เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 2 [3] 4 5 ... 11
  พิมพ์  
อ่าน: 35288 “โพยม จันทรัคคะ” ถ้าท่านนี้ไม่ตัดสินใจ ไทยอาจเสียอธิปไตยได้
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 30  เมื่อ 13 พ.ย. 14, 13:56

๕ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๘๖  
เปิดการประชุมนานาชาติแห่งมหาเอเชียบูรพาในกรุงโตเกียว โดยมี พลเอก โตโจ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นเป็นประธาน สำหรับผู้แทนประเทศต่างๆ ได้แก่ ประธานาธิบดีวังจิงไวแห่งรัฐบาลจีนนานกิง ประธานาธิบดีจังจิงฮุยแห่งแมนจูกัว ประธานาธิบดีโฮเซลอร์เรลแห่งฟิลิปปินส์ ประธานาธิบดีบามอร์แห่งพม่า และพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร ที่ปรึกษาการต่างประเทศ จากประเทศไทย(ที่ ๕จากซ้าย ติดกับนายพลโตโจ) นอกจากนี้ยังมีนายสุภาส จันทรโภส หัวหน้ารัฐบาลอินเดียอิสระ ในฐานะผู้สังเกตการณ์

การประชุมซึ่งมีจนกระทั่งวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน ได้ตกลงในหลักการที่จะปลดเปลื้องมหาเอเชียบูรพาจากมหาอำนาจตะวันตก และร่วมมือกันสร้างระเบียบใหม่ขึ้น


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 31  เมื่อ 13 พ.ย. 14, 14:08

พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๘๖ 
ร.ต.สวัสดิ์ ศรีสุข กับ ร.ต.พัฒพงศ์ รินทกุล เสรีไทยสายอังกฤษคู่แรก เดินทางโดยเรือดำน้ำของอังกฤษชื่อ “เทมปล้าร์” จากฐานทัพทรินโกมาลี ในศรีลังกา มาขึ้นบกที่บ้านท้ายเหมือง จังหวัดพังงา เพื่อสืบสถานการณ์ทั่วไปในภาคใต้ของประเทศไทย แล้วนัดหมายวันรับกลับ

ทั้งคู่พลาดเรือดำน้ำที่มารับตามนัดล่าช้า จึงแยกกันทำงาน
 
ในเวลาไล่เลี่ยกัน กองกำลัง ๑๓๖ ได้ส่ง ร.ต.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ร.ต.ประทาน เปรมกมล และ ร.ต.สำราญ วรรณพฤกษ์ โดยเรือดำน้ำจากลังกา เพื่อไปขึ้นบกที่จังหวัดพังงาเช่นเดียวกัน ตามที่ได้นัดหมายให้ขบวนการเสรีไทยในประเทศคอยรับ แต่เนื่องจากไม่มีใครในประเทศได้รับการติดต่อจากคนเดินสาร จึงไม่มีผู้ไปคอยรับ ทำให้นายทหารเสรีไทยทั้ง ๓ต้องเดินทางกลับศรีลังกา และเข้าฝึกการโดดร่มเพื่อเดินทางเข้าประเทศไทยอีกครั้งทางเครื่องบินพร้อมเครื่องรับส่งวิทยุ

(อีก ๓ เดือนต่อมา ร.ต.พัฒพงศ์ทราบข่าวว่ามีเสรีไทยกลุ่มหนึ่งอยู่ในความดูแลของตำรวจอย่างปลอดภัย จึงเดินทางเข้ากรุงเทพ เมื่อเข้ามอบตัวกับ พล.ต.ต.อดุล อดุลเดชจรัสแล้วจึงเดินทางไปรับ ร.ต.สวัสดิ์ ศรีศุข ขึ้นมากรุงเทพด้วย)


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 32  เมื่อ 14 พ.ย. 14, 06:20

พ.ศ.๒๔๘๗

๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๘๗
สัมพันธมิตรเริ่มตีโต้ฝ่ายอักษะอย่างหนัก ในเอเซียนั้นญี่ปุ่นตกเป็นฝ่ายปราชัยแก่สหรัฐทุกแนวรบ

