เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2 3 ... 11
  พิมพ์  
อ่าน: 35049 “โพยม จันทรัคคะ” ถ้าท่านนี้ไม่ตัดสินใจ ไทยอาจเสียอธิปไตยได้
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


 เมื่อ 10 พ.ย. 14, 15:17

ผมเคยเขียนถึงท่านผู้มาแล้วนิดๆหน่อยๆ เพราะเพิ่งจะรู้จักท่านโดยบังเอิญขณะที่กำลังค้นคว้าหาข้อมูลเพื่อเขียนเรื่อง “หลวงอดุล-หลวงพิบูล คู่รัก, พล.ต.อ อดุล-จอมพล ป. คู่แค้น”  ทำให้ยังคาใจอยู่ว่าผมเขียนเรื่องราวของท่านน้อยไป ไม่สมกับผลกับการที่ท่านได้ยอมเสี่ยงตัวเองเพื่อประโยชน์ใหญ่ของชาติ ตัดสินใจฝืนคำสั่งของนายที่ยึดมั่นถือมั่นแต่ตนเองแบบลุแก่อำนาจ ผลจากการตัดสินใจครั้งนั้น ได้ทำให้ชะตาของประเทศไทยพลิกผันข้ามจุดผ่านที่สำคัญในสงครามโลกครั้งที่ ๒  จากจะเป็นผู้แพ้สงครามอยู่แล้วมาเป็นไม่แพ้ ซึ่งถึงแม้จะไม่ใช่ผู้ชนะ แต่ก็พอที่จะช่วยให้ชาติไทยรักษาเอกราชอธิปไตยไว้ได้อย่างฉิวเฉียด

ในขณะที่หลายต่อหลายท่านกลายเป็นวีรบุรุษเสรีไทย คนๆนี้กลับถอยตนเองออกไปอย่างเงียบๆ และท้ายสุดในทุกวันนี้ ชื่อของท่านที่ปรากฏในโลกไซเบอร์ก็เป็นเพียงผู้เขียนบทวิชาการไม่กี่ฉบับ ในเรื่องที่ไม่เกี่ยวอะไรกับประสพการทางการเมืองหรือบทบาทนายตำรวจสันติบาลที่ผ่านมาของท่านเลย กระทู้ที่แล้วผมจึงได้สรุปไว้ว่า วีรบุรุษตัวจริง “ร.ต.อ. โพยม จันทรัคคะเดินออกไปจากหน้าประวัติศาสตร์เหมือนทหารนิรนาม ท่านดีกว่าพวกนั้นหน่อยที่ท่านรอดชีวิตจากสงคราม แต่ทหารนิรนามก็ดีกว่าท่าน ตรงที่มีผู้สร้างอนุสาวรีย์ให้ มีคนไปวางพวงมาลาทุกๆปี”

http://www.reurnthai.com/index.php?topic=3419.180

ตั้งแต่ คคห.ที่ ๑๙๑


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 10 พ.ย. 14, 15:19

กระทู้นี้ผมจึงขอเขียนอุทิศให้ท่านโดยเฉพาะ และมีความหวังว่าผู้สนใจในประวัติศาสตร์ของขบวนการเสรีไทย จะมีโอกาสคลิ๊กเข้ามาเจอ และทำความรู้จักวีรบุรุษหลังองค์พระปฏิมาท่านนี้บ้าง

เรื่องราวภายในของสันติบาล ปกติก็เป็นความลับที่บุคคลภายนอกจะเข้าไปรู้เรื่องอะไรด้วยนั้นยากยิ่ง เพราะถ้ามันโปร่งใสจะไปได้ฉายาว่าตำรวจลับอย่างไรได้ เท่าที่ผมหาเจอมีว่า กรมตำรวจยุคพล.ต.อ. อดุล อดุลเดชจรัส เป็นอธิบดีนั้น มี พล.ต.จ.ขุนศรีศรากร เป็นผู้บังคับการสันติบาล พ.ต.อ. หลวงสัมฤทธิ์สุขุมวาท เป็นรองผู้บังคับการ ร.ต.อ.รัตน์  วัฒนะมหาตม์ เป็นสารวัตรกองกำกับการ ๑ ทำหน้าที่ดูแลเรื่องต่างประเทศ ร.ตท.โพยม  จันทรัคคะ ทำงานอยู่กองนี้ นอกนั้นก็มีกองกำกับการ ๒  ร.ต.อ. ประสิทธิ์ รักประชาเป็นสารวัตร และกองกำกับการ ๓  ร.ต.อ. ชีพ ประพันธ์เนติวุฒิ เป็นสารวัตร


