็จะขอตัวไปสอบสวนแต่ท่านไม่ยอม แต่ถ้าจะสอบสวนร่วมกันก็ได้ ผลการสอบทราบว่าอังกฤษส่งให้มาดูลาดเลา และแจ้งพิกัดที่ตั้งของทหารญี่ปุ่น หลังการสอบสวนตำรวจก็คุมยังคุมตัวไว้ ส่วนวิทยุญี่ปุ่นขอไป แต่ท่านก็สังให้ถอดอะไหล่สำคัญตัวหนึ่งออกเพื่อให้ญี่ปุ่นใช้การไม่ได้

ผมหาเอกสารที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้อีกไม่ได้เลยครับ มันลึกลับจริงๆ



บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 54  เมื่อ 18 พ.ย. 14, 11:46

กองกำลัง ๑๓๖ ของอังกฤษเพื่อปฏิบัติการในประเทศไทยนั้น  มีนายทหารชั้นผู้ใหญ่ที่เคยอยู่ในเมืองไทยหลายคน ทราบดีว่าประเทศนี้มีคนจีนอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก และเมื่อญี่ปุ่นรุกรานจีน ก็ย่อมเป็นเดือดเป็นแค้นด้วย จึงน่าจะตั้งหน่วยปฏิบัติราชการลับที่เป็น “ลูกจีนเกิดในเมืองไทย” โดยเฉพาะ  น่าจะเป็นประโยชน์และบางทีอาจจะดีกว่าคนไทยนักเรียนนอกในหลายๆเรื่องด้วยซ้ำ จึงได้ประสานกับจุงกิงและได้รับคนจีนพูดไทยดังกล่าวมาฝึกที่อินเดียหลายคน อังกฤษเรียกพวกนี้ว่าพวกแดง ในขณะที่เรียกเสรีไทยว่าพวกเหลือง เอ้ย พวกขาว

ผมเจอแล้วครับ ว่า  ชุดปฏิบัติการจีนที่ส่งมาโดดร่มลงเป็นหน่วยแรกที่นครไชยศรีเป็นนายทหารจีนล้วน ประกอบด้วย ร.อ.หลิน เจี้ยงหง   ร.อ.หอ เฉินถง ซึ่งถูกยิงเสียชีวิต ร.อ.ตง หยุนกัง  ร.อ.วุน ฮั่นอู่  สองคนนี้ถูกจับไปอยู่สันติบาลร่วมกับเสรีไทยอื่นๆ ส่วนคนที่หนีรอดไปได้ ชื่อจีนไม่ทราบ แต่มีชื่อไทยว่า ร.อ.สมบูรณ์ สุดศรีวงศ์ สามารถติดต่อกับเครือข่ายของนายสงวน ตุลารักษ์ในเมืองไทยได้ แล้วถูกส่งไปปฏิบัติการลับอยู่ที่ปากน้ำโพ ผมจึงเล่าต่อไม่ได้ว่าไปทำอะไร เพราะจบกันแค่นั้น

อีกสองคนที่อยู่สันติบาลก็คงไม่ได้ถูกส่งกลับเมืองจีน แต่ถูกปล่อยตัวที่กรุงเทพนี่เองเมื่อสงครามยุติ แต่หาเรื่องราวต่อ(ยัง)ไม่ได้เช่นกัน
ฉะนั้น มีคนเดียวที่อยู่ในข่ายที่จะได้รับความไว้วางใจให้เดินสาร “จดหมายติดต่อกับเจ้าหน้าที่จุงกิง” อันสำคัญยิ่งได้ ก็คือ ร.อ.โผน อินทรทัต