จอมพล ป.พิบูลสงคราม สั่งพล.ต.หลวงหาญสงคราม (พิชัย หาญสงคราม) ผ.บ.กองพลที่ ๓ แห่งกองทัพพายัพ ซึ่งประจัญหน้าอยู่กับกองพลที่ ๙๓ ของจีน โดยมีลำน้ำลำเป็นเส้นแบ่งเขตแดน ให้ติดต่อกับ ผ.บ.กองพลที่ ๙๓ ของจีน เพื่อหาช่องทางเจรจาปรับความเข้าใจและผูกไมตรีระหว่างกองทัพไทยกับจีน
คณะผู้แทนของกองพลที่ ๓ ที่มีพ.ท.หลวงไกรนารายณ์ (อาจ ณ บางช้าง)เป็นหัวหน้า จึงได้ไปขอเข้าพบกับ ผ.บ.กองพลที่ ๙๓ ที่เมืองเชียงล้อ ซึ่งได้รับการต้อนรับดี
 
แต่หลังจากที่ พล.ต.หลวงหาญสงคราม ได้รับหนังสือของ พ.ท. ม.ล.ขาบ กุญชร หัวหน้าเสรีไทยสายอเมริกาซึ่งขณะนั้นนำคณะเดินทางมาอยู่ที่ซือเหมา ได้ฝากคนนำสารเข้ามาแจ้งว่าเสรีไทยได้เข้ามาปฏิบัติการในจีนแล้ว ขอให้ส่งนายทหารไทยไปติดต่อด้วย พล.ต.หลวงหาญสงครามจึงได้ส่งนายทหารชุดเดิมไปพบ พล.ต.ลิววิเอ็ง ผ.บ.กองพล ๙๓ ที่เชียงล้ออีกครั้ง เพื่อขออำนวยความสะดวก แต่คราวนี้ฝ่ายจีนกลับไม่ยอมให้ พ.ท. ม.ล.ขาบ ซึ่งเดินทางมารบพบที่เชียงล้อ ได้พบกับคณะนายทหารจาก พล. ๓ของไทย

(รัฐบาลก๊กมินตั๋งของเจียงไคเช็กคาดการณ์ว่า หากญี่ปุ่นแพ้สงคราม ทหารจีนคงจะได้รับมอบหมายจากสัมพันธมิตรให้เข้ามาปลดอาวุธทหารญี่ปุ่นและไทยในฐานะผู้แพ้สงคราม จึงไม่อยากให้เรื่องพลิกผันไปเป็นอื่น)


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 33  เมื่อ 14 พ.ย. 14, 06:52

(เป็นโชคดีของไทยหลายต่อ เพราะนอกจากจะไม่เป็นอย่างที่เจียงไคเช็กคาดแล้ว พอญี่ปุ่นวางอาวุธยุติสงคราม และทหารจีนกำลังเตรียมเคลื่อนพลเข้ากรุงเทพ คนจีนนกรู้ก็ชักธงชาติจีนกันพรึ่บแถวเยาวราชรอต้อนรับอยู่แล้ว เสรีไทยต้องรีบแจ้งให้กองทัพอังกฤษรีบเข้ามากันท่า แต่ขณะที่ยังไม่พร้อม ทางโน้นจีนคอมมิวนิสต์อันมีรัสเซียหนุนหลังก็ได้เปิดฉากทำการรบรุกศัตรูทางการเมืองภายในประเทศทันที จีนก๊กมินตั๋งซึ่งสหรัฐป้อนอาวุธให้ได้พยายามต่อสู้เต็มที่ แต่ในที่สุดก็แพ้พ่ายต้องอพยพครัวเรือนทรัพย์สมบัติหนีไปเกาะไต้หวัน ลอยแพให้กองพล ๙๓ เคว้งคว้างอยู่บริเวณชายแดนพม่า พม่าก็ส่งกองทัพขึ้นไปขับไล่ให้พ้นบ้านเขา จนไต้หวันต้องนำเครื่องบินมาอพยพไปอยู่ด้วยกัน  ทหารจีนส่วนหนึ่งที่ไม่ยอมไปก็ทะลักเข้ามาทางดอยแถบชายแดนภาคเหนือ ทำมาหากินด้วยการปลูกฝิ่นขายอยู่หลายสิบปี ไทยจะทำอะไรรุนแรงอเมริกันก็คอยเบรคๆไว้ กว่าที่จะส่งเงินมาอุดหนุนให้รัฐบาลไทยเปลี่ยนพฤติกรรมคนกลุ่มนี้ ใช้เวลาหลายทศวรรษกว่าจะยอมปลูกพืชเมืองหนาวขายอย่างทุกวันนี้ได้) 


