เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 [2] 3 4 ... 11
  พิมพ์  
อ่าน: 35252 “โพยม จันทรัคคะ” ถ้าท่านนี้ไม่ตัดสินใจ ไทยอาจเสียอธิปไตยได้
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 15  เมื่อ 12 พ.ย. 14, 11:33

๖  กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๘๕  
อังกฤษประกาศสงครามตอบไทย  ประเทศต่างๆในเครือจักรภพอังกฤษ  เช่น ประเทศแคนนาดา ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์เป็นต้น  ได้ถือโอกาสร่วมขบวนประกาศสงครามกับไทยด้วย

๑๕  กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๘๕  
กองทัพอังกฤษในสิงคโปร์ยอมแพ้ญี่ปุ่นโดยไม่มีเงื่อนไข ฐานะของจอมพล ป. เข้มแข็งขึ้น

๒๒  เมษายน พ.ศ.๒๔๘๕  
รัฐบาลส่งคณะทูตสันถวไมตรี นำโดยพล.ท.พจน์ พหลโยธิน(พระยาพหลพลพยุหเสนา)อดีตนายกรัฐมนตรี เดินทางไปกระชับสัมพันธไมตรีที่กรุงโตเกียว เป็นเวลา  ๑  เดือน


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 16  เมื่อ 12 พ.ย. 14, 12:47

พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๘๕
กองพลที่ ๓  แห่งกองทัพพายัพ เข้าประทะกับกองพลที่ ๙๓ ของฝ่ายจีนก๊กมินตั๋งภายใต้บังคับบัญชาของจอมพลเจียงไคเช็ค ซึ่งอังกฤษได้มอบพื้นที่ยึดครองให้ก่อนที่จะถอนตัวออกจากรัฐฉานของพม่า มีการปะทะเล็กน้อยก่อนทหารจีนจะปล่อยให้ทหารไทยเข้ายึดนครเชียงตุงไว้ได้


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 17  เมื่อ 12 พ.ย. 14, 13:15

เดือนพฤษภาคม พ.ศ.๒๔๘๕ เช่นกัน นักเรียนไทยจำนวนประมาณ ๓๐คน ได้มาร่วมประชุมกับข้าราชการสถานอัครราชทูตที่กรุงวอชิงตัน  ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช แจ้งว่ารัฐบาลสหรัฐต้องการอาสาสมัครไปทำงานจารกรรมในเมืองไทย จก ณ ระนองนักเรียนทุนหลวงจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดถามว่า อาสาสมัครคนไทยเหล่านี้จะถือว่าทำงานให้แก่ใคร ม.ร.ว. เสนีย์ตอบว่าทำงานให้สถานทูตไทย นายจกกล่าวว่า ถ้าให้ทำเพื่อสถานทูตไม่เอา แต่ทำเพื่อชาติจะยินดีเสียสละ พร้อมกับให้ความเห็นว่าคนไทยควรรวมตัวกันอย่างอิสระเพื่อต่อต้านศัตรูเช่นเดียวกับขบวนการฝรั่งเศสเสรี ที่รัฐบาลประเทศสัมพันธมิตรให้การรับรอง ที่ประชุมเห็นด้วย จึงตกลงใช้คำว่าเสรีไทย (Free Thai) สำหรับจัดตั้งกลุ่มต่อต้านญี่ปุ่นในเมืองไทยขึ้นอย่างเป็นทางการตามข้อเสนอของ จก  ณ ระนองนับจากนั้น


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 18  เมื่อ 12 พ.ย. 14, 14:33

ผู้เข้าประชุมตกลงตั้งกรรมการเสรีไทยขึ้น โดยมี ม.ร.ว. เสนีย์เป็นประธาน การทำงานแยกออกเป็นสองส่วนคือ งานการเมืองมีสถานอัครราชทูตรับผิดชอบ การทหารหรืออาสาสมัครเสรีไทย มี พันโท หม่อมหลวงขาบ กุญชร ทูตทหารประจำสหรัฐอเมริกา เป็นผู้บังคับบัญชา