ร.อ.โผน เป็นนายทหารเสรีไทยสายอเมริกาที่มารอเข้าเมืองไทยอยู่ที่ซือเหมา สุดท้ายได้เดินทางโดยทางเท้าตามลำพังจากเมืองล่าซึ่งอยู่ตอนใต้ของจีนเข้าสู่ลาวทางแขวงพงสาลี แล้วข้ามแม่น้ำโขงสู่ประเทศไทยทางจังหวัดน่าน และเดินทางต่อไปจังหวัดแพร่
ร.อ.โผนเข้ามอบตัวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจและถูกส่งไปให้ พล.ต.อ.อดุล อดุลเดชจรัส และได้ถูกส่งไปพบกับ นายปรีดี พนมยงค์ หัวหน้าขบวนการเสรีไทย(ซึ่งขณะนั้นทั้งสองผู้ยิ่งใหญ่ได้เปิดใจและร่วมมือทำงานกันแล้ว) เพื่อแจ้งข่าวสารต่างๆ หลังจากนั้น พล.ต.อ.อดุล อดุลเดชจรัส ได้ให้ตำรวจสันติบาลพา ร.อ.โผน ไปส่งที่ที่อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย เพื่อเดินทางกลับไปประเทศจีนอีกครั้งหนึ่งก่อนที่จะเดินทางไปประสานกับ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมชที่กรุงวอชิงตัน

ความจริงสารลับนั้นใส่รหัสหายชั้นเพื่อความปลอดภัย แต่มีใจความเพียงว่า เสรีไทยสายอังกฤษยังไม่สามารถติดต่อกับแคนดี้ได้ เพราะทางนี้รับทางโน้นได้ แต่ทางโน้นไม่รับของทางนี้ ฉะนั้นให้ทางจุงกิงแจ้งไปทางโน้นให้เปิดช่องรับคลื่นของทางนี้ด้วย  แต่กว่าทางโน้นจะได้รับแจ้ง ทางอังกฤษก็ทราบก่อนจากวิทยุคลื่นสั้น ซึ่งนายปรีดีประสานเครือข่ายในสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ให้ออกอากาศหลังข่าวเป็นสารคดีกึ่งนิยาย คนไทยที่ทำงานด้านการข่าวของอังกฤษที่เมืองแคนดี้ก็เข้าใจความหายแฝง จึงสั่งเจ้าหน้าที่วิทยุติดต่อกลับมาตามนัด ทำให้ทั้งสองฝ่ายสื่อประสานกันได้ตามที่ประทานได้เล่าไว้แล้ว

ก่อนหน้านั้น ทางอังกฤษเห็นว่าหายไปหลายเดือน นึกว่าตายกันไปหมดแล้วจึงเลิกติดตาม และหลังจากนี้การติดต่อประสานกับเสรีไทยก็พรั่งพรูเป็นกิจวัตร


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 55  เมื่อ 18 พ.ย. 14, 18:18

ผมอยากให้อ่านข้อความที่อยู่ในหนังสือเรื่อง “ความทรงจำของนายพลนากามูระ” แม่ทัพใหญ่ของญี่ปุ่นในประเทศไทยช่วงสงครามสักหน่อย เพื่อให้เห็นภาพครบๆ

ประเทศไทยนั้นเป็นประเทศเอกราช ไม่เหมือนกับประเทศอื่นๆที่ถูกยึดครองหรือไม่ก็เป็นสนามรบ
ฉะนั้นเมื่อถึงครึ่งหลังของปี ๒๔๘๗ มีสถานการณืการสู้รบที่ญี่ปุ่นเสียเปรียบอยู่ ในการต่อสู้ของพวกสายลับก็มีการส่งสายลับจากนอกประเทศเข้ามา และการต่อสู้นั้นเป็นไปอย่างรุนแรง…

…ตามข้อตกลงของสนธิสัญญาพันธมิตรไทย-ญี่ปุ่นนั้น การป้องกัน สกัดกั้น และการทำลายการดำเนินงานของสายลับฝ่ายสัมพัธมิตร เป็นภารกิจร่วมกันของฝ่ายญี่ปุ่นและไทย แต่ทางฝ่ายไทยนั้นมีสถานการณ์ทางการเมืองที่ซับซ้อน มีความสามารถในปฏิบัติการตอบโต้กับพวกสายลับค่อนข้างน้อย และมีนโยบายที่จะไม่จัดการในเรื่องสายลับนี้ด้วย ฝ่ายญี่ปุ่นต้องเข้าจัดการเพียงฝ่ายเดียว เพราะฉะนั้นกองสารวัตรทหารญี่ปุ่นจึงมีงานล้นมือและมีอุปสรรคมาก