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 34  เมื่อ 14 พ.ย. 14, 06:58

กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๘๗
ระยะนี้ทั้งเดือน กรุงเทพถูกเครื่องบินสัมพันธมิตรทิ้งระเบิดหลายครั้ง

นายทหารเสรีไทยสายอเมริกาเริ่มเดินทางจากซือเหมาเข้าสู่ประเทศไทยโดยทางถนนและทางเดินเท้า


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 35  เมื่อ 14 พ.ย. 14, 07:04

๑๕ มีนาคม พ.ศ.๒๔๘๗
ร.ต.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ พร้อมด้วย ร.ต.ประทาน เปรมกมล และ ร.ต.เปรม บุรี เสรีไทยสายอังกฤษจากกองกำลัง ๑๓๖ เดินทางโดยเครื่องบินแบบลิเบอเรเตอร์จากกัลกัตตา พร้อมด้วยเครื่องรับ-สิ่งวิทยุ และสารจากกองบัญชาการทหารสัมพันธมิตรถึงหัวหน้าขบวนการเสรีไทย มาโดดร่มลงที่บ้านวังน้ำขาว อำเภอวัดสิงห์ จังหวัดชัยนาท


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 36  เมื่อ 14 พ.ย. 14, 07:34

ผมได้นำท่านผ่านขั้นตอนความพยายามของคนไทยเลือดรักชาติหลายกลุ่มที่อยู่กันคนละซีกโลก ซึ่งได้พยายามรวมกำลังในกลุ่มของตนเพื่อเชื่อมประสานกับกลุ่มอื่น เพื่อจะร่วมทำงานกู้ชาติร่วมกันในบ้านเกิดเมืองนอนมาถึงจุดนี้ ท่านจะพบว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่มิได้เกิดขึ้นง่ายๆ ต้องใช้ทั้งสติปัญญา ความอดทนต่อความยากลำบากและความเสียสละ กว่าจะผ่านระยะเวลาอันยาวนานมาใกล้จุดแตกหัก

ในภาคต่อไป ท่านจะได้พบว่า ความพยายามของพวกเขาเหล่านั้นไปติดอยู่ที่ความเก่งฉกาจของบุคคลคนเดียว ซึ่งหากไม่ได้ธาตุแท้ของบุคคลคนหนึ่ง ความพยายามทั้งหมดที่เสรีไทยหลายชีวิตหลายฐานะที่ได้ดำเนินการมาถึงจุดนี้ ก็คงก้าวหน้าต่อไม่ได้  ประวัติศาสตร์ของชาติไทยอาจจะไม่สวยอย่างทุกวันนี้

ผมจำเป็นต้องใช้เวลาสักพักหนึ่งเพื่อเรียบเรียงรายละเอียดที่หนังสือต่างๆบันทึกไว้คล้ายๆ แต่ไม่เหมือนกัน ดังนั้น…พักสักครู่ครับ


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 37  เมื่อ 15 พ.ย. 14, 20:01

ต่อครับ


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 38  เมื่อ 15 พ.ย. 14, 20:08

ชุดปฏิบัติการที่กระโดดร่มมาเที่ยวนี้มีชื่อรหัสว่า แอพพรีซิเอชั่น 1 ร.ต. ป๋วย อึ้งภากรณ์ ผู้มีอาวุโสที่สุดหัวหน้าชุด อีกสองคนคือ ร.ต.ประทาน เปรมโกมล และร.ต.เปรม บุรี
ร.ต. ป๋วยเป็นธรรมศาสตร์บัณฑิตรุ่นแรกและเคยทำงานที่มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองซึ่งนายปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้ประศาสน์การอยู่ ก่อนที่จะสอบแข่งขันได้เป็นนักเรียนทุนกระทรวงการคลังไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยลอนดอน เมื่อสอบได้เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง นายปรีดีเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอยู่ในขณะนั้น ได้ส่งโทรเลขไปแสดงความยินดีด้วย คุณสมบัติดังกล่าวทำให้อังกฤษตัดสินใจส่งร.ต. ป๋วยเข้ามา หวังจะเชื่อมต่อกับหัวหน้าเสรีไทยในประเทศ.ให้ได้โดยเร็ว