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 19  เมื่อ 13 พ.ย. 14, 07:34

๔  มิถุนายน พ.ศ.๒๔๘๕   
นายมณี  สาณะเสน  เดินทางจากกรุงวอชิงตันถึงกรุงลอนดอน  ก่อนออกเดินทาง กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐได้ให้ความเห็นชอบปฏิบัติการนี้

นายมณีได้ติดต่อสถานเอกอัครราชทูตอังกฤษเพื่อขออนุมัติเดินทางไปลอนดอนด้วยวัตถุประสงค์  ๓ ประการ
(๑) ประสานงานกับคนไทยในอังกฤษและยุโรป 
(๒) ปรึกษาหารือกับฝ่ายอังกฤษและสหประชาชาติในการประชาสัมพันธ์
(๓) คัดเลือกบุคคลเพื่อจัดตั้งหน่วยทหารอาสาสมัครที่จะส่งเข้าไปปฏิบัติการในประเทศไทย



บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 20  เมื่อ 13 พ.ย. 14, 07:43

๑๓  มิถุนายน พ.ศ.๒๔๘๕
ประธานาธิบดีรูสเวลต์แห่งสหรัฐฯ  ออกคำสั่งจัดตั้งสำนักงาน  โอ.เอส.เอส. (OSS -The Office of Strategic Services) ขึ้น มีหน้าที่ประมวลข่าวกรองทางยุทธศาสตร์ เพื่อวางแผนการรบแบบกองโจรหลังแนวรบของศัตรู ร่วมกับกลุ่มต่อต้านในดินแดนที่ถูกยึดครอง และได้เริ่มการฝึกทหารเสรีไทยสายอเมริการุ่นที่ ๑  จำนวน ๒๑นาย  เพื่อเดินทางเข้าไปปฏิบัติการในประเทศไทย
 
สิงหาคม  พ.ศ.๒๔๘๕     
เสรีไทยสายอังกฤษได้ถูกจัดตั้งขึ้นเป็นผลสำเร็จจากการประสานงานของนายมณี  สาณะเสน แต่ต้องเข้าเป็นพลทหารในหน่วยการโยธาของกองทัพบกอังกฤษเพื่อทดสอบความจริงใจ ก่อนที่จะส่งไปปฏิบัติงานในหน่วยอื่นๆ ตามคุณวุฒิและความรู้ความสามารถของแต่ละบุคคล สำหรับผู้ที่ตรวจร่างกายไม่ผ่านและพวกสตรีก็ปฏิบัติงานในด้านพลเรือน

ระหว่างครึ่งปีหลังของ พ.ศ.๒๔๘๕  เสรีไทยทั้งสายอังกฤษและสายอเมริกาที่สมัครเป็นทหาร  ได้รับการฝึกอย่างหนักเพื่อเตรียมตัวเดินทางไปปฏิบัติการในภาคพื้นเอเชีย


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 21  เมื่อ 13 พ.ย. 14, 08:49

     พ.ศ.๒๔๘๖
   

๗ มกราคม พ.ศ.๒๔๘๖   
ญี่ปุ่นเริ่มเพลี่ยงพล้ำในหลายสมรภูมิ จึงกระตุ้นรัฐบาลไทยให้สั่งกองทัพพายัพทำการรุกครั้งที่ ๒ โดยเคลื่อนเข้าประชิดดินแดนจีนตามแนวแม่น้ำลำ คราวนี้จอมพล ป.พิบูลสงครามเริ่มกลยุทธถอยฉากทางการเมือง โดยสั่งการเป็นทางลับให้พยายามติดต่อกับทหารจีนคณะชาติให้ตกลงเล่นละครกัน รบหลอกๆเพื่อลวงญี่ปุ่น