ยกตัวอย่างเช่น ตั้งแต่ช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ๒๔๘๕ มีการจับคลื่นส่งวิทยุลึกลับ แต่ฝ่ายเราไม่อาจระบุที่ตั้งได้ โดยความพยายามของหน่วยสอบสวนวิทยุของกองสารวัตรทหารญี่ปุ่น จึงสามารถค้นหาสถานีวิทยุลับได้ในเดือนธันวาคมปีเดียวกัน

ฝ่ายเราได้เข้าโจมตีสถานีวิทยุดังกล่าวซึ่งอยู่ในเขตกรุงเทพนี้เอง และได้จับกุมนายทหารยศร้อยเอก มีสังกัดขึ้นโดยตรงกับกองทัพของเจียงไคเช็ก สามารถยึดหลักฐานต่างๆได้มากมาย อีกคนหนึ่งซึ่งเป็นผู้ร่วมงานของเขาเป็นผู้หญิง

ทั้งสองคนนี้ในแง่กฎหมายต้องถูกลงโทษสถานหนักในข้อหาทำจารกรรมในช่วงสงคราม แต่การจับกุมคราวนีทำอย่างลับและรวดเร็ว ดังนั้นข่าวเรื่องการจับกุมสายลับทั้งสองคนนี้ทางฝ่ายจุงกิงจึงไม่ทราบ ฝ่ายเราตกลงใจมี่จะใช้สายลับทั้งสองให้ป็นประโยชน์คือใช้เป็นสายลับซ้อน ได้ชักชวนให้เขาเข้าใจแล้วทำการเปิดสถานีวิทยุขึ้นใหม่ โดยยู่ภายใต้การควบคุมของสารวัตรทหารญี่ปุ่นอย่างเคร่งครัด โดยวิธีนี้ คำสั่งจากจุงกิงที่ส่งให้มาฝ่ายเราจึงรับทราบได้หมด



บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 56  เมื่อ 18 พ.ย. 14, 20:17

ในเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม ๒๔๘๗ หน่วยสอบสวนวิทยุของกองสารวัตรทหารญี่ปุ่นได้จับกระแสวิทยุลึกลับได้อีก โดยความร่วมือทั้งทางบกและทางอากาศ เราจึงค้นหาที่ตั้งของสถานีนั้นได้
กล่าวคือเมื่อเดือนตุลาคม พบว่าสถานีวิทยุตั้งอยู่ที่หมู่บ้านของชาวบ้านที่แวดล้อมด้วยป่าในเขตธนบุรี

ฝ่ายเราได้บุกเข้าไปทันที แต่ระดับหัวหน้าของที่นั่นได้หนีไปหมดแล้ว ฝ่ายเราจับกุมได้เด็กหนุ่มคนหนึ่งซึ่งหนีไปไม่ทัน พร้อมกับหลักฐานมากมาย สอบสวนได้ความว่าเด็กคนนี้แซ่ลี้ อายุ ๑๗ปี จากการให้ปากคำของเด็กหนุ่มคนนี้ฝ่ายเราได้ทราบเรื่องทั้งหมด ยึดเครื่องวิทยุต่างๆได้และยึดเอกสารได้เป็นอันมาก….

….กรณีย์ดังกล่าวเป็นสายลับจากจุงกิง และสายลับของอเมริกากับอังกฤษ มีศูนย์ปฏิบัติงานอยู่ที่เดลฮีและโคลัมโบ….”


ผมไม่ทราบว่าระดับหัวหน้าที่หนีไปได้นั้น จะมีความเกี่ยวข้องกับ ร.อ.สมบูรณ์ สุดศรีวงศ์ หรือเครือข่ายของนายสงวน ตุลารักษ์หรือหาไม่