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 10 พ.ย. 14, 15:24

ผู้ที่จะมาเป็นนายตำรวจสันติบาลได้ก็ต้องมือระดับพระกาฬ ใครที่ถูกจัดว่าเป็นฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองกับรัฐบาล มักจะไม่รอดพ้นจากการจับกุมด้วยข้อหาฉกาจฉกรรจ์ ตามนโยบายของเพื่อนรักนักปฏิวัติที่ย้ายจากกองทัพบกมาครองตำแหน่งอธิบดีกรมตำรวจ ทำให้จอมพลแปลก พิบูลสงครามมีความมั่นคงในตำแหน่งหัวหน้ารัฐบาลอยู่ได้หลายปี ส่วนฝ่ายตรงข้าม ไม่ว่าจะอยู่ในกลุ่มอำนาจเดิมก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง หรือกลุ่มอำนาจใหม่หลังช่วงชิงการปกครองมาได้ ก็ล้วนแต่มีอันเป็นไป ต้องโทษประหารบ้าง ถูกจำคุกอยู่บางขวางบ้าง โดนเนรเทศไปอยู่เกาะอันไกลโพ้นเพื่อให้ตายอย่างผ่อนส่งโดยชอบด้วยกฎหมายบ้าง หากญี่ปุ่นไม่ทำท่าจะเป็นฝ่ายแพ้สงคราม สงสัยจอมพล ป.จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีจนกระทั่งแก่ตาย

พล.ต.อ. อดุล อดุลเดชจรัส แม้บางนิยามจะว่าเป็นคนตงฉิน เด็ดขาด เที่ยงธรรม แต่นั่นก็คือมุมมองที่ฝ่ายเดียวกับท่านเห็น หากมองจากมุมของฝ่ายที่โดนกระทำ ก็จะมีคำร้องทุกข์กล่าวโทษว่า อธิบดีตำรวจผู้นี้ อาจเที่ยงธรรมก็ในหมู่พรรคพวกของตนเอง แต่อยุติธรรมต่อผู้ที่ท่านระแวงว่าไม่ใช่พวกของท่าน ฉายา “นายพลตาดุ” นั้น ถ้าดุแค่สายตาก็ไม่มีความหมาย แต่นี่ ในยุคที่ท่านเถลิงอำนาจนั้น หากท่านจ้องไปที่ใครแล้วก็สามารถสั่งเป็นสั่งตายได้เลย
เรื่องนี้ คงไม่มีใครรู้ดีเท่าลูกน้อง  แม้แต่บรรดานายตำรวจสันติบาล จะมีใครหรือที่กล้าหือกล้าอือ ฝ่าฝืนคำสั่งนายคนนี้


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 10 พ.ย. 14, 15:39

ผมเพิ่งจะบรรลุความเข้าใจ หลังจากการอ่านหนังสือหลายเล่มที่ต่างคนต่างเขียนโดยมีจุดมุ่งหมายที่จะยกย่องบุคคลที่ตนนิยมชมชอบ แต่ละเลยที่จะกล่าวถึงบุคคลอื่น อาจจะเป็นเพราะไม่ทราบว่าใครทำอะไรกันอยู่บ้างในตอนนั้น เพราะงานกู้ชาติของเสรีไทยมิได้ดำเนินไปอย่างมีเอกภาพ แต่ต่างคนต่างกระทำไปโดยมีจุดหมายร่วมกันอย่างเดียวที่จะขับไล่ญี่ปุ่นไปให้พ้นเมืองไทยเท่านั้น