กองพล ๙๓ของจีนไม่ได้เห็นไทยเป็นศัตรูที่คู่ควรจะมาเสียเลือดเนื้อให้ นอกจากญี่ปุ่นแล้วยังมีทหารจีนคอมมิวนิสต์ นำโดยนายพลเหมาเจ๋อคุงที่รบติดพันกันก่อนที่ญี่ปุ่นจะเข้ามาขัดจังหวะ คือศัตรูตัวจริงที่รอจังหวะจะห้ำหั่นกันต่อ จึงยอมเอออวยเล่นละครกับไทยเพื่อถนอมกระสุนและชีวิตทหาร


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 22  เมื่อ 13 พ.ย. 14, 09:20

๒๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๘๖   
นายปรีดีมอบหมายให้จำกัด พลางกูร ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด  และเป็นสมาชิกขบวนการเสรีไทยในประเทศ เล็ดลอดออกไปพบกับจอมพลเจียงไคเช็ค ที่จุงกิงเมืองหลวงเฉพาะกิจ ก๊กมินตั๋งเป็นจีนที่อยู่ในฝ่ายสัมพันธมิตร นายปรีดีจึงคิดว่าน่าจะช่วยประสานงานกับอเมริกาและอังกฤษให้ช่วยเหลือได้
นายจำกัดและคณะเดินทางผ่านนครพนมไปท่าแขก แล้วเดินทางข้ามเวียดนามเข้าสู่ประเทศจีน เพื่อหาทางบอกกล่าวเรื่องขบวนการเสรีไทยในประเทศ
 
กรุงวอชิงตันได้รับทราบรายงานเรื่องราวของนายจำกัด ผ่านรัฐบาลจีนในปลายเดือนมีนาคม แต่ยังสงวนท่าทีอยู่


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 23  เมื่อ 13 พ.ย. 14, 09:55

๑๔ มีนาคม พ.ศ.๒๔๘๖   
เสรีไทยสายอเมริการุ่นที่ ๑ จำนวน ๒๑ นาย เดินทางจากสหรัฐมาขึ้นบกที่เมืองบอมเบย์ ประเทศอินเดีย ก่อนที่จะเดินทางไปพรมแดนแล้วขึ้นเครื่องบินข้ามเทือกเขาหิมาลัยไปเมืองจุงกิง ประเทศจีน เพื่อรอคำสั่งให้เข้าปฏิบัติการในเมืองไทย

เสรีไทยสายอังกฤษที่ผ่านการฝึกเข้าบรรจุเป็นทหารจำนวน ๓๖ นาย ได้ออกเดินทางจากท่าเรือเมืองลิเวอร์พูลตั้งแต่ ๑๙ มกราคม พ.ศ.๒๔๘๖   มาเมืองบอมเบย์ประเทศอินเดีย ก่อนถูกส่งต่อไปถึงเมืองปูนาในศรีลังกา ในเดือนนี้ เพื่อทำการฝึกเฉพาะทางก่อนส่งเข้าปฏิบัติการในเมืองไทยเช่นกัน


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 24  เมื่อ 13 พ.ย. 14, 10:24

มิถุนายน พ.ศ.๒๔๘๖
นายปรีดีวางแผนเหนือเมฆ โดยชักชวนให้นายทวี บุณยเกตุ  ซึ่งเพิ่งลาออกจากรัฐมนตรีเพราะถูกจอมพล ป.เขม่น ให้เข้าร่วมในขบวนการเสรีไทย หลังจากนั้นก็ได้ให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในสายของตน เสนอญัตติและลงมติเลือกนายทวี เป็นประธานสภา ซึ่งหากสำเร็จตามแผน นายปรีดีในฐานะผู้สำเร็จราชการ นายทวี ประธานสภา และม.ล.กรี เดชาติวงศ์ ซึ่งเป็นรัฐมนตรี จะเล็ดลอดออกไปตั้งรัฐบาลไทยพลัดถิ่นในอินเดียอย่างถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ
 