ส่วนท่านที่เป็นห่วงชะตากรรมของอาตี๋ใหญ่ว่าจะเป็นตายร้ายดีอย่างไร ผมขอให้สบายใจได้ นายพลนากามูระท่านเป็นคนใจพระ หนุ่มแซ่ลี้นั้นถูกศาลทหารของญี่ปุ่นสั่งประหารชีวิต แต่เขาได้รับโอกาสให้เขียนจดหมายถึงอาเตี่ยและอาม้า ท่านนายพลเอาไปอ่านแล้วเกิดเมตตา ใจอ่อนเกินภาพพจน์ซามูไรเลือดบูชิโด ท่านสั่งการให้งดโทษประหาร อาตี๋ถึงกับร้องไห้โฮกราบเท้าแล้วบอกท่านว่า ลี้นั้นตายไปแล้ว บัดนี้เกิดใหม่เป็นคนญี่ปุ่น ขอให้ท่านตั้งชื่อให้ด้วย เลยได้ชื่อว่า คาซูโอะ คาซูม่า ญี่ปุ่นเลี้ยงดูอย่างดี สอนภาษาญี่ปุ่นให้ด้วย พอสงครามเลิกเขาสามารถอ่านออกเขียนได้


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 57  เมื่อ 18 พ.ย. 14, 20:22

แต่ตอนนั้น ร.ต.อ. โพยม ท่านคงไม่ทราบธาตุแท้ของนายพลนากามูระที่เป็นคนใจอ่อน ผมคิดว่า ท่านเสี่ยงมากที่เอาเสรีไทยไปรับส่งวิทยุที่บ้านแม่ยายของท่าน แม้สวนอ้อยจะใกล้เขตที่ตั้งทหารไทย แต่ไม่แน่ว่าถ้าญี่ปุ่นพบแล้วอะไรจะเกิดขึ้น

ตามข้อเท็จจริง แม้จะยังจับจุดไม่ได้มั่นเหมาะแต่ญี่ปุ่นก็ทราบดีว่ามีการส่งวิทยุจารกรรมในกรุงเทพ ภายใต้ความคุ้มครองของข้าราชการไทย และประท้วงรัฐบาลไทยอย่างรุนแรงครั้งหนึ่งในปลายปี ๒๔๘๖ ซึ่งจอมพล ป.นายกรัฐมนตรีตอบว่าเรือ่งดังกล่าวรัฐบาลพิบูลสงครามในปัจจุบันยังไม่ทราบ แต่ถือว่าพวกนี้พยายามก่อการกบฏต่อรัฐบาลไทย นายพลนากามูระเจอลูกนี้เข้าให้ก็ถึงกับอึ้ง

แต่หน่วยสอบสวนวิทยุของกองสารวัตรทหารญี่ปุ่นก็หาได้เลิกรา และรถจับสัญญาณวิทยุก็เข้ามาป้วนเปี้ยนใกล้ๆสวนอ้อยมากขึ้น ครั้งหนึ่ง ขณะเคาะระหัสสัญญาณในเวลากลางคืน ไม่รู้อย่างไรไฟฟ้าในบ้านเกิดกระพริบตามเป็นจังหวะๆไปด้วย  คนในบ้านถึงกับวิ่งขึ้นมาโวยวายว่านี่จะบอกชาวบ้านแถวนี้หรืออย่างไรว่าบ้านนี้เป็นสถานีวิทยุ คืนนั้นจึงต้องเลิกส่ง และหันมาส่งในเวลากลางวันแทน

สงสัยว่า ร.ต.อ. โพยมคงไม่กลัวแม่ยายเรียกลูกสาวคืน แต่ครั้นพล.ต.อ.อดุลเข้าร่วมกับนายปรีดีเต็มตัวแล้ว เสรีไทยจึงได้เปลี่ยนที่ส่งวิทยุใหม่ เป็นที่พระที่นั่งอุดรภาค  ซึ่งเป็นอาคารเชื่อมต่อกับพระที่นั่งอัมพรสถาน เคยเป็นที่ประทับของพระนางเจ้าสุขุมมาลศรี พระวรราชเทวี และเคยเป็นสถานที่รับรองพระราชอาคันตุกะ เมื่อได้รับรายงานว่าญี่ปุ่นส่งรถจับสัญญาณมาใกล้ๆ  พล.ต.อ.อดุลก็สั่งให้นำรถถังมาจอดที่หน้าประตู ๒คัน อ้างว่าเพื่อคุ้มครองพระราชฐาน  ญี่ปุ่นไม่ได้กลัวนะครับ เพียงแต่ตอนนั้นดูเหมือนท่านแม่ทัพจะรู้ชะตากรรมของประเทศญี่ปุ่นแล้ว ถ้าไทยไม่เป็นฝ่ายเริ่มลุกขึ้นไล่ฆ่าทหารญี่ปุ่นๆก็คงไม่ทำอะไรรุนแรงกับคนไทย