การเอาบันทึกทั้งหลายมาปะติดปะต่อกันในคราวก่อน จึงปรากฏตัวประกอบที่ถึงระดับวีรบุรุษหลายคน  แต่ผมยังไม่พบว่าใครจะเล่าเรื่องของตนเองน้อยบรรทัดเท่า ร.ต.ท. โพยม จันทรัคคะ ดูท่านจะถ่อมตนมากต่อบทบาทที่แอบให้เสรีไทยสายอังกฤษซึ่งตำรวจจับมากักขังไว้ไม่ให้เคลื่อนไหวใดๆ ใช้วิทยุของกลางที่โดนยึดไว้ ติดต่อกับกองบัญชาการใหญ่ของสัมพันธมิตรที่เมืองแคนดี้ ศรีลังกาจนเป็นผลสำเร็จ ซ้ำยังแอบพาเสรีไทยผู้ถือหนังสือสำคัญของแม่ทัพอังกฤษมามอบให้ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแทนพระองค์ ไปพบนายปรีดี พนมยงค์โดยปกปิดไม่ให้นายทราบ การกระทำเหล่านี้ ถ้าพล.ต.อ.อดุลจับได้ก็เท่ากับกบฏต่อนาย ถ้าชีพไม่ดับอนาคตของท่านก็ต้องดับ
 
ดังนั้น หากเหตุการณ์ช่วงนี้ขาดจิ๊กซอร์ตัวเล็กๆอย่าง ร.ต.อ. โพยม จันทรัคคะ ป่านนี้อธิบดีกรมตำรวจก็คงยังเห็นเสรีไทยหน่อมแน้มอยู่นั่นเอง ประวัติศาสตร์ของชาติก็อาจจะหักเหไปอีกมุมหนึ่ง เพราะอังกฤษและอเมริกาคงยังไม่ไว้วางใจคนไทย  ขนาดอเมริกันยอมเสี่ยงให้เจ้าหน้าที่ของเขาลอบบินข้ามน้ำข้ามทะเลมาบอกให้พล.ต.อ.อดุลกับนายปรีดีจับมือกันทำงานเสียที ไอรำคาญเต็มทนแล้ว  นั่นแหละนายปรีดีกับหลวงอดุลจึงยอมยุติความไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกันลงชั่วคราวเพื่อชาติ

หลังจากหนทางเปิดโล่ง กำลังพลพรรคเสรีไทยจึงถูกส่งเข้ามาอีกมากมาย สามารถปฏิบัติการได้เต็มสูบในการฝึกอาวุธให้อาสาสมัครคนไทยจนพร้อมจะทำการรบขับไล่ญี่ปุ่นแล้ว แต่ต้องดึงๆไว้เพราะเมื่อขออนุญาตอเมริกันๆตอบกลับมาให้ใจเย็นๆไว้ก่อน อย่างเพิ่งดำเนินการใดๆจนกว่าไอจะพร้อม อีกไม่กี่วันต่อมาคำว่าพร้อมของอเมริกันจึงแปลความได้ว่า พร้อมปล่อยระเบิดปรมาณูลงฮิโรชิมาและนางาซากิ สงครามจึงยุติลงก่อนที่เลือดจะนองปฐพี สัมพันธภาพไทยกับญี่ปุ่นก็ไม่ชอกช้ำ                            


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 10 พ.ย. 14, 18:12

ก่อนจะถึงเหตุการณ์ช่วงนั้น ผมอยากจะย่อเรื่องราวของสงครามโลกครั้งที่ ๒ ในเมืองไทยให้เป็นการปูพื้นกันก่อน ความจริงในเรือนไทยก็มีกระทู้ที่กล่าวถึงเรืองนี้อยู่ คือเรื่อง “เมื่อญี่ปุ่นบุก : ไทยในสงครามมหาเอเชียบูรพา” เปิดประเด็นโดยท่านอาจารย์เทาชมพู

http://www.reurnthai.com/index.php?topic=5000.0

ดังนั้น ท่านที่อยากรู้ความโดยละเอียดก็เชิญเข้าไปอ่านดู  ส่วนกระทู้นี้ผมจะว่าสั้นๆเป็นการโหมโรงโดยอาศัย “ประมวลเหตุการณ์และบุคคลที่เกี่ยวข้องในขบวนการเสรีไทย  ระหว่าง พ.ศ.๒๔๘๔ - ๒๔๘๘   รวบรวมโดย ดร.วิชิตวงศ์  ณ  ป้อมเพชร” เป็นเอกสารนำสืบ และ “ตำนานเสรีไทย โดยสำนักพิมพ์แสงดาว” ความหนาเกือบหนึ่งคืบเป็นบทขยาย