แต่อังกฤษก็ไม่ได้เล่นไพ่ใบเดียว   ร.ต. ป๋วยเขียนเล่าว่า เมื่อกำลังจะขึ้นเครื่องบิน ซึ่งจะเกาะหมู่ไปด้วยกันหลายลำโดยมีเครื่องบินทิ้งระเบิดไปปฏิบัติการลับลวงพรางในครั้งนี้ด้วยนั้น ก็ได้ทราบโดยบังเอิญว่ามีลำหนึ่งจะนำหน่วยสืบราชการลับของจีน ๔คน มีเป้าหมายจะไปกระโดดร่มลงที่นครปฐมด้วย

ผมคิดว่าเรื่องนี้สำคัญมาก


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 39  เมื่อ 15 พ.ย. 14, 20:14

ปฏิบัติการคืนนั้นไม่สำเร็จ เครื่องบินวนหาที่หมายไม่พบเพราะอากาศปิด จากคืนนั้นมาอีกหนึ่งสัปดาห์ จึงได้รับคำสั่งให้ออกปฏิบัติการอีกครั้ง คราวนี้พอบินเข้าเขตประเทศไทยเครื่องได้บินต่ำมากจนมองเห็นแสงไฟจากหมู่บ้านเบื้องล่าง เวลาประมาณตีหนึ่งก็ได้รับแจ้งว่าพบที่หมายแล้วและมีคำสั่งให้โดดลง ทั้งๆที่ตกลงกันไว้ว่าจะต้องมาลงในป่า มิใช่ทุ่งนาและหมู่บ้านดังที่ปรากฏแก่สายตา แต่ทุกคนก็จำต้องปฏิบัติตามคำสั่งเฉพาะหน้า
           
สองคนลงมาปลอดภัยดี มีร.ต. ป๋วยเท่านั้นที่เคราะห์ร้าย ตกลงบนคันนาถึงกับขาแพลง เมื่อนำแผนที่ออกมาดู ก็ทราบว่าได้ลงมาผิดที่จากจุดหมายถึง ๒๐-๓๐ กิโลเมตร และอยู่ใกล้หมู่บ้านมากด้วย ทุกคนจึงต้องรีบรวบรวมสัมภาระและอาหารที่เตรียมมาอย่างเร่งรีบ แล้วขุดหลุมฝังร่มเพื่ออำพรางหลักฐาน ซึ่งกินเวลาร่วม ๒ชั่วโมงกว่าจะแล้ว แถมร่มหนึ่งที่หายไป ตามหาดูปรากฏว่ามันลอยเข้าไปตกลงกลางหมู่บ้าน ทั้งหมดจึงต้องรีบหนีจากที่นั่นหลบไปค้างคืนกันในป่าละเมาะใกล้ๆกันนั้นเอง

แต่พอตี่สี่ ชาวบ้านที่ออกมาหาฟืนในป่าก็ได้มาพบ แต่ก็รีบหลบไป


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 40  เมื่อ 15 พ.ย. 14, 20:20

ขาป๋วยเริ่มบวมและปวดจึงต้องอยู่กับที่ หมอเปรมและประทานได้ช่วยกันออกสำรวจพื้นที่เพื่อหาแหล่งน้ำ เย็นวันนั้นประทานได้พยายามติดต่อกับฐานทัพทางวิทยุแต่ไม่สำเร็จ สองวันต่อมา ตอนบ่ายหมอเปรมและประทานได้ออกไปหาน้ำโดยอีกทิ้งป๋วยไว้คนเดียว ได้ยินเสียงคนเอะอะแต่ไกลจึงรีบกลับมาดู พบว่าชาวบ้านกำลังรุมล้อมป๋วยอยู่ ทั้งสองจึงต้องรีบหนีเข้าไปซ่อนตัวอยู่ในป่า ตกกลางคืนก็รีบออกเดินทางต่อไปอย่างไร้จุดหมาย และไม่รู้ชะตากรรมของป๋วย