ผลปรากฏว่าสภาผู้แทนราษฎรลงมติด้วยเสียงส่วนใหญ่เลือกนายทวี บุณยเกตุ เป็นประธานสภา และพ.ต.ควง อภัยวงศ์ เป็นรองประธานสภา แต่เนื่องจากความขัดแย้งส่วนตัว จอมพล ป.จึงไม่ยอมลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ นายทวีและนายควง จึงต้องลาออกจากตำแหน่งทั้งคู่

เมื่อนายทวีไม่ได้เป็นประธานสภาแผนนี้จึงเป็นอันถูกระงับ นายปรีดีเลยต้องฝากความหวังไว้กับนายจำกัด พลางกูร ซึ่งปฏิบัติการอยู่ในจุงกิงเท่านั้น


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 25  เมื่อ 13 พ.ย. 14, 10:53

๓ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๘๖
พลเอกฮิเดกิ โตโจ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น เดินทางโดยเครื่องบินถึงกรุงเทพ และได้เข้าพบ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ในวันรุ่งขึ้น ทั้งสองได้ตกลงในหลักการที่จะมอบดินแดนทางเชียงตุงและ ๔ รัฐในมลายูให้กับไทยเป็นของขวัญ


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 26  เมื่อ 13 พ.ย. 14, 11:30

สิงหาคม พ.ศ.๒๔๘๖
ในเมืองจุงกิง นายจำกัด พลางกูร ได้เข้าพบเอกอัครราชทูตสหรัฐ และได้แจ้งให้ทราบถึงการก่อตั้งขบวนการใต้ดินขึ้นภายในประเทศไทย และได้เข้าพบ เซอร์ โฮรัส เซย์มัวร์ เอกอัครราชทูตอังกฤษ เพื่อปรึกษาเรื่องการที่จะจัดตั้งรัฐบาลเสรีไทยพลัดถิ่นขึ้นในอินเดีย จึงได้รับแจ้งเรื่องขบวนการเสรีไทยที่ถูกจัดตั้งในอเมริกาและอังกฤษ โดยทูตทั้งสองแนะนำให้ประสานงานกันเองก่อน

นายจำกัด ใช้เวลาไปถึง ๔เดือนในประเทศจีนกว่าจะได้ถึงขั้นนั้น เพราะถูกเจ้าหน้าที่จีนขัดขวางและอำนวยความลำบากให้ตลอดตั้งแต่ผ่านชายแดนเข้าไป นโยบายเบื้องลึกนั้น รัฐบาลเจียงไคเช็กเห็นว่าไทยอยู่ภายในเขตอิทธิพลของจีน จึงไม่ต้องการให้ฝ่ายไทยติดต่อกับอังกฤษหรืออเมริกาโดยตรง จึงหาทางประวิงการทำงานของนายจำกัดให้ล่าช้าเข้าไว้

ต่อมาอังกฤษก็ได้ส่งพ.ต. ม.จ.ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน เสรีไทยสายอังกฤษ ให้เดินทางจากอินเดียมาพบนายจำกัดที่จุงกิง  ซึ่งจากข้อมูลของนายจำกัดที่ม.จ.ศุภสวัสดิ์ยืนยันว่าน่าเชื่อถือได้ ทำให้อังกฤษได้ตัดสินใจวางแผนติดต่อกับนายปรีดี ด้วยการส่งเสรีไทยลักลอบเข้าสู่ประเทศไทย

ต่อจากนั้น ม.จ.ศุภสวัสดิ์ได้รับมอบอำนาจจากอังกฤษให้ส่งคนเดินสารชาวจีนจากยูนนาน เดินทางเข้ามากรุงเทพ โดยถือหนังสือจากกองทัพอังกฤษถึงนายปรีดี พนมยงค์ ใช้โค็ดลับว่า “รูธ – Ruth” ขอให้จัดการรับเสรีไทยสายอังกฤษชุดแรกที่จะเดินทางโดยเรือดำน้ำ มาขึ้นบกที่ฝั่งทะเลตะวันตกของประเทศไทยในเดือนธันวาคม พ.ศ.๒๔๘๖
(แต่กว่า “รูธ” จะได้รับสารนั้นก็เป็นเวลาภายหลังเดือนมิถุนายน พ.ศ.๒๔๘๗ แล้ว)