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 10 พ.ย. 14, 18:49

๘  ธันวาคม  พ.ศ.๒๔๘๔

เริ่มตั้งแต่เวลา ๒นาฬิกา  กองทัพญี่ปุ่นได้ยกทัพจากกัมพูชาบุกเข้าประเทศไทยทางชายแดนอรัญประเทศ และยกพลขึ้นบกที่บางปู  จังหวัดสมุทรปราการ เพื่อมุ่งเข้ากรุงเทพ และตามหัวเมืองชายฝั่งทะเลต่างๆที่เป็นจุดยุทธศาสตร์ด้านอ่าวไทย ไล่ลงไปตั้งแต่ประจวบคีรีขันธ์  ชุมพร  สุราษฎร์ธานี  นครศรีธรรมราช สงขลา และปัตตานี ทหาร  ตำรวจ  ยุวชนทหารและพลเรือนในพื้นที่  ได้ทำการต่อต้านอย่างกล้าหาญสุดความสามารถ ทั้งสองฝ่ายบาดเจ็บล้มตายเป็นอันมาก

หลังรีบเดินทางกลับจากชายแดนด้านอรัญประเทศของจอมพล แปลก พิบูลสงคราม  นายกรัฐมนตรีและผู้บัญชาการทหารสูงสุดเพื่อมาเป็นประธานในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีที่มาประชุมกันตั้งแต่หัวค่ำ เพราะทูตมายื่นขอให้กองทัพญี่ปุ่นผ่านแดนไปรบกับอังกฤษที่พม่ากับมลายู แต่ตกลงใจอะไรไม่ได้ พอนายกมาก็มีมติยอมให้กองทัพญี่ปุ่นผ่าน โดยมีข้อตกลงว่าญี่ปุ่นจะเคารพเอกราชอธิปไตย และเกียรติยศของประเทศไทย รัฐบาลมีคำสั่งให้หยุดการต่อต้านเมื่อเวลาประมาณ  ๐๗.๐๐ น.

ในตอนค่ำ นายปรีดี  พนมยงค์ ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการตัดสินใจครั้งนี้ ได้นัดหมายให้กลุ่มบุคคลร่วมอุดมการณ์นับสิบคนมาคุยกันที่บ้านในตอนค่ำ และตกลงใจกันที่จะจัดตั้ง “องค์การต่อต้านญี่ปุ่น”  ทั้งในประเทศและต่างประเทศนับแต่วันนั้น  โดยนายปรีดีรับเป็นหัวหน้า

ในวันเดียวกันตามเวลาท้องถิ่น ม.ร.ว.เสนีย์  ปราโมช  อัครราชทูตไทยประจำกรุงวอชิงตัน  ได้เข้าพบนายคอร์เดล ฮัลล์  รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐเพื่อสอบถามเหตุการณ์ในประเทศไทย  และต่อมาได้แจ้งต่อรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐว่า ตนได้ประชุมปรึกษากันแล้ว  เจ้าหน้าที่สถานทูตทุกคนตกลงใจที่จะอยู่สหรัฐฯต่อไป และสถานทูตไทยอาจจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นขึ้นด้วย