เมื่อเห็นราษฎรกลุ่มใหญ่ร่วมสามสิบคนพร้อมอาวุธครบมือ บางคนคนชูปืนพกโผล่เข้ามาล้อมที่พัก ป๋วยจึงแกล้งตะโกนให้ดังๆว่า ยอมแพ้แล้ว ให้เข้ามาจับไปได้เลย  หวังจะให้หมอเปรมและประทานได้ยินเสียงจะได้หลบไป และแม้จะบอกว่าตนไม่สู้กับคนไทย แต่ถ้าเป็นญี่ปุ่นจะสู้ ชาวบ้านซึ่งคิดว่าป๋วยเป็นนักบินที่เข้ามาทิ้งระเบิด พอเห็นเป็นคนไทยก็แปลกใจ พากันด่าทอว่าเข้ามาทำร้ายบ้านเมืองของตนเองได้อย่างไร บางคนก็เตะต่อยเข้าให้หลายตุ้บตั้บ ตำรวจคนหนึ่งของขึ้นเอาปืนพกที่กวัดแกว่งอยู่นานเข้ามาจ่อหลังทำท่าจะยิงทิ้ง เดชะบุญบุญธรรม ปานแก้วทหารประจำการที่อยู่ระหว่างลาราชการซึ่งอยู่ในที่นั้น ได้ปัดมือออกไป แล้วบอกว่าควรจะจับเป็นเชลยให้ทางการสอบสวนดีกว่า  ป๋วยจึงรอดตาย แต่ถูกชาวบ้านจับมัดมือไพล่หลังด้วยผ้าขาวม้าเอาไปล่ามโซ่ไว้บนศาลาวัดวังน้ำขาว อำเภอวัดสิงห์ โดยเจ้าหน้าที่บอกกับชาวบ้านว่านายคนนี้เป็นไอ้กบฏใจอำมหิต


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 41  เมื่อ 16 พ.ย. 14, 05:25

ความเห็นของชาวบ้านแบ่งออกเป็นสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งเชื่อตามนั้น ในขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งเห็นว่าป๋วยมิได้มีท่าทีว่าจะมีพิษสงอะไร ปลัดอำเภอคนหนึ่งเข้ามาคุยด้วย พอได้ทราบว่าป๋วยเป็นนักเรียนทุนรัฐบาลที่ส่งไปอังกฤษ ก็แสดงความสุภาพและตั้งคำถามหลายข้อเกี่ยวกับสถานะสงคราม ในขณะที่ปลัดอีกคนหนึ่งคอยตะคอกชาวบ้านไม่ให้เข้าใกล้ไอ้กบฏ

บันทึกของศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ้งภากรณ์ เขียนเล่าไว้ด้วยข้อความที่กินใจว่า “...ในตอนบ่ายชาวบ้านที่มาจากหมู่บ้านอื่นๆได้ขึ้นมาบนศาลาเพื่อดูพลร่ม เขานั่งล้อมวงไม่ไกลข้าพเจ้า เพราะเหตุว่าเจ้าหน้าที่ที่เกลียดชังข้าพเจ้า ไล่ให้เขาออกไปห่างๆอยู่เสมอ และพอตกบ่ายเจ้าหน้าที่บางคนม่อยหลับไป ชาวบ้านถึงได้กระเถิบเข้ามาใกล้ทุกที และเริ่มซักถามข้าพเจ้า ในหมู่ชาวบ้านหน้าซื่อเหล่านั้นมีหญิงผู้หนึ่งอายุค่อนข้างมาก ข้าพเจ้าสังเกตว่าแกนั่งใกล้ข้าพเจ้าอยู่นานถึงสองชั่วโมง พูดกับข้าพเจ้าเสียงแปร่งๆว่า พุทโธ่หน้าเอ็งเหมือนลูกข้า ข้าพเจ้าถามว่า ลูกของป้าอยู่ไหน ได้รับคำตอบว่าถูกเกณฑ์ทหารไปนานแล้ว ไม่รู้ว่าไปอยู่ที่ไหน เสียงอันเยือกเย็นซึ่งแสดงถึงน้ำใจของหญิงผู้นี้ ทำให้ข้าพเจ้าตื้นตัน และรู้สึกว่าได้มีรสหวานอันเป็นรสแห่งความรักของมารดาห้อมอยู่ในศาลานั้น"


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 42  เมื่อ 16 พ.ย. 14, 12:40