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 58  เมื่อ 19 พ.ย. 14, 07:21

อ้างถึง
ผมเจอแล้วครับ ว่า  ชุดปฏิบัติการจีนที่ส่งมาโดดร่มลงเป็นหน่วยแรกที่นครไชยศรีเป็นนายทหารจีนล้วน ประกอบด้วย ร.อ.หลิน เจี้ยงหง   ร.อ.หอ เฉินถง ซึ่งถูกยิงเสียชีวิต ร.อ.ตง หยุนกัง  ร.อ.วุน ฮั่นอู่  สองคนนี้ถูกจับไปอยู่สันติบาลร่วมกับเสรีไทยอื่นๆ ส่วนคนที่หนีรอดไปได้ ชื่อจีนไม่ทราบ แต่มีชื่อไทยว่า ร.อ.สมบูรณ์ สุดศรีวงศ์ สามารถติดต่อกับเครือข่ายของนายสงวน ตุลารักษ์ในเมืองไทยได้ แล้วถูกส่งไปปฏิบัติการลับอยู่ที่ปากน้ำโพ ผมจึงเล่าต่อไม่ได้ว่าไปทำอะไร เพราะจบกันแค่นั้น

อ้างถึง
“ในเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม ๒๔๘๗ หน่วยสอบสวนวิทยุของกองสารวัตรทหารญี่ปุ่นได้จับกระแสวิทยุลึกลับได้อีก โดยความร่วมมือทั้งทางบกและทางอากาศ เราจึงค้นหาที่ตั้งของสถานีนั้นได้
กล่าวคือเมื่อเดือนตุลาคม พบว่าสถานีวิทยุตั้งอยู่ที่หมู่บ้านของชาวบ้านที่แวดล้อมด้วยป่าในเขตธนบุรี

ฝ่ายเราได้บุกเข้าไปทันที แต่ระดับหัวหน้าของที่นั่นได้หนีไปหมดแล้ว ฝ่ายเราจับกุมได้เด็กหนุ่มคนหนึ่งซึ่งหนีไปไม่ทัน พร้อมกับหลักฐานมากมาย สอบสวนได้ความว่าเด็กคนนี้แซ่ลี้ อายุ ๑๗ปี จากการให้ปากคำของเด็กหนุ่มคนนี้ฝ่ายเราได้ทราบเรื่องทั้งหมด ยึดเครื่องวิทยุต่างๆได้และยึดเอกสารได้เป็นอันมาก….

….กรณีย์ดังกล่าวเป็นสายลับจากจุงกิง และสายลับของอเมริกากับอังกฤษ มีศูนย์ปฏิบัติงานอยู่ที่เดลฮีและโคลัมโบ….”

ตามข้อเท็จจริง แม้จะยังจับจุดไม่ได้มั่นเหมาะแต่ญี่ปุ่นก็ทราบดีว่ามีการส่งวิทยุจารกรรมในกรุงเทพ ภายใต้ความคุ้มครองของข้าราชการไทย และประท้วงรัฐบาลไทยอย่างรุนแรงครั้งหนึ่งในปลายปี ๒๔๘๖ ซึ่งจอมพล ป.นายกรัฐมนตรีตอบว่าเรื่องดังกล่าวรัฐบาลพิบูลสงครามในปัจจุบันยังไม่ทราบ แต่ถือว่าพวกนี้พยายามก่อการกบฏต่อรัฐบาลไทย นายพลนากามูระเจอลูกนี้เข้าให้ก็ถึงกับอึ้ง

อ้างถึง
ผมไม่ทราบว่าระดับหัวหน้าที่หนีไปได้นั้น จะมีความเกี่ยวข้องกับ ร.อ.สมบูรณ์ สุดศรีวงศ์ หรือเครือข่ายของนายสงวน ตุลารักษ์หรือหาไม่