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 11 พ.ย. 14, 09:55

๑๑  ธันวาคม พ.ศ.๒๔๘๔
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งพิเศษ โดยนายกรัฐมนตรีแจ้งว่าญี่ปุ่นเสนอให้รัฐบาลไทยทำสัญญาร่วมมือเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น  ซึ่งจอมพล ป. เห็นว่าไหนๆก็ไหนๆ “เราจะเข้ากับเขาแล้ว  ก็เข้าเสียให้เต็ม ๑๐๐ เขาก็คงเห็นอกเห็นใจเรา  ส่วนการข้างหน้าจะเป็นอย่างไร  ทายไม่ถูก”  
เมื่อทายไม่ถูก ความเห็นดังกล่าวจึงถูกนายปรีดีและนายวิลาศ โอสถานนท์โต้แย้งรุนแรง แต่ไม่ว่าจะยกเหตุผลอะไร รัฐมนตรีส่วนใหญ่ที่เงียบเสียงก็ลงมติยกมือให้ข้างจอมพล ป. เรื่องการคัดค้านของนายปรีดีและนายวิลาศในการประชุมค.ร.ม.ครั้งนี้ได้รั่วไหลไปเข้าหูญี่ปุ่น แสดงว่ารัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งที่คบหากับญี่ปุ่นอยู่คงนำความไปเล่าให้เขาฟัง

๑๔  ธันวาคม พ.ศ.๒๔๘๔  
ญี่ปุ่นเดินแผนใหม่  เสนอให้ทำสัญญาเป็นพันธมิตรต่อกัน  และขอให้รัฐบาลไทยส่งกำลังทหารไปร่วมรบกับญี่ปุ่นด้านประเทศจีน  โดยไทยกับญี่ปุ่นตกลงเรื่องเขตการรบ  โดยไทยรับผิดชอบตั้งแต่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำสาละวินถึงลำน้ำโขง

 ๑๕  ธันวาคม พ.ศ.๒๔๘๔    
ญี่ปุ่นบีบจอมพล ป.ให้ปลดนายปรีดี  และนายวิลาศ ผู้มีความคิดเป็นปฏิปักษ์กับญี่ปุ่นพ้นจากคณะรัฐมนตรี การปรับค.ร.ม.คราวนี้ จอมพล ป.นายกรัฐมนตรี ควบคนเดียวสามตำแหน่งคือเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม  และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศด้วย

นายปรีดี  พนมยงค์ ได้ตำแหน่งใหม่เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแทนพระองค์ ในองค์คณะที่ประกอบด้วยบุคคล ๓ท่าน

แม้นายปรีดีจะดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์  แต่ก็ยังคงอยู่ในตำแหน่งผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองต่อไป ม.ธ.ก.นี้นายปรีดีตั้งขึ้นแบบมหาวิทยาลัยเปิด ใครจบเทียบเท่ามัธยมแปดก็สมัครเข้าเรียนได้โดยไม่ต้องสอบแข่งขัน วิชาที่เรียนนั้นจบ ๔ปีแล้วได้ธรรมศาสตร์บัณฑิต หากินทางเป็นทนายความต่อได้ คนไทยทั้งเด็กและแก่จึงไปสมัครเรียนกันเป็นพันๆคน นายปรีดีจึงได้สานุศิษย์ส่วนหนึ่งเป็นฐานการเมืองของตน  และได้ใช้ธรรมศาสตร์เป็นที่ตั้งกองบัญชาการองค์การต่อต้านญี่ปุ่นที่จัดตั้งขึ้นแบบลับๆ


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 11 พ.ย. 14, 10:59

ภายหลังที่รัฐบาลไทยได้ตกลงทำสัญญาร่วมมือทางทหารกับญี่ปุ่นแล้ว  พล.ต.ต.อดุล  อดุลเดชจรัส  อธิบดีกรมตำรวจถูกสั่งให้เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการจับกุมตัวบุคคลสัญชาติอังกฤษและสัญชาติอเมริกัน ซึ่งกลายเป็นชนชาติศัตรูไปแล้ว ก่อนที่ญี่ปุ่นจะชิงจัดการเอง