อาหารทุกมื้อที่ชาวบ้านเมตตานำมาให้กินล้วนอร่อยเพราะความหิว ความหิวนี้เองที่ป๋วยมารู้ทีหลังว่าเพื่อนทั้งสอง หลังจากหนีกระเซอะกระเซิงก็ไปไหนไม่ได้ไกล ต้องตัดสินใจเข้าไปหาอาหารในหมู่บ้านใส่ท้อง ขณะที่กำลังกินก๋วยเตี๋ยวยังไม่อิ่มดีก็ถูกตำรวจจับ เพราะความแปลกแยก ไม่ได้สวมหมวกตามรัฐนิยมของท่านผู้นำ ยังดีที่ตำรวจเมตตาให้กินจนอิ่มท้องจึงได้เอาตัวไปขัง ก่อนส่งตัวลงไปกรุงเทพ

คืนนั้นป๋วยหลับสนิทด้วยความอ่อนเพลียทั้งร่างกายและจิตใจ วันรุ่งขึ้นตำรวจและชาวบ้านได้ร่วมกันนำตัวป๋วยขึ้นเกวียนไปส่งโรงพักที่ตัวอำเภอวัดสิงห์ ตลอดการเดินทางทั้งวันก็ได้รับความเอื้ออารีจากทุกคน โดยเฉพาะตำรวจสองนายที่คุมตัวไป ซึ่งกลายเป็นเพื่อนไปแล้ว แถมยังได้ควักกระเป๋ารวมเงินกัน ๑๒บาทใส่กระเป๋าให้ เผื่อจำเป็นต้องใช้ภายหน้า

เมื่อถึงโรงพักในเย็นวันนั้น ป๋วยจึงได้เป็นผู้ต้องหาคดีกบฏอย่างเป็นทางการ มีผู้ต้องหาอยู่ในกรงขังแล้วสองคน คนหนึ่งเป็นฆาตกร อีกคนหนึ่งเป็นนักหาแร่ต่างถิ่น โชคร้ายไปขุดๆคุ้ยๆแถวนั้นเลยซวย ต้องสงสัยว่าโดดร่มมาทำจารกรรมกับเขาด้วย จะปฏิเสธอย่างไรก็โดนจับยัดข้อหาเดียวกับป๋วย และได้อยู่ในฐานะเสรีไทยกับเขาในสันติบาลด้วยจนกระทั่งสิ้นสงคราม ตำรวจจึงได้ปล่อยกลับบ้านไปหาลูกหาเมีย


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 43  เมื่อ 16 พ.ย. 14, 13:50

วันรุ่งขึ้น ท่านข้าหลวงจังหวัดชัยนาท พร้อมกับผู้กำกับการตำรวจและผู้พิพากษาได้เดินทางมาดูผู้ต้องหาคนสำคัญ แล้วรับไปตัวจังหวัดโดยทางเรือ ระหว่างทางป๋วยยังคงถูกล่ามโซ่ตามระเบียบแม้ผู้สั่งให้ล่ามจะรู้สึกกระดากใจก็ตาม แต่เมื่อถึงแล้ว ท่านข้าหลวงก็สั่งแยกตัวป๋วยไปที่จวนของท่าน ให้อาบน้ำอาบท่าพักผ่อนอยู่ระยะหนึ่งก่อนที่ผู้กำกับจะกลับมาถึงพร้อมด้วยอัยการเพื่อสอบปากคำ ซึ่งป๋วยก็ให้การไปตามที่ถูกอบรมมาหากถูกจับได้

คืนนั้น ป๋วยถูกส่งไปนอนในกรงขังของโรงพัก และวันรุ่งขึ้นก็ถูกย้ายไปขังในเรือนจำของจังหวัดซึ่งสบายกว่าอีกสิบวันเศษ  ตลอดเวลาที่นั่น แม้พ้ศดีจะเมตตาหาอาหารมาเสริมให้ทุกมื้อ ก็ไม่พอเพียงเพราะต้องแบ่งปันกับเพื่อนผู้ต้องขังบางคนด้วย เงิน ๑๒บาทที่ป๋วยรับไว้จึงได้ใช้ประโยชน์ สำหรับซื้อขนมนมเนยบ้างในบางมื้อ

หลังจากได้รับคำสั่งจากวังปารุสก์แล้ว ผู้กำกับก็คุมตัวผู้ต้องหากบฏด้วยตนเอง เอาลงเรือล่ามโซ่ล่องลงมาพระนคร ค่ำที่ไหนก็จอดเรือนอนที่นั่น และได้เป็นแขกรับเชิญไปกินข้าวกับท่านข้าหลวงอ่างทองคืนหนึ่ง นนทบุรีอีกคืนหนึ่ง ทั้งสองแห่งมีคนมารอดูพลร่มกันมากมายเหมือนดารามาโชว์ตัว ท่านผู้ว่าอ่างทองบอกป๋วยว่า เราก็เหมือนเล่นงิ้วนะ บนเวทีก็รบกันไป เลิกแล้วก็มานั่งกินข้าวต้มกันต่อ