บรรทัดเล็กๆที่ผมเจอระหว่างการอ่านหาข้อมูลก็คือ

๑๓ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๘๗  
รัฐบาล(จอมพล ป.) มีประกาศว่านายสงวน ตุลารักษ์ เป็นชนชาติศัตรู


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 59  เมื่อ 19 พ.ย. 14, 08:10

กลับมาดูที่สถานการณ์ทางการเมืองของไทยกันบ้าง

๒๔ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๘๗  
เมื่อเห็นลางที่ญี่ปุ่นจะแพ้สงครามแน่ ส.ส.ในสภาที่สังกัดมุ้งของนายปรีดีก็ผลึกเสียงกับ ส.ส.ฝ่ายค้าน ลงมติด้วยคะแนนลับล้มคณะรัฐบาลของจอมพล ป.พิบูลสงคราม ด้วยการไม่เห็นชอบกับพระราชกำหนดจัดสร้างพุทธบุรีมณฑล นายกรัฐมนตรี จึงต้องลาออกจากตำแหน่งตามวิถีทางรัฐธรรมนูญ

๓๑ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๘๗  
พล.ท. พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ลาออกจากตำแหน่ง ด้วยว่าทรงกลัวหากจะต้องแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีใหม่แล้วจะถูกจอมพล ป.ขึ้นบัญชีแค้น เพราะจอมพล ป. กำลังหาทางจะกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีก
 
๑ สิงหาคมพ.ศ.๒๔๘๗   สภาผู้แทนราษฎรลงมติแต่งตั้งให้นายปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แต่เพียงผู้เดียว
และในวันเดียวกันนั้น ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ก็ได้โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งพันตรีควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรี

๒ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๘๗  
แต่งตั้งคณะรัฐมนตรีประกอบด้วยบุคคลระดับหัวหน้าในขบวนการเสรีไทยภายในประเทศหลายนาย แต่ที่พลิกล๊อกก็คือ นาวาเอกบุง ศุภชลาศัย เข้ามาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยแทนพล.อ.มังกร พรหมโยธี ส่วน พล.ต.อ. อดุล อดุลเดชจรัส หลุดจากการเป็นรัฐมนตรีช่วย โดยจะเป็นแค่อธิบดีกรมตำรวจตำแหน่งเดียว  และ รัฐบาลใหม่ได้แถลงนโยบายว่า “จะร่วมมือกับญี่ปุ่นโดยใกล้ชิดตามสัญญาพันธกรณีที่ได้มีต่อกันไว้ด้วยดี”

แต่รัฐบาลใหม่ก็หาได้มีเสถียรภาพไม่ เพราะจอมพล ป. ยังควบคุมกำลังทหารอยู่ และมีการประชุมบรรดาแม่ทัพนายกองกันที่ลพบุรีหลายครั้ง จนกระทั่งในปลายเดือนเดียวกันรัฐบาลจึงหาทางออกได้ ด้วยการประกาศยุบตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด และแต่งตั้งให้ พล.อ.พจน์ พหลโยธิน(ซึ่งกำลังป่วยเป็นโรคอัมพฤกษ์) เป็นแม่ทัพใหญ่ มีอำนาจสิทธิ์ขาดบังคับบัญชาแม่ทัพบก แม่ทัพเรือ และแม่ทัพอากาศ และแต่งตั้งให้ พล.ท.ชิต มั่นศิลป์ สินาดโยธารักษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นรองแม่ทัพใหญ่ สำหรับตำแหน่งแม่ทัพบกก็ได้เปลี่ยนจากจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็น พล.อ.พจน์ พหลโยธิน

คืนวันออกประกาศนี้ นายปรีดีต้องจัดให้ พล.อ.พจน์ หลบไปพำนักอยู่ในเซฟเฮ้าส์เป็นการป้องกันไว้ก่อน หากจะเกิดมีการปฏิวัติของนายทหารที่สนับสนุนจอมพล ป.


บันทึกการเข้า
หน้า: 1 2 3 [4] 5 6 ... 11
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.078 วินาที กับ 20 คำสั่ง