พล.ต.ต.อดุล เป็นรัฐมนตรีอยู่ในค.ร.ม.ที่ไม่เห็นด้วยกับจอมพล ป. แต่ไม่กล้าขัดใจลูกพี่ และเพราะเข้าใจเจตนารมณ์ของนายปรีดีที่เปิดเผยในที่ประชุม จึงติดต่อขอให้นายปรีดีแบ่งสถานที่ส่วนหนึ่งของธรรมศาสตร์เป็นค่ายกักกันเชลยศึก เพราะเชื่อว่าผู้ถูกกักกันจะได้รับการดูแลความเป็นอยู่อย่างดีที่สุด ก่อนที่จะมีการแลกเปลี่ยนเชลยศึกและถูกส่งตัวกลับประเทศ
การให้การดูแลแก่คนอังกฤษและคนอเมริกันอย่างดียิ่งในค่ายกักกันมิให้ตกเป็นเชลยญี่ปุ่นนี้  ถือผลงานที่สำคัญประการหนึ่งของนายปรีดีและบุคคลากรของธรรมศาสตร์ ซึ่งส่งผลสนองภายหลังสงคราม


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 11 พ.ย. 14, 11:11

๒๑  ธันวาคม พ.ศ.๒๔๘๔
ไทยกับญี่ปุ่นได้ลงนามต่อหน้าพระพุทธปฏิมากรพระแก้วมรกต ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในประกาศกติกาสัญญาพันธไมตรี ร่วมวงศ์ไพบูลย์ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจและการทหาร แถมภาคผนวกลับท้ายสัญญาว่า ญี่ปุ่นจะช่วยให้ไทยให้ได้รับดินแดนที่ถูกอังกฤษกับฝรั่งเศสยึดไปในสมัยล่าอาณานิคมคืน  โดยไทยจะช่วยญี่ปุ่นทำสงครามเพื่อ “การสถาปนาระเบียบใหม่ในเอเชียบูรพา”เป็นการแลกเปลี่ยน

รัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษ นายแอนโทนี  อีเดน  ได้เรียกพระมนูเวทย์วิมลนาถ (เบี๋ยน  สุมาวงศ์) อัครราชทูตไทย ณ กรุงลอนดอนไปแจ้งว่า อังกฤษได้ขอให้ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ดูแลผลประโยชน์ของอังกฤษในประเทศไทย  และได้สั่งเซอร์โจซาย อาครอสบี  อัครราชทูตอังกฤษประจำกรุงเทพให้เดินทางออกจากประเทศไทยแล้ว  แปลความหมายว่าหน้าที่ทูตของพระมนูเวทย์วิมลนาถได้สิ้นสุดลง ณ บัดนั้นเช่นกัน เชิญกลับประเทศได้


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 11 พ.ย. 14, 11:16

๒๔  ธันวาคม พ.ศ.๒๔๘๔
รัฐบาลมีคำสั่งตั้งกองทัพพายัพ  ให้พล.ต.หลวงเสรีเริงฤทธิ์ เป็นแม่ทัพ ประกอบด้วยกองพลทหารราบ ๓ กองพล (กองพลที่ ๒ จากจังหวัดปราจีนบุรี  กองพลที่ ๓ จากจังหวัดนครราชสีมา กองพลที่ ๔ จากจังหวัดนครสวรรค์) กองพลทหารม้า ๑ กองพล และกรมทหารม้าอิสระ (กรมทหารม้าที่ ๑๒) ๑ กรม กับหน่วยขึ้นสมทบคือ ๑ กองพันทหารราบ ๒ กองพันทหารปืนใหญ่และ ๔ กองพันทหารช่าง เคลื่อนกำลังขึ้นไปตั้งมั่นในภาคเหนือ

วันเดียวกัน ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช อัครราชทูตไทยประจำกรุงวอชิงตัน  ยื่นบันทึกต่อกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ แจ้งว่าการกระทำของรัฐบาลไทยไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของประชาชนชาวไทย

ส่วนรัฐบาลอังกฤษมีคำสั่งให้เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำกรุงวอชิงตัน  ยื่นบันทึกช่วยจำต่อกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐว่า  การที่รัฐบาลไทยทำสัญญาเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่นย่อมเป็นเหตุผลเพียงพอที่จะประกาศสงครามกับไทยได้   แต่เนื่องจากมีคนไทยจำนวนมากที่วางตนเป็นปฏิปักษ์กับญี่ปุ่น  จึงสมควรให้ความสนับสนุน โดยอังกฤษจะยังไม่ประกาศสงครามกับไทย และจะไม่เริ่มดำเนินการทางทหารใดๆต่อไทย อังกฤษยังไม่ถือว่าประเทศไทยเป็นศัตรู  แต่เป็นดินแดนที่ถูกศัตรูยึดครอง 
สหรัฐตอบเห็นชอบด้วยกับความเห็นของอังกฤษ


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 11 พ.ย. 14, 14:07

ทหารญี่ปุ่นจำนวนมากได้เคลื่อนพลเข้าสู่พระนครเต็มไปหมด และได้ใช้สถานที่ทางราชการบางแห่งเป็นที่ทำการ รัฐบาลไทยได้ประกาศให้ญี่ปุ่นเป็นมหามิตร ประชาชนทุกคนต้องให้ความร่วมมือและสนับสนุนกับทางญี่ปุ่นอย่างเต็มที่ การกระทำใด ๆ ที่เป็นปรปักษ์มีโทษถึงประหารชีวิต

๘  มกราคม พ.ศ.๒๔๘๕
กรุงเทพมหานครถูกเครื่องบินอังกฤษจากฐานทัพในย่างกุ้งมาทิ้งระเบิดเป็นครั้งแรก โดยอังกฤษอ้างว่ามาทิ้งระเบิดทหารญี่ปุ่นที่ยึดครองกรุงเทพ

การทิ้งระเบิดครั้งนั้นค่อนข้างสะเปะสะปะเพราะเครื่องบินมาไกล ต้องรีบๆปลดระเบิดให้เสร็จจะได้หันหัวกลับ แม่คุณเจียวต้ายเขียนบันทึกไว้อย่างละเอียดยิบว่า ๑.ฝั่งธนบุรี บ้านเอกชนหลังหนึ่งถูกทำลาย ๒.เยาวราช ตึกแถวใกล้เจ็ดชั้นทลายและไฟไหม้ ๓.หัวลำโพง โรงรับจำนำและโรงแรมทลาย ๔.วัดตะเคียน เพลิงไหม้ไม้กระดาน ๕.บางรัก ไปรษณีย์กลางไม่เป็นอันตราย เพราะลูกระเบิดด้าน แต่ถูกโรงพยาบาล และบ้าน ร้านขายรองเท้า และ โรงเรียนอัสสัมชัญ ๖.ริมคลองหลอด เขื่อนพังเล็กน้อย กระทรวงมหาดไทยเสียหายห้องหนึ่ง

รวมทั้งหมดคนบาดเจ็บ ๑๑๒ คน เสียชีวิต ๓๑ คน โดยมากเป็นจีนและแขก


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 11 พ.ย. 14, 14:38

๒๓  มกราคม พ.ศ.๒๔๘๕
 
ฝ่ายคนไทยที่เชียร์ญี่ปุ่นได้เฮ เมื่อได้ข่าวว่าเรือประจัญบานปรินซ์ออฟเวล และรีพัลส์ ซึ่งเป็นเรือประจันบานอันทรงอานุภาพ ใหญ่ที่สุดของอังกฤษซึ่งประจำการอยู่ในเอเซียตะวันออก ถูกโจมตีโดยเครื่องบินรบของญีปุ่นจมนอกชายฝั่งเมืองกวนตันในมลายู อย่างไร้ทางสู้


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 11 พ.ย. 14, 14:43

วันรุ่งขึ้น เครื่องบินสัมพันธมิตรมาทิ้งระเบิดกรุงเทพอีก  คราวนี้ยิ่งสะเปะสะปะหนักขนาดพระที่นั่งอนันตสมาคมได้รับความเสียหายและมีผู้เสียชีวิต รัฐบาลถือโอกาสปลุกระดมให้คนไทยเกลียดอังกฤษและอเมริกัน