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 27  เมื่อ 13 พ.ย. 14, 12:25

 ๒๐ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๘๖
จอมพล ป.พิบูลสงคราม กับเอกอัครราชทูตซึโบกามิ ได้ลงนามในสัญญาว่าด้วยอาณาเขตประเทศไทย ซึ่งเพิ่มดินแดนรัฐกลันตัน ตรังกานู เกดาห์ ปะลิส ในมลายู เชียงตุงในพม่า และเมืองพานในลาว มาเป็นของไทย ซึ่งมีอารัมภบทว่า เพื่อประโยชน์ในการดำเนินสงครามต่ออังกฤษและสหรัฐ ให้บรรลุชัยชนะบริบูรณ์ และเพื่อสร้างมหาเอเชียบูรพาบนมูลฐานความยุติธรรม และมีการสวนสนามที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ฉลองการได้ดินแดน

(ไทยได้ส่งข้าราชการไปปกครองในเมืองดังกล่าวเหล่านี้แบบเช้าชามเย็นชามตามถนัด เมื่อสงครามเลิก ทุกคนต่างรีบขนข้าวขนของกลับบ้านแบบรู้งาน ก่อนที่เจ้าของดินแดนตัวจริงจะจับอาวุธเข้าขับไล่

ที่เชียงตุงนั้น รัฐบาลสั่งปลดประจำการทหารเกณฑ์ทันทีที่ญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้ และไม่จัดยานพาหนะส่งให้ถึงจังหวัดต้นสังกัด ทุกคนจึงต้องขวนขวายหาทางช่วยตนเอง ตรงนี้เองที่เกิดวลีว่า “เดินนับไม้หมอนกลับบ้าน”)


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 28  เมื่อ 13 พ.ย. 14, 13:39

๒๖ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๘๖
รัฐมนตรีประเทศสหรัฐ คอร์เดล ฮัลล์ ชี้แจงท่าทีของรัฐบาลสหรัฐต่อขบวนการเสรีไทยให้สำนักงานโอ.เอส.เอส.ทราบ มีสาระสำคัญว่า สหรัฐถือว่าไทยเป็นเอกราช แต่ตกอยู่ในการยึดครองของกองทัพญี่ปุ่น สหรัฐไม่รับรองรัฐบาลพิบูลสงครามแต่ไม่ประกาศสงครามตอบ สหรัฐรับรองม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ในฐานะหัวหน้าเสรีไทย และสนับสนุนขบวนการเสรีไทยที่จัดตั้งขึ้นในสหรัฐ รัฐบาลสหรัฐถือว่านายปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการฯ เป็นตัวแทนที่สืบเนื่องของรัฐบาลไทย และเชื่อว่านายปรีดีเป็นผู้นำขบวนการเสรีไทยในประเทศไทย

แต่สรุปในตอนท้ายว่า ทั้งหมดนี้ถือเป็นนโยบายชั่วคราวระหว่างรอการแสดงออกที่ชัดเจนของประชาชนชาวไทย


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 29  เมื่อ 13 พ.ย. 14, 13:50

๗ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๘๖
นายจำกัด พลางกูร ถึงแก่กรรมที่จุงกิง
(ถือว่าเป็นเสรีไทยคนแรกที่ได้สละชีพเพื่อชาติ ภายหลังสงครามอดีตเสรีไทยผู้นี้ได้รับยศทหารเป็นพันตรี รวมทั้งได้รับการจารึกชื่อไว้ ณ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ)


บันทึกการเข้า
หน้า: 1 [2] 3 4 ... 11
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.051 วินาที กับ 19 คำสั่ง