เรือตำรวจมาถึงพระนครโดยเข้าเทียบที่ท่าช้าง ที่นี่ไม่มีใครรู้จักและสนใจป๋วยเลย สักสองชั่วโมงเห็นจะได้ รถตำรวจจึงมารับไปกองกำกับการตำรวจสันติบาล สระปทุม ซึ่งที่นั่นป๋วยได้พบว่า ทั้งประทานและเปรมได้ถูกจับมารออยู่ก่อนแล้ว


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 44  เมื่อ 16 พ.ย. 14, 14:45

บันทึกของประทานเล่าว่า หลังจากปล่อยให้ได้กินก๋วยเตี๋ยวตามสบาย ตำรวจก็คุมตัวไปขังไว้ที่โรงพัก เย็นวันนั้นมีนายตำรวจใหญ่คนหนึ่ง ได้นำมะละกอสุกรสชาติอร่อยมาผ่าให้แก่ผู้ต้องหาทั้งสองได้ฉลองศรัทธาอย่างเต็มอิ่ม แต่กระนั้นนายตำรวจท่านนี้ยังพูดเปรยๆว่า นี่ผมยิงทิ้งคุณเสียก็ได้นะ

ก็นับว่าเป็นความกรุณาอย่างสูงที่เขาพูดเล่น เสรีไทยทั้งสองถูกขังอย่างนักโทษฉกรรจ์ มีโซ่ล่ามเท้าอย่างแน่นหนา แม้จะไม่สะดวกและอึดอัดปานใด พอทั้งสองก็ล้มตัวลงก็หลับเป็นตายด้วยความอ่อนเพลีย แต่หูยังแว่วๆ รู้สึกว่าคนทั้งหมู่บ้านจะพากันมาดูพลร่มกันอย่างเอิกเกริก คลับคล้ายคลับคลาว่าได้เห็นคนหนึ่งชี้มือไปที่หมอเปรมแล้วว่า ไอ้คนนั้นเหมือนมอรอคโคแฮะ
หมอเปรมเป็นชาวเหนือผิวค่อนข้างขาว แต่ไม่เข้าใจว่าจะเหมือนมอรอคโคตรงไหน

หลังจากนั้นอีกสองวัน จึงมีตำรวจจากสันติบาล ๒นาย แต่งกายนอกเครื่องแบบเดินทางไปรับ ปลดโซ่ตรวนออกแล้วให้แต่งกายธรรมดา เดินทางเข้าพระนครโดยทางเรือยนต์โดยสาร เมื่อถึงที่หมายแล้วก็ถูกส่งตัวเข้าห้องขังเดี่ยวที่ชั้นบนของตึกสันติบาล แผนกต่างประเทศ ขึ้นป้ายหน้าห้องว่าผู้ต้องหากบฏ

ต่อมาอีกสองวัน ป๋วยจึงถูกส่งตัวมาถึงที่นั่น ทุกคนจ้องมองกันด้วยความตื่นเต้นระคนด้วยความตื้นตันใจ ที่ต่างพบว่าเพื่อนมีชีวิตรอดมาได้ เพื่อที่จะร่วมชะตากรรมกันต่อ
 
ทุกๆวันจะมีตำรวจขึ้นมาที่สันติบาลกอง ๑ เพื่อดูโฉมหน้ากบฏ สารวัตรสันติบาลกอง ๑ ฝ่ายต่างประเทศขณะนั้น คือ ร.ต.อ.โพยม จันทรัคคะ เป็นเจ้าของคดีนี้ ร.ต.อ.โพยม เคยเป็นนักเรียนอัสสัมชัญแผนกฝรั่งเศสรุ่นก่อนป๋วย แต่รู้จักป๋วยดี บรรยากาศตึงเครียดในสันติบาลของผู้ต้องหากบฏจึงค่อยคลายลง


บันทึกการเข้า
หน้า: 1 2 [3] 4 5 ... 11
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.073 วินาที กับ 19 คำสั่ง