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 11 พ.ย. 14, 15:12

๒๕  มกราคม พ.ศ.๒๔๘๕
สงครามโลกด้านยุโรปขณะนั้น เยอรมันกำลังเป็นฝ่ายรุก หลังจากเข้ายึดครองฝรั่งเศสและประเทศใกล้เคียงอย่างเด็ดขาด ทหารอังกฤษต้องถอนทัพหนีข้ามช่องแคบอย่างทุลักทุเลแล้ว ก็ได้หันไปบุกรัสเซีย รุกไล่เข้าไปจนเกือบจะถึงสตาลินกราดแล้ว
ส่วนศึกรอบๆเมืองไทยนั้นเล่า แค่ยกแรก ญี่ปุ่นยังได้สำแดงฤทธิ์จมเรือประจันบานยักษ์ของอังกฤษทีเดียวถึงสองลำ กองทัพบกก็ตลุยเข้ามลายูและไม่ช้าสิงคโปร์ก็จะไปไหนเสีย ส่วนในพม่าญี่ปุ่นก็รุกคืบเกือบจะถึงย่างกุ้งเมืองหลวงของประเทศอยู่รอมร่อ  กุนซือข้างตัวจอมพล ป.จึงทำนายว่าอย่างนี้ไม่นาน เยอรมันก็จะสำเร็จศึกทางรัสเซียแล้วมุ่งตะวันออก มาบรรจบกับทัพญี่ปุ่นในอินเดียเพื่อปิดเกม ดังนั้นไทยควรจะถือโอกาสร่วมพันธมิตรกับญี่ปุ่นให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น เพื่อจะเป็นฝ่ายชนะกับเขาด้วย

ด้วยเหตุดังกล่าว ประเทศไทยจึงออกอากาศประกาศสงครามต่อบริเตนใหญ่และสหรัฐอเมริกา อ้างเหตุว่าเพราะอังกฤษมาทิ้งระเบิดเมืองไทย โดย จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ 
พระบรมราชโองการฉบับนี้คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้ลงพระนามและลงนามเพียง ๒คน คือ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา และพลเอกเจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน  ส่วนนายปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการฯอีกคนหนึ่งมิได้ร่วมลงนามด้วยเพราะหายตัวไปอย่างลึกลับ ต่อมาท่านอ้างว่าตนอยู่ต่างจังหวัดในวันนั้น


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 11 พ.ย. 14, 16:40

๓๐  มกราคม พ.ศ.๒๔๘๕
นักเรียนไทยในประเทศอังกฤษทำหนังสือถึง ม.ร.ว.เสนีย์  ปราโมช  อัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน  แจ้งให้ทราบว่า คนไทยในอังกฤษมีความปรารถนาจะเข้าร่วมในขบวนการเสรีไทย  และขอเชิญให้ ม.ร.ว.เสนีย์เดินทางมาอังกฤษ

ก่อนหน้านั้น พระมนูเวทย์วิมลนาถ  อัครราชทูตไทยได้แนะนำให้นักเรียนไทยเดินทางกลับประเทศตามคำสั่งของรัฐบาลอย่างเคร่งครัด แต่หลายคนได้ปรึกษากันแล้วเห็นว่าควรจะขัดขืน และน่าจะจัดตั้งคณะเสรีไทยขึ้นในอังกฤษเช่นเดียวกับในสหรัฐอเมริกา ทว่าเรื่องนี้มีปัญหาที่ทาบทามแล้วไม่มีผู้ใหญ่จะยอมรับเป็นผู้นำ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงศ์ ทรงปฏิเสธว่าไม่มีพระประสงค์จะเกี่ยวข้องกับการเมือง  และได้ทรงสมัครเข้ารับหน้าที่ในกองรักษาดินแดนของอังกฤษอยู่แล้ว   สำหรับสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี  พระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๗  และ ม.จ.ศุภสวัสดิ์วงส์สนิท สวัสดิวัตน์ พระเชษฐา สนพระทัยที่จะร่วมงานกับเสรีไทย แต่ทรงขัดข้องว่าหากทรงรับเป็นผู้นำ อาจจะทำให้เกิดความเข้าใจผิดในด้านการเมืองในประเทศไทยได้


บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2 3 ... 11
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.057 วินาที กับ 19 คำสั